Focus
- หลักการของการจัดทำนโยบายแรงงานสมัยรัฐบาลคณะราษฎรมาจากหลัก 6 ประการ ในประกาศคณะราษฎร ข้อที่ 3 “จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก”
- การบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ คือเป้าหมายของการออกแบบนโยบายของคณะราษฎรผ่านเค้าโครงการเศรษฐกิจหรือสมุดปกเหลือง พระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักงานจัดหางานพุทธศักราช 2475 พระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางานประจำท้องถิ่น พ.ศ. 2475 และพระราชบัญญัติสอบสวนภาวะกรรมกร พ.ศ. 2479 ซึ่งพระราชบัญญัติเกี่ยวกับแรงงานและกรรมกรทั้ง 3 ฉบับนี้นับเป็นจุดตั้งต้นแนวทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่เป็นธรรมครั้งแรกของสยาม
- นายปรีดี พนมยงค์ ให้ความสำคัญกับการมีงานทำของราษฎรโดยได้กล่าวไว้ว่า “แรงงานนั้น เป็นบ่อเกิดแห่งความไพบูลย์” โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2477 นายปรีดีได้เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการควบคุมกรรมกรเพื่อพิจารณาปัญหาของผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่างๆ ด้วยการศึกษาปัญหากรรมกรในประเทศสยาม (Commission of Study) จนกว่าจะมีการตรากฎหมายแรงงานขึ้น
นโยบายแรงงานหลังการอภิวัฒน์ของรัฐบาลคณะราษฎรมีความเปลี่ยนแปลงและเป็นธรรมต่อกรรมกรหรือแรงงานชัดเจนและเป็นรูปธรรมกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยแนวคิดและนโยบายแรงงานของคณะราษฎรและนายปรีดี พนมยงค์ ในช่วงต้นการอภิวัฒน์กลับมีการศึกษาค่อนข้างน้อยทั้งที่คณะราษฎรริเริ่มแนวคิดแรงงานมาจากหลัก 6 ประการ ในประกาศคณะราษฎร ข้อที่ 3 “จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก”
บทความนี้จะชี้ให้เห็นการ ‘บำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ’ ของราษฎรผ่านเค้าโครงการเศรษฐกิจหรือสมุดปกเหลือง พระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักงานจัดหางานพุทธศักราช 2475 พระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางานประจำท้องถิ่น พ.ศ. 2475 และพระราชบัญญัติสอบสวนภาวะกรรมกร พ.ศ. 2479 อาจถือได้ว่าพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับนี้เป็นจุดตั้งต้นแนวทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานไทย
นโยบายแรงงานในสมัยรัฐบาลคณะราษฎร
รัฐบาลสมัยคณะราษฎรจึงได้ตรา “พระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักจัดหางาน พ.ศ. 2475” ขึ้น พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้สิทธิแก่เอกชนที่จะประกอบอาชีพในทางจัดตั้งสำนักงานรับจัดหางานให้แก่ราษฎรสองเดือนถัดมารัฐบาลได้ตรา “พระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางานประจำท้องถิ่น พ.ศ. 2475” ขึ้นและประกาศใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานกลางจัดหางานขึ้นในจังหวัดพระนคร และธนบุรีทำหน้าที่จัดหางานให้แก่ราษฎร
นายปรีดี พนมยงค์ ให้ความสำคัญกับแรงงาน และการมีงานทำของราษฎรเป็นอย่างมาก โดยได้เคยกล่าวไว้ว่า “แรงงานนั้น เป็นบ่อเกิดแห่งความไพบูลย์” หมายถึง การทำงานหรือแรงงานเป็นบ่อเกิดของความไพบูลย์จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคมอีกเช่นเดียวกันที่จะลงแรงร่วมใจกันก่อให้เกิดความสมบูรณ์พูนสุขและความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศชาติและราษฎรโดยละเว้นการเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ นายปรีดีเคยกล่าวถึงการปรับค่าจ้างแรงงานของกรรมกรหลังการอภิวัฒน์ไว้ว่า
