ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ส่องประวัติศาสตร์วุฒิสภา : พลวัตระหว่างอำนาจกับประชาชน

17
พฤษภาคม
2567

Focus

  • ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ย้อนมองอดีตตั้งแต่กำเนิดสมาชิกวุฒิสภาไทยในรัฐธรรมนูญฉบับแรก 27 มิถุนายน 2475 แล้วพิจารณาการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสภาฯ จากสภาเดียวในรัฐบาลสมัยคณะราษฎรก่อนการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ว่ามีความแตกต่างจากก่อนและหลังจากนั้นอย่างไรโดยมองจากพลวัต พัฒนาการ และบริบททางการเมืองของแต่รัฐบาลประกอบกัน
  • ธเนศชี้ให้เห็นเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาและการเลือกตั้งเปรียบเทียบรวมถึงบทบาทและอำนาจของคณะกรรมการเลือกตั้ง สื่อมวลชนในไทยเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา
  • อภิปรายถึงความสำคัญของรัฏฐาธิปัตย์ (Sovereignty) และอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนที่มีผลมาจากรัฐธรรมนูญโดยการใช้อำนาจดังกล่าวจะชอบธรรมหรือไม่ขึ้นอยู่กับแต่ละรัฐบาลหรือแต่ละบริบททางการเมือง ซึ่งในยุคหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 มีรัฐธรรมนูญที่มีรูปแบบปรับเปลี่ยนไปตามคณะรัฐประหารหรือผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงทำให้หลักการประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญเปลี่ยนไปและส่งผลต่อการออกแบบสถาบันการเมืองโดยเฉพาะการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาทางอ้อมที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

 

เมื่อเช้านี้ประมาณ 10:00 น. พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกวุฒิสภาก็ได้ประกาศใช้เรียบร้อยแล้ว อ่านไปเขาก็บอกเลยว่าให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป แปลว่าตอนนี้เริ่มบังคับใช้แล้วนะครับ ความหมายแรกก็คือว่าปี่กลองของสนามสว. (สมาชิกวุฒิสภา) ’67 ได้ประกาศแล้วอย่างเป็นทางการ เรากำลังเดินหน้าไปไม่มีอะไรช้า ไม่มีอะไรดีเลย์ไปกว่ากำหนดการที่ออกมาก่อนหน้านี้ ความหมายที่ 2 ก็คือว่าระเบียบกกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ข้อ 11 ก็เริ่มบังคับใช้แล้วอย่างเป็นทางการ นั่นแปลว่าพี่ๆ ทุกท่านผมเชื่อมั่นว่าวันนี้นี่อบอุ่นเหลือเกิน ผมเชื่อมั่นว่าหลายท่านพร้อมจะไปสมัครและเตรียมตัวกันแล้วนะครับ

 

 

ทีนี้วันนี้ก็เลยจึงเป็นวันแรกที่ผู้สมัครถูกห้ามไม่ให้แนะนำตัวผ่านสื่อมวลชน และสื่อมวลชนก็ไม่สามารถนำเสนอให้ผู้สมัครออกมาบอกได้ว่าตัวเองเป็นใครทำอะไรมาและจะลงสมัครที่ไหนกลุ่มใดนะครับ ก็ทำให้วิทยากรท่านหนึ่งของเราที่คอนเฟิร์มมาตอนแรกก็เลยไม่ได้ขึ้นมาด้วย ส่วนอะไรจะทำได้ไม่ได้ผมไม่อยากเป็นกูรูมาชี้เลยเพราะว่าผมก็ไม่ได้เห็นด้วยกับระเบียบกกต. ฉบับนี้ แต่เอาเป็นว่าหลังจากนี้เงื่อนไขจะมากขึ้นและพี่ๆ ก็สามารถแนะนำตัวได้โดยการทำโบรชัวร์ของตัวเองเป็น A4 ไม่เกิน 2 หน้าและมอบให้กับผู้สมัครเท่านั้น ถ้าพี่โพสต์ Facebook ไม่ได้แล้ว ชัวร์อันนี้ชัวร์ ถ้าพี่เอามาให้ผมซึ่งผมไม่ได้สมัครเพราะว่าผมอายุไม่ถึงก็ไม่ได้แล้วนะครับ

วันนี้เป็นวันที่ทุกอย่างเกิดขึ้นโดยเกือบๆ จะนัดหมายนะ จริงๆ ตอนแรกเราคิดว่าพระราชกฤษฎีกาจะมาพรุ่งนี้แต่ก็ดันมาเร็วก็ไม่เป็นไรครับมาเร็วก็มา แต่วันนี้ก็เป็นวันแรกที่พี่ๆ สว. ชุด 250 คนที่มาจากคสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) หมดอายุนะครับ คือจริงๆ ภาษากฎหมายเขาเรียกว่า หมดวาระ ก็ไม่รู้ใครนะเป็นคนใช้คำว่าหมดอายุก่อนซึ่งมันก็เข้าใจได้ก็เห็นใช้คำว่าหมดอายุกันมาเรื่อยๆ ผมก็ใช้บ้างนะครับ ก็หมดอายุไปแล้วก็บ๊ายบายนะครับ ไม่เจอแล้วนะหวังว่าไม่เจอแล้วนะ พี่ๆ ที่พูดอะไรไม่รู้ว่ามา 5 ปีก็หมดละ วันนี้แล้วก็เราก็มาลั่นปี่กลองที่จะเดินสู่สว. ชุดหน้ากันในวันที่ 11 พฤษภาคมซึ่งเป็นวันปรีดี พนมยงค์ พอดีเสียเหลือเกิน

ทั้ง 5 ท่านครับ ผมจะขออนุญาตชวนคุยกันแบบนี้นะครับ รอบแรกอยากจะให้ทุกท่านพูดถึงพี่ๆ 250 คนที่กำลังจะไม่มีงานทำเสียหน่อย ผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาบอกว่าเขายังรักษาการอยู่นะ เขายังรักษาการอยู่ รักษาการนี้มีเงินเดือนก็ไม่รู้นะ มีด้วยเหรอ ยังต้องจ่ายเงินเดือนอีกนะครับ โอเคไม่เป็นไร ก็อีกไม่นานละ 2 กรกฎาคม ตั้งเป้าหมาย 2 กรกฎาคมชุดใหม่เลือกเสร็จก็พี่ๆ เขาจะไม่อยู่แล้วอดทนอีกนิดนึงนะ แล้วก็รอบที่ 2 ก็อยากจะให้ทุกท่านพูดตามหัวข้อนะครับ เก่าไปใหม่มา เวทีสว. และอนาคตประเทศไทย ซึ่งแต่ละท่านเตรียมเนื้อหาข้อมูลมากันอย่างเต็มที่แล้ว แล้วรอบที่ 3 ก็อยากจะให้ทั้ง 5 ท่านได้ฝากอะไรถึงสว. ชุดหน้าแล้วก็พี่ๆ หลายท่านในที่นี้ที่เตรียมไปลงสนามและเตรียมจะเป็นกำลังสำคัญต่อประชาธิปไตยข้างหน้าด้วยนะครับ

