ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ศึกสามก๊กในพม่า : เมื่อสันติภาพยังมองคนละด้าน

26
สิงหาคม
2566

Focus

  • ความหลากหลาย และความขัดแย้งระหว่างกัน และความขัดแย้งและการสร้างอำนาจการต่อรองกับรัฐบาลเมียนมา ได้ส่งเสริมให้เกิดสถานการณ์ที่สลับซับซ้อน และยากต่อการแก้ปัญหาร่วมกัน แม้ว่าจะมีตัวแทนจากภายนอกที่เป็นองค์การระหว่างประเทศเข้ามาให้ทุนช่วยเหลือด้วยแล้วก็ตาม
  • การจัดการความขัดแย้งด้วยการเจรจาหยุดยิงและวางอาวุธหยุดยิงชั่วคราว ไปสู่การจัดการความขัดแย้งที่มีการเจรจาทางการเมืองและมีการออกแบบสหพันธรัฐประชาธิปไตยเพื่อเป็นสันติภาพที่จะเกิดขึ้นร่วมกันได้ยุติลงไปเมื่อ มิน อ่อง หล่าย ก่อรัฐประหารเมื่อ 2 ปีกว่าที่ผ่านมา และคู่ขัดแย้งหลักในปัจจุบันกลายเป็นรัฐบาลพม่าหรือกลุ่มทหาร กับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government : NUG) ของฝ่ายประชาธิปไตย
  • การช่วยเหลือจากประเทศไทยหรืออาเซียนจะต้องเข้าใจมโนทัศน์หรือกลยุทธ์การต่อสู้ของสามกลุ่มความขัดแย้งที่มองสันติภาพแตกต่างกัน อันจะส่งผลต่อสภาพความเป็นรัฐและการพัฒนาประชาธิปไตย และทำให้เมียนมาที่ทหารต้องการความเป็นเอกรัฐรวมศูนย์ กลายเป็นท่างเลือกแบบรัฐกึ่งเผด็จการ-กึ่งประชาธิปไตย และกึ่งเอกรัฐ-สหพันธรัฐ

 

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : ประเด็นสำคัญที่อยากจะให้อาจารย์พูดถึง เรื่องอำนาจรัฐกับการเสริมสร้างสันติภาพกับประชาธิปไตยในเมียนมา

รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช : 

ผมขอใช้เวลาตรงนี้ในการปูพื้นความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างการเมืองการปกครองพม่า โดยเฉพาะในบริบทของการเมืองสันติภาพ ข้อสังเกตของผมก็คือว่า พม่าเป็นชาติพันธุ์ที่เต็มไปด้วยสีสันความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์หลายๆ กลุ่ม แต่ก็เต็มไปด้วยรอยร้าวและเหลี่ยมคมเหมือนการแตกกระจายของกระจกสี เพราะว่าแต่ละกลุ่มก็มีความขัดแย้งกัน แล้วก็มีความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อย ชนกลุ่มใหญ่ รัฐบาลพม่ากับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพม่าอะไรอย่างนี้ สถานการณ์ค่อนข้างจะสลับซับซ้อน แตกต่างจากประเทศไทยมาก ไม่ว่าจะพิจารณาด้วยโครงสร้างประชากร หรือความซับซ้อนของภูมิประเทศ หรือประวัติศาสตร์สงครามกลางเมืองอะไรต่างๆ พม่านี่จะเต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ยากที่จะแก้ไขด้วยเหมือนกัน

 

 

แต่ทีนี้น่าสนใจยิ่ง เมื่อย้อนไปประมาณ 12 ปีที่แล้ว มันมีความก้าวหน้าในกระบวนการสันติภาพของพม่า นั่นก็คือเมื่อพม่าปฏิรูปการเมืองขนาดใหญ่ในสมัยประธานาธิบดีเต็งเส่ง พรรค USDP (Union Solidarity and Development Party หรือพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา) และตามมาด้วยรัฐบาล NLD (National League for Democracy หรือพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย) ที่นำโดย ออง ซาน ซูจี ตกเวลาเฉลี่ยประมาณ 10 ปีโดยประมาณ

