Focus
- ภายใต้ความมืดมิดและอับเฉา และสิ่งที่เป็นลบหลายประการในสังคม ชีวิตและพฤติการณ์ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กลับเป็นประหนึ่งแสงสว่างอันจัดจ้าจุดหนึ่ง ในท่ามกลางความเลวร้ายอันมืดมิด
- ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้บำเพ็ญตนให้แก่ชาติบ้านเมือง พยายามแก้ไขความไม่เป็นธรรมในสังคม และขจัดภาวะความเสียเปรียบของคนส่วนข้างมากให้หมดไป
- ในชีวิตบั้นปลาย ณ กรุงลอนดอน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เช่าบ้านเล็กๆ อยู่อาศัย แขนขวาใช้การอะไรไม่ได้เนื่องจากเส้นโลหิตฝอยในสมองด้านซ้ายแตก การเขียนหนังสือต้องใช้มือซ้ายที่หัดเขียนขึ้นใหม่แทนมือขวา แต่ก็พยายามรักษาสุขภาพส่วนอื่นๆ ไว้จนแลดูว่าสมบูรณ์ ทั้งความเข้าใจต่อโลกและการอ่านโลกออกของเขา ยังแสดงออกได้ทางนัยตาและรอยยิ้ม อันเป็นความหวานแห่งชีวิตที่ได้ประสบพบเห็น เมื่อคราวที่สุภา ศิริมานนท์ ผู้เขียนบทความนี้ ไปเยี่ยมคารวะ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2526
“แม้ในท่ามกลางความมืดมิด จุดอันสว่างเจิดจ้าก็ย่อมมีได้เสมอ”
ท่านคณะกรรมการนักศึกษา
คณะเศรษฐศาสตร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในการเขียนถึง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตามที่คณะกรรมการแสดงความประสงค์ไปนั้น ผมคงจะเขียนอะไรไม่ได้มาก และมันก็คงจะต้องกล่าวถึงสิ่งซึ่งซ้ำๆ ซากๆ กับข้อเขียนบางชิ้นที่ผมเพิ่งจะเขียนเกี่ยวกับ ดร.ป๋วยฯ ไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้เอง
การที่กล่าวว่าคงจะเขียนอะไรไม่ได้มากนั้น ประการแรกทีเดียวก็คือมีเวลาน้อย ซึ่งผมหมายความถึงว่า ในการเขียนถึง ดร.ป๋วยฯ โดยมีเวลาให้เขียนเพียงไม่กี่วันนั้นอย่างดีที่สุดก็ได้แต่เพียงเขียนจากความทรงจำในฐานะแห่งเพื่อนคนหนึ่ง ประการที่สองก็คือ
เหตุการณ์ในชีวิตและผลแห่งพฤติการณ์เท่าที่ ดร.ป๋วยฯ ได้ผ่านมาและได้บำเพ็ญไว้ให้แก่ชาติบ้านเมืองก็รู้สึกว่าดูจะเป็นเหตุการณ์และเป็นพฤติกรรมซึ่งมีผู้ทราบกันอย่างแพร่หลายกว้างขวาง ซึ่งในจำนวนบุคคลที่ทราบเหล่านี้ก็ไม่ต้องสงสัยละ ว่าจะต้องมีไม่น้อยเหมือนกันที่พยายามจะลืมหรือมิฉะนั้นก็พยายามไม่พูดถึงทั้งๆ ที่สมควรแก่การพูดและโอกาสก็อำนวยให้พูด
คนประเภทนี้ เมื่อกาละแห่งชีวิตได้ล่วงมาจนถึงช่วงนี้ ผมรู้สึกว่าออกจะมีเยอะแยะจริงๆ ในบ้านเมืองของเรา หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการของพวกที่ถือตนเองว่าเป็นปัญญาชน มันเป็นสิ่งซึ่งฟังดูน่าเศร้า แต่ถึงอย่างไรมันก็เป็นความเศร้าที่หวานมาก
