ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คุณูปการทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ

9
มีนาคม
2567

Focus

  • • นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดำรงตำแหน่งสำคัญที่ทำให้สามารถสร้างคุณูปการแก่ประเทศไทยหลายประการ คือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแม้ว่าจะรับราชการภายใต้การปกครองของเผด็จการหลายสมัย แต่สามารถสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนมาทุกสมัย อาทิ การวางรากฐานเศรษฐกิจทุนนิยมของไทย การเจรจาต่อรองการกู้เงินจากธนาคารระหว่างประเทศเพื่อบูรณะและพัฒนาการ (ธนาคารโลก-ในปัจจุบัน) การกำหนดและปรับปรุงนโยบายเศรษฐกิจไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  การพัฒนาประเทศด้วยการนำหลักธรรมะมาใช้กับเศรษฐกิจ เพื่อความยุติธรรมในสังคม และความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ การใช้หลักรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (ทฤษฎีลูกโป่งสามลูกสูบ) การจัดตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติและมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ฉบับแรก ฯลฯ

    • นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยังเป็นนักการศึกษาที่ดี มุ่งการสร้างนักเรียนและนักศึกษา ทั้งในทางจิตใจ ความคิด และความสามารถในการประกอบอาชีพ โดยส่งเสริมกิจกรรมของนักศึกษาและการรับใช้สังคมในชนบท และกิจกรรมการพัฒนาอื่นๆ ด้วยโครงการต่างๆ มากมาย ดังที่แสดงให้เห็นชัดทั้งในขณะเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    • การส่งเสริมประชาธิปไตยและสันติภาพในประเทศที่นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ สนับสนุนมีพลังอย่างยิ่งในทางบวกแก่ประชาชนและประเทศ แต่อนิจจากลับมีการปราบปรามนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของทหารและตำรวจ แบบขวาพิฆาตซ้าย และการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครอง โดยพลเอกสงัด ชลออยู่ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นเหตุให้นายป๋วย อึ๊งภากรณ์  ต้องออกเดินทางจากประเทศไทยไปอยู่ในประเทศอังกฤษ ซึ่งสมัยนั้นนายปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นอาจารย์ลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศสก่อนแล้ว

 

“ประชาธิปไตย เสรีภาพ ของประชาชน ความสันติสุขและผาสุกของประชาชน เป็นสิ่งที่ผมปรารถนา”

รักและคิดถึง
ป๋วย

 


จดหมายฉบับแรกนับแต่วันที่อาจารย์ป๋วยไม่สบายเขียนถึงอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล
ที่มา : 100 ปี ชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์

 

ในวาระ 108 ปี ชาตกาล 9 มีนาคม พ.ศ. 2459 ของป๋วย อึ๊งภากรณ์ บทความนี้จะเสนอบทบาทและคุณูปการทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของป๋วย หรืออาจารย์ป๋วยของลูกศิษย์ในทศวรรษ 2500 - 2510 ที่ป๋วยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2502-2514) ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (พ.ศ. 2505-2510) เป็นคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2507-2515) และเป็นศิษย์เก่าคนแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2518) การพัฒนามหาวิทยาลัยกับเหตุการณ์ในช่วง 6 ตุลา 2519 และความสัมพันธ์ทางความคิดระหว่างป๋วยกับปรีดี พนมยงค์ในช่วงบั้นปลายของชีวิต

 

บทบาทและคุณูปการทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจไทยของป๋วย อึ๊งภากรณ์ พ.ศ. 2492-2519[1]

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ในปี พ.ศ. 2492 ป๋วยก็กลับสู่มาตุภูมิพร้อมกับภรรยาและบุตรชายคนแรก “จอน อึ๊งภากรณ์” แล้วเข้ารับราชการในตำแหน่งเศรษฐกร ประจำกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้รับเงินเดือนเดือนละ 1,600 บาท ด้วยเหตุผล “นอกจากจะเกิดเมืองไทย กินข้าวไทยแล้ว ยังได้รับทุนเล่าเรียนรัฐบาลไทย คือเงินของชาวนาชาวเมืองไทยไปเมืองนอก แล้วผูกพันใจว่าจะรับราชการไทยด้วย...”

ป๋วยมองเศรษฐกิจสมัยรัฐบาลเผด็จการทหารว่า

“…เศรษฐกิจภายใต้ระบอบเผด็จการ แน่ๆ จะต้องมีอภิสิทธิ์ และจะต้องทุจริต”

แต่ป๋วยก็เข้ารับราชการทั้งที่รู้ว่ามีการทุจริตเพราะคิดว่า

“ผมทำงานรับราชการมา ผมไม่ได้รับใช้เผด็จการ แต่ผมรับใช้ประชาชนผ่านเผด็จการ”

สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ความสามารถทางด้านเศรษฐศาสตร์และบทบาทผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการคลังของป๋วยปรากฏชัดกระทั่งกล่าวได้ว่า ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้วางรากฐานเศรษฐกิจทุนนิยมของไทยด้วยการนำวิชาเศรษฐศาสตร์มาใช้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ผลงานช่วงแรกในการรับราชการที่ป๋วยมีส่วนร่วมผลักดันให้ประสบความสำเร็จ คือ โครงการเงินกู้ของธนาคารระหว่างประเทศเพื่อบูรณะและพัฒนาการ (ธนาคารโลก-ในปัจจุบัน) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2  ป๋วยช่วยให้ไทยได้ลงนามสัญญาเงินกู้ 3 โครงการ รวม 25.4 ล้านดอลลาร์ จากการเจรจาในที่ประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก  ณ กรุงวอชิงตัน ด้วยผลงานและความสามารถทำให้ป๋วยเลื่อนตำแหน่งจากเศรษฐกรเป็นผู้ชำนาญการคลัง และผู้เชี่ยวชาญการคลัง ประจำกระทรวงการคลัง ในเวลาอันสั้น

ในวัย 37 ป๋วยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและยังเป็นกรรมการอำนวยการของสภาเศรษฐกิจแห่งชาติควบคู่กับตำแหน่งเดิมที่กระทรวงการคลัง มีหน้าที่หลักในการกำหนดและปรับปรุงนโยบายเศรษฐกิจไทย แต่ป๋วยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้เพียง 7 เดือนเศษก็ถูกปลด เนื่องจากไม่ยอมลู่ตามลม เมื่อพลเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ยศขณะนั้น) ต้องการซื้อธนาคารสหธนาคารกรุงเทพ จำกัด ซึ่งธนาคารแห่งนี้ต้องเสียค่าปรับให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยหลายล้านบาท พลเอก สฤษดิ์ จึงต้องการให้ยกเลิกค่าปรับแต่ป๋วยปฏิเสธเลยถูกโอนย้ายจากตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไปเป็นผู้เชี่ยวชาญการคลังที่กระทรวงการคลังดังเดิม

สองปีถัดมา ป๋วยในฐานะผู้ช่วยปลัดกระทรวงการคลังและผู้เชี่ยวชาญ ประจำธนาคารแห่งประเทศไทย มีผลงานปรับปรุงนโยบายเศรษฐกิจของไทยหลายด้าน ทั้งด้านการเงิน การคลัง และการค้า อาทิ เสนอให้ยกเลิกการผูกขาดของสำนักงานข้าวแล้วใช้ระบบการค้าข้าวกับต่างประเทศอย่างเสรี และสร้างเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศโดยเสนอให้รัฐบาลจอมพล ป. ประกาศยกเลิกระบบอัตราแลกเปลี่ยนทางการหลายอัตราแล้วหันมาใช้อัตราแลกเปลี่ยนทางการเพียงอัตราเดียวส่งผลให้ทุนสำรองเงินตรามีมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่ในปี พ.ศ. 2499 ป๋วยเกิดไปขัดผลประโยชน์ของ พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เรื่องการเปลี่ยนบริษัทพิมพ์ธนบัตร จึงตัดสินใจเดินทางไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่างนั้นป๋วยได้ขอความช่วยเหลือจาก Public Administration Service ของประเทศสหรัฐอเมริกา ให้เข้ามาศึกษา ปรับปรุงระบบบัญชี การจัดทำงบประมาณ ปรับปรุงระบบจัดเก็บสถิติด้านศุลกากร และจัดเก็บภาษีศุลกากรของไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

บทความ ธรรมะในด้านเศรษฐกิจ ของป๋วยชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาประเทศด้วยการนำหลักธรรมะมาใช้กับเศรษฐกิจ คือ การช่วยให้เกิดความเจริญขึ้นทุกทางและต้องมีความยุติธรรมในสังคมด้วย วิธีการสร้างความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ คือเก็บภาษีตามรายได้และทรัพย์สินที่มีอยู่ โดยเฉพาะภาษีจากมรดก ส่วนการเก็บภาษีรายได้ ควรเพิ่มอัตราตามปริมาณเงินได้ ผู้ที่มีรายได้น้อยก็เสียในอัตราต่ำแต่ผู้ที่มีรายได้มากก็ต้องเสียสละเสียภาษีในอัตราสูง และป๋วยยังเชื่อว่าการช่วยคนจนแล้วปล่อยให้คนรวยช่วยตัวเองต่างหากที่จะพัฒนาประเทศได้ ซึ่งต่างจากนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่เชื่อทฤษฎีน้ำล้นแก้วและเห็นว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต้องมาก่อนการกระจายรายได้ (Growth and thinkle-down) หมายความว่า เมื่อเศรษฐกิจเจริญเติบโตจนสร้างความมั่งคั่งให้แก่คนส่วนน้อยแล้วน้ำที่ล้นแก้วนั้นจะไหลรินไปสู่คนส่วนใหญ่โดยอัตโนมัติ

 

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

เมื่อ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2501 โดยทำรัฐประหารรัฐบาลของตนเอง (สมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี) ด้วยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงของประเทศและภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยมีคำสั่งคณะปฏิวัติให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 พร้อมทั้งยุบสภาและยกเลิกสถาบันทางการเมืองทั้งหมดแล้วแต่งตั้งสภานิติบัญญัติขึ้น ต่อมาได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้จอมพล สฤษดิ์ มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจากมาตรา 17 และในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502  ก็มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 11

รัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพล สฤษดิ์ ประกาศนโยบายเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจไทยตามแนวทางธนาคารโลกจึงรื้อโครงสร้างการบริหารงานด้านเศรษฐกิจการคลังขนานใหญ่และชักชวนผู้มีความสามารถเข้ามาร่วมทำงานมากมาย รวมทั้งป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งจอมพล สฤษดิ์ ได้โทรเลขไปถึงป๋วยที่ประเทศอังกฤษเพื่อเสนอให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ป๋วยโทรเลขตอบปฏิเสธเนื่องจากเคยสาบานสมัยเป็นเสรีไทยไว้ว่า

จะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ จนกว่าจะเกษียณอายุราชการ

หากป๋วยก็ยินยอมรับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณในเวลาต่อมา เดิมสำนักงบประมาณนี้เป็นเพียง ‘ส่วนการงบประมาณ’ สังกัดกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง แต่จากการศึกษาของ Public Administration Service ที่ป๋วยเคยขอให้เข้ามาวางระบบได้เสนอให้แยกงานงบประมาณออกจากกรมบัญชีกลางและคณะกรรมการฝ่ายการคลังและงบประมาณของคณะปฏิวัติก็พิจารณาแล้วเห็นว่าการงบประมาณนั้นเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารและพัฒนาประเทศเลยเห็นควรให้แยกการจัดทำงบประมาณออกจากการจัดเก็บรายได้และการเบิกจ่ายเงิน โดยจัดตั้งสำนักงบประมาณขึ้นให้มีฐานะเทียบเท่ากรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งป๋วยเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณคนแรก

ป๋วยให้เหตุผลที่เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณไว้ในบทความเหลียวหลัง แลหน้า ว่า

“เมื่อรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารเสร็จก็เรียกตัวผมเข้ามาทำงาน คณะรัฐประหารนั้น ผมเห็นมีผู้หลักผู้ใหญ่ร่วมอยู่เป็นอันมาก เช่น หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ คุณเล้ง ศรีสมวงศ์ คุณทวี บุณยเกตุ คุณพระเวช ยันต์รังสฤษดิ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถือทั้งนั้น จึงตัดสินใจเข้ามาทำงานให้ ซึ่งเป็นตอนที่จอมพล สฤษดิ์ ตั้งใจทำนุบำรุงบ้านเมืองจริงๆ เป็นงานที่ผมเองรู้สึกสนุกมือและสนใจมากๆ และเข้าใจว่าเป็นราชการที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวมจริงๆ เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ตั้งรัฐบาลจึงให้ผมจึงให้ผมเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผมได้ครองตำแหน่งนี้อยู่ประมาณสามปี...”