ผมเห็นว่ารัฐพม่ามีการสร้างกระบวนการสันติภาพและทำให้การสร้างสันติภาพมีความเป็นสถาบันมากขึ้น หมายความว่าทั้งรัฐบาล USDP กับ NLD พยายามจะสร้าง Road Map วางช่วงเวลาว่าเวลาไหนจะทำอะไรบ้าง หนึ่ง สอง สาม สี่ รัฐบาลพม่าตั้งทีมงานสันติภาพ ตั้งคณะเจรจาขึ้นมา ประกอบด้วยกลุ่มคณะบุคคลที่เชี่ยวชาญในการสร้างสันติภาพ แล้วก็มีตัวแทนจากภายนอก องค์การระหว่างประเทศ เข้ามาให้ทุนช่วยเหลือด้วยในการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสันติภาพหรือแม้กระทั่ง Federalism หรือ สหพันธรัฐนิยม

ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์เอง ซึ่งสมัยก่อนเขาก็แตกกระจายกันออกไป แต่ในช่วงการสร้างสันติภาพได้มีการรวมกลุ่มกันเป็นแนวร่วม เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับทางรัฐบาลพม่า ทีนี้จุดที่เป็นจุดหักเหในทางประวัติศาสตร์ต้องดูที่ช่วงตุลาคม 2015 ซึ่งช่วงนั้นมีการเจรจาหยุดยิงทั่วประเทศ และที่น่าสนใจยิ่งก็คือ มีกองทัพกองกำลังชาติพันธุ์ 8 กลุ่มเข้าร่วมลงนามสันติภาพ และตอนหลังก็มีอยู่สัก 2-3 กลุ่มตามมาอีกทีหนึ่ง

ทางฝ่ายรัฐบาลพม่าก็น่าสนใจเพราะว่าในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ 2015 เขาเอารัฐบาลพม่ากับกองทัพพม่า และรัฐสภาของพม่า หรือ Hluttaw มารวมกันเป็นฝ่ายเดียว เรียกว่า ฝ่ายรัฐบาล ส่วนอีกฝั่งหนึ่งก็คือ กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ เพราะฉะนั้น ตัวแสดงหรือเกมกลยุทธ์ทางการเมืองก็มี 2 กลุ่ม คือ ฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้าน และยังมีสถาบันสันติภาพ มีการประชุมสันติภาพโดยเฉพาะปี 2016, 2017 มีการประชุมสันติภาพแห่งสหภาพที่เรียกว่า การประชุมปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21

รัฐบาล NLD หรือ ออง ซาน ซูจี ก็กระฉับกระเฉงแข็งขัน และนำมรดกในโครงสร้างสถาบันสันติภาพที่รัฐบาลเต็งเส่งได้วางเอาไว้เข้ามาต่อยอดด้วย ผมยังคิดว่านี่เป็นความก้าวหน้า เป็นความประทับใจที่คู่ขัดแย้งที่รบพุ่งกัน กินแหนง แคลงใจ ชิงชังกันในอดีตเดินหน้าเข้าสู่โต๊ะเจรจา เพราะฉะนั้น การเมืองสันติภาพที่ถูกทำให้เป็นสถาบันจึงถูกชูเด่นขึ้น แต่คู่ขนานกันไปกับการเมืองสันติภาพ

 

 

นี่คือการเมืองดิบว่าด้วยการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ การสู้รบยังมีอยู่ประปรายเป็นระลอกๆ ควบคู่กับการเจรจาสันติภาพและบางทีตัวแสดงทางการเมืองที่ชนะในสมรภูมิรบบางผืน ก็จะมี Bargaining Power (อำนาจในการต่อรอง) ในการต่อรอง ในการเจรจาสันติภาพมากขึ้น

ผมคิดว่านี่คือความก้าวหน้า ถ้าพูดถึงทฤษฎีการบริหารจัดการความขัดแย้ง ผมเห็นว่าพม่าในการเมืองระยะเปลี่ยนผ่าน 10-12 ปีที่ผ่านมา มีการแปลงรูปเปลี่ยนร่างจากการบริหารความขัดแย้งขั้นต่ำที่เป็นสันติภาพเชิงลบคือการเจรจาหยุดยิง วางอาวุธหยุดยิงชั่วคราว ไปสู่การจัดการความขัดแย้งที่มี Political Dialog (การเจรจาทางการเมือง) เข้ามา มีวงการเมืองมาประชุมพูดคุยกัน และเนื้อในของมันคือการออกแบบรัฐ ว่าการที่จะสร้างสันติภาพในประเทศแห่งนี้ คุณจะต้องสร้างสหพันธรัฐประชาธิปไตยให้ได้ นี่คือสันติภาพที่จะเกิดขึ้น

