ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ : การศึกษาปัณหาสังคม (ตอนที่ 39)

23
กุมภาพันธ์
2568

กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา
ที่มาของภาพ : https://sriburapha.net/2021/03/28/ปฏิทินชีวิต-กุหลาบ-สายปร/

 

คณะกรรมการนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้จัดให้มีปาฐกถาพิเศษ เพื่อที่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยจะได้รับโอกาสเพิ่มเติมวิชาความรู้ นอกจากที่ได้ศึกษาอยู่แล้วตามหลักสูตร ในการเปิดปาฐกถาพิเศษนัดแรกที่ห้องประชุมของมหาวิทยาลัย เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๘ นั้น คณะกรรมการได้ทูลเชิญ ศาสตราจารย์หม่อมเจ้า สกลวรรณากร วรวรรณ ทรงแสดงเรื่อง “นักศึกษากับสังคม” ผู้เขียนได้ไปฟังปาฐกถาและเห็นว่าเปนปาฐกถาที่มีคุณค่ายิ่ง สมควรจะได้รับความสนใจไม่แต่ในวงการนักศึกษาเท่านั้น ผู้เขียนจึงได้เก็บความในปาฐกถานั้นเรียบเรียงออกสู่ประชาชน

องค์ปาฐกเปนผู้เหมาะสมอย่างล้นพ้นที่จะทรงเปนผู้แสดงปาฐกถาว่าด้วยเรื่องสังคม เพราะว่าได้สนพระทัยในเรื่องสังคมมา ๔๐ ปีกว่า แล้ว เมื่อยังทรงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ ได้สมัครเปนสมาชิกของสมาคมเฟเบียน (สมาคมของโซชลิสต์) องค์ปาฐกจึงไม่ลังเลพระทัยเลยที่จะประกาศตนโดยเปิดเผยว่า ทรงเปนโชชลิสต์มา ๔๐ ปีกว่าแล้ว และได้รับสั่งต่อไปด้วยความอ่อนพระทัยว่า การที่มาพูดเรื่องสังคมก็ดี หรือการประกาศตนว่าเปนโซชลิสต์ก็ดี เมื่อมาพูดและมาประกาศในประเทศนี้ก็นับว่าเปนการหมิ่นเหม่อันตราย เพราะผู้ไร้การศึกษาย่อมไม่ทราบว่าโซซลิสต์คืออะไร คอมมิวนิสต์คืออะไร และมีความต่างกันอย่างไรระหว่างโซชลิสต์กับคอมมิวนิสต์

อย่างไรก็ดีองค์ปาฐกรับสั่งว่า ลัทธิโซชลิสม์ เปนลัทธิที่ผูกพันอยู่กับมนุษยธรรมผู้มีมนุษยธรรมย่อมเปนนักสังคมนิยมไปเองไม่ต่ำกว่า ๙๐ เปอเซนต์ และทรงเชื่อว่าผู้ที่มาฟังปาฐกถาของท่านเปนผู้มีมนุษยธรรม และดังนั้นจึงทรงเชื่อว่า ได้มาพูดในท่ามกลางมิตร ได้ดำรัสอย่างมีอารมณ์ขันว่า เพื่อความปลอดภัยไว้ก่อนจึงขอบอกกล่าวไว้ด้วยว่า สมาคมเฟเบียนที่องค์ท่านเปนสมาชิกนั้นรังเกียจการปฏิวัติ ซึ่งหมายถึงว่าไม่ดำเนินการแก้รูปสังคมโดยวิธีการใช้กำลังบังคับทรงหมายถึงว่ามรรควิธีของโซชลิสต์เปนมรรควิธีประชามติ เมื่อทรงชี้มรรควิธีของโซชลิสต์แล้วก็ทรงหวังว่าใคร ๆ จะนอนตาหลับ

ในเบื้องต้นองค์ปาฐกได้บรรยายความหมายของสิ่งที่เรียกว่าสังคม ซึ่งหมายถึงหมู่คณะของบุคคลที่จัดตั้งขึ้นเปนระเบียบแล้ว อย่างน้อยเพื่อการคุ้มครองตนเอง ในปัจจุบันวัตถุประสงค์ของสังคมได้ขยายคลุมไปถึงการแสวงสวัสดิภาพให้แก่ตนด้วย เมื่อสังคมประกอบด้วยบุคคล สังคมจึงเปนสิ่งมีชีวิต เปนอินทรีย์ (organism) และเมื่อเปนสิ่งมีชีวิต สังคมจึงอยู่ภายใต้กฎของวิวัฒนาการ (evolution) จะต้องคลี่คลายขยายตัว อนึ่ง เมื่อสังคมประกอบด้วยบุคคลที่มารวมกัน อย่างมีระเบียบ สังคมจึงจะดีวิเศษไปกว่าสมาชิกของสังคมไม่ได้ กล่าวคือประเทศไทยจะดีไปกว่าราษฎรไทยไม่ได้ แปลว่ามาตรฐานของสังคมขึ้นอยู่แก่มาตรฐานของสมาชิกทั้งสิ้นแห่งสังคม

