ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สันติภาพพม่า สันติภาพของใคร?

27
สิงหาคม
2566

Focus

  • โจทย์สำคัญของการนำสันติภาพคืนสู่เมียนมาคือ การสร้างสมดุลระหว่างหลักการกับหลักปฏิบัติที่ยังไม่สอดรับกัน อันสืบเนื่องในทางประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้ง ความแตกต่าง และความหลากหลาย
  • กระบวนทัศน์เกี่ยวกับสันติภาพที่ต้องการ ไม่ใช่กระบวนทัศน์ของรัฐชาติแบบเดิม ที่ไม่สามารถแก้ไขในทางปฏิบัติ อาทิ ปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัย ยาเสพติด กลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ และกลายเป็นปัญหาที่เป็นปกติของอาเซียน แต่ควรเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเข้ามีส่วนร่วมทำให้เกิดสันติภาพ
  • หลักการ “ความพัวพันอย่างยืดหยุ่น” (Flexible Engagement) ที่ผู้แทนไทยในอดีตเสนอไว้ ยังคงมีความหมาย เนื่องจากอาเซียนไม่ควรจะจำนนต่อหลักการ “การไม่แทรกแซงกิจการภายใน” อันเป็นหลักการที่เป็นอุปสรรคในการสร้างสันติภาพในเมียนมา แต่ควรคำนึงถึงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์และการจัดการผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับประเทศมหาอำนาจบางประเทศ

 

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย :

อยากให้ทุกท่านที่ได้ติดตามเวทีวันนี้เข้าใจเรื่องของกระบวนการสันติภาพในเมียนมา ทั้งบทบาทของไทย บทบาทของอาเซียน และที่สำคัญอาจารย์พินิตพันธ์ุ จะมาพูดให้ฟังถึงเรื่องของพัฒนาการของความสัมพันธ์ของอาเซียนและพม่า ในปัจจุบันอาเซียนเข้ามามีบทบาทอย่างไร มีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง และเราสามารถเรียนรู้จากเรื่องนี้ได้อย่างไร

 

 

พินิตพันธุ์ บริพัตร :

ขอขอบพระคุณทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้เกียรติผมได้เข้าร่วมเวทีวันนี้ รู้สึกตัวเล็กไปเลยนะครับ เพราะว่าแต่ละท่านอัดแน่นไปด้วยความรู้และประสบการณ์โดยตรงที่เกี่ยวข้องกับประเทศพม่า ขออนุญาตใช้คำว่าพม่าด้วยความเคยชิน

อย่างที่ท่านอาจารย์ดุลยภาค และคุณกัณวีร์ ได้กล่าวไปแล้ว จะเห็นว่า (การศึกษา) พม่าเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับคนที่ศึกษาประเทศนี้ สำหรับผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาลไทย และผมก็เชื่อว่าทุกยุคทุกสมัยเผชิญกับโจทย์เดียวกันคือ เราจะสร้างสมดุลระหว่างหลักการและหลักปฏิบัติกับประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ของเราอย่างไรมากไปก็ไม่ได้ น้อยไปก็ไม่ดี

ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาคลาสสิค เป็นปัญหาในเชิงธรรมชาติที่จำเป็นจะต้องตระหนักในลักษณะของการเป็นข้อจำกัด ซึ่งข้อจำกัดนี้ก็ไม่พ้นอยู่ในแวดวงของอาเซียนเช่นเดียวกัน เพราะถ้าเป็นเรื่องง่าย ปรากฏการณ์ที่เราเห็นทุกวันนี้คงไม่ลากยาวมาถึงปัจจุบัน สิ่งที่จะอาจารย์ดุลยภาคกล่าวเมื่อสักครู่ จะเห็นว่าประเด็นปัญหาที่เราเห็นในปัจจุบันเป็นเพียงแค่ผลสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศพม่าที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งความแตกต่าง และความหลากหลาย

ดังนั้นการที่เราจะคุยเรื่องนี้กับประเทศนี้ ต้องทำความเข้าใจบนพื้นฐานว่ามันไม่มี Quick Fixes หรือทางออกที่ทุกคนจะพึงพอใจ