“...กรรมกรทั่วไปค่าแรงเดือนละ 15 บาท เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว เราก็ได้ปรับขึ้นให้เป็น 20 บาท…”[1]
ภายหลังระบอบใหม่ ได้มีการตื่นตัวในการเรียกร้องสิทธิของกรรมกรหรือแรงงานมากขึ้นเช่นมีการก่อตั้งสมาคมรถรางที่มีกรรมกรสังกัดขึ้น มีการเผยแพร่ข้อเขียนผ่านหนังสือพิมพ์ มีการร้องทุกข์ มีการขยายตัวของการประท้วง มีการนัดหยุดงาน และมีการถวายฎีกาทั้งในหมู่กรรมกรรถราง กรรมกรรถไฟมักกะสัน กรรมกรปูนซีเมนต์ กรรมกรโรงสี กรรมกรโรงเลื่อย กรรมกรรถลาก และกรรมกรโรงพิมพ์ นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาแรงงานเป็นประเด็นสาธารณะที่ได้รับความใส่ใจจากรัฐบาลคณะราษฎรอย่างสำคัญ
นโยบายด้านแรงงานของรัฐบาลคณะราษฎรเริ่มต้นครั้งแรกด้วยการประกาศใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักงานจัดหางาน พุทธศักราช 2475 ในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2475 หัวใจของกฎหมายฉบับนี้ ว่าด้วยการที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า สมควรออกกฎหมายว่าด้วยสำนักงานจัดหางานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพวกกรรมกรโดยมีหน้าที่คิดสินจ้างในการเป็นคนกลาง ระหว่างนายจ้างผู้ต้องการลูกจ้างกับลูกจ้าง หรือเสมียน คนใช้ หรือกรรมกรอื่นๆ ผู้ต้องการหางานทำและระบุไว้ในมาตรา 11 ดังนี้
“มาตรา 11 กิจการของสำนักงานจัดหางาน คือช่วยเหลือให้นายจ้างกับลูกจ้างได้ติดต่อกันได้ เพื่อการทำสัญญาจ้างเท่านั้น
การงานกิจธุระทั้งหลายของสำนักงานนี้ ห้ามมิให้เป็นไปเพื่อหรือเกี่ยวข้องแก่การเมือง หรือการทางศาสนา”[2]
พระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักงานจัดหางาน
พุทธศักราช ๒๔๗๕
ประชาธิปก ป.ร.
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า สมควรออกกฎหมายว่าด้วยสำนักงานจัดหางานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพวกกรรมกร
จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ด้วยความแนะนำยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรโดยบทมาตราต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักงานจัดหางาน พุทธศักราช ๒๔๗๕”
มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“สำนักงานจัดหางาน” หมายความว่า ที่ทำการใดๆ ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างใด ซึ่งจัดการโดยบุคคล สมาคมหรืออย่างอื่นเพื่อกระทำการให้เปล่า หรือคิดสินจ้างในการเป็นคนกลาง ระวางนายจ้างผู้ต้องการลูกจ้างกับลูกจ้างหรือเสมียน คนใช้ หรือกรรมกรอื่นๆ ผู้ต้องการหางานทำ
“เจ้าพนักงาน” หมายความว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ตั้งแต่งไว้เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
“บุคคล” หมายความว่า บุคคลธรรมดาหรือนีติบุคคล
“สินจ้าง” หมายความว่า เงินค่าป่วยการหรือเงินจำนวนใดๆ จ่ายให้แก่สำนักงานจัดหางาน หรือทรัพย์สินแรงงานที่คิดเป็นมูลค่าราคาเงิน เพื่อการนั้นๆ
