ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

PRIDI Interview : ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ : สว. 2567 เปลี่ยนสว. เปลี่ยนประเทศ

8
พฤษภาคม
2567

 

 

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ :
สวัสดีครับ วันนี้ PRIDI Interview เราอยู่กับพี่เป๋า ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ แห่ง Ilaw ( โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) นะครับ ก็วันนี้เรามาคุยกันเรื่องในวาระที่วันที่ 11 พฤษภาคมนี้ สว. (สมาชิกวุฒิสภา) ชุดปัจจุบันจะสิ้นสุดลงนะครับ PRIDI Interview เราก็เลยชวนพี่เป๋ามาคุยนะครับ ว่ามีมุมมองยังไงบ้างเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการเลือกตั้ง สว. ใหม่ในครั้งนี้นะครับ ก็สวัสดีนะครับพี่เป๋าครับ

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
สวัสดีครับ

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ :
ได้เห็นตัวแคมเปญที่ Ilaw กำลังทำเกี่ยวกับเรื่องเกี่ยวกับการสมัครสว.ปี 67 ก็เลยอยากจะชวนพี่เป๋ามาเล่าให้ฟังหน่อย เกี่ยวกับว่าตอนนี้ Ilaw ทำอะไรเกี่ยวกับโครงการนี้อยู่บ้างในแคมเปญนี้

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
ก็เรากำลังจะมีสว. ชุดใหม่นะครับ ที่มาจากกระบวนการคัดเลือกแบบใหม่ เราตั้งชื่อเล่นมันสั้นๆ ว่า กระบวนการแบ่งกลุ่มอาชีพและเลือกกันเองในหมู่ผู้สมัคร อันนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก เพราะว่าถ้าประชาชนไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในครั้งนี้ เราก็กลัวว่าเราจะได้สว. ชุดต่อไปที่มีลักษณะวงเล็บนิสัยไม่ต่างจากสว. ชุดที่ผ่านมาแล้วก็เขาก็จะเป็นคนของใคร เป็นคนของกลุ่มการเมือง เป็นคนที่เรียกว่าถูกล็อคมา มี mandate มีใบสั่งมาชัดเจนว่าให้เขาทำอะไรนะครับ ซึ่งเราไม่ได้อยากเห็นสว. ชุดต่อไปเป็นอย่างนั้น และนี่เป็นโอกาสเดียวที่เราจะเปลี่ยนมัน คือเราอยู่กับสว. ชุดเดิม 5 ปีเปลี่ยนมันไม่ได้เลย เสนอแก้รัฐธรรมนูญไปกี่ครั้งเขาก็ไม่ยอมให้แก้ แต่ว่าเราก็ไม่อยากอยู่กับสว. หน้าตาแบบเดิมอีก 5 ปี ดังนั้นเราจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในตั้งแต่ตอนนี้ ในกระบวนการเลือกสว. ชุดใหม่

 

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ คนที่มีสิทธิ์เลือกไม่ใช่ประชาชนทั่วไป ไม่ใช่การเลือกตั้งที่คนอย่างเราเดินไปออกเสียงได้ แต่คนที่ยังมีสิทธิ์ออกเสียงคือ คนที่ไปสมัครเข้าร่วมกระบวนการเท่านั้น แล้วก็ขั้นตอนก็ยุ่งยากมีเงื่อนไขเยอะที่คนจะสมัครได้ต้องอายุ 40 ปีขึ้นไป ต้องเคยทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งมา 10 ปี ต้องสังกัดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งให้ได้ แล้วก็ต้องไม่เป็นข้าราชการ ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ไม่เคยติดคุกพ้นโทษไม่เกิน 10 ปี คือเงื่อนไขมันเยอะ แต่เราก็เชื่อว่าคนที่มีใจอยากมีส่วนร่วมในการตัดสินอนาคตประเทศ และคุณสมบัติถึงก็มีหลายสิบล้านนะครับ

