ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

Q&A : ข้อเสนอ ข้อสังเกต “บทบาทอาเซียนในการเสริมสร้างสันติภาพในเมียนมา”

30
สิงหาคม
2566

 

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : หนึ่ง ความหวังที่จะมีต่อรัฐบาลใหม่ของไทย กับ สอง ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่อาเซียนจะต้องแสดงมาตรการขั้นเด็ดขาดต่อพม่า

สุณัย ผาสุข : เริ่มคำถามเรื่องอนาคตของรัฐบาลไทย ถ้าดูที่คาดการณ์ ก็เดากันว่าจะเป็นเพื่อไทยใช่ไหม ที่จะมาเอากระทรวงต่างประเทศ แต่งานเรื่องนโยบายต่อพม่า จะต้องพ่วงกัน 3-4 หน่วยด้วยกัน หลักก็กระทรวงต่างประเทศ สมช. ต้องมา เรื่องของกองทัพ เพราะว่าความสัมพันธ์ไทย-พม่า เป็นเรื่องของกองทัพต่อกองทัพ แล้วบังเอิญว่าเรากำลังเข้าสู่ช่วงที่โผผู้บัญชาการเหล่าทัพเปลี่ยนหมดทุกคนเลย ใครจะเข้ามาในผู้บัญชาการเหล่าทัพจะเป็นตัวแปรสำคัญเช่นกัน

อย่างตอนนี้ ในส่วนของกระทรวงต่างประเทศก็ร่ำลือกันว่าจะเป็นอดีตผู้แทนการค้าท่านหนึ่ง หลายคนก็คงรู้จักชื่อ เรารู้จักฝีมือ รู้จักส่วนตัวกันด้วยว่าจุดยืนเป็นอย่างไร ผมกลัวว่าจะกลับไปเหมือนยุคอดีตนายกทักษิณ ซึ่งประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่อยู่เบาะหลัง ไม่ใช่ back seat ไปเกาะอยู่ท้ายรถตัวปลิวๆ ก็จะน่าห่วง เรื่องประเด็นสิทธิมนุษยชนจะด้อยลงมา จะไปให้ความสำคัญในเรื่องที่เรากำลังพูดคุยอยู่ในเวทีนี้ว่า “เสถียรภาพ”

 

 

เพราะฉะนั้น ฝ่ายต่างๆ ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า โมเดลจะเป็นโมเดลที่สร้างเสถียรภาพให้กับพม่าได้ ไทยก็คงจะเอาด้วย คงจะต้องมาจูงใจกันในเรื่องนี้ เวลานำเสนอนโยบาย นำเสนอข้อเสนอก็ต้องมากล่อมว่า ที่จริงๆ ตอนนี้ควรจะต้องไปนั่งคุยแล้วว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศ ว่าที่ทีมการต่างประเทศของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา ประเด็นเรื่องพม่าเป็นอย่างไร เราควรจะต้องเริ่มคุย แล้วสื่อจะต้องเริ่มกระทุ้ง เพื่อไทยบอกมาหน่อยสิว่านโยบายเรื่องพม่าทิศทางจะไปทางไหน เพราะว่าจนถึงตอนนี้ มี 2 พรรค ก็มีพรรคคุณกัณวีร์ (พรรคเป็นธรรม) กับพรรคก้าวไกล ที่เคยพูดเรื่องนโยบายต่างประเทศชัดๆ พรรคอื่นไม่ชัด ก็หวังว่าตอนนี้ ลองไปกระทุ้งดูว่ามีคำตอบแล้วหรือยัง

สภาความมั่นคงแห่งชาติ (ประเทศไทย) หรือ สมช. ก็คงต้องดูว่าใครมานั่ง เพราะ สมช. ตอบกับนายกใช่ไหม แล้วเลขา สมช. นี่สำคัญ ที่ผ่านมา 9 ปีของระบอบ คสช. ระบอบประยุทธ์ นักยุทธศาสตร์มืออาชีพที่เป็นพลเรือนตกกระป๋องหมด ใน สมช. เหลือแต่ทหาร ซึ่งผมไม่มั่นใจฝีมือ เพราะว่าเป็นทหารสายประยุทธ์ ซึ่งไม่เก่ง มาคุม สมช. แล้วนโยบายเรื่องพม่าใน สมช.พังพินาศเลยในทุกมิติ มิติความมั่นคง มิติผู้ลี้ภัย พังหมดเลย จะต้องรื้อ สมช.ใหม่ ทีมที่เข้ามาใหม่เราจะได้ทีมดีที่คนที่มาอยู่ในสำนักนายก คนที่มาเป็นนายกตั้งทีมที่มีประสิทธิภาพ ผมไม่รังเกียจทหาร แต่ขอทหารที่เก่งมาแทนที่ทีมไม่เก่งที่ประยุทธ์เอามายัดอยู่เต็มไปหมด รื้อพวกนี้ออกไป เรื่องของแม่ทัพและผู้บัญชาการเหล่าทัพ ก็ต้องรอดูโผว่าจะออกมาอย่างไร ตามข่าวที่ว่า ก็พอดูได้อยู่ว่าเก่ง ว่าที่ ผบ.ทบ. ก็รู้ว่าเป็นคนเก่ง แต่ว่าแม่ทัพภาค ผมไม่รู้ว่ามือเป็นอย่างไร ก็ประมาณนี้ ภาพตัวแสดงฝั่งไทย ที่ไทยจะมีบทบาทอะไรได้บ้าง

คำถามที่ 2 ถึงเวลาไหมที่อาเซียนควรจะมีท่าทีที่ชัดขึ้น แข็งขึ้น อย่างที่ผมพูดไปเมื่อสักครู่ ผมเชียร์ อันนี้ประยุกต์สดๆ เลย พูดเวทีนี้เวทีแรกเลยว่า อยากเห็นอาเซียนที่มีกระดูกสันหลัง แล้วกล้าสวนกลับพม่า สวนกลับพม่าโดยที่มีทุนอยู่ในกระเป๋าตัวเอง ไม่ใช่เดินไปปากเปล่าแล้วไปบลัฟ แต่บอกว่าอาเซียนมีข้อบังคับอยู่ แล้วพม่าเท่าที่ผ่านมา นับตั้งแต่กรณีโรฮิงญาต่อเนื่องมาสู่รัฐประหาร มาหลังรัฐประหาร พม่าละเมิดกฎกติกาของอาเซียนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการไปรับปากโดยผู้นำสูงสุดของพม่าต่อฉันทามติ 5 ข้อ คืออาเซียนไม่ได้เอาไปยัดใส่ปากพม่า