 

 

ก็ตามคิวคืออาจารย์ธเนศ (ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ) ท่านแรกนะครับ แล้วก็ทางนู้นนะครับเกี่ยงกันเอง แล้วก็ 2 ท่านนี้ปิดท้าย นักการเมืองปิดท้าย แต่ว่าสบายๆ แล้วกันเราสามารถเปลี่ยนคิวได้เสมอ ก็รอบแรกอยากจะให้พูดถึงพี่ๆ 250 คนหน่อย 5 ปีที่ผ่านมา เราเจออะไรที่เขาทำไว้บ้างอาจจะไม่ต้องพูดทุกเรื่องเพราะพูดทุกเรื่องไม่ไหว เขาจะไปแล้วนะครับ มีอะไรที่เขาทิ้งไว้ฝากไว้ให้เราได้เรียนรู้ได้จดจำกับผลงานของพวกเขากันบ้างครับผมเชิญครับ เชิญอาจารย์ธเนศก่อนก็ได้ครับ

 

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ :

ครับ ขอบคุณมากครับ สวัสดีครับท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ หลายท่านก็คงจะได้ทราบข่าวเพราะว่าผมก็ไปร่วมกิจกรรมเปิดตัวอะไรต่างๆ ตั้งแต่เริ่มของ Ilaw (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) เป็นต้นมา ก็คงจะเห็นการแสดงเจตจำนงเกี่ยวกับผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งสว. อันนี้ผมก็ประกาศไปแล้วก็ทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้นก็ไม่มีอะไรก็คิดว่าการพูดเราพูดในเรื่องที่เป็นความจริง พูดในเรื่องที่มันถูกต้อง เพราะฉะนั้นผมก็ไม่คิดว่าจะมีปัญหานะครับ นอกจากว่าคนอื่นจะมีปัญหาแต่ผมน่ะไม่มีปัญหาก็ยินดีที่จะพูดที่อยากจะพูด

 

 

คำถามแรกที่ถามว่าประเมินผลงานของสมาชิกวุฒิสภาชุดพิเศษที่มาจากการแต่งตั้งผสมเลือกตั้งคัดเลือกกันเองอะไรต่างๆ 5 ปีนี้ประมาณอย่างไร คือมันมีข่าวเยอะผมเลยคิดว่าไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดต่างๆ ผมให้ผู้อื่นพูดต่อละกัน ก็เอาเท่าที่ผมจำได้หลักๆ ว่ามันทำให้เรากลับมาตั้งคำถามใหม่ว่าทำไมถึงต้องมีสว. ผลงานที่ทำให้ผู้ได้รับงานนี้ใช่ไหมต้องตั้งว่า จะเรียกว่าจ้างได้ไหมเพราะว่างบประมาณของราษฎรของประเทศ เพราะฉะนั้นคนที่รับงานก็จะเป็นลูกจ้างของประชาชน ผมก็ประชาชนที่เสียภาษีก็อยากจะถามว่าเราจ้างเขามาทำอะไร ก็คือว่า TOR ต่างๆ เราก็ไม่ได้เขียนใช่ไหม เราก็ไม่ได้ประเมิน แต่เราเห็นผลงานรู้สึกแล้วก็รับรู้ได้ก็คือผมเชื่อว่าผมก็คงคิดไม่ต่างจากหลายคนนะ ผมเดาว่าต้องหลายคนแน่ๆ อาจจะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศก็ได้ว่าเกิดคำถามเหมือนกันว่าเราเข้ามาทำอะไรก็ผ่านกฎหมาย 10 ปี ประมาณ 8 ฉบับ

เท่าที่ผมดูเร็วๆ โทษทีไม่ใช่ ผ่านคือรับรอง คือสว. ไม่มีการออกกฎหมายนะ กฎหมายจะผ่านออกด้วยสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภามีหน้าที่ในการกลั่นกรองก็คือรับพิจารณาแล้วก็ยับยั้งให้ความเห็น 30 วัน 60 วันต่างๆ แล้วก็ส่งกลับไปก็ผ่านไปยับยั้งไปประมาณ 8 ฉบับ บางทีก็ผ่านไปประมาณ 2 ฉบับ ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นผลงานที่คิดจากจำนวนเงินคนนึงได้ประมาณ 4,000 ไม่รู้กี่ร้อยกี่ล้านบาท เรื่องงานน้อยไปหน่อยถ้าจำผมแบบนั้นแล้วให้ผมทำ ผมทำ 100 เท่านะครับ

แล้วก็ที่สำคัญมากกว่านั้นคือ เลือกตั้งนายก 2 คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คือพูดง่ายๆ ว่าไม่มีความชอบธรรมในระบบประชาธิปไตยและท่านก็เข้าใจว่ามาด้วยวิธีการนอกรัฐธรรมนูญสว. นี่เป็นคนให้ตรายางรับรองความชอบธรรมแล้วที่วีรกรรมของสว.ชุดนี้คือการบล็อกไม่ให้หัวหน้าพรรคฯ ที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเสียงส่วนใหญ่ไม่ให้เป็นนายกฯ คือสวนทางกับ 2 ครั้งแรก เพราะฉะนั้นถือว่าเป็นหน้าที่ยิ่งทำให้สงสัยด้วย

อ้าว ถ้าอย่างนั้นเรามีสว. เพื่อจะมากลั่นกรองเพื่อจะมาเป็นวุฒิ วุฒิก็คือมีคุณวุฒิที่เหนือกว่าสภาล่างหรือคนทั่วไปต่างๆ แต่เขาตัดสินเรื่องตรงข้ามกับความต้องการและเหตุผลด้วย คือความต้องการอาจจะถือว่ามันไม่ชอบธรรมก็ได้นะ แต่ว่าการเลือกตั้งมันเป็นความชอบธรรมที่ถูกต้องในทางกฎหมายประชาธิปไตยทั่วโลกเขายอมรับโดยเฉพาะเสียงข้างมากเลยใช่ไหม อันนี้มันฝืนไม่ได้ถ้าฝืนมันต้องมีเหตุผลมากกว่านั้น แต่ว่าสว. ก็ฝืนได้อย่างสบายใช่ไหม ก็อ้างมาเลยใช่ไหมเสียงข้างมาก เขาก็ทำให้มันยุติไปต่างๆ เพราะฉะนั้นก็จบด้วยการที่ถ้าผมให้คะแนนผมว่า F ครับ