มาตรา ๔ บรรดาสำนักงานจัดหางานซึ่งตั้งอยู่แล้ว หรือจะได้ตั้งขึ้นใหม่นั้น ต้องอยู่ในความควบคุมของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎเสนาบดี
มาตรา ๕ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการในทางสำนักงานจัดหางาน ไม่ว่าจะกระทำให้เปล่า หรือเรียกสินจ้าง โดยมิได้รับอนุญาตจากเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
มาตรา ๖ การขออนุญาตตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕ นั้น ให้ทำเรื่องราวเป็นหนังสือ ถ้าในกรุงเทพมหานคร ให้ยื่น ณ ที่ทำการสมุหพระนครบาล ถ้าในจังหวัดอื่น ให้ยื่นณที่ทำการผู้ว่าราชการจังหวัด
เรื่องราวนั้นให้แสดง
( ๑ ) นามและสำนักที่อยู่ของบุคคลผู้ซึ่งประกอบกิจการอยู่แล้ว หรือเจตนาจะประกอบกิจการในทางสำนักงานจัดหางาน
( ๒ ) สถานที่ซึ่งสำนักงานตั้งอยู่แล้ว หรือจะได้ตั้งขึ้น
( ๓ ) สำนักงานนั้นเป็น หรือจะเป็นสำนักงานทั่วไป หรือสำนักงานโดยฉะเพาะ และถ้าเป็นสำนักงานโดยฉะเพาะให้แสดงด้วยว่ากรรมกรประเภทใดที่สำนักงาน เจตนาจะหางานให้ทำ
( ๔ ) สำนักงานนั้นเป็น หรือจะเป็นสำนักงานชะนิด ที่ทำการให้เปล่า หรือคิดสินจ้าง และถ้าเป็นสำนักงานชะนิด คิดสินจ้างให้บอกจำนวนสินจ้างไว้ด้วย
( ๕ ) รายละเอียดอย่างอื่นๆ ตามที่กฎเสนาบดีจะได้ระบุไว้
มาตรา ๗ ให้ส่งเรื่องราวตามที่กล่าวในมาตราก่อนพร้อมกับรายงานของสมุหพระนครบาล หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณีภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องราวไปยังเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตแล้วแต่จะเห็นสมควร เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจะต้องให้คำชี้ขาดภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องราว และรายงานคำชี้ขาดนั้นให้ถือเป็นที่สุด
มาตรา ๘ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการในทางสำนักงานจัดหางาน ณ ที่โฮเตล โรงแรม ที่พักเดิรทาง โรงขายอาหาร โรงกาแฟ หรือสถานที่อื่นๆ ซึ่งขายเครื่องดื่ม หรืออาหาร
สำนักงานจัดหางานซึ่งได้รับอนุญาตให้ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าปรารถนาจะย้ายสำนักงานไปที่อื่น ต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าพนักงานก่อน จึ่งจะย้ายได้
มาตรา ๙ ห้ามมิให้อนุญาตให้บุคคลใดประกอบกิจการในทางสำนักงานจัดหางาน นอกจากบุคคลผู้นั้นจะมีใบสำคัญที่อำเภอทำให้และส่งมาพร้อมเรื่องราว แสดงว่าบุคคลผู้นั้นมีความประพฤติดีและไม่เคยถูกลงโทษจำคุก นอกจากในฐานความผิดที่กระทำลงโดยประมาท หรือความผิดฐานลหุโทษ
มาตรา ๑๐ ถ้าเป็นสำนักงานจัดหางานที่เรียกสินจ้างจำนวนสินจ้างที่จะต้องเสียให้นั้น ต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในกฎเสนาบดี
มาตรา ๑๑ กิจการของสำนักงานจัดหางาน คือช่วยเหลือให้นายจ้างกับลูกจ้างได้ติดต่อกันได้ เพื่อการทำสัญญาจ้างเท่านั้น
การงานกิจธุระทั้งหลายของสำนักงานนี้ ห้ามมิให้เป็นไปเพื่อหรือเกี่ยวข้องแก่การเมือง หรือการทางศาสนา
มาตรา ๑๒ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจเพิกถอนการอนุญาตที่ให้ประกอบกิจการในทางสำนักงานจัดหางานเสียได้เมื่อ
( ๑ ) ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการได้ถูกลงโทษจำคุก นอกจากในฐานความผิดที่กระทำโดยประมาท หรือความผิดฐานลหุโทษ