พม่ารับปากเองแล้วไม่ทำ จุดนี้จะเป็นจุดที่อาเซียนเอามาใช้เป็นประเด็นต่อรองได้ แต่ว่าวิธีการในการใช้ประเด็นต่อรองหรือกดดันพม่า ขู่พม่า จะใช้วิธีการแบบไหน ผมก็แนะนำว่า ใช้วิธีการกึ่งทางการก่อนน่าจะดีที่สุด ทั้งกึ่งทางการโดยลำพังในระดับอาเซียนเอง ระดับทวิภาคีที่มีอยู่ ก็คือสมาชิกอาเซียนก็คุยเดี่ยวกะเดี่ยวกับพม่าอยู่ แล้วก็ในระดับกลุ่มภูมิภาคอาเซียน แล้วก็ไปโยงกับ UN (United Nations) เสีย ไปโยงกับประเทศที่มีอำนาจต่อรองอย่างสหรัฐอเมริกา หรือ EU (European Union) หรือญี่ปุ่นเสีย มันมีช่องทางทำได้ แต่อาเซียนต้องกล้าสวน อย่ายอมพม่าแต่เพียงฝ่ายเดียว

 

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : เมื่อครู่ ข้อเสนอของคุณสุณัย ว่าต้องขู่แล้ว หรือว่ามาตรการขั้นเด็ดขาด ถึงเวลาที่จำเป็นต้องใช้มาตรการนี้ไหม เพื่อศักดิ์ศรีของอาเซียน

รศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร : คือผมคิดว่ายาก มานั่งคุยกันพาเนลนี้ ผมนึกถึงว่าตอนสมัยผมเรียนอยู่ประมาณปี 3 ก็ไปนั่งฟังพวกนักวิชาการเขาคุยกัน ก็คุยเรื่องนี้ ว่าอาเซียนควรจะทำอย่างไรดี ก็ออกมาเป็น booklet (หนังสือ) 20 หรือ 50 มาตรการ ทุกอย่างก็ยังเป็นเหมือนเดิม

 

 

ผมคิดว่าประเด็น 2 ปีที่ผ่านมา เราเห็นว่าอาเซียนและชาติสมาชิกลองทุกอย่างจริงๆ ยกเว้นประเภท hardcore (แบบจริงจัง) เช่น Economic Sanction (มาตรการลงโทษ หรือการตอบโต้ทางเศรษฐกิจ) หรือ Military Intervention (การแทรกแซงด้วยกำลังทางทหาร) ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในอาเซียน แต่ว่าเราลองแล้ว ทั้งในเชิงสถาบัน ทั้งในเชิงทางลับ ในเชิงวิพากษ์วิจารณ์โดยตรง ทำทุกอย่างแล้ว แต่ผมคิดว่าจากคนที่มองดูอาเซียน สิ่งที่ยังขาดไปคือ มันไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าลำดับขั้นของการดำเนินนโยบายมันคืออะไร

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะเปิดเมนู เมนูทางนโยบายจากฝั่งหนึ่งเป็นแบบ Pragmatic (ในทางปฏิบัติ) มากๆ คือใช้การทูตแบบ Quiet Diplomacy (การทูตแบบปิดเงียบ) เหมือนที่รัฐบาลไทยทำ ใช้ Track 1.5 (เป็นแนวทางการหารือแบบหนึ่ง) ใช้ Personal ความสัมพันธ์ส่วนตัว กับอีกข้างหนึ่งที่เป็น Principle (ในทางหลักการ) มากๆ คือเป็นหลักการเน้นๆ เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องจัดการเอาจริง ยกเลิกสมาชิกภาพ คือเรามีเมนูเหล่านี้ แต่เรายังไม่รู้ว่าลำดับขั้นของเมนูจะเป็นอย่างไร เรารู้แต่ว่าเรามีฉันทามติ 5 ข้อ แล้วถ้า 5 ข้อไม่เวิร์กล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น เรารู้แต่ว่ารัฐบาลไทยไปคุยกับพม่า แล้วก็บอกว่า ออง ซาน ซูจี สบายดีนะ แล้วก็มีความรุนแรง เราจะทำอย่างไรต่อ

ประเด็นของผมคือว่า เมนูทุกอย่างดีหมด เราไม่ได้หมายความว่า เราต้อง Economic Sanction โดยที่ไม่คุยกับรัฐบาลพม่า หรือจะวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่มี Track 1.5 ที่ฝ่ายนักวิชาการเข้ามาคุย มี Think Tank (คลังสมอง) เข้ามาคุยด้วย เราต้องลองทุกอย่าง แต่เราควรจะต้องรู้ว่าลิมิตมันคืออะไร และเรื่องนี้ก็ทำให้ผมคิดถึงนโยบายจากประเทศไทยสมัยความขัดแย้งกัมพูชา ตอนช่วงเปลี่ยนรัฐบาล จากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ไปเป็นพลเอกชาติชาย

