ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

วิทยาศาสตร์กับความต้องการของประเทศ

12
พฤศจิกายน
2566

Focus

  • ชาวไทยจำนวนมากไม่เข้าใจว่าวิทยาศาสตร์มีความสำคัญอย่างไร และมักจะเห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ มิใช่เรื่องของตนผู้ที่อยู่นอกวงวิทยาศาสตร์ ทั้งๆที่วิทยาศาสตร์ทำให้ประชาชาติเจริญ การลงทุนค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์จะเป็นสิ่งที่ให้กำเนิดแก่การอุตสาหกรรมที่อาศัยผลจากกสิกรรม และผลจากการอุตสาหกรรมทำให้ลดการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ
  • วิทยาศาสตร์ช่วยเหลือกิจการของประชาชาติได้หลายด้าน อาทิ การจัดเก็บภาษี การตรวจวิเคราะห์มูลฝิ่นและสุรา การทำมอร์ฟีนจากฝิ่น การผลิตสตางค์ การผลิตน้ำประปา การวิเคราะห์ดิน เป็นต้น
  • ประเทศไทยใหม่ ภายใต้การปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ จึงต้องการการบำรุงทางวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นรากฐานแห่งความมั่นคงถาวรของประเทศชาติ ทั้งในทางกสิกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และกำลังในการป้องกันพระราชอาณาจักร

 

เมื่อพูดถึง “วิทยาศาสตร์” พวกเราชาวไทยอีกเป็นจำนวนมากไม่เข้าใจเลยว่ามันมีความสำคัญอย่างใด และก็ไม่น่าที่จะไปสนใจไยดีด้วยว่าจะสำคัญหรือไม่ แม้บางคนจะทราบว่าวิทยาศาสตร์มีความดีอยู่บ้าง เช่นทำให้มีวิทยุฟัง มีหนังดู ฯลฯ แต่วิทยาศาสตร์ก็ส่วนวิทยาศาสตร์ ใครมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ก็ทำไป สำหรับผู้ที่อยู่นอกวงวิทยาศาสตร์จะเอาใจใส่สอดรู้ไปเพื่อประโยชน์อันใด เพราะต่างก็คิดว่าตนไม่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ การที่เป็นเช่นนี้ คงเนื่องด้วยเราไม่ได้คิดคำนึงให้ละเอียดถี่ถ้วนนั่นเอง

แต่ไหนแต่ไรมา ไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศกสิกรรม ประชาชาติของเราเจริญรุ่งเรืองมาได้เช่นนี้ก็ด้วยการกสิกรรม เราพากันกล่าวจนติดปากว่ากสิกรรมเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ และกสิกรเป็นผู้ทำหน้าที่เลี้ยงประเทศมาทั้งในยามสงบและยามสงคราม

ถ้าท่านยอมลงมติเห็นด้วยว่า กสิกรรมมีความสำคัญแก่ประเทศ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาชนคนไทยดั่งนี้ ท่านก็ย่อมจะเข้าใจว่าวิทยาศาสตร์มีความสำคัญ และเกี่ยวข้องแก่ท่านแต่ละคนด้วย เพราะกสิกรรมนั้น ก็คือวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่ง.

คงจะมีผู้ค้านว่ากสิกรรมไม่เห็นจะมีส่วนเป็นวิทยาศาสตร์ที่ไหน ตามา ตามี ยายสี ยายสา แกหาได้เคยเข้าโรงเรียนและเรียนวิทยาศาสตร์ไม่ แต่แกก็สามารถทำนาทำไร่และทำสวนของแกเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานมาได้จนโตใหญ่และในสมัยปู่ย่าตายายของแกก็ไม่เคยมีใครพูดกันถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ เหตุไฉนจึงจะมาอ้างอิงเอาว่ากสิกรรมเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาศาสตร์