แต่การกลับตาลปัตรพลิกผัน เมื่อ มิน อ่อง หล่าย ก่อรัฐประหารเมื่อ 2 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมา เราพบว่าเส้นทางสันติภาพ กระบวนการสันติภาพมันค้างเติ่ง แล้วคู่ขัดแย้งมันเปลี่ยน คือเวลาพูดถึง กระบวนการสันติภาพ (Peace Process) มันจะเป็นรัฐบาลพม่ากับกองกำลังติดอาวุธชนชาติพันธุ์ แต่ ณ ปัจจุบันนี้คู่ขัดแย้งมันกลายเป็นรัฐบาลพม่า โดย มิน อ่อง หล่าย ที่เป็นกลุ่มทหาร กับรัฐบาล NUG (National Unity Government หรือ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ)

 

 

ฝ่ายประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการพม่า แต่ขณะเดียวกันกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยก็ยังมีบทบาทที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ (Peace Process) คำถามของผม ที่น่าสนใจคือ คำว่า “สันติภาพ” ในกลุ่มตัวแสดงทางการเมืองหลังรัฐประหารที่มีกองทัพรัฐบาลพม่า ที่มีรัฐบาล NUG และกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ เป็นสามก๊กคร่าวๆ เขาเห็นว่าคำว่า “สันติภาพคืออะไรกันแน่ เข้าใจตรงกันไหม”

ผมคิดว่าเข้าใจไม่ตรงกัน นี่คือความแตกต่าง และการช่วยเหลือจากประเทศไทยหรืออาเซียนจะต้องเข้าใจมโนทัศน์หรือกลยุทธ์การต่อสู้ของ 3 กลุ่มก้อนตัวแสดง ในการเมืองพม่าหลังรัฐประหาร

ผมจะยกตัวอย่างแล้วกันว่าสำหรับทหารพม่าเขาคิดอะไร ทหารพม่าเวลาพูดถึงสันติภาพ หมายถึงต้องสร้างความสงบเรียบร้อย สันติภาพโดยการใช้กำลังไม่มีปัญหานะ เพราะนี่คือความถนัดของทหารพม่าที่สร้างรัฐผ่านยุทธสงครามมาเนิ่นนานแล้ว ทหารพม่าก็ไม่ลังเลใจที่จะสังหารฝ่ายต่อต้านหรือคนเห็นต่าง ตราบใดที่เขาคิดว่าเมื่อสังหาร เมื่อทำร้ายไปแล้ว สามารสร้างระเบียบขึ้นมาควบคุมประเทศ

 

 

ฉะนั้น มโนทัศน์ของทหารพม่าเวลาเราไปคุยกับเขาเรื่องสันติภาพ เขาก็จะตีความ สันติภาพ ว่ามันใกล้เคียงกับคำว่า สงบเรียบร้อย ใช้กำลังอาวุธอะไรสถาปนาระเบียบขึ้นมา นี่คือสันติภาพในมุมของทหารพม่า วิธีการก็คือใช้กองกำลังแสนยานุภาพทางทหารไปบดขยี้ฝ่ายต่อต้าน แล้วผสมผสานกับการเจรจาหยุดยิง แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับกลุ่มชาติพันธุ์เป็นเปลาะๆ ไป

แต่มาวันนี้ คู่ขัดแย้งหลักๆ ในกระบวนการสันติภาพ กลับกลายมาเป็นรัฐบาล NUG ด้วย แต่ตัวรัฐบาลพม่า มิน อ่อง หล่าย พยายามจะกีดกันไม่ให้ NUG เข้ามาร่วมกระบวนการสันติภาพ (Peace Process) ภายในประเทศอย่างเป็นทางการ คำถามแหลมคมก็คือ ทหารพม่า มิน อ่อง หล่าย และ โซ วิน (พล.อ.อาวุโส-รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด) ที่กำลังจัดกระบวนการสันติภาพ เขาจัดไปเพื่ออะไร

 

 

ผมคิดว่าเขาไม่ต้องการให้มีสันติภาพที่แท้จริงในลักษณะที่ NUG กับกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มได้รับผลประโยชน์ต่อรองกันไป แต่สิ่งที่เขาอยากได้ก็คือ ใช้กระบวนการสันติภาพในการควบคุมจัดระเบียบรัฐ ในลักษณะที่ทหารพม่าต้องเหนือกว่าตัวแสดงอื่นๆ ในทางการเมือง และรูปแบบรัฐในจินตภาพของผู้นำทหารพม่า เขาอยากได้รัฐแบบไหนถึงจะนำพามาสู่สันติภาพที่แท้จริง