ผมคิดว่า logic (ตรรกะ) ของพลเอกชาติชาย มีอยู่อย่างเดียวก็คือว่า เราลองมาแล้ว 8 ปี ในการที่จะปฏิเสธอิทธิพลของเวียดนามและ ฮุน เซน ในเมื่อมันไม่สามารถสร้างสันติภาพให้อยู่ได้ในกัมพูชา ดังนั้น มันก็ควรจะต้องปรับทิศทาง ฉะนั้น 2 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าวิพากษ์วิจารณ์ได้ เรื่องอาเซียน รัฐบาลไทย แต่ว่าท้ายที่สุดแล้ว มันไม่มีใครตั้งธงว่าอาเซียนพร้อมแล้วหรือยัง ที่จะเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลหรือไม่ ยอมรับอย่างเป็นทางการผ่านเวทีอาเซียน Asean People’s Forum มีทุกปี ทำไมไม่ใช้อันนี้อย่างเป็นทางการ Forum (การประชุมแสดงความคิดเห็น) ของอาเซียน เสาเศรษฐกิจ มีภาคเอกชนที่เป็นสภาธุรกิจอาเซียน ทำไมไม่เอาเรื่องนี้เข้าไป ทำไมอาเซียนในเสา Political Security (การเมืองและความมั่นคง) กับเรื่องสังคมวัฒนธรรมไม่พูดถึง Humanitarian Corridor ในแบบอาเซียนที่ไปกันเป็นกลุ่ม ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลไทย ผมเข้าใจรัฐบาลไทย

 

 

เพราะว่ารัฐบาลไทยรับหน้าที่ ความรับผิดชอบ รับหน้าเสื่อ มากไปก็ไม่ได้ น้อยไปก็ไม่ดี แล้วแถมถ้ารับมากไป รัฐบาลพม่าก็บอกว่าเราไม่โปร่งใสอีก เดี๋ยวหาว่าไปแทรกแซงกิจการภายใน ก็อีนุงตุงนัง ดังนั้น ทางแก้ก็คือว่า ดึงอาเซียนเข้ามา ทำให้เรื่องนี้มีความเป็นสถาบันมากขึ้น เรามีอาเซียนอยู่แล้ว มีกลไกอยู่แล้ว แต่เราต้องมีความชัดเจนว่า อะไรคือสิ่งที่รับได้และรับไม่ได้ เหมือนที่ อ.สุณัย บอกเมื่อสักครู่ ไม่ใช่ไปเรื่อยๆ

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : เมื่อครู่นั่งคุยกัน ถามว่า ประธานอาเซียนประเทศต่อไปคือประเทศอะไร ได้ยินมาว่าลาว มันจะมีเส้นทางความหวังต่อบทบาทนี้อย่างไรบ้าง และรัฐบาลใหม่ของไทยควรทำอะไรอย่างเร่งด่วนเพื่อเมียนมา รวมถึงของอาเซียนด้วย

 

 

รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช : ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ว่า ปัญหาที่มันเกิดขึ้นในพม่าที่เป็นความรุนแรง มันเกิดจากระบบคิด และความชินชาในการทำสงครามสังหารประชาชนของทหารพม่า แล้วทหารพม่าเป็นตัวแสดงที่ดื้อมากเลย เพราะฉะนั้น การที่จะทำให้คณะนายพลดูเชื่อง น่ารักขึ้น มันต้องอาศัยศิลปะทางการทูตเป็นอย่างมากเลยทีเดียว

ผมมองอย่างนี้ว่า ทหารพม่าเป็นโรคหวาดระแวงต่างชาติ เขากลัวการแทรกแซงกิจการภายใน กลัวแม้กระทั่งมหาอำนาจยกทัพยึดชายหาดตามแนวชายฝั่งทะเล และบุกรุกเข้ามา มันเห็นได้ชัดตั้งแต่ตอนที่นายพล ตาน ฉ่วย ขึ้นบริหารประเทศ และตอนนั้น จอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐอเมริกา บอกพม่าเป็นทำนองว่า เป็นรัฐที่นอกคอก เป็นด่านหน้าแห่งทรราชอะไรอย่างนี้ เขาแก้เกมโดยการไปตั้งศูนย์บัญชาการลับที่เนปิดอว์ แล้วก็มีการขุดอุโมงค์ใต้ดิน มีการเชิญช่างเทคนิคเกาหลีเหนือเข้ามาช่วยในการวางโครงข่ายป้องกันการโจมตีทางอากาศ มีการตั้งกองพันนิวเคลียร์ขึ้นมา แล้วส่งนายทหารเข้าไปเรียนที่รัสเซีย เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นมานานแล้วพอสมควร

ทีนี้พอหลังรัฐประหารกลายเป็นว่าทหารพม่า ก็ดูเหมือนหลังจะชนฝามากขึ้น เนื่องจากว่าใครๆ ก็ไม่เอาทหารพม่า เขามีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า เมื่อใดก็ตามที่ประเทศมีความสับสนวุ่นวายจะต้องใช้ยุทธศาสตร์สงครามประชาชนเข้ามา แม้ว่าจะมีการบุกรุกจากต่างประเทศ ด่านสุดท้ายก็จะเอาประชาชนเป็นแนวร่วม แต่คำถามปัจจุบันก็คือ จะไปเอาประชาชนมาร่วมรบได้อย่างไร ในเมื่อประชาชนเองก็ไม่เอาเผด็จการ และประกาศทำสงครามปฏิวัติเพื่อสร้างสหพันธรัฐประชาธิปไตย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ทหารพม่ารู้สึกหลังชนฝามากขึ้นเรื่อยๆ แล้วมีแรงกดดันว่าจะถูกแทรกแซง ถูกล้มระบอบทหารมากขึ้นเรื่อยๆ ทางแก้ของทหารพม่าคงไม่มีอะไรซับซ้อน แต่น่ากลัวเลยทีเดียว

นอกจากทางแก้นั้นก็คือว่าให้รัฐพม่า กองทัพพม่าเป็นรัฐแสนยานุภาพ สั่งซื้อยุทโธปกรณ์จากรัสเซีย ดองกับเกาหลีเหนือมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นแล้วความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของพม่า มันทำให้เขาเล่นเกมนี้ได้ แล้วก็ประสบความสำเร็จแบบสม่ำเสมอ เมื่อใดก็ตามที่มีแรงกดดันจากสหรัฐ จากตะวันตก หรือจากอาเซียน เขาก็จะสไลด์เข้าหารัสเซีย เข้าหาจีน หรือแม้กระทั่งอินเดีย รัฐประชาธิปไตยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่ใช้ Quiet Diplomacy กับพม่า ใช้มาหลายปีแล้ว เพราะว่าถ้าไปผลักพม่ามาก พม่าก็จะสไลด์เข้าหาจีน ซึ่งมันเป็นอันตรายต่ออินเดียในทางภูมิศาสตร์ แล้วความมั่นคงชายแดนไม่ว่าจะเป็นมณีปุระ นาคาแลนด์ ทางอีสานของอินเดีย ก็เกี่ยวข้องกับผู้คนหรือระบบความมั่นคงในฝั่งพม่าด้วย

