ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ : การแปลบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (ตอนที่ 14)

3
สิงหาคม
2567

เอกสารต้นฉบับ “การแปลบัญญัติของรัฐธรรมนูญ” โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์

 

แผนความคิดของนายกรัฐมนตรีที่จะควบคุมการแสดงความเห็นเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนตัวของบุคคล ดังที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแก่ผู้แทนรอยเตอร์นั้นได้มีผู้ออกความเห็นวิจารณ์กันบ้างแล้ว ผู้เขียนเรื่องนี้มิได้สนใจในตัวปัณหาเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเท่าใด แต่มีความสนใจในปัณหาที่ว่า การที่รัฐบาลจะออกกฎหมายควบคุมการแสดงความเห็นเช่นนั้น จะเปนการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาธิปไตยหรือไม่ การตีความว่ารัฐบาลมีอำนาจโดยชอบที่จะตรากฎหมายเช่นนั้นจะเปนการตีความถูกดังในทางวิชาการหรือไม่หรือว่าเปนการตีความเอาโดยพลการ การถกปัณหาในแง่นี้คงจะเปนประโยชน์แก่ประชาชนที่สนใจในเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญอยู่บ้าง

หนังสือพิมพ์ “นครสาร” ฉบับวันที่ ๔ ตุลาคม รายงานว่ารัฐมนตรีท่านหนึ่งได้ชี้แจงว่า ในการที่จะออกกฎหมายหรือพระราชกำหนดเรื่องนี้ รัฐบาลได้มีความเห็นว่า “ในรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้เคารพสิทธิในทรัพย์สินของเอกชนไว้แล้วก็จริง แต่รัฐธรรมนูญไม่มีบท “แซงชั่น” ไว้เปนการแน่ชัดว่า ผู้กระทำผิดจะมีโทษสถานไหน รัฐบาลจึงเพียงคิดที่จะกำหนดความผิดของผู้ละเมิดกรรมสิทธิในทรัพย์สินของเอกชนเปนการตายตัว เพื่อให้เปนการสอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ”

เราต้องรับว่า เราไม่เข้าใจแนวคิดของท่านรัฐมนตรีผู้นี้เพราะว่าในประการแรก ได้มีทั้งกฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่งคุ้มครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชนอยู่แล้ว การที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติความคุ้มครองสิทธิของบุคคลในทรัพย์สินไว้และก็จะถือเอาว่าเปนการสมควรที่รัฐบาลจะออกกฎหมายควบคุมและกำหนดโทษการแสดงความเห็นที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญแล้ว ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๕๖ บัญญัติว่า “รัฐพึงส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ” รัฐบาลก็จะต้องออกกฎหมายควบคุมการแสดงความเห็นและกำหนดโทษบุคคลที่แสดงความเห็นหรือการกระทำในทางบั่นทอนสัมพันธไมตรีของประเทศหนึ่งประเทศใดด้วย เพราะว่าเมื่อใช้หลักการตีความอย่างใดแก่มาตราใดก็จะต้องใช้หลักการตีความเช่นเดียวกันนั้นแก่ทุกๆ มาตรา

เมื่อเราได้ชี้ให้เห็นดังนี้ ท่านรัฐมนตรีผู้นั้นคงจะร้อง “เอ๊ะ” แท้ที่จริงให้ถือตามความเห็นของรัฐมนตรีหรือรัฐบาลที่ถือว่า เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างไร รัฐบาลก็จะต้องออกกฎหมายควบคุมการแสดงความเห็นและกำหนดบท “แซงชั่น” ลงโทษบุคคลผู้แสดงความเห็นแย้งหรือค้านมาตราใดๆ ของรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐธรรมนูญเช่นนั้นก็ควรจะเปนรัฐธรรมนูญูของ God ซึ่งไม่มีใครจะไปแตะต้องแก้ไขได้ เพราะนี้บทลงโทษไว้เสียหมด ความคิดเห็นข้างต้นจะเปนของรัฐมนตรีผู้ใด หรือของรัฐบาลก็ดี เปนความคิดเห็นที่นึกหาหลักเกณฑ์ได้ยาก

เราจึงใคร่จะชี้ไว้ว่า โดยที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติถึงวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้นั้น ย่อมเปนการรับรองอยู่ในตัวว่า อาจมีความบกพร่องหรือความไม่สมควรอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้นได้ ดังนั้น ใคร ๆ ก็อาจมีความเห็นแย้งรัฐธรรมนูญได้ และอาจเผยแพร่ความคิดเห็นของเขาในอาการที่มิได้ฝ่าฝืนกฎหมายได้ทั้งนั้น เปนต้นว่า อาจเผยแพร่ความเห็นให้เพิกถอนบทบัญญัติว่าด้วยแนวนโยบายของรัฐเสียทั้งหมดก็ได้หรือจะโฆษณาชวนเชื่อให้เลิกบทบัญญัติอื่น ๆ หรือแก้ไขมาตราใด ๆ ก็ย่อมทำได้ทั้งนั้น ในเมื่อได้แสดงออกโดยอาการอันมิได้ละเมิดกฎหมายของบ้านเมือง การกระทำเช่นนั้นเปนการดำเนินตามวิถีทางของกฎหมายและวิถีทางประชาธิปไตยซึ่งควรได้รับการเชิดชู