ผลงานสำคัญของป๋วยขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ คือ การแก้ไข กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและประกาศใช้พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 รวมทั้งปรับปรุงระเบียบวิธีปฏิบัติทางการคลังต่างๆ อาทิ วิธีการงบประมาณ และการเบิกจ่ายงบประมาณ เป็นต้น

                    

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ‘12 ปี 2 เดือน 4 วัน’

นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ชาวต่างชาติและรัฐบาลไทยพยายามจะจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นหลายครั้ง จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติ 2475 และมีการเสนอร่างเค้าโครงเศรษฐกิจฯ ของคณะราษฎรที่มีเนื้อหากล่าวถึงการจัดตั้งธนาคารแห่งชาติเพื่อเป็นกลไกในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศแต่ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจฯ ดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้น ต่อมาเมื่อพลตรีหลวงพิบูลสงครามเข้ามาดำรงนายกรัฐมนตรี และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจึงรื้อฟื้นเรื่องการจัดตั้งธนาคารชาติขึ้นมาใหม่ และในที่สุดก็สามารถร่างกฎหมายจัดตั้งธนาคารชาติไทยสำเร็จ โดยให้มีฐานะเป็นทบวงการเมือง สังกัดกระทรวงการคลัง และมีพระยาทรงสุรรัชฎ์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นผู้อำนวยการ วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย คือ เพื่อประกอบกิจการธนาคาร รับฝากเงินของรัฐบาล ส่วนราชการ และธนาคารพาณิชย์ของไทยหรือต่างประเทศ รวมถึงให้กู้เงินและจัดการเงินกู้แก่รัฐบาล  ที่สำคัญคือ เตรียมการจัดตั้งธนาคารแห่งชาติ

สำนักงานธนาคารชาติไทยเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 แต่ดำเนินงานได้เพียงหนึ่งปีเศษก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น กองทัพญี่ปุ่นผู้รุกรานเสนอให้รัฐบาลไทยจัดตั้งธนาคารกลางโดยมีที่ปรึกษาและหัวหน้างานเป็นชาวญี่ปุ่น แต่รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นเพื่อรักษาอำนาจอธิปไตยและเปลี่ยนฐานะของสำนักงานธนาคารชาติไทยเป็นธนาคารกลางของประเทศโดยสภาผู้แทนราษฎรลงมติประกาศใช้พระราชบัญญัติเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2485 และมีพิธีเปิดธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ในปีนั้น

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นท่านแรก และเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2502 ป๋วยก็เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นคนที่ 7 ควบคู่ไปกับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในปีเดียวกัน ด้วยวัยเพียง 44 ปี เท่านั้น

จอมพล สฤษดิ์ มองว่าป๋วย “เป็นคนซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน จึงได้ให้ความไว้วางใจในเรื่องตำแหน่งหน้าที่ราชการ” ส่วนป๋วยเชื่อว่าสามารถทำงานอย่างซื่อสัตย์ภายใต้ระบอบเผด็จการได้ “ถ้าเราจำเป็นต้องรับราชการในระบบนี้ เราจำเป็นต้องหาวิธีป้องกันมิให้การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องจนเกินไป จริงอยู่ในระบบประชาธิปไตย รัฐบาลควรเป็นผู้วางนโยบาย ข้าราชการควรต้องปฏิบัติตามนโยบาย ถ้าไม่ชอบนโยบายควรลาออกไป เพราะเขาเป็นผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งมาโดยชอบธรรม แต่ถ้าอยู่ในระบบเผด็จการ เราต้องรู้ว่า แม้ว่าเขาจะได้เป็นรัฐบาลเขาก็ไม่ได้รับอำนาจมาจากประชาชน ข้าราชการทั้งหลายจึงควรป้องกันมิให้การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง...

ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ป๋วยใช้หลักรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “ทฤษฎีลูกโป่งสามลูกสูบ” ที่มีสาระสำคัญคือ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องระวังอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของผลผลิตเกินกว่า 2-3 เปอร์เซ็นต์ โดยนำ “ทฤษฎีลูกโป่งสามลูกสูบ” มาควบคุมกำกับการเปลี่ยนแปลงปริมาณเงิน อันได้แก่ ลูกสูบการเงินภายในประเทศ ลูกสูบการเงินระหว่างประเทศ และลูกสูบการคลังของรัฐบาล

ภาพความทรงจำของป๋วย อึ๊งภากรณ์ ช่วงทศวรรษ 2500-2510 จึงเป็นภาพนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี มีความซื่อสัตย์ต่อการทำงานในระบบราชการภายใต้รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ในแง่มุมของผู้ร่วมงาน ป๋วยเป็นนักบริหาร ‘มืออาชีพ’ และ ‘เปี่ยมด้วยเมตตาจิต’ วิทยากร เชียงกูล ผู้ศึกษาบทบาทและความคิดของป๋วยมองว่าในยุคนี้ป๋วยยังไม่มีทัศนะทางการเมืองที่รุนแรงหรือคิดวิพากษ์วิจารณ์ระบบหากมองปัญหาจากทัศนะทางศีลธรรมมากกว่า และปี พ.ศ. 2507 ป๋วยได้แสดงทัศนะทางศีลธรรมผ่านทางสุนทรพจน์ซึ่งผูกเป็นกลอนแปดในงานสมาคมธนาคารไทยว่า

ยังจนในไม่รู้อยู่ข้อหนึ่ง           จอมพล ถ. ท่านแถลงแจ้งเป็นเรื่อง
ท่านปรารมภ์ผมก็เห็นเด่นประเทือง      ว่าใครเฟื่องเป็นผู้ใหญ่ในราชการ

ตัวอย่างเช่นเป็นรัฐมนตรี                       ไม่ควรมีการค้ามาสมาน
อย่าเกี่ยวข้องเที่ยวรับทำเป็นกรรมการ  สมาจารข้อนี้ดีจริงเจียว

ผมสงสัยไม่แจ้งกิจการค้า                      หมายความว่ากิจการใดบ้างยังเฉลียว
กิจการธนาคารท่านผู้ใหญ่จะไม่เกี่ยว    หรือจะเหนี่ยวรั้งไว้ไม่นับค้า

สุนทรพจน์นี้เป็นที่กล่าวขวัญกันมากเพราะว่าป๋วย “กล้า” เตือนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และนายทหารชั้นสูงที่มักเข้าไปดำรงตำแหน่งประธานหรือกรรมการธนาคารต่างๆ เพื่อหาประโยชน์ใส่ตน ผลของสุนทรพจน์ทำให้จอมพล ถนอม นายกรัฐมนตรี ยอมลาออกจากตำแหน่งกรรมการในธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง และ พ.ศ. 2505 ป๋วยขอลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เพราะเห็นว่า คนคนเดียวไม่ควรรับผิดชอบทั้งนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และนโยบายงบประมาณ

12 ปี 2 เดือน 4 วัน ของป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2502-2514) มีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงปฏิรูประบบราชการ จัดตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ และมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ฉบับแรก นอกจากนี้ยังมีหน้าที่สร้างความมั่นคงแก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน ช่วยควบคุมการใช้จ่ายภาครัฐ และดำเนินนโยบายการเงินให้สอดคล้องกันเพื่อไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ผลงานชิ้นสำคัญในยุคผู้ว่าการฯ ป๋วย คือ จัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นเป็นแห่งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2512

แม้หลายฝ่ายจะมองว่าป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นตัวจักรสำคัญในการวางรากฐานให้แก่เศรษฐกิจไทย แต่ป๋วยก็มี ‘ข้ออ่อน’ อยู่หลายจุด ดังเช่นที่รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ วิพากษ์ไว้ว่า “…อาจารย์ป๋วยมองไม่เห็นด้านที่เป็นลบของทั้งธนาคารโลกก็ดี หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศก็ดี มันถูกบงการโดยประเทศมหาอำนาจ…” และ “…มองไม่เห็นว่าการที่สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยจะเข้ามาครอบงำเศรษฐกิจในประเทศไทยได้ยังไง...”  และป๋วยก็มองเห็นความบกพร่องในการทำงานของตนเองโดยเขียนไว้ในบทความเหลียวหลัง แลหน้า ว่า “…ผมเสียดายที่รู้สึกว่าได้บกพร่องไปในการพิจารณาเศรษฐกิจของประเทศ คือดูแต่ความเจริญเติบโตของส่วนรวมเป็นใหญ่ ไม่ได้เฉลียวถึงความยุติธรรมในสังคม ข้อนี้จึงพยายามแก้ด้วยวิธีพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง...”[2]

 

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชีวิตนักการศึกษา

ป๋วยสนใจงานพัฒนาการศึกษามาตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งทางเศรษฐกิจเพราะเห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่และความเป็นธรรมในสังคม ป๋วยแสดงทัศนะต่อระบบศึกษาไทยในบทความการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคมว่า “ระบบการศึกษาของเราบกพร่องหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและหนุ่มสาวในชนบทและแหล่งเสื่อมโทรมในเมือง ไม่ได้รับประโยชน์จากการอำนวยการศึกษาเท่าที่ควร…”

และชี้ว่าการศึกษาควรมีจุดมุ่งหมาย ดังต่อไปนี้

  1. เพื่อที่จะอบรมนักเรียนให้เป็นมนุษย์ที่ดี มีความซื่อสัตย์สุจริต มีศีลธรรม เป็นพลเมืองดีมีความคิดชอบ ทำชอบ ประพฤติชอบ
  2. ควรจะอบรมนักเรียน รวมทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัย ให้รู้จักใช้ความคิด รู้จักบำรุงสติปัญญาให้เฉียบแหลม เพื่อธำรงวิชาการให้แตกฉานและลึกซึ้ง นำมาใช้ประโยชน์ แก่ตนและแก่ประชาคม
  3. ฝึกนักเรียนให้สามารถมีความรู้สำหรับใช้ประกอบสัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตของตนและครอบครัวได้โดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น

แต่การศึกษาไทยยังมีข้อบกพร่องอยู่หลายประการ โดยเฉพาะเชิงโครงสร้าง ทั้งนโยบาย และการบริหาร ซึ่งป๋วยสรุปข้อข้องใจเกี่ยวกับการศึกษาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ไว้ 3 ข้อ ได้แก่

  1.  การตั้งงบประมาณและการวางแผนงานในขณะนั้น ไม่สามารถสนองความต้องการในด้านการศึกษาของประชากร ซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ จะแก้ปัญหา Literacy โดยเร็วก็ไม่สามารถที่จะแก้ได้ จะแก้ปัญหาในด้านทางมัธยมศึกษาสายสามัญหรืออาชีวะก็แก้ยากเต็มที
  2. แผนงานการศึกษาต่างๆ นั้น ไม่มีการประสานกันและไม่มีการแสดงลำดับความสำคัญ
  3. การพัฒนาการศึกษานั้น ไม่สอดคล้องประสานกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

ฉะนั้น เมื่อมีโอกาสป๋วยจึงเข้าไปแก้ปัญหาการศึกษาที่โครงสร้างด้วยการเป็นกรรมการวางแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งป๋วยมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติสนใจการพัฒนาด้านการศึกษา โดยนำผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการศึกษามาร่วมกันศึกษาถึงปัญหาของระบบการศึกษาในขณะนั้น และจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาการศึกษา ระหว่างปี พ.ศ. 2508-2513 รวมถึงริเริ่มโครงการพัฒนาอาชีวศึกษา และโครงการโรงเรียนมัธยมแบบประสมที่มีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นได้มีโอกาสเรียนวิชาชีพด้วย นอกจากนั้นยังผลักดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดสรรทุนการศึกษาแก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศแล้วกลับมาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

“เด็กและคนทุกคนต้องมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค และได้แสดงศักยภาพสุดความสามารถ”   คือ การศึกษาในอุดมคติที่ป๋วยวาดไว้ 

 

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในบทบาทคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 


อาจารย์ป๋วยกลับไปเยี่ยมคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ที่มา: เว็บไซต์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์

 

แม้ว่าช่วงแรกๆ ป๋วยจะสนใจงานพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานมากกว่าอุดมศึกษา แต่ป๋วยก็ไม่ลังเลที่จะรับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2507 ตามคำชวนของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อธิการบดีขณะนั้น โดยในบันทึกมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 5/2507 วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2507 วาระการพิจารณาเรื่องตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ที่ประชุมมีมติให้แต่งตั้ง ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แทนศาสตราจารย์ ดร. สมทบ สุวรรณสุทธิ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ เพราะครบวาระ ต่อมามีคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ 652/2507 เรื่อง แต่งตั้งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15(6) และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495 และมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ ดังกล่าวให้ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2507 เป็นต้นไป หากขณะนั้น ป๋วยยังคงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ขอรับเงินเดือนเพียงครึ่งหนึ่งเพราะว่าต้องการทำงานในตำแหน่งคณบดีให้เต็มที่

ผลจากนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร ที่สืบต่อจากรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งสภาการศึกษาแห่งชาติและสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ประกาศยกย่องให้วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาทางสังคมศาสตร์สาขาเดียวที่ต้องสนับสนุนเป็นการเร่งด่วน โดยที่รัฐสนับสนุนและผลักดันทั้งงบประมาณ รวมทั้งสร้างค่านิยมให้สังคมเห็นความสำคัญของการเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์จึงทำให้จำนวนนักศึกษาในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 เป็นต้นไป มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น งานแรกๆ ที่ป๋วยเข้ามาสานต่อจาก ดร. สมทบ สุวรรณสุทธิ คือการเปิดหลักสูตรเศรษฐศาสตร์บัณฑิตภาคค่ำ และเป็นช่วงที่หลักสูตรใหม่ในระดับปริญญาตรีของคณะเศรษฐศาสตร์ได้รับการอนุมัติพอดี

ในบทความ เศรษฐศาสตร์บัณฑิตอันพึงปรารถนา ป๋วยชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างการศึกษาเศรษฐศาสตร์และการสำเร็จเป็นเศรษฐศาสตร์บัณฑิตไว้ว่า

“ถ้าเราจะเรียนเป็นนักเศรษฐกิจจะเรียนแต่เพียงเศรษฐศาสตร์ก็คงจะพอ แต่เราจะเรียนเป็นบัณฑิตเพื่อให้ได้ปริญญาเศรษฐศาสตร์บัณฑิต วิสัยบัณฑิตย่อมต้องพิจารณาเรื่องต่างๆ ในกรอบแห่งความเป็นจริง และความเป็นจริงแห่งสังคมศาสตร์นั้นย่อมสัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่ จะพิจารณาเศรษฐกิจโดดๆ หาได้ไม่”

การเรียนการสอนในคณะเศรษฐศาสตร์ ยุคที่ป๋วยเป็นคณบดีจึงไม่ได้ขลุกอยู่แค่ในห้องเรียนอย่างเดียว เพราะหลักสำคัญของการดำเนินงานด้านอุดมศึกษาตามทัศนะของป๋วย คือ ต้องอำนวยประโยชน์ให้แก่สังคมและผลักดันมหาวิทยาลัยให้เข้าไปมีบทบาทต่อสังคมทั้งด้านการพัฒนาชนบทและการเมือง ทันทีที่รับตำแหน่งคณบดี ป๋วยก็ตั้งคณะทำงานยกร่างหลักการและระเบียบของโครงการ “ประกาศนียบัตรอาสาสมัครขั้นบัณฑิต” (ป.อ.บ.) ขึ้น และในปี พ.ศ.2513 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโครงการ “ประกาศนียบัตรบัณฑิตอาสาสมัคร” ต่อมามีการโอนผู้รับผิดชอบจากคณะเศรษฐศาสตร์ไปสู่มหาวิทยาลัยโดยตรงและเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร” (ส.บ.อ.) ในสมัยที่ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดี เมื่อปี พ.ศ. 2519 ปณิธานของโครงการบัณฑิตอาสาสมัคร คือต้องการให้บัณฑิตที่จบมหาวิทยาลัยได้ออกไปศึกษา เรียนรู้ และรับประสบการณ์ ฝึกให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่เอาเปรียบผู้อื่น และทำงานด้วยความชอบธรรม

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เล่าถึงป๋วยช่วงที่เป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ในบทความชีวิตนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไว้ดังนี้

“ผมเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2507…เมื่อแรกเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมตั้งใจเรียนรัฐศาสตร์ เพราะมีความสนใจการเมืองเป็นปฐมแต่แล้วเอกบุรุษนาม “ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ก็ทำให้ผมเปลี่ยนความตั้งใจ...ยุคสมัยที่ผมเป็นนักศึกษาเรียกกันว่ายุค ‘สายลม แสงแดด’…แต่ด้วยการใช้สามัญสำนึกที่มีพื้นฐาน มาจากความรักความเป็นธรรม การเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น และความซื่อสัตย์สุจริต อาจารย์ป๋วยมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตนักศึกษา ทีละน้อยทีละน้อย อย่างน้อยที่สุดในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การเปิดโอกาสให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในกิจกรรมที่กระทบต่อผลประโยชน์นักศึกษา มีพื้นฐานมาจากการเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น การกำหนด ‘กฎเหล็ก’ ว่านักศึกษาที่ทุจริตในการสอบมีโทษไล่ออกสถานเดียว มีพื้นฐานมาจากความต้องการให้นักศึกษาซื่อสัตย์สุจริต การส่งเสริมให้นักศึกษาจับกลุ่มถกเถียงกันทางวิชาการมีส่วนในการให้ทางเลือกการใช้ชีวิตอย่างมีแก่นสารแก่นักศึกษา…”

ขณะที่ป๋วยทำงานด้านการศึกษาควบคู่ไปกับงานด้านพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เดือนสิงหาคม พ.ศ.2508 ป๋วยก็ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ในคำประกาศเกียรติประวัติ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

ป๋วยเป็นบุคคลสำคัญผู้แสดงบทบาทอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของธนาคารแห่งประเทศไทยใน...เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางที่มีความสามารถดีเด่นคนหนึ่งของโลก การกระทำของนายป๋วยยังเป็นแรงบันดาลใจสำหรับข้าราชการผู้ขยันขันแข็ง นายป๋วยถือว่า ความเรียบง่าย คือความงามและความซื่อสัตย์สุจริต คือคุณความดีสูงสุดของชีวิต...

นอกจากนี้ บทบาทของป๋วยยังขยายไปสู่กิจกรรมนักศึกษาจากข้อบังคับว่าด้วยสโมสรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงทศวรรษที่ 2510 จะพบว่ากิจกรรมของนักศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของกิจกรรมบันเทิงและกีฬา แต่ปฏิกิริยาของนักศึกษาต่อการเมืองและสังคมขณะนั้นได้ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น และเริ่มต้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในการจัดสัมมนาสำหรับนิสิตนักศึกษาเรื่อง ความรับผิดชอบทางการจริยธรรมเป็นความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ ระหว่างวันที่ 8-9 มกราคม พ.ศ. 2509 โดยมีป๋วย อึ๊งภากรณ์ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานศาลฎีกา อาจารย์หมวก ไชยลังการณ์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนปรินส์รอแยลวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และประธานคริสตจักรแห่งประเทศไทย เป็นองค์ปาฐกสำคัญ

งานนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมถกเถียงปัญหาระหว่างอาจารย์ นักศึกษา และปัญญาชน นอกจากนี้ยังมีอาจารย์และปัญญาชนเข้าร่วมในฐานะพี่เลี้ยงของกลุ่มสัมมนาฯ ย่อย อาทิ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เกษม ศิริสัมพันธ์ เสน่ห์ จามริก นิพนธ์ คันธเสวี วรุณยุพา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นต้น โดยมีนักศึกษาเข้าร่วม 168 คน

สาระสำคัญของการสัมมนาฯ คือ การชี้ให้เห็นถึงภาระรับผิดชอบทางจริยธรรมต่อสังคมว่าจะต้องเริ่มต้นจากบทบาทของมหาวิทยาลัย ซึ่งหมายถึงอาจารย์และนักศึกษา ข้อคิดเห็นดังกล่าวได้มีการเผยแพร่เข้าสู่มหาวิทยาลัยต่างๆ โดยผ่านองค์กรภายในที่นิสิต นักศึกษาสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ และจากจุดนี้เองที่การจัดกลุ่มกิจกรรมในรูปของการถกเถียงปัญหาอันมีสารัตถะที่ก่อให้เกิดความงอกงามทางปัญญาและความคิดหลักที่เรียกว่า “สภากาแฟ” (Coffee Club) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กระทำกันในสำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียนได้ถูกนำมาเผยแพร่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ สภากาแฟในยุคถัดมาได้ย้ายจากสำนักงานกลางคริสเตียนไปที่วัดรังสีสุทธาวาสในบริเวณวัดบวรนิเวศ โดยสุลักษณ์ ศิวรักษ์ จัดตั้งชมรมปริทัศน์เสวนาขึ้น อันเป็นกิจกรรมที่สร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจหรือความคิดเหมือนๆ กัน แม้จะมาจากต่างที่ต่างสถาบัน เช่น รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ดร.อุทัย ดุลยเกษม พิภพ ธงไชย สุชาติ สวัสดิ์ศรี และเทพศิริ สุขโสภา

ป๋วยได้ส่งเสริมกิจกรรมนักศึกษาซึ่งเน้นทางด้านการพัฒนาสังคม รวมถึงด้านประชาธิปไตย กลุ่มกิจกรรมเพื่อสังคมจึงเกิดขึ้นจริงจังเป็นครั้งแรกๆ ในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่น กลุ่มไอแซค (พ.ศ. 2508) กลุ่มเศรษฐธรรม (พ.ศ. 2510) เป็นต้น กล่าวได้ว่าการจัดรูปแบบการปกครองใหม่ของนักศึกษาได้เริ่มต้นขึ้นที่คณะเศรษฐศาสตร์ เมื่อมีการสนับสนุนให้เลือกตั้งผู้แทนนักศึกษาขึ้นในปี พ.ศ. 2508 จากนั้นนักศึกษาได้ร่างระเบียบ “ธรรมนูญการปกครองตนเอง” ซึ่งได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในฐานะ “แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกิจกรรมของนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2511” โดยประกาศใช้หลังข้อบังคับว่าด้วยสโมสรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2511

พ.ศ. 2514 ป๋วยจึงลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อดำรงตำแหน่งคณบดีเต็มตัวเพราะเห็นว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทุ่มเทเวลาโดยกล่าวว่า

“...ผมเห็นว่าการศึกษาของชาติเป็นเรื่องสำคัญยิ่งเรื่องหนึ่ง และหวังว่าจะได้ทำประโยชน์แก่นักศึกษาตลอดจนวงการศึกษาทั่วไปด้วย ใคร่จะได้เห็นประชาชาติไทยและรัฐบาลถือการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ มิใช่เรื่องสมัครเล่นหรือเรื่องที่จะ ‘เจียดเวลา’ มาทำได้ ประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้าดีมิได้ ถ้าเราทอดทิ้งการศึกษา...”

8 ปีที่ป๋วย ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาสำคัญๆ หลายด้าน อาทิ เริ่มใช้หลักสูตรพื้นฐาน และเปลี่ยนเป็นระบบหน่วยกิต และในคณะเศรษฐศาสตร์ ป๋วยก็จัดการยกเครื่องใหม่ ปรับปรุงโครงสร้างภายในคณะฯ อาทิ

ก.  สร้างอาจารย์ประจำ

ข.  ปรับปรุงหลักสูตรชั้นปริญญาตรี

ค.  การจัดตั้งโครงการปริญญาโท ศึกษาเป็นภาษาอังกฤษขึ้น และปรับปรุงปริญญาโท ภาคค่ำ

ง.  ส่งเสริมการอ่านตำรา และก่อตั้งห้องสมุดคณะ

จ.  ปรับปรุงการบริหารงานภายในคณะ

ฉ.  กวดขันคุณภาพและอบรมนักศึกษา

ช.  ส่งเสริมบทบาทอาจารย์

จนส่งผลให้คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลายเป็นคณะที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียสมัยนั้น วิทยากร เชียงกูล และรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ต่างมองสอดคล้องกันว่าก่อนปี พ.ศ. 2514  ป๋วยไม่ใช่นักวิพากษ์วิจารณ์ระบบแต่ภายหลังจอมพล ถนอม กิตติขจร ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลตนเองเมื่อปลายปี พ.ศ. 2514  ช่วงที่ป๋วยเป็น Visitor Professor อยู่ ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจส์ เป็นจุดพลิกภาพป๋วยจากข้าราชการผู้ซื่อสัตย์ไปเป็นบุรุษอันตรายในสายตาชนชั้นปกครองไทยสืบเนื่องมาจาก “จดหมายจากนายเข้ม เย็นยิ่งถึงนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ” ที่ป๋วยเขียนขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 แล้วส่งตรงจากอังกฤษถึงรัฐบาลไทย ป๋วยใช้รหัสสมัยเป็นเสรีไทยแทนตัวเองว่านายเข้ม เย็นยิ่ง ส่วนนายทำนุ เกียรติก้อง หมายถึง จอมพล ถนอม กิตติขจร ใจความหลักในจดหมาย คือคัดค้านการทำรัฐประหารของจอมพล ถนอม และเรียกร้องให้คืนอำนาจอธิปไตยแก่ประชาชน โดยจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว จดหมายฉบับนี้ส่งผลให้ป๋วยถูกติดตามความเคลื่อนไหวจากรัฐและตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์เพื่อประท้วงรัฐบาลเผด็จการที่จำกัดเสรีภาพประชาชน