เราจึงอยากเชิญชวนทุกท่านไปสมัคร ไปสมัครสว. รอบนี้ไม่ได้แปลว่าเราอยากเป็นสว. หรือไม่ได้แปลว่าเราสมัครเพื่อเราอยากจะเข้าสู่อำนาจอยากจะได้ยศถาบรรดาศักดิ์ อยากไปนั่งใส่สูทอยู่ในห้องประชุม การสมัครนั้นมีความหมายก็คือการสมัครเพื่อโหวตเป็นอย่างน้อย เพราะถ้าไม่สมัคร นั่งอยู่บ้านไม่ว่าคุณจะเป็นใครยิ่งใหญ่มาจากไหน คุณก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะโหวตนะครับ แต่ถ้าคุณอยากมีส่วนร่วมตัดสินว่าใครจะมาเป็นสว. ชุดต่อไป โอกาสเดียวก็คือต้องสมัครเข้าร่วมกระบวนการแล้วจะมีสิทธิ์โหวต

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ :
เท่าที่ได้ดูในตัวในโบรชัวร์นี้มาครับ ทำให้เห็นภาพอย่างหนึ่งคือ การเลือกสว. ครั้งนี้เอง ตัวระบบเองก็ค่อนข้างจะซับซ้อน แล้วก็เท่าที่ได้ยินจากข่าวมาคนก็ค่อนข้างจะบ่นเยอะว่าไม่เข้าใจ ผมเข้าใจว่าระบบนี้ออกแบบมาให้มีการโหวตใน 3 ระดับ คือ ในกลุ่มของอาชีพในระดับอำเภอ จังหวัด แล้วก็ประเทศ แต่ว่าอันนี้ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าระบบของการโหวตในครั้งนี้ มันแตกต่างจากที่ผ่านๆ มายังไง

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
เราไม่เคยมีการเลือกสว. แบบนี้มาก่อน ที่ใกล้เคียงบ้างก็คือที่เกิดขึ้น ทดลองทำในปี 61 แต่ตอนนั้นไม่มีโหวตไขว้ อันนี้พิเศษมากนะครับ คือคนที่เขาออกแบบระบบนี้เขาคิดอย่างเดียวว่า ทำยังไงก็ได้ให้ล็อคผลไม่ได้ จัดตั้งไม่ได้ กลุ่มอิทธิพล กลุ่มการเมืองไม่สามารถรับประกันได้ว่าพวกเขาจะได้เป็น เขาก็เลยออกแบบระบบให้มันพึ่งดวงค่อนข้างสูง มีการจับสลากเยอะมากนะครับ

หลักการก็คือว่าเราจะต้องเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพก่อน แล้วคนที่ได้รับเลือกคะแนนสูงในกลุ่มอาชีพเดียวกันต้องไปจับสลาก เพื่อไปจับสลากเพื่อไปแบ่งสายกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ ในสายหนึ่งอาจจะมี 5 กลุ่มและกลุ่มนี้ก็จะต้องไปโหวตกลุ่มอื่นๆ เช่น ชาวนาอาจจะอยู่สายร่วมกับคุณหมอ นักกฎหมาย นักวิทยาศาสตร์ และกลุ่มนักกีฬา สมมติชาวนาเขาจะต้องเอาคะแนนของตัวเองไปโหวตให้กับนักกฎหมาย ให้กับคุณหมอ ให้กับนักวิทยาศาสตร์ และให้กับกลุ่มนักกีฬา อันนี้มันมาจากการจับสลาก มันก็พอจะบอกได้ว่ามันล็อคยากนะครับ คือสมมตินักกฎหมายคนนึงอยากจะเป็นสว. มาก อาจจะซื้อเสียงในหมู่นักกฎหมายได้ แต่คุณซื้อชาวนาไม่ได้ คุณซื้อนักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ แล้วคุณก็ไม่รู้ด้วยว่าชาวนากับนักวิทยาศาสตร์จะจับสลากมาเจอคุณหรือเปล่า

 

 

เสียงที่คุณซื้อสมมติคุณซื้อนะ ซึ่งมันไม่ถูกต้อง สมมติคุณซื้อก็ไม่รู้ว่าคนที่คุณจ่ายตังค์ให้เขา เขาจะได้จับสลากมาโหวตคุณหรือเปล่า นี่คือกลไกมันออกแบบมาแบบนี้ แต่ผลเสียของการที่กลไกออกแบบมาแบบนี้ก็คือทำให้สุดท้ายใครเลือกสว. นักกฎหมายที่ได้เป็นสว. ถูกเลือกโดยนักกฎหมายขั้นต้น แต่สุดท้ายจะถูกตัดสินโดยกลุ่มอื่นๆ เลยใครก็ไม่รู้ที่จับสลากมา แล้วชาวนาจะไปรู้ได้ไงว่าในนักกฎหมายจะต้องเลือกใคร นักกีฬาจะไปรู้ได้ยังไงว่านักกฎหมายใครดี นักกีฬาจะเลือกจากอะไร ก็เลือกมั่ว เรียนตรงๆ ดวงมาแล้วก็กามั่ว ก็ดูว่าใครเลขสวย Lucky Number เลข 87 มันเขียนยาก ถ้าใครได้หมายเลข 87 มันได้ยากหน่อย ใครได้หมายเลข 1 มันเขียนง่าย เขียนๆ มา 1 อย่างนี้ คือมันมีดวงอยู่ในกติกาค่อนข้างสูง

