ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

วิทยาศาสตร์กับการเมือง

6
กุมภาพันธ์
2567

Focus

  • การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  นำไปสู่การตื่นตัวของราษฎรในการแสดงออกในทางประชาธิปไตย และการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในทางสังคมหลายประการ รวมทั้งการรับเอาวัฒนธรรมของชาวผิวขาวและการแสดงออกในทางสากลมาใช้ในสยาม
  • กระแสของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้พาเอาความรู้และสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆเข้ามาด้วย และมีการกล่าวถึงในสังคมกันมาก แต่มีการกล่าวถึงกันน้อยในสภาผู้แทนราษฎรในช่วงแรก แต่ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกจะสิ้นสุดลง ผู้แทนราษฎรก็มีการอภิปรายในทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการอภิปรายพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ.2480 ที่ผู้แทนประสงค์ให้รัฐบาลตั้งงบประมาณสำหรับการเกษตรกรรม การโภคกิจ การศึกษา และการเพิ่มงบประมาณให้กรมวิทยาศาสตร์
  • การที่นักการเมืองส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมาย นักเศรษฐกิจ หรือทหาร แต่ไม่มีนักวิทยาศาสตร์มากนัก จึงเป็นข้อจำกัดที่ทำให้นักการเมืองส่วนใหญ่ไม่เรียกร้องงบประมาณ สำหรับใช้ในงานวิทยาศาสตร์และเพื่อการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ด้วย ในขณะที่ประเทศอื่น เช่น ฝรั่งเศส และเยอรมนี ผู้นำประเทศให้ความสำคัญในเรื่องวิทยาศาสตร์อย่างมาก ฉะนั้น รัฐบาลไทยจึงควรส่งเสริมงบประมาณและงานวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยให้การกสิกรรม อุตสาหกรรม และการพาณิชยกรรมเจริญโดยเร็ว

 

หลังจากวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญเมื่อรุ่งอรุณของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อันเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของประชาชาติไทยนั้น ประชาชาวไทยทั้ง 14 ล้านคน ก็ได้ตื่นขึ้นจากนิทรารมณ์พร้อมกัน รัฐธรรมนูญที่ได้รับพระราชทานจากองค์พระมหาประมุขของประเทศได้ส่องแสงรัศมีแจ่มจรัส ยังความสดชื่นให้แก่ประชานิกร เสมือนดวงอาทิตย์ที่ได้ให้แสงสว่าง และกำลังงาน เป็นประโยชน์และเป็นความชื่นบานของชาวโลกทั่วไปฉะนั้น

เรื่องของการเมืองได้รับความสนใจโดยกว้างขวาง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ถูกเลือกตั้งขึ้น เพื่อควบคุมการบริหารงานของแผ่นดิน ตลอดระยะเวลา 4 ปีแห่งชีวิตของสภาผู้แทนราษฎร ท่านผู้แทนทุกคน ต่างได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความพยายาม ต้องต่อสู้และพันฝ่าอุปสรรคนานาประการมาด้วยความมานะและอดทน

น่าจะเป็นเพราะการเมืองของไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้น เรื่องของการเมืองจึงได้ถูกใช้อภิปรายกันในสถานที่ต่างๆ อย่างฟั่นเฝือ นักเรียนต้องการเสรีภาพโดยก่อการไสต๊ค์ครู ลูกศิษย์วัดเรียกร้องเสรีภาพกับพระโดยไม่ยอมหุงหาอาหารถวาย ลูกไม่ยอมฟังคำพ่อแม่โดยอ้างสิทธิเสรีภาพตามระบอบรัฐธรรมนูญ !

ในวาระเดียวกับที่ไทยเปลี่ยนแปลง ระบอบการปกครองนี้ไทยก็ได้ โปรดทางให้มีการเปลี่ยนแปลงในวิถีทางอื่นๆ ด้วย เป็นต้นในทางสังคม วัฒนธรรมของชาวชาติผิวขาวได้แผ่สร้านเข้ามาอย่างรวดเร็ว จนบัดนี้เราได้เห็นการแต่งกายแบบสากลเป็นของธรรมดาไป ยุวสตรีของเราพากันนิยมนุ่งสะเกิ๊ตแทนผ้านุ่งผ้าถุงและผ้าซึ่น เราได้เห็นการยกมือขึ้นแล้วร้องฮัลโหล แทนการเปิดหมวกกับศีรษะไหว้ เราได้เห็นศิลปของการร่ายระบำร้องตามแบบสากลนิยม แทนศิลปของการร่ายระบำรำร้องตามแบบประเพณี และอื่นๆ

พร้อมกับสายธารแห่งวัฒนธรรมตะวันตกที่ไหลล้น เข้ามาอย่างไม่ขาดกระแส เราได้พบสิ่งของเอนกประการ ซึ่งเป็นผลของการวิทยาศาสตร์ติดตามเข้ามาด้วย และน่าจะเป็นเพราะความใหม่ของวิทยาศาสตร์นี่เอง ที่ทำให้ชาวเราเรียกสิ่งของอันถูกประดิษฐ์ขึ้น จากการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ไปหมด ยิ่งไปกว่านั้น คำว่าวิทยาศาสตร์ยังได้ถูกใช้ไป อย่างพร่ำเพรื่อเหมือนคำว่าเสรีภาพ จนกระทั่งความหมายของคำเดิมเลือนไปสิ้น

ตลอดเวลาประชุมทุกสมัยของสภาผู้แทนราษฎรในระยะ 4 ปีนี้ เราได้ยินแต่เรื่องเกี่ยวกับภาษีอากร เรื่องทะเบียน เรื่องการจราจร เรื่องโอนที่ เรื่องเครื่องแบบ ฯลฯ และกระทู้ถามรัฐบาลทำไมอย่างนั้นอย่างนี้ เกือบไม่มีใครเลยที่ให้ความสนใจในความสำคัญของวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นรากฐานแห่งการก้าวหน้าของประชาชาติ ผิดกับสภาของประเทศอื่นที่เรามักจะได้ฟังคำอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์อยู่เนือง ๆ

ในการอภิปรายพระราชบัญญัติเกี่ยวกับภาษีค่านาครั้งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎรของเรา มีท่านผู้แทนผู้มีเกียรติคนหนึ่งได้กล่าวว่า การที่จะช่วยชาวนานั้นหาใช่อยู่ที่การลดภาษีค่านาอย่างเดียวไม่ต้องช่วยเหลือในทางบำรุงให้ชาวมาทำนาดีขึ้นด้วยจึงจะถูก และก็การบำรุงเช่นนี้ย่อมอยู่ที่การส่งเสริมในทางวิทยาศาสตร์กสิกรรม

อย่างไรก็ดี นอกจากในครั้งนั้นแล้ว ก่อนที่สมาชิกภาพของผู้แทนรายฎรสมัยแรกจะสิ้นสุดลงเราก็ได้พบความสนใจของท่านผู้แทนราษฎรในทางวิทยาศาสตร์ทวีขึ้น ดั่งปรากฏในการอภิปรายพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ.2480 ท่านผู้แทนหลายท่านแสดงความประสงค์ให้รัฐบาล ตั้งงบประมาณสำหรับการเกษตรกรรม การโภคกิจ และการศึกษาเพิ่มขึ้น และมีท่านสมาชิกผู้มีเกียรติผู้หนึ่งได้อภิปรายว่า

 

“สำหรับเศรษฐการควร เพิ่มงบประมาณให้กรมวิทยาศาสตร์อีก เวลานี้การวิทยาศาสตร์ของเราไม่ได้ค้นคว้าอะไรกันเลย การที่ตั้งเภสัชกรรมขึ้นนั้น ก็ค้นคว้าแต่ในทางยาเท่านั้น”

 

ข้าพเจ้าไม่ได้นำคำของท่านผู้นั้นขึ้นมากล่าวสดุดี โดยเหตุที่ได้ช่วยพูดเป็นปากเสียงของกรมวิทยาศาสตร์ แต่นำมากล่าวเพื่อแสดงให้เห็นว่า นักการเมืองของเราได้เริ่มเห็นความจำเป็นของวิชาวิทยาศาสตร์ขึ้นแล้ว ทำให้เป็นที่หวังต่อไปว่าในสมัยที่ 2 ของผู้แทนราษฎรซึ่งจะมีการเลือกตั้งกันในปี พ.ศ.2480 นั้นสภา ฯลฯ ของเราคงจะมีท่านผู้เห็นไกลเช่นนั้นเพิ่มขึ้นอีก

ข้าราชการชั้นสูงชาวต่างประเทศผู้หนึ่ง เมื่อทราบว่ารัฐบาลไม่ให้งบประมาณในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์เพียงพอได้ปรารภกับข้าพเจ้าว่า นักการเมืองของไทยโดยมากมักไม่ใคร่เห็นความจำเป็นในทางวิทยาศาสตร์มากนัก เพราะขาดความรู้ในเรื่องนี้ นักการเมืองโดยมากเป็นนักกฎหมาย นักเศรษฐกิจหรือทหาร ไม่ค่อยปรากฏว่ามีนักวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ผู้พูดจะหมายเฉพาะประเทศไทยหรือทั่วๆ ไปไม่ทราบชัด แต่ก็เป็นข้อที่น่าคำนึงอยู่