การศึกษาปัณหาของสังคม เปนเรื่องของวิทยาการเพราะต้องอาศัยวิทยาศาสตร์และปรัชญา องค์ปาฐกได้บรรยายความคลี่คลายของสังคมยุโรป เปนการประกอบการศึกษา สังคมของยุโรปในขั้นมูลฐานก่อนประวัติศาสตร์เปนสังคมที่มีระเบียบอย่างหละหลวม ครั้นเริ่มยุคโบราณจึงเปนรูปสังคมที่มีการใช้ระบบทาส ซึ่งหมายถึงคนข้างน้อยบังคับใช้แรงงานของคนข้างมากโดยตรง ถัดมาในยุคกลางสังคมใช้ระบบ feudalism เรียกกันในภาษาไทยว่า ระบบศักดินานิยม ซึ่งหมายถึง คนข้างน้อย ใช้แรงงานของคนข้างมากบางส่วน เรียกว่า Serfs ในภาษาไทยอาจเรียกว่าไพร่หรือเลก คนพวกนี้ถูกล่ามติดกับที่ดิน (มิใช่ล่ามด้วยโซ่ หากล่ามด้วยประเพณี) เปนทาสแห่งที่ดิน...(ต้นฉบับขาด...

การพิจารณาปรับปรุงงานในสยาม มักมีผู้เข้าใจผิด โดยเอามรรคมาถือเปนผล เปนต้น ในกิจการเทศบาล เมื่อปรากฏว่างานเทศบาลดำเนินไปไม่สู้เปนผล ก็มักจะไปเอาความผิดแก่เทศบาล ในฐานที่เปนองค์การแล้วก็พาลจะริดรอนความเติบโตขยายตัวของเทศบาล องค์ปาฐกให้ตัวเลขว่า ในสยามนี้ตำบลทั้งหมด ๔,๙๐๐ ตำบล ในเวลา ๑๖ ปีมีเทศบาลตำบลเกิดขึ้นเพียง ๓๓ ตำบล เปนการเติบโตที่เชื่องช้าอย่างน่าพิศวงจึงประทานสมญาโครงการเทศบาลของสยามว่า โครงการสาวสองพันปี และได้ชี้ว่านั่นไม่ใช่ข้ออุปมา ถ้าคือเกณฑ์ ๑๖ ปี ต่อเทศบาล ๓๖ ตำบลแล้ว จะต้องการเวลาถึง ๒,๐๐๐ ปีจริง ๆ กว่าจะเปิดเทศบาลตำบลให้ทั่วอาณาจักรสยาม...(ต้นฉบับขาด)...

แรงงานของมนุษย์เปนสินค้า ก็เท่ากับถือแรงงานของมนุษย์เช่นเดียวกับแรงงานของวัวควายหรือเครื่องจักร ข้อสมมติของนักเศรษฐกิจ classic ดังกล่าวนั้น ปาฐกเห็นว่าเปนข้อสมมติที่ปราศจากมนุษยธรรมและขัดกับความเปนจริง เพราะว่าแรงงานนั้นเปนเลือดเนื้อ เปนส่วนหนึ่งแห่งมนุษยธรรม และถ้ายอมรับว่าแรงงานของมนุษย์เปนสินค้าที่ซื้อขายกันได้ ก็เท่ากับยอมรับให้มีการซื้อขายคนเปนคน ๆ กันได้เหมือนกัน หลักของนักเศรษฐกิจรุ่นเก่าในเรื่อง เสรีภาพในการแข่งขัน ก็เปนหลักที่ฝืนความจริง เช่นเดียวกัน องค์ปาฐกเน้นว่า การแข่งขันกับเสรีภาพเปนสิ่งที่ไปด้วยกันไม่ได้ เพราะว่าในประการแรก การแข่งขันนั้นต้องสมมติว่า คู่แข่งขันมีกำลังก้ำกึ่งกัน แต่ถ้าให้คนจนไปแข่งขันกับเศรษฐี ก็เปนการฝืนความจริง นอกจากนั้น การแข่งขันเอาชนะกันในทางค้าขายยังผลให้เกิดการผูกขาด (ดังองค์การ Trust ในอเมริกา) และเมื่อมีการผูกขาดขึ้นแล้วก็มีเสรีภาพไม่ได้อยู่เอง เสรีภาพกับการแข่งขันจึงเปนสิ่งที่ขัดกันอย่างเห็นได้
ชัด ๆ

เสรีภาพผูกขาดการค้าที่เปนเสรีภาพอย่างไม่ได้ความนี้ หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
โรคดอลล่า ดังที่อเมริกาได้เชิดชูอยู่นั้น ทางยุโรปเขาเลิกกันแล้ว ทุกวันนี้นานาประเทศในยุโรปไม่สาละวนอยู่แต่จะแสวงโภคทรัพย์หรือ wealth ท่าเดียว แต่ได้คำนึงถึงสวัสดิการหรือ welfare ของปวงชนด้วย ฝ่ายอเมริกานั้นยังคงหายใจอยู่แต่ในเรื่องบาทสตางค์ท่าเดียว ประเทศเล็ก ๆ ในยุโรปเช่นเด็นมาร์ก ซึ่งเปนประเทศกสิกรรม ได้ตั้งงบประมาณใช้จ่ายในงานบริการสังคมถึงหนึ่งในสามของรายจ่ายทั้งหมด งบประมาณบริการสังคมของสยามตามที่องค์ปาฐกได้ทำงานสำรวจเศรษฐกิจของสยามเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ปรากฏว่ามีรายจ่ายไม่ถึง ๕ เปอเซ็นต์ แต่ในปัจจุบันงบประมาณทางบริการสังคมคงจะเพิ่มขึ้นเปน ๖ หรือ ๗ เปอเซ็นต์...(ต้นฉบับขาด)...

เริ่มด้วยการปฏิวัติฝรั่งเศสทำลายระบบศักดินา การปฏิวัติฝรั่งเศสได้เปนผลในทาง
เทอดทูนพวก middle class และด้วยการใช้ระบบเศรษฐกิจ capitalism อำนาจการปกครองได้ตกอยู่ในมือของคนชั้นนั้น ซึ่งอาจเรียกเปนไทยได้ว่าชนชั้นนักเซ็งลี้ ระบบเศรษฐกิจนายทุนคือ ระบบที่คนข้างน้อยได้มีช่องทางบังคับใช้แรงงานของคนข้างมากทางอ้อม ที่เรียกว่าทางอ้อมเพราะตามรูปเปนรูปเสรี แต่ในทางปฏิบัติคนงานไม่มีเสรีภาพจะเลือกเอาได้ว่าจะทำงานที่ได้ค่าแรงต่ำหรือไม่ทำ เพราะถ้าไมทำก็จะต้องอดตาย

นักเศรษฐกิจรุ่นเก่าคือนักเศรษฐกิจจำพวก classic ได้ตั้งสมมติฐานขึ้นว่า คนจะบากบั่นทำงานก็เพราะความเห็นแก่ตัวถ่ายเดียว จึงได้ตั้งหลักการแข่งขันในทางเศรษฐกิจขึ้น เปนผลให้มีการแข่งขันเอาตัวรอด เอาตัวดีไปตามลำพัง ร่ำรวย สุขสำราญไปคนเดียว พวกเดียว นักเศรษฐกิจรุ่นเก่าถือแรงงานของมนุษย์เปนสินค้าอย่างหนึ่ง เปนของซื้อของขายกันได้โดยเสรี (และตามความจริงผู้ซื้อหรือนายจ้างเท่านั้นที่มีสิทธิเลือก ส่วนผู้ชายหรือลูกจ้างหามีสิทธิเลือกไม่) การที่ถือ capitalism และความมั่งคั่งสมบูรณ์จากการลงทุนรูปนี้ จะตกไปอยู่ในมือของคนไม่กี่คน โดยที่ประเทศจะเสียทรัพยากรไปไม่น้อย การใช้ทรัพยากรของประเทศนั้นควรคำนึงถึงคนรุ่นหลัง การเอาทรัพยากรออกมาถลุง โดยให้ชาวต่างประเทศได้เสวยประโยชน์ส่วนที่เปนกอบเปนกำนั้น ไม่เปนโครงการที่ฉลาดและน่ารื่นรมย์แต่อย่างใดเลย

การเฟ้อของเงินในสยาม ทำให้การแบ่งสันปันส่วนรายได้ในบรรดาประชาชนเปนสิ่งที่น่าเศร้าสลดใจยิ่งขึ้น ในภาระเช่นนี้ผู้ที่มีมากอยู่แล้วมีทางจะได้มากหนักขึ้นไปอีก ผู้ที่จนกรอบอยู่แล้วก็ป่นปี้ไปทีเดียว

