ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

รายงานการประชุมกรรมานุการพิจารณา เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ณ วังปารุสกวัน วันที่ ๑๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕

13
เมษายน
2567

คำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับที่นายปรีดี พนมยงค์ นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ครั้งแรกจำนวน 200 ฉบับ

 

1 ปี หลังการอภิวัฒน์มีเสียงเรียกร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและราษฎรให้รัฐบาลกำหนดโครงการเศรษฐกิจขึ้นทางรัฐบาลจึงมีมติมอบหมายให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ร่างโครงการเศรษฐกิจมาเสนอรัฐบาล เมื่อนายปรีดีจัดทำ ‘คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจ’ เสร็จจึงนำไปมอบแก่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎรหรือนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นให้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณารับรองก่อนเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยการประชุมเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีมีขึ้นสองครั้ง ได้แก่ การประชุมเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1

เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้รับ ‘คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจ’ ของนายปรีดีราวเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2475 (นับตามปฏิทินเก่า) ก็เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีบางคนอย่างไม่เป็นทางการและไม่ครบองค์ประชุมฯ หลังการหยั่งเสียงและถกเถียงแล้ว ปรากฏผลว่าพระยามโนปกรณ์นิติธาดา, พระยาศรีวิสารวาจา และพระยาราชวังสัน ไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดีๆ จึงเก็บร่างฯ นี้ไว้ และเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2475 (นับตามปฏิทินเก่า) คณะรัฐมนตรีจึงประชุมปรึกษากันเพื่อลงมติให้ตั้งกรรมาธิการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจ โดยให้นายปรีดีเข้าชี้แจงและนำเสนอในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2475 (นับตามปฏิทินเก่า)[1] มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

รายงาน
การประชุมกรรมานุการ
พิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ
ณ วังปารุสกวัน
วันที่ ๑๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕

ผู้ที่เข้าประชุม

คือ

๑. หลวงคหกรรมบดี (ชม จารุรัตน์)
๒. หลวงเดชสหกรณ์ (ม.ล. เดช สนิทวงศ์)
๓. หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์ (ม.ล. กรี เดชาติวงศ์)
๔. พ.อ พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)
๕. นายทวี บุณยเกตุ
๖. นายแนบ พหลโยธิน
๗. หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ดร. ปรีดี พนมยงค์)
๘. นายประยูร ภมรมนตรี
๙. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตสิงห์)
๑๐. พล ร.ท. พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน)
๑๑. นายวิลาศ โอสถานนท์
๑๒. พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล)
๑๓. ม.จ. สกลวรรณากร วรวรรณ
๑๔. หลวงอรรถสารประสิทธิ์ (ทองเย็น หลีละเมียร)

เปิดประชุมเวลา ๘.๒๐ นาฬิกา

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม แถลงว่า- ก่อนจะมาชี้แจงในที่นี่ได้ประชุมผู้เริ่มก่อการครั้งหนึ่งแล้ว และทำเรื่องขึ้นเสนอรัฐมนตรี รัฐมนตรีจึงตั้งกรรมานุการชุดนี้ให้พิจารณา การโต้เถียงนั้นอาจใช้ถ้อยคำรุนแรงไปบ้าง เมื่อเป็นคำแสลงโดยบังเอิญก็ต้องขออภัย หัวข้อสำคัญในการประชุมวันนี้ เนื่องจากหลังหกประการ ที่ได้ประกาศไว้ ในข้อ ๓ มีใจความอยู่ ๓ ประการ ในการบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ คือจะจัดมิให้ราษฎรอดอยาก จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ในการจัดการไม่ให้ราษฎรอดอยากนั้น ต้องจัดให้มีความเป็นอยู่พอควร หางานให้ราษฎรทำ เหมือนกับพวกเราที่อยากทำงาน

ข้อความละเอียดมีอยู่ในหนังสือนี้แล้ว แต่เราไม่ทำโครมครามทีเดียวจะทำตามกำลังของเรา ข้อความที่เป็นตัวเลขบางตอนจะถือเคร่งครัดไม่ได้ เป็นการอุปมาพอเป็นเค้าเท่านั้น โครงการนี้ไม่ใช่หลักคอมมูนิสม์ เรามีทั้งแคปีตัลิสม์ และโซเซียลิสม์รวมกัน ถ้าหากพวกคอมมูนิสต์ มาอ่านจะติเตียนมาก ว่ายังรับรองพวกมั่งมีให้มีอยู่ ความนี้กล่าวแล้วว่าตัวเลขนั้นเป็นการอุปมาเท่านั้น หน้าที่ของเราในที่นี้ก็คือ จะรับโปลิซีนี้หรือไม่ เมื่อรับแล้วจึงเรียกผู้ชำนาญมาทำการพิจารณาให้ละเอียดในภายหลัง

นายทวี บุณยเกตุ เสนอว่าในการที่จะพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับนี้ ข้าพเจ้าขอชี้แจงและสนับสนุนข้อความของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเพื่อเป็นแนวที่จะพิจารณาต่อไป

ถ้าเราอ่านดูแต่เพียงเผินๆ โดยไม่ได้ไตร่ตรองหรือคิดให้ซึ้ง หรือมีใจลำเอียงไปในลัทธิใดลัทธิหนึ่งแล้ว ก็จะเห็นว่าโครงการฉบับนี้ส่อไปในทางคอมมูนิสม์ หรือโซเซียลิสม์ แต่ถ้าเราพิจารณาถึงวิธีการให้ละเอียดไปสักหน่อยแล้วจะเห็นได้ว่า ในวิธีการของโครงการอันนี้ เราไม่ได้ริบทรัพย์ใคร เราไม่ได้เอาเงินของราษฎรมาแบ่งปันกัน เราไม่ได้เอาผู้หญิงมาเป็นของกลาง เราไม่ได้บังคับหรือเกณฑ์คนทั้งหมดให้ทำงานให้แก่สหกรณ์ของเรา เราไม่ได้เกณฑ์คนให้มาเป็นทาษ

เพราะฉนั้นจะเรียกหรือเหมาเอาว่าโครงการอันนี้จะมีวิธีการเป็นคอมมูนิสม์หรือโซเซียลิสม์อย่างไรได้ ความประสงค์ของรัฐบาลก็คือต้องการให้ราษฎรทุกคนและทุกชั้นได้รับประกันจากรัฐบาลโดยร่วมกันทำและโดยการควบคุมของสหกรณ์ เราไม่ต้องการให้คนทุกคนเป็นทาษของสหกรณ์ โดยเลิกการทำมาหากินส่วนตัว แต่เราต้องการให้ผู้ที่มีกำลังทรัพย์ที่ได้ทำมาหากินอยู่ก่อนแล้วคงดำเนินการต่อไป หรือผู้ที่สามารถจะทำมาหากินส่วนตัวได้ก็ให้ทำไป เราจะช่วยแต่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือคนจนกับพวกที่ไม่มีงานทำที่ไม่มีที่อยู่อาศัย และที่ได้รับทุกข์ลำบากเท่านั้น หาได้พาดพิงไปบังคับคนที่มั่งมีดังในบางประเทศทำกันอยู่ไม่