ทั้งนี้จะอธิบายให้เห็นเป็นสังเขป เช่นชาวนาเคยทำนาปลูกข้าวมาหลายปี ทีแรกข้าวก็งามรวงดก ได้ข้าวเป็นอันมาก แต่ต่อๆ มาผลที่ได้กลับตกลงอย่างน่าใจหาย ทั้งๆ ที่ดินฟ้าอากาศก็ไม่เปลี่ยนแปลง ดังนี้ แกจะโทษโน่นโทษนี่ โดยหารู้ไม่ว่าที่นาของแกนั้นหมดอาหาร ดินจืด ควรจะเอาอะไรไปบำรุงจึงจะดีเหมือนเก่า หรือมีธาตุอะไรในดินขาดไป ควรแก้ไขอย่างไร ถ้ายังขืนทำนาต่อไปโดยไม่หาทางแก้ไขก็คงจะถึงคราวที่ได้ผลไม่พอกินเป็นแน่ วิทยาศาสตร์จะเข้าช่วยแกได้ในเรื่องเช่นนี้ เป็นต้นโดยการสำรวจดิน และตรวจว่าเป็นอย่างไร ควรเอาอะไรใส่ หรือจะทำอย่างไร พืชของแกจึงจะสมบูรณ์ดีเหมือนเก่า

ไม่แต่ในเมืองไทยเท่านั้น แม้ที่เมืองนอกเราก็จะได้เห็นตัวอย่างคล้ายๆ กัน เช่นชาวไร่อ้อยในรัฐหนึ่งของอเมริกา เคยทำอ้อยได้ปีหนึ่งตั้งหลายๆ ล้านหาบ แต่ต่อมาจำนวนอ้อยที่ปลูกได้ลดน้อยลงเป็นอันมาก ได้เพียงไม่กี่แสนหาบเท่านั้นเขาพบว่าอ้อยเกิดเป็นโรค และเป็นโรคที่ติดต่อกันได้โดยมีแมลงตัวเล็กๆ เป็นพาหะ ชาวไร่เหล่านั้นต่างจนปัญญาต้องหันเข้าหารัฐบาลๆ ก็โยนเรื่องไปให้นักวิทยาศาสตร์เป็นผู้แก้ไข ในที่สุดก็พบวิธี คือใช้อ้อยพันธุ์ที่ทนโรคได้มาปลูก แต่กว่าจะได้ก็ต้องผสมแล้วผสมอีก เมื่อมีอ้อยพันธุ์ดีทนโรคได้และให้น้ำอ้อยมาก การทำไร่อ้อยก็เจริญอย่างเก่าหรือยิ่งกว่าเสียอีก นี่คือผลของวิทยาศาสตร์ !

สมัยนี้คำว่าวิทยาศาสตร์ได้แพร่หลายจนมีผู้รู้จักมากขึ้น แต่ก็รู้เฉพาะคำวิทยาศาสตร์เท่านั้น หาได้รู้ละเอียดถึงว่าวิทยาศาสตร์คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และเกี่ยวข้องกับตนเองอย่างไรไม่

อันคำว่าวิทยาศาสตร์นั้น ถ้าจะแปลออกก็ได้ความว่า “วิชาที่มีกฎมีเกณฑ์” วิชาใดที่มีกฎมีเกณฑ์เป็นหลักฐาน วิชานั้นย่อมเป็นวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น เราแบ่งวิทยาศาสตร์ออกเป็นส่วนใหญ่สองส่วนดั่งนี้ คือ วิทยาศาสตร์แท้ (Pure Science) ซึ่งหมายความถึงหลักวิชาโดยตรง มีฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา กับวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) ได้แก่กสิกรรม วิศวกรรม อุตสาหกรรม เภสัชกรรม แพทยศาสตร์ เป็นต้น หมายความว่า เป็นวิชาอันเกิดจากหลักวิชาอีกต่อหนึ่ง

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราย่อมจะพึงเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีความต้องการและจำเป็นที่จะต้องรีบบำรุงการวิทยาศาสตร์เพียงใด ผู้มองเห็นการณ์ไกลจะไม่รอช้าในอันที่จะส่งเสริมวิทยาศาสตร์ให้ก้าวหน้า เพราะวิทยาศาสตร์นี่แล้ว คือยานอันจะนำประชาชาติไทยให้วิ่งไปในอารยวิถี

ประชาชาติทั้งหลายที่จะมีอิทธิพลเป็นที่เกรงขามแก่ประชาชาติอื่น ต้องเป็นประชาชาติที่เจริญในทางวิทยาศาสตร์ ในเวลาปกติ เรามักจะไม่ทราบว่าวิทยาศาสตร์สำคัญเพียงใด และก้าวหน้าไปเพียงใด เพราะนักวิทยาศาสตร์ต่างพากันหลบหน้าอยู่ตามห้องทดลองของตน ค้นคว้าสิ่งที่ตนนึกว่าจะเป็นผลแก่ความก้าวหน้าของโลก แต่แท้ที่จริง ตลอดเวลาเหล่านี้เขาได้สร้างความสำเร็จให้แก่สิ่งต่างๆ อย่างใหญ่หลวง บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายล้วนแต่เกิดมาจากผลของการทดลองในหลอดแก้วเล็กๆ หรือเครื่องมือเล็กๆ ก่อนทั้งนั้น.

