ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ ผลผลิตของมรดกหลังยุคสงครามเย็น

7
มกราคม
2568

Focus

  • บทความนี้มาจากโครงการวิเคราะห์ร่างกฎหมายและวิจัยกฎหมายเพื่อพัฒนากระบวนการนิติบัญญัติ เรื่อง บทบัญญัติทางกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ และประเด็นพิจารณาในร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. ....
  • พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มีหัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการจัดเก็บข้อมูลข่าวสารเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านจดหมายเหตุ และเป็นผลผลิตของการตื่นตัวทางการเมืองของสังคมไทยในทศวรรษ 2540ที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยรัฐต้องการส่งเสริมให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในความครอบครองและควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลภายใต้การครอบครองและควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ
  • ปัญหาสำคัญของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 จากนักวิชาการคนสำคัญ คือมีลักษณะเป็นกฎหมายในยุคสงครามเย็นที่ไม่ได้มองประชาชนในฐานะเจ้าของและคนที่มีสิทธิในข้อมูลสาธารณะ แต่มองว่าประชาชนเป็นเพียงผู้ขอรับข้อมูลเท่านั้น[1]ทำให้ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการเปิดเผยข้อมูล

 


ปกพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
ที่มา : ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

ในช่วง พ.ศ. 2540 ประเทศไทยค่อนข้างที่จะมีความหวังกับการสร้างการเมืองใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม การขจัดอิทธิพลของกองทัพ การสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการบริหารประเทศ การสร้างการเมืองที่มีเสถียรภาพ และการขจัดแทรกแซงของกลุ่มทุนผูกขาด

พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ก็เป็นหนึ่งในผลผลิตของการตื่นตัวทางการเมืองของสังคมไทยในช่วงเวลานั้น กฎหมายฉบับนี้ตราขึ้นมาท่ามกลางความหวังของสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยต้องการส่งเสริมให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในความครอบครองและควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลภายใต้การครอบครองและควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ

อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญของพระราชบัญญัตินี้ก็คือ แม้ว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายจะดีและมุ่งหวังให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างโปร่งใส ทว่า ในทางปฏิบัติกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ได้ช่วยผลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานในภาครัฐมากพอที่จะทำให้เกิดความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สิ่งนี้จึงเป็นปัญหาสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการไทย

 

เจตนารมณ์ที่ดี

ดังกล่าวมาแล้วในข้างต้นว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ที่ต้องการสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการบริหารประเทศผ่านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในความครอบครองและควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งถือว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้มีความก้าวหน้าและทันสมัยมาก ๆ ในช่วงเวลานั้น

อนึ่ง หลักการหลาย ๆ ประการของกฎหมายฉบับนี้อ้างอิงแนวทางมาจาก Freedom of Information Act ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยเสรีภาพในข้อมูลข่าวสาร (ชื่อภาษาอังกฤษที่ต่างประเทศมักใช้นั้นได้สะท้อนให้เห็นว่าข้อมูลข่าวสารควรเข้าถึงได้อย่างเสรี) ที่มีอิทธิพลต่อแนวทางของกฎหมายในลักษณะเดียวกันทั่วโลก

บทบัญญัติของพระราชบัญญัติฉบับนี้พูดถึงใน 2-3 เรื่อง แต่ส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการจัดเก็บข้อมูลข่าวสารเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านจดหมายเหตุ

กล่าวเฉพาะในหัวข้อเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร กฎหมายกำหนดเงื่อนไขในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารคือ ต้องเป็นข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในการครอบครองและควบคุมดูแลโดยหน่วยงานของรัฐ ที่ครอบคลุมหน่วยงานของรัฐทั้งหมดไม่ว่าจะอยู่ภายใต้องค์กรฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ โดยหน่วยงานของรัฐเหล่านี้ มีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารใน 3 ลักษณะ คือ การประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา สำหรับข้อมูลข่าวสารที่มีความสำคัญและส่งผลต่อกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การจัดเตรียมข้อมูลข่าวสารไว้ให้ประชาชนตรวจสอบ ณ ที่ทำการ (และส่วนน้อยในทางเว็บไซต์) และการเปิดให้ประชาชนเข้าตรวจดูข้อมูลข่าวสารได้ตามความต้องการของแต่ละบุคคล โดยกฎหมายเน้นว่ารัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนจะต้องได้รับการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเหล่านี้

ลักษณะของบทบัญญัติข้างต้น ดูเหมือนว่าจะทำให้หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่อยู่ภายใต้ความครอบครองของหน่วยงานของรัฐเหล่านี้อย่างแน่นอน

 

ในทางปฏิบัติที่มีปัญหา

เจตนารมณ์ดังกล่าวเปรียบเสมือนความฝันอันเหลือเชื่อที่สังคมอยากจะให้เกิดขึ้น แต่ในทางปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ราบรื่นโดยทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายและสะดวกสบายตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ที่ผ่านมาพบว่า สถิติการยื่นอุทธรณ์ขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อคณะกรรมการวินิจฉัยเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร พบว่าสถิติการไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสะท้อนว่าการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการไทยมีปัญหา

 

ภาพแสดงสถิติการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในช่วงปี 2558-2565

 


ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ, รายงานประจำปีสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ (2558-2566)

 

อีกประการหนึ่งที่อาจจะชวนให้เราทุกคนคิดต่อคือ สถิติข้างต้นนี้ นอกจากการสะท้อนว่าจำนวนการอุทธรณ์คำสั่งปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารแล้ว สถิตินี้สะท้อนอะไรให้เรารู้อีกบ้าง ในมุมของผู้เขียนสถิตินี้กำลังบอกเราอ้อม ๆ ว่า ช่องทางการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ การประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และการจัดเตรียมข้อมูลข่าวสารไว้ให้ประชาชนตรวจสอบ ณ ที่ทำการ อาจจะยังไม่เพียงพอสำหรับตอบสนองความต้องการของประชาชน ซึ่งในปัจจุบันมีกฎหมายกำหนดแนวทางในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยอัตโนมัติ 2 ช่องทางนี้ เพียงแค่ 18 เรื่อง เท่านั้น ซึ่งเป็นประเภทของข้อมูลส่วนน้อยที่อยู่ภายใต้ความครอบครองและควบคุมดูแลของรัฐ

การเปิดเผยข้อมูลอัตโนมัติเพียงจำนวนเล็กน้อยเท่านั้นนี้ กลายมาเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน ในเรื่อง รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ผู้มีชื่อเสียงของประเทศไทยท่านหนึ่ง ได้เคยตั้งข้อสังเกตว่า พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มีลักษณะเป็นกฎหมายในยุคสงครามเย็นที่ไม่ได้มองประชาชนในฐานะเจ้าของและคนที่มีสิทธิในข้อมูลสาธารณะดังกล่าว แต่มองว่าประชาชนเป็นเพียงผู้ขอรับข้อมูลเท่านั้น[2]ทำให้ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการเปิดเผยข้อมูล

 

วัฒนธรรมการปกปิดข้อมูล

นอกจากแนวคิดในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแล้ว ด้วยวัฒนธรรมที่ผ่านมาของประเทศตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐไม่ได้มองประชาชนในฐานะเจ้าของข้อมูลและคนที่มีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลสาธารณะ ด้วยเหตุนี้ทำให้หน่วยงานของรัฐมักจะหยิบเอาข้อยกเว้นในการไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารมาใช้ เพื่อไม่เปิดเผยข้อมูล ตัวอย่างเช่น ข้อยกเว้นด้านความมั่นคงของรัฐ หรือข้อยกเว้นในการทำให้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐมักจะอ้างข้อยกเว้นดังกล่าวมาใช้แบบตีขลุมเพื่อเป็นข้ออ้างในการไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร หรือการอ้างเหตุในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้เพื่อปฏิเสธการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

การหวงกันและการไม่ได้ตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร จึงเป็นปัญหาในเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญที่ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมไทย และกลายเป็นกฎเหล็กที่หน่วยงานของรัฐระแวดระวังไม่กล้าที่จะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารหรือไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนรับรู้

การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกเหนือจากกฎหมายที่จะต้องแก้ไขเพื่อลดอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ การทำให้ข้อยกเว้นมีความชัดเจนมากขึ้น หรือการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐควรปรับมาให้บริการออนไลน์ผ่านเว็บไซต์มากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบัน บนพื้นฐานของกฎหมาย

แต่อีกส่วนที่ต้องปรับเปลี่ยนมากขึ้นคือ การปรับค่านิยมในการไปให้บริการข้อมูลข่าวสารมากขึ้น โดยต้องกำหนดให้ภาครัฐตระหนักและส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นการกำหนดในเชิงตัวชี้วัด (KPI) แต่อีกส่วนหนึ่งคือ รัฐบาลต้องสลายความกลัวให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการเปิดเผยข้อมูล สร้างความตระหนักและให้ความคุ้มครองทางกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร รวมถึงตัวหน่วยงานของรัฐนั้นไม่ให้โดนลงโทษหรือโดนดำเนินคดี

 

หมายเหตุ:

  • บทความนี้สรุปมาจาก เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, “โครงการวิเคราะห์ร่างกฎหมายและวิจัยกฎหมายเพื่อพัฒนากระบวนการนิติบัญญัติ เรื่อง บทบัญญัติทางกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ และประเด็นพิจารณาในร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. ....” (ทุนวิจัยสนับสนุนโดยสถาบันพระปกเกล้า, 2567).

 


[1] กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล, “รังสรรค์ ชำแหละ พ.ร.บ.ข้อมูลฯ ผ่านกรอบเศรษฐศาสตร์การเมือง ชี้สร้างความชอบธรรมรัฐปิดข้อมูล” TCIJ, 1 พฤศจิกายน 2555 [Online], สืบค้นเมื่อ 17 ธันวาคม 2567, สืบค้นจาก https://www.tcijthai.com/news/2012/11/scoop/1362.

[2] กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล, “รังสรรค์ ชำแหละ พ.ร.บ.ข้อมูลฯ ผ่านกรอบเศรษฐศาสตร์การเมือง ชี้สร้างความชอบธรรมรัฐปิดข้อมูล” TCIJ, 1 พฤศจิกายน 2555 [Online], สืบค้นเมื่อ 17 ธันวาคม 2567, สืบค้นจาก https://www.tcijthai.com/news/2012/11/scoop/1362.