 

 

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ :
ทีนี้ถามต่อนิดนึงครับ พอดีเมื่อสักครู่นี้พอพี่เป๋าเริ่มพูดว่ามันมีระบบโหวตไขว้ซึ่งมันเป็นตัวตัดสินเลยว่าใครจะได้เป็น ระบบนี้เท่าที่ลองฟังดูก็เริ่มคิดว่าจริงๆ คือมันอาจจะทำให้แก้ปัญหาเรื่องการโกงจริงๆ อย่างที่ผู้ร่างเขาหวังดี แต่ว่าในความเป็นจริงเรื่องคนโกงมันอาจจะมีปัญหาอื่นแทนหรือเปล่า เช่น ถ้าใครเป็นคนที่มีชื่อเสียงหน่อยก็อาจจะได้รับโอกาสมากกว่าคนอื่น เพราะว่าเรารู้แหละว่าคนนี้หน้าตาแบบนี้ เคยออกทีวีบ่อยๆ เป็นทนายความผู้มีชื่อเสียง หรือว่าเป็นคุณหมอนักออกข่าวคนหนึ่งอะไรอย่างนี้มีโอกาส เปิดโอกาสหรือเปล่า

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
มีโอกาสครับ ระบบนี้เอื้อกับคนมีชื่อเสียง แต่ว่ามันต้องมีชื่อเสียงระดับประเทศเลย พี่เบิร์ด ธงไชยนะ สมมติจะเป็นนักร้อง คุณต้องแบบเป็นเบิร์ด ธงไชย เป็นเสก โลโซ เป็นตูน Bodyslam นะ สมมติคุณเป็นแบบเป็นวงกลางๆ วงหนึ่ง ที่มียอด Views ในเพลง 10,000,000 Views ซึ่งมันดังแล้วนะ คุณเข้าไปเลือกระดับประเทศแล้วคุณต้องคาดหมายให้ชาวนา ชาวสวน คุณครู ชาติพันธุ์มาเลือกนักร้อง เขาไม่รู้จักนะ เพราะฉะนั้นมันต้องดังมากจริงๆ แล้วก็โอเคยอมรับว่าระบบนี้คนมีชื่อเสียงระดับประเทศมีผล แต่ผมคิดว่าวิธีแก้อีกอย่างหนึ่งของระบบนี้ก็คือว่าคุณต้องทำตัวเองให้มีชื่อเสียงนะครับ ก็คือคนที่คิดว่าลงสมัครแล้วอยากจะได้ ถ้าคุณอยู่เงียบๆ แล้วคุณใช้วิธีไปล็อคผล ไปจัดตั้ง ไปซื้อเสียงมา คุณไม่ได้หรอกอันนี้พูดด้วยความหวังดีกับคนที่จิตใจไม่บริสุทธิ์ คุณไม่มีทางชนะหรอกเพราะว่าสุดท้ายคนที่มาเลือกคุณเป็นใครก็ไม่รู้ คุณจัดตั้งไม่ได้

 

 

ดังนั้นวิธีที่ดีกว่าสำหรับคนที่อยากจะเป็น คือคุณต้องประกาศตัวเองแล้วทำให้ตัวเองมีชื่อเสียง ให้คนที่เขาจะโหวตคุณเขาอาจจะไม่เคยรู้จักคุณมาก่อนก็ได้แต่คุณต้องทำให้เขารู้จักตั้งแต่วันนี้ว่าคุณคือตัวจริง