เพราะถ้าคนจนเหล่านี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลแล้ว ใครเล่าจะเป็นผู้ช่วย ความหายนะจะต้องมาสู่อย่างแน่นอน ธรรมดาของคนจะต้องเสียไปโดยไม่ต้องสงสัย และความไม่สงบสุขจะต้องเกิดขึ้นแก่ประเทศเป็นแน่

ไม่ควรคิดวิตกที่สหกรณ์จะไม่มีคนทำงานเพราะในเวลานี้คนว่างงานมีอยู่มาก เมื่อเรารับรองว่าจะให้ความสุขแก่เขาเช่นนี้แล้วใครเล่าที่ไม่อยากจะมีความสุข ใครเล่าที่ไม่อยากจะมีเงิน และใครเล่าที่อยากอดตาย

พูดกันอย่างง่ายๆ การที่จะตั้งเป็นสหกรณ์นี้ ก็ไม่ผิดอะไรกับบริษัทหรือห้างร้านที่ทำการค้าขายใหญ่ๆ ถ้าจะมีผู้เถียงว่ารัฐบาลไม่ควรทำการค้าเองแล้ว ก็เหตุไฉนเล่ารัฐบาลจึงสร้างทางรถไฟ รัฐบาลจึงสร้างโรงไฟฟ้า รัฐบาลจึงทำประปา รัฐบาลจึงต้มเหล้าต่างๆ เหล่านี้เสียเองเป็นต้น โดยไม่ยอมให้ราษฎรทำ การที่จะตั้งสหกรณ์นี้ นอกจากจะช่วยเหลือพวกชาวนาที่ยากจนแล้ว สหกรณ์ยังช่วยเปิดเมืองและบำรุงความเจริญของประเทศอีกด้วย ในผลกำไรที่ได้จากสหกรณ์นี้เอง

วิธีการโดยย่อของโครงการอันนี้คือ รัฐบาลจะซื้อที่นาจากเจ้าของที่ดินโดยออกใบบอนด์ และให้ดอกเบี้ยตามสมควร การที่ต้องการเนื้อที่เป็นจำนวนมากและเป็นผืนเดียวกันนี้ ก็เพื่อความสดวกในการปกครองและในการประกอบการกสิกรรม เช่น การไถ การคราด การทดน้ำ เหล่านี้เป็นต้น เมื่อสหกรณ์ได้เนื้อที่นาจำนวนที่ต้องการแล้ว สหกรณ์ก็จะประกาศรับกรรมกร หรือที่หลวงประดิษฐมนูธรรมเรียกว่าข้าราชการ เฉพาะผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลกับผู้ที่ไม่มีอาชีพอย่างอื่น คือพวกที่เบียดเบียนเขากิน แต่จะไม่ประสงค์จะทำงานให้แก่สหกรณ์ ในเมื่อเขาหางานหรืออาชีพอื่นทำได้ คือ เขาจะไปประกอบอาชีพส่วนตัวก็ได้สุดแต่ความพอใจของตน

การบังคับคนที่ไม่มีข้าวกินให้มีข้าวกิน บังคับให้คนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยมีบ้านอยู่อย่างสบาย บังคับให้คนที่เกิดทุกข์ได้ยากให้มีความสุขเหล่านี้ข้าพเจ้าไม่เห็นเป็นของเสียหายอะไร เรื่องเช่นนี้พระยารัษฎาฯ (คอซิมบี้) ก็เคยใช้บังคับคนในความบังคับบัญชาของท่านทางมณฑลปักษ์ใต้มาแล้วและปรากฏว่าได้ผลดี จนบัดนี้ก็มีผู้นึกถึงบุญคุณอยู่ อนึ่งการประกาศรับสมาชิกสหกรณ์นี้ ก็เท่ากับสหกรณ์จ้างให้มาทำงานให้กับสหกรณ์ โดยให้เงินเป็นรายเดือนหรือรายปี ซ้ำยังจะได้ส่วนแบ่งในกำไรของสหกรณ์อีกด้วย เช่นเดียวกับงานของห้างร้านหรือของบริษัทต่างๆ

ส่วนเงินค่าจ้างที่สหกรณ์จะวางอัตราลงไปนั้นคงทำได้ดังนี้ ให้สอบสวนดูถึงกำลังแรงงานของชาวนาคนหนึ่งที่มีร่างกายอ่อนแอที่สุด ที่ขี้เกียจที่สุดและโง่ที่สุด ว่างานชิ้นหนึ่งๆ ที่สหกรณ์จะให้ทำนั้นจะต้องสิ้นเวลาแรงงานเท่าใดและจะคุ้มกับราคาเงินเท่าใด ดูพอที่เงินที่ได้มานั้นจะใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นเพื่อยังชีวิตของตน เช่น ค่าอาหารและเครื่องนุ่งห่มเป็นต้น เมื่อทราบอัตราและได้วางไว้ลงไปที่แน่นอนแล้ว เราก็ไม่ต้องเสียเวลาที่จะคอยควบคุม

ส่วนคนงานใดที่ทำงานเสร็จก่อนคนงานนั้นก็ได้เปรียบในการที่จะได้พักผ่อนหรือใช้เวลาที่เหลือไปทำงานให้แก่สหกรณ์เพื่อหารายได้ให้งอกเงยขึ้นอีก ด้วยวิธีเช่นนี้ก็จะเป็นการย้อมน้ำใจให้คนงานที่ทำงานดีได้ทำงานเต็มความสามารถอยู่ในตัว เมื่อผลประโยชน์ที่ได้จากการกระทำเท่าใด ผลประโยชน์นั้นเป็นของสหกรณ์ทั้งสิ้น สหกรณ์เป็นผู้ขน และเป็นผู้ขาย เมื่อได้เงินมาเท่าใดเหลือจากเงินเดือนแล้ว ก็หักกำไรไว้ แบ่งออกเป็นส่วนๆ ถือไว้เป็นทุนสำรองบ้าง เป็นทุนที่จะเปิดสมาคมและความเจริญของสหกรณ์บ้าง คิดเฉลี่ยให้แก่พวกสมาชิกของสหกรณ์บ้าง

ส่วนเงินที่จะจ่ายเป็นเงินเดือนหรือเงินปีของสมาชิกสหกรณ์นั้น ถ้าจะคิดดูให้ดีแล้วก็จะไม่เป็นตัวเงินจริงเท่าใดนัก เพราะเป็นเงินที่หักลบลบหนี้ และหมุนเวียนอยู่เสมอ คือ โดยที่สหกรณ์วางข้อบังคับว่า สมาชิกของสหกรณ์ทุกคนจะต้องซื้อของจากสหกรณ์โดยที่สหกรณ์ขายให้โดยราคาย่อมเยาที่สุด เมื่อการณ์ปรากฏดังนี้แล้ว ก็ไม่น่าจะมีข้อวิตกอันใดในความสำเร็จของโครงการอันนี้ ซึ่งจะนำมาซึ่งความสุขและความปลอดภัยของราษฎรชาวนาไทยที่ยากจนทั้งหลาย