จากเหตุการณ์ดังกล่าวดูเหมือนจะสร้างรอยร้าวให้แก่รัฐบาลจอมพล ถนอม และป๋วย แต่ไม่นานก็มีคำสั่งกองบัญชาการคณะปฏิวัติที่ 80/2515 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 แต่งตั้งป๋วยเป็นกรรมการบริหารสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติอีกครั้งทั้งที่ยังอยู่ประเทศอังกฤษ ดังนั้น การด่วนสรุปความสัมพันธ์ของป๋วยกับรัฐบาลเผด็จการทหารจึงไม่อาจกระทำโดยไม่พิจารณาบริบทในยุคนั้นได้

 

1 ปี 8 เดือน 8 วัน ของป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[3]

ท่ามกลางบริบทความขัดแย้งทางการเมืองไทยในปี พ.ศ. 2516  ป๋วยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ และได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (พ.ศ.2516-2518) ก่อนจะถึง 14 ตุลาคม 2516 สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รักษาการแทนอธิการบดี 1 ธันวาคม พ.ศ. 2513-16 ตุลาคม พ.ศ. 2516) ในเวลานั้นใกล้ครบวาระและยืนยันว่าจะไม่รับตำแหน่งต่อ คณาจารย์ส่วนหนึ่งจึงหันมาสนับสนุนป๋วยให้เป็นอธิการบดี หากยืนยันต่อนักศึกษาว่า “แม้จะไม่ได้เป็นอธิการบดีก็ไม่เสียใจ เพราะอยากทำงานบูรณะชนบทและพัฒนาการศึกษาในชนบท และยินดีมาสอนที่ธรรมศาสตร์” โดยฝ่ายนักศึกษากลุ่มพลังธรรม คณะนิติศาสตร์ ได้หยั่งเสียงประชามติปรากฏว่าป๋วยได้คะแนนเสียงสูงที่สุด คือ 850 คะแนนจากจำนวนนักศึกษาที่มาลงคะแนนประมาณ 1,240 คน (จำนวนนักศึกษาทั้งหมด 10,000 คน) แต่ว่าป๋วยกลับไม่ได้เป็นอธิการบดีและเล่าเหตุการณ์นี้ในบันทึก “ไปกรุงเทพฯ 9-18 กุมภาพันธ์ 2516” ว่าที่ไม่ได้รับตำแหน่งอธิการบดี ณ ตอนนั้นเนื่องจากผู้นำรัฐบาลเกรงว่าป๋วยจะปลุกระดมพลังนักศึกษาขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และป๋วยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สภามหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งกรรมการสรรหาเพื่อสอบถามความเห็นในประชาคมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในวันที่สภามหาวิทยาลัยประชุมพิจารณาแต่งตั้งอธิการบดี ปรากฏว่าคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี ขอเสนอชื่อป๋วยเพียงชื่อเดียว ซึ่งได้มีการทักท้วงและชี้แจงเหตุผลในการทักท้วงให้มีการเสนอชื่ออธิการบดี 2 ชื่อ

แต่ในที่สุด ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็ได้รับเลือกตั้งให้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นศิษย์เก่าคนแรกที่เป็นอธิการบดี โดยเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2518 บทบาทในด้านการบริหารระยะแรกๆ ในสมัยป๋วยที่เป็นอธิการบดี ได้แก่ สานต่อความคิดและดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้เริ่มมาตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2513 โดยสืบเนื่องมาจากการตระเตรียมโครงการของสภาการศึกษาแห่งชาติเพื่อที่จะพัฒนาระบบมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลขึ้น โดยผู้บริหารมหาวิทยาลัยสมัยที่ป๋วยเป็นอธิการบดี ได้รับช่วงดำเนินเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างมหาวิทยาลัย และยังได้มีมติแต่งตั้งรองอธิการบดี จากการประชุมสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 2/2518 ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 ดังมีรายชื่อต่อไปนี้

อาจารย์เสน่ห์ จามริก       เป็นรองอธิการบดี

อาจารย์นงเยาว์ ชัยเสรี     เป็นรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร

อาจารย์บรรลือ คงจันทร์  เป็นรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา            

ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นวันเปิดการศึกษา ภาคเรียนที่หนึ่ง ป๋วยได้เขียนจดหมายฉบับแรก ชื่อว่า “จากอธิการบดีถึงนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” โดยมีข้อความบางตอนว่า

นักศึกษาที่รัก

วันนี้เป็นวันเปิดการศึกษาภาคแรก ปี 2518 ในนามของคณาจารย์ ข้าราชการ ธุรการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทั้งมวลของมหาวิทยาลัย ผมขอต้อนรับนักศึกษาทั้งเก่าและใหม่ ขอให้จงเล่าเรียนแสวงวิชาในปีการศึกษานี้ได้ผลสำเร็จตามใจหมาย และขอให้มีกิจกรรมต่างๆ ในประเภทต่างๆ ให้มีสุขภาพบริบูรณ์ทั้งทางกาย ทางใจ ทางความคิด ทางสติปัญญา ทั่วทุกคน

................................

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทำเล โดยประวัติ และโดยวิชาที่สอน เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดประตูรับประชาชนอยู่เสมอ ผู้ใดต้องการเดินจากถนนพระอาทิตย์ไปถนนพระจันทร์ก็เดินผ่านมหาวิทยาลัยเราได้โดยเสรี มีอยู่บ่อยๆ ก่อนที่ผมจะรับหน้าที่อธิการบดี ที่ชาวนา ชาวไร่ กรรมกร เข้ามาอาศัยพึ่งพิงบริเวณมหาวิทยาลัย และแท้จริงถ้าจะย้อนกลับไปนึกถึงครั้งที่คนไทย เราคิดจะต่อสู้ป้องกันประเทศในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ธรรมศาสตร์ก็เป็นแหล่งที่ทำการสำคัญของเสรีไทย ด้วยเหตุฉะนี้ ธรรมศาสตร์จึงอยู่ในความเพ่งเล็งของประชาชนโดยทั่วไป ที่เขารักความสัจ ความจริงก็ดีไป ที่เขาต้องการจะโจมตีมหาวิทยาลัย อธิการบดี องค์การนักศึกษา ม.ธ. ตลอดจนชาวนา ชาวไร่ หรือกรรมกร ก็บิดเบือนความจริง กล่าวร้าย อย่างที่ทราบกันอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงขอให้นักศึกษาทั้งหลายพยายามอย่าประมาท พยายามตั้งมั่นอยู่ในศีลและธรรม เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นซึ่งรวมทั้งอาจารย์และเพื่อนนักศึกษา ประชาชน ในการใช้สิทธิ เสรีภาพของนักศึกษาเอง เมื่อเราปฏิบัติได้เช่นนี้ ก็คงจะขจัดปัดเป่าความก้าวร้าวของผู้อื่นไปได้ โดยยึดมั่นอยู่เสมอในหลักการสันติประชาธรรม

ป๋วย อึ๊งภากรณ์

ป๋วยเข้าดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดด้วยถูกบีบคั้นจากทั้งเหตุการณ์ทางการเมืองและเหตุการณ์ภายในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะความขัดแย้งกับนักศึกษา และยังถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ในรายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 1/2519 วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม 2519 ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัย ป๋วยได้แถลงกรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ว่า

….ในขณะที่ได้มีการประชุมอาจารย์ทั้งหลายในเดือนพฤศจิกายนปีกลายนี้ก็ปรากฏว่าในวันที่ 8 ธันวาคม หนังสือพิมพ์สยามิศร์เอาเรื่องไปลง โดยเขียนว่า “ดร.ป๋วย ใช้พลังนักศึกษาเปลี่ยน มธ. เป็นคอมมูน” แล้วก็เรื่องต่างๆ ที่บิดเบือนความจริงทั้งสิ้น เวลานั้นอธิการไปต่างประเทศ

ต่อมาวันที่ 22 มกราคม ก็มีการแจกใบปลิว “แถลงการณ์ฉบับที่ 1” เปิดโปงแผนอุบาทของสุนัขรับใช้จักรวรรดิ์นิยมคอมมูนิสต์ ไม่มีแจ้งว่าใครเป็นผู้แถลง แต่มีข้อความพาดพิงถึงอธิการบดีว่า “พวกมันจะพาประชาชนเดินขบวนไปยังพระราชวังสวนจิตรลดาแล้วยื่นฎีกาต่อในหลวงให้โปรดเกล้า ปลดคณะรัฐบาลรักษาการณ์ชุดปัจจุบันนี้ และให้แต่งตั้งนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์คนใหม่ โดยมีบุคคลร่วมคณะรัฐมนตรี คือ พ.อ.สมคิด ศรีสังคม นายแคล้ว นรปติ นายไขแสง สุกใส นายเสน่ห์ จามริก นายธวัช มกรพงศ์ น.พ.กระแสร์ ชนะวงศ์ นายปราโมทย์ นาครทรรพ และบุคคลพวกมันอีกหลายคน...”

ในวันศุกร์ที่ 23 มกราคม หนังสือพิมพ์สยามิศร์ก็เอาเรื่องนี้ไปลงพาดหัวในความว่า “ฝ่ายซ้ายปลุกระดมขั้นแตกหัก เดินขบวนปลดรัฐบาลรักษาการณ์ ตั้งป๋วยเป็นนายกรัฐมนตรี” แล้วก็เอาใจความในนี้เข้าไปใส่โดยตัดคนอื่นออกบ้าง แต่ว่าชื่ออาจารย์เสน่ห์ฯ ก็คงยังอยู่และเขียนว่าตามแผนการฝ่ายซ้ายและพวกนิยมคอมมิวนิสต์ในขั้นต่อไป ถ้าหากไม่ปรากฏในเวลาตามสมควรแล้วก็จะดำเนินการขั้นสุดท้าย คือ การก่อวินาศกรรมด้วยการวางเพลิงตามจุดต่างๆ

เผอิญวันศุกร์ที่ 23 มกราคมนี้ อธิการบดีเดินทางไปสิงคโปร์ในเวลาเช้า...

…หนังสือพิมพ์สยามรัฐก็นำเรื่องไปเข้าวันที่ 27 มกราคมว่า “ป๋วยบินหนีข่าวปลุกระดมเดินขบวนปลดรัฐบาล” โดยนายตันเหิม โค๊ดข่าวจากสยามมิศร์ และว่า “ยังกะสงสัย บินหนีหรือบินไปตั้งหลักกันแน่” ต่อมาวันที่ 26 มกราคม มีใบปลิวของขบวนการณ์ปราบมนุษย์ทรพี ซึ่งดูแล้วเครื่องพิมพ์ไม่ผิดกับแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2 นั้น เปิดโปงคอมมิวนิสต์ในเมืองก่อการกบฏ เขาใส่ชื่อหลายคน ซึ่งมีพาดพิงถึงอธิการบดีและอาจารย์เสน่ห์ด้วย

อธิการบดีขอยืนยันว่าในตอนนี้ไม่เคยมีความคิดเกี่ยวกับเรื่องไปทำงานทางการเมืองเพื่อจะได้รับตำแหน่งทั้งหลาย...ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวผม ถ้าหากกรรมการสภาและคณาจารย์ทั้งหลายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังข้องใจเกี่ยวกับตัวอธิการบดี ก็ยินดีที่จะอธิบายให้ทราบ ถ้าหากว่าเกิดข้องใจและสงสัยจริงๆ ก็ไม่ควรให้อยู่ในตำแหน่งอธิการบดี เพราะว่าเป็นการเสื่อมเสียแก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถ้าในพวกเราเองเกิดความข้องใจในเรื่องนี้ก็ควรจะเปลี่ยนอธิการบดีเสีย เพื่อประโยชน์ของธรรมศาสตร์...