อาจารย์ดุลยภาคได้พูดเมื่อสักครู่ว่าสันติภาพของตัวแสดงต่างๆ ที่อยู่ในประเทศคิดไม่เหมือนกันเลย เพราะว่าวางอยู่บนผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นด้วยพื้นฐานเหล่านี้ การบรรยายหรือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผม อาจจะออกมาในลักษณะ Moderate (เป็นกลาง) หน่อยหนึ่ง ดูความเป็นจริงบนพื้นฐานที่ว่า เราทำอะไรได้บ้าง เราทำอะไรไม่ได้บ้าง โดยสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับพม่าตั้งแต่อาเซียนรับพม่าเข้ามาเป็นสมาชิกในปี 1997 ซึ่งครบรอบวาระ 30 ปีของอาเซียนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และอะไรคือความก้าวหน้า อะไรคือสิ่งที่เราควรจะต้องตระหนักเพื่อที่จะมองต่อไปในอนาคต

ก่อนอื่นผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาร่วมงานในวันสันติภาพ เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะว่าโดยส่วนตัวสอนเรื่องการระหว่างประเทศไทยมาระยะเวลาหนึ่งและได้มีโอกาสได้ฟังเสวนาต่างๆ ได้รับรู้เรื่องข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์ ความสำคัญของวันสันติภาพของไทยในวันที่ 16 สิงหาคม มีเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นในวันนี้ แต่ว่าผมคิดว่าสิ่งหนึ่งสำหรับผมที่ยังฉงนสงสัยอยู่เวลาติดตามงานวันสันติภาพ คือไม่ค่อยมีคนพูดว่าสันติภาพหมายถึงอะไรกันแน่ อย่างที่ท่านอาจารย์ดุลยภาคบอก หรือแม้กระทั่งคำถามที่ว่าสันติภาพตกลงแล้วเป็นของใครกันแน่ มันเป็นของรัฐ มันเป็นของกลุ่มชนกลุ่มน้อย มันเป็นของคนปกติทั่วไป มันเป็นของผู้นำ หรือมันเป็นของใคร ดังนั้นในแต่ละยุค แต่ละสมัย แต่ละประเทศ คำว่าสันติภาพแตกต่างกัน

 

 

ผมดีใจมากยิ่งขึ้นที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ รวมไปถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเรื่องพม่าในวันสันติภาพไทยซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก และผมก็เรียนถามผู้จัดว่าผมจะเอาตัวเองไปอยู่ตรงไหนในวันสันติภาพไทยในเรื่องพม่า ซึ่งเป็นความท้าทายแต่พอคิดอย่างลึกซึ้ง ผมมีความรู้สึกว่าดีใจที่เราพูดเรื่องนี้ในวันสันติภาพไทย เพราะมันทำให้เราขยายพรมแดนหรือกระบวนทัศน์ในการทำความเข้าใจว่า คำว่า “สันติภาพ” ควรจะหมายถึงอะไร แล้วผมมีความรู้สึกว่าสันติภาพในปัจจุบันมันควรจะเป็นสิทธิ์ เป็นศักดิ์ศรี เป็นสิทธิของคนทุกคนที่ควรจะได้รับ

“สันติภาพ” ไม่ควรจะดำรงไว้เป็นเพียงแค่ความหมายของการปราศจากซึ่งสงครามหรือความขัดแย้งหรือความบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐ เหมือนที่เราเคยคุยกันในเรื่องสันติภาพในสงครามโลกครั้งที่ 2 ผมว่าโลกเปลี่ยนไปมาก กระบวนทัศน์เกี่ยวกับสันติภาพจึงไม่ใช่กระบวนทัศน์ของรัฐชาติอีกต่อไป

ผมคิดว่าเรื่องนี้จำเป็นและสำคัญที่เราจะต้องเชื่อมโยงเข้าสู่การวิเคราะห์หรือการมองภาพพม่าว่าอุปสรรคปัญหาในกรณีของพม่า ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วอุปสรรคปัญหาในกรณีของพม่าอยู่ที่เรายังไม่คิดว่า “สันติภาพ” เป็นเรื่องของชาวพม่าที่เขาควรจะได้รับ เรากลับไปคิดถึงเรื่องอื่นมากกว่าคนที่กำลังเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับสิทธิและศักดิ์ศรี ที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพ

อย่างไรก็ดี ถ้าไปมองความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับอาเซียนก็เห็นว่าเป็นหอกข้างแคร่มาตลอดตั้งแต่ปี 1997 สิ่งเหล่านี้ที่ปรากฏไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด พม่าเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 1997 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพม่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้ลี้ภัย เรื่องยาเสพติด กลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหาของนางออง ซาน ซูจี ปัญหาสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัญหาที่เป็นปกติมากของอาเซียน เพราะว่าอาเซียนจะถูกกดดันเสมอให้ถกแถลง ถูกกดดันให้วิพากษ์วิจารณ์ ให้แสดงความห่วงใย ให้ออกมาจัดการกับปัญหาพม่า หรือปัญหาเด็กดื้อในอาเซียนเสียที และสุดท้ายก็สาละวนกลับไปเหมือนเดิมคืออาเซียนก็มักจะบอกว่ายึดถือหลักการการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก เพราะนั่นเป็น Principle (หลักการ) หลักของการก่อตั้งองค์การนี้