เขามีอยู่ 2 แนวคิด แนวคิดแรกก็คือ ให้เป็น เอกรัฐรวมศูนย์ คือเป็นรัฐเดี่ยวรวมศูนย์ แล้วให้ทัตมาดอว์ หรือกองทัพพม่า ควบคุมปกครองประเทศภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินหรืออะไรก็ตามแต่

อีกโมเดลหนึ่งคือ ท่านรอมชอมคุยกันได้กับกลุ่มชาติพันธุ์หรือฝ่ายต่อต้าน เขาอยากได้เป็นรัฐเดี่ยวผสมสหพันธรัฐ แล้วก็ระบอบการเมืองขอเป็นเผด็จการ แต่มี Element (องค์ประกอบ) ของประชาธิปไตยเข้ามาเพิ่มหน่อย ก็พวก Hybrid (พันธ์ุผสม) ก็คือเป็นกึ่งเผด็จการ กึ่งประชาธิปไตย กึ่งเอกรัฐสหพันธรัฐ อันนี้คือรอมชอมได้เต็มที่ แต่สหพันธรัฐที่แท้จริง ประชาธิปไตยที่แท้จริง เขาคงไม่อนุญาตให้มี เพราะจะไปทำลายบทบาทของกองทัพด้วย อันนี้คือกลุ่มแรกที่อยากจะเสนอในช่วงนี้

 

 

ส่วน กลุ่มที่สอง คือ รัฐบาล NUG PDF (People's Defence Force หรือ กองกำลังพิทักษ์ประชาชน) กองทัพประชาชน กองกำลังปฏิวัติที่อยากจะล้างผลาญหรือทำลายเผด็จการทหารพม่าให้สิ้นซากไปเลย ตอนนี้ไปไกลมาก เพราะว่าสมัยก่อนเวลาพูดถึงกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในพม่า อดีตนักศึกษารุ่น 88 อะไรก็ดี พวกนี้เน้นเรื่อง Democratization หรือ ประชาธิปไตยภิวัตน์ แล้วก็ประท้วงก่อหวอดในเมืองอะไรต่างๆ เหล่านี้ แต่มาวันนี้มันไม่ใช่แล้ว ฝ่ายต่อต้านในพม่าพูดถึงการทำสงครามปฏิวัติ ปฏิวัติแล้วนำไปสู่การสร้าง Democratic Federation หรือ สหพันธรัฐประชาธิปไตย คือ ต้องมีประชาธิปไตยที่แท้จริง พลเรือนมีบทบาทมากกว่ากองทัพ เอาทหารออกจากการเมือง และต้องมีโครงสร้างแบบสหพันธรัฐ เพื่อจะสร้างความเป็นธรรมในเรื่อง Power Sharing (แบ่งอำนาจ) ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์หรือพหุชาติพันธุ์ต่างๆ

แต่ว่านี่ก็เป็นการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้าน ซึ่งไม่ใช่ชนกลุ่มน้อย แต่เป็นชนชาติพม่าแท้ แล้วก็มารบพุ่งกับทหารพม่า ซึ่งก็เป็นพม่าแท้เหมือนกัน กลายเป็นพม่าแท้ตีฟัดกันเอง การเมืองเลยแบ่งออกเป็น 2 ปีกหลักๆ แต่มันมีมุ้งการเมืองสุดท้าย ก็คือกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งผมว่าถ้ากลุ่มชาติพันธุ์ไปเข้ากับฝ่ายหนึ่งฝ่ายสองจะเปลี่ยนเกมได้เหมือนกัน เพราะว่ากองกำลังติดอาวุธเขาเยอะมาก แต่ขอโทษนะ ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวรในเวทีการเมืองชาติพันธุ์ของพม่า ชนกลุ่มน้อยเสียงแตก ก็จะมีบางพวกเช่น DKBA (Democratic Karen Buddhist Army หรือ กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยฝ่ายพุทธ) หรือพวกปะโอ ไปสนับสนุน มิน อ่อง หล่าย