( ๒ ) รับสินจ้างเกินอัตราที่กำหนดไว้ในกฎเสนาบดี ถ้าผู้มีส่วนได้เสียไม่พอใจในคำชี้ขาดของเสนาบดี ก็ให้อุทธรณ์คำชี้ขาดต่อศาลได้ภายในกำหนดสิบห้าวัน วันรับคำชี้ขาดนั้น
มาตรา ๑๓ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจสั่งให้ปิดสำนักงานจัดหางานได้เมื่อ
( ๑ ) สำนักงานนั้นไม่ได้รับอนุญาต หรือบุคคลผู้ประกอบกิจการเป็นบุคคลผู้ถูกเพิกถอนการอนุญาตเสียแล้ว
( ๒ ) สำนักงานนั้นตั้งอยู่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา ๘ หรือเมื่อผู้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการได้กระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา ๑๑
ในกรณีเหล่านี้ให้ถือว่าคำชี้ขาดของเสนาบดีเป็นที่สุด
มาตรา ๑๔ เจ้าพนักงานมีอำนาจเข้าไปในสำนักงานจัดหางาน หรือโรงเรือนของสำนักงานในเวลาอันสมควรระวางพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก เพื่อตรวจดูว่าการได้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้โดยครบถ้วนแล้ว
มาตรา ๑๕ ผู้ประกอบกิจการในทางสำนักงานจัดหางาน อยู่ในวันใช้พระราชบัญญัตินี้ จะต้องทำเรื่องราวให้ถูกต้องตามที่กล่าวไว้ในมาตรา ๖ ภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ประกาศพระราชบัญญัตินี้ในราชกิจจานุเบกษา ถ้าละเลยไม่กระทำตาม ห้ามมิให้ให้อนุญาต
มาตรา ๑๖ บุคคลใดกระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา ๕, ๑๐ และ ๑๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้ บุคคลนั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินพันบาท
มาตรา ๑๗ ให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎเสนาบดีเกี่ยวกับการที่จะตั้งแต่งเจ้าพนักงานกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและกิจการอื่น เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
กฎเสนาบดีนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
ประกาศมา ณ วันที่ ๒๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นปีที่ ๘ ในรัชชกาลปัจจุบัน
ผู้รับพระบรมราชโองการ
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
ประธานคณะกรรมการราษฎร
พระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางาน ประจำท้องถิ่น พุทธศักราช 2475
ต่อมาได้มีการออกพระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางาน ประจำท้องถิ่น พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นการออกระเบียบบังคับเพื่อช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างครั้งแรกดังมีใจความสำคัญว่า “สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า สมควรวางระเบียบจัดตั้งสำนักงานกลางจัดหางานขึ้นในกระทรวงมหาดไทย และจัดตั้งสำนักงานจัดหางานขึ้นทุกท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างในเรื่องผลประโยชน์อันมีอยู่ต่อกันในส่วนการงาน”
และเป็นพระราชบัญญัติฯ ที่มีการช่วยเหลือกรรมกรและแรงงานในท้องถิ่นครั้งแรกๆ โดยเริ่มที่เขตพระนครและธนบุรีดังนี้
“มาตรา ๕ ให้นายอำเภอจัดตั้งสำนักงานจัดหางานประจำท้องถิ่นขึ้นในจังหวัดพระนครและธนบุรี เรียกว่าสำนักงานจัดหางานประจำท้องถิ่น สำนักงานเหล่านี้ต้องจัดการโดยไม่คิดมูลค่า”
พระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางาน
ประจำท้องถิ่น พุทธศักราช ๒๔๗๕
ประชาธิปก ป.ร.