พระยาราชวังสัน ตามหนังสือโครงการที่ข้าพเจ้าได้อ่านนั้นเป็นหนังสือ ideal ข้าพเจ้าก็นิยมหลักนี้ แต่การทำนั้นอีกอย่างหนึ่งซึ่งต้องวิเคราะห์ details เป็นเรื่องๆ ไป หลักการเก่าซึ่งรัฐบาลเก่าทำหรือ ที่ชุดนี้ทำก็ดี แม้เขาจะไม่ระบุชื่อ แต่ความจริงเป็นแบบโซเซียลิสม์ที่จริงหลักการก็ควรเป็นเช่นนั้น เพราะแคปปีตัลิสม์เป็นชาวต่างประเทศส่วนมาก ในปริ๊นซิเปิลข้าพเจ้าไม่คัดค้าน แต่ยังขาดรายละเอียดคือวิธีปฏิบัติ

หลวงประดิษฐ์ฯ ตามหลักของข้าพเจ้านั้นเป็นลัทธิหลายอย่างที่ได้เลือกคัดเอาที่ดีมาปรับปรุงให้สมกับฐานะของประเทศสยาม แต่เหตุสำคัญอาศัยหลักโซเชียลิสม์ไม่ใช่คอมมูนิสม์ คือถือว่ามนุษย์ที่เกิดมาย่อมต้องเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน เช่นคนจนนั้นเพราะฝูงชนทำให้จนก็ได้ คนเคยทอผ้าด้วยฝีมือครั้นมีเครื่องจักรแข่งขันคนที่ทอด้วยมือต้องล้มเลิก หรือคนที่รวยเวลานี้ ไม่ใช่รวยเพราะแรงงานของตนเลย เช่น ผู้ที่มีที่ดินมากคนหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งเดิมมีราคาน้อยภายหลังที่ดินมีราคาแพง สร้างตึกสูงๆ ดังนี้ ราคาที่ดินแพงขึ้นเนื่องจากฝูงชนไม่ใช่เพราะการกระทำของคนนั้น ฉะนั้นจึงถือว่ามนุษย์ต่างมีหนี้ตามธรรมจริยาต่อกัน จึงต้องร่วมประกันภัยต่อกัน และร่วมกันในการประกอบเศรษฐกิจ

ม.จ. สกลวรรณากร วรวรรณ คนที่มีที่ดินรวยๆ มีไม่กี่คน

หลวงประดิษฐ์ฯ คนของเราเวลานี้เปรียบเหมือนเด็ก รัฐบาลต้องนำ โดยบังคับในทางตรงหรือในทางอ้อม ให้ขมักเขม้นประกอบการเศรษฐกิจ ถ้าเราคงทำตามแบบเก่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้ไม่มีประโยชน์ เพราะเราไม่ทำสาระสำคัญ คือแก้ความฝืดเคืองของราษฎร แบบที่เราต้องเดินนั้นต้องเดินอย่างอาศัยหลักวิชา อาศัยแผน อาศัยโครงการ วิธีโซเซียลิสม์เป็นวิธีวิทยาศาสตร์โดยแท้ รับรองความเห็นหม่อมเจ้าสกลว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้ไม่ใช่ coupd’etat แต่เป็น revolution ในทางเศรษฐกิจ ไม่มีในทางปกครองซึ่งเปลี่ยนจากพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายคนเท่านั้น

พระยาราชวังสัน โครงการของหลวงประดิษฐมนูธรรมไม่เป็นลัทธิอันหนึ่งอันใดแน่ อยากทราบว่าถือหลักอะไร

หลวงประดิษฐ์ฯ ไม่ถือหลักอะไรโดยฉะเพาะ อะไรดีก็เลือกเอามา

พระยาราชวังสัน การพูดถึงโซเซียลิสม์ทั้งหมดนั้นอาจยาวเกินไป แต่ขอแบ่งพูดย่อๆ ได้ว่า เป็นสเตตโซเซียลิสม์อยู่หนึ่งกับคอมมูนิสต์อีกอย่างหนึ่ง แต่ข้าพเจ้าอยากรับรองลัทธิของชาร์ลจี้ด คือเดินแบบโคออเปราตีฟต่างๆ

พระยาทรงฯ อยากได้ฟังความเห็นต่างๆ ของหลายๆ ท่านและของพระยามโนปกรณ์ฯ มีอะไรบ้างอยากขอฟัง

พระยามโนฯ เอาไว้ภายหลัง

หลวงประดิษฐ์ฯ ยังมีรายละเอียดเรื่อง นัชชันนั่ลแบงก์และอื่นๆ อีกมาก แต่ต้องรับโปลิซีเสียก่อน โปลิซีของข้าพเจ้านั้นเดินแบบโซเซียลิสม์ผสมลิเบอรัล

ม.จ. สกลฯ ตามโครงการดูเหมือนผู้เสนออาศัย หลัก surplus value คนทำที่ดินไม่ได้ค่าของที่ดินเต็มที่ แต่เห็นว่าชาวนาได้ค่าที่ดินเต็มที่แล้ว และเรื่องคนไทยยากจนนั้น หมอซิมเมอแมนได้สำรวจกล่าวว่า ความเป็นอยู่ของเมืองไทยนั้นดีกว่าชาวอินเดียและจีนตั้งสองเท่า และ surplus value ทางภาคอุดรนั้นตกแก่คนพื้นเมืองเป็นส่วนมาก

หลวงประดิษฐ์ฯ - ในเรื่องที่ดินนี้ การอธิบายข้าพเจ้าไม่ได้อาศัยหลัก surplus value ของคาร์ล มาร์กเลย แต่อาศัยหลักที่ว่าแรงงานของคนไทยเสียไปปีหนึ่งมากๆ จะทำอย่างไรจึงจะใช้แรงงานให้เป็นประโยชน์ ส่วนที่ว่าชาวอินเดีย และจีนนั้นความเป็นอยู่ตกต่ำ เราดีกว่าเขานั้น ถ้าพูดเช่นนั้นเท่ากับเรายอมรับว่าอยู่อย่างพริมิตีฟ (primitive) ดีกว่า ความจริงดีเหมือนกันถ้าเราจะถอยหลังเข้าคลองให้คนมีความต้องการเพียงผ้าที่ปิดร่างกายนิดหน่อยเหมือนคนป่า เท่าที่ราษฎรมีในเวลานี้ดีกว่าคนป่าแล้ว และถ้ากลับเป็นคนป่า เราไม่ต้องทำอะไรมาก ปัญหามีอยู่ว่าเรากลับเป็นคนป่านั้นต้องการกันหรือไม่ เวลานี้มนุษย์สัมพันธ์กันมาก เราต้องเทียบฐานะของเรากับประเทศที่เจริญแล้ว จึงจะเห็นว่าเราแร้นแค้นเพียงใด เราต้องพยายามทำให้ถึงเขา

ม.จ. สกลฯ - ก็เป็นห่วงเวลาที่เหลือของคนงานต่างๆ เหมือนกัน แต่แม้จะเป็นเวลาว่าง ๖ เดือนก็เป็น leisure ของเขา ก็เป็นการดีใช่ไหมที่จะปล่อยให้มีเวลาพักมากๆ

หลวงประดิษฐ์ฯ - ถ้าเราจะพูดถึงความสุขส่วนตัวของราษฎร ถ้าไม่ทำงานเสียเลยยิ่งชอบใจ คือปล่อยให้เป็นป่าเถื่อนได้ไม่ต้องทำอะไร เช่นคนป่า แต่เห็นว่าถ้าพิจารณาถึงประโยชน์ของประเทศแล้ว การว่างงานเกินไปใช้ไม่ได้ คือ เราจะถูกรุกรานทางเศรษฐกิจมากขึ้นทุกที

ม.จ. สกลฯ - ยอมรับหรือไม่ว่าการมีเวลาว่างเป็นของดี

หลวงประดิษฐ์ฯ - ไม่ยอมรับ เพราะถ้าเช่นนั้นเราก็ไม่มีโอกาสที่จะเทียมหน้าต่างประเทศเขา

ม.จ. สกลฯ - อยากให้เดินแบบ compromise คือ ร่วมกับพวก capitalist

หลวงประดิษฐ์ฯ - หลักโครงการของข้าพเจ้านี้ ไม่ขัดกับ capitalism เดินคู่กันไปแท้ๆ เราต้องการอาศัยทุนของพวกมั่งมีในนี้และต่างประเทศ

ม.จ. สกลฯ - ตามรูปที่อ่านนั้นไม่เป็นแนวทางพอ ต้องแสดงไปเป็นลำดับ

หลวงประดิษฐ์ฯ - โครงการเสนอเพื่อให้รับรองโปลิซีเท่านั้น เมื่อรับรองโปลิซีแล้ว การที่จะดำเนินต่อไปนั้นต้องเรียกผู้ชำนาญมาภายหลัง

ม.จ. สกลฯ - ตามความเห็นของนายซิมเมอแมน ข้าพเจ้ายังพอใจอยู่ เราค่อยทำค่อยไปก็ได้

หลวงประดิษฐ์ฯ - ข้าพเจ้าไม่ใช่คนกรุงเทพฯ จึงรู้หัวอกคนบ้านนอกเป็นอย่างดี โดยได้รับความลำบากยากจน เพื่อนในหัวเมืองยังยากจนอีกมาก นายซิมเมอแมนไม่เคยอยู่อย่างยากจนในเมืองไทย ผู้ที่ไม่เคยประสพแล้วจะรู้สึกอย่างไรได้ สำรวจที่ไหน เจ้าหน้าที่ก็เตรียมผัดหน้าไว้รับ แม้ข้าราชการในกรุงฯ ออกไปก็ไม่เห็นของจริงแท้ และทั้งตนเองก็สบาย ไม่เคยทุกข์ร้อนเหมือนชาวนาที่ทนทุกข์อยู่ในเวลานี้

ม.จ. สกลฯ - พริมิตีฟนั้นแล้วแต่ความเคยชิน หากว่าเคยอยู่อย่างไรก็ชินอย่างนั้น ไม่รู้สึกลำบาก จึงอยากให้เคารพในกรรมสิทธิ์ของบุคคลให้มาก

หลวงประดิษฐ์ฯ - โครงการนี้เราต้องเคารพกรรมสิทธิ์ของเอกชนเหมือนกัน เช่นที่ที่เป็นบ้านอยู่เราไม่เข้าเกี่ยวข้อง เว้นแต่ที่จำเป็น การที่ต้องรวมนี้ก็เพราะที่ดินของเจ้าของต่างๆ มีเป็นหย่อมๆ ไม่สะดวกแก่การควบคุมและทางวิทยาศาสตร์จึงต้องรวมให้เป็นผืนเดียวกัน

ม.จ. สกล ฯ - เราเข้าใจเอาเองว่าที่ดินนั้นมีเป็นหย่อมๆ ยกตัวอย่างเมืองสุพรรณไม่แน่ว่าของใครมีเท่าใดเพราะยังไม่ได้สำรวจ ปัญหาสำคัญในเรื่องนี้จึงมีวิธีการที่จะรวมที่ดิน

หลวงประดิษฐ์ฯ - ปัญหาเรื่องรายละเอียดเอาไว้ทีหลังแต่พฤติการณ์มีอยู่แน่ชัดว่า ที่ดินในเมืองไทยมีอยู่เป็นหย่อมๆ การรวมกันได้ผลดีในทางวิทยาศาสตร์ เราจะทำอย่างไรจึงจะให้รวมกันได้ หลวงเดชสหกรณ์เอง แต่ก่อนเปลี่ยนการปกครองถูกถามความเห็น ก็เสนอให้ริบทรัพย์ แต่ข้าพเจ้าว่าให้เดินสายกลาง คือ ซื้อเอาโดยออกใบบอนด์ให้และในที่นี้ใครมีปริ๊นสิเปิลอย่างไรก็ให้แสดง รายละเอียดนั้นขอให้พูดภายหลัง

ม.จ. สกลฯ - การรวมที่ดินและรวมแรงเพื่อการสิกรรมนั้นเห็นด้วย

พระยาศรีวิสารฯ - จะสมมติหลักนี้เป็นหลักใหญ่ และรายละเอียดเป็นหลักย่อยนั้นไม่เห็นด้วย เราจะต้องดูว่าจะทำอะไรบ้าง กิจการที่ทำทุกอย่างเป็นหลักใหญ่ทั้งนั้น

ม.จ. สกลฯ - หลักนี้ไม่มีใครคัดค้าน และตามที่ถือว่าที่ดินทั้งหมดเป็นของพระเจ้าแผ่นดินนั้นการรวมที่ดิน ใช้ได้ดีในเมืองไทยในการรวมที่ดิน