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ถ้าคำทำนายของอาจารย์ประจักษ์เป็นจริงเราไม่ต้องมีสว. แต่งตั้งอีกเพราะว่าพวกเขาได้ฝากผลงานจนสังคมไทยรู้แล้วว่าไม่กลับไปย้ำรอยแบบเดิม เราหวังว่าคำทำนายของอาจารย์ประจักษ์จะเป็นจริง วันนี้ ‘วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม’ สมัยผมเด็กๆ เข้าเป็นนักศึกษาที่นี่วันนี้เป็นวันปฐมนิเทศ ที่นี้เทอมมันเปลี่ยนไปมันไม่ใช่วันปฐมนิเทศใหม่แล้ว แต่วันนี้ปี ’67 วันปรีดี พนมยงค์ เป็นวันที่เราจะได้เฉลิมฉลองกัน ว่าเราจะไม่มีวันกลับไปมีสว. แต่งตั้งอีกนะครับ ถ้าท่านยินดีขอเสียงปรบมือในวันนี้ครับผม มาคุยกันต่อยังมีอีกหลายมุมที่เราอยากจะเรียนรู้เรื่องสว.

สว. ในประวัติศาสตร์ไม่ได้มีในชุดนี้มันมีตั้งนานแล้ว ทำหน้าที่ต่างกันมีคำถามเยอะมากช่วง 5 ปีที่ผ่านมาว่าเราจะต้องมีสว. ไหม หรือไม่ต้องมี หรือมีแต่มีที่มาแบบอื่น หรือมีแต่มีอำนาจน้อยกว่านี้ เชื่อว่าทั้ง 5 ท่านเตรียมมาตอบคำถามมากมายเหล่านี้ในหลายแง่มุมเกี่ยวกับสว. ทั้งชุดเก่าและชุดหน้า อยากจะขอเรียนเชิญช่วงที่สองให้พูดเต็มๆ หน่อยครับ แต่ละท่านมีเวลาประมาณ 15 นาที ขอเชิญอาจารย์ธเนศก่อนถ้าท่านไหนจะต่อก็ต้องแย่งกัน

 

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ :

ในแง่ประวัติศาสตร์นี้น่าสนใจ การเกิดขึ้นของ “สมาชิกสภาสูง” และต่อมาเรียกว่า “พฤฒสภา” และก่อนจะมาเป็น “วุฒิสภา” มันมีความเป็นมาที่ยาวนาน ถ้ามองในแง่ของบทบาทการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่คล้ายๆ กัน ต้องถือว่าเกิดพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ถ้าเขาจำได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับแรก 27 มิถุนายน แล้วก็เปลี่ยนมาเป็น 10 ธันวาคม ปี 2475 ก็เสนอเหมือนกันคือ สภานิติบัญญัติมีสภาเดียว แต่มี 2 แบบคือ แบบประเภท 1 ประเภท 2 ประเภท 1 ก็คือเลือกตั้ง ประเภท 2 คือแต่งตั้ง อันนี้เป็นรูปแบบแรกที่มา เพราะฉะนั้นผมเข้าใจว่าคณะราษฎรโดยอาจารย์ปรีดี ต่างๆ ก็คงอยู่ในส่วนของการร่วมร่างฯ

อันนี้ด้วยแล้วคำอธิบายนี้ผมก็จำไม่ได้ว่าใครอธิบายได้ว่าทำไมถึงต้องมี 2 สมาชิก 2 ประเภทต่างๆ

 

 

ถ้าตอบเร็วๆ ตามที่ผมเข้าใจ ดูพัฒนาการทั่วๆ ไป การตั้งสภาแรกโดยเฉพาะรัฐบาลที่ไม่เป็นของประชาชนแล้วเปลี่ยนมาสู่รัฐบาลที่เป็นของประชาชน อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน มักจะมีปัญหากับบทบาทหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งนั้น เพราะว่าในทุกๆ แห่งมันเหมือนกันหมดคือ เราอยู่กับสังคมที่มีอำนาจความรู้การฝึกฝนการต่างๆ มันอยู่กับอภิสิทธิ์ชนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่ของประเทศไหนๆ ในโลกนี้มันไม่มีความรู้หรอกมันไม่ได้มีโอกาสเรียนหนังสือ เพราะฉะนั้นเมื่ออยู่ๆ มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงอยู่ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แล้วก็ตั้งรัฐบาลใหม่ที่ว่าเป็นตัวแทนปวงชนให้เข้ามาหมดเท่ากันไหม ผมว่าทุกคนก็คงสะอึก โดยเฉพาะแกนนำในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยิ่งเป็นสหรัฐอเมริกาก็ยิ่งคิดหนักด้วยว่าจะให้ไหม ในที่สุดมันก็จะลงมาแบบกึ่งๆ ประนีประนอมกัน คือว่าให้แต่มีเงื่อนไขว่า ถ้าเลือกทั่วไปแล้วได้จำนวนหนึ่ง แล้วเลือกแบบมีเงื่อนไขคือ เลือกแบบมีเงื่อนไขว่าเอาคนที่มีคุณวุฒิหน่อยไปเลือกคานกับสภาผู้แทนฯ ก็จะกระทำการได้ดีขึ้นต่างๆ

 

 

เพราะฉะนั้นความคิดแบบที่ผมเข้าใจตอน 2475 ที่ผมมองไปถ้าเลือกทันทีเลย ผู้แทนจากหมู่บ้าน ตำบลต่างๆ คงชุลมุน เพราะการศึกษาของไทยมันกะปลกกะเปลี้ย เราก็ยังไม่มีการศึกษา เพราะว่าอย่าลืมว่าเรายังไม่มีระบบการศึกษาแบบเกินครึ่งก็ไม่ได้ 20 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันไม่มีทางอะไรที่คุณจะเอามาตรฐานอะไรไปวัดได้ต่างๆ เพราะฉะนั้นผมก็เข้าใจได้ว่าทำไมรูปแบบของรัฐสภาอันแรกถึงต้องมี 2 สมาชิกแบบ 1 แบบ 2 อย่างใช่ไหม เพราะเพื่อประกันหลักการว่าเลือกแล้วจะไม่เสียของ คือว่าถึงจะทำผิดทำถูกก็ยังมีพี่เลี้ยงเพราะฉะนั้นประเภทแต่งตั้ง ก็มาพร้อมกับความเชื่อว่าคนที่มีความรู้มีคุณสมบัติมีอะไรต่างๆ ที่ดีกว่าคนทั่วไปโดยเฉพาะเรื่องการบ้านการเมืองเขาก็อยู่ด้วยเป็นพี่เลี้ยงไปแล้วก็จะช่วยกันไป

เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญปี 2475 ทั้ง 2 ฉบับจะไม่ต่างกันในแง่นี้ก็จะผ่านตรงนี้ไปนะครับผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลที่ต่อเนื่องก็คือรัฐธรรมนูญปี 2489 ฉบับ’89 ก็คือหลังจากที่สงครามโลกยุติ สงครามญี่ปุ่นยึดครองประเทศไทยจบแล้วก็จอมพล ป. หมดอำนาจต่างๆ พรรคเสรีไทยและอาจารย์ปรีดีที่เป็นผู้สำเร็จราชการฯ ตอนนั้นก็ขึ้นมาเป็นแกนนำของฝ่ายเสรีประชาธิปไตยหรือเสรีนิยมมากขึ้นต่างๆ ตอนนี้ที่เกิดแนวคิดในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพราะว่าฉบับ 2475 ใช้ในช่วงแรกคิดในเวลากระชั้นชิด เขียนอะไรก็ไม่ละเอียด บ้านเมืองก็ไม่เปลี่ยนแปลงไม่รู้มีประสบการณ์ไหมแต่ตอนนี้มัน 15 ปีมาแล้วก็มีบทเรียนแล้ว เพราะฉะนั้นร่างใหม่ และท่านอาจารย์ปรีดีก็ไปปรึกษาคุณควงซึ่งเป็นนายกฯ ในตอนนั้น แล้วก็ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาต่างๆ ก็ปรึกษาทั้งฝ่ายสภาฯ สภาผู้แทนต่างๆ ในทุกส่วนเสียงเห็นด้วยต่างๆ ก็ร่างเข้ามาเสร็จเรียบร้อยเร็วมาก ไม่ได้ใช้เวลาหลายปี ไม่นานก็เสร็จแล้วก็เข้าสภา แล้วก็ประกาศใช้ประกาศใช้ 9 พฤษภาคม ปี 2489 และตอนนั้นในหลวงรัชกาลที่ 8 ก็เสด็จนิวัติพระนคร เพราะฉะนั้นตอนนั้นการเมืองเป็นเรื่องเปิดใหม่เพราะแต่ก่อนตอนปี 2475 มาจนถึงตอนนี้เราไม่มีพระมหากษัตริย์อยู่ในประเทศก็มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่างๆ

ตอนนั้นบรรยากาศมันเริ่มก้าวไปสู่ที่อนาคตประชาธิปไตยไทยมันเริ่มส่องสว่าง อาจจะเรียกได้ว่าเป็นดาวรุ่งของประชาธิปไตยใหม่ในเอเชีย เอเชียอาคเนย์เป็นแน่ๆ แต่เอเชียทั้งหมดอย่างญี่ปุ่น จีนอะไรต่างๆ เราไม่รู้ แต่ในเอเชียอาคเนย์ ผมคิดว่าในตอนนั้นสยามเป็นดาวรุ่ง เพราะหลายประเทศในแถบนี้ยังไม่ได้รับเอกราชเพราะยังต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมต่างๆ เพราะฉะนั้นการมีสภาการมีผู้แทนของเขา เป็นเรื่องห่างไกลมาก แต่ว่าสยามกำลังเข้าสู่ยุคที่จะทำให้สมบูรณ์ขึ้นด้วยการที่รัฐธรรมนูญปี 2489 เสนอให้มีสภาคู่ คือมีทั้งสภาสูงที่เรียก “พฤฒสภา” และสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นอันเก่าที่มีก็เลิกสภาแบบ 2 ประเภทออกไป อันนี้ก็คือเป็นการทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นเวลาอาจารย์ปรีดี อธิบายเรื่องประชาธิปไตย ท่านก็จะเน้นว่าอำนาจประชาธิปไตยเป็นของปวงชนหรือเปล่า แล้วได้มาอย่างไร ให้อย่างไรกัน การให้โดยตรงก็คือครบถ้วนสมบูรณ์

เพราะฉะนั้นอาจารย์ปรีดีก็มองว่า บรรยากาศตอนนั้นความขัดแย้งกับฝ่ายเจ้ากับฝ่ายราษฎรก็ลดลงไปแล้ว เพราะว่าเสรีไทยก็ร่วมมือกับฝ่ายเจ้าเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นก็คิดว่าน่าจะหมดปัญหาขัดแย้งภายในแล้ว กับฝ่ายทหารกับจอมพลป. ก็หมดอำนาจลงไปแล้ว ก็เลยตั้งรัฐธรรมนูญ ปี 2489 ตั้งอันนั้นเชื่อว่าจะสถาพรความเป็นรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้นมาในประเทศไทยเป็นครั้งแรกอย่างยั่งยืนต่อไป แต่เราก็รู้ใช่ไหม ประวัติศาสตร์มันเป็นเรื่องเศร้า ประวัติศาสตร์จะเป็นเรื่องแบบ Happy Ending น้อยมาก ผมเรียนประวัติศาสตร์มาผมรู้สึกว่าจริงๆ เป็นโศกนาฏกรรมแต่ว่ามนุษย์ได้อยู่กับโศกนาฏกรรมมันถึงก้าวพ้นจากความไม่ดีมาได้ เพราะถ้ามันทำทุกอย่างสำเร็จหมดมันก้าวหน้าไม่ได้หรอกมันก็จมอยู่กับอดีตอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเรายังต้องเอาอดีตมารับใช้ปัจจุบัน หรือจะก้าวไปสู่อนาคตข้างหน้า

รัฐธรรมนูญ ปี 2489 ใช้ไม่ถึง ไม่เกิน 1 ปีแล้วเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน เพราะว่ารัชกาลที่ 8 โดยฉับพลันจะเรียกว่าอะไรดี เพราะตอนนี้ยังไม่มีคำอธิบายอย่างเป็นทางการ แต่ว่าในอะไรก็ได้ที่อธิบายไม่ได้ในประวัติศาสตร์เราก็เรียกกันว่า “อุบัติเหตุ” เพราะว่าอะไรที่อธิบายไม่ได้ในทางประวัติศาสตร์เราก็เรียกว่าอุบัติเหตุทั้งนั้นก็จบ อันนี้คือการเริ่มต้นและการจุดจบของปี 2489