เพราะอะไรผมจึงกล่าวว่ามันเป็นความเศร้าที่หวาน? คำตอบก็มีง่ายๆ และไม่ต้องใช้ภูมิปัญญาอะไรเลย นั่นคือ ภายใต้ความมืดมิดและอับเฉา, ความอิจฉาริษยา ความเห็นแต่แก่ตนเองอย่างร้ายกาจ และความเขยอะขยะนานาประการซึ่งครอบคลุมอยู่อย่างหนาและหนักนี้ อย่างน้อยที่สุดชีวิตและพฤติการณ์ของ ดร.ป๋วยฯ ก็มีครุวนาประหนึ่งแสงสว่างอันจัดจ้าจุดหนึ่งในท่ามกลางความเลวร้ายอันมืดมิดนั้น
ดังนั้น สำหรับผู้ที่รู้จักคิดแม้เพียงสักนิดเดียวก็ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าเขาจะต้องสำนึกได้ว่าความหวานอันกระจ้อยร่อยน้อยนิดเป็นความโอชะน่าพิสมัยอย่างไร หรือความสุกสว่างเพียงจุดเล็กๆ ท่ามกลางความมืดมิดผืนมหึมามหาศาลนั้นเป็นความสุกสกาว และยังให้ผู้ที่ไม่เสียขวัญเกิดความหวังอย่างไร
ในวิวรรตการของชาติไทยเราแต่ละยุคแต่ละสมัยย่อมจะมีบุคคลในลักษณะเดียวกันกับ ดร.ป๋วยฯ ตลอดมา ซึ่งอาจจะมีภูมิปัญญาสูงต่ำระดับกว่ากันบ้าง แต่เมื่อว่าถึงเจตนาการที่เขาได้บำเพ็ญให้แก่ชาติบ้านเมือง ได้พยายามปรับแก้ความไม่เป็นธรรมในสังคม ได้มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนสถานะของพวกที่ตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบอันเป็นส่วนข้างมากให้หมดความเสียเปรียบไป หรือลดระดับความเสียเปรียบลงอย่างมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ฯลฯ เหล่านี้ ถ้าหากจะกล่าวอย่างสรุปแล้วก็เป็นเจตนาการที่มิได้แตกต่างอะไรกันเลย ปราศจากบุคคลประเภทนี้เสียแล้วชาติของเราจะอยู่กันมาได้หรือ?
ผู้ทรงอำนาจแต่ละยุคแต่ละสมัย ผู้มีวาสนาสูงส่งแต่ละกาละ มักจะทึกทักว่าชาติของเราต้องอาศัยเขา รอดตัวมาได้เพราะเขา แล้วก็พยายามใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่อปลุกเสกความคิดอันเป็นเท็จสิ้นเชิงนั้นๆ จนแทบจะกลบหูผู้คนทั้งหลายทั้งในทางกว้างและในทางลึก
แต่แล้วตามความจริงแท้ๆ หรือนัยหนึ่งตามความถูกถ้วนเล่า เป็นอย่างไร?
โดยวิวรรตการแห่งชาติไทยของเราก็ยืนยันให้เห็นประจักษ์อยู่ทนโทแล้วว่าบุคคลประเภทนั้นมาแล้วก็ไป นอกจากจะเสพย์สุขอันล้นหล้าและตักตวงความได้เปรียบเหนือมวลชนอย่างพิลึกกึกกือแล้วก็ยังหว่านพืชแห่งความมดเท็จตอแหลเพื่อหลอนหลอกชนรุ่นหลังไว้อย่างเพียบแประเสียอีกด้วย
ถึงอย่างไร ท่ามกลางความน่าเศร้านี้มันก็ยังมีความหวาน