หลวงประดิษฐ์ฯ - หลักนี้วิเศษจริง แสดงว่าที่ดินเป็นของรัฐ

ม.จ. สกลฯ- นโยบายเรื่องที่ดินนั้นควรแยกออกจากนโยบายอื่นๆ

พระยามโนฯ - นโยบายแรกนั้นคือที่ดินกสิกรรมใช่ไหม

หลวงประดิษฐ์ฯ - นั่นเป็นแต่ส่วนหนึ่ง

พระยามโนฯ - ถ้าเป็นเช่นนั้นนโยบายมีอะไร

หลวงประดิษฐ์ฯ - มีทั้งรัฐบาลจัดทำเองและเอกชนจัดทำไม่ใช่รัฐบาลจัดทำเองทั้งหมด เช่นการสัมปทานต่างๆ มีเหมืองแร่เป็นต้น ยังคงให้เอกชนจัดทำ และเรื่องวิตกว่าเจ้าของที่ดินจะไม่พอใจนั้น ไม่น่าวิตกอย่างใด การออกกฎหมายบังคับซื้อนั้นเพื่อป้องกันคนเกเรและหน่วงไม่ขายหรือเกี่ยงเอาราคาแพงๆ เท่านั้น

ม.จ.สกลฯ - บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นด้วยให้รวมที่ดินนอกเมืองเป็นที่กสิกรรม และยังเห็นต่อไปว่า ควรรวมที่ในเมืองเป็นหัตถกรรมและที่อยู่ด้วย ควรจัดวางโปรแกรมไว้ว่าที่ใดเป็นที่หัตถกรรมและที่ใดเป็นที่กสิกรรม การมีที่ดินเป็นหย่อมๆ ข้าพเจ้าเห็นเป็นภัยควรรวมเอา มาทั้งหมด แปลนจึงจะครบรูปเรียบร้อย

หลวงเดชสหกรณ์ - ปัญหาใหม่เรื่องรวมที่ดินนั้นสำคัญอยู่ที่ว่าจะรวมด้วยวิธีไหน ในหลักการนั้นเห็นด้วย หลักการเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ทุกข้อทุกระยะต้องดูว่าเราจะทำได้แค่ไหน โครงการมีถึงการที่รัฐบาลทำการค้าขายเองด้วย จะกระทบถึงต่างประเทศมากไหม เช่นการค้าขายตกอยู่ในมือคนต่างประเทศส่วนมาก

หลวงประดิษฐ์ฯ - การที่เราไม่ทำนั้นในต่างประเทศชอบมาก ข้าพเจ้ารับรอง แต่ถ้าเราจะทำแล้วเขาจะว่าอย่างไร

ม.จ. สกลฯ - เราต้องร่วมทำกับต่างประเทศไปก่อนแล้วโน้มเข้ามาหาจุดหมายของเรา ว่าจะเป็นโดยรัฐบาลทำเองหรือมีหุ้นส่วนอยู่ด้วยก็ตาม เช่นอย่างบริษัทไฟฟ้าเจรจากันง่าย

พระยาศรีวิสารฯ - แต่เมื่อรัฐบาลทำเองจะทำอย่างไร

หลวงเดชาติฯ - ความมุ่งหมายต้องค่อยทำค่อยไป

หลวงประดิษฐ์ฯ - เราก็จะเดินรูปนั้น เราจะพยายามเจรจากับต่างประเทศจนกระทั่งไม่มีทางจึงจะหาวิธีใหม่

พระยามโนฯ- (ถามหลวงคหกรรมบดี) เห็นอย่างไร

หลวงคหกรรมฯ - ในทางเศรษฐกิจต้องทำอย่างหลวงประดิษฐฯ  มิฉะนั้นผลประโยชน์ก็คงตกอยู่แก่คนกลางทั้งหมด จะแก้ด้วยวิธีอื่นไม่ได้

พระยาราชวังสันฯ วิธีตัดคนกลางนั้นมีหลายวิธี เช่นแบบร้านสหกรณ์ต่างๆ

หลวงประดิษฐ์ฯ - ร้านสหกรณ์นั้นทำได้แต่ในเมืองอื่นเราตั้งขึ้นไม่สำเร็จ ชาวนาจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อ เวลานี้ก็เป็นหนี้เจ็กอยู่ท่วมตัว

พระยาราชวังสัน - จะเอาอย่างไร วิธีร้านสหกรณ์นั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าทำได้ แต่ขอสงวนไว้ก่อน

หลวงคหกรรมฯ- ต้องทำอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ คือ สหกรณ์อย่างครบรูป

พระยามโนฯ - (ถามนายวิลาศ) เห็นอย่างไร

นายวิลาศ - แถลงถึงวิธีการต่างๆ ที่เคยทำอยู่ในท้องนาและรับรองวิธีการของหลวงประดิษฐ์ฯ

พระยามโนฯ - (ถามนายแนบ) นายแนบเห็นอย่างไร

นายแนบ - เห็นด้วยกับโครงการของหลวงประดิษฐ์ฯ แต่ขอแก้เรื่องเงินเดือน

หลวงประดิษฐ์ฯ - เรื่องเงินเดือนเป็นแต่อุปมา ใช้ได้จริงเมื่อโครงการสำเร็จและต้องแก้ไขให้ถูกต้อง

พระยามโนฯ - (ถามหลวงเดชาติ) จะว่าอย่างไร

หลวงเดชาติฯ - เศรษฐกิจโดยทั่วไปแล้วข้าพเจ้าไม่มีความรู้แต่เศรษฐกิจทางขนส่งแล้ว เช่น รถไฟเป็นต้น เมื่อรัฐบาลได้ลงทุนมาตั้ง ๒๐๐ ล้านแล้ว ถ้าปล่อยให้มีคนแข่งขันรัฐบาลไม่ควบคุมเสียเองจะเก็บทุนไม่ขึ้น ดังตัวอย่างในประเทศอังกฤษเวลานี้จะตายอยู่แล้ว ถึงแก่บริษัทรถไฟต้องเดินรถยนต์เองเพื่อแข่งขันกับบริษัทรถยนต์อื่นที่แข่งขันกับรถไฟในเรื่องนี้ก็ทำนองเดียวกันเราจึงต้องจัดเสียเอง ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับความคิดหลวงประดิษฐ์ฯ

พระยาศรีวิสารฯ - รถไฟที่หลวงเดชาติฯ ว่านั้นเป็นของรัฐอยู่แล้ว จะควบคุมเองก็เป็นของง่ายไม่เหมือนเรื่องนี้

พระยามโนฯ - (ถามหลวงเดชาติฯ) จะว่าอย่างไร

หลวงเดชาติฯ - นั่นแหละเกี่ยวกับรายละเอียดของการกระทำ

พระยาศรีวิสารฯ - (รับรองและถามหลวงประดิษฐ์ว่า) ความคิดมีอย่างไร

หลวงประดิษฐ์ฯ - หลักการก็คือรวมแรงรวมทุนรวมที่ดินกันมาทำ

พระยาศรีวิสารฯ - ถ้าเรารับรองหลักแล้วต้องเดินไปอย่างนั้น ทั้งหมดนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย เราต้องเดินเป็นขั้นๆ ไป ข้าพเจ้าเห็นว่าความคิดนี้เป็นความคิดโซเซียลิสม์

