Focus
- มุมมองที่ประทับใจเกี่ยวกับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ นอกเหนือจากการต่อสู้ในทางการเมืองหรือในทางสันติภาพแล้ว คือมุมของคุณแม่ที่ต้องทำงานและเลี้ยงลูก 6 คน แต่ต้องพบกับความกดดันขณะถูกควบคุมตัวที่กองสันติบาลในขณะที่สามีไม่อยู่ (ลี้ภัยในต่างประเทศ)
- การเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชนของผู้อภิปรายจะมุ่งให้ลูกความได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ การต่อสู้กับแรงเสียดทาน นำไปสู่ความภาคภูมิใจ มีแรงในการทำงาน มีความเข้มแข็ง และองค์กรเติบโต โดยมีทนายความเพิ่มมากขึ้นและได้ทำงานที่มีคุณค่า
- ในฐานะสส. สิ่งที่ต้องการสนับสนุนให้เกิดขึ้นผ่านการทำงานการเมือง อาทิ การให้ความสำคัญกับแม่ที่ทำงานและการเลี้ยงดูเด็ก นโยบายเกี่ยวกับผู้หญิง สภาผู้แทนราษฎรที่มีสัดส่วนผู้หญิง:ผู้ชาย = 50:50 การจ่ายภาษีของประชาชนที่สอดคล้องกับสวัสดิการที่จะได้รับ การจัดทำงบประมาณที่กระทรวงต่างๆ มีการประชุมหารือกัน ไม่ตั้งและไม่ใช้งบประมาณซ้ำซ้อนเพื่อให้มีเงินสำหรับจัดสวัสดิการแก่ประชาชนมากขึ้น และการเมืองที่เข้าถึงง่าย
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล
ลำดับถัดไปเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองของผู้หญิงกับการต่อสู้ จากมุมมองทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ณ ตอนนี้เปลี่ยนบทบาทเป็นนักการเมือง อีกทั้งยังเป็นแม่ของลูกด้วย อยากให้พี่แจมร่วมแลกเปลี่ยนถึงบทบาทต่างๆ ที่ตัวเองเป็นค่ะ
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์
ได้มีโอกาสได้อ่านงานของท่านผู้หญิง ซึ่งอาจารย์พัทธ์ธีราสรุปไว้ดีมาก ตอนที่แจมอ่านชีวประวัติของท่านผู้หญิง แจมก็มีมุมที่ทัชอีกมุมหนึ่งนอกเหนือจากการต่อสู้ในทางการเมืองหรือในทางสันติภาพ นั่นคือมุมของคุณแม่ คิดว่าเราอ่านก่อนมีลูกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อาจจะไปประทับใจในเรื่องอื่น แต่พอมาอ่านเล่มนี้ที่แจมมีลูก 2 คน เราประทับใจเรื่องนี้มากเลย แล้วรู้สึกว่าเขาเข้มแข็งมากเพราะรู้ว่าการที่ผู้หญิงมีลูก อย่าว่าแต่ 6 คนเลย แค่ 2 คนที่วิ่งไปมาก็ยังรู้สึกว่ายากมากที่ต้องทำงานและเลี้ยงลูก 6 คน ต้องเจอกับสภาวการณ์กดดัน ต้องไปอยู่ในที่คุมขังนี่เป็นอะไรที่ยากมาก และสามีไม่อยู่ด้วย แจมก็รู้สึกเป็นอะไรที่เรียนรู้ช้าไปมากๆ แอบนึกถึงผู้นำของผู้หญิงในแต่ละประเทศที่เขามีการทำหนังสือออกมาให้เด็กๆ รุ่นหลังๆ ได้อ่านที่อาจเข้าถึงง่ายกับในโรงเรียน น่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะได้เรียนรู้หลายมิติมากๆ
ส่วนของแจมเอง ก่อนจะมาเป็นทนายสิทธิฯ แจมเป็นเด็กคนหนึ่งที่ทำกิจกรรมเหมือนกัน เมื่อเรียนกฎหมายเพื่อเป็นทนาย ตอนนั้นได้รับคำสบประมาทมากมาย โดยเฉพาะจากพ่อที่มองว่าทนายไม่ใช่อาชีพของผู้หญิง ถูกโน้มน้าวให้ไปเรียนบัญชีหรืออย่างอื่น เพราะเป็นอาชีพที่ต้องเข้มแข็ง ยิ่งทำให้รู้สึกว่าต้องเป็นทนายให้ได้
เราได้เป็นทนายนักสิทธิฯ ตอนปี 2557 ในช่วงรัฐประหารจึงได้ไปตามค่ายทหารต่างๆ เพื่อช่วยลูกความ ตอนนั้นโดนแรงเสียดทานมากมายว่ากลางคืนแล้วมาทำไม ทำไมไม่อยู่บ้าน ตอนมีลูกก็โดนว่าทำไมไม่เลี้ยงลูกอยู่บ้าน พอได้ทำคดีไปเรื่อยๆ ได้ไปตามหาคน ให้เขาได้รู้สิทธิ ได้รู้ว่าสามารถติดต่อญาติได้ จึงทำให้เราทำให้รู้สึกดี