การที่จะปรับปรุงชีวิตในสยามให้ผุดผ่องอำไพขึ้นนั้น จึงควรจะเปนการบุกเบิกคลี่คลายทรัพยากรธรรมชาติออกไปให้สยามได้เพิ่มพูนโภคทรัพย์ยิ่งขึ้น แต่การบุกเบิกนี้มิใช่หมายถึงการเชื้อเชิญเงินทุนเอกชนต่างประเทศ ให้หลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่มีขีดขั้น จนจะทำให้ประเทศท่วมท้นไปด้วย....(ต้นฉบับขาด)… ก็ได้รับสั่งว่า พุทธภาษิตที่ว่า “สุขา สงฆสฺส สามัคคี” ความพร้อมเพรียงแห่งหมู่คณะทำให้เกิดสุข เปนสิ่งที่มีความหมายล้ำลึกกว่าที่คนโดยมากเข้าใจ ถ้าจะนำมาใช้ให้ถูกต้องและกว้างขวาง ไม่ใช่เพียงแต่จะอ้างถึงความสามัคคีหรือผลร้ายของการแตกสามัคคีในนิยายโบราณบางเรื่องอยู่ร่ำไปเท่านั้น พุทธภาษิตข้างต้นนี้ก็ตรงกับหลัก Principle of Association ของฝรั่ง ซึ่งทรงแปลว่า สามัคคีธรรม ทรงแนะให้ใช้ทุนของสังคมประกอบกับ แรงงานของสังคม องค์ปาฐกได้เร้านักศึกษาและประชาชนให้ใช้พุทธ ภาษิตหรือหลักสามัคคีธรรม ก่อตั้งองค์การต่าง ๆ ของประชาชนขึ้น ให้เปนปึกแผ่น ร่วมมือกันสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ประชาคมและแก่ตนเอง โดยไม่มัวแต่จะไปรอคอยให้รัฐเปนผู้นำเท่านั้น เพราะการ นำของรัฐนั้น ในทางประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่าไม่หมายถึงการนำประชาชนไปสู่ความถูกต้องดีงามเสมอไป

เกี่ยวกับภาวะสังคมในสยามนั้น องค์ปาฐกรับสั่งว่า ในทางประวัติศาสตร์เราไม่ตกอยู่ในภาวะอันร้ายกาจเกินไป เช่นที่นานาประเทศได้ประสพมา ระบบศักดินาจริง ๆ ดังที่มีอยู่ในยุโรปนั้น เราไม่มี เรามีศักดินาแต่ในนามและภาวะที่คล้าย ๆ กัน เช่นเรามีเลกและไพร่ แต่ไม่มีเจ้าที่ดินใหญ่ ๆ อันเปนเชื้อเพลิงอย่างดีของการปฏิวัติและไม่มีพวก serfs แท้ ๆ ในสยามที่ดินผืนใหญ่ ๆ มีเพียง ๑๕ เปอเซ็นต์ที่ชาวนาเปนผู้เช่า อีก ๘๕ เปอเซ็นต์ เปนของชาวนารายย่อย ๆ ดังนั้นปัณหาเรื่องที่ดินที่ใช้ในการเพาะปลูกไม่เปนปัณหาที่มีอันตรายเท่าใด (แต่ก็มีปัณหาอย่างอื่นที่มีอันตรายไม่น้อย) ความอ่อนแออย่างยิ่งในสยามอยู่ที่การถือลัทธิ Conventionalism ดังที่ได้ถือกันในยุโรปสมัยกลาง แต่สยามยังคงถือลัทธินี้อยู่จนบัดนี้ ลัทธิถือประเพณีหรือ Conventionalism นี้สำหรับในสยามองค์ปาฐกสมัครจะเรียกว่าลัทธิชายกระเบน ลัทธิดังกล่าวนี้หมายถึงว่าผู้ถือพยายามจะทำตนให้ใกล้กับโรงพิพิธภัณฑ์เข้าไปทุกที

ที่มา : ไม่ทราบแหล่งพิมพ์ครั้งแรก
เวลา : 20 มีนาคม พ.ศ.2493

 

หมายเหตุ:

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
  • อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, เรื่อง “การศึกษาปัณหาสังคม”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548),  น. 389.
  • ตัวเน้นโดยผู้เขียน

บรรณานุกรม :

  • กุหลาบ สายประดิษฐ์, เรื่อง “การศึกษาปัณหาสังคม”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548),  น. 389-394.

บทความที่เกี่ยวข้อง :