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ :
ทีนี้ถามต่อคือผมไม่แน่ใจว่าอย่างเคสสว. เขาให้เราสามารถหาเสียงได้เหมือนเราเลือกส.ส. หรือเปล่า คือเท่าที่ได้คุยกับคนมาเหมือนเขาบอกว่าในใบสมัครเขาให้แสดงพื้นที่ประสบการณ์มาประมาณ 5 บรรทัดว่าเรามีคุณสมบัติอะไรอย่างนี้ มันดูน้อยมากแล้วเหมือนเราตัดสินคนจากหน้ากระดาษ A4 แผ่นเดียว เหมือนสมัครงานเลยอะไรอย่างนี้

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
การเขียนแนะนำตัว 5 บรรทัดไม่มีระเบียบข้อไหนบอกว่าจะเขียนอะไรก็ได้ จะเขียนอะไรไม่ได้ ดังนั้นแปลว่าถ้าคุณเขียนลงไปในนั้นว่า ฉันตั้งใจอย่างยิ่งที่จะไปทำอะไร ผมไม่เห็นระเบียบข้อไหนที่กกต. บอกว่าจะต้องตัดออก ไม่เห็นนะ ที่คนกลัวกว่านั้นก็คือว่าโพสต์ Facebook ได้ไหม ให้สัมภาษณ์ได้ไหม ผมตอบคำถามอย่างนี้ในวันที่เราคุยกันวันนี้นะ ไม่มีกฎหมายห้าม กฎหมายไม่ออก ไม่มี ทำได้ 100% อยากทำอะไรทำไปเลย แต่จะมีระเบียบออกมาว่าข้อจำกัดจะเป็นยังไงบ้าง แต่วันนี้ยังไม่ออกและมันยังไม่บังคับใช้ ดังนั้นวันนี้ทำได้ แต่ไม่แน่ใจวันที่ท่านผู้ชมชมมันอาจจะมีออกมาแล้ว ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ปวดหัวมาก เพราะว่าทำไมคุณไม่บอกล่วงหน้า มันควรจะแน่นอนกว่านี้ คุณมีเวลาตั้ง 4-5 ปีในการเตรียมระเบียบ อันนี้คุณประกาศออกมาตั้งแต่ 5 ปีที่แล้วเลยให้คนมันรู้ว่าถ้าคนจะลงสมัครรอบนี้มันทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ มาบอกใกล้ๆ มันก็เครียดไปหมดครับ

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ :
ทีนี้อาจจะถามต่อ คือเห็นว่าเขามีการแบ่งกลุ่มค่อนข้างจะย่อยมากแล้วจริงๆ ในแต่ละกลุ่มมันก็ควรจะ Represent กลุ่มต่างๆ ในสังคม แต่ทีนี้เท่าที่เห็นในการแบ่งกลุ่มย่อยมันก็มีปัญหาหลายอย่าง เช่น กลุ่มบางประเภทแบ่งแล้วมันอาจจะไม่เหมาะสม มีสัดส่วนของกลุ่มนายจ้างมากกว่ากลุ่มลูกจ้าง กลุ่มพวกประกอบวิชาชีพอิสระก็จำกัดเฉพาะบางกลุ่ม แต่เราก็จะไม่เห็นคนบางกลุ่มเลยที่เขาอาจจะเป็นอาชีพที่สังคมไม่ยอมรับ หรือแม้แต่กระทั่งการใช้กลุ่มอาชีพเป็นตัวหลักในการเลือกก็อาจจะมีปัญหาในบางพื้นที่ซึ่งมันไม่มีอาชีพแบบนั้นเลย ในลักษณะแบบนี้ อันนี้มันเป็นปัญหาของระบบเลือกตั้งที่ออกแบบมาไว้หรือเปล่า

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
ใช่ครับ มันผิดตั้งแต่คิดว่าเราจะเลือกตัวแทนของประเทศโดยการแบ่งกลุ่มอาชีพแล้ว มันมีคนตั้ง 60 กว่าล้านคน มันคงมีอาชีพเป็นล้านนะ ที่มันจัดกรุ๊ป 20 กรุ๊ปไม่ได้หรอกนะครับ ตัวอย่างเช่น เรามีกลุ่มเกษตรกร มี 2 กลุ่ม คือ มีกลุ่มทำนา ทำไร่อยู่ด้วยกัน แล้วก็กลุ่มทำสวน ประมง เลี้ยงสัตว์อยู่ด้วยกัน มีประชาชนมาถามผมว่า เขาทำฟาร์มเห็ดเขาลงอะไร ไม่รู