ถ้าเรามองในภาพรวมมันไม่ค่อยมีความคืบหน้า (Progress) เท่าไร แต่ถ้ามองให้ละเอียดอีกสักนิด จะเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงในพม่าทำให้อาเซียนปรับตัวพอสมควร แม้ว่าอาจจะยังไม่ได้ถูกใจคนที่ติดตามอาเซียนเท่าไร เวลาศึกษาอาเซียนเราห้ามใจร้อน เพราะเมื่อใจร้อนแล้วเราจะไม่เห็นอะไรเลย ดังนั้นต้องใจเย็นมากๆ

ในปี 2003 เหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจคือมีการเริ่มพูดถึงจะยกเลิกสมาชิกภาพของพม่า เพราะในขณะนั้น พม่าช่วงภายหลังจากการจับตัว ออง ซาน ซูจี มาอย่างยาวนานได้ปล่อยตัวออง ซาน ซูจี ในปี 2002 ปี และในระหว่างปี 2002 ถึง 2003 ออง ซาน ซูจี เดินทางรณรงค์ความคิดเห็นเรื่องความเป็นประชาธิปไตยทั่วประเทศ เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนกองทัพและกลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตย

 

 

สถานการณ์จบลงที่กองทัพจับตัว ออง ซาน ซูจี อีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งหลายปีต่อมาเกิดการวิพากษ์วิจารณ์พม่าอย่างมากมาย เกิด Sanctions (มาตราการลงโทษ) ระลอกใหญ่จากสหรัฐอเมริกาและจากสหภาพยุโรป ในอาเซียนก็เช่นเดียวกัน มีการพูดถึงเป็นครั้งแรกๆ ว่าพม่าทำไม่ถูก พม่าต้องปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี หากทำแบบนี้ต่อไปพม่าก็ไม่ควรได้รับสมาชิกภาพ ดังนั้นในปี 2003 จะเห็นถึงความพยายามในการปรับตัวของหลักการ การไม่แทรกแซงกิจการภายใน ที่มีต่อพม่าพอสมควร และจะเห็นประเทศอย่างเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือสิงคโปร์ ที่แสดงความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

เหมือนที่อาจารย์อนุสรณ์พูดไว้ว่า รัฐบาลไทยมีส่วนในการผลักดันให้อาเซียนเปลี่ยนแปลงข้อเสนอของตัวเองในช่วงรัฐบาลชวนหลีกภัยสมัยที่สอง ซึ่งมีอาจารย์สุรินทร์ พิศสุวรรณ และอาจารย์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้ทำข้อเสนอเรื่อง “ความพัวพันอย่างยืดหยุ่น” (Flexible Engagement) ขึ้นมา ข้อเสนอของอาจารย์สุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่เสนอต่อเวที อาเซียน ชัดเจนมาก และเป็นไปตามตรรกะ (Logical) มากๆ มันเป็นสิทธิ์ของชาติสมาชิกอาเซียนที่จะแสดงความเห็นต่อประเด็นปัญหาในภูมิภาคที่มีธรรมชาติข้ามพรมแดน นั่นหมายถึงสิทธิ์ที่ควรจะบอกว่าเราได้รับผลกระทบจากประเด็นปัญหาอะไร

ดังนั้น เราไม่ควรจะใช้หลักการ “การไม่แทรกแซงกิจการภายใน” มาเป็นหลักการที่เป็นอุปสรรค เราควรจะมีความยืดหยุ่นพอสมควรในการแสดงความคิดเห็นและยอมรับ อย่างที่อาจารย์อนุสรณ์บอก “ความพัวพันอย่างยืดหยุ่น” (Flexible Engagement) ถูกตีตกหมด ยกเว้นประเทศฟิลิปปินส์ในการประชุมอาเซียนครั้งนั้น ทุกประเทศวิ่งเข้ามาหาอาจารย์สุรินทร์ พิศสุวรรณ ได้มีคำบอกเล่าจากอาจารย์สุรินทร์ว่า “คุณ (You) กำลังจะเปลี่ยนหลักการ หรือคุณจะไปแทรกแซงประเทศอื่น หรือจะไปวิพากษ์วิจารณ์หรือ” จริงๆ แล้วไม่ใช่แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นและสำคัญของสิทธิมนุษยชน ปัญหาข้ามพรมแดนต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่หากจะพูดกันง่ายๆ คือ รัฐชาติอาเซียนพึ่งจะเห็นหลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง

 

 

แม้ว่าหลักการดังกล่าวจะไม่ได้ถูกนำไปใช้ แต่ว่าในทางปฏิบัติจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ถูกนำไปบรรจุใน ASEAN Political-Security Community Blueprint (แผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคง) หรือถูกนำไปอยู่ใน ASEAN Charter (กฎบัตรอาเซียน) ซึ่งทุกท่านก็สามารถหาอ่านเอกสารนั้นได้

ดังนั้น ประเด็นที่ผมต้องการจะนำเสนอก็คือว่า มุมมองและมิติของสันติภาพในลักษณะของศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ สิทธิของมนุษย์ มันมีอยู่ในอาเซียน มันมีอยู่อย่างเป็นกิจจะลักษณะ เป็นทางการ และเป็นสถาบันด้วย ผ่านเอกสารต่างๆ แต่ปัญหาคือว่า อาเซียนและชาติสมาชิกมิได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนั้นอย่างจริงจัง และมักจะตกลงที่ศิโรราบกับผลประโยชน์แห่งชาติและหลักการการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ดังนั้นเพื่อความยุติธรรมต่ออาเซียนกับงานของคนที่ทำงานอาเซียนมาโดยตลอด ไม่ใช่อาเซียนไม่ระลึกถึงแต่อาจจะมีอุปสรรคบางอย่างที่อาเซียนยังไม่ได้ทำ

ประเด็นต่อมาคือ หลังจากปี 2003 จะเห็นการขับเคลื่อนในการกดดันพม่าหลายครั้ง ในปี 2006 ก็เช่นกัน มีเรื่องของวาระประธานหมุนเวียนก็ถูกกดดัน และปี 2009 เป็นครั้งแรกที่อาเซียนโดยอาจารย์สุรินทร์ พิศสุวรรณ ก็นำเอา Humanitarian Assistance Force (กองกำลังช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม) เข้าไปในพม่าก็เห็นได้ว่านี่เป็นครั้งแรกที่อาเซียนสามารถดำเนินการและผลักดันเรื่องเกี่ยวกับพม่าได้ ในปี 2021 เรามีฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) ที่ทุกคนรู้จักกันดี และคนที่ติดตามการระหว่างประเทศและอาเซียนก็จะต้องร้องว้าว เพราะว่าปรากฏการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราจะเห็นว่าปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ ทำให้เห็นถึงความพยายามปรับตัวของอาเซียนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ประการแรก คือว่ามีการประชุมพิเศษ แม้ว่าอาเซียนเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องโควิดก่อน และมาจบลงเรื่องกรณีของพม่า แต่ไม่เคยมีกรณีที่มีการประชุม แล้วพูดโดยตรงว่า “คุณมีปัญหานะ การมีปัญหาของคุณทำให้อาเซียนกระทบอย่างไร” และควรจะมีมาตรการอย่างไรต่อไปเป็นลายลักษณ์อักษรและผู้นำสูงสุดของประเทศพม่าในขณะนั้นเข้าร่วมการประชุมไม่มากก็น้อยคือการยอมรับในฉันทามติอย่างไม่เป็นทางการของเวทีอาเซียนซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ เมื่อ มิน อ่อง หล่าย ไม่ปฏิบัติตามไม่กี่เดือนต่อมาอาเซียนปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมอาเซียนของผู้นำระดับสูง ผู้นำทางการเมืองระดับสูง ซึ่งก็ไม่เคยปรากฏมาก่อนอย่างเช่นเดียวกัน

ปรากฏการณ์เหล่านี้มาควบคู่กับการเป็นสถาบันของอาเซียน การระบุให้สำนักงานเลขาธิการอาเซียนประสานงานเรื่องนี้ การระบุให้อาเซียนมี Special Envoy (ผู้แทนพิเศษที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายในกรณีต่างๆ) ดูแลบริหารจัดการเรื่องเกี่ยวกับพม่า ก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเพราะว่าถือว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศพม่าโดยตรง ดังนั้นเพื่อความยุติธรรมอาเซียน ผมว่าอาเซียนทำงานอะไรบางอย่างเพื่อที่จะนำประเทศพม่ากลับสู่สภาวะปกติ แต่ประเด็นคือว่า 2 ปีที่ผ่านไป อาเซียนควรต้องเรียนรู้อะไรบางอย่าง ว่าสิ่งที่ทำมามันไม่เวิร์ก ดังนั้นก็ควรจะต้องครุ่นคิดพอสมควรว่าปัญหามันคืออะไร