พระยามโนฯ - รวมใจความในโครงการดังนี้ใช่ไหม รวมที่ดินโดยบังคับซื้อหรือสมัคร หรือบังคับทางอ้อม รัฐบาลเป็นผู้หาทุนโดยขึ้นภาษีทางอ้อม แล้วมีอะไรอีก

นายวิลาศ - วิธีหาเงินนั้นมีรายละเอียดในหนังสือนั้นแล้ว

นายทวี - (ได้อ่านรายละเอียดวิธีหาทุนในโครงการให้ฟัง ๕-๖ อย่าง)

พระยามโนฯ - การที่ยกเว้นให้เอกชนโดยรัฐบาลไม่จัดเองนั้นมีอะไรบ้าง

หลวงประดิษฐ์ฯ - ในโครงการเสนอข้อยกเว้นต่างๆ มีในหนังสือที่แจกแล้ว

พระยามโนฯ - แปลนเรื่องเงินเดือนนั้นเอาไหม

หลวงประดิษฐ์ฯ - นั่นเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อโครงการเปิดเต็มที่แล้ว อันที่จริงเงินเป็นคะแนนเท่านั้น และเราจะต้องให้ราษฎรมีประกันในการดำรงชีวิตด้วย

พระยามโนฯ - เจ้าคุณทรงเห็นอย่างไร

พระยาทรงฯ - โครงการนี้เป็นโครงการมหึมา ซึ่งจะสำเร็จได้ตั้ง ๕๐ หรือ ๑๐๐ ปี ถ้าเราตกลงจะไม่ประกาศจะได้ไหมเมื่อเราทำละไรก็ทำไป พูดง่ายๆ เรื่องรวมที่ดินอย่างเดียว รัฐบาลจะต้องใช้เงินมากมายอีก ๒๐-๓๐ ปีก็ซื้อไม่หมดและการรวมแรงเราก็ยังไม่มีเงินจ่าย แต่ที่เราหวังอยู่ว่าเมื่อเราซื้อที่ดินหมดแล้ว เราก็บังคับราษฎรได้เหมือนอย่างเจ๊ก จะให้ทำอะไรก็ได้ตามที่ชอบใจเราและมีความเห็นพระยาประเสริฐสงครามว่า ที่ดินที่ว่างเปล่านั้นมีมากมาย คนว่างงานก็มากมาย เราจองที่ดินที่ว่างและเอาคนว่างงานไปบรรจุ ก็ช่วยคนไม่มีงานทำได้มาก เพียงเท่านี้ก็ทำไม่สำเร็จ เราอย่าประกาศดีกว่า

หลวงประดิษฐ์ฯ - การที่เราเปลี่ยนแปลงคราวนี้ยังไม่แสดงพอว่าเราจะบำรุงเศรษฐกิจไปในทางใด มีหลายคนอยากทราบเช่นพวกคณะชาติ การที่ทำอะไรปิดๆ บังๆ นั้นทำให้คนระแวงและอาจเกิดผลร้ายได้ ดังเช่นพระเจ้าอยู่หัวทรงพระดำริจะพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ราษฎร ส่งให้พระยาศรีวิสารวาจา แต่ไม่ประกาศให้ประชาชนทราบ จึงเกิดมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น อย่างเดียวกันถ้าเราได้ประกาศโครงการให้ทราบแล้วเรื่องระแวงคงไม่มี เราประกาศให้ทราบทั้งโครงการใหญ่และทั้งการที่จัดเป็นลำดับ และบอกให้เขาทราบเป็นระยะทุกขั้นไป ชี้แจงผลที่ได้ทำทุกสัปดาห์

พระยาทรงฯ - ขออย่าประกาศ เราทำอะไรก็ทำไป

ม.จ. สกลฯ - อายหรืออย่างไรจึงไม่กล้าประกาศ หลักโฆษณา ข้าพเจ้าคิดไว้นานเป็นของดี

พระยาทรงฯ - เห็นว่าการประกาศเป็นโทษ เช่นเพียงแต่ประกาศว่า เราจะซื้อที่ดินทั้งหมดก็ตกใจ

หลวงประดิษฐ์ฯ - ถูกแล้วถ้าประกาศสั้นๆ เช่นนั้นแต่ถ้าประกาศใช้คำพูดให้เข้าใจ ชี้แจงจุดหมายคืออะไร เราจะทำเป็นระยะอย่างไร คนคงเข้าใจ การเข้าใจผิดเพราะเราจัดเรื่องโฆษณาไม่ดี

พระยาทรงฯ - ราษฎร ๑๑ ล้านคนมีความเข้าใจเพียงใด

ม.จ. สกลฯ - วิธีโฆษณานั้นได้เตรียมวิธีไว้แล้ว ค่อยๆ ทำความเข้าใจให้ราษฎรรู้หลักแล้ว แก้อุปาทานที่เข้าใจผิด ถ้าเราแปลนค่อยทำค่อยไปแล้ว เขาก็เข้าใจเอง และไม่น่ากลัวเกรงต่างประเทศ เพราะถ้าเรารวมกำลังกันเป็นปึกแผ่นก็ไม่เห็นน่ากลัวอะไร แม้ทำให้คนแก่ๆ ตกใจบ้างก็ไม่เป็นไร

พระยาทรงฯ - เราประกาศแต่สิ่งที่เราทำได้จริงๆ ที่ว่ามีใน ๕-๑๐ ปี เพราะราษฎรใจร้อน

หลวงประดิษฐ์ฯ - การประกาศโครงการแห่งชาตินี้เท่ากับเราเพาะนิสัยให้รักชาติด้วยเพื่อให้พลเมืองกระตือรือร้นในความเจริญของชาติ

พระยาทรงฯ - เราประกาศเพียงในสิ่งที่ทำใน ๕ ปี หรือ ๑๐ ปีไม่ดีหรือ เพราะตามโครงการ ๒๐๐ ๓๐๐ ปีก็ไม่สำเร็จ ดูแต่รัฐบาลเก่าเขาปกครองมาตั้ง ๑๕๐ ปีโดยไม่มีโครงการก็ไม่เห็นเป็นไรเราจะประกาศเท่าที่ทำได้

พระยามโนฯ - ข้าพเจ้ารับรองในชั่วชีวิตข้าพเจ้าว่าทำไม่ได้

ม.จ.สกลฯ - เข้าคุณเชื่อมั่นเกินไป เวลานี้เศรษฐกิจตามลัทธิตึงเครียด (ลิเบรัล) ในยุโรปนั้นทำให้เกิดความปั่นป่วนทั่วไปแล้ว วิธีโซเซียลิสม์จะเข้ามาแทนที่

หลวงประดิษฐ์ฯ - ตามที่ท่านสกลฯ รับสั่งถูกต้อง มีผู้ทำนายว่าการต่อสู้ระหว่างคนต่างชั้นจะต้องเกิดมีขึ้น เมื่อมีความปั่นป่วนมากขึ้น คือมีคนยากจนแร้นแค้นเราจะป้องกันเสียในขั้นต้น ถ้าเราไม่ประกาศเสียให้เขาทราบให้หมด ถ้าคณะชาติทำการโฆษณาเป็นทางโซเซียลิสม์ เราก็แพ้เขา และป้องกันการเข้าใจครึ่งๆ กลางๆ

พระยาทรงฯ - ลองประกาศเป็นความคิดส่วนตัวของคนใดคนหนึ่ง เช่นของคุณหลวงเองอย่าให้เป็นความคิดของรัฐบาลจะได้ไหม

หลวงประดิษฐ์ฯ - ถ้าเช่นนั้นก็ยิ่งดี ราษฎรจะได้เข้าใจกันเสียที ข้าพเจ้าไปที่ไหนมีแต่คนมาต่อว่าไม่เห็นทำอะไรกัน และข้าพเจ้ารับผิดชอบ เมื่อประกาศไปแล้วให้ราษฎรด่าข้าพเจ้าเถิด

นายวิลาศฯ - ขอเงินทำโฆษณานี้

หลวงประดิษฐ์ฯ - ได้เงินสำหรับโฆษณาก็ดี

พระยาทรงฯ - ได้

ม.จ. สกลฯ - เราจะโฆษณาไปทั้งหมดนี้ไม่ได้ ราษฎรไม่เข้าใจ

หลวงประดิษฐ์ฯ - ต้องแก้ถ้อยคำเสียใหม่ เพื่อความเข้าใจของราษฎร

พระยามโนฯ - เข้าใจว่าพวกเราส่วนมากในที่ประชุมนี้เห็นอย่างเดียวกับโครงการของหลวงประดิษฐฯ แต่ความเห็นของข้าพเจ้านั้นอีกอย่างหนึ่ง แต่ข้าพเจ้าเป็นคนเคราะห์ร้ายด้วยเหตุ ๒ ประการ ข้าพเจ้าไม่ได้เรียนทางเศรษฐกิจประการหนึ่ง และอยู่ในฐานะที่ต้องมีความรับผิดชอบทั้งหลักการและวิธีปฏิบัติ แต่ข้าพเจ้ามีความมั่นใจ มีหลายครั้งที่เราเห็นว่า งานนี้ถูก แต่แล้วอาจกลับผิดไปได้ ความเห็นของข้าพเจ้าในเวลานี้ คือว่าเราทำไม่ได้ทั้งหมดขาดผู้ชำนาญขาดประกัน และขาดความนิยมของคนทั่วไป เพราะข้องใจว่า ราษฎรคงไม่มีความนิยมในโครงการนี้ ถ้าเราประกาศโครงการออกไป ในเมื่อเขาไม่มีความยินยอมแล้วมันก็เป็นผลร้าย

และต้องดูว่า ประชาชนเขามีความรู้สึกเพียงใด เช่นเรื่องเล่าลือต่างๆ เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ ประชาชนยังสงสัย ข้าพเจ้าเคยถูกหาว่ากลัวฝรั่ง แต่ข้าพเจ้ามีความมั่นใจอยู่อย่างนั้น ก็ต้องรับ มีคนเข้าใจว่าข้าพเจ้าต้องการบงการจนมีข่าวลือว่า ข้าพเจ้าเดินหลัก “มโนเครซี่” ขอให้เข้าใจว่าข้าพเจ้ามาเพื่อหวังดี อะไรที่เห็นว่าจะนำไปสู่ความหายนะแล้วข้าพเจ้าไม่ทำ เมื่อทำไปโดยไม่เห็นด้วยข้าพเจ้าก็ต้องลา แต่ถ้าเราประกาศแต่เพียงขยายสหกรณ์ประเภทเครดิต แบบช่วยชาวนา หรือขยายร้านสหกรณ์อย่างนี้พอทำได้

ถ้าเราประกาศหลักการลงไป มีคนส่วนมากไม่เข้าใจ เพียงแค่คำเล่าลือนิดเดียวยังมีความปั่นป่วนในการค้า เราอยู่ในฐานะที่ถูกบีบทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษ ถ้าเขาคิดแกล้งเรา เข้าใจว่าเจ้าคุณทรงฯ ก็รับไม่อยู่ เห็นว่าการประกาศหลักการนั้นราษฎรไม่เข้าใจจะนำความเข้าใจผิดและไม่เห็นด้วย โครงการนี้อีกกี่ร้อยปีจึงจะทำได้นั้นไม่ทราบ ถ้าคนอยู่ในสมัยพระศรีอาริย์แล้วทำอย่างนี้ก็ได้

ม.จ. สกล -  ขอให้สังเกตว่า แคปิตัลลิสต์เวลานี้จนเต็มทีแล้วอยากจะขายที่ดิน

พระยาศรีวิสารฯ -นั่นเป็นแต่ความคิดเห็น

หลวงประดิษฐ์ฯ - ไม่ใช่แต่เพียงความคิดเห็น เป็นความจริงด้วย

นายทวี - ข้าพเจ้าเคยถามคนที่มีที่ดินมากคนหนึ่งเขาอยากจะขาย แม้แต่เพียงครึ่งราคาก็เอา

พระยามโนฯ - การประกาศโครงการออกมานั้นขอให้ฟังเสียงข้างนอกบ้างว่า หลวงประดิษฐ์ฯ นั้นเป็นผู้บงการในวงการรัฐบาลนี้ และนายสงวน นายซิมเป็นโมคลา สาริบุตร ของหลวงประดิษฐ์ฯ แยกกันไม่ออก

หลวงประดิษฐ์ฯ - ว่าที่จริงนั้นสงวนกับซิมนั้นเป็นลูกศิษย์ใต้เท้าขอให้ไปเปิดดูทะเบียนที่โรงเรียนกฎหมาย จะเห็นได้ว่าสงวนสอบไล่ได้ในปี ๒๔๖๐ เวลานั้นผมยังไม่ได้สอน และใต้เท้าเป็นครูสอนกฎหมายมฤดก

พระยามโนฯ - จริง ควรจะเป็นลูกศิษย์ข้าพเจ้ามากกว่า

นายวิลาศ - คนที่เข้าใจว่าสองคนนี้เป็นลูกศิษย์หลวงประดิษฐ์ฯ ก็มีแต่คนข้างใน เพราะสองคนนั่นเป็นสายของหลวงประดิษฐ์ฯ คนนอกไม่รู้ การที่คนนอกเข้าใจว่าเป็นคนของหลวงประดิษฐ์ฯ ก็เพราะคนข้างในที่เป็นหนอนบ่อนไส้นำไปกระพือ แต่ความจริงคนทั้งสองก็ไม่มีอะไร นอกจากคนที่เกลียดจะนำไปปั้นทำขึ้น

พระยาทรงฯ - สกีมของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่ประกาศได้นั้นมีอะไร

พระยามโนฯ - มีเป็นต้นว่า ขยายสหกรณ์เครดิตไซโล ประนอมหนี้ รายละเอียดจะให้หลวงเดชฯ กับหม่อมเจ้าสกลฯ ทำ

