ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ ทายาทศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ กล่าวปาฐกถาถึงความสำคัญของวันรัฐธรรมนูญฯ ในงานวันฉลองรัฐธรรมนูญ ประจำปี 2566 ณ อาคารรัฐสภา

11
ธันวาคม
2566

วานนี้ (10 ธ.ค. 2566) ในวาระวันรัฐธรรมนูญ ประจำปี 2566 ณ อาคารรัฐสภา ได้มีการจัดงานวันฉลองรัฐธรรมนูญ ภายใต้ชื่องาน "ร่วมก้าวย่างบนเส้นทางประชาธิปไตย สู่เส้นชัยแห่งรัฐธรรมนูญ" ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 66 ปี งานจัดขึ้นตั้งแต่เวลา 10.00 - 21.00 น. โดยมีกิจกรรมการเสวนาทางวิชาการ ณ ห้องประชุมสัมมนา B1-2 เวลา 13.00 - 16.30 น. นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ในฐานะประธานกรรมการจัดงานวันรัฐธรรมนูญฯ ได้เชิญนางสาวสุดา พนมยงค์ และ นายปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ เข้าร่วมเป็นเกียรติภายในงานในฐานะตัวแทนทายาทศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำการอภิวัฒน์สยาม 2475 และเป็นผู้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย

ภายในงานเริ่มต้นด้วยการกล่าวเปิดงานโดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามด้วยการกล่าวรายงานโดย นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ในฐานะประธานกรรมการจัดงานวันรัฐธรรมนูญ ประจำปี 2566 และ ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ความสำคัญของวันรัฐธรรมนูญ” โดย นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานรัฐสภา

หลังจากนั้นเป็นการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์ของวันรัฐธรรมนูญ” โดย ส. ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม และ ตามด้วยการกล่าวถึง “ความสำคัญของวันรัฐธรรมนูญ บทบาทของนายปรีดี พนมยงค์ต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก และความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ” โดย นายปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ ในฐานะทายาทศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

"วันนี้ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับเชิญมาร่วมงานเฉลิมฉลองวันรัฐธรรมนูญ ณ รัฐสภาแห่งนี้ เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐสภาในปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับวันรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีการจัดงานเฉลิมฉลองเหมือนที่เคยทำมาเมื่อครั้งในอดีต ครั้งแรกที่เรามีรัฐธรรมนูญ

ในฐานะทายาทของผู้มีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแรก ผมขอถือโอกาสนี้ กล่าวถึงความสำคัญของวันรัฐธรรมนูญ สักเล็กน้อย อันที่จริง ผมได้ตั้งใจเอาไว้แล้วว่าจะไม่ข้องเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ด้วยเหตุผลส่วนตัว คือ “ไม่ถนัด” แต่เมื่อท่านรองประธานสภาฯ ปดิพัทธ์ ได้ให้เกียรติเชิญมาร่วมงาน และขอให้กล่าวอะไรสั้นๆ เห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่ได้ออกมาพูดบ้าง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้

หากจะกล่าวถึงความสำคัญของวันรัฐธรรมนูญแล้ว คงต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย… หรือถ้าจะเรียกให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์แรกเริ่ม ก็ต้องเรียกระบอบใหม่นี้ว่า… ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย หรือ Constitutional Monarchy เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อการ ได้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 เป็นขั้นๆ ตามลำดับต่อไปนี้

วันที่ 26 มิถุนายน คณะราษฎรได้นำร่าง “พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม” ซึ่งร่างโดยนายปรีดี ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เพื่อทรงรับไว้พิจารณา

ต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน โดยทรงขอให้ใช้คำว่า “ชั่วคราว” ต่อท้ายไปก่อน แล้วให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรตั้งอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับถาวรขึ้นใช้ต่อไป

คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวนี้ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 9 ท่าน ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหนึ่งในนั้น และเป็นอนุกรรมการเพียงคนเดียวที่มาจากคณะราษฎร ได้ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับ วันที่ 10 ธันวาคม 2475 ขึ้นมา โดยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงติดตามการร่างรัฐธรรมนูญด้วยพระองค์เอง อย่างใกล้ชิด รวมทั้งได้ให้ข้อเสนอแนะจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

ยังมีหลายคนเข้าใจผิดในความมุ่งหมายของระบอบการปกครองใหม่นี้ ซึ่งได้ตั้งต้นโดยการอภิวัฒน์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว จึงขอทำความเข้าใจคำว่า “ประชาธิปไตย” หมายถึง “การปกครองโดยราษฎร” ดังปรากฏความตามมาตรา 1 แห่งปฐมรัฐธรรมนูญ ว่า “อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ซึ่งทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายสูงสุด คือ “รัฐธรรมนูญ” สอดคล้องกับคำปรารภในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม ที่พระมหากษัตริย์ทรงโอนพระราชอำนาจ เพื่อให้ประชากรของพระองค์ “ดำรงอิสสราธิปไตยโดยบริบูรณ์” โดยคณะราษฎรได้ยึดหลัก 6 ประการ ประกาศเป็นปฏิญญาในการพัฒนาชาติไทย อันได้แก่ ความมีเอกราช ความปลอดภัย ความสุขสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ ความเสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา

นายปรีดีและคณะราษฎรได้มีเจตจำนงและปฏิบัติตามปฏิญญาดังกล่าวนั้น อย่างแน่วแน่ ดังปรากฏในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) ฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2475 และรัฐธรรมนูญ ฉบับวันที่  10 ธันวาคม 2475

ขอให้ทุกท่านได้โปรดเข้าใจว่าเป็นธรรมดาที่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งจำเป็นต้องมีบทเฉพาะกาลชั่วคราว ที่จะต้องเปลี่ยนระบอบเก่า ที่มีมาแต่โบราณ หลายร้อยปี ให้เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มที่นั้น จะต้องดำเนินไปทีละขั้น ไม่มีประชาธิปไตยแห่งใดในโลก ที่เมื่อแรกสถาปนาขึ้น ก็สามารถบรรลุความบริบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ได้

ต่อมา นายปรีดีและคณะราษฎรก็ได้พยายามผลักดันให้เกิดสิทธิประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ แก่ปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ประสบผลสำเร็จ ในรัฐธรรมนูญ ฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2489

กล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2489 นี้ เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญ และให้การรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากที่สุด ฉบับหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากการกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพฤฒสภา มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และยกเลิกบทเฉพาะกาล ที่กำหนดให้ผู้แทนบางส่วนมาจากการแต่งตั้ง

แต่น่าเสียดายที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มีผลบังคับใช้ในระยะเวลาอันสั้น แต่กลับถูกยกเลิก และแทนที่ด้วยรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 หรือที่เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” เนื่องจากการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการลักลอบร่าง มีการนำไปเก็บซ่อนไว้ใต้ตุ่มน้ำ เพื่อเตรียมใช้หลังการรัฐประหาร ซึ่งในทางพฤตินัยและนิตินัยแล้ว ต้องถือว่าตกเป็น “โมฆะ” ด้วยเหตุที่ไม่ได้สถาปนาอย่างถูกต้องตามวิถีทางประชาธิปไตย ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2475 และ 2489 

รัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร ฉบับ 2490 นี้ ยังเป็นแม่บทให้แก่รัฐธรรมนูญ ฉบับต่อๆ มา อีกหลายฉบับ นี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยลุ่มๆ ดอนๆ อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ผมขอยกคำกล่าวของนายปรีดี ในงานเขียนชิ้นหนึ่ง ท่านกล่าวว่า

“ชนรุ่นใหม่ที่สนใจระบบรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ควรนำรัฐธรรมนูญทุกๆ ฉบับมาเทียบกันดูให้ละเอียดถี่ถ้วนว่า ระบบรัฐธรรมนูญฉบับใดมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ในความหมายของคำว่า ”ประชาธิปไตย“ (Democracy)”

จริงหรือไม่เพียงใด?…ขอให้ทุกท่านโปรดพิจารณา เพื่อจะได้เข้าใจถึงปัญหาและพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างถ่องแท้

ท้ายที่สุดแล้ว ผมในฐานะทายาทของผู้มีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก และในฐานะประชาชนคนหนึ่ง อยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในปัจจุบัน เคารพเจตจำนงของปฐมรัฐธรรมนูญที่เป็นสังคมสัญญาระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 กับราษฎรไทย ในการสถาปนากฎหมายสูงสุดที่มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย อย่างเท่าเทียมกัน และผลักดันให้เกิดการสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน เพื่อประชาชน อย่างแท้จริง"

สามารถรับชมปาฐกถาได้ที่นี่ : https://www.youtube.com/watch?v=MNh3NzB2fmY

หลังจากนั้น นายปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ ได้มอบหนังสือปรีดี - พุทธทาส "เทอดรัฐธรรมนูญ" เพื่อเป็นที่ระลึกให้กับ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และ ส. ศิวรักษ์ เป็นที่ระลึก 

หนังสือปรีดี - พุทธทาส "เทอดรัฐธรรมนูญ" จัดทำขึ้นในวาระครบรอบ 123 ปี ชาตกาลของนายปรีดี พนมยงค์ (11 พฤษภาคม 2443) และ 117 ปี ชาตกาลของพุทธทาสภิกขุ (27 พฤษภาคม 2449) อีกทั้งยังเป็นวาระครบรอบ 90 ปีแห่งการเฉลิมฉลองปฐมรัฐธรรมนูญ โดยคณะผู้จัดทำได้รวบรวมเอกสารชั้นต้น ประกอบด้วยรูปภาพ บันทึกรายวัน ปาฐกถา และงานเขียนอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาแก่นักประวัติศาสตร์ ตลอดจนอนุชนรุ่นหลัง ได้ใคร่ครวญศึกษาแนวคิดและสืบสานอุดมการณ์อันเป็นปณิธานของสองมหาบุรุษผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย

หลังจากนั้นเป็นกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “พัฒนาการของรัฐธรรมนูญ” จนถึงเวลา 16.30 น. โดยงานฉลองรัฐธรรมนูญยังมีกิจกรรมที่ลานประชาชนตั้งแต่ 10.00 - 21.00 น. อาทิ การแสดงดนตรี โดย ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, การแสดงดนตรี โดย วงสามัญชน, การเสวนาในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร” และปิดท้ายด้วยการแสดงดนตรี โดย วงพัชร์จุรี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี