ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

แด่ วิเชียร วัฒนคุณ “เพื่อนรักคู่แฝด”

22
มีนาคม
2567

Focus

  • เนื่องคราวการถึงแก่อนิจกรรมของ ศ. ดร.วิเชียร วัฒนคุณ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2557 (ซึ่งบัดนี้ครบรอบ 10 ปี) ผู้เขียนทำบันทึกด้วยดวงใจฉบับนี้ขึ้น เพื่อไว้อาลัยและสดุดีเพื่อนรักคู่แฝด ให้เป็นสิ่งรำลึกถึงความสามารถและความดีงามของผู้วายชนม์ที่ทำไว้แก่ส่วนรวม
  • ความเป็นเพื่อนของทั้งสองคนดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยเข้าเรียนแผนกเตรียมปริญญาของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ตมธก.) เข้าเรียนมหาวิทยาลัยแผนกวิชาธรรมศาสตร์ ทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ เป็นทูตประจำกรุงปารีส (วิเชียร) และประจำกรุงบอนน์ (สุโข) และการเป็นกรรมการของชมรมตมธก.สัมพันธ์ และสถาบันปรีดี พนมยงค์
  • ศ. ดร.วิเชียร วัฒนคุณ มีความสามารถสูง เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และสิ่งที่สมควรบันทึกไว้เป็นพิเศษคือความสามารถในการชี้แจงต่อที่ประชุมใหญ่องค์การยูเนสโก สนับสนุนให้ ศ. ดร.ปรีดี พนมยงค์ อาจารย์ผู้เป็นที่รักและแบบอย่างของตนเป็นบุคคลสำคัญของโลกจนประสบความสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2543

 

ผมรู้จักกับวิเชียรมาตั้งแต่เราอายุ 14 - 15 ปี ตอนเรียนอยู่แผนกเตรียมปริญญาของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ตมธก.) ผมอยู่รุ่น 6 วิเชียรอยู่รุ่น 8 และเมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแผนกวิชาธรรมศาสตร์ ก็ได้พบกันมากขึ้น และจบปริญญาตรีพร้อมกันในปีการศึกษา 2493 และได้รับพระราชทานปริญญา เมื่อพฤษภาคม 2493 โชคดีที่เป็นครั้งแรกของ มธก. ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตร

ในปีเดียวกัน เราก็มาสอบเข้ากระทรวงต่างประเทศด้วยกัน ตอนอยู่กระทรวงฯ ก็ยิ่งสนิทสนมกันมากขึ้น จนถึงเวลาออกไปประจำการต่างประเทศ ก็ได้ออกไปในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยวิเชียรไปประจำกรุงปารีส ส่วนผมไปประจำกรุงบอนน์

เมื่อเราต่างเกษียณอายุราชการ ก็ได้พบกันบ่อยขึ้น วิเชียรได้แนะนำให้ผมไปสอนในคณะรัฐศาสตร์ มธ. แทน เพราะตอนนั้นวิเชียรเป็น รมช. ต่างประเทศในรัฐบาล ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน ความสนิทสนมเพิ่มมากขึ้น เมื่อเราทำงานที่ชมรมตมธก.สัมพันธ์ มูลนิธิ และสถาบันปรีดี พนมยงค์ ด้วยกัน ทั้งๆ ที่วิเชียรมีงานทำที่อื่นอีกหลายแห่ง แต่วิเชียร ก็ได้อุทิศตนเพื่อ ชมรมฯ มูลนิธิและสถาบันเป็นพิเศษ

เรื่องที่สำคัญที่อยากบันทึกไว้ก็คือ เมื่อ 3 ปี ก่อนครบชาตกาลของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ในปี พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) ชมรมตมธก. สัมพันธ์ ได้เป็นต้นความคิดที่จะเสนอให้ท่านอาจารย์ปรีดีฯ เป็นบุคคลสำคัญของโลก และได้เสนอเรื่องนี้ไปยัง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อดำเนินการเป็นทางการไปให้องค์การยูเนสโกพิจารณาต่อไป แต่คิดไม่ถึงว่าจะมีอุปสรรค เพราะคุณสมบัติของท่านอาจารย์ปรีดีฯ มีครบถ้วน ทั้งในด้านการศึกษาและสันติภาพ แด่โดยมีผู้ร้องเรียนคัดค้าน ไปยังยูเนสโก ยูเนสโกจึงได้ตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อคัดเลือกก่อน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มองไม่เห็นใครที่จะช่วยได้ จึงขอให้วิเชียร เดินทางไปกรุงปารีส เพื่อดำเนินการเรื่องนี้ให้สำเร็จ วิเชียรและท่านทูตประจำประเทศฝรั่งเศส ในขณะนั้น (คุณเตช บุนนาค) ได้ร่วมมือกันอย่างจริงจัง และตกลงแต่งตั้งให้วิเชียรเป็นที่ปรึกษาของคณะผู้แทนไทยประจำยูเนสโก วิเชียรได้ใช้ปัญญากับความนุ่มนวลไปชี้แจงในที่ประชุมฯ ผู้แทนประเทศต่างๆ แม้แต่ญี่ปุ่น ซึ่งเคยเป็นฝ่ายตรงข้ามกันกับ ท่านอาจารย์ ปรีดีฯ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ลุกขึ้นมาพูดสนับสนุน ในที่สุดองค์การยูเนสโกก็ประกาศให้ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลสำคัญของโลกในโอกาสชาตกาล 100 ปี ความสามารถ และคุณความดีของวิเชียรในเรื่องนี้น่าจะจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย

วิเชียรเป็นประธานชมรม ตมธก.สัมพันธ์ สองสมัยติดต่อกัน เป็นประธานคณะจัดการของมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2550-2553 และเป็นประธานสถาบันปรีดี พนมยงค์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2542-2553 วัตถุประสงค์ขององค์กรดังกล่าว ก็เพื่อจะส่งเสริมและเผยแพร่อุดมการณ์และคุณูปการของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ให้ข้อเท็จจริงและความ ยุติธรรม แก่คนไทยคนหนึ่ง ซึ่งตลอดชีวิตของท่านได้กระทำให้ประเทศชาติ และเพื่อให้เป็น แบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักการศึกษา นักกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์ นักการทูตและการทหาร และนักการเมือง ในด้านการเสียสละส่วนตัว เพื่อส่วนรวม ความสุจริต ความมีปัญญา ความสามารถ มีวิสัยทัศน์มองการณ์ไกลถึง 20 ปี มีความกล้าหาญ ฯลฯ และในระยะเวลาเพียงสิบปีเศษ ก็ได้สร้างรากฐานทางการเมืองการ ปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและการศึกษาไว้อย่างดี (เสียดายที่ต่อมาไม่มีการต่อยอด) และที่สำคัญได้รักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติ และความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น อย่างมากมาย อุดมการณ์และคุณูปการของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้ซึมซับอยู่ในตัวของวิเชียร รวมทั้งศิษย์ ตมธก. และผู้มีใจเป็นธรรมจำนวนมาก จึงได้ร่วมมือกันเผยแพร่คนดีที่เราควรเอาเป็นแบบอย่าง

ในช่วงเวลากว่าสิบปี ก่อนวิเชียรจะล้มป่วยลง วิเชียรกับผมจะไปงานสังคมและการกุศลด้วยกันเสมอ โดยวิเชียรอาสาเป็นคนขับรถให้ จนเพื่อนๆ และคนรู้จักมักคุ้นกัน ตั้งชื่อเราว่า “คู่แฝด”

ที่เล่ามานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคุณความดีของวิเชียร แต่ผมกล้าพูดได้เต็มปากว่าใครที่รู้จักวิเชียร ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่พูดถึงวิเชียรในแง่ลบ ทุกคน ตั้งแต่ผู้บังคับบัญชา เพื่อนๆ ผู้ใต้บังคับบัญชา และบุคคลอื่น ได้พูดถึงในแง่บวกทั้งสิ้น ซึ่งผมคิดว่าทุกท่านพูดจากความจริงใจของท่าน

ถึงแม้เราจะทราบดีว่า “การพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์” และการถึงแก่กรรมก็เป็นไปตามหลักไตรลักษณ์ แต่เมื่อวิเชียรจากเราไปจริงๆ ก็อดจะใจหายและเศร้าสลดใจอย่างมากไม่ได้ อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่าผลของคุณงามความดีที่วิเชียรบำเพ็ญมาตลอดชีวิต ทั้งที่ให้กับครอบครัว เพื่อนๆ ลูกศิษย์ลูกหา ตลอดจนอุทิศตนให้กับประเทศชาติเป็นส่วนรวม จะเป็นพลังปัจจัยส่งวิญญาณของวิเชียรให้เสวยสุขสงบในสุคติภพ สมดังพระพุทธพจน์ ซึ่งเป็นคติประจำใจของท่านวีรบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ที่ว่า “อโก สุจิณณัสสะ ผะลัง นะ นัสสติ - กรรมที่ก่อสร้างไว้ดีแล้ว ย่อมไม่สูญหาย”

ด้วยรักและอาลัยเพื่อนอย่างยิ่ง
สุโข สุวรรณศิริ

 

ที่มา : สุโข สุวรรณศิริ, “แด่ วิเชียร วัฒนคุณ “เพื่อนรักคู่แฝด”,” ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศ. ดร.วิเชียร วัฒนคุณ. (กรุงเทพฯ : สตาร์บูมอินเตอร์พริ้นท์, 2557), น. 94 - 95.