ลูกความหลายๆ คนเจอเรา บางคนร้องไห้กอดเรา เพราะตอนที่เขาอยู่ในห้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ เขาไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร วันที่มีเสียงเราลอดเข้าไปว่าเป็นอย่างไรบ้าง มันทำให้เขารู้สึกว่ายังมีคนที่เห็นเขา ได้ยินเสียงของเขาเหมือนกัน ในเวลาที่เกิดคดีขึ้น จึงไม่เคยรู้สึกว่านี่ดึกดื่นมากขนาดไหนแล้ว แต่กลับรู้สึกว่าไม่ว่าจะดึกมากมายขนาดไหน หรือว่าเราจะ้องไปเจอกับอะไร เราต้องไปถึงที่ตรงนั้นให้เร็วที่สุด เพื่อให้เขารู้สึกว่าสบายใจว่าที่มีทนายความอยู่
ตอนแจมเป็นทนายความสิทธิฯ เพิ่งเรียนจบ ยังไฟแรงมากเหมือนกัน ตอนนั้นยังไม่มีใครเข้าใจคำว่า Human Rights แจมได้รับฉายาว่า “ทนายโจร” จะมาช่วยพวกมันทำไม พวกมันทำอะไรบ้าง แจมไม่รู้ว่าเขาจะโดนข้อกล่าวหาอะไรหรือเขามีพฤติการณ์อะไร สิ่งหนึ่งที่ควรที่จะได้รับคือ สิทธิขั้นพื้นฐาน ได้เข้าถึงทนายความ อย่างน้อยต้องให้เขาได้ติดต่อญาติ ให้เขาได้รู้ว่าเขาอยู่ตรงไหน
เมื่อเราทำไปเรื่อยๆ เหมือนได้เก็บความภาคภูมิใจเอาไว้ไปเรื่อยๆ จึงทำให้เรามีแรงในการทำงาน จากที่ขาสั่นก็ไม่สั่นแล้ว มันก็มีความเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ในการทำคดีจนองค์กรเติบโต มีทนายความเพิ่มมากขึ้น เรารู้สึกว่าเป็นช่วงชีวิตที่ดี และได้ทำงานที่มันมีคุณค่ากับเรามากๆ
พอทำงานทนายสิทธิฯ ไปเรื่อยๆ ก็จะเริ่มมีลูก พอมีลูก ก็จะเจอข้อท้าทายเหมือนกันว่าผู้หญิงเมื่อมีลูกให้ไปหางานอย่างอื่นทำไหม เพราะงานนี้มีความเสี่ยงที่จะถูกจับ ไม่รู้จะมีคดีเมื่อไหร่ ควรจะไปอยู่บ้านเลี้ยงลูกดีกว่า เพราะว่าผู้หญิงจะต้องเป็นแม่บ้าน เลี้ยงลูก ซับพอร์ตสามี หรืออะไรก็ตาม แต่วันที่เรามีลูกตอนนั้นเราก็ยังอายุไม่ได้เยอะแต่ยังสามารถทำอะไรได้อีกเยอะ
การทำงานเป็นทนายความสิทธิฯ เรามองว่าเป็นการทำงานเพื่อลูกเราอีกทางหนึ่ง เพื่อที่ว่าในอนาคต เราไม่รู้ว่าวันหนึ่งเขาอาจจะเติบโตมา อาจเป็นนักเรียกร้องสิทธิ แล้วถูกจับกุม ทุกครั้งเวลาไปเป็นทนายว่าความให้มายด์หรือน้องๆ หลายคน แจมจะบอกอยู่เสมอว่ารู้สึกเหมือนเป็นทนายให้ลูกอยู่ เหมือนว่าเรากำลังทำอยู่ ถ้าเราไม่ทำอะไรก็อาจกลายเป็นลูกเราที่นั่งอยู่ตรงนี้
แล้วพอวันที่มีลูกก็จะค่อยๆ ถูกลดบทบาทลง แจมจะเจอภาวะพอเราเปลี่ยนบทบาทต่างๆ มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รู้สึกว่าเราได้ทำงานน้อยลง คนเคยทำงานทุกวัน วันหนึ่งพอมีลูกก็มีโรคซึมเศร้า แล้วก็เริ่มเห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้นในมุมที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ก่อนหน้านี้คิดว่าการเป็นแม่มันสบายมาก คือการได้ลาคลอดสามเดือนคิดว่าสบายแน่ๆ ได้นอนทั้งวันแน่ จำได้ว่าบอกกับที่ทำงานว่า “พี่ แจมลาคลอดสามเดือนนะ พี่เอางานมาให้หนูเลย มาจะให้ทำข้อมูลจับกุมการดำเนินคดีอะไรเอามาให้เลย ช่วงสามเดือนมันต้องน่าเบื่อแน่ๆ นอนเฉยสบาย ของานทำ” พี่บอกจริงหรอ
พอสามเดือนแรก มันคือกงกรรมกงเกวียนอะไรบางอย่างที่เราไม่สามารถหลุดพ้นได้ แจมเข้าใจแล้วว่าทำไมถึงมีข่าวแม่ฆ่าลูก หรือมีข่าวผู้หญิงฆ่าตัวตายขณะที่ยังมีลูกอ่อน ฆ่าลูกด้วย ฆ่าตัวเองด้วย เพราะแจมเองก็มีลูปแบบนั้นเหมือนกัน ทั้งๆ ที่แจมจิตแข็งมากๆ เราเข้าใจว่าเราเป็นปัญญาชนคนหนึ่งคงไม่คิดอะไรแบบนั้น พอเราเป็นแม่ฮอร์โมนมันเปลี่ยน หรือสภาพแวดล้อมสังคมต่างๆ เปลี่ยน ทำให้เราเครียด มีความรู้สึกว่าอยากตัดวนลูปเหมือนกัน
