ท่านผู้รักชาติรักประชาธิปไตย ท่านผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทายาทคณะราษฎร ท่านสื่อมวลชน ที่จะได้กรุณานำสิ่งที่สัมมนาในวันนี้ เผยแพร่ออกไปเพื่อให้สังคมไทยเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์
ท่านทั้งหลายครับ เนื่องจากประเทศไทยของเรานั้น มีการรัฐประหารติดอันดับต้น ๆ ของโลก และไม่มีหลักประกันใด ๆ ในอนาคตว่าจะไม่มีรัฐประหารอีก สังคมไทยมีความเคยชินกับการรัฐประหาร จึงทำให้คนจำนวนไม่น้อยยอมรับ “รัฐประหาร” ในฐานะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมือง ซึ่งในหลายกรณีวิกฤตการณ์ทางการเมืองทั้งหลายก็เป็นการสร้างสถานการณ์ สร้างเงื่อนไขโดยคณะรัฐประหาร ซึ่งตอนนี้ถ้าท่านสังเกตให้ดี เริ่มมีความเคลื่อนไหวกันแล้ว ที่จะสร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร
รัฐประหารจึงมีสภาพเป็น “สถาบันการเมือง” อย่างหนึ่งในสังคมไทย เป็น วัฒนธรรมอย่างหนึ่งของการเมืองไทย ผมคาดการณ์ว่า รัฐประหารในอนาคตของสังคมไทยจะมีนวัตกรรมใหม่ ไม่เอารถถัง หรือเอากองทัพมายึดอำนาจจากรัฐ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่จะใช้ “กฎหมาย” ใช้ “รัฐธรรมนูญ” ที่คณะรัฐประหารร่างขึ้น ยึดอำนาจโดยการใช้วิธี “นิติรัฐประหาร” ซึ่งจะเป็นหัวข้อในการเสวนาทางวิชาการในวันนี้ หากใช้วิธีเดิมรัฐประหารโดยใช้กองทัพหรือรถถังเหมือน 13 ครั้ง ในประเทศไทยหลังการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เป็นมันสมองนั้น
การรัฐประหารในอนาคตอาจทำไม่สำเร็จอาจมีแรงต่อต้านมาก หากสำเร็จก็จะเกิดการนองเลือดและเผชิญหน้ากันรุนแรง แย่ที่สุดจะนำไปสู่สงครามกลางเมืองเหมือนประเทศเมียนมาได้ “การทำนิติรัฐประหาร” ก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้ทันที ต้องสร้างเงื่อนไขให้สุกงอมก่อน โดยเฉพาะหากรัฐบาลจากการเลือกตั้ง มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน มีความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายสร้างความเสียหายให้ประเทศ หากรัฐบาลไม่มีปัญหานี้ การทำนิติรัฐประหารจะไม่มีความชอบธรรม และไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม แต่หากรัฐบาลสร้างเงื่อนไขเสียเองก็จะทำให้ “นิติรัฐประหาร” มีความชอบธรรมขึ้นทันที และอาจเป็นการยึดอำนาจที่ดูดีกว่า การยึดอำนาจโดยกองทัพโดยเปรียบเทียบ
อย่างไรก็ตาม ความจริง “นิติรัฐประหาร” ก็เป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยอยู่ดี นิติรัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของนิติสงครามในประเทศไทย เครือข่ายของฝ่ายอำนาจนิยมปรปักษ์ประชาธิปไตยก็รอจังหวะในการทำรัฐประหารอยู่ องค์กรภาคประชาสังคม สื่อมวลชวน พรรคการเมือง ประชาชน จึงไม่ควรตกเป็นเหยื่อของขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้
สภาวะแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศที่กติกาสูงสุดไม่ได้ยึดหลักการประชาธิปไตย ไม่ได้เป็นไปหลักนิติรัฐอย่างแท้จริง แม้ประเทศที่มีสามารถสถาปนาสถาบันประชาธิปไตยให้เข้มแข็งอย่างเกาหลีใต้ ก็ยังเกิดผู้นำที่ลุแก่อำนาจประกาศกฎอัยการศึกอย่างไม่ชอบธรรม (เสมือนการทำรัฐประหารอำนาจของประชาชน) โชคดีที่การผนึกกำลังกันของพรรคการเมืองและองค์กรประชาธิปไตยสามารถสกัดกั้นการฟื้นคืนชีพของอำนาจนิยมในเกาหลีใต้ ความสำเร็จนี้น่าจะส่งพลังมายังขบวนการประชาธิปไตยในอาเซียนด้วย การเร่งรัดการสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน และการทำให้ค่านิยมประชาธิปไตย หยั่งรากลึกในสังคมไทย เป็นสิ่งที่จะป้องกัน การรัฐประหารทุกรูปแบบโดยเฉพาะ “นิติรัฐประหาร”
รัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากประชาชนจะมีส่วนลดบทบาท “รัฐพันลึก” หรือ Deep State ลดการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน จะทำให้การเลือกตั้งโปร่งใสบริสุทธิ์ ยุติธรรม ประชาชนมีสิทธิในการเลือกผู้บริหารประเทศและสามารถเลือกตัวแทนตามเจตนารมณ์ตัวเองอย่างแท้จริง รัฐบาลจะถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญของประชาชน และรัฐธรรมนูญจะมีระบบกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลในการใช้อำนาจของรัฐ ไม่ให้ละเมิดต่อสิทธิ์เสรีภาพและความเป็นธรรมต่อประชาชน เราคาดหวังว่า เราจะมีรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดสังคมประชาธิปไตยพันลึก (Democratic Deep Society) คือ สังคมประชาธิปไตยที่มีการผนึกกำลังกันของเครือข่ายประชาธิปไตย เครือข่ายประชาชน เครือข่ายวิชาการ เครือข่ายสื่อมวลชน สามารถตอบโต้ความท้าทายของฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยได้ในทุกรูปแบบ รวมทั้งระบอบอำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้งที่ไม่เสรี สังคมประชาธิปไตยพันลึกจะทำให้ศักดิ์ศรีและคุณภาพของประชาชนดีกว่าเดิม เศรษฐกิจที่เป็นธรรมกว่าเดิม สังคมที่สงบสุขสันติยิ่งกว่าเดิม
การปฏิเสธรัฐประหารครั้งล่าสุดผ่านคูหาเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2566 ถือเป็นเพียงเบื้องแรกของการล่มสลายของสถาบันรัฐประหารในประเทศไทย ขั้นต่อไปต้องสถาปนา “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ให้ได้ และต้องทำให้สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค หยั่งรากลึกในสังคมไทย ทำให้วัฒนธรรมประชาธิปไตยการเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นวิถีชีวิตของผู้คน ทำให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งยึดหลักของเหตุผล หลักสันติวิธี ผ่านการโหวต ผ่านการแสดงประชามติ โดยเคารพเสียงข้างมาก แต่เสียงข้างน้อยต้องมีพื้นที่ในสังคมที่สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ด้วยความแตกต่าง ทำได้เช่นนี้ เราจึงจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเป็น “รัฐล้มเหลว” ในอนาคตได้
รัฐธรรมนูญของประชาชนและประชาธิปไตยมีความสัมพันธ์ในทางบวกต่อกัน ส่งเสริมพัฒนาการของเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) และสามารถปรับเปลี่ยนให้ประชาธิปไตยไม่เสรี (Illiberal Democracy) ให้ดีขึ้นได้
รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยจะผนึกรวมประชาชนผู้ด้อยโอกาสและประชาชนฐานรากชายขอบเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือและระบบสวัสดิการโดยรัฐ ทำให้ “เสียง” ของกลุ่มคนที่ชนชั้นนำไม่ได้ใส่ใจ หรือนำประเด็นปัญหาต่าง ๆ ได้รับการดูแลมากขึ้น “รัฐธรรมนูญที่ดี” สามารถขับเคลื่อน และบูรณาการ “กลุ่มคน” หรือ “ภาคส่วน” ต่าง ๆ ที่ถูกทอดทิ้งให้เข้ามาอยู่ในระบบการเมือง และนำเสนอนโยบายที่กลุ่มคนเหล่านี้พึงพอใจและได้ประโยชน์ “รัฐธรรมนูญประชาชน” สามารถสร้างเงื่อนไขทางด้าน “แนวคิด” และ “อุดมการณ์” สร้างพันธมิตรและแนวร่วมทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญต่อพลวัตของระบบพรรคการเมืองและการเป็นตัวแทนทางการเมือง “รัฐธรรมนูญประชาชน” สร้างความรับผิดชอบทางการเมือง Democratic Accountability “รัฐธรรมนูญที่ดี” สามารถนำมิติความขัดแย้งทางการเมือง (Conflictive Dimension of Politics) สู่การถกเถียงในที่สาธารณะด้วยเหตุด้วยผล สามารถแสดงความเห็นอย่างเปิดเผยโดยไม่ต้องหวั่นเกรงต่อความปลอดภัย หรือถูกยัดคดี ทำให้สังคมดำรงอยู่ได้อย่างสันติสุขท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย
การเลือกตั้งไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่าประชาธิปไตยมีความมั่นคง ในกรณีของไทยมีการเลือกตั้งของรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนยังไม่มีอำนาจอย่างชัดเจน และถูกให้ออกจากตำแหน่งโดยอำนาจขององค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ในรอบ 18 ปีที่ผ่านมา มีการรัฐประหารสองครั้ง และยังมีกลุ่มการเมืองที่พยายามโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลายครั้งจากความผิดพลาดในการบริหารประเทศ หรือบางครั้งก็อาจจะมีปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน
ประเทศไทยไม่ได้สร้างวัฒนธรรม หรือธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองให้ Democracy is the only game in town อันเป็นกรณีที่สังคมและประชาชนทั้งหมดเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะต้องเกิดขึ้นในบริบทและในวิถีของประชาธิปไตย ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ประเทศมีสันติธรรม การแก้ปัญหาโดยยึดถือวิถีประชาธิปไตย และระบบการเมืองที่ยึดหลักนิติรัฐนิติธรรมจะคือทางออกของปัญหา รัฐธรรมนูญของประชาชน จึงเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาการเมืองเชิงโครงสร้างเหล่านี้ และช่วยให้ “ไทย” รอดพ้นจากการเป็นรัฐล้มเหลวในอนาคต วันนี้ขอให้ทุกท่านได้ร่วมกันในการที่จะช่วยกันผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=4djNQykK3IM
ที่มา : PRIDI Talks #28 x PBIC ยุตินิติรัฐประหาร รื้อรัฐธรรมนูญเผด็จการ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน วันอังคาร 10 ธันวาคม 2567 เวลา 13.30-16.30 น. ห้องประชุม PBIC 205 วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์