ป๋วยชี้แจ้งต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยแต่ไม่อาจชี้แจ้งต่อสังคมไทยให้เข้าใจได้เนื่องจากขณะนั้นคนในสังคมต่างหวาดกลัวคอมมิวนิสต์และเห็นว่าเป็น ‘ปิศาจ’ การปลุกปั่นจากรัฐและสื่อว่าป๋วย คณาจารย์กับเพื่อนเป็นคอมมิวนิสต์ ค่อยๆ ก่อตัวและทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งที่ป๋วยไม่เห็นด้วยกับโซเชียลลิสต์ และแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันป๋วยก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงปราบปรามคอมมิวนิสต์ของรัฐบาล ป๋วยยังยืนยันแนวคิดสันติประชาธรรมว่ารัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพทางการเมือง

ในฐานะอธิการบดี ป๋วยเคยกล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับการเมืองว่า

ธรรมศาสตร์เราต้องเอาใจใส่กับการเมือง...เราจำเป็นต้องเอาใจใส่กับการเมือง เราจำเป็นที่จะต้องเอาใจใส่กับทุกข์สุขของประชาชน ทุกข์สุขและเอกราชของประเทศ...เราจำเป็นต้องทำ...

แต่ระหว่างที่พายุขวากับซ้ายพัดกระหน่ำเข้าสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การส่งเสริมกิจกรรมนักศึกษาด้านการเมืองกลับถดถอยเนื่องจากกระแสปลุกปั่นต่อต้านนักศึกษา สภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี-ป๋วยต้องแก้ไขด้วยวิธีจำกัดการทำกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษาลง เช่น จำกัดการใช้หอประชุมเพื่อการจัดกิจกรรมขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) กำหนดเวลาของการอยู่ทำกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย ทำให้ป๋วยถูกกล่าวหาจากนักศึกษาว่าเป็นผู้ขาดความจริงใจในการต่อสู้เพื่อคนยากไร้ จนเกิดการโต้เถียงทั้งในที่สาธารณะและในการประชุมสภามหาวิทยาลัยหลายครั้ง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเผด็จการทหารก็เชื่อว่าป๋วยเป็นผู้หนุนหลังนักศึกษา

กระแสเชี่ยวกรากของความขัดแย้งทางการเมืองไทย และระหว่างนักศึกษากับสภามหาวิทยาลัย สมัยป๋วยเป็นอธิการบดี ยังคงดำเนินต่อไป ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 คณะกรรมการบริหาร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำหนังสือที่ อมธ. 271/2519 เรียน รองอธิการบดี เรื่องขอคัดค้านประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรื่องการปิดโปสเตอร์บริเวณมหาวิทยาลัย

เนื่องด้วยทางมหาวิทยาลัยได้ออกประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง การปิดโปสเตอร์บริเวณมหาวิทยาลัย โดยมีเหตุผลว่าเพื่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสอดคล้องกับคำสั่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ 362/2519 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 และการปิดโปสเตอร์ในบริเวณดังกล่าว ให้ขออนุญาตจากรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา หรือหัวหน้ากองบริการการศึกษา หรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมาย ซึ่งคณะกรรมการบริหาร อมธ. ได้พิจารณาปัญหาการออกประกาศนี้แล้วมีความเห็นในประเด็นสำคัญว่า

“...ทางมหาวิทยาลัยออกประกาศฉบับนี้โดยไม่ได้ปรึกษาหารือทั้งหลักการและวิธีการในเรื่องนี้กับทาง อมธ. เลย” และ “...นับเป็นการละเมิดและขัดกับหลักการสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของการทำกิจกรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” คณะกรรมการบริหาร อมธ. จึงมีมติร่วมกันคัดค้านประกาศของมหาวิทยาลัยฯ ฉบับนี้ และนายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำหนังสือ ที่ อมธ. 269/2519 เรียน ท่านรองอธิการบดี เรื่องขอทักท้วงการใช้กฎของมหาวิทยาลัยลิดรอนสิทธิเสรีภาพการแสดงความเห็นของนักศึกษา เนื่องด้วยทางมหาวิทยาลัยได้ออกคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ 362/2519 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 เรื่องการวางมาตรการเพื่อป้องกันชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย เพื่อขจัดปัดเป่าปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีมาตรการ 3 ข้อต่อไปนี้

  1.  ห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดปฏิบัติการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุม การเขียน การปิดประกาศ หรือการกระทำอันใดที่จะเป็นการเจาะจงโจมตีบุคคลหรือกลุ่มบุคคล หรือมีถ้อยคำท้าทายอื่นๆ ภายในบริเวณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  2.  ห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด เคลื่อนไหวทางการเมืองไปสู่ภายนอกมหาวิทยาลัยโดยใช้ชื่อของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  3.  ห้ามการเคลื่อนไหววันที่ 20 กรกฎาคมนี้ ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือใช้ชื่อของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของนักศึกษาและสภามหาวิทยาลัย คู่ขนานไปกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ปะทุขึ้นหลังจากมีข่าวแจ้งว่าจอมพล ประภาส จารุเสถียร จะเดินทางกลับมาประเทศไทยก็ได้เกิดการชุมนุมและเดินขบวนประท้วงจากสนามหลวงเข้าสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังในรายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 8/2519 วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม 2519 เมื่อผู้ชุมนุมประท้วงการกลับมาของจอมพล ประภาส จารุเสถียร เคลื่อนย้ายจากสนามหลวงเข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ป๋วยได้แถลงสถานการณ์และแถลงชี้แจงประเด็นสำคัญกล่าวโดยสรุปได้ว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พยายามอย่างเต็มที่แล้วที่จะให้เกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นในมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่อาจขัดขวางเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงครั้งนี้ได้เพราะเป็นสิ่งที่เกินกำลังวิสัยที่จะควบคุมจึงต้องตกอยู่ในภาวะจำยอมต่อสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น

และในรายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 9/2519 วันพุธที่ 24 สิงหาคม 2519 ป๋วยรายงานต่อที่ประชุมฯ ป๋วยรายงานเหตุการณ์ปะทะของผู้ชุมนุมกับกลุ่มกระทิงแดง เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งมีผู้เสียชีวิต(นักเรียนอาชีวะ)และบาดเจ็บ ทำให้คณะกรรมการฯ ตัดสินใจว่าจะต้องให้ผู้ชุมนุมออกไปจากมหาวิทยาลัยโดยเร็วที่สุด และต้องขอกำลังตำรวจมาช่วยจัดการ และป๋วยได้เรียกผู้แทน อมธ. และผู้แทนศูนย์นิสิตนักศึกษาไปที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติเพื่อแจ้งให้ทราบและยืนยันว่าแม้จอมพล ประภาสฯ จะออกไปจากประเทศไทยหรือไม่ก็ตามผู้ที่เข้ามาชุมนุมก็ต้องออกไปจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในด้านความสัมพันธ์ระหว่าง อมธ. กับผู้บริหาร ช่วงอาทิตย์ที่เกิดเหตุนั้น ไม่ว่าจะขออะไรผู้บริหารก็ไม่อนุญาต โดยป๋วยเสนอเป็นข้อสรุปเกี่ยวกับเหตุการณ์ ดังนี้

  1. พิจารณาดูแล้ว การชุมนุมทักท้วงในธรรมศาสตร์นับวันจะร้ายแรงยิ่งขึ้น และจะมีอาวุธมากขึ้น ครั้งนี้ก็มีพยานหลักฐานค่อนข้างแน่นอนว่ามีอาวุธยิงปืนออกไปจากธรรมศาสตร์ ซึ่งอาจจะเป็นใครก็ได้ที่เข้ามาชุมนุม
  2. ในประเด็นที่ว่านักศึกษาได้ทำอะไรไปสมควรหรือไม่นั้น จะได้ตั้งกรรมการขึ้นพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังได้ตั้งกรรมการประสานงานอาจารย์กับนักศึกษาขึ้น ตามคำสั่งที่ 425/2519 ลงวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2519 กรรมการชุดนี้มีหน้าที่พิจารณากำหนดแนวทางและขอบเขตกิจกรรมนักศึกษา ตลอดจนทบทวนคำสั่งมาตรการของมหาวิทยาลัยและเรื่องอื่นๆ ที่เห็นสมควร

19 กันยายน พ.ศ. 2519 จอมพล ถนอม บวชเณรจากประเทศสิงคโปร์และเดินทางถึงประเทศไทยเวลาประมาณ 10.00 น. แล้วอุปสมบทเป็นพระภิกษุทันทีที่เดินทางถึงเมืองไทยเพื่อรีบไปเยี่ยมอาการป่วยของบิดา ข่าวการกลับมาของจอมพล ถนอม แพร่ออกไปโดยประกาศของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

เที่ยงวันนั้น สุธรรม แสงประทุม เลขาศูนย์นิสิตฯ แถลงว่าที่ประชุมกลุ่มพลัง 165 กลุ่ม มีมติคัดค้านการกลับมาของจอมพล ถนอม ขณะที่สถานการณ์บีบรัด ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ป๋วยในฐานะอธิการบดี ได้เสนอต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ในรายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 11/2519 วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2519 เรื่องขอบเขตของกิจกรรมนักศึกษาว่า “รับตามความเห็นที่คณะกรรมการประสานงานฯ เสนอมา แต่เห็นว่ายังไม่พอจึงเติมไปว่า

‘นักศึกษาจะต้องเชื่อฟังและกระทำตามคำสั่งของอธิการบดีในกรณีที่อธิการบดีห้ามมิให้กระทำกิจกรรมอันใดอันหนึ่ง’

โดยที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติให้เพิ่มเติมความตามที่อธิการบดีเสนอ ทั้งกรณีการปิดโปสเตอร์ การจำหน่ายสิ่งพิมพ์และหนังสือภายในมหาวิทยาลัย กรณีบุคคลภายนอกใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัย และการเข้ามาในมหาวิทยาลัย แต่หลังจากนั้นเหตุการณ์ก็ลุกลาม มีการชุมนุมประท้วง เดินขบวนขับไล่ ออกแถลงการณ์ จนความขัดแย้งขยายตัวนำไปสู่ความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

เช้าวันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519  เมื่อขวาพิฆาตซ้ายใช้ความรุนแรงล้อมปราบนักศึกษาด้วยเหตุผลว่าผู้ชุมนุมเป็นคอมมิวนิสต์และคิดจะล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและล้มตายจำนวนมาก นักศึกษาบางคนถูกจับแขวนคอ บางคนถูกเผาทั้งเป็น และผู้หญิงบางคนถูกถอดเสื้อจนเปลือย

เวลา 10.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ป๋วยได้แถลงลาออกในการประชุมสภามหาวิทยาลัย (เปิดประชุมฯ ที่สภาการศึกษาแห่งชาติ) แล้วเร่งรุดเดินทางไปประเทศอังกฤษพลิกบทบาทจากอธิการบดีเป็นผู้ลี้ภัยเพียงชั่วข้ามคืน

บทสรุปและภารกิจที่ลุล่วงในระยะเวลา 1 ปี 8 เดือน 8 วัน ที่ป๋วยดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีหลายโครงการที่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของการบริหารงานการศึกษามหาวิทยาลัยที่ป๋วยเห็นว่า ต้องผลิตบัณฑิตให้ได้ทั้งปริมาณ และคุณภาพ มีงานค้นคว้าและวิจัยทางวิชาการเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคมโดยส่วนรวม ตลอดจนให้บริการอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน โดยโครงการสำคัญส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นมาจากแผนพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แผนที่ 4 พ.ศ. 2520-2524

ในรายงานการประชุมคณบดี ครั้งที่ 23/2518 วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2518 ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัย วาระที่ 3 เรื่องการทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัย แผนที่ 4 ป๋วยได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐขอให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แผนที่ 4  พ.ศ. 2520-2524 จึงขอให้ทุกคณะและแผนกอิสระจัดทำแผนทางวิชาการ 5 ปี และป๋วยได้กล่าวต่อว่า “การจัดทำแผนทางวิชาการนี้ยังไม่ต้องคำนึงถึงงบประมาณ แต่ให้คำนึงถึงเรื่องการเลือกเข้าคณะและสาขาวิชาด้วย” และในรายงานการประชุมคณบดี ครั้งที่ 25/2518 วันอังคารที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2518 ป๋วยและรองอธิการบดีได้แถลงถึงการจัดทำแผนพัฒนาระยะที่ 4 ว่าคณะที่ปรึกษาฝ่ายวางแผนและพัฒนา และคณะที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งมีเป้าหมาย ได้แก่

  1. ผลิตบัณฑิตสาขาวิชาต่างๆ ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยปรับปรุงคุณภาพและปริมาณให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาและแผนกำลังคนของชาติ
  2. ปรับปรุงการศึกษาที่จะเป็นพื้นฐานทางสังคมศาสตร์ที่ยังขาดอยู่ ได้แก่ การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์
  3. ปรับปรุงการวิจัยทั้งวิจัยพื้นฐานเพื่อประโยชน์ในความก้าวหน้าทางวิชาการในสาขาที่ทำการสอนอยู่ในมหาวิทยาลัย และวิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของชาติ
  4. บริการด้านวิชาการแก่สังคม ให้ความรู้แก่ประชาชนผู้มีโอกาสน้อยได้มีความเข้าใจและเรียนรู้ในเรื่องของกฎหมาย สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำไปประยุกต์กับการดำเนินชีวิตให้ถูกต้องเหมาะสม
  5. ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างของมหาวิทยาลัย เพื่อให้

(1) การบริหารงานมีความคล่องตัวยิ่งขึ้น มีการกระจายอำนาจมากขึ้น

(2) ให้ประชาคมของมหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยมากขึ้น และมีความสำนึกรับผิดชอบร่วมกัน

(3) ให้ใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ

(4) ให้ทุกคนอุทิศเวลาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

(5) ส่งเสริมคุณภาพและกำลังใจของทุกคนที่ทำงานให้แก่มหาวิทยาลัย

  1. ส่งเสริมให้แต่ละหน่วยงานของมหาวิทยาลัยทุกส่วนทุกด้านมีความก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน ไม่ให้มีส่วนงานใดก้าวหน้าไปแต่ผู้เดียว ตามแนวโน้มความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการที่จะต้องมีการประสานสัมพันธ์ของสาขาวิชาแขนงต่างๆ

โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในระยะแผนพัฒนา ระยะที่ 4 พ.ศ. 2520-2524 สมัยที่ป๋วยเป็นอธิการบดีถือเป็นการวางรากฐานทั้งด้านการบริหารและด้านวิชาการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยสามารถสรุปภารกิจสำคัญสมัยที่ป๋วยเป็นอธิการบดีได้ 4 ประการดังต่อไปนี้

1. ริเริ่มขยายมหาวิทยาลัยไปยังรังสิตโครงการจัดตั้งแคมพัสแห่งที่ 2  ณ บริเวณทุ่งรังสิตนั้นเป็นโครงการใหม่ โดยเริ่มดำเนินการขั้นต้นในช่วงแผนพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระยะที่ 4 และเป็นโครงการระยะยาว 20 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2520-2539 ซึ่งมีการวางแผนและขั้นตอนแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ

ระยะที่หนึ่ง พ.ศ. 2520-2524 ดำเนินการจัดทำผังแม่บท ปรับปรุงพื้นที่ ก่อสร้าง facilities ต่างๆ และดำเนินการก่อสร้างอาคารขั้นต้น

ระยะที่สอง พ.ศ. 2525-2529 ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารอื่นๆ

ระยะที่สาม พ.ศ. 2530-2534 ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารอื่นๆ

ระยะที่สี่ พ.ศ. 2535-2539 ปรับปรุงและจัดทำ Community ภายในแคมพัสรังสิตให้เต็มตามรูปแบบของแคมพัสมหาวิทยาลัยทั่วไป

ในบทความชาญวิทย์ เกษตรศิริ ชีวิตและงาน ของกาญจนี ละอองศรี เล่าถึงชีวิตของชาญวิทย์ที่เคยร่วมงานในสมัยที่ป๋วยเป็นอธิการบดี ชาญวิทย์มีฐานะเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาพื้นฐานและได้กล่าวถึงการริเริ่มขยายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปรังสิตว่า โครงการนี้เป็นผลงานสำคัญอีกโครงการหนึ่งของอธิการบดีป๋วย และการขยายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปทุ่งรังสิต เริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการเปิดสอนนักศึกษาปีที่ 1 ของทุกคณะเมื่อ พ.ศ. 2529 โดยเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 2 นักศึกษาของคณะเก่าทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จะกลับไปเรียนที่ท่าพระจันทร์และเหลือแต่นักศึกษาของคณะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การขยายมหาวิทยาลัยตามแนวทางของป๋วย มีระยะเวลา 10 ปี ผ่านสมัยของอธิการบดี 5 คน คือ นงเยาว์ ชัยเสรี (2529-2531) เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม (2531-2534) นรนิติ เศรษฐบุตร (สมัยแรก 2534-2537) ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (2537-2538) และนรนิติ เศรษฐบุตร (สมัยที่สอง 2538-2541) ซึ่งในสมัยนี้เอง เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีนงเยาว์ ชัยเสรี เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย มีมติกำหนดให้ “ย้าย” อาจารย์ ข้าราชการ ลูกจ้าง และนักศึกษาระดับปริญญาตรีทั้งหมดของคณะดั้งเดิม 8 คณะ จากท่าพระจันทร์ไปรังสิต ซึ่งมีการย้ายมาปฏิบัติจริงในสมัยอธิการบดีนริศ ชัยสูตร ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 โดยให้นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ของคณะดั้งเดิมทั้งหมดอยู่ที่ศูนย์รังสิตไปจนจบการศึกษาปีที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2547 เท่ากับว่าปิดบทบาทของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันอายุครบ 70 ปี

2. ริเริ่มปรับปรุงโครงสร้างทางวิชาการเริ่มต้นด้วยการปรับปรุงสำนักนโยบายทางวิชาการ หรือที่เรียกว่า คณะที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการของอธิการบดี ซึ่งก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2510 คณะกรรมการชุดนี้ได้มีการสับเปลี่ยนตัวบุคคลขึ้นมาเป็นลำดับโดยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องที่มหาวิทยาลัยมอบให้ศึกษาและเสนอแนะ เป็นที่สังเกตว่าคณะที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการฯ ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ประจำทำหน้าที่ช่วยในการศึกษา รวบรวม และติดตาม ตลอดจนการประเมินผลและกิจการทางวิชาการของมหาวิทยาลัยทำให้การดำเนินงานทางวิชาการซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของมหาวิทยาลัยมีลักษณะค่อนข้างลุ่มๆ ดอนๆ ขาดความต่อเนื่อง จนกระทั่งต้นปี พ.ศ. 2518 เมื่อป๋วยเข้ามาดำรงตำแหน่งอธิการบดีก็พร้อมกับที่มีการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการฯ ขึ้นใหม่ และมีการจัดตั้งสำนักงานประจำของคณะที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการฯ เพื่อทำหน้าที่ช่วยในการวิเคราะห์ศึกษา รวบรวม ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานต่างๆ ทางด้านวิชาการและยังมีการปรับปรุงสถาบันวิชาพื้นฐานทั่วไป เนื่องจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนโยบายที่จะจัด

การศึกษาหลักสูตรพื้นฐานทั่วไปเพื่อให้นักศึกษามีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับสังคมในแง่มุมต่างๆ ก่อนที่จะเลือกศึกษาสาขาวิชาใดเป็นวิชาเอก การจัดหลักสูตรพื้นฐานทั่วไปเริ่มมาตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ. 2505 และมีความสัมพันธ์กับนโยบายการรับนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยและการจัดระบบอาจารย์ที่ปรึกษาทั่วไปในสมัยนั้น ซึ่งมีการเปลี่ยนวิธีการวัดผลและหลักสูตรประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายในปีการศึกษา (พ.ศ. 2518) ประกอบกับคณะกรรมการวางพื้นฐานเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (พ.ศ. 2517) ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบการคัดเลือกนักศึกษาเข้าสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเพื่อให้มีความเป็นธรรมและมีความเสมอภาคในโอกาสแห่งการศึกษามากยิ่งขึ้น โดยคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐมีมติเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 12 วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2518 ในหลักการของการปรับปรุงระบบการคัดเลือกนิสิตนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัย ฉะนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายการรับนักศึกษาโดยเฉพาะ

3. ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้และการวิจัยในบทความมหาวิทยาลัยกับสังคมไทย ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารศูนย์ศึกษา เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2516

ป๋วยกล่าวว่า หน้าที่ของมหาวิทยาลัยทางวิชาการ ที่เห็นได้ชัด คือหน้าที่สอนนิสิตนักศึกษาให้มีวิชาชั้นสูง ให้มีความรู้ ความสามารถสนองความต้องการของสังคม และป๋วยได้เสนอประเด็นว่ามหาวิทยาลัยมีหน้าที่อบรมและสอนนักศึกษานั้น มีความหมายที่แท้จริงอย่างไร ตามความเห็นของป๋วย การอบรมและการสอนมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ อำนวยให้นักศึกษาเป็นบัณฑิตได้ ความเป็นบัณฑิตหมายความว่า

  1. เป็นมนุษย์ที่ดี
  2. เป็นพลเมืองที่ดี
  3. เป็นผู้สามารถประกอบอาชีพต้องพร้อมสมบูรณ์ทั้ง 3 ประการ ในทัศนะของป๋วย บุคคลจะมีประโยชน์ไม่ได้ถ้ามีแต่ความรู้สำหรับอาชีพอย่างเดียว ต้องเป็นคนดี มีศีลธรรม ถือความสัตย์ รักศิลปะ และความงาม รักหมู่คณะ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนร่วม บำเพ็ญตนเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ฯลฯ ฯลฯ ที่สำคัญที่สุด คือไม่ยอมเป็นหุ่นกระบอกให้มือที่ 3 ชักใย หรือกรอกคำพูดใส่ปาก และมองว่าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยทางการวิจัยนั้น อาจารย์(และนักศึกษาขั้นปริญญาสูง) ในมหาวิทยาลัย นอกจากจะทำหน้าที่สอนนักศึกษาแล้ว จำเป็นต้องฝึกฝนวิชาของตนให้ลึกซึ้ง กว้างขวาง ก้าวหน้า ให้ทันสมัยอีกด้วย เพราะวิชาในโลกนี้ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ต้องก้าวหน้าอยู่เสมอ

ป๋วยยังชี้ให้เห็นว่า การที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยไทยพยายามฝึกฝน ขวนขวายอ่าน และสดับตรับฟัง เพื่อทราบว่าวิชาในสาขาของตนนั้นในโลกภายนอกได้ก้าวหน้าไปในลักษณะใด และนำมาถ่ายทอดให้นักศึกษาของตนได้รับทันกาละสมัยก็นับได้ว่าเป็นงานวิจัยที่มีประโยชน์จริงๆ ได้สถานหนึ่ง แต่ขอบฟ้าของการวิจัยมิใช่จะแคบเพียงเท่านั้น วิชาความรู้ที่ผู้อื่นในประเทศอื่นเขาสามารถคิดค้นใหม่ๆ ได้นั้น ส่วนมากใช้ได้แต่ในประเทศอื่น จะนำมาใช้ในประเทศไทยก็ต้องดัดแปลงเพิ่มเติมในรายละเอียดบ้าง ในสาระสำคัญบ้าง ฉะนั้น งานวิจัยของอาจารย์ไทยที่อาศัยผลงานของที่อื่นนำมาดัดแปลงให้ใช้ประโยชน์ในภาวะของเมืองไทยก็ย่อมเป็นงานวิจัยที่มีคุณค่าต่อสังคม และโลกแห่งวิชาการเป็นอย่างดี ที่กล่าวนี้ หมายถึงวิชาทุกด้าน วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ศิลปะ วรรณคดี ฯลฯ งานวิจัยของอาจารย์อาจจะมีความมุ่งหมายได้หลายอย่าง ความรู้แบบพหุสาขาวิชาจึงสำคัญยิ่งนักสำหรับอาจารย์สังคมศาสตร์ ในด้านวิทยาศาสตร์ ก็เช่นเดียวกันความรอบรู้ซึ่งเกิดจากงานวิจัยจึงเป็นช่องทางสำคัญที่มหาวิทยาลัยจะบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมได้ไม่ควรละเลย

ดังนั้น เมื่อป๋วยก้าวเข้ามาเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงสานต่อโครงการด้านวิจัย นอกเหนือจากงานวิจัยซึ่งมีอยู่ตามหน่วยผลิตบัณฑิต คือคณะและแผนกวิชาต่างๆ อาทิ สถาบันไทยคดีศึกษา และโครงการสำคัญทางด้านการวิจัย คือ สถาบันวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ก่อตั้งด้วยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่การวิจัยค้นคว้าตลอดจนอำนวยความสะดวกในการทำวิจัยแก่คณาจารย์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีเป้าหมาย ได้แก่

  1. จัดหาและดำเนินการให้ทุนวิจัย
  2. ริเริ่มโครงการวิจัยทางสังคม
  3. เป็นศูนย์รวมข้อมูลและสถิติ เอกสารการวิจัย และการพิมพ์เผยแพร่
  4. ร่วมมือสนับสนุนและประสานงานวิจัยกับสถาบันอื่น
  5. ฝึกอบรมและให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับงานวิจัย

และยังมีการปรับปรุงงานเดิมของโครงการด้านวิจัย  ดังต่อไปนี้

  • โครงการวิจัยและบริการสังคม  คณะนิติศาสตร์
  • โครงการอบรมศึกษาต่อทางธุรกิจและวิจัยทางธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
  • โครงการวิจัยทางสังคมสงเคราะห์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
  • โครงการสำรวจวิจัยทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
  • หน่วยวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์
  • โครงการผลิตตำราทางรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์
  • โครงการวิจัยทางสื่อสารมวลชน แผนกอิสระวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
  • สถาบันไทยคดีศึกษา สถาบันไทยคดีศึกษา
  • โครงการวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานอธิการบดี
  • โครงการพัฒนาชนบทลุ่มน้ำแม่กลอง สำนักงานอธิการบดี เป็นต้น

นอกจากนั้นยังมีการก่อตั้งโครงการใหม่ให้สอดคล้องกับการโครงการด้านการวิจัยและเกี่ยวเนื่องกับโครงการวิชาการ คือ  โครงการสำนักพิมพ์และการวิจัยเพื่อจัดทำตำราของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการผลิตงานวิจัยและผลิตตำราทางวิชาการอันเป็นประโยชน์ต่อคณาจารย์และนักศึกษาสำหรับการค้นคว้าให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

4. การให้บริการแก่สังคมในด้านโครงการศึกษาที่เน้นการให้บริการแก่สังคมนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนโยบายที่จะจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม และให้นักศึกษาได้เรียกรู้จากชีวิตจริง จึงได้มีโครงการบริการสังคมต่างๆ อาทิ จัดตั้งโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลอง (Maeklong Integrated Rural Development Project) ซึ่งสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์บัณฑิตอาสาสมัคร เพื่อให้อาจารย์ วิทยากร และนักศึกษา ได้มีโอกาสศึกษาชนบทไทยอย่างละเอียดและกว้างขวางทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มโครงการเสริมศึกษาเพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนที่สนใจหาความรู้ และปรับปรุงโครงการเดิม ได้แก่

  • ศูนย์ปฏิบัติการสังคมสงเคราะห์คลองจั่น คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
  • โครงการฝึกอบรมวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
  • โครงการศูนย์สุขภาพจิตชุมชนท่าพระจันทร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
  • โครงการเผยแพร่วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
  • โครงการบริการสวัสดิการ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
  • โครงการพัฒนาแหล่งเสื่อมโทรมท่าเรือคลองเตย คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
  • โครงการการวิจัยและการบริการสังคม คณะนิติศาสตร์
  • โครงการเผยแพร่ความรู้ทางรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์
  • โครงการศึกษาด้านปกครองท้องถิ่น  คณะรัฐศาสตร์
  • โครงการอบรมและประชุมสัมมนาทางวิชาการด้านสื่อสารมวลชน แผนกอิสระวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
  • โครงการเสริมการศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานอธิการบดี
  • และริเริ่มโครงการใหม่ คือ  โครงการฝึกอบรม คณะรัฐศาสตร์ เป็นต้น

ภารกิจทั้ง 4 ประการนี้ คือ บทบาทของอธิการบดีป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก่อนกลายเป็นผู้ลี้ภัย

 

ป๋วยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ต่อมาในช่วงเย็นของวันเดียวกันทางพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ได้ทำรัฐประหารในนามคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ต่อมาได้ออกคำสั่งควบคุมกิจกรรมของนิสิตนักศึกษาและนักเรียน ในคำสั่งหัวหน้าปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ 42/2519 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับกิจกรรมของนิสิตนักศึกษาและนักเรียน สรุปว่าให้ยกเลิกระเบียบ ข้อบังคับ และข้อบัญญัติในสถานศึกษาทั้งหมด ระงับกิจกรรมนักศึกษาและนักเรียนไม่ว่าในรูปแบบไหน แม้จะให้จัดกิจกรรมด้านกีฬาและศิลปวัฒนธรรมได้แต่หากต้องจัดนอกสถานศึกษาหรือต้องมีบุคคลภายนอกเข้าร่วมต้องได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าสถานศึกษาสังกัดอยู่ โดยในรายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 14/2519 วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2519 ปรีดี เกษมทรัพย์ อธิการบดีขณะนั้นแถลงว่ากำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับกิจกรรมนักศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งปฏิรูปเกี่ยวกับกิจกรรมนักศึกษา (คำสั่งที่ 42/2519) ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 11 ข้อ และที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยได้อภิปรายและให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในประเด็นเกี่ยวกับกิจกรรมนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอื่นและการจัดส่งนักศึกษาไปฝึกงานพัฒนาชนบทตามหลักสูตรของสำนักบัณฑิตอาสาสมัครและโครงการพัฒนาชนบทลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งทั้งสองโครงการนี้เป็นโครงการที่ริเริ่มมาจากแนวคิดของป๋วยตั้งแต่สมัยเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ระยะนั้นนักเรียน นักศึกษาถูกจับตา และควบคุมกิจกรรมนักศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ถูกจับตามากเป็นพิเศษ

 

หลังวันที่  6 ตุลา 2519
ป๋วยเป็น...ผู้ลี้ภัย

 

 

เพียงไม่นานภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ป๋วยยังได้เขียนบันทึกเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ไว้ในบทความความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ว่า   

การบุกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยตำรวจ ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นการกระทำของรัฐบาลโดยเอกเทศ มิได้มีการหารือกับอธิการบดีเลย แม้ว่าในตอนดึกของวันอังคารที่ 5 ตุลาคม อธิการบดีจะได้พูดโทรศัพท์กับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีก็ตาม นายกรัฐมนตรีไม่ได้แจ้งให้อธิการบดีทราบว่ารัฐบาลจะเรียกตัวหัวหน้านิสิตนักศึกษา หรือนายอภินันท์มาสอบสวน ถ้านายกรัฐมนตรีประสงค์เช่นนั้น ก็มีวิธีที่จะเรียกตัวได้ ให้มาสอบสวนโดยสันติ ไม่ต้องใช้กำลังรุนแรงควบคุมมิได้และจนเกินกว่าเหตุ

และเล่าถึงการล้อมปราบอย่างละเอียด

การโจมตีนักศึกษา ประชาชนที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เที่ยงคืนโดยมีการยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยจากภายนอกนั้น ได้ใช้กำลังตำรวจล้อมมหาวิทยาลัยตั้งแต่ 03.00 น. และได้เริ่มยิงเข้าไปอย่างรุนแรงโดยตำรวจตั้งแต่เวลา 05.00 น. ผู้ที่อยู่ในธรรมศาสตร์ขอให้ตำรวจหยุดชั่วคราว เพื่อให้ผู้หญิงที่อยู่ในมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสออกไป แต่ตำรวจไม่ฟัง

กระทั่งในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2520 คณะองค์การว่าด้วยองค์การระหว่างประเทศ ของคณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ (Subcommittee on International Organization of the Committee on International Relations) ในสภาผู้แทนราษฎรแห่งรัฐสภาที่ 95 ของสหรัฐอเมริกา ได้สืบพยานเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย กรณีเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

ป๋วยกล่าวไว้ตอนหนึ่งของคำให้การซึ่งแปลจากรายงานการประชุมฯ ว่า

เสรีภาพของประชาชนเป็นสิ่งที่แปลก ถ้าตัวเราเองไม่ได้ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพก็จะไม่รู้สึกอะไร และจะพูดเสมอว่า คนอื่นยังสามารถอยู่ได้เลย ภายใต้การกดขี่ ปราบปราม ถ้าคุณเป็นชาวนาและบุตรหลานของคุณถูกตำรวจนำตัวไปโดยที่เขามิได้ก่อกวนแต่อย่างใด มิได้ทำอะไรทั้งนั้น ถูกนำตัวไปโดยปราศจากข้อหา เมื่อนั้นแหละคุณจะรู้สึกขมขื่นมาก

เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นอกจากจะสร้างบาดแผลให้แก่สังคมไทย ป๋วยก็ได้รับแผลที่เมื่อกรีดเลือดยังกลัดหนองจนไม่อาจ ‘ให้การ’ ใดใดได้อีกต่อไป เมื่อป๋วยล้มป่วยลงในเดือนกันยายน พ.ศ. 2520 ณ ประเทศอังกฤษ เนื่องจากความเครียดทำให้เส้นโลหิตในสมองรั่วส่งผลให้ป๋วยไม่สามารถพูดและเขียนได้เนื่องจากสมองส่วนดังกล่าวไม่ทำงาน แต่ยังฟังและอ่านหนังสือเข้าใจ

 

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และปรีดี พนมยงค์ ในทศวรรษ 2510

 


ภาพประวัติศาสตร์ภาพนี้ จริย์วัฒน์ สันตะบุตร ถ่ายที่ม้านั่งบริเวณหอพัก Beit Hall ของ Imperial College กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในงานประชุมของสามัคคีสมาคม ในเดือนกรกฎาคม 2520 ที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้รับเชิญมาแสดงปาฐกถา

 

คำอธิบายภาพ : กษิดิศ อนันทนาธร. (25 พฤศจิกายน 2562). จากภาพประวัติศาสตร์ สู่ ‘อนุสาวรีย์ติดดิน’. https://tu.ac.th/thammasat-memorial-puey-ungphakorn-and-pridi-banomyong, สืบค้นเมื่อวันที่  6 มีนาคม 2567.

 


[ภาพจากซ้าย] ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พูนศุข พนมยงค์ ปรีดี พนมยงค์ และไพโรจน์ ชัยนาม ณ บ้านอองโตนี, ปารีส พ.ศ. 2513

 


ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ในช่วงบั้นปลายของชีวิตกับป๋วย อึ๊งภากรณ์ และปาล พนมยงค์

 

ความสัมพันธ์ระหว่างปรีดี พนมยงค์ และป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในทศวรรษ 2510 ดูจะแนบแน่นในทางความคิดเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองโดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการรัฐ การตั้งคำถามกับระบอบเผด็จการทหาร และเข้าอกเข้าใจในฐานะผู้ลี้ภัยหากสถานะทางประวัติศาสตร์ของปรีดี และบทบาทของป๋วยในสังคมได้เปลี่ยนแปลงจากยุคก่อนหน้านี้อย่างยิ่งโดยเฉพาะปรีดีที่ได้เริ่มกลับมามีบทบาททางความคิดต่อขบวนการนักศึกษานับตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

กล่าวคือ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2513 อันเป็นช่วงที่ปรีดีลี้ภัยยังปารีส ประเทศฝรั่งเศสได้สำเร็จแล้วเข้าพักอาศัยที่บ้านอองโตนี (Antony) ณ ชานกรุงปารีส ซึ่งซื้อด้วยเงินที่ได้จากการขายบ้านพูนศุขที่สีลม และได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารแห่งประเทศไทยในการแลกเงินเป็นเงินฟรังเพื่อซื้อบ้านนี้ กระทั่งได้กลับมาเป็นข่าวครึกโครมในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยจากในยุคของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร โดยปรีดีได้ติดต่อสถานทูตไทยประจําประเทศฝรั่งเศสให้ออกหนังสือรับรองสภาพการมีชีวิตอยู่ และขอหนังสือการเดินทางเพื่อรับเงินบํานาญจากรัฐบาลไทยซึ่งไม่ได้รับมาตั้งแต่ช่วงที่ลี้ภัยการเมืองในประเทศจีน พ.ศ. 2491 แต่สถานทูตไทยประจํากรุงฝรั่งเศส ซึ่งมีไพโรจน์ ชัยนามเป็นเอกอัครราชทูตไทยในกรุงปารีสปฏิเสธคําขอครั้งนี้ทางปรีดีจึงมอบอํานาจแทนให้วิชา กันตามระ ทนายความยื่นฟ้องเอกอัครราชทูตไทย ไพโรจน์ ชัยนามและพวก ขอให้ศาลพิพากษาให้สถานทูตไทย ณ   กรุงปารีสออกหนังสือสําคัญดังกล่าวและปรีดีก็ได้รับเงินบํานาญคืนในที่สุด ประกอบกับระยะนี้ได้มีบุคคลสําคัญจากประเทศไทยไปเยี่ยมปรีดีที่กรุงปารีสทั้งชนชั้นสูงและผู้มีบทบาทสำคัญในรัฐบาล เช่น พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล พ.อ. ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ) พล.ต.ต. สง่า  กิตติขจร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  พ.อ. สมคิด ศรีสังคม ส.ส. อุดรธานี นายสุธรรม ภัทราคม รองประธานศาลฎีกา พลเอกประพันธ์ กุลวิจิตร ปลัดกระทรวงกลาโหมดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นต้น