ถ้าหากจะเทียบดูง่ายๆ ว่า ในวิวรรตการของชาติไทยนับตั้งแต่ยุคสมัยแห่งการสร้างบ้านแปลงเมืองมานี้ใครที่จะโง่คิดเทียวหรือว่าชาติของเราได้รอดตัวมาเพราะเพียงแต่อาศัยฝีมือของคนชั้นนำเพียงหยิบมือเดียว ซึ่งพอสร่างศึกแต่ละครั้งแต่ละคราวผู้ที่ถือตัวว่าเป็นชนชั้นนำเหล่านั้นก็ต่อกรกันวุ่นวายเพื่อแย่งซึ่งอำนาจและครองความเอาเปรียบ
สามัญชนทั้งหลายทั้งปวงซึ่งก็ได้เข้าปกป้องชาติบ้านเมืองล่ะ, พอเสร็จศึกเขาหายไปเสียข้างไหนหรือ? จะหายไปไหน นอกจากกลับไปทำมาหากินเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียและหลานเหลนโหลน ซึ่งก็เห็นได้ชัดๆ ว่าเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วก็เพื่อชาตินั้นเอง เพียงพวกเขามิได้ค้านที่จะกล่าวอ้างและพวกเขารำคาญที่จะเข้าร่วมขบวนการต่อกรเพื่อแย่งชิงอำนาจและแย่งชิงความได้เปรียบเหนือชุมชนร่วมชาติเท่านั้นเอง คิดอย่างถึงที่สุด, พวกเขาก็ปลงใจจะตกลงไปเป็นเหยื่อของพวกที่แย่งชิงอำนาจกันอย่างอุตลุดทั้งๆ เขาอาจจะมิได้มีสำนึกเลย
วิวรรตการของความหวานอันกระจ้อยร่อยท่ามกลางความหวานทะมึนทึนมีมาดังนี้ยุคแล้วยุคเล่า
กล่าวโดยฐานะทางภูมิปัญญาและโอกาส ดร.ป๋วยฯ น่าจะเป็นคนหนึ่งหรือหน่วยหนึ่งในบุคคลจำพวกที่ตักตวงความเอาเปรียบทั้งหลายได้ และก็จะได้อย่างอย่างล้นเหลือเสียด้วย แต่ ดร.ป๋วยฯ ได้กำหนดชีวิตของเขามาแบบนั้น และทรรศนะของเขาก็เป็นคนละทิศคนละทางกับวีถีอันนั้น ตรงกันข้าม, ดร.ป๋วยฯ กลับพยายามอย่างเต็มเรี่ยวเต็มแรงที่จะปรับแก้ความไม่เป็นธรรมทั้งหลายในสังคม, พยายามสร้างสรรค์สิ่งซึ่งจะเป็นประโยชน์สุขแก่คนทั้งปวงเป็นส่วนรวม ชีวิตและการบำเพ็ญกรณีย์ตามพฤติการณ์ที่กำหนดเป็นหลักไว้เช่นนี้เองที่ส่งผลให้ ดร.ป๋วยฯ กลายเป็นแกะสะอาดในท่ามกลางแกะโสโครก กลายเป็นทำนบที่จะคอยสะกัดกั้นการเอารัดเอาเปรียบในสังคมผู้เต็มไปด้วยเล่ห์กระเท่ห์ หรืออย่างน้อยก็เป็นสมุนของบุคคลจำพวกนั้นโดยไร้สำนึกเนื่องจากจิตใจตกเป็นทาสแห่งการโฆษณาชวนเชื่อนานาประการ นานาวิถีเสียแล้ว
ในที่สุด ดร.ป๋วยฯ ก็ไม่อยู่ในวิสัยที่จะตั้งถิ่นฐานในชาติบ้านของที่เขาถือกำเนิด, เติบโต, และต่อสู้มาเพื่อความอยู่รอดหลายยุคหลายสมัย ซึ่งในหลายๆ ระยะเขาก็ได้ให้ชีวิตของเขาแก่ชาติแล้ว แต่บังเอิญมันไม่ตายเท่านั้นเอง
ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียน ดร.ป๋วยฯ ชั่วระยะสั้นๆ ณ กรุงลอนดอน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่แล้วมานี้ บ้านที่เขาเช่าอยู่เป็นบ้านเล็กๆ แบบเดียวกับห้องเช่าแถวเวิ้งบ้านหม้อในสมัย 50 ปีที่แล้ว เป็นอาคารสองชั้น แล้วก็มีที่ดินแปลงย่อมๆ ขนาด 12 หรือ 16 ตารางเมตรอยู่หน้าบ้านเพื่อปลูกไม้ดอก แต่บริเวณนั้นเงียบสงบดี สภาพทางร่างกายก็ปรากฏว่าแขนขวาของเขาใช้การอะไรไม่ได้เนื่องจากเส้นโลหิตฝอยในสมองด้านซ้ายแตก มือขวาลีบลงไปแล้วนิดหน่อย