ถ้าใครเป็นแม่จะรู้ว่าต้องให้นมลูกอยู่ทุกๆ สองชั่วโมงวนไป โดยที่ไม่รู้วันเวลา ไม่รู้ว่ากลางวันหรือกลางคืน รู้แค่ว่าถ้าเด็กคนนี้ร้อง เราต้องเอานมเข้าปากเด็กทันที แล้วมันเป็นการตัดวงจรในการเจ็บปวดเรื่องนี้ รู้ว่าการลาคลอดสามเดือนไม่เพียงพอ
อีกเรื่องคือเรื่องห้องให้นม แจมลาคลอดสามเดือนแต่ยังทำงานว่าความ ในขณะที่ตอนว่าความ เราปวดเต้านมจำเป็นต้องเอานมออก จะไปรีดเอานมออกในห้องของทนายความ แต่เมื่อเข้าไปในห้องนั้น มีแต่ผู้ชายอยู่เยอะ ไม่รู้จะปั๊มอย่างไร เราเองก็เขิน พอไปต่างประเทศไปตามหาห้องให้นม พบว่าเขามีกันทุกที่และหาง่าย เรื่องนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่ก้าวมาสู่วงการการเมืองเหมือนกัน
ทุกคนอาจจะคิดว่าแจมเข้ามาการเมืองต้องเข้ามาสู้เรื่องความยุติธรรม ศาล อัยการ พอมาพูดเรื่องเด็กบางคนอาจจะประหลาดใจ ความเป็นจริงคือความเจ็บปวดอย่างหนึ่ง พรรคก้าวไกลดีอย่างหนึ่ง คือให้โอกาสคนที่หมกหมุ่นเรื่องไหนมากๆ มาทำงานการเมืองได้ พอเราหมกหมุ่นเรื่องนี้มากๆ เราก็รู้สึกว่ามันต้องมีอะไรบางอย่าง เราก็เข้าใจสัดส่วนผู้หญิงในสภามากขึ้น พอไปดูประเทศที่มีนโยบายเกี่ยวกับผู้หญิง แม่ และเด็ก สัดส่วนผู้หญิงเขา 50% หรือครึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้น การที่ประเทศเรามีนักการเมืองผู้หญิงน้อย จึงไม่ได้แปลกใจว่ามันมีนโยบายทื่อๆ อย่างการจัดสรรงบประมาณรู้ได้เลยว่ามีการจัดสรรงบประมาณทื่อมาก แข็งๆ เน้นเช่ารถ แล้วเน้นจังหวัดชายแดนภาคใต้เยอะ มีแค่นั่งอบรมอย่างเดียว
การที่ผู้หญิงจะเข้ามาสู่การเมืองไม่ง่าย มันยาก การจะให้ผู้หญิงคนอื่นเข้ามาในการเมืองไม่รู้ว่าเขาจะสามารถรับแรงกระแทกได้เท่าเราหรือเปล่า แต่ก็ยังอยากให้ทุกคนเข้าสู่การเมือง อย่างที่บอกเมื่อลงการเมือง ในเขตพื้นที่ของแจมคือสายไหม คู่แข่งของแจมเป็นผู้ชายหมดเลย แล้วเวลาลงพื้นที่มักเจอแต่คำพูดที่ว่า “ตัวแค่นี้เอง จะไปสู้เขาไหวเหรอ แล้วเป็นผู้หญิงมาลงทำงานการเมืองจะไหวเหรอ”
เมื่อลงพื้นที่ ในบางครั้งที่สามีไม่ว่าง แจมก็จะเอาลูกไปด้วย เพราะต้องเลี้ยงลูกเอง เขาก็จะบ่นว่าเอาลูกไปลำบากทำไม ทำไมไม่กลับบ้านไปเลี้ยงลูก เป็นนักการเมืองมันต้องเสียสละ เขาคงเป็นห่วง เลี้ยงลูกอยู่บ้านดีกว่า อย่ามาเล่นการเมืองเลย สู้เขาไม่ไหวหรอก การทำงานการเมืองไม่ได้ใช้ส่วนสูงหรือเพศก็ได้ เราก็ยังทำงานขับเคลื่อนประเด็นที่เราทำได้ เพราะเราทำงานอยู่ในสภาไม่เกี่ยวกับเพศ อาจต้องอธิบายเพราะสังคมเราอยู่กับนักการเมืองผู้ชายมานานมาก อธิบายว่าเรามีจุดประสงค์ของการทำงานการเมืองเรื่องอะไร จนชาวบ้านเริ่มเข้าใจมากขึ้น ถ้าเห็นในสภาจะรู้ว่าแจมทำประเด็นนี้หลัก ถ้านึกถึงประเด็นแม่และเด็กอาจเห็นหน้าแจมลอยมาคนแรก เพราะเป็นคนที่พูดประเด็นนี้แล้วเข้าใจมากที่สุด และยังมีความเชื่อเหมือนกันว่านโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงต่างๆ จะถูกผลักดันได้ในรัฐบาลนี้ คาดหวังว่าในอนาคตจะมีสส.หญิงในสภามากขึ้น
การที่มาเป็นสส.ผู้หญิงคือ พึงระลึกตลอดเวลาว่าเราเป็นแบบอย่างด้วย การเป็นสส. และการเป็นผู้หญิงด้วยสามารถทำงานการเมืองและพื้นที่ได้ดีไม่ต่างจากผู้ชาย เมื่อวาน (13 มกราคม 2567) แจมลงพื้นที่ 19 ชุมชน ทำให้เข้าเห็นว่ามันไม่เกี่ยวกับเพศ เราสามารถทำงานเชิงประเด็นหนักๆ ได้เหมือนกัน เราสามารถพูดในสภาได้เหมือนกัน แล้วสามารถนั่งกมธ.อ่านงบประมาณได้ และอาจละเอียดกว่าผู้ชาย พยายามบอกว่าทำทุกอย่างให้มันไม่ยากเกินไป เช่น แจมเลี้ยงลูกเองโดยที่ไม่มีใครช่วยเลี้ยง แจมก็เป็นนักการเมืองได้ เจ้าหน้าที่แม่บ้านสภารู้จักลูกแจมทุกคน ห้องทนายแจมก็จะมีลูกอยู่