และปรีดียังได้รับเชิญไปแสดงปาฐกถาตามสมาคมนักเรียนไทยในทวีปยุโรปตั้งแต่ พ.ศ. 2513 หลายครั้ง รวมถึงกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 10 คน  นําโดยนายอตินาท ควรพจน์ ส.ส. พระนครศรีอยุธยา พรรคสหประชาไทย ได้เสนอมติผ่านพลอากาศเอก ทวี   จุลละทรัพย์ เลขาธิการพรรคสหประชาไทยเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2513 ให้รัฐบาลเชิญปรีดีกลับมาสู่ประเทศไทยในฐานะที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจกับประเทศจีน อตินาทให้เหตุผลว่าปรีดีมีความรู้อย่างดีในด้านเศรษฐกิจและได้รับการยอมรับนับถือจากรัฐบาลจีน ดังนั้นจึงสามารถเจรจากับประเทศจีนและปรีดีสามารถช่วยไม่ให้จีนรุกรานไทยได้หากการเสนอชื่อปรีดีครั้งนี้ได้ถูกโจมตีอย่างต่อเนื่องในประเด็นนี้จากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ หลังจากนั้นปรีดีจึงมอบอำนาจให้ทายาทฟ้องหมิ่นประมาทกับ สยามรัฐ จนชนะคดีฯ ดังกล่าว

ขณะที่ความสัมพันธ์ของปรีดีและป๋วยเริ่มเป็นที่จับตาของรัฐบาลจอมพล ถนอม จากการที่ป๋วยเป็นผู้หนึ่งที่ได้ไปเยี่ยมปรีดีที่กรุงปารีส  ซึ่งเป็นช่วงที่ไปราชการต่างประเทศพอดี โดยป๋วยได้แจ้งรัฐบาลว่าจะไปเยี่ยมปรีดี “ในฐานะที่เคยเป็นอาจารย์ของตนมาก่อน” ทางจอมพลถนอมจึงฝากป๋วยไปบอกว่าปรีดีว่า “ขออย่าให้ทําความยุ่งยากขึ้นในประเทศในขณะนี้เลย”

ต่อมาทางรัฐบาลจอมพลถนอมยังแสดงท่าที่เป็นกังวลว่าปรีดีจะกลับมามีอำนาจทางการเมืองและขบวนการนักศึกษาอีกจึงเกิดเป็นเหตุการณ์การอายัดหนังสือ “ตื่นเถิดลูกโดม” ของฝ่ายประชาสัมพันธ์สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปรากฏภาพปรีดีขึ้นเป็นหน้าปกหนังสือใน พ.ศ. 2513 โดยหน่วยงานสันติบาล

กระทั่งภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516  การเมืองไทยก็ได้เปิดกว้างมากขึ้นมีการพิมพ์เผยแพร่งานเขียนทางการเมืองในทศวรรษ 2490 ของนักคิดฝ่ายก้าวหน้าจำนวนมากรวมทั้งงานเขียนของปรีดีก็กลับมาเผยแพร่สู่สังคมในวงกว้างทั้งในหนังสือพิมพ์และฉบับที่พิมพ์เป็นเล่มโดยขบวนการนักศึกษา รวมทั้งงานที่ตีพิมพ์โดยสุพจน์ ด่านตระกูล อาทิ  จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลา ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ 23-30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516 เป็นต้น แล้วทางองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้นำข้อเขียนนี้มาจัดพิมพ์คือ วารสาร อมธ. ฉบับเดือนธันวาคม 2516 ซึ่งมีหน้าปกรูปปรีดี พนมยงค์อีกด้วย

ทั้งนี้ฝ่ายรัฐบาลจอมพลถนอมยังพยายามหาความเชื่อมโยงและแสดงความกังวลต่ออิทธิพลของปรีดี ในงานนิทรรศการจีนแดงช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517[4] ส่วนอีกกรณีมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์คือ กรณีที่สุประดิษฐ์ หุตะสิงห์ บุตรชาย ของประกอบ หุตะสิงห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เข้าร่วมชมนิทรรศการจีนแดงและสุประดิษฐ์ได้เขียนรายงานให้สัญญา ธรรมศักดิ์ โดยระบุว่านิทรรศการนี้จัด “เพื่อวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่และยุยงให้คนไทยนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างเปิดเผยที่สุด” และในรายงานฉบับนี้ก็คือการพาดพิงถึงปรีดีโดยระบุไว้ว่าในนิทรรศการได้จําหน่ายหนังสือของปรีดี พนมยงค์ จึงตีความไปว่าปรีดีเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานนิทรรศการครั้งนี้ด้วยสะท้อนให้เห็นความหวาดระแวงของฝ่ายรัฐบาลต่อปรีดีที่ยังไม่เสื่อมคลาย

ในบั้นปลายชีวิตปรีดีกับป๋วยยังเป็นมิตรทางความคิดเรื่องรัฐสวัสดิการกล่าวคือ ในอดีตปรีดีเคยเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจด้วยอุดมคติต้องการให้เกิดความเสมอภาคทางเศรษฐกิจแก่สังคมและราษฎรหรือสังคมนิยมทางเศรษฐกิจ ขณะที่ป๋วยเสนอแนวคิดรัฐสวัสดิการไว้ในข้อเขียนเรื่อง คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ที่เป็นเสมือนข้อเรียกร้องต่อรัฐเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน

 


ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ณ มูลนิธิโกมล คีมทอง
ที่มา: เว็บไซต์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์

 


[ภาพจากซ้าย] ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และพูนศุข พนมยงค์ ที่บ้านของป๋วย ณ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ พ.ศ. 2530

 

พ.ศ. 2530 ป๋วยเดินทางกลับมาเมืองไทยครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยเป็นบุคคลแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่งตั้งให้เป็นธรรมศาสตราจารย์  และได้รับเลือกให้เป็นบุคคลแห่งสันติภาพไทย และในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ป๋วยถึงแก่กรรม ณ ประเทศอังกฤษ รวมอายุ 83 ปี 

 

บรรณานุกรม

หนังสือและบทความในวารสารภาษาไทย :

  • กษิดิศ อนันทนาธร บรรณาธิการ, ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2559 หนังสือที่ระลึกในวาระ 116 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559)
  • ชมัยพร แสงกระจ่าง, ดอกหญ้าเหนือผืนดิน, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559)
  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะฯ, ปรีดี ป๋วย กับธรรมศาสตร์ และการเมือง, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, 2549)
  • ดุษฎี พนมยงค์, ท่านมองเห็นอะไร ? ข้างหลังภาพปรีดี-ป๋วย ใน ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2559 หนังสือที่ระลึกในวาระ 116 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), หน้า 1-23.
  • ธนพงศ์ จิตต์สง่า. ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างปรีดี พนมยงค์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับสัญญา ธรรมศักดิ์ และกลุ่มอนุรักษนิยมในสมัยรัฐบาลถนอม-ประภาส พ.ศ. 2513-2516. วารสารประวัติศาสตร์ (สิงหาคม 2558-กรกฎาคม 2559) : 108-141.
  • ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการ, ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ทัศนะว่าด้วยเศรษฐกิจ, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2545) 
  • ป๋วย อึ๊งภากรณ์, อัตชีวประวัติ: เหลียวหลัง แลหน้า พิมพ์ครั้งที่ 2 ปรับปรุงใหม่, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559) 
  • ป๋วย อึ๊งภากรณ์, “จดหมายจากป๋วย ถึงปรีดี ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2515,” ใน มิตรแท้ ในยามยาก, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559)
  • รวินทร์ คำโพธิ์ทอง, ศาสตราจารย์ พันตรี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีผู้เป็นแบบอย่างความดี ความงาม และความกล้าหาญ (พ.ศ. 2518-2519) ใน วารุณี โอสถารมย์ และคณะฯ, ผู้ประศาสน์การและอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2477-2556): ประวัติชีวิต ความคิด และการทำงาน, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุและหอประวัติศาสตร์เกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; 2556), หน้า 246-289.

 

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

 

[1] รวินทร์ คำโพธิ์ทอง, ศาสตราจารย์ พันตรี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีผู้เป็นแบบ อย่างความดี ความงาม และความกล้าหาญ (พ.ศ. 2518-2519) ใน วารุณี โอสถารมย์ และคณะฯ, ผู้ประศาสน์การและอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2477-2556): ประวัติชีวิต ความคิด และการทำงาน, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุและหอประวัติศาสตร์เกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; 2556), หน้า 255-280.

[2] โปรดดูเพิ่มเติม ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการ, ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ทัศนะว่าด้วยเศรษฐกิจ, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2545), หน้า 36-286.

[3] โปรดอ่านเพิ่มเติม จากมุมมองในเอกสารส่วนบุคคลของสัญญา ธรรมศักดิ์ ชี้ให้เห็นในเหตุการณ์ก่อนที่ป๋วยจะก้าวขึ้นเป็นอธิการบดีว่า “ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยได้เลือกกรรมการสรรหาตําแหน่งอธิการบดี และกรรมการมีมติเสนอรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับการคัดเลือกเป็นอธิการบดี ได้แก่ จิตติ ติงศภัทิย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดุล วิเชียรเจริญ แต่ในวันที่ 12  มีนาคม ระหว่างการประชุมสภามหาวิทยาลัย จิตติและอดุลได้ขอถอนตัวจากการคัดเลือกเป็นอธิการบดี ทําให้เหลือป๋วยเพียงคนเดียว เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ทําให้สมาชิกสภามหาวิทยาลัยฝ่ายตรงข้ามป๋วยไม่พอใจ ดังนั้น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ขอให้สัญญาเปลี่ยนใจถอนคําสั่งขอพ้นจากตําแหน่งอธิการบดี แต่สัญญาปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ และบุญชู  โรจนเสถียร แก้ไขสถานการณ์โดยเสนอให้สัญญาเป็นอธิการบดีต่อไป และพระยาอรรถการีย์นิพนธ์ก็รวบรัดที่ประชุมมีมติให้สัญญาเป็นอธิการบดีต่อไป อดุลได้ชวนสมาชิกสภามหาวิทยาลัยปรบมือให้กับสัญญา 2 สภามหาวิทยาลัย “มัดมือชก” ให้สัญญาเป็นอธิการบดีอีกหนึ่งสมัย เนื่องจากว่ากลุ่มฝ่ายตรงข้ามป๋วยทําทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ป๋วยดํารงตําแหน่งอธิการบดี  เมื่อผลการสรรหาออกมา วันที่ 20 มีนาคม ปราโมทย์ นาครทรรพ สมบัติ จันทรวงศ์ ทวี   หมื่นนิกร และลิขิต ธีรเวคินขอเข้าพบสัญญา และผู้บริหารมหาวิทยาลัย เช่น เกษม ศิริสัมพันธ์ สังเวียน อินทรวิชัย เป็นต้น ก็เข้าพบเช่นกัน การพบสัญญาทั้งสองฝ่ายทําให้เกิดการทะเลาะกันอย่างรุนแรง ฝ่ายผู้บริหารเห็นว่าสัญญาเหมาะสมกับตําแหน่งอธิการบดี เพราะว่าป๋วยได้เขียนจดหมาย “นายเข้ม เย็นยิ่ง” แม้ว่าสภามหาวิทยาลัยจะเลือกป๋วยก็อาจจะถูกรัฐบาลปฏิเสธการอนุมัติ ส่วนฝ่ายอาจารย์ที่สนับสนุนป๋วยต้องการให้สภากลับมาสรรหาใหม่อีกครั้ง แต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้เหตุผลอีกว่าการไม่เลือกป๋วยเป็นอธิการบดีเพราะไม่ต้องการให้รัฐบาลกับนักศึกษาเผชิญหน้ากัน ในขณะที่ทวี หมื่นนิกรโต้สัญญาว่าได้รับคําสั่งจากจอมพลถนอมมาเป็นอธิการบดี แต่สัญญาปฏิเสธว่าไม่คุยกับจอมพลถนอมและจอมพลประภาสในเรื่องอธิการบดี” ใน ธนพงศ์ จิตต์สง่า. ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างปรีดี พนมยงค์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับสัญญา ธรรมศักดิ์ และกลุ่มอนุรักษนิยมในสมัยรัฐบาลถนอม-ประภาส พ.ศ. 2513-2516. วารสารประวัติศาสตร์ (สิงหาคม 2558-กรกฎาคม 2559) : 136.

[4] รวินทร์ คำโพธิ์ทอง. (12 ตุลาคม 2566). จาก 14 ตุลาฯ ถึง 6 ตุลาฯ: การปรากฏขึ้นของความคิดเหมาอิสม์ในปัญญาชนไทยและรายงานการสดับตรับฟังของสันติบาล  https://www.the101.world/the-octobrists-and-maoism/ , สืบค้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567.