ในทำนองเดียวกัน รัฐบาลจะเสนอให้มีการควบคุมเสรีภาพในการแสดงความเห็นของพลเมืองจนถึงโงหัวไม่ขึ้น หรือจะไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้สำออยออเซาะประชาชนเลย รัฐบาลก็ทำได้แต่จะต้องโฆษณาชวนเชื่อให้แก้รัฐธรรมนูญบทที่ว่าด้วย “เสรีภาพบริบูรณ์” เสียก่อน ถ้าไปออกกฎหมายบั่นทอนเสรีภาพ ซึ่งรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ห้ามไว้ ก็เปนการออกกฎหมายที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เปนการเจตนาละเมิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

เราเข้าใจว่า รัฐมนตรีผู้นั้นและนายกรัฐมนตรีจะมีหลักเกณฑ์ในการแปลบัญญัติของรัฐธรรมนูญไปคนละทางกับหลักเกณฑ์ของเรา การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติความคุ้มครองสิทธิของบุคคลในทรัพย์สินหรือบัญญัติแสดงเจตนารมณ์ใด ๆ ของรัฐธรรมนูญไว้ที่ดี เราแปลความว่า ข้อบัญญัติเช่นนั้นได้ตราขึ้นไว้เปนข้อผูกมัดรัฐบาลยิ่งกว่าจะไปผูกมัดประชาชน เพราะว่ารัฐบาลมีอำนาจจะออกกฎหมายบังคับประชาชนได้ รัฐธรรมนูญจึงแสดงเจตนารมณ์ห้ามไว้มีให้รัฐบาลใช้อำนาจออกกฎหมายบังคับประชาชนที่จะเปนการขัดแย้งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุเช่นนี้ มาตรา ๑๗๘ จึงบัญญัติไว้ว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมายใด มีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้บทบัญญัตินั้นเปนอันใช้บังคับมิได้”

ใคร ๆ ก็รู้กันอยู่แล้วว่าราษฎรหรือประชาชนจะไปบัญญัติกฎหมายไม่ได้ รัฐบาลเท่านั้นที่เปนผู้บัญญัติกฎหมาย ฉะนั้น เราจึงแปลความว่าบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้นมุ่งหมายจะผูกมัดการกระทำของรัฐบาล มิใช่ผูกมัดประชาชน เพราะประชาชนไม่มีอำนาจจะไปออกกฎหมายอะไรให้ขัดแย้งรัฐธรรมนูญได้ แต่ประชาชนอาจออกความเห็นขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญได้และรัฐธรรมนูญแสดงการรับรู้สิทธิอันนี้ไว้เต็มที่ จึงได้บัญญัติวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญลงไว้

เราแปลบัญญัติรัฐธรรมนูญได้ความดังนี้ ซึ่งเปนการตรงกันข้ามกับการแปลของรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี ซึ่งเราไม่ทราบว่าท่านถือหลักเกณฑ์การแปลโดยอาศัยแนวความคิดทางวิชาการของสำนักใด แต่ถ้าท่านคิดตั้งหลักเกณฑ์ของท่านขึ้นเองก็เปนอันยุติข้อถกเถียงไว้ได้

เราคิดว่า กฎหมายควบคุมเสรีภาพทางความคิดเห็นตามแนวที่นายกรัฐมนตรีได้แสดงแก่ผู้แทนรอยเตอร์นั้น เปนการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติความคุ้มครองเสรีภาพบริบูรณ์ของบุคคลในการพูด การเขียน การพิมพ์และการโฆษณา และขัดกับเจตนารมณ์ของสิทธิประชาธิปไตยโดยแท้

แม้นายกรัฐมนตรีสงสัยว่า ความเห็นที่เราเสนอมานี้จะฟังว่าถูกต้องกับธรรมนิยมประชาธิปไตยหรือไม่แล้วก็โปรดถามอารยรัฐบาล เช่น อังกฤษหรืออเมริกันดูเถิด

 

ที่มา : ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : 8 ตุลาคม พ.ศ. 2491

 

หมายเหตุ:

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
  • อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “การแปลบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ” ใน มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548), 186-192.
  • ตัวเน้นโดยผู้เขียน

 

บรรณานุกรม :

  • สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548)

 

บทความที่เกี่ยวข้อง :