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าทหารพม่ามี Option มีทางเลือก ถ้าอาเซียนข่มขู่แบบรุนแรงหรือขับพม่าออกจากการเป็นสมาชิกอาเซียน ผมทำนายได้เลยว่าเขาก็จะเข้าหารัสเซีย เข้าหาเกาหลีเหนือ สไลด์เข้าหาแนวร่วมอื่นๆ เพื่อสร้าง Bargaining Power แล้วก็ไม่ง้ออาเซียนมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ

แล้วเป็นอย่างนี้ เราจะแก้เกมยังไงกับผู้นำทหารที่เป็นโรคหวาดระแวงต่างชาติ ผมว่าการแก้เกมก็คือกดดันได้ แต่กดดันแบบทีละขั้นทีละตอน ผ่อนสั้นผ่อนยาว เช่น ตอนนี้พม่ามีลักษณะเหมือนเป็นรัฐล้มเหลวใช่ไหม แบบที่คุณสุณัยว่า ธรรมชาติของรัฐล้มเหลวอย่างหนึ่งก็คือ ตัวรัฐบาลไม่สามารถส่งมอบบริการสาธารณะให้กับประชาชนได้ เรื่องสาธารณสุข เรื่องการแพทย์ เรื่องการศึกษา โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพราะรัฐเอาไปทำสงคราม และรัฐเป็นศัตรูกับประชาชน ทีนี้บทบาทของอาเซียนกับไทยก็คือว่า ในฐานะมนุษยธรรม ถ้าประชาชนพม่าได้รับความเดือดร้อน แล้วรัฐบาลพม่าไม่มีทัศนคติที่ดีหรือมีสมรรถนะที่พอเพียงในการทำงานบริการสาธารณะ ทำไมไม่ระดมทรัพยากรหรืองบประมาณมา empower (เสริมพลัง) ให้กับเครือข่ายรัฐบาล NUG หรือรัฐบาลของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ เช่น KNPP KNU ซึ่งก็มีโครงสร้างจำลองคล้ายๆ กับเป็นรัฐบาลขนาดย่อม และงานบริการด้านการศึกษา สาธารณสุข

บางทีพวกทหารกะเหรี่ยงเขาก็ทำนะ ในการดูแลประชาชนในพื้นที่ ทำไมเราไม่ขู่ทหารพม่าในลักษณะแบบนี้ว่า รังแกประชาชนใช่ไหม ถ้ารังแกประชาชน เราจะไป empower ไปช่วยเหลือผ่านรัฐบาลของ NUG กองทัพชาติพันธุ์ เพื่อดูแลประชาชน ทำเศรษฐกิจชายแดน

ทีนี้ถ้าทหารพม่าไม่อยากให้เราไปให้ความช่วยเหลือตรงนี้ ทหารพม่าก็ต้องลดความรุนแรงในการโจมตี ในการข่มขู่ประชาชน และทหารพม่าต้องดื้อน้อยลง มา engage (มีส่วนร่วม) กับทางอาเซียนหรือสหประชาชาติ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เอาความช่วยเหลือไปสู่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ แบบนี้ผมว่าพอทำได้ หรือสถานการณ์ในประเทศไทยเอง เราเป็นรัฐหน้าด่าน ด่านหน้า ตั้งแต่ยุคสงครามกลางเมืองในกัมพูชาแล้ว แต่เราก็มีคนอย่างท่านสิทธิ เศวตศิลา ที่คิดถึงการปั้นเขมร 3 ฝ่ายเข้ามาสู้กับเขมร เฮง สัมริน อีกฝั่งหนึ่ง แล้วดึงจีน ดึงสหรัฐ ดึงสหประชาชาติ เข้ามา empower ให้กับกลุ่มรัฐบาลพวกนี้ที่เป็นรัฐบาลพลัดถิ่น แต่อยู่ตามชายแดนไทย แล้วสู้กับทางเฮง สัมริน อีกที

ตอนหลัง คุณชาติชาย ขึ้นมา ใช้ทีมงานบ้านพิษณุโลก ก็ดันเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าแล้วไป engage กับทางรัฐบาลพนมเปญโดยตรง แต่เขมรแดงก็ยังได้ประโยชน์อยู่ กับการเปลี่ยนแปลง ลีลาทางการทูตแบบนี้ ได้รัฐบาลใหม่ แล้วมีทีมการต่างประเทศที่เก่งแข็งขัน ผมคิดว่ามันจะช่วยได้ในการ apply (นำมาใช้) กับระเบียงตะวันตก ซึ่งจำเป็นอย่างที่คุณกัณวีร์พูดในเรื่องของ Corridor ทางมนุษยธรรมหรืออะไรต่างๆ engage กับฝ่ายการเมืองต่างๆ ในลักษณะไหนให้เราได้เปรียบและประชาชนเขาผาสุขด้วย

 

 

ผมเสนออันเดียวสุดท้ายนะ เป็นเรื่องเบาๆ เรื่องไม่ตึงเครียดเริ่มได้เริ่มเลย เรื่องหนักๆ บางทีเอาไว้ก่อน ก็ใช้กลยุทธ์แบบผ่อนสั้นผ่อนยาว ทีละขั้นทีละตอน เช่น ในพลวัฒน์ชายแดนไทย-พม่า อย่างเช่น แม่สาย ท่าขี้เหล็ก แม่สอด เมียวดี หรือเขตป่าเขาสาละวิน ติดกับรัฐกะเหรี่ยง รัฐกะยา ทำไมเราไม่ทำเขตเศรษฐกิจชายแดนในลักษณะที่มีนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์