ที่นี้มาเรื่องสว.ต่อ รัฐธรรมนูญของคณะปฏิวัติเปลี่ยนมาเป็นพรรคประชาธิปปัตย์ ซึ่งเขาก็ยอมให้มีการเลือกตั้งแล้วประชาธิปัตย์ก็เป็นฝ่ายชนะ เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญอื่นๆ ปี 2490 2492 ที่ฝ่ายประชาธิปปัตย์ Dominate รัฐสภาก็เอาแนวคิดนี้มาต่อให้เป็นสองสภา แต่เปลี่ยนเป็นวุฒิ เพราะว่าเราชินกับวุฒิ คุณวุฒิของคน วัยวุฒิคุณวุฒิต่างๆ ก็เลยมีวุฒิสภาแล้วก็ ทีนี้ รัฐธรรมนูญ 2489 จริงๆ ในตัวรัฐธรรมนูญทั้ง 2 สภาเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน แต่ว่ามันมีบทเฉพาะกาล เพราะเฉพาะกาลก็คือว่ายังไม่เคยเริ่มมาก่อนเพราะฉะนั้นชุดแรกให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกเข้าใจว่าจะ 80 คนเลือกผู้มีคุณวุฒิไม่ใช่สมัครทั่วไปต่างๆ เข้ามา เพราะฉะนั้นก็เลยถูกวิจารณ์ ตอนหลังผมคิดว่ามันเป็นรุ่น 14 ตุลาคมตอนล่าสุดคือปี 2517 เถียงกันเรื่องว่าจะเอาโมเดล ปี 2489 ไหม ก็มีคนบอกว่ารัฐธรรมนูญปี 2489 ก็ยังแต่งตั้งซึ่งเรามองว่ามันก็ยังไม่ใช่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญบอกว่าแต่งตั้งแต่ไม่เคยปฏิบัติเพราะมันถูกยึดอำนาจก่อน แต่ว่าก็คือมีการแต่งตั้งคือ เลือกโดยทางอ้อมเพราะฉะนั้นมันก็เลยเกิดความเชื่อนี้ว่าวุฒิสภามันต้องแต่งตั้ง หรือไม่ก็ต้องเลือกทางอ้อม คือมันไม่มีทางที่ประชาชนโดยตรงได้โดยตรง เพราะฉะนั้นความคิดเรื่องวุฒิสภามันไม่ได้ก้าวไปเลย กลายเป็นสภาที่คนที่อยู่ในอำนาจ หรือฝ่ายรัฐบาลจะเป็นคนเลือกเข้ามาคุมอำนาจ

อย่างที่คุณจาตุรนต์พูดเมื่อกี้นี้ว่าบทบาทก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยขยับไปตามสถานการณ์แต่ว่าโดยรวมๆ แล้วก็คือไม่ได้ทำหน้าที่ในการเป็นตัวแทน หรือเป็นรักษาผลประโยชน์ของประชาชนหรือของอะไรต่างๆ แต่ว่ามีอยู่เพื่อค้ำจุนรัฐบาล ทีนี้มันจะเปลี่ยนมากขึ้นคือถ้ามีแบบนั้นใช่ไหมมันก็ยังพอกล้ำกลืนก็พอไปได้แต่เพราะว่าจริงๆ แล้วสภาผู้แทนเมื่อก่อนสภาสูงสภาล่างมันก็เป็นตัวแทนที่เขาอยากจะเข้าไปอยู่รัฐบาล เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการเปิดวิพากษ์วิจารณ์หรืออะไรต่างๆ หรือจะรวมกลุ่มกันจะมันไม่มีปัญหาตรงนี้มันไม่ได้ทำรัฐบาลมันปกครองไม่ได้ต่างกันใช่ไหม

แต่ว่าการที่มันเพิ่งเอาที่มาแล้วก็กระบวนการเข้าสู่รายการสร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ ตรงนี้ที่จะมีปัญหาเพราะฉะนั้นวุฒิสภายุคต่อจากนั้นกับจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี แต่จอมพล ป. ก็ไม่มีอำนาจกองทัพตอนนั้นท่านก็หลุดไปจากอำนาจจริงๆ ในกองทัพ มีการแย่งหมัดกันพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายคุมก็เอาวุฒิสภาที่เป็นอนุรักษนิยมฝ่ายประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นเสียงข้างมาก ทั้งฝ่ายทหารก็ไม่ค่อยได้ต่างๆ เพราะพวกนี้ก็ไม่พอใจและในที่สุดก็เกิดรัฐประหารเงียบตอนปี 2494 โดยจอมพล ป. ก็เริ่มยึดอำนาจตัวเองแล้วก็ตั้งรัฐบาลใหม่ แล้วก็เปลี่ยนรัฐธรรมนูญ

ที่จริง คือต้องการจะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญแต่ว่าแนวคิดทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญมันไม่อยู่ในวิธีการปฏิบัติรัฐสภาของไทย เพราะฉะนั้นก็ต้องใช้วิธียึดอำนาจแล้วก็ตั้งรัฐบาลใหม่แล้วเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐธรรมนูญปี 2494 ออกมาเป็นฉบับปี 2495 ก็คือฉบับ 2475 เก่ามาแก้ไขเพิ่มเติมส่วนที่แก้ไขคือ เพิ่มอำนาจวุฒิสภา แล้วก็ตัดการห้ามข้าราชการประจำเป็นวุฒิสภาออกไปเพราะรัฐธรรมนูญ 2489, 2490, 2492 ห้ามข้าราชการประจำเป็นหรือมีตำแหน่งทางการเมือง เพราะฉะนั้นทหารเข้ามาไม่ได้

