ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

จะช่วยแรงงานยุคใหม่ รัฐควรต้องปรับตัว

26
ธันวาคม
2566

Focus

  • ธุรกิจแพลตฟอร์มที่อำนวยความสะดวกในการทำงานและบริการผู้บริโภค ทำให้ตลาดทางธุรกิจเปลี่ยนจากตลาดด้านเดียว ในแบบตลาดระหว่างผู้บริโภคกับผู้ขายสินค้า กลายเป็นตลาดหลายด้าน โดยมีคนกลาง เช่น คนขับรถที่อาจไม่ใช่ลูกจ้างของผู้ขายสินค้าหรือร้านค้า เข้ามาเป็นตัวเชื่อมกับผู้บริโภค ทำให้แพลตฟอร์มมีอำนาจ
  • อำนาจแพลตฟอร์มเกิดจากปัจจัยพื้นฐาน 3 ประการ คือ (1) ผลกระทบเชิงเครือข่ายที่เกิดจากความสัมพันธ์หลายฝ่าย (2) ความสามารถในการสกัดกั้น ควบคุม และวิเคราะห์ข้อมูล ในระดับพฤติกรรมที่เป็นปัจจุบัน และ(3) ต้นทุนที่สูงในการเปลี่ยนแพลตฟอร์ม และนอกจากแพลตฟอร์มจะมีอำนาจทางเศรษฐกิจแล้ว อาจมีอำนาจทางการเมืองด้วย เพราะมีผู้ให้บริการและผู้บริโภคเข้าร่วมจำนวนมาก และเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
  • ปัญหาการคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์ม ได้แก่ (1) สัญญาจ้างแบบยืดหยุ่นและไม่มั่นคง (2) สภาพการทำงานไม่มั่นคง และสภาพแวดล้อมการทำงานต่ำกว่ามาตรฐานแรงงานทั่วไป (3) แรงงานไม่มีอำนาจต่อรองที่เท่าเทียมเจ้าของแพลตฟอร์ม เพราะไม่มีสถานะทางสัญญาจ้างแรงงาน และ (4) การตั้งเงื่อนไขให้แรงงานแพลตฟอร์มสะสมทุนผ่านชื่อเสียง แต่ไม่สามารถย้ายชื่อเสียงหรือผลงานของตัวเองออกไปยังระบบอื่นๆได้
  • รัฐสมควรปรับต้ว โดยเข้าแทรกแซงมากกว่าการควบคุมธุรกิจในแบบเดิม ให้การช่วยเหลือแรงงานแพลตฟอร์ม และแก้ไขกฎหมายแรงงาน ในเรื่องสัญญาจ้าง ชั่วโมงการทำงาน การมีหลักประกันความเสี่ยงภัยในการทำงาน การจ่ายเงินทดแทน และการกำหนดให้ต้องมีการแจ้งล่วงหน้าในการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับการทำงาน

 

“ธุรกิจแพลตฟอร์ม” เป็นการประกอบธุรกิจรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากการประกอบธุรกิจที่ผ่านมา โดยเป็นผลมาจากสั่งสมและพัฒนาเทคโนโลยีหลายด้านๆ เข้าด้วยกัน วัตถุประสงค์ของการดำเนินธุรกิจแพลตฟอร์มคือ การเข้ามาแก้ไขปัญหาพื้นฐานในชีวิตประจำวันของมนุษย์ให้สะดวกสบายมากขึ้น อาทิ การเดินทาง โดยเข้ามาช่วยเติมเต็มและแก้ไขปัญหาการเข้าถึงรถโดยสารสาธารณะหรือการไม่มียานยนต์ขับขี่ส่วนตัว หรือการส่งอาหาร ซึ่งแต่เดิมไม่ใช่ทุกร้านอาหารจะมีบริการส่งอาหาร

อย่างไรก็ดี การเกิดขึ้นของธุรกิจแพลตฟอร์มนำมาสู่ปัญหาใหม่ๆ ในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเกี่ยวกับการทำงาน ด้วยลักษณะของธุรกิจแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนแปลงสภาพการทำงานและความสัมพันธ์ในการทำงานที่มีอดีต ทำให้กรอบทางกฎหมายที่เคยใช้ในการคุ้มครองแรงงานอาจจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ในขณะเดียวกันแรงงานในธุรกิจแพลตฟอร์มก็ได้รับผลกระทบจากการมีอำนาจทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าทำให้ไม่สามารถที่จะเข้าสู่กระบวนการต่อรองกับธุรกิจแพลตฟอร์มได้เหมือนกับแรงงานในอดีต

