ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

รัฐประหาร 2490 จุดเปลี่ยนการเมืองไทย และการลี้ภัยของปรีดี พนมยงค์

8
พฤศจิกายน
2566

 

ผู้ดำเนินรายการ :

พ.ศ. 2490 มีการรัฐประหารเกิดขึ้น ถ้าจำไม่ผิดวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 อันนั้นก็ส่งส่งผลกระทบกับอาจารย์ปรีดีอย่างมาก และมาอีกครั้งหนึ่งที่สำคัญคือ พ.ศ. 2492 อาจารย์ปรีดีก็ต้องออกจากประเทศเป็นการถาวร ความผกผันของชีวิตของท่านอาจารย์ตรงนี้ มันยังมีเรื่องที่ผมคิดว่ามันค้างคาอยู่ในใจกับเรื่องซึ่งต้องการความกระจ่างแน่ชัดมากขึ้น ทั้ง 2 ท่านจะกรุณาตรงนี้ได้ไหม ว่าในช่วงนี้เกิดอะไรขึ้น

 

ดร.โภคิน พลกุล :

ตรงนี้ต้องเอาคำท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านบอกว่า ท่านปรีดีนั้นเป็นยิ่งกว่ารัฐบุรุษอาวุโส แต่ท่านต้องประสบเคราะห์กรรมก็เพราะเค้าโครงเศรษฐกิจ เดี๋ยวผมจะชี้ให้เห็นว่าท่านประสบเคราะห์กรรม 2 เรื่องก็คือ เรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจที่เราพูดมาแล้วถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งผมคิดว่าใครก็ตามที่เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วเราไม่ได้เป็น แล้วเรามีแต่ทำให้ภาพรวมมันเจ็บปวดแสนสาหัส ท่านยังโดนอีกเรื่องคือ ลอบปลงพระชนม์ นี้ผมมาต่อตรงที่ว่าพอหลังจากเสร็จสิ้นสุดสงครามโลกแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่า หนึ่งบ้านเมืองก็ค่อนข้างจะเสียหาย สองก็คือว่าหลังสงครามทั้งโลกเนี่ยมันอดอยากนะครับ ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบตรงนี้ด้วย เป็นภารกิจของรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วตอนนั้นใครจะเป็นนายกฯ ไม่สำคัญ ท่านปรีดีมีบทบาทมากก็จะต้องแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้อยู่พอสมควรเลย

เรื่องแรกที่ท่านทำก่อนเลยก็คือที่เราพูดกันตอนต้นที่ท่านอาจารย์ดอกเตอร์ปรีชาพูดไปด้วย ก็คือรัฐธรรมนูญปี 2489 ท่านก็บอก 10 ธันวาคม 2475 เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีแต่มันใช้มานานแล้ว และตอนนั้นช่วงสงครามก็ไม่มีการเลือกตั้ง เราก็แก้รัฐธรรมนูญขยายอายุสภาผู้แทนไป พอหลังหลังสงครามก็เลือกตั้ง ทีนี้เลือกตั้งก็ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 2489 ที่ผมเรียนแล้วว่าเป็นฉบับที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งของไทย แต่อาจจะยังไม่สมบูรณ์เพียบพร้อมเท่ากับที่เราเห็นในปัจจุบัน เพราะว่าเราพัฒนามากขึ้น แนวนโยบายแห่งรัฐอะไรต่างๆ หรือว่าเรื่องวุฒิสภา เรื่องอะไรต่างๆ เราจะเริ่มค่อยๆ เห็นปรากฏขึ้นมาแล้วว่าทำอย่างไรที่จะให้มันมีทิศทางที่ชัดเจน อันนี้ก็ผลักดันโดยท่านอาจารย์ปรีดี ปรากฏอยู่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับปี 89

แต่อย่างไรก็ตามจุดอีกจุดหนึ่งที่สำคัญที่ควรจะกล่าวถึงก็คือ กฎหมายอาชญากรสงคราม ตอนนั้นฝ่ายสัมพันธมิตรก็ต้องการเอา พูดง่ายๆ ว่าผู้นำไทยเวลานั้นที่ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ไปดำเนินคดีฐานเป็นอาชญากรสงคราม ส่วนมากเขาส่งไปที่เมืองนูเรมเบิร์กประเทศเยอรมัน ซึ่งหลายคนก็โดน ส่วนมากญี่ปุ่น เยอรมันก็โดนที่นั่น เพราะประเทศหลายประเทศไม่มีกฎหมายว่าด้วยอาชญากรสงคราม ประเทศไทยก็ยอดเยี่ยมมาก รีบออกกฎหมายนี้ออกมา ซึ่งในที่สุดเป็นเคราะห์กรรมของท่านจริงๆ ผมก็ไม่อยากจะพูดเลย ใช้คำท่านพุทธทาสภิกขุก็แล้วกัน ที่ผมเรียนว่าเคราะห์กรรม พอออกกฏหมายอาชญากรสงครามมา บอกว่าการกระทำต่อไปนี้ถือว่าเป็นอาชญากรสงคราม แต่ก็บอกว่าไม่ว่ากระทำก่อนหรือหลัง

ตรงนี้เองในที่สุดก็พูดกับท่านในสภาว่า ตรงที่การกระทำที่เกิดขึ้นก่อนนั่นอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักกฎหมาย ขัดต่อหลักกฎหมายอาญา นั่นก็คือ หมายความว่า ขณะที่มีการกระทำการของรัฐบาลขณะนั้นที่ถือเป็นอาชญากรสงคราม คือประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรและร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่น มันไม่มีกฏหมายบอกว่าการกระทำนี้เป็นอาชญากรสงคราม แต่เรามาออกกฎหมายทีหลังแล้วบอกว่า การกระทำที่เกิดก่อนกฎหมายให้ถือว่าเป็นอาชญากรสงคราม ตรงนี้เราเรียนกฎหมายมาเราก็เข้าใจตรงกันว่ากฎหมายถ้าจะย้อนหลังมันเป็นคุณได้ ย้อนหลังในทางแพ่งอะไรต่างๆ ได้ แต่ทางอาญาเขาถือเป็นหลักทั่วไปมันย้อนหลังไม่ได้

เพราะว่าคนที่กระทำในวันนั้นเขาไม่รู้ว่ามีกฎหมายบัญญัติ ว่าการกระทำอย่างนั้นผิดและมีโทษกำหนดไว้ ในที่สุดก็มีการนำตัวจอมพล ป. และพวกขึ้นศาลฎีกา ซึ่งถือเป็นศาลอาชญากรสงคราม ศาลฎีกาก็วินิจฉัยไปตามตัวบทกฎหมาย แต่ในส่วนที่ย้อนหลังไปลงโทษนี้ ถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยสรุปประมาณนี้ ก็ปล่อยจอมพล ป. และพรรคพวก

จากนั้นพอปี 2490 รัฐธรรมนูญ 89 ยังเรียกว่า ยังไม่ทันได้เลือกวุฒิสมาชิกกันเลย ผมจะใช้คำนี้ก็แล้วกัน สมัยนั้นเขาเรียกสมาชิกพฤฒสภา ก็เกิดการยึดอำนาจโดยนำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจครั้งนั้นก็เป็นเหตุให้อาจารย์ปรีดีต้องออกนอกประเทศไปสิงคโปร์ ความจริงแล้วผมไม่ทราบเดี๋ยวในรอบ 3 เราจะพูดถึงคดีลอบปลงพระชนม์ไหม ก็เพราะว่าเหตุการณ์ก่อนปี 90 มันก็มีที่มาจากการที่ในหลวงอนันฯ ท่านทรงสิ้นไป ก็มีเหตุการณ์นั้นก่อน และก็เริ่มมีกระบวนการการพยายามใส่ร้ายป้ายสีอาจารย์ปรีดีแล้ว แต่ก็ไม่มีอะไรไปทำท่านได้ เพราะไม่มีไม่มีข้อกล่าวหาจากทางการ ไม่มีคำพิพากษา ไม่มีอะไร เป็นเพียงการโจมตีใส่ร้ายป้ายสีเท่านั้นเอง

ที่ท่านต้องออกนอกประเทศชัดเจนก็คือ เป็นเพราะว่าการรัฐประหาร 2490 จากนั้น ท่านก็ไปสิงคโปร์ ท่านพยายามกลับเข้ามาอีกครั้งในปี 2492 ก็พยายามจะรวบรวมสมัครพรรคพวก ยึดอำนาจกลับจากพวกที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย ยึดอำนาจก็เพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ เพราะท่านเพิ่งให้ร่างรัฐธรรมนูญปี 89 เสร็จ พวกนี้ก็มาทำลายไปเสียแล้ว แต่ก็ปรากฏว่าท่านพ่ายแพ้ ก็เข้าใจว่าอยู่ในประเทศไทยประมาณเกือบ 6 เดือนจากนั้นก็ออกนอกประเทศ พออกนอกประเทศคราวนี้ในปี 92 ก็ไปสิงคโปร์ไปจีน ที่ท่านอาจารย์ปรีชาพูดไปแล้ว ไปตอนนั้นยังเป็นจีนของเจียงไคเชก อยู่ในจีน 21 ปี เจียงไคเชกซึ่งก็พูดง่ายๆ ว่าท่านก็ได้รับการต้อนรับจากเจียงไคเชกแน่นอน เพราะว่ารบกับฝ่ายญี่ปุ่นด้วยกัน เพราะฉะนั้นญี่ปุ่นก็ไปปกครองย่ำยีจีนอย่างไม่แพ้ฝรั่งย่ำยีสมัยเขตเช่าต่างๆ โหดร้ายพอๆ กัน เราจะเห็นว่าแม้แต่เกาหลียังขอให้ขอโทษให้ญี่ปุ่นเขียนประวัติศาสตร์ใหม่เลย ที่ทะเลาะกันเรื่องนี้นั่นก็คือประวัติศาสตร์

จากนั้นพอจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ท่านก็อยู่ต่อมา รวมทั้งหมดอยู่ในจีน 21 ปี และไปฝรั่งเศส อยู่ฝรั่งเศสอีก 13 ปี จึงได้ ถ้าภาษาราชการก็คือถึงแก่อสัญกรรม ก็คือสิ้นรวมทั้งหมดรวมแล้วท่านอยู่ต่างประเทศตั้งแต่ปี 92 ทั้งหมด 34 ปี ไม่เคยได้มีโอกาสกลับมาเหยียบแผ่นดินไทยอีกเลย

 

ดร.ปรีชา สุวรรณทัต

ผมเสริมท่านอาจารย์โภคินนิดหนึ่งว่า เพราะท่านอาจารย์โภคินพูดถึงเรื่องกฎหมายอาชญากรสงคราม ผมไม่ยืนยัน หลายคนบอกว่าเป็นมันสมองท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่ออกกฎหมายอาชญากรสงครามเพื่อช่วยเหลือท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่จะเอามาขึ้นศาลไทย ถ้าไม่ออกกฎหมายอย่างนี้อาจจะต้องถูกจับตัวไปขึ้นศาลอาชญากรสงครามระหว่างประเทศ เขาจะเอาตัวไป นี้เป็นความคิดของท่านอาจารย์ปรีดี

เมื่อออกกฎหมายมาอย่างนี้ โดยเทคนิคในทางกฏหมายอย่างที่อาจารย์โภคินพูดแล้ว ไม่สามารถที่จะออกกฎหมายย้อนหลังที่จะมาลงโทษจอมพล ป.พิบูลสงคราม ศาลฎีกาก็ตัดสินว่ากฎหมายฉบับนี้ในส่วนนั้นตกเป็นโมฆะ ตกเป็นโมฆะอีกเหมือนกัน อาจารย์ปรีดีช่วยท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่ช่วยโดยใช้ปัญญาในทางกฎหมาย ใช้เทคนิคในทางกฎหมาย ท่านจอมพล ป. ก็เลยหลุดพ้นจากที่จะตกเป็นอาชญากรสงคราม นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นท่านโตโจถูกประหารชีวิต แต่ท่านจอมพล ป. ไม่ถูกประหารชีวิต อันนี้คือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอาชญากรสงคราม ถ้าเป็นความจริง ช่วยเหลือทั้งที่เคยเป็นศัตรูกันมา

 

ดร.โภคิน พลกุล :

อาจารย์ปรีดีช่วยเหลือทั้งมิตรแล้วก็เป็นผู้ที่ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาด้วยกัน แล้วท้ายที่สุดท่านก็ถูกทำลายอย่างย่อยยับ จนกระทั่งไม่มีแม้แต่แผ่นดินที่ท่านเกิดที่ท่านทำคุณูปการให้ก็ไม่มีโอกาสกลับมาอีกเลย

 

ที่มา : เนื้อหาบางส่วนจากรายการหนี้แผ่นดิน เรื่อง “ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส กับประชาธิปไตยไทย” เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2543.