เพราะรัฐธรรมนูญปี 2495 พอเปิดช่องตรงนี้แกนนำของทหารคือ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นแกนนำของกองทัพบกก็ตั้งพรรคพวกเข้ามารุ่นแรกเข้ามาคือ พวกนายพันโทและจำนวนพฤฒสภาขึ้นไปจาก 10 เปอร์เซ็นต์ จากทหารเป็น 76 เปอร์เซ็นต์ นั่งมาตลอดเป็นต้นมา เพราะฉะนั้นที่มาของวุฒิสภาที่เป็นกองกำลังมายึดรัฐสภาคือ ไม่ได้ยึดข้างนอก ไม่ได้ยึดในกองทัพ ยึดในสภาฯ ผ่านรัฐธรรมนูญ มันเริ่มจากปี 2495 เป็นต้นมา แล้วก็ปี 2500 สืบทอดต่อมาก็ธรรมเนียมปฏิบัติชัดเจนยิ่งขึ้นต่างๆ คือว่าการมีวุฒิสภาให้ผลตอบแทนคือสร้างกองผู้สนับสนุนของตัวเองต่างๆ เพราะว่าไม่งั้นการที่จะให้ผลตอบแทนเป็นเลขานุการรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีช่วยในฐานที่มันมีไม่กี่ตำแหน่ง 30 ตำแหน่ง แต่กองทัพมีคนเป็นร้อย ผมคิดว่าสว. ยุคปัจจุบันที่ปิดทองหลังพระ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นนายทหารที่กุมกำลังแล้วก็เป็นกลุ่มอาวุโสที่ควบคุมรุ่นหลังๆ ต่อไปได้ต่างๆ จากนี้คือความมั่นคงของผู้นำกองทัพก็อยู่ที่ตำแหน่งที่ให้ แล้วตำแหน่งที่ให้ก็คือตำแหน่งสว. ก็คือสมบัติผลัดกันชม เพราะฉะนั้นมาต่อมาจนถึงรวบรัดกันเกือบจนถึงปัจจุบันเหมือนที่มาก็เป็นทำนองนี้ ขอบคุณครับ

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

หลายๆ ท่านในที่นี้เตรียมลงสนามกันแล้ว จะต้องไปเจออะไรอีกเยอะเลย กับระบบการเลือกสว. ชุดใหม่แล้วเราจะเห็นอะไรได้ไหมจากระบบนี้ มันจะนำมาซึ่งอะไรมันจะนำมาซึ่งอนาคตที่เราคาดหวังไหมหรือจะนำมาซึ่งปัญหาที่ยุ่งเหยิงผูกพันต่อไปก็พูดถึงอนาคต(สว.)สักหน่อย เชิญท่านไหนก่อนก็ได้และเราไม่จำเป็นต้องเรียงนะ แต่ถ้าอาจารย์ธเนศอยากก่อนก็ได้นะครับ เชิญครับขอบคุณมากครับ

 

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ :

ผมเปิดประเด็นเพราะจะได้ให้ท่านอื่นช่วยขยายความต่อไปคือผมเวลาไม่มาก เพราะฉะนั้นคิดว่าอยากจะพูดแค่ 2 ประเด็น ประเด็นแรกก็จะเปิดต่อคำถามที่อาจารย์ประจักษ์ตั้งเอาไว้อันหนึ่งใช่ไหมว่าทำไมผู้ร่างรัฐธรรมนูญ หรือคนที่มีอำนาจถึงได้ใช้เวลาคิดสร้างสรรค์กฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ที่ทั่วโลกเขาไม่ใช้กัน เราฉลาดกว่าคนอื่นเราเก่งกว่าคนอื่น หรือมีประสบการณ์ในการเมืองในการเลือกตั้งมีสภาผู้แทนทางปกครองดีกว่าคนอื่นไหม ผมว่าทุกคนตอบได้แล้วว่าคืออะไร แต่ว่ามันยังไม่อธิบายแล้วทำไมถึงทำอย่างนั้นเอาจริงๆ ถ้ามันไม่ดีกว่า อุตส่าห์ทำทำไมกัน ในงานนี้ใช่ไหม คือมันมีคำตอบง่ายๆ เยอะแยะ รักษาอำนาจเอย พวกผลประโยชน์เอย พ่อแม่พี่น้องต่างๆ ต้องการความช่วยเหลือ คำตอบต่างๆ มันมีเยอะมากแต่ว่ามันไม่ถูกใจผม ผมก็เลยต้องหาคำตอบให้ตัวเอง

เดี๋ยวผมจะตอบที่หลายท่านทั้งคุณพริษฐ์ คุณจาตุรนต์ พูดถึงแนวทางอะไรต่อไปจะทำไง จะขอให้กกต.ปรับตรงนี้ไหมแก้อะไรต่างๆ เดี๋ยวผมจะเสริมตรงนี้นิดนึง กับอันแรกก็คือว่าทำไมคนที่อยู่ในอำนาจของเราถึงได้พยายามหากฎเกณฑ์สร้างกติกา สร้างอะไรต่างๆ มาตัดสินปัจจุบันนี้ซึ่งพวกนี้สุดยอดของโลกไม่มีใครแล้วที่จะทำได้อย่างนี้ใช่ไหม เพื่ออะไร

ทีนี้วิธีการทางประวัติศาสตร์ของผมคือว่าเราตอบไม่ได้เพราะว่าประวัติศาสตร์กว่าจะได้หลักฐานชั้นต้นจริงๆ ว่านาย ก. พูดอย่างนี้ จอมพล ก. พูดอย่างนี้ เราถึงจะบอกได้ว่าเขาพูดอย่างนี้ แสดงว่าเขาคิดอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจะต้องทำอย่างนี้เพื่อจุดหมายนี้ แต่ว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมามันไม่มีหลักฐานขนาดนั้นใช่ไหม มันก็ได้แต่ข้ออะไร ข่าวลือบ้างข่าวลวงบ้างข่าวข้างใต้ต่างๆ แล้วเราก็มาประมวลกันเองก็อธิบายกันเป็นฉากๆ ว่าเพราะว่าเขาต้องการรักษาโน่นรักษานี้ต่างๆ ซึ่งมันก็ไม่ผิดมันก็ใกล้เคียงความเป็นจริง ทีนี้ผมก็เลยจะเพิ่มตรงนี้ให้มันน่าสนใจขึ้นก็ด้วยการใช้เหตุการณ์จริงๆ ทางประวัติศาสตร์ ผมคิดว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงในการทางประวัติศาสตร์การเมืองของเราที่ค่อยๆ ผลักดัน ส่งเสริมให้แนวโน้มของการไปสู่อำนาจนิยม