จาก 2 ปีที่ผ่านมาเราเห็นปัญหาในพม่า มันไม่ใช่ปัญหาเฉพาะพม่ากับอาเซียนเท่านั้น แต่สามารถมองพม่าในบริบทของการเมืองระหว่างประเทศได้ด้วย และที่สำคัญที่สุดคือภูมิรัฐศาสตร์ของจีนและการแข่งขันของมหาอำนาจในเอเชีย ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าอิทธิพลของจีนมีมากในประเทศพม่า ไม่ว่าคุณจะกดดันพม่าขนาดไหน แต่อย่างน้อยพม่ายังมีความสนิทชิดเชื้อกับประเทศจีน ประเทศจีนอาจจะระคายเคืองสักนิดหนึ่ง ถ้าใครติดตามการเปลี่ยนแปลงในพม่าทำให้จีนที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พยายามที่จะพูดอ้อมๆ ว่าไม่โอเคกับความเปลี่ยนแปลง และไม่ได้พยายามที่จะสนับสนุนพม่าเต็มตัวในเวทีสหประชาชาติเหมือนแต่ก่อน แต่สิ่งที่จีนต้องการมากที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดคือ “เสถียรภาพ”

 

 

ดังนั้น ไม่ว่าพม่าจะมีระบบการปกครองแบบใด จีนโอเค ถ้าพม่ามีเสถียรภาพ ดังนั้นเมื่อมีกรณีตัวอย่างนี้ (Scenario) เกิดขึ้น ไม่ว่าจะมีเรื่อง BRI (Belt and Road Initiative หรือ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง) เรื่อง Geopolitics (ภูมิรัฐศาสตร์) อะไรก็ตามแต่ มันประจวบเหมาะ (Fit in) มากกับสถานะความเป็นอยู่ของพม่า เพราะว่าอยู่จนจุดกึ่งกลางของภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ถ้าเราเอาอินโดแปซิฟิกมาพาดด้วยแล้ว เราจะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นก็ดี อินเดียก็ดี ไม่ได้ออกมาท้าทายรัฐบาลทหารพม่าชัดเจนเข้มข้น ญี่ปุ่นก็มีคนพูดถึง Economic Sanction หรือการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แต่นี่ไม่ใช่ Option (ทางเลือก) ยังไงก็ไม่มีทางเกิดขึ้นในญี่ปุ่น เป็นต้น บริบทของพม่ามันมีความลึกซึ้งซับซ้อนมากกว่าแค่มิติอาเซียนกับพม่า

อีกประเด็นที่เป็น ภูมิรัฐศาสตร์ หรือ Geopolitics of Transnational Business ซึ่งหมายถึง ภาคเอกชนที่เป็นกลจักรสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกเศรษฐกิจหลัง COVID-19 เรื่องสงครามรัสเซียกับยูเครน เรื่องราคาน้ำมัน เรื่องราคาพลังงาน เรื่องราคาต้นทุนการผลิต พม่าจูงใจให้ภาคเอกชนมีความสัมพันธ์ในเชิงบวกด้วยทรัพยากรที่หนาแน่น ดังนั้น ไม่มากก็น้อย การจัดการในเรื่องการสร้างสันติภาพในพม่ามันพัวพันกันไปหมด แต่สิ่งที่เราจะเริ่มต้นขึ้นก็คือให้กระบวนทัศน์ของเรามองว่าสันติภาพที่ควรจะมีอยู่ในประเทศพม่า ควรจะเป็นของใคร ถ้าตรงนั้นเราชัด ภาคเอกชนก็ชัด ภาคการเมืองก็ชัด อาเซียนก็ชัด แต่ถ้าเราไม่ชัด และเรากลับไปในกระบวนทัศน์แบบเดิม คือสันติภาพในแบบรัฐชาติ ในแบบการสถาปนาบูรณภาพแห่งดินแดนอันสมบูรณ์แบบ เรื่องเหล่านี้ก็จะกลับไปเป็นลูปเดิมเหมือนที่พม่าได้ประสบปัญหามาในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา

 

 

รับชมคลิปเต็มได้ที่ :

 

ที่มา : PRIDI Talks #22: 78 ปี วันสันติภาพไทย “บทบาทอาเซียนในการเสริมสร้างสันติภาพในเมียนมา” วันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566 เวลา 10.30 - 12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.