การเขียนหนังสือต้องใช้มือซ้าย ซึ่งก็แปลว่าต้องหัดใหม่ เขียนภาษาไทยแต่ละตัวก็เข้าใจว่าต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งนาที หรือ ครึ่งนาที ดร.ป๋วยฯ พูดไม่ได้ แต่ฟังคนอื่นพูดรู้เรื่องหมด ทั้งพยายามรักษาสุขภาพส่วนอื่นๆ ไว้จนแลดูว่าสมบูรณ์ ซึ่งทั้งนี้ก็น่าจะเนื่องจากความเข้าใจต่อโลกและการอ่านโลกออกของ ดร.ป๋วยฯ เองเป็นสำคัญ ทั้งสายตาและอากัปกิริยาต่างๆ ตลอดระยะเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงที่เรา ‘ส่งภาษา’ กันนั้น ความเศร้าหรือความเสียใจใดๆ มิได้ฉายออกมาให้สังเกตได้เลยแม้แต่นิดเดียว
ผมขอถือโอกาสนำเอาเรื่องส่วนตัวเท่าที่ได้ปรารภแก่ ดร.ป๋วยฯ ไปในโอกาสที่ได้ไปเยี่ยมเยือนเขานั้น โดยเขียนใส่ในสมุดบันทึกของเขาสั้นๆ ว่า “...ยังไม่รู้ว่าจะมีโอกาสมาเยี่ยมอีกเมื่อใดหรือไม่ก่อนที่เราจะตายจากกัน สำหรับงานของชาติบ้านเมืองคุณก็ได้ทำให้มามาก ถือเสียว่าทำให้ได้แค่ไหนก็แค่นั้น…”
เมื่อ ดร.ป๋วยฯ อ่านแล้ว เขาก็ยิ้ม นัยน์ตาแสดงความปีติอย่างเห็นได้ชัด ยิ้มนั้นเป็นยิ้มของความหวานแห่งชีวิต ไม่มีปัญหาเลยในข้อนั้น
เห็นจะเขียนได้เพียงเท่านี้เอง
จากผม,
สุภา ศิริมานนท์
รำลึกถึงปูชนียบุคคล
๏ อโหประเทศไทยในยุคนี้
คุณธรรมความดีไปป่าช้า
อำนาจอำมหิตอสรพิษนานา
คลั่งบ้าเพ้อเจ้ออำเภอใจ ฯ
๏ คนส่วนมากไม่มีศาสนา
ถืออัตตากิเลสสามเป็นใหญ่
ทหารตำรวจคือเจ้าเมืองไทย
เผด็จการไพร่ฟ้าหน้าจมดิน ฯ
๏ อยุติธรรมนำสังคมถ่อย
ต่ำต้อยสันติสุขทุกสิ่งสิ้น
อาวุธความเท็จสถุลทมิฬ
รุมกินทวยราษฎร์ทั้งชาติมลาย ฯ
๏ ปีศาจเศรษฐกิจแต่โลภมาก
ตัณหาอยากอำนาจบ่ขาดหาย
กระดูกเจ็ดโคตรเรียรายกระจาย
ยังหื่นกระหายหิวฉิวดิน ฯ
๏ อเนจอนาจเสียชาติชื่ออธิปไตย
ทวยราษฎร์เป็นใหญ่จบสูญสิ้น
เลือดน้ำตาจะบ่าไหลริน
อาบกินทุกโคตรประชาธิปไตย ฯ
ที่มา : สุภา ศิริมานนท์, แม้ในท่ามกลางความมืดมิด จุดอันสว่างเจิดจ้าก็ย่อมมีได้เสมอ. คิดถึง อ.ป๋วย คนดีที่เหลืออยู่. (ม.ป.ท.: ม.ป.พ., ม.ป.ป.), น. 23-25.
หมายเหตุ
- คงอักขระวิธีสะกดตามเอกสารต้นฉบับ
- บทความชิ้นนี้ไม่ปรากฏปีที่คุณสุภา ศิริมานนท์เขียนขึ้น แต่พบว่าบทความชิ้นนี้ได้เคยตีพิมพ์ลงใน มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 2136 ประจำวันที่ 8 มกราคม 2527