การสร้างกฎเกณฑ์ประหลาดๆ ที่จะพูดเมื่อกี๊นี้ค่อยๆ เกิดขึ้นมาทีละนิด คือทุกอย่างที่เกิดขึ้นวันนี้เนี่ยมันไม่ได้เกิด เมื่อปี 2557 หรือ 2560 2562 ผมคิดหลายอย่างมันมันก่อตัวมาตั้งแต่เผลอๆ ตั้งแต่ 2490 ใช่ไหมแต่ 8 พ.ย. 2490 รัฐประหารนั้นมาแล้วก็จากนั้นมาถึงปี 2494 และรัฐประหารเงียบต่างๆ ใช่ไหมแล้วก็ 2500 จอมพลสฤษดิ์มาจนมาถึงจอมพล ถนอม 2514 ทุกครั้งมันเพิ่มปัจจัยที่ผมเรียกปัจจัยด้านลบต่อการทำลายความเป็นประชาธิปไตยในระบบการเมืองไทยทีละนิดๆ ต่างๆ จนกระทั่งมันมาเพราะว่าปี 2557 รับมรดกอันนี้เต็มๆ เลยก็มันก็ 50 ปีมันสร้างแบบนี้หมด เขาอยู่กับ Toxic หรือเรียกว่าเป็นยาพิษอันนี้ต่างๆ แต่ว่าเขาเติบโตมากับแบบนี้ทำให้ความคิดอื่นที่ไปจากนี้มันไม่โผล่ขึ้นมาเลยมันกลายเป็นความคิดเป็นศัตรูกับเขาเป็นอันตรายต่างๆ

ทีนี้เหตุการณ์ที่ผมจะยกมาหลังการรัฐประหารเงียบของจอมพล ป. มันมีการฟ้องร้องขึ้นไปถึงศาลอุทธรณ์ใช่ไหมตัดสินยืนว่า การยึดอำนาจนี้ เมื่อสำเร็จแล้วไม่มีการต่อต้านเป็นรัฏฐาธิปัตย์ (Sovereignty) เขาใช้คำนี้ รัฏฐาธิปัตย์คือมีความชอบธรรม หรือทางกฎหมาย หรือทางจารีตประเพณี หรือทางกฎหมายอะไรต่างๆ ที่เขียนต่างๆ นี้ถึงชอบธรรมทำทั้งนั้น พอคำตัดสินอันนี้ลงมาผมคิดว่า แปลกมากที่ไม่มีการตอบโต้ คนตอบโต้ยากไม่ใช่นักกฎหมายมันก็โต้ไม่ได้ มันก็ผิดคำอนุกรรมการฯ นี้ใช่ไหม แล้วคิดว่าน่าจะจบที่อาจารย์เสนีย์(ปราโมช-กองบรรณาธิการ) ใช้ศัพท์ละตินด้วยว่า เป็นเลคเชอร์มีชื่อของอาจารย์เสนีย์ว่า ถ้าปากกระบอกปืนพูดมาแล้วมันก็ย่อมถูกต้อง เป็นกฎหมายคุณจะเถรียงอย่างไรมันก็ไม่ได้ใช่ไหม มันเป็นการปิดฉากเลยว่า ถ้ามีการใช้อำนาจเขาถูก และนักกฎหมายเองน่ะเป็นคนประกาศด้วยก็จะพูดอะไรล่ะพูดไปแล้วก็เราก็ถูกทุกท่านเพราะฉะนั้นเราก็ต้องยอมเขาไปใช่ไหม

อันนี้คือเริ่มแล้วเพราะฉะนั้นสิ่งที่จะตามมาหลังจากนี้ก็คือว่าเราจะพบว่าปกติรัฐประหารโดยกองทัพไทยใช่ไหม ต้องรีบเขียนรัฐธรรมนูญแต่ 8 พ.ย. 2490 ประกาศรัฐธรรมนูญภายใน 24 ชั่วโมงเลยเพราะเตรียมร่างรัฐธรรมนูญตุ่มแดง ร่างฯ ไปแล้วตอนยึดอำนาจ เอ่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2494 ก็ร่างไว้ครับ ไม่เกิน 2 วันไม่เกิน 24 ชั่วโมงก็ประกาศใช้เพื่อให้มีการเลือกตั้งเพราะเขาถือว่ารัฐธรรมนูญคือความชอบธรรมสูงสุดของระบบการปกครองเพราะฉะนั้นถ้ามันขาดตอนมันก็ไม่ชอบธรรม เพราะเขาทำให้ตัวเองเป็นผู้รับช่วงความชอบธรรมอันนี้ก็ยังใช้ได้

แต่พอคำตัดสินของศาลบอกว่าถ้ายึดอำนาจแล้วคุณเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คุณอยู่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญเท่านั้นเองแหละ ผมคิดว่าธรรมเนียมที่เราเชื่อมาตั้งแต่เริ่มต้นมันก็ค่อยๆ หายมลายหายไปทีละนิดแล้วปี 2500 ที่จอมพล สฤษดิ์ยึดอำนาจแล้วไม่ได้ใช้รัฐธรรมนูญ ใช้ธรรมนูญการปกครองอีก 8 ปี จอมพล ถนอมจึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญร่างฯ 8 ปีนะครับเพราะว่าตอนนั้นน่ะเขารู้แล้วว่าความชอบธรรมนั้นไม่ได้มาจากรัฐธรรมนูญเพราะฉะนั้นจบ รัฐธรรมนูญไม่มีความหมายเป็นเศษกระดาษชิ้นหนึ่งเท่านั้นเอง เพียงแต่ว่าใครเป็นผู้ร่างฯ ต้องคุมให้ได้

เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่ร่างฯ มาไม่ว่าจะเป็นสว. อะไรต่างๆ ร่างรัฐธรรมนูญอะไรต่างๆ ก็ร่างฯ เพื่อรักษาอำนาจนี้ ไม่มีความชอบธรรมอยู่แล้วไม่ต้องไปเถียงแล้ว ทำยังไงถึงจะรักษาอำนาจเพราะฉะนั้นคติของของรัฐธรรมนูญก็เลยถูกใช้เพื่อสร้าง ร่างอะไรก็ตามที่รักษาอำนาจของตัวเองคนที่ยึดมาให้อยู่ต่อไป อยู่ไปถึงลูกหลานเลยอยู่ได้นะ แต่มันอยู่ไม่ได้ไงเพราะฉะนั้นมันก็เริ่มร่างใหม่แต่มันก็ใช้ธรรมเนียมอันเก่ามันก็เริ่มรู้ตัวแล้ว ๆ ลงตัวแล้วเริ่มลงตัวแล้วก็เริ่มทำได้ ผมก็งงๆ ตลอดเวลาที่เรียนมาเพราะผมก็สอนประวัติศาสตร์ไทย รัฐธรรมนูญมีหลักการสูงสุดคือละเมิดไม่ได้ แต่พอเราเหลือบไปดูความเป็นจริงในประวัติศาสตร์ไทยมัน 10 ครั้งที่ละเมิดอำนาจ มันมีรัฐธรรมนูญใหม่ 10 ฉบับ แล้วก็รับรองความถูกต้องความชอบธรรมแล้วเราจะสอนได้ยังไงว่ามีความชอบธรรม มันไม่มี กฎเทศบาลที่กวาดขยะใช่ไหม ยังมีความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าและลงโทษได้จริงๆ คุณทำความผิดในเทศบาลคุณถูกลงโทษได้แต่ทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรานี้ยึดอำนาจไม่เคยถูกลงโทษเลยจนถึงบัดนี้  นี่คือคำตอบแรกว่าทำไมรุ่นปัจจุบันนี้