เช่น คนพม่าที่หนีเข้ามา หลายคนเป็นชนชั้นกลางหรือเป็นปัญญาชน เขาพูดภาษาอังกฤษได้ดี เขาสอนได้หลายภาษา เขามีองค์ความรู้พอสมควร ทำไมเราไม่ตั้งโรงเรียนพัฒนาสันติภาพในเขตชายแดนจังหวัดตาก ดึงคนพวกนี้เข้ามา จ้างงาน แล้วทำประโยชน์ในการอบรมสันติภาพ ในการเป็นล่ามให้กับสถาบันการศึกษาที่อยากจะทำงานเรื่องพม่า หรือเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เปิดเป็นลักษณะที่มันเป็น Complex (กิจกรรมที่สัมพันธ์กัน) ทางด้านการค้าบริการ เอาผู้ประกอบการหลากหลายทางชาติพันธุ์ หลากหลายระดับ ในตลาดมืดเอามาบนดินบ้าง แล้วเอามาอยู่ circulate (รวมกลุ่ม) อยู่ในเขตเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ตรงนี้ เราก็จะได้รับประโยชน์ตรงนี้

ในขณะเดียวกันเราทำสวนสันติภาพคู่ขนานกันไปด้วย ทำสวนสันติภาพกับเศรษฐกิจชายแดน มันมีโมเดลอย่างนี้ในรัฐกะเหรี่ยง เขามีแรงผลักในการทำสวนสันติภาพเป็นเขตที่ห้ามยิง เป็นเขตห้ามสู้รบ และมีการอบรมสร้างสันติภาพในพื้นที่เหล่านี้ ประชาชนก็มีความสุข หรือจะเพิ่มโปรแกรมการอนุรักษ์พันธุ์ปลา สิ่งแวดล้อมในแม่น้ำสาละวิน รักษาผืนป่าสาละวิน ก็ดึงพวกกะเหรี่ยง ยางขาว ยางแดง KNU KNPP เข้ามาได้ หรือกระทั่งแม่ทัพภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่มะละแหม่งของกองทัพพม่า เข้ามา engage กับกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็ดึงเข้ามาเกี่ยวดองกันได้ สร้างบรรยากาศเป็นมิตรในระดับที่แต่ละฝ่ายไม่ตึงเครียดก่อน แล้วค่อยยกระดับต่อ ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : ที่สาละวินมีอุทยาน Peace Park ซึ่งก็มีการทำงานกันอยู่ในพื้นที่ของ KNU ตรงที่ตรงข้ามแม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน ก็มีตรงนั้นอยู่แล้ว ถ้าต่อยอดอย่างที่อาจารย์บอกก็พอเห็นภาพเป็นสเต็ป เพราะว่าการจะหวังจากรัฐบาลใหม่หรืออาเซียนที่ทุกคนบอกดูยาก มันอาจจะต้องเริ่มอะไรแบบนี้

 

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : ในฐานะนักการเมืองคนเดียวบนเวทีนี้ ถ้ามีโอกาสได้ทำงานในกระทรวงการต่างประเทศหรือเป็นรัฐบาลใหม่ จะทำอะไรเป็นนโยบายแรก เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเมียนมา

 

 

กัณวีร์ สืบแสง : ในเรื่องอาเซียน ตามที่ อ.พินิตพันธุ์ ได้พูดไว้ จริงๆ แล้วค่อนข้างจะช้านะ ผมเองเชื่อมั่นนะ ผมทั้งศึกษา ทั้งทำงานอยู่ในประเทศเมียนมา ทุกช่วงผมก็เห็นว่า อาเซียน สุดท้ายเป็น last resource (วิธีการสุดท้าย) ในการที่จะช่วยเหลือ ผลักดัน ที่จะเข้าไปในการแก้ไขปัญหาในเมียนมา เพราะว่าความพยายามมีหลายครั้ง ตอนนั้นผมไปอยู่ในตรง HCT หรือ Humanitarian Country Team (คณะทำงานด้านมนุษยธรรมประจำประเทศ) ขององค์การสหประชาชาติ ในการดีลกับทางรัฐบาลทหารพม่ามันยากมาก Special Rapporteur (ผู้รายงานพิเศษ) ไม่ว่าจะเป็นใครต่อใครเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการกดดันของเวทีระหว่างประเทศทาง Bilateral (ทวิภาคี) ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามา แต่ไม่มีทาง รัฐบาลทหารพม่าดื้อไหม ดื้อมาก และดื้อที่สุดด้วย

เรื่องอาเซียนที่จะไปขู่เขา เอาเขาออก ผมเชื่อตาม อ.ดุลยภาค ว่า ไม่ล่ะ เขาบอกเขาจะแคร์ทำไม เขาก็ไปหา Balance of Power (ดุลแห่งอำนาจ) ที่อื่น ตรงนั้นเป็นสิ่งที่ผมสัมผัสและสังเกตการณ์ได้ แต่ว่าอาเซียนสามารถที่จะค่อยๆ พยายามในการพูดคุย จะเป็นกรอบในเรื่องของภูมิภาค ที่ไทยสามารถใช้ประโยชน์ได้ ตรงนี้ที่ไทยจะต้องมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในการที่จะทำอย่างไร ทั้งใช้อาเซียน ทั้งใช้ Bilateral ของพวกเรา

อย่างที่ อ.พินิตพันธุ์ กล่าวในเรื่องเกี่ยวกับจีน จีนมีอิทธิพลค่อนข้างจะสูงกับประเทศเมียนมาทางตอนเหนือทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น jade ไม่ว่าจะเป็นหยก เหมืองหยก ทุกสิ่งทุกอย่าง เศรษฐกิจบริเวณภาคเหนือของประเทศเมียนมา จีนทั้งนั้น ไทยใช้ความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน ในการที่จะไปกดดันในเมียนมา แต่ไม่ใช่กดดัน ไปเชื้อเชิญให้เข้ามาพิจารณาในเรื่องของการทำงานทางด้านสิทธิมนุษยชน การทำงานทางด้านมนุษยธรรม ให้กับราษฎรของตัวเอง มันต้องควบคู่กันไป ทั้ง Bilateral ของประเทศไทยที่สามารถจะดึง engage อินเดียด้วยซ้ำไป จีนด้วยซ้ำไป ใช้อาเซียน มันต้องใช้ไปด้วยกัน