ประชาชาติที่เจริญแล้วทุกแห่งได้ลงทุนในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมากๆ เพราะดั่งได้กล่าวแล้วว่าการค้นคว้าต่างๆ นั้น คือสิ่งที่ให้กำเนิดแก่การอุตสาหกรรม การค้นคว้านั้นไม่จำเป็นที่จะต้องประสบผลที่ต้องการเสมอไป บางทีต้องการสิ่งหนึ่ง แต่กลับไปได้อีกสิ่งหนึ่ง หรือบางทีก็ไม่ได้เลย แต่ในทางวิทยาศาสตร์เราถือว่า ผลที่ได้หรือไม่ได้นั้น ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการก้าวหน้าเสมอ ยิ่งไปกว่านั้นบางที่สิ่งที่ผิดนั่นเองกลับเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่เสียอีก

ถ้างานอุตสาหกรรมของประเทศเจริญ ผลของการกสิกรรมย่อมจะเป็นสัมภาระดิบสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดีและผลอันเกิดจากการอุตสหากรรมนั้น จะทำให้เราลดการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้ไม่น้อย เดี๋ยวนี้เกือบจะไม่ว่าอะไรเราต้องใช้ของจากต่างประเทศทั้งนั้น ทำให้เงินรั่วไหลออกจากประเทศปีละมากๆ ถ้าหากเรามีการอุตสาหกรรมเจริญขึ้นการเงินของประเทศก็ย่อมจะเขยิบเข้าสู่ฐานะมั่นคงยิ่งขึ้น และด้วยเหตุผลเช่นนี้ เราจะสามารถลงทุนในการสร้างรั้วป้องกันอิสรภาพของเราให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นได้

บรรดาสิ่งที่เราเห็นกันว่าเป็นความเจริญในทุกวันนี้ ถ้าพิจารณาลงไปให้ถี่ถ้วนจะได้พบว่ามิใช่อะไรอื่น นอกจากผลของวิทยาศาสตร์โดยแท้ ถ้าหากประเทศไม่อยู่ในภาวะที่มีสันติสุข กล่าวคืออยู่ในเวลาสงครามแล้ว เรายิ่งจะได้เห็นประโยชน์ของวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพราะวิทยาศาสตร์มิใช่จะเป็นเพียงปราการป้องกันประชาชาติให้พ้นจากการรุกรานของศัตรูเท่านั้นแต่ยังเป็นเครื่องมือที่จะนำประชาชาติไปสู่ความมีชัยชนะอีกด้วย บรรดาทหาร ตลอดจนรัฐบุรุษทุกท่าน ย่อมมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า สงครามอนาคตจะเป็นสงครามวิทยาศาสตร์ ในมหายุทธสงครามครั้ง ค.ศ.1914 เราได้เห็นดินระเบิดใหม่ แก๊สพิษใหม่ แก๊สไฟใหม่ รถถังและปืนแบบใหม่ อากาศยานแบบใหม่ และอะไรๆ อีกเป็นอันมาก ขอให้คิดว่า ตลอดเวลา 20 กว่าปีมานี้ นักวิทยาศาสตร์จะได้คิดค้นอะไรเพิ่มเติมขึ้นอีก ถ้าสงครามเกิดขึ้นอีกเมื่อใด เราก็คงจะได้ประสบเครื่องประหัตประหารและเครื่องป้องกันใหม่ๆ อีกอเนกอนันต์