ถ้ามีรุ่นต่อไป ถ้ามีการยึดอำนาจครั้งต่อไปนะ บอกว่าไม่มีใครรู้เรื่องนี้อาจจะมานะถ้ามานะเตรียมรับรองได้เลยว่าเขาจะต้องสร้างระเบียบกฎให้พิลึกพิลั่นยิ่งกว่านี้อีกเพราะว่ายิ่งบอกเลยว่า โอ้โหยึดยังไง หกคะเมนตีลังกา ย่ำยียังไงก็ยิ่งไม่มีใครต่อต้านเขาได้แล้วยิ่งศาลยุติธรรม เพราะว่าขึ้นศาลอะไรก็ตามเลยใช่ไหมในประเทศนี้เขาเป็นรัฏฐาธิปัตย์จบเลย

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

อาจารย์จะฝากอะไรถึงสว. ชุดหน้าหน่อยครับ

 

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ :

สุดท้ายมันก็มาเชื่อมโยงต่อตรงนี้ถ้าเขารับฟังแล้วก็ไปแก้อะไรต่างๆ ผมสะดุดใจคือผมคิดถึงกลับไปว่าที่อเมริกามันเลือกตั้งยัไง ทำไมมันไม่มีปัญหากับการเลือกตั้ง อาจารย์(ชี้ไปที่อาจารย์ประจักษ์-กองบรรณาธิการ) ตอนที่เราติดตามการเลือกตั้ง Facebook LINE พอคะแนนมันขึ้นมาเราก็หวาดเสียว มันคู่คี่กันไม่ชนะเด็ดขาดแบบนี้ด้วยนะครับ แล้วเราก็ดูว่าสื่อใหญ่ CNN ABC CBS มี NewYork Time จะประกาศใคร ถ้าประกาศในโค้งนั้นแสดงว่าคนนั้นชนะแล้วคืนนั้นมันมีอยู่รัฐนึงมิเนโซตา อาจารย์ใช่ไหมที่ไม่มีใครกล้าประกาศ คะแนนมันขึ้นลงๆ ตลอดเวลา ในที่สุด CNN ฟันธงประกาศออกมาเลยว่าไบเดนชนะ ได้เกรดที่ควรจะได้ ได้จากคะแนนเสียงจากคะแนน ไบเดนชนะได้เข้าสู่กระบวนการเป็นประธานาธิบดีก็ต้องได้และสื่ออื่นที่ตามข่าวอยู่ก็ต้องตามรวมทั้ง Fox News ซึ่งพยายามที่จะเบนประเด็นซึ่งมันเบนไม่ได้แล้วเขาก็ต้องยอมแพ้เพราะว่าตลาด คุณเป็นระบบทุนนิยม ถ้าลูกค้าไม่ซื้อคุณ คุณก็เจ๊งแล้วก็ไม่มีเงินมากขนาดนั้นก็ต้องยอมแพ้

ทีนี้พอหลังจากนั้นเนี่ยมันก็เราก็รู้ใช่ไหมถ้าไม่ยอมแพ้เขาก็สู้เขาฟ้องต่างๆ ผมก็เราก็เลยรู้ไงว่ากรรมการเลือกตั้งมันก็มี อังกฤษ อเมริกาก็มี มันก็ไม่กล้าประกาศ มันจะต้องตรวจแล้วตรวจอีก กว่าจะประกาศคือคนเขารู้ทั่วประเทศแล้ว ทั่วโลกไม่ใช่ทั่วประเทศ นอกจากที่โกงจริงๆ มันถึงจะเห็น มันก็เลยกลายเป็นว่าประชามติและก็สื่อยักษ์ของอเมริกาคือผู้กำหนดคือผู้ทำการแทนกกต. มันไม่ใช่ กกต. กกต. ไม่มีอำนาจมากขนาดนั้นเขากลัว ถ้าระบบอเมริกาที่มีเสรีภาพขนาดนั้นก็ยังกลัวเลย เขาก็ไม่กล้าทำก่อน เขาต้องรอศึกษาหลายวันจนมั่นใจกว่าจะรู้ แต่ว่าสื่อมันพังก็พังแค่สปอนเซอร์บริษัทเจ๊ง ก็ไล่ออก ผมก็ฟังผู้สื่อข่าวว่าทำไมกล้าตัดสินใจ แกส่งผู้สื่อข่าวไปทำ ballots ต่างๆ คือชัวร์แล้วว่าไม่มีทางพลาดประกาศไปเลยว่าใครจะชนะ

ประเด็นผมคือเราจะแก้การเมืองโดยการแก้กฎเราเขียนกฎเองก็ต้องทำให้ถูก ไม่มีใครหรอกครับที่เขียนกฎให้ตัวเองทำไม่ได้ทุกคนอยากเขียนกฎให้ตัวเองอยู่เหนือกฎทั้งนั้นแหละแล้วใช้อำนาจที่มากกว่าคนอื่นอำนาจประชาธิปไตยมันอยู่ที่ประชาชนอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอันเดียวเท่านั้นเอง ถ้าอำนาจอธิปไตยไม่ใช่ของปวงชนทำอย่างไรก็ไม่สถิตยุติธรรม ไม่เที่ยงตรงคือไม่ใช่ไม่ให้เขาทำ คือมันบีบด้วยตรงนี้ด้วยแต่ระยะยาวคือทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนเข้ามาเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของเราเอง

 

 

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=feXERmBEXlc

 

ที่มา : เสวนาวิชาการ วันปรีดี พนมยงค์ 2567 : PRIDI Talks #25 เก่าไปใหม่มา : สว. ชุดใหม่ อนาคตประชาธิปไตย อนาคตประเทศไทย วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.