แต่ตรงนี้จะไม่ใช่ที่มีคำถามว่าความเร่งด่วน ความเร่งด่วนผมกลับไปที่เดิม ความเร่งด่วนตรงนี้ จะเป็นเรื่องประตูสู่ระเบียงมนุษยธรรม ต้องทำแน่ๆ จำเป็น รัฐบาลไทยไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะรัฐบาลหรือฝ่ายค้านเองก็ตาม ต้องใช้ทุกกลไกในการผลักดันในการเปิดระเบียงมนุษยธรรมให้เกิดขึ้นบริเวณภาคตะวันตกของประเทศไทยที่ติดกับตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเมียนมา จำเป็นต้องทำให้เร็วและเร่งด่วน

อีกเรื่องหนึ่ง นโยบายของพรรคเป็นธรรม ในเรื่องระเบียงเศรษฐกิจ ตามที่ อ.ดุลยภาค ได้พูดไว้ คือระเบียงเศรษฐกิจที่เราพยายามจะผลักดันว่า ชายแดนทั้งหมดของประเทศไทย ติดกับประเทศเมียนมาทั้งหมด จำเป็นต้องมีการเปิดระเบียงเศรษฐกิจ ทำเมืองคู่แฝด Sister City ให้เกิดขึ้น ใช้ Soft Power ตรงนี้เข้ามาพัฒนาปรับปรุง ทางด้านตะวันตกของประเทศไทยก็จะเป็นเรื่องสันติภาพ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการค้าขาย เพราะใช้วิถีทางวัฒนธรรมที่มีความคล้ายคลึงกัน ระเบียงเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ของรอบประเทศก็เปิดอย่างเดียวกัน เรื่องสันติภาพ ผมเห็นด้วยกับการสร้างโรงเรียนสันติภาพที่เกิดขึ้น การใช้การ Cross boarder (การค้าข้ามแดน) ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการใช้ศักยภาพที่ตัวเองมีอยู่ เพราะฉะนั้น 2 อันนี้จะเป็นสิ่งเร่งด่วน Humanitarian Corridor แล้วก็ระเบียงเศรษฐกิจชายแดน

 

คำถามจากผู้เข้าร่วมฟังการอภิปราย

 

 

ท่านแรก : สวัสดีครับ ผมชื่อสุรัช คีรี นักเคลื่อนไหวชาวพม่า ที่ตอนนี้ต่อสู้ประชาธิปไตยในไทย จริงๆ แล้วอยากให้ทุกคนรับรู้ว่า คนพม่าที่เราโดนปฏิวัติ รัฐประหาร ไม่ใช่แค่ มิน อ่อง หล่าย อย่างเดียวนะ ต้องเป็นประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย เราโดน 2 เด้งเลย รัฐประหาร ก็คือพูดถึงในประเทศไทย เรื่อง Passport (หนังสือเดินทาง) สีแดง CI (Certificate of Identity) (หนังสือรับรองสถานะบุคคล) สีเขียว Work Permit (ใบอนุญาตประกอบอาชีพของชาวต่างชาติ) บัตรสีชมพู ก็มีอยู่ 4-5 อัน แต่ละอันต้องเสียเงินเยอะ แล้วมันต้องผ่านนายหน้า ก็คือขบวนการวงจรอุบาทว์ มันต้องผ่านตรงนั้น ในวงจรอุบาทว์นี้มันมีหลายอย่าง มันมีทั้งนายหน้า มีทั้งค้ามนุษย์ มีทั้งล่อลวงให้ไปขายตัว ผู้หญิงที่ไม่มีเงินจะจ่ายค่า Visa (เอกสารรับรองที่ออกให้แก่ผู้เดินทางที่เข้าประเทศ) ค่า Passport ต้องนอนกับนายหน้า และพวกนายหน้า ก็คือขี้ข้าของเผด็จการประยุทธ์ จันทร์โอชา นี่เอง ในประเทศไทย ขี้ข้าของเขาเยอะมาก และตั้งตัวเป็นมาเฟีย และก็ขูดเลือดขูดเนื้อจากประชาชนชาวพม่า ซึ่งผมไปเจอ 2 เคส จริงๆ แล้วมันมีหลายเคส แต่แน่นอน ผมไม่อยากใช้เวลานาน

 

 

เคสแรกก็คือ คนงาน 98 คน โดนไล่ออกโดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย นายจ้างไม่บอกกล่าวล่วงหน้า แล้วทางผมก็ได้ไปร้องที่ทางกรมสวัสดิการ กรมคุ้มครองแรงงาน ใช้เวลาไปแล้ว 2 ปี ไม่มีความคืบหน้าเลย ตอนนี้คดีอยู่ที่ สภ.บางปู ตำรวจเขากำลังเร่งให้อยู่

อีกเคสหนึ่งก็คือ นายหน้าข่มขืนผู้หญิง คดีนี้ผมไปแจ้งที่ สน.ท่าข้าม ไม่มีความคืบหน้า สุดท้ายผมก็ไปแจ้งที่สิทธิมนุษยชน มีความคืบหน้าอยู่ พันเอกเขาโทรมา เดี๋ยวเขาตามให้ แต่ก็เงียบ อย่างที่บอก คือเราโดนรัฐประหาร 2 เด้ง เราไม่มีสิทธิไม่มีเสียงอะไรเลย ความยุติธรรมที่มีต่อคนพม่า ผมว่าแทบจะไม่มีเลย อันนี้ผมรู้สึกได้

ก่อนที่จะมีรัฐบาลใหม่ ก็คือเราเลือกตั้ง ทางผมจะเห็นแสงนิดๆ ว่า พิธา จะเป็นนายก ชีวิตเราจะดีขึ้นหน่อย แต่ที่ไหนได้ ฝันเราก็สลาย เพราะ สว. กลุ่มนี้นี่เอง เสียงของประชาชนคือไม่มีความหมายเลย สว. เขามีความหมายก็เพราะว่าเป็นคนของเผด็จการ และประเทศนี้ก็รู้อยู่แล้วคือประเทศเผด็จการ