หลวงประดิษฐ์ฯ - เรื่องประกาศนั้นว่าอย่างไร

พระยาราชวังสันฯ - จะประกาศโครงการกว้างๆ ไว้แต่ให้ประกาศเป็นขั้นๆ ในเวลาเดียวกัน เราสอนราษฎรเป็นขั้นๆ เพื่อไม่ให้ตกใจ

พระยาทรงฯ - ให้ที่ประชุมตกลงให้หลวงประดิษฐ์ฯ ประกาศโครงการใหญ่เอง ถ้ารัฐบาลรับเอาโครงการจึงประกาศซ้ำ แต่ถ้ารัฐบาลไม่รับรู้ในโครงการ จะถือตามโครงการของรัฐบาลเอง หลวงประดิษฐ์ฯ ไม่ขัดข้องใช่ไหม

พระยามโนฯ ที่ข้าพเจ้าเสนอนั้นเป็นความเห็นของคนคนเดียว ไม่ทราบว่ารัฐบาลจะตกลงหรือไม่ สมาชิกในรัฐบาลที่อยู่ในที่นี้ก็คือ เจ้าคุณศรีฯ เจ้าคุณทรงฯ นายแนบ หลวงประดิษฐ์ฯ นายประยูร เจ้าคุณราชวังสัน และข้าพเจ้า

หลวงประดิษฐ์ฯ - ของใต้เท้าหรือของรัฐบาลก็เหมือนกัน

พระยาราชวังสัน - การประชุมนี้ไม่ใช่การประชุมของรัฐมนตรีไม่ใช่หรือ

หลวงประดิษฐ์ฯ - ส่วนมากเป็นรัฐมนตรี

พระยามโนฯ - ในที่นี้ตกลงให้ทำตามโครงการของหลวงประดิษฐ์ฯ ไม่ใช่หรือ ข้าพเจ้าคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย แต่จะมีใครบ้างอีกไม่ทราบ

พระยาศรีฯ - ข้าพเจ้าได้พูดไว้แล้วแต่ต้นว่า ถ้าทำหมดตามโครงการนั้นข้าพเจ้าไม่เอา ถ้าแบ่งทำแต่บางส่วนข้าพเจ้ายอมรับ

หลวงประดิษฐ์ฯ - เราได้ตั้งกรรมานุการแล้ว ควรจะแนะนำความเห็นบางอย่างได้ ไม่ทราบว่าพระยามโนฯ จะเอาอย่างไร

พระยาทรงฯ - ก็ให้พระยามโนปกรณ์ฯ บอกหัวข้อให้จดไว้

พระยามโนฯ - ในเวลานี้เห็นว่าเราจะทำเช่นขยายสหกรณ์เครดิต ที่มีอยู่แล้วเวลานี้

หลวงประดิษฐ์ฯ - ก็ให้หลวงเดชสหกรณ์จดให้หลวงอรรถสารฯ ก็แล้วกัน เพราะหลวงเดชสหกรณ์ทราบดีหมดแล้ว

หลวงเดชาติฯ - ถ้าเช่นนั้นรัฐบาลคงดำเนินตามวิธีของรัฐบาลเก่าใช่ไหม

หลวงประดิษฐ์ฯ - ตามความเห็นของเจ้าคุณมโนฯ ฟังได้ว่ารัฐบาลจะทำตามโอกาสที่จะทำได้อย่างรัฐบาลเก่า แต่มีข้อแปลกกว่ารัฐบาลเก่าใช่ไหม

พระยามโนฯ - คิดว่าจะทำอย่างนั้น (ตกลงให้หลวงเดชสหกรณ์ส่งให้หลวงอรรถสารฯ จดความเห็น พระยามโนฯ) ว่า

๑. ขยายสหกรณ์ประเภทเครดิต โดยใช้วิธีประนอมหนี้และให้ทุนแก่ชาวนา

๒. ขยายร้านสหกรณ์เพื่อให้ชาวนาซื้ออาหารและของใช้โดยราคาถูก

๓. ตั้งยุ้งข้าวในท้องที่ต่างๆ เพื่อรับซื้อข้าวจากชาวนาและขนส่งทางกรุงเทพฯ (transport)

๔. ตั้งโรงสีรับสีข้าวที่สหกรณ์ส่งมาเพื่อจำหน่ายต่างประเทศ

๕. ชาวนาที่ไม่มีนาของตัวเอง รัฐบาลจะทำเซตเติลเมนต์สกีม คือจัดหาที่ดินให้ผู้ไม่มีนาของตัวเอง การตั้งยุ้งข้าว การขนและการสีข้าวเป็นปัปลิคคอร์ปอเรชั่น

หลวงประดิษฐ์ฯ - จะเอาอย่างไรกัน ฝ่ายหนึ่งไม่เอาเลย คือ ลิเบรัลและทำแล้วแต่โอกาสและเพิ่มเติมขึ้นบ้าง แต่อีกฝ่ายหนึ่งทำทั้งหมด ความเห็นของพระยามโนฯ รับส่วนย่อยของโครงการ แต่ไม่มีนโยบาย เช่นตั้งโรงสี จะตั้งอย่างลิเบอรัลก็ได้ โซเซียลิสต์ก็ได้

พระยาทรงฯ - วันนี้เราไม่ได้ตกลงกัน เว้นแต่มาแสดงความเห็นเท่านั้น

ที่ประชุมตกลงว่า ให้เสนอรายงานประชุมต่อผู้ก่อการ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรี ถือว่าความเห็นแตกเป็นสองทาง

๑. ทางพระยามโนฯ ให้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างรัฐบาลเก่า และเลือกทำแปลกว่าตามโอกาสอำนวย ไม่วางนโยบายเศรษฐกิจไว้

๒. ทางหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ให้วางหลักที่จะทำและดำเนินนโยบายตามเค้าโครงการ เมื่อตกลงนโยบายอันใดได้แล้ว ตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติสำรวจและวางแผน เมื่อมีกำลังแรงทุนเท่าใดทำเพียงเท่านั้น และตกลงว่า ถ้าความเห็นไม่ลงรอยกัน และถ้ารัฐบาลเห็นทางพระยามโนฯ ให้หลวงประดิษฐ์ฯ ประกาศโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ ในนามของตนเอง และอย่าให้มาทำความเข้าใจผิดว่า รัฐบาลจะทำอย่างนั้น ได้ชี้แจงว่าหลวงประดิษฐ์ฯ ไม่ใช่เป็นผู้ชี้ขาดในคณะรัฐมนตรี

(ลงนาม) อรรถสารประสิทธิ์ ผู้จดรายงาน

 

หมายเหตุ :

  • อักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น

บรรณานุกรม

  • ไสว สุทธิพิทักษ์, รายงานการประชุมกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ. กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2526, 211-236.

 


[1] ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล, ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: สถาบันสันติประชาธรรม, 2531), น. 270-288.