ในการเจรจาสันติภาพก็ไปเข้าทางทหารพม่าในการใช้การเมืองสันติภาพ ควบคุมจัดระเบียบรัฐ ใครที่มาเข้าร่วมก็จะแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันไป ใครที่ไม่เข้าร่วม ก็คือฝ่ายต่อต้าน ก็จะต้องมีการบดขยี้ ทิ้งระเบิด โจมตี อะไรอย่างนี้ ก็น่าสนใจ แต่ขณะเดียวกัน มันมีกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์อีกกลุ่มหนึ่ง ที่เอนมาทางฝ่ายประชาธิปไตย เช่น KIO (Kachin Independence Organization หรือ องค์การเอกราชกะชีน), KIA (Kachin Independence Army หรือ กองทัพเอกราชกะชีน), KNPP (Karenni Army หรือ กองทัพกะเหรี่ยงแดง),  KNU (The Karen National Union หรือ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง) พวกที่อยู่ตามตะเข็บชายแดนไทย ในหลายๆ ส่วน พวกนี้ก็จะทำงานหรือปฏิบัติงานร่วมกันเหมือนกัน หลายอย่างก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับทางรัฐบาล NUG คืออยากได้สหพันธรัฐประชาธิปไตย แต่รายละเอียดก็อาจจะแตกต่างกันบ้าง ส่วนกลุ่มสุดท้ายของกองทัพชาติพันธุ์ก็คือ พวกที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะอยู่ฝ่ายไหน ขอดูสถานการณ์ไปก่อน ตีเนียนไปก่อน อย่างเช่น พวก UWSA (United Wa State Army หรือ กองทัพสหรัฐว้า) หรือกลุ่มอื่นๆ

เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจการเมืองสันติภาพในพม่า เราจะต้องเข้าใจว่า กลุ่มก้อนทางอำนาจ ซึ่งแบ่งออกเป็นสองสามก๊ก เขาคิดอย่างไรเกี่ยวกับคำว่าสันติภาพ ทหารพม่าอาจจะคิดว่าสันติภาพก็คือกฎระเบียบและความเรียบร้อย ฝ่ายต่อต้านอาจจะคิดว่าสันติภาพคือปฏิวัติไปเลย เพื่อนำมาสู่สันติภาพที่ยั่งยืน นั่นคือสถาปนาสหพันธรัฐประชาธิปไตย ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ สันติภาพก็คือการเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพ (Peace Process) แล้วเจรจาต่อรอง แลกเปลี่ยนเอาพื้นที่ เขาจะมี Autonomy (อิสรภาพ, การปกครองตนเอง) มากขึ้น หรือจะเอาสหพันธรัฐรูปแบบไหน บางอย่างเรื่องกระบวนการสันติภาพ (Peace Process) มันไม่เกี่ยวกับตัวแสดงอื่นๆ ก็เยอะ เช่น โรฮิงญา อย่างนี้ โรฮิงญาไม่ได้เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ (Peace Process) เลย แต่จะเป็นพวก AA (The Arakan Army หรือ กองทัพแห่งอาระกัน) มากกว่าที่จะถูกดึงมาคุย

พม่าเป็นรัฐแห่งการประหัตประหาร มีทั้งภาวะรัฐแทรก รัฐซ้อน รัฐพหุชาติพันธุ์ เต็มไปหมดด้วยความขัดแย้ง แต่สมัยการเมืองระยะเปลี่ยนผ่านราว 10-12 ปี มีความก้าวหน้าในการเมืองสันติภาพ แต่การเมืองสัจนิยม การแย่งชิงอำนาจก็ตีคู่ขนานกันไป และหลังรัฐประหารกลายเป็นประเทศดูจะเข้าสู่สงครามกลางเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ เวลาเราไปคุยกับเขาว่า เราจะสร้างสันติภาพในพม่า บางตัวแสดงอาจจะคิดว่า ก็คือ กระบวนการสันติภาพ (Peace Process) ที่ต่อยอดมาตั้งแต่รัฐบาลเต็งเส่ง NLD ใช่ไหม เรื่องโรฮิงญาไม่เกี่ยว เรื่องมนุษยธรรม เผลอๆ ก็อาจจะไม่เกี่ยวในมุมมองของทหารพม่า ในเรื่องกระบวนการสันติภาพ (Peace Process) การเข้าใจมโนทัศน์ในแต่ละตัวแสดง (Actors) จึงสำคัญ

 

 

รับชมคลิปเต็มได้ที่ :

 

ที่มา : PRIDI Talks #22: 78 ปี วันสันติภาพไทย “บทบาทอาเซียนในการเสริมสร้างสันติภาพในเมียนมา” วันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566 เวลา 10.30 - 12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์