ท่านผู้หนึ่งได้เขียนไว้ในหนังสือพิมพ์ทหารบกเมื่อไม่นานมานี้ว่า “เครื่องป้องกันอันตรายสมัยใหม่ทั้งหลายอุบัติขึ้นได้เพราะความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์แท้ๆ ทหารทุกวันนี้ความสามารถในตัวเขาลดน้อยกว่า เป็นประโยชน์แก่ตนเองน้อยกว่าในสมัยหินเป็นอันมาก กำลังทั้งปวงทั้งหลายขึ้นอยู่กับบ่อถ่านหิน, เหมืองเหล็ก, เครื่องกล, โรงงานอุตสาหกรรม, โรงวิทยาศาสตร์, นักประดิษฐ์, นายวิศวกรรม, นักคำนวณ และอื่นๆ ซึ่งอยู่เบื้องหลังเขาโดยตลอด.”

ถ้าเราจะไม่พูดถึงเรื่องอื่นๆ แต่มาคิดถึงเหตุการณ์ภายในประเทศของเราเอง เวลานี้การวิทยาศาสตร์ของเราเพิ่งเริ่มจะก่อตัวขึ้น และขอให้พิจารณาว่าได้มีส่วนช่วยเหลือกิจการของประชาชาติอย่างไรบ้าง

ในการเก็บภาษีต่างๆ ตามพระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากรฉบับใหม่ที่ประกาศใช้เมื่อปลายปีที่แล้วนั้น จะเห็นว่าสินค้าถูกเก็บภาษีตามประเภทโดยอัตราต่างๆ กัน สำหรับสินค้าบางอย่าง จะรู้ว่าอยู่ในประเภทใดนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้วิทยาศาสตร์ช่วย มิฉะนั้นจะแยกประเภทและเก็บภาษีไม่ได้โดยเด็ดขาด ถ้าหากวิทยาศาสตร์ไม่ช่วยในการนี้แล้ว ภาษีศุลกากรของเราก็จะขาดไปมากทีเดียว

ทางการของกรมสรรพสามิตก็ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ไม่น้อย เช่น ในการตรวจวิเคราะห์มูลฝิ่นและสุรา ตลอดจนการทำมอร์ฟีนออกจากมูลฝิ่น เป็นต้น

สตางค์ที่โรงกษาปณ์ของเราทำอยู่เวลานี้ ถ้าทางวิทยาศาสตร์ไม่ช่วยควบคุมอยู่ด้วยแล้ว ส่วนผสมของโลหะจะไม่มีมาตรฐานอันแน่นอนคงที่เลย

น้ำประปาที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ต้องทำตามแบบวิทยาศาสตร์มาตลอด และยิ่งกว่านั้นกรมวิทยาศาสตร์ยังได้ทำการควบคุมด้วยการวิเคราะห์อยู่เสมออีกด้วย แม่น้ำในต่างจังหวัด ก็ส่งมาให้กรมวิทยาศาสตร์ตรวจเช่นเดียวกัน

ดินที่จะทำการปลูกพืชผลต่างๆ นั้น กรมวิทยาศาสตร์ก็มีส่วนร่วมมือในการสำรวจ และมีหน้าที่ทำการวิเคราะห์ว่าเป็นอย่างไร มีอะไรเท่าใด และเหมาะสมแก่การปลูกพืชชนิดใดด้วย

ในการพิจารณาอรรถคดี บางรายจะต้องอาศัยหลักฐานการยืนยันจากทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้นว่าการตรวจรอยโลหิต รอยน้ำอสุจิ อาวุธ มีด ไม้ ปั่น เอกสาร ยาพิษ ฯลฯ ถ้าหากวิทยาศาสตร์ไม่มีส่วนช่วยเหลือในเรื่องพิสูจน์หลักฐาน การปรากฏ ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์ ได้ปฏิบัติงานร่วมมือกับศาลและทางการของตำรวจเสมอมา