บรรดาชาวต่างประเทศที่มาอยู่ในประเทศไทยทั้งพ่อค้าและนักวิทยาศาสตร์ ได้ให้ความเห็นกับข้าพเจ้าว่า ไทยเป็นดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัมภาระดิบ ซ้ำดินฟ้าอากาศก็อำนวยให้ แต่เสียดายที่รัฐบาลไม่ลงทุนจริงจังในการค้นคว้าผลประโยชน์ในสัมภาระดิบนี้ ถ้าหากจะได้ลงมือทะนุบำรุงทางค้นคว้าและการทำโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเปลี่ยนสัมภาระดิบเหล่านั้นให้เป็นสัมภาระสำเร็จขึ้นแล้ว คงจะเกิดประโยชน์เพิ่มขึ้นแก่ประเทศอีกเป็นอันมาก

บัดนี้ รัฐบาลนี้ก็ได้เริ่มส่งเสริมการอุตสาหกรรมในประเทศขึ้นแล้ว เราหวังจะเห็นกิจการนี้ก้าวหน้าต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง

ต่างประเทศที่มีรัฐบาลซึ่งเห็นการณ์ไกล ได้ลงทุนลงแรงส่งเสริมงานวิทยาศาสตร์ของชาติมากกว่าเราหลายเท่า ทั้งนี้ด้วยความเห็นพ้องด้วยของบรรดานักการเมืองเป็นส่วนรวม และยังได้รับความสนับสนุนจากองค์การณ์ต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ตลอดจนประชาชนทั่วไปด้วยเป็นเอกฉันท์

ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อท่านลีอองบลุม เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านได้ตั้งให้ มาตาม โยลีโอ คูรี (Joliot Carie) นักวิทยาศาสตร์สตรีผู้เรืองนาม เป็นรัฐมนตรีฝ่ายการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ (Secretary of State for Scientific Research) ซึ่งเป็นพยานอันแสดงได้อย่างชัดแจ้งว่า รัฐบาลฝรั่งเศสมองเห็น ความจำเป็นในการวิทยาศาสตร์อย่างไร

ท่านอดอล์ฟ ฮิตเล่อร์ ประมุขของคณะพรรคนาซีเยอรมันได้แถลงไว้ในตอนที่หนึ่งของเรื่องโครงการณ์ 4 ปี ที่จะบำรุงฐานะเศรษฐกิจของประเทศเยอรมันว่า

 

“...ในระยะ 4 ปีนี้เยอรมันนีจะต้องเป็นอิสสระ ไม่ต้องพึ่งต่างประเทศในวัตถุดิบทุก ๆ อย่างที่ความสามารถของนักวิทยาศาสตร์และนายช่างเยอรมันจะค้นคว้าหามาแทนได้…”

 

ในขณะที่สถานะการเมืองต่างประเทศกำลังตรึงเครียดอยู่เช่นนี้ รัฐบาลของเขายังยอมลงทุนเป็นจำนวนมากในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ ทั้งๆ ที่หาทราบไม่ว่าผลที่จะได้มีอยู่เพียงไหน ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยรัฐบุรุษและนักการเมืองของเขาเห็นพ้องต้องกันว่าการลงทุนในทางวิทยาศาสตร์นั้นไม่ศูนย์เปล่านั่นเอง

ไทยปัจจุบันอยู่ในภาวะสงบเป็นอย่างดี ไม่ถูกกระทบกระเทือนด้วยเรื่องการเมืองต่างประเทศ เพราะไทยเป็นรัฐประชาธิปไตยสายกลาง ท่านนายกรัฐมนตรีของเราก็ได้แถลงในสภาผู้แทนราษฎรว่า วิเทโศบายของไทยยังมั่นคงอยู่อย่างเดิม และความเกี่ยวพันกับต่างประเทศ ก็เต็มไปด้วยสันถวจริตแห่งมิตรภาพ ดังนั้นจึงย่อมเป็นการสมควรนักหนาที่รัฐบาลจะส่งเสริมงานวิทยาศาสตร์ให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น โดยเหตุที่การวิทยาศาสตร์นี่แล้วจะช่วยให้การกสิกรรมและอุตสาหกรรม ตลอดจนการพาณิชยกรรมดำเนินไปด้วยดี ซึ่งจะทวีรายได้ให้แก่ประเทศชาติและก็ด้วยความมั่นคงในการกสิกรรมกับอุตสาหกรรมนี่แหละ ที่เราจะมีกำลังพรักพร้อมสำหรับรักษาเอกราช คือความเป็นไทยของเรา ให้ดำรงอยู่ชั่วกัลปาวสาน

 

ที่มา : ตั้ว ลพานุกรม. 2484. ที่ระลึกในงานรัฐพิธีพระราชทานเพลิงศพ พณฯ ดร. ตั้ว ลพานุกรม ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 4 ธันวาคม 2484. การพิมพ์ไทย, น. 154-160.

หมายเหตุ :

  • บทความชิ้นนี้เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ ฉบับประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2480