เขาก็จะได้เห็นการทำงานของเรา ว่าทำงานอย่างไร ทำงานในพื้นที่ ทำงานในสภาอย่างไร จะบอกลูกอยู่เสมอ “วันนี้หม่ามี๊กำลังเอาเวลาของลูกมาทำงานนะ อาจจะไม่ได้มีเวลาให้ลูกเหมือนตอนก่อนเป็นสส.หรอก แต่วันหนึ่งหนูจะเห็นว่ามี๊ทำอะไรบ้าง” เขาก็จะเข้าใจเรามากขึ้น แล้วทำให้คนเห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน และทุกคนเป็นนักการเมืองได้ เพื่ออนาคตที่ควรมีสัดส่วนของผู้หญิงเข้ามามากขึ้น มีสภาก็วาดฝันว่าจะมีสัดส่วนผู้หญิงผู้ชาย 50:50 เหมือนกันเพื่อขับเคลื่อนประเด็นผู้หญิงได้เหมือนกัน เวลามีประเด็นหนักๆ เกี่ยวกับผู้หญิง จะได้มีคนที่เข้าใจอารมณ์ร่วมเหมือนกัน จริงๆ เตรียมประเด็นเรื่องคุกคามทางเพศมาด้วย แต่เก็บเอาไว้รอบหน้า พอมีประเด็นแบบนี้ขึ้นมาในทางการเมือง จะเห็นได้ชัดว่าผู้หญิงเยอะสำคัญขนาดไหน พอมีเสียงผู้หญิงเยอะ มันช่วยให้สำคัญมากขึ้นขนาดไหน
ตอนที่เป็นทนายความเป็นเรื่องที่สู้มาเหมือนกัน และสู้กับเพื่อนๆหลายคน คือเรื่องการใส่กางเกง น้อยคนที่จะรู้ว่าทนายผู้หญิงใส่กางเกงไม่ได้ ซึ่งตอนนั้นแจมก็รู้ แต่เห็นว่ากฎหมายมันนานมากแล้ว ตอนแรกชอบใส่กระโปรงเพราะอ้วนจากการตั้งท้อง แล้วมาวันหนึ่งเห็นรุ่นน้องถูกผู้พิพากษาดุเรื่องกางเกง เรารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมกับเขา ทำไมต้องทำแบบนี้ เราจึงเริ่มใส่กางเกงทุกวันที่ไปศาลจนผู้พิพากษารู้ พอทำไปเรื่อยๆ ให้สังคมได้เข้าใจ ก็ใช้ทวิตเตอร์สื่อสารให้คนเข้าใจ จนกลายเป็นประเด็นขับเคลื่อนจนทุกวันนี้ที่สามารถใส่กางเกงได้แล้ว นี่คือหนึ่งในสิ่งที่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้าจะมีแค่เรา แค่ทีมงาน หรือกลุ่มคนเคลื่อนไหวคงไม่พอ แต่ถ้ามีประชาชนมาช่วยกันพูดถึงด้วย พอเสียงดังมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงก็จะมาถึง
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล
ตอนลงพื้นที่เราเข้าใจดีเรื่องคำสบประมาท คือเมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้หญิงขึ้นมามีบทบาทนำ มักจะถูกตั้งคำถามเยอะมากว่าทำได้จริงๆ เหรอ คุณจะไปสู้ในสังคมที่กดทับมานานขนาดนี้ได้อย่างไร โครงสร้างมันแข็งมาก มีความอันตรายมาก คุณเป็นผู้หญิงคุณจะทำได้เหรอ มายด์คิดว่าคำสบประมาทแบบนี้พี่แจมน่าจะโดนมาเยอะมากในช่วงนั้น
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์
พอเราโดนบอกว่าทำไมไม่กลับบ้านไปเลี้ยงลูก เราเลยบอกว่าแล้วผู้ชายไม่เลี้ยงลูกเหรอ เขาก็บอกว่าแซวเล่น
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล
มายด์เองก็คิดว่าการที่มีสัดส่วนที่ผู้หญิงมีบทบาทนำ มีความสำคัญมากที่มีสัดส่วนที่เท่าเทียมกันกับเพศอื่นๆ ด้วย ตอนนี้มายไม่ได้มองแค่ชายกับหญิง มีเพศอื่นๆ ด้วย และไม่ควรใช้คำว่าเพศมาจำกัดกรอบศักยภาพของมนุษย์ แต่ว่าเราต้องยอมรับว่าในรัฐธรรมนูญยังจำกัดเพียงแค่เพศชายกับเพศหญิงง
สิทธิของผู้หญิงบางส่วนไม่ได้รับการประกันจริงๆ เลยด้วยซ้ำ บางอย่างยังคงเรียกร้องอยู่ เช่น ผ้าอนามัยฟรี ซึ่งเข้าใจแรงเสียดทานของพี่แจม ขอบคุณที่เล่าให้ฟังและทำให้ทนายความผู้หญิงสามารถใส่กางเกงว่าความได้ ขอบคุณทุกคนที่ช่วยต่อต้านท้าทายอำนาจที่ไม่มีเหตุผลเท่าไหร่นัก