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า สมควรวางระเบียบจัดตั้งสำนักงานกลางจัดหางานขึ้นในกระทรวงมหาดไทย และจัดตั้งสำนักงานจัดหางานขึ้นทุกท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างในเรื่องผลประโยชน์อันมีอยู่ต่อกันในส่วนการงาน
จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ด้วยความ แนะนำยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรโดยบทมาตราต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางานประจำท้องถิ่น พุทธศักราช ๒๔๗๕”
มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“ลูกจ้าง” หมายความว่า บุคคลผู้รับจ้างทำงานของผู้อื่นซึ่งเรียกว่า “นายจ้าง” รวมทั้งเสมียน คนงาน คนใช้ และกรรมกรทุกประเภท
“นายทะเบียน” หมายความว่า หัวหน้าในสำนักงานกลางจัดหางาน ซึ่งขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทย
“ผู้จัดการ” หมายความว่า เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการสำนักงานอัดหางานประจำท้องถิ่น
“เสนาบดี” หมายความว่า เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
มาตรา ๔ ให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจัดตั้งสำนักงานกลางจัดหางานขึ้นใน กรุงเทพมหานคร โดยมีนายทะเบียนเป็นผู้จัดการ อยู่ในความดูแลตรวจตราและควบคุมของเสนาบดี
มาตรา ๕ ให้นายอำเภอจัดตั้งสำนักงานจัดหางานประจำท้องถิ่นขึ้นในจังหวัดพระนครและธนบุรี เรียกว่าสำนักงานจัดหางานประจำท้องถิ่น สำนักงานเหล่านี้ต้องจัดการโดยไม่คิดมูลค่า
มาตรา ๖ สำนักงานจัดหางานประจำท้องถิ่นนั้น ให้นายอำเภอจัดการในฐานเป็นผู้จัดการ โดยอยู่ในความดูแลตรวจตราและควบคุมของนายทะเบียน
มาตรา ๗ สำนักงานจัดหางานประจำท้องถิ่นต้องปฏิบัติการในระวางนี้อย่างไรนั้น ให้นายทะเบียนเป็นผู้สั่ง
มาตรา ๘ เมื่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเห็นว่าภาวะแห่งการที่คนไม่มีงานทำจำต้องจัดตั้งสำนักงานจัดหางานขึ้นตามท้องถิ่นอื่น ให้เสนาบดีมีอำนาจจัดตั้งได้
มาตรา ๙ ให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจตั้งเจ้าพนักงานและออกกฎเสนาบดีว่าด้วยวิธีที่จะปฏิบัติการให้เป็นไปตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
กฎเสนาบดีนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้เป็นอันใช้บังคับได้
ประกาศมา ณ วันที่ ๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นปีที่ ๘ ในรัชชกาลปัจจุบัน
ผู้รับพระบรมราชโองการ
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
ประธานคณะกรรมการราษฎร
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2477 นายปรีดีได้เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการควบคุมกรรมกร ในคณะกรรมการชุดนี้มีนายถวัติ ฤทธิเดชในฐานะของผู้นำกรรมกรรถราง ได้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการฯ กับอีก 10 ท่าน ได้แก่ พระยาสุนทรพิพิธ พันตรีหลวงอดุลเดชจรัส ขุนสมาหารหิตะคดี นายไต๋ ปาณิกบุตร นายร้อยโททองคำ คล้ายโอภาส นายร้อยโทเณร ตาละลักษณ์ นายชุณห์ ปิณฑานนท์ นายฟัก ณ สงขลา นายกสมาคมกรรมกรโรงพิมพ์ และนายกสมาคมประชานุกูล
หน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมแรงงาน คือ พิจารณาปัญหาของผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่างๆ ด้วยการศึกษาปัญหากรรมกรในประเทศสยาม (Commission of Study) จนกว่าจะมีการตรากฎหมายแรงงานขึ้น และมีวาระทำงานนับตั้งแต่ พ.ศ. 2477 กระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2479 ขณะที่นายปรีดี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติสอบสวนภาวะกรรมกร พ.ศ. 2479 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลสวัสดิการในการทำงานของกรรมกรอาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดตั้งต้นแนวทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมกรรมกรของคณะราษฎรนี้ เป็นการรับฟังปัญหา ศึกษาวิธีการแก้ไข และผสานแนวร่วมกรรมกรกับคณะราษฎรอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรก
จากการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักงานจัดหางาน พุทธศักราช 2475 ของรัฐบาลคณะราษฎร และการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมกรรมกรภายใต้ข้อเสนอของนายปรีดีสะท้อนการแก้ไขปัญหากรรมกรให้เป็นระบบและให้กรรมกรเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาปัญหากรรมกรเองของระบอบใหม่กระทั่งส่งผลให้มีการดำเนินการตามกฎหมาย มีงบประมาณสนับสนุน ดำเนินการตามระเบียบเวลาซึ่งแตกต่างจากในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ไม่ได้มีการแก้ไขปัญหากรรมกรอย่างเป็นรูปธรรม
ปรีดีกับแรงงานในเค้าโครงการเศรษฐกิจ
การกล่าวถึงกันมากนัก เช่นน้อยคนที่จะทราบว่า ปรีดีเป็นผู้สนับสนุนให้มีวันกรรมกร ขึ้น ครั้งหนึ่งยังเคยมอบหมายให้ หม่อมเจ้าสกลวรรณกร วรวรรณ ไปแสดงสุนทรพจน์เนื่องในวันกรรมกร
ใน “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ปรากฏทรรศนะเรื่องแรงงานและเศรษฐกิจของปรีดี อย่างละเอียดขึ้น และมีเป้าหมายเพื่อบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจตามหลัก 6 ประการ อย่างเด่นชัดโดยในเค้าโครงการฯ นี้ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่
ส่วนแรก เป็นคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจมี จำนวน 11 หมวด
ส่วนที่ 2 เป็นร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร มีจำนวน 5 หมวด
ส่วนที่ 3 เป็นร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ จำนวน 5 หมวด[3]
หลักอันเป็นกรอบพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจใหม่ในเค้าโครงฯ นี้คือ แนวคิดที่ให้รัฐบาลเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง และประเภทแรงงานที่ปรีดี เสนอไว้ในช่วงเวลานั้น จะหมายถึงกลุ่มแรงงาน 3 ประเภท ได้แก่ ชาวนา กรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรม และข้าราชการ[4]
มโนทัศน์ของปรีดี ในเรื่องแรงงานที่เสนอต่อรัฐบาลคณะราษฎรในเค้าโครงฯ ฉบับนี้ คือ รัฐบาลจำต้องดำเนินวิธีละม่อม คือ ต้องอาศัยการร่วมมือระหว่างคนมีกับคนจน รัฐบาลต้องไม่ประหัตประหารคนมี[5] และการจัดเศรษฐกิจโดยรัฐบาลต้องระวังมิให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์ ตามที่ปรีดี กล่าวไว้ว่า
“ผู้ที่อ่านโดยมีอุปาทานร้ายมักจะเหมาทันทีว่า การที่รัฐบาลประกอบเศรษฐกิจเสียเองนี้ จะทำให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์ กล่าวคือผู้หญิง จะมิเป็นของกลางไปหมดหรือ ชีวิตในครอบครัวจะไม่มี คนจะหมดความมานะพยายามในการที่จะช่วยส่งเสริมความเจริญ คำกล่าวนี้ ถ้ามีผู้กล่าว ก็คงจะใส่ร้ายโดยไม่ตรึกตรอง”[6]
ส่วนการควบคุมแรงงานนั้น ปรีดี เสนอให้แบ่งงานออกเป็น “สหกรณ์” เพราะในขณะนั้น สยามมีพลเมือง 11 ล้านคน ถ้าการประกอบเศรษฐกิจขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางอาจจะตรวจตราไม่ทั่วถึงจึงเสนอให้แบ่งเป็นสหกรณ์ โดยให้ราษฎรซึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์ จะได้รับเงินเดือนจากสหกรณ์นั้นตามอัตรา และต้องทำงานตามกำลังตามความสามารถ โดยสหกรณ์นี้จะดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ[7]
“เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หรือ “สมุดปกเหลือง” ฉบับนี้ ปรีดีได้ต่อยอดและวางแผนเรื่องแรงงานให้ชัดเจนขึ้นกว่าในพระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักงานจัดหางาน และจากเดิมที่คณะราษฎรได้ประกาศไว้ว่า รัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยากนั้น ปรีดียังชี้ว่า ถ้าดำเนินการตามเค้าโครงฯ นี้จะบรรลุเป้าหมายของหลัก 6 ประการได้โดยเฉพาะแนวคิดหลักในการประกันสิทธิแรงงาน ดังนี้
1. ให้รัฐบาลเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจเสียเอง ราษฎรทุกคนจะมีงานทำ โดยเหตุที่รัฐบาลรับราษฎรทั้งหมดเข้าทำงานเป็นข้าราชการ
2. เด็ก คนป่วย คนพิการ คนชรา ซึ่งทำงานไม่ได้ ก็จะได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลที่พอเพียงที่จะซื้อหรือแลกเปลี่ยนกับปัจจัย 4 ตามความต้องการของราษฎร[8]