ผมขอพูดถึงรัฐบาลใหม่ ซึ่งก็คือเผด็จการโฉมใหม่ ก็อยากให้เขาดูแลเรื่องบัตร คือบัตรขอให้มีแค่ใบเดียว ไม่ต้องมีหลายๆ ใบ และคุณก็ชาร์จไปเลย คือเรื่องบัตรของคนต่างด้าว ถ้าเราจะเก็บดีๆ และก็ปล่อยให้ทำต่อเนื่อง ค่าทำบัตรเรามาใช้หนี้ให้กับประเทศไทยได้เลย คนไทยไม่ต้องไปหาเงินที่ไหน เอาเงินจากต่างด้าวนี่แหละ เงินจากพี่น้องเรานี่แหละ เราสามารถทำได้ แล้วก็ต้องเป็น One Stop Service (การให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ) แล้วสิทธิของเรา เราอยากได้สิทธิของเราคืนมา ซึ่งเป็นสิทธิที่เป็นของเราตั้งแต่แรก

สุดท้ายนี้ ผมขอพูดภาษาพม่า “พม่าไม่ได้เผากรุงศรี พม่าสร้างกรุงเทพฯ เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”

 

 

ท่านที่ 2 : สวัสดีทุกท่านนะคะ คำถามจากที่นักเคลื่อนไหวเมื่อครู่นี้เลย คือเราเองเป็นบุตรต่างด้าวที่เกิดในไทย เราก็ขอสัญชาติอยู่เหมือนกัน ระยะเวลาก็คือดำเนินการนานมาก อยากให้ทางราชการ หน่วยงานราชการให้ความสำคัญทางด้านนี้นิดหนึ่ง เพราะว่าเราเองก็ตกงานมา 2 เดือน เคยไปทำงานที่หน่วยงานหนึ่ง คือของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราทำมาได้เดือนหนึ่ง แล้วก็ถูกไล่ออกมา ทางจุฬาฯ ก็เลยคอยให้การช่วยเหลือ แต่ว่าเราอยู่โดยที่ไม่มีชื่อเราในโครงการ สมัครงานที่ไหนเขาก็ไม่รับ ปัญหาตรงนี้เลย อยากให้ทางการรัฐบาลช่วยเร่งดำเนินการ ให้กฎหมายให้กับต่างด้าวให้มันรวดเร็ว ก็อยากจะฝากบอกไว้กับทางรัฐบาลใหม่ด้วย

 

คำตอบ

อังคณา นีละไพจิตร : คืออยากจะเล่าให้ฟังแล้วกันว่า เมื่อปีที่แล้ว ประเทศไทยได้ให้การรับรองเรื่อง Global Compact for Migration (ข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกฐานถิ่นฐาน) แต่ว่า Global Compact ตัวนี้มันเป็น non legal binding คือไม่ได้มีผลผูกพันทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ทางสหประชาชาติเองก็เห็นความสำคัญ ประเทศไทยก็รับโดยสมัครใจ เช่น เรื่องของการจดทะเบียนการเกิด เรื่องของการจะให้คนต่างด้าว คนข้ามชาติ บุคคลเหล่านี้สามารถซื้อประกัน กรณีที่ประกันสุขภาพ ในกรณีที่มีปัญหาสุขภาพเป็นแบบนี้ ซึ่งคิดว่าต้องไปตามต่อ เพราะว่า ครม. มีมติแล้วให้รับรอง แต่ไม่ต้องกลับมาที่ ครม. อีก โดยให้กระทรวงต่างประเทศตัดสินใจได้เลย ซึ่งอันนี้เป็นอันหนึ่งที่ดิฉันคิดว่ามันจะเป็นช่องทางได้

 

 

ในเรื่องของบัตร ก็ต้องยอมรับว่าในเรื่องนี้หน่วยงานความมั่นคง สมช. เอง หรือกระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญค่อนข้างเข้มงวด เวลาที่เรามี MOU (Memorandum Of Understanding บันทึกความเข้าใจ) กับประเทศ 3 ประเทศในลุ่มน้ำโขง ไทย เมียนมา กัมพูชา ลาว ในการที่จะเข้ามาทำงาน จะต้องมีเอกสารทางทะเบียน กรณีแบบนี้มันทำให้เราเห็นว่า ถ้าเป็นคนเมียนมาพุทธ คือเขามีหนังสือประจำตัว แต่ถ้าเป็นโรฮิงญาจะไม่มี เพราะฉะนั้น โรฮิงญาจะไม่มีเอกสารทางทะเบียน และจัดเป็นมนุษย์ที่อยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมายต่างๆ หมดเลย เวลาที่เราพูดถึงเมียนมา โรฮิงญาจะถูกให้ออกไปเลย

 

 

ดิฉันอยากจะพูดนิดหนึ่งว่า โดยส่วนตัวดิฉันเห็นว่าไทยเป็นมิตรประเทศที่พม่าถือว่าเป็นมิตรมากที่สุด ตอนที่คุณเฮย์เซอร์ ทูตพิเศษของเลขาสหประชาชาติมาไทย คุณประยุทธ์พูดกับเฮย์เซอร์ว่า เมียนมาต้องค่อยๆ แก้ปัญหา ค่อยเป็นค่อยไป มีความซับซ้อน ส่วนตัวจึงมองว่าไทยค่อนข้างที่จะไม่กระตือรือร้นในการที่จะเข้าไปเพื่อที่จะให้คำแนะนำในฐานะมิตรประเทศ ซึ่งดิฉันคิดว่าตรงนี้สำคัญ แล้วเราพูดถึงเรื่องของการ boycott (การคว่ำบาตร) เรื่องของการ sanction (การลงโทษ) ตรงนี้คือรัฐบาลเมียนมาดูเหมือนไม่ค่อยใส่ใจ เพราะว่าคนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ก็คือพลเรือน ผู้คนที่อยู่ในเมียนมาเอง ตอนนี้มีการลงทุนเยอะ ประเทศในเขตลุ่มน้ำโขงหรือมาเลเซีย ก็ได้ผลประโยชน์จากการลงทุนข้ามพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายหรือว่าเขื่อนสารวิน ซึ่งกรรมการสิทธิ์เองได้เคยไปตรวจสอบ เพราะว่ามีคนเมียนมามาร้องเรียน แล้วเราก็พบว่าคนจำนวนมากกลายเป็นคนที่พลัดถิ่นในประเทศของตัวเอง เพราะว่าที่ดินถูกเวนคืน แล้วก็มีผลกระทบในเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย

เรื่องของนักลงทุนในต่างประเทศ ก็มีต่างประเทศที่ไม่ได้ boycott แล้วก็จะพยายามเข้ามาลงทุน แต่ว่าก็จะติดอยู่นิดหนึ่ง คือว่าทางสหประชาชาติ ตอนนี้มี Global Compact ด้าน Business and Human Rights (ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน) คือธุรกิจต้องเคารพสิทธิมนุษยชน แล้วปรากฏว่ามีประเทศที่จะเข้ามาลงทุน แต่ว่าเขาไม่สามารถที่จะทำ Human Rights Due Diligence คือการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนรอบด้านในเมียนมาได้ และเขาก็ยังมีข้อมูลว่า การลงทุนที่ทำไป ส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือซื้ออาวุธ

ซึ่งตรงนี้ก็เลยทำให้แหล่งทุนสำคัญในต่างประเทศชะลอหรือยุติการลงทุนในเมียนมา ซึ่งดิฉันคิดว่าในระยะยาว มันอาจจะซ้ำรอยเดิม เหมือนอย่างที่เมื่อก่อนนี้ รัฐบาลทหารปกครองประเทศมานาน อาจารย์มารค ตามไท เคยทำรายงานเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องสารประชาชน หัวข้อเรื่อง Voice Of The Hungry Nation ภายใต้ระบบ Militarization คือระบบการปกครองแบบทหาร ซึ่งประชาชนอดอยากมาก และฉันคิดว่าตัวเองไม่อยากที่จะให้สถานการณ์กลับไปเป็นแบบนั้น เพราะว่าคนที่จะได้รับผลกระทบจริงๆ ก็คือพลเรือน

 

 

ดิฉันเองก็ยังคิดว่ารัฐบาลไทยควรมีความกล้าหาญในการที่จะปกป้องประชาชน ข้อหนึ่งใน Asean Charter (กฎบัตรอาเซียน) พูดถึง Rights to Peace เพราะฉะนั้น พลเรือน ประชาชนทุกคนจะต้องมีสิทธิ์ในการที่จะมีสันติภาพ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีด้วย ซึ่งดิฉันคิดว่าตรงนี้สำคัญมาก มันมีแนวทางของสหประชาชาติ ที่สหประชาชาติเองก็ขอให้เมียนมาทบทวน คือเรื่องของ Responsibility to Protect คือความรับผิดชอบในการปกป้อง คำว่าการแทรกแซงจะต้องไม่ถูกตีความอย่างกว้าง แต่จะต้องถูกตีความจำกัด โดยเฉพาะการแทรกแซงอธิปไตย ส่วนการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ตัวดิฉันเห็นกาชาดไทยเองก็มีความพยายามอย่างมาก เวลาที่เราไม่สามารถส่งของไปได้ กาชาดไทยจะช่วยประสาน ช่วงโควิดกาชาดจะให้วัคซีน แล้วก็ในเร็วๆ นี้เอง ดิฉันเห็นกาชาดได้ส่งวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกไปให้กับเด็กๆ ที่อยู่ตามชายแดน เพราะว่าในช่วงหน้าฝนอยู่กันลำบากมาก ฝนตก แล้วก็ไข้เลือดออกระบาดด้วย ดิฉันคิดว่ารัฐบาลไทย ในฐานะที่ชายแดนติดกัน ไม่ควรที่จะมืดบอดต่อความทุกข์ยาก แล้วก็ละเลยความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน ด้านมนุษยธรรมซึ่งสามารถทำได้

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : ดิฉันเชื่อว่าอย่างน้อยวันนี้ที่ทุกท่านได้มาพูดคุย เราเองได้เข้าใจกระบวนทัศน์ของปัญหาที่เกิดขึ้นในเพื่อนบ้านของเรา ในพม่า เพราะว่าอย่างที่ทราบ พี่น้องจากเมียนมาไม่ว่าจะชาติพันธุ์ไหนที่มาเป็นแรงงานอยู่ในประเทศไทย เขาคือกำลังสำคัญที่ช่วยสร้างประเทศไทย เช่นเดียวกันพี่น้องที่อยู่บริเวณชายแดน ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องไทยหรือพี่น้องชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบกลายเป็นผู้ลี้ภัย เกือบหมื่นคนที่อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ที่ดูแลโดยรัฐบาลไทยในขณะนี้ สามแสนกว่าคนที่อาจจะพร้อมจะเข้ามาเมื่อไหร่ก็ตาม ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมาพูดคุยทำความเข้าใจถึงเรื่องนี้กัน สิ่งสำคัญในวาระ 78 ปี วันสันติภาพไทย ในวันนี้ อย่างที่ทุกท่านบอก เราเข้าใจคำว่าสันติภาพกันแค่ไหน สันติภาพหมายถึงสันติภาพสำหรับใคร เชื่อว่าวันนี้มันอาจจะก่อเกิดในหัวใจของพวกเราว่า คำว่าสันติภาพที่เราอยากเห็น จะเป็นสันติภาพแบบไหน ในความคาดหวังของพวกเราทุกคน

 

 

รับชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=ED7Hq9kTokY

 

ที่มา : PRIDI Talks #22: 78 ปี วันสันติภาพไทย “บทบาทอาเซียนในการเสริมสร้างสันติภาพในเมียนมา” วันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566 เวลา 10.30 - 12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.