ในเรื่องอาหาร ควรนับว่าวิทยาศาสตร์มีส่วนช่วยเป็นอันมากเพราะการจะรู้ว่าอาหารมีคุณค่าดีเพียงไรนั้น เราจะรู้โดยทางอื่นไม่ได้ นอกจากจะใช้ทางวิทยาศาสตร์ อาหารเป็นสิ่งสำคัญของประชาชนพลเมือง อาหารจะบำรุงพลเมืองของประชาชาติให้แข็งแรงแกร่งกล้า ทหารที่จะออกสนามรบจะต้องเป็นทหารที่มีกำลังสมบูรณ์ มีอาหารที่ถูกอนามัย ถึงกำลังใจของทหารจะมั่นคงเพียงไร อาวุธยุทธภัณฑ์จะสมสมัยเพียงไร ถ้าเสบียงอาหารไม่ดี ก็จะมีแต่ทางแพ้ เพราะฉะนั้นวิทยาศาสตร์ในเรื่องอาหารจึงสำคัญมาก วิทยาศาสตร์จะบอกว่าความต้องการของร่างกายควรใช้อาหารอย่างใด เท่าใด ไม่ให้มากไปหรือน้อยไป และอาหารใดควรหรือไม่ควรแก่การรับประทานเพียงใด

ต่อจากอาหารก็ถึงยา ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อย ยาเป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์เกือบเท่าอาหาร และในบางโอกาสเราจะแยกอาหารกับยาออกจากกันไม่ได้ วิทยาศาสตร์กับการประดิษฐ์และทำยานั้นเป็นสาขาหนึ่ง เรียกว่าเภสัชกรรม เวลานี้งานในส่วนนี้ของเรายังล้าสมัยอยู่มาก เรายังไม่มีการค้นคว้าหาสรรพคุณของสมุนไพรต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศเรามากพอ เรายังไม่สามารถทำยาใช้เองได้เพียงพอ ในระหว่างเวลาปกติเราอาจหาซื้อได้จากต่างประเทศก็จริงอยู่ แต่ถ้าเป็นเวลาฉุกเฉิน เช่นเกิดสงครามขึ้น เราอาจถูกตัดสินค้าต่างประเทศ ยาก็ไม่มีจะใช้รักษาทหารและราษฎรที่ป่วยเจ็บ เพราะฉะนั้นวิทยาศาสตร์สาขานี้จึงควรได้รับการบำรุง รัฐบาลก็ได้มองเห็นความจริงเช่นนี้จึงสนับสนุน ต่อไปกรมวิทยาศาสตร์จะได้ขยายให้มีกิจการในแผนกนี้เป็นส่วนหนึ่งด้วย

เมื่อได้ชี้แจงมาดั่งนี้แล้ว ท่านจะเห็นว่าประเทศไทยต้องบำรุงวิทยาศาสตร์ให้ยิ่งกว่าที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะในเวลานี้เมื่อเปรียบกับประเทศอื่น เรายังอยู่ล้าหลังเขามาก เงินทุกๆ สตางค์ที่ไทยจะลงทุนไปในการบำรุงวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ทุนที่จะศูนย์ไปเปล่าทุกๆ สตางค์ที่ลงไปนั้นจะได้ผลเป็นกำไรกลับคืนเสมอโดยประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

เราไม่ควรจะลืมตัวว่า เดี๋ยวนี้แม้เราจะไม่บำรุงวิทยาศาสตร์ให้เข้มแข็ง เราก็ไม่เดือดร้อนอย่างใด แต่ถ้าหากภายหลังเกิดความจำเป็นขึ้นเฉพาะหน้า ก็จะมาเสียใจที่ไม่ได้ตระเตรียมไว้ก่อน ทุกคนซึมซาบในความหมายของสุภาษิต “วัวหายล้อมคอก” ดีอยู่แล้ว ก็เหตุใดจะรอให้วัวหายเสียก่อนแล้ว จึงจะล้อมคอกอีกเล่า ?

ประเทศไทยใหม่ ภายใต้การปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ เป็นไทยที่ต้องการความบำรุงในทางวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์ คือรากฐานแห่งความมั่นคงถาวรของประเทศชาติทั้งในทางกสิกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และกำลังการ ป้องกันพระราชอาณาจักร !

หมายเหตุ : ปรับอักขรวิธีสะกดจากเอกสารชั้นต้นเป็นคำสะกดแบบปัจจุบัน

 

ที่มา : ตั้ว ลพานุกรม. วิทยาศาสตร์กับความต้องการของประเทศ. (เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ.2479). ใน ที่ระลึกในงานรัฐพิธีพระราชทานเพลิงศพ พณฯ ดร. ตั้ว ลพานุกรม ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2484. [ม.ป.ท.]: บริษัท การพิมพ์ไทย จำกัด; 2484. หน้า. 57-67.