มายด์อยากแชร์ ในมุมว่าบทบาทของผู้หญิงที่ขึ้นมาพูดถึงเรื่องยากๆ เรื่องที่คนปกติเขาไม่พูดกันต้องโดนแรงเสียดทานขนาดไหน ในยุคของพี่แจมอาจโดนหนักกว่ามายด์ ในยุคที่เป็นคสช. นึกภาพออกเลยว่าที่มีทหารใส่ชุดเต็มยศถือปืน ตอนนั้นเพียงแค่มายด์ติดป้ายที่มหาวิทยาลัย มายด์ยังถูกทหารบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยขนาดนั้น แต่เพียงแค่ไม่เป็นข่าว ณ ตอนนั้นเกิดสถานการณ์แบบนี้เยอะมาก มายด์โดนตั้งคำถามกับกิจกรรมครั้งนั้น เป็นการติดป้ายว่า “รัฐประหารครั้งนี้ ใครได้ประโยชน์สูงสุด” วันที่ 22 พฤษภาคม 2559 ป้ายนี้ติดไปได้เพียงสองวันก็ถูกปลดออก
หลังจากนั้นประมาณหนึ่งสัปดาห์มีตำรวจและทหารนอกเครื่องแบบบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัย คณบดีให้อาจารย์โทรศัพท์เรียกเรามาถามว่า “พวกหนูเป็นคนที่ไปติดป้ายใช่ไหม” ตำรวจผู้ชายเห็นมายด์จึงบอกว่า “ตัวเล็กแค่นี้ ขับกระบะคันใหญ่จัง” เพราะตอนนั้นมายด์เป็นคนขับรถกระบะไปติดป้ายให้เพื่อน “ไม่กลัวเหรอ มาทำอะไรแบบนี้กับพวกเขาไม่กลัวเหรอ” มายด์บอกกลับไปว่า “พี่ไม่คิดว่าหนูเป็นคนชวนพวกเขามาบ้างเหรอ พี่ไม่คิดบ้างเหรอว่าหนูจะต้องทำตามพวกเขาอย่างเดียวเหรอ”
มายด์คิดว่าการสบประมาทแบบนี้จะเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม ส่วนหนึ่งคงจะเป็นมาจากสภาพสังคมไทยที่ถูกกดทับด้วยระบบชายเป็นใหญ่มายาวนาน จะเห็นได้จากที่ขบวนการแรงงานของผู้หญิงในช่วงปี 2533 ได้มีการเดินขบวนเรื่องสิทธิการลาคลอด ทำไมเขาถึงต้องเรียกร้อง เพราะก่อนหน้านี้สหภาพแรงงานเองที่ถูกควบคุมโดยผู้ชายเป็นใหญ่ ไม่เข้าใจว่าสิทธิของผู้หญิงจะต้องมีอะไรบ้าง หรือจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรอีกบ้าง
พอผู้หญิงพูดว่าการอยากไปลาคลอดหรือเรื่องเงินเลี้ยงดูเด็ก เขาจะมองว่าหน่อมแน้ม ช่วงที่ได้ศึกษาเจอว่า กว่าที่ขบวนการแรงงานผู้หญิงจะพูดออกมาได้ พวกเขาต้องถูกสบประมาท ด้อยค่า กับสิ่งที่เป็นเรื่องธรรมชาติ อย่างเรื่องลาคลอดถูกมองว่าเป็นเรื่องแบบนั้น ท้ายที่สุดแล้วผู้หญิงก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าผู้ชาย
ในท้ายที่สุดในปี 2533 ทุกวันสตรีสากล ขบวนการแรงงานผู้หญิงก็เรียกร้องขอสิทธิลาคลอด 90 วัน มาตลอด 3 ปี แล้วได้สิทธิลาคลอด 90 วัน ซึ่งให้ย้อนกลับไปคำพูดของท่านผู้หญิงพูนศุข ว่านี่คือความกล้าหาญที่เป็นอำนาจภายใน มันไม่ได้เกิดกับคนที่โดนกับตัวเดียวๆ โดดๆ เท่านั้น มันอาจเกิดจากสภาพแวดล้อมโดยรวมการที่เราอยู่เป็นขบวนการ การที่เราเสริมสร้างความมั่นใจให้กันและกันได้ เมื่อผู้หญิงรวมตัวกัน เราสามารถเรียกร้องสิทธิการลาคลอดได้
ในยุคนั้นเป็นยุคที่ชายเป็นใหญ่ และไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องพื้นฐานพวกนี้ด้วยซ้ำ คิดว่าเป็นกรณีศึกษาหนึ่งที่สำคัญมาก แม้ว่าในปัจจุบันผู้หญิงจะมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น แม้ว่าสัดส่วนยังไม่สมเหตุสมผลก็ตาม การที่เรามองย้อนกลับไปในอดีตว่าการที่ผู้หญิงจะออกมาเรียกร้องให้สิทธิมีความเท่าเทียมกับผู้ชายมันมีความยากลำบากขนาดไหน
เราจำเป็นต้องกลับไปศึกษา ในปัจจุบันยังมีการแบ่งแยกอยู่ว่าผู้หญิงทำได้แค่นี้ ผู้ชายทำได้มากกว่านี้ หรือเรื่องง่ายๆ อย่างทำไมผู้หญิงถึงไม่มีสิทธิเป็นนายพลหรือผู้บัญชาการบ้าง ผู้หญิงเป็นผู้กำกับเราไม่เคยเห็น มากสุดคือรองผู้การฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดหญิงมีแล้ว บทบาทเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยิ่งต้องทำความเข้าใจกันให้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าถ้ามองบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง การใช้เพศมาจำกัดกรอบ มันไม่สมเหตุสมผลเลยที่คุณจะมาบอกว่าเพศไหนทำได้แค่ไหนอย่างไร การมองคนหรือศักยภาพของคนอื่นๆ การใช้เพศมาเป็นตัวชี้วัดหรือตัวกำหนดกรอบ มันเป็นเหมือนการไปเหยียดกลุ่มคนอื่นที่นอกเหนือจากตนเอง ซึ่งคิดว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจในสังคมมากขึ้น