ดังนี้ วันแรงงาน 1 พฤษภาคมจึงมีที่มาและความหมายต่อกรรมกรและแรงงานนับตั้งแต่หลังการอภิวัฒน์สยาม 2475 ที่มีนโยบายดูแลสวัสดิการแรงงานรวมถึงนายจ้างอย่างเป็นธรรมและเป็นรูปธรรมโดยให้ความสำคัญกับแรงงานที่ทำงานในทุกชนชั้นซึ่งนโยบายแรงงานของรัฐบาลคณะราษฎรนี้อยู่ภายใต้แนวคิดสำคัญคือ หลัก 6 ประการของคณะราษฎร และเค้าโครงการเศรษฐกิจหรือสมุดปกเหลืองของนายปรีดีเป็นสำคัญ
หมายเหตุ : คงอักขระวิธีการสะกด และการเว้นวรรคตามต้นฉบับ
ที่มาของภาพ : ราชกิจจานุเบกษา และหอสมุดแห่งชาติ
บรรณานุกรม
เอกสารชั้นต้น :
- ราชกิจจานุเบกษา, เรื่อง พระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักงานจัดหางาน พุทธศักราช 2475 วันที่ 31 สิงหาคม 2475, เล่ม 45, หน้า 315-322. สืบค้นจาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2475/A/315.PDF
- ราชกิจจานุเบกษา, เรื่อง พระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางาน ประจำท้องถิ่น พุทธศักราช 2475 วันที่ 26 ตุลาคม 2475, เล่ม 49, หน้า 457-460. สืบค้นจาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2475/A/457.PDF
- ราชกิจจานุเบกษา, เรื่อง ตั้งกรรมการพิจารณาเรื่องกรรมกร, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 พฤษภาคม 2477, เล่ม 51, หน้า 602-603.
- ราชกิจจานุเบกษา, เรื่อง พระราชบัญญัติสอบสวนภาวะกรรมกร พุทธศักราช 2479 วันที่ 12 เมษายน 2480, เล่ม 54, หน้า 70-73. สืบค้นจาก https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/viewer.php
หนังสือภาษาไทย :
- ฉลอง สุนทราวาณิชย์ และคณะฯ, ประวัติศาสตร์แรงงานไทย ฉบับกู้ศักดิ์ศรีกรรมกร, (กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย, 2541)
- ฉลอง สุนทราวาณิชย์ และคณะฯ, ประวัติศาสตร์แรงงานไทย กุลีจีน-14 ตุลาฯ-วีรบุรุษกรรมกร, (กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย, 2542)
- ปรีดี พนมยงค์, เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม, (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552)
- ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2542)
- ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, แรงงานวิจารณ์เจ้า ประวัติศาสตร์ราษฎร ผู้ชาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิ์ไทย, พิมพ์ครั้งที่ 4. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2565)
- สังศิต พิริยะรังสรรค์, ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกรรมกรไทย, (กรุงเทพฯ: โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529)
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :
- อนุสรณ์ ธรรมใจ. (6 พฤษภาคม 2564). ข้อเสนอนโยบายแรงงาน และมาตรฐานแรงงานต่อรัฐบาลในสถานการณ์วิกฤติเลิกจ้าง และเศรษฐกิจหดตัวภายใต้ผลกระทบการแพร่ระบาด Covid-19 ระลอกสาม. สืบค้นจาก https://thepeople.co/pridi-banomyong-and-his-printing-house
[1] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2542), น. 71.
[2] ราชกิจจานุเบกษา, เรื่อง พระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักงานจัดหางาน พุทธศักราช 2475 วันที่ 31 สิงหาคม 2475, เล่ม 45, หน้า 319.
[3] ฉลอง สุนทราวาณิชย์ และคณะฯ, ประวัติศาสตร์แรงงานไทย กุลีจีน-14 ตุลาฯ-วีรบุรุษกรรมกร, (กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย, 2542), น. 143.
[4] โปรดดูเพิ่มเติม เรื่องปรีดี และระบบราชการ ใน กษียร เตชะพีระ. (19 มิถุนายน 2563). ปรีดี พนมยงค์ นักอภิวัฒน์ประชาธิปไตยแห่งระบบราชการไทย. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/06/308
[5] ปรีดี พนมยงค์, เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม, (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552), น. 37.
[6] เรื่องเดียวกัน, น. 50.
[7] เรื่องเดียวกัน, น. 51-52.
[8] เรื่องเดียวกัน, น. 63-64.