มิเพียงเท่านี้บทบาทของรัฐในการเข้ามาแทรกแซงเพื่อที่จะช่วยเหลือและรักษาประโยชน์ของแรงงานกลุ่มนี้ทำได้จำกัด เพราะลักษณะของธุรกิจที่ซับซ้อนและมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้รัฐไม่สามารถที่จะตามธุรกิจแพลตฟอร์มเหล่านี้ทันและสร้างมาตรการเพื่อควบคุมพฤติกรรมที่ละเมิดสิทธิของแรงงานแพลตฟอร์มได้

บทความนี้ต้องการจะนำเสนอรายละเอียดของสภาพปัญหาดังกล่าว โดยมุ่งเน้นไปที่แรงงานในแพลตฟอร์มส่งอาหารเป็นหลัก พร้อมทั้งให้แนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้นกับรัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

 

ลักษณะธุรกิจที่ผิดแปลกจากอดีต

ในอดีตเวลาเราต้องการสั่งพิซซ่าจากร้าน เราอาจจะโทรศัพท์ไปที่ Call Center โดยตรง (ถ้าไม่ได้สั่งที่ร้าน) และร้านพิซซ่าก็จะให้พนักงานขับรถมาส่งอาหาร ลักษณะของการขายสินค้าจึงเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างร้านอาหารกับผู้บริโภคโดยตรง ยอดขายและความสามารถในการส่งสินค้าขึ้นอยู่กับโปรโมชันและศักยภาพในการส่งสินค้าของร้านอาหารโดยตรง

แต่ลักษณะของการประกอบธุรกิจนั้นได้เปลี่ยนไปเมื่อธุรกิจแพลตฟอร์มมาถึง แพลตฟอร์มเข้ามาทำหน้าที่เป็นบุคคลที่สาม ในการจับคู่ความต้องการระหว่างผู้บริโภคและ Partner ซึ่งได้แก่ ร้านอาหาร และคนขับรถส่งอาหาร สภาพดังกล่าวทำให้เกิดความสัมพันธ์ 3 ฝ่ายระหว่างผู้บริโภค ร้านอาหาร และคนขับรถส่งอาหาร

ทั้ง 3 ฝ่ายนี้ถูกเชื่อมโยงกันโดยมีแพลตฟอร์มเข้ามาเป็นตัวกลางในการจับคู่ธุรกรรม กล่าวให้ง่ายขึ้นคือ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจัดการความต้องกลางของผู้บริโภคสินค้า ร้านอาหารในการขายของ และคนขับรถส่งอาหารในการหารายได้จากการทำงาน

สิ่งนี้ทำให้เกิดสภาพการดำเนินธุรกิจแพลตฟอร์มแตกต่างจากอดีตที่โดยทั่วไปแล้วเป็นตลาดด้านเดียว (Single-sided Market) กล่าวคือเป็นตลาดระหว่างผู้บริโภคกับผู้ขายสินค้า แต่ในกรณีของแพลตฟอร์มที่มีทั้งผู้บริโภค ร้านอาหาร และคนขับรถส่งอาหารลักษณะของตลาดการประกอบธุรกิจจึงกลายเป็นตลาดหลายด้าน (Multi-sided Market) ด้วยกัน เป็นความสัมพันธ์หลายคู่ที่เชื่อมโยงกันโดยมีแพลตฟอร์มอยู่ตรงกลางของความสัมพันธ์เหล่านั้น ดังปรากฏตามภาพประกอบข้างท้ายนี้

 


ที่มา: FourWeekMBA

 

ความสัมพันธ์แบบตลาดหลายด้านนี้ ได้นำไปสู่การเกิดขึ้นของอำนาจทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากอำนาจทางเศรษฐกิจแบบเดิมคือ อำนาจของแพลตฟอร์ม

 

อำนาจแพลตฟอร์มเหนือการควบคุมแบบเดิม

อำนาจแพลตฟอร์มเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบเดิมในอดีตคือ การมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกรรมหลายฝ่ายในตลาดหลายด้านทำให้แพลตฟอร์มเกิดอำนาจใหม่คือ อำนาจของแพลตฟอร์ม

การเกิดขึ้นของอำนาจแพลตฟอร์มนี้เกิดจากปัจจัยพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่

ประการแรก ผลกระทบเชิงเครือข่าย (Network effect) ที่เกิดจากความสัมพันธ์หลายฝ่ายบนธุรกรรมแพลตฟอร์ม เมื่อแพลตฟอร์มสามารถดึงเอาผู้บริโภคและผู้ให้บริการร่วมเข้ามาอยู่ภายใต้ระบบนิเวศเดียวกัน ทำให้ลักษณะการทำงานของตลาดแพลตฟอร์มแตกต่างธุรกิจดั้งเดิมโดยเป็นตลาดหลายด้าน (Muti-sided market) ตลาดแต่ละด้านจะส่งผลเชื่อมโยงระหว่างกันและกัน กล่าวคือ เมื่อตลาดด้านผู้บริโภคเพิ่มขึ้นก็จะทำให้ตลาดด้านผู้ขายสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะทำให้เกิดความอยากขายสินค้าเพิ่มขึ้นเช่นกัน ในส่วนของตลาดด้านคนขับรถส่งอาหารก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกันจากการเล็งเห็นว่ามีงานเพิ่มขึ้น สิ่งนี้เรียกว่าผลกระทบเชิงเครือข่ายที่เกิดจากผลกระทบในตลาดหนึ่งไปสู่อีกตลาดหนึ่ง

ประการที่สอง ความสามารถในการสกัดกั้น ควบคุม และวิเคราะห์ข้อมูล โดยความสามารถนี้เกิดขึ้นมาจากการสามารถเก็บข้อมูลได้มากกว่าปกติ ซึ่งในอดีตการเก็บข้อมูลเพื่อรู้จักตัวผู้บริโภคกระทำผ่านการสำรวจความต้องการทางการตลาด แต่การที่แพลตฟอร์มสามารถเก็บรวบรวมคนจำนวนมาก และเก็บข้อมูลได้ในระดับพฤติกรรมแบบ Real time ทำให้แพลตฟอร์มมีศักยภาพในการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้วิเคราะห์ รวมถึงควบคุมพฤติกรรมของผู้บริโภค ผู้ขายสินค้า และคนขับรถขนส่งอาหารบนแพลตฟอร์ม ผ่านการนำเสนอสินค้าและบริการเฉพาะรายบุคคล และผ่านการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจกับผู้ขายสินค้าและคนส่งอาหาร รวมถึงนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้สร้างเงื่อนไขในการใช้บริการ

ประการที่สาม ต้นทุนที่สูงในการเปลี่ยนแพลตฟอร์ม เนื่องจากการเปลี่ยนไปสู่แพลตฟอร์มใหม่ ๆ นั้นไม่ใช่เพียงความไม่คุ้นเคยกับประสบการณ์ใช้งานของแพลตฟอร์มที่แตกต่างกัน แต่การย้ายไปสู่แพลตฟอร์มใหม่มีต้นทุนที่มากกว่านั้น ในแง่หนึ่งคือผลประโยชน์ในเชิงของชื่อเสียง ที่ได้รับจากการให้คะแนนรีวิวสินค้าและบริการบนแพลตฟอร์ม รวมถึงการสร้างระบบผลประโยชน์ตอบแทนในระบบบิดภายใต้แพลตฟอร์มหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถโอนย้ายไปยังแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้ อาทิ คะแนนสะสม และเครดิตเงินคืน สิ่งนี้กระทบต่อคนส่งอาหารในฐานะแรงงานในธุรกิจแพลตฟอร์มนี้ เพราะเท่ากับว่าแรงงานมีต้นทุนที่สูงในการโยกย้ายแพลตฟอร์ม เพราะแรงงานจะสูญเสียคะแนนจากการรีวิว และแม้ว่าในทางปฏิบัติเราจะเห็นว่าแรงงานอาจจะทำงานให้มากกว่าหนึ่งแพลตฟอร์มในเวลาเดียวกัน แต่สิ่งนี้มีข้อจำกัดและไม่ได้สะดวกอย่างที่เห็นซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

ไม่เพียงแต่อำนาจของแพลตฟอร์มเท่านั้น อีกสิ่งที่ทำให้แพลตฟอร์มแตกต่างจากธุรกิจแบบดั้งเดิมและกระทบต่อความสัมพันธ์ในทางแรงงานคือ การอยู่เหนือการควบคุมของรัฐ ธุรกิจแพลตฟอร์มอาศัยช่องว่างของกฎหมายที่รองรับความสัมพันธ์ของแรงงานแบบเดิม ทำเกิดภาวะสุญญากาศในการคุ้มครองแรงงานและคนงาน กล่าวคือ กฎหมายแรงงานเดิมออกแบบขึ้นมาเพื่อรองรับความสัมพันธ์ในทางแรงงานในสถานประกอบการ และสัญญาจ้างแรงงานแบบเดิมที่ไม่ยืดหยุ่น

ในขณะเดียวกันอำนาจของแพลตฟอร์มนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะอำนาจทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีอำนาจทางการเมืองด้วยเช่นกัน จากงานวิจัยของของโจอันนา มาซูร์ และมาร์ซิน เซราฟิน ในปี ค.ศ. 2022 ได้ระบุว่าในกรณีของธุรกิจแบบดั้งเดิมนั้นหากธุรกิจเหล่านี้กระทำการใดๆ ที่ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อสังคม รัฐอาจจะดำเนินการปิดกิจการนั้นเสีย หรือพยายามเข้าไปควบคุมผ่านการดำเนินการลงโทษหรือปรับเงิน แต่ธุรกิจแพลตฟอร์มนั้น แตกต่างออกไปผลกระทบเชิงโครงข่ายไม่ได้ ทำให้แพลตฟอร์มมีอำนาจทางทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันผลกระทบเชิงโครงข่ายได้ ทำให้แพลตฟอร์มมีไพ่เหนือกว่ารัฐไปด้วย ผ่านการที่แพลตฟอร์มเข้าถึงผู้บริโภคและผู้ให้บริการร่วมจำนวนมาก ซึ่งบรรดาคนเหล่านี้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งและเป็นฐานคะแนนเสียงของรัฐบาล ทำให้เมื่อรัฐพยายามเข้ามากำกับดูแลแพลตฟอร์ม อาจทำให้เกิดการต่อต้านจากบรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นผู้บริโภคของแพลตฟอร์ม

นอกจากนี้ รัฐยังมีข้อจำกัดในการเข้ามาควบคุมการประกอบธุรกิจแพลตฟอร์ม เนื่องจากปัญหาความไม่สมมาตรกันของข้อมูลของรัฐกับธุรกิจแพลตฟอร์ม เพราะว่าลักษณะของการประกอบธุรกิจแพลตฟอร์ม มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  เนื่องมาจากปัจจัยที่สลับซับซ้อนในการวิเคราะห์และอัลกอริธึมภายหลังระบบ ซึ่งรัฐไม่สามารถเข้าใจข้อมูลดังกล่าวได้ จากการเข้าไม่ถึงข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของแพลตฟอร์ม

 

ผลกระทบของแพลตฟอร์มต่อแรงงาน

ผลกระทบของธุรกิจแพลตฟอร์มต่อแรงงานนั้น ส่งผลสำคัญมากๆ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดมาจากการที่กฎหมายไม่สามารถเข้าไปควบคุมและกำกับกิจกรรมของแพลตฟอร์มได้

การที่กฎหมายปัจจุบันไม่คุ้มครองในแรงงานในมิติต่างๆ ได้แก่

ประการแรก สัญญาจ้างแบบยืดหยุ่น การไม่นำความสัมพันธ์แบบการจ้างงานมาใช้ ทำให้ลักษณะของการทำงานของแรงงานมีความไม่มั่นคง นายจ้างมีอำนาจต่อรองและสามารถยกเลิกสัญญาได้ตลอดเวลา

ประการที่สอง สภาพการทำงานที่ไม่มั่นคง และการถ่ายโอนความเสี่ยงด้านต้นทุนของการทำงานไปยังแรงงาน สภาพการทำงานที่พ้นไปจากสัญญาจ้าง ทำให้สภาพแวดล้อมในการทำงานภายใต้แพลตฟอร์มต่ำกว่ามาตรฐานแรงงานทั่วไป

ประการที่สาม การไม่มีอำนาจต่อรองที่เท่าเทียมกัน ผลจากการไม่มีสถานะทางสัญญาจ้างแรงงานและการมีความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เหลื่อมล้ำกัน ส่งผลให้แรงงานแพลตฟอร์มต่าง ๆ นั้นจะมีระบบการจัดสรรงานและโอกาสในการทำงานให้กับแรงงานไม่เท่ากัน ในขณะเดียวกันแรงงานมีต้นทุนที่สูงในการเปลี่ยนแพลตฟอร์ม แม้ว่าในทางปฏิบัติจะสามารถย้ายแพลตฟอร์มทำงานได้ แต่การย้ายแพลตฟอร์มก็มาพร้อมข้อจำกัด เนื่องจากแพลตฟอร์มสามารถตั้งเงื่อนไขให้ในกรณีที่ไม่ได้รับงานเป็นระยะเวลาหนึ่ง หรือไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบเป็นเวลานาน  อาจทำให้ถูกปฏิเสธการเข้าใช้งานและถูกบล็อกออกจากระบบ

ประการที่สี่ การตั้งเงื่อนไขให้แรงงานแพลตฟอร์มสะสมทุนผ่านชื่อเสียง การสะสมอิทธิพลของแรงงานแพลตฟอร์ม กระทำผ่านการสะสมชื่อเสียงจากการรีวิวการทำงาน เงื่อนไขเหล่านี้ถูกนำมากำหนดเป็นความดีความชอบในการทำงาน โดยแรงงานได้ประโยชน์จากการอยู่ในระบบหนึ่งๆ แต่ไม่สามารถย้ายชื่อเสียงหรือผลงานของตัวเองออกไปยังระบบอื่นๆ ได้ โดยเมื่อออกมาจากระบบแล้ว ชื่อเสียงดังกล่าวแทบไม่มีประโยชน์ต่อแรงงานเลย

 

รัฐจะช่วยแรงงานได้อย่างไร

การแก้ไขปัญหานี้รัฐต้องเข้ามาแทรกแซง โดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมายแรงงานและสัญญาจ้าง การแก้ไขกฎหมายแรงงานให้ครอบคลุมถึงแรงงานแพลตฟอร์มในเรื่องชั่วโมงการทำงาน การมีหลักประกันความเสี่ยงภัยในการทำงาน และความคุ้มครองที่เกิดขึ้นจากการจ่ายเงินทดแทน เพื่อให้แรงงานได้รับความคุ้มครองจากที่ไม่เคยได้รับการคุ้มครองมาก่อน รวมถึงการกำหนดให้ต้องมีการแจ้งล่วงหน้าในการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับการทำงานล่วงหน้าเพื่อให้แรงงานแพลตฟอร์มสามารถตัดสินใจได้

การเข้ามาแทรกแซงนิติสัมพันธ์ในเรื่องนี้ โดยเบื้องต้นช่วยให้แรงงานสามารถที่จะได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การดำเนินการกำกับกิจกรรมบนแพลตฟอร์ม รัฐต้องเข้าไปดำเนินการมากกว่าการควบคุมธุรกิจในแบบเดิม

 

รายการอ้างอิง

  • Sebastian Wismer and Arno Rasek, “Market Definition in Multi-sided Markets,” OECD [Online], accessed 16 November 2023, from https://one.oecd.org/document/DAF/COMP/WD%282017%2933/FINAL/En/pdf#:~:text=As%20multi%2Dsided%20markets%20involve%20distinct%20groups%20of%20customers%2C%20there,market%20encompassing%20all%20customer%20groups
  • ธร ปิติดล, เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับความท้าทายของเศรษฐกิจไทย: บทเรียนจากโครงการชุมชนนโยบายเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท, 2564).
  • สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และคณะ, “รายงานฉบับสมบูรณ์การศึกษาผลกระทบและนำเสนอมาตรการในการกำกับดูแล Digital Platform ในประเทศไทย,” (รายวิจัยเสนอต่อสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.), 2566).
  • เดือนเด่น นิคมบริรักษ์, “การผูกขาดกับความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจ,” TDRI [Online] สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2566, จาก https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2013/05/A151_Chapter2.pdf
  • ธร ปีติดล, “เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับความท้าทายของเศรษฐกิจไทย (2): การผูกขาด การแข่งขัน และโจทย์ใหญ่ของการกำกับดูแล,” the 101.world [Online] สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2566, https://www.the101.world/platform-econ-challenge-thai-2/
  • อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ และเกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร, แพลตฟอร์มอีโคโนมีและผลกระทบต่อแรงงานในภาคบริการ: กรณีศึกษาในประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท, 2561).
  • Platform Revolution, “How digital platforms increase inequality,” Platform Thinking Labs [Online] accessed on 16 November 2022, from https://platformthinkinglabs.com/materials/how-digital-platforms-increase-inequality/
  • Joanna Mazur and Marcin Serafin, “Stalling the State: How Digital Platforms Contribute to and Profit From Delays in the Enforcement and Adoption of Regulations,” Comparative Political Studies, 56(1), 101-130, https://doi.org/10.1177/00104140221089651.