ทีนี้ขอพูดย้อนมาถึงกระบวนการต่อสู้ของผู้หญิงในขบวนการต่อสู้ ในปี 2559 จะมีกรณีของ ‘กรกนก คำตา’ พี่ปั๊ป ที่ถูกจับเข้าไปในเรือนจำ ในช่วงของการตรวจภายใน พอพี่ปั๊ปได้ออกมาโพสต์ในเฟซบุ๊ก หลายๆ คนไม่ได้รู้ว่าขั้นตอนการตรวจมันอนาจารขนาดไหน ลดทอนศักดิ์ศรีขนาดไหน ละเมิดความเป็นมนุษย์ขนาดไหน ไม่ใช่แค่ว่าขึ้นขาหยั่ง แต่มีคนยืนดูเต็มไปหมด
การที่พี่ปั๊ปเขียนลงบนเฟซบุ๊ก ทำให้หลายๆ คนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในเรือนจำหญิง ก่อนที่ผู้หญิงคนหนึ่งเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ทั้งๆ ที่เรามีเทคโนโลยีที่ทันสมัยแล้ว จนสุดท้ายราชทัณฑ์ได้ออกมาให้เหตุผลชี้แจง โดยอ้างว่าเป็นการตรวจโรค แล้วโรคกับคดีไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน แต่จริงๆ แล้วเป็นการตรวจเพื่อดูสิ่งแปลกปลอมว่ามีการยัดอะไรเพื่อเอาไปข้างในหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ได้ยกเลิกการขึ้นขาหยั่งไปแล้ว แต่ในกรณีของรุ้ง มีการเปลื้องผ้าและหมุนรอบตัวให้แก่ผู้คุม
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล
มายด์อยากอัปเดตว่า ณ เวลานี้มีกฎหมายตัวไหนไหมที่รับประกันสิทธิให้กับแม่และเด็ก ตรงนี้ขอชวนพี่แจมเป็นคนแลกเปลี่ยนค่ะ
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์
ตอนอภิปรายเรื่องสวัสดิการแม่และเด็ก เป็นเรื่องที่มักถูกโต้กลับมาเสมอว่าทำไม่ได้ คุณจะทำให้คนจ่ายภาษีเพิ่มไม่ได้ ในกลุ่มแม่ก็บอกว่ายอมที่จะจ่ายภาษีเพิ่ม เรามีงบประมาณมากมายแต่ผลลัพธ์กลับไม่ได้ส่งผลกลับมายังผู้คน ทำให้คนไม่ได้อยากมีลูก ถ้าอยากให้สังคมเป็นแบบไหน ทำให้เราต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
สำหรับนโยบายรัฐสวัสดิการแม่และเด็กถูกมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน เพราะประเทศเราไม่มีเงินที่สามารถทำสวัสดิการได้ ถูกกล่าวหากลับมาว่าก่อนที่จะทำให้เกิดสวัสดิการได้ ต้องให้คนในประเทศหันมาเสียภาษีให้ได้ก่อน เมื่อถามในกลุ่มแม่ๆ ที่เป็นคนธรรมดาพบว่าถ้าได้อะไรกลับมาหรือมีสิทธิมีเสียง ผู้คนก็ยินยอมจ่ายภาษี ไม่จำเป็นต้องดูประเทศฟินแลนด์เป็นตัวอย่าง ไต้หวันสามารถทำได้แล้ว หรือเวียดนาม ขึ้นกับ mindset ว่าผู้บริหารประเทศมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญหรือไม่
เมื่อดูงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแทรกอยู่ทุกหน่วยงาน ทั้งกอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ข่าวกรอง มันเปลือง และเวลาแต่ละหน่วยงานตั้งงบประมาณแต่ละกระทรวงหรือหน่วยงาน เขาไม่มีการคุยกัน รวมถึงเรื่องเช่ารถยนต์ในแต่ละหน่วยงาน และในแต่ละหน่วยงานแต่ละส่วนยิบย่อย มีงบประมาณกองอยู่มากมายมหาศาล แต่เรากลับรู้สึกว่ามันไม่ได้อะไรกลับมาเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตเรา
แม้ว่าเรามีตึกมีถนนมากมายแต่คุณภาพชีวิตคนยังต่ำอยู่ คนก็ยังไม่อยากมีลูกอยู่ดีเพราะยังไม่มีสวัสดิการ เรายังขาดงบหลายอย่างและใช้งบสุรุ่ยสุร่ายอยู่ ทั้งๆ ที่เราต้องการให้คนมีลูกเยอะๆ ตั้งแต่นั่งกมธ. (คณะกรรมาธิการ) เราเห็นเรื่องแรงงานข้ามชาติ ชนเผ่า การโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่เป็นธรรม พอลงพื้นที่พบปัญหาเรื่องงบประมาณครรภ์คุณภาพของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เรื่องเงินอุดหนุนเด็ก เป็นต้น
เรื่องแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศเราแล้วเขายังถูกลืมไปมาก เพราะพอไม่ใช่โหวตเตอร์ นักการเมืองจึงไม่ได้ให้ความสำคัญมาก แต่ถ้ารัฐมองในเลนส์ที่กว้างกว่านั้น ว่าคนกลุ่มนี้เขาจะเป็นแรงงาน เรากำลังบ่นว่ามีเด็กเกิดต่ำ แต่เราลืมมองไปว่าเรากำลังมองข้ามคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มเหล่านี้หรือเปล่า ถ้าเขาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนคนไทยที่อยู่ฟินแลนด์ ถ้าเราปฏิบัติกับเขาแบบนั้น เราก็จะได้แรงงานที่ดี พอเขามีลูก เขาก็จะผลิตลูกให้ลูกมาเป็นแรงงานที่มีคุณภาพในอนาคต
ปัจจุบันรัฐยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเขา ทั้งเรื่องการศึกษา เรื่องสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ตอนนี้เขายังมีการคลอดหมอตำแยอยู่ เขาไม่กล้าเข้าโรงพยาบาล เพราะไม่มีเงินจ่าย ทั้งๆ ที่เด็กที่เกิดมาก็เป็นแรงงานสำคัญให้กับประเทศในอนาคต ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับแรงงานหรือเด็กเล็ก อนาคตของเราก็จะมีอีกรูปแบบหนึ่ง ถ้าเราอยากรู้ว่าให้สังคมเป็นแบบไหน ให้ดูว่าเราใช้เงินงบประมาณไปกับอะไรบ้าง ประเทศที่เจริญเขาไม่ได้เจริญในปีสองปี เขาทุ่มงบประมาณไปกับเด็กที่ไม่ได้หวังผลทันที แต่หวังผลไปอีก 10 ปี 20 ปี มันจะเห็นผลเอง
ปัญหาทุกอย่างที่คุณเอางงบประมาณไปเสียอยู่ที่ต่างๆ ก็เกิดจากวัยเด็กทั้งนั้น องค์กรต่างๆ ทุ่มงบประมาณไปกับการปราบปรามยาเสพติด แม้แต่กอ.รมน.ยังไปปราบยาเสพติดเลย งบประมาณ 138 ล้าน ตอนนี้เรากำลังเอางบประมาณไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เอาเงินไปทุ่มกับการสร้างเรือนจำ ปราบปรามยาเสพติด ป้องกันยาเสพติด อุบัติเหตุต่างๆ วินัยต่างๆ ก้อนทั้งหมดนี้ถ้าเราลงทุนกับเด็กเล็กคือการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ
เด็กเล็กไม่ใช่แค่เงินอุดหนุนเด็ก แต่เป็นสิทธิการลาคลอด เรื่องของรักษาพยาบาลต่างๆ เคยถามว่าทำไมต้องให้แต่เด็กด้วยล่ะ แล้วแบบนี้คนโสดจะไม่รู้สึกว่าเสียเปรียบ ทั้งๆ ที่ทำงานเสียภาษี ไม่ได้มีลูก แต่ในความจริง สุดท้ายแล้วเด็กคนนั้นที่ฉันเคยเสียภาษีให้ ก็เสียภาษีให้กับฉันตอนแก่นั่นแหละ ทำไมฉันต้องเสียดาย ถ้ารัฐสวัสดิการมันครบ เราจะไม่เสียดายเงินภาษี อย่างฝรั่งที่เขามาเที่ยวต่างประเทศแบบเดือนสองเดือนสามเดือนได้ เพราะเขาบอกว่า เขาไม่ต้องกังวลว่าตอนแก่จะต้องมานั่งเก็บเงินเหมือนเราเพื่อเอาไว้ใช้ตอนแก่
เพื่อนของแจมที่ประเทศสวีเดน บ้านข้างๆ จะมีเหมือนคล้ายๆ พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) มาที่บ้านทุกวัน มาดูแลทำอาหารให้ที่บ้านทุกวัน เพราะคุณยายเป็นสาวโสด และมองว่าก็คุณยายเสียภาษีจำนวนมหาศาลมาตลอด มันเป็นปัญหาที่กระทบต่อไปเรื่อยๆ ถ้าแก้จุดหนึ่งได้ ก็จะแก้จุดอื่นๆ ได้ เหมือนแรงงานข้ามชาติเหมือนกัน ถ้าเราจะแก้ แก้จากทำให้เอกสารง่ายก่อน พอเอกสารออกง่าย ไปหาหมอก็ง่าย พอหาหมอง่ายก็ออกใบเกิดง่าย ก็เข้าโรงเรียนง่าย พอเข้าโรงเรียนได้ง่าย เขาก็จะมีการศึกษาเพื่อมาเป็นแรงงานที่ดีในอนาคตต่อไป แต่รัฐของเราออกเอกสารก็ยาก ออกใบคลอดก็ยาก พอจะเข้าเรียน โรงเรียนถามหาใบเกิดก่อนเลย ไม่มีใบเกิดก็ทำไม่ได้ เข้าเรียนไม่ได้ เด็กหลุดนอกระบบ อาจจะไม่ได้มีการศึกษา โตมาเขาก็ไม่มีคุณภาพ แล้วมาอยู่ในสังคมเราต่อไป อาจเกิดอาชญากรรมต่อไป อาจจะเกิดอะไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าสังคมแบบนี้จะเติบโตมาเป็นอาชญากรรม แต่หมายถึงทุกส่วนทุกหน่วยของสังคมเกี่ยวโยงกันหมด
ก่อนมาเป็นนักการเมืองก็ไม่รู็ว่าพวกเขากำลังคิดอะไรกันอยู่ พอมาเป็นนักการเมืองก็ได้รู้ว่า ไม่ใช่นักการเมืองที่จะมีเลนส์แบบเดียวกันในเรื่องแบบนี้ หรือเข้าใจในเรื่องแบบนี้ บางทีคุยกับนักการเมืองด้วยกัน บางคนเขาแทบไม่รู้อะไรเลยด้วยซ้ำ กระทรวงสำคัญๆ ที่ต้องพัฒนาประเทศ อย่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธาณสุข กระทรวงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงพวกนี้ควรที่จะเป็นคนเข้าใจเรื่องนี้จริงๆ ต้องมีการคุยกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างออกนโยบาย ต่างคนต่างเขียนงบประมาณ สุดท้ายแล้วเราก็หนีเรื่องที่เป็นการเมืองไม่ได้
แจมเกิดในยุคสมัยที่ทุกคนบอกว่า การเมืองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ตลอด หรือถูกบอกว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของคุณ หรือบอกว่าเรียนๆ ไปเถอะ อย่าไปสนใจการเมืองเลย แต่สุดท้ายเราหนีไม่พ้นเลย เพราะช่วงชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนเราเสียชีวิต มันคือเรื่องการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พอบอกให้ไปแก้เรื่องปากท้องก่อน ปากท้องก็เรื่องการเมือง ปากท้องก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะยาว ถ้าคุณไม่แก้ในเรื่องโครงสร้างก่อน
คำว่าโครงสร้างมันก็คือระบบ งบประมาณต่างๆ อยากชวนติดตาม ตอนนี้กำลังอ่านงบประมาณอยู่และเป็นคณะกรรมการวิสามัญงบประมาณทั้งหมดอยู่ ทำงานกันอย่างหนักเหมือนกัน ตอนนี้แจมตั้งใจอย่างมาก เหมือนอ่านหนังสือสอบ เพื่อที่จะนำเงินประชาชนออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ แล้วเป็นโอกาสที่เราได้เข้ามา และอยากชวนหลายๆ คนมากๆ ว่ามาช่วยกันอ่านงบประมาณ หรือว่าอนาคตมีโอกาส 3-4 ปีข้างหน้า อยากให้พี่ๆ หรือน้องๆ มาลองเป็นนักการเมืองดู
แจมไปงานเด็กมาเมื่อวาน (13 มกราคม 2567) แจมถามว่าใครอยากเป็น สส.(สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) บ้าง แล้วน่าตกใจมาก เด็กยกมือเยอะมาก ถ้าเป็นแต่ก่อนคนจะคิดยังไง เป็นสส. คือเรื่องไกลตัว ฉันไม่ได้เป็นพ่อแม่ตระกูลไหน แต่เดี๋ยวนี้เด็กยกมือ แจมบอกว่าน้องเป็นได้ ตั้งใจเรียนนะ หรือว่าทำในสิ่งที่น้องอยากทำ อาชีพไหนก็เป็นได้ ไม่จำเป็นต้องเรียนรัฐศาสตร์ก็ได้ ตั้งใจเรียนแล้วก็เก็บความฝันวันนี้เอาไว้นะ แล้ววันหนึ่งเราจะเปลี่ยนประเทศด้วยกัน วันหนึ่งมาเป็น สส. เขตแทนพี่ก็ได้ ทำให้การเมืองมันเข้าถึงง่าย และอนาคตแจมมั่นใจว่ามันจะแก้ปัญหาได้เอง
รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=UuTa8SIzB7Q&t=2599s
ที่มา : PRIDI Talks #24: 112 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิง พูนศุข พนมยงค์ “การต่อสู้ของผู้หญิงเพื่อสิทธิและสันติภาพ” เนื่องในวาระ 112 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ วันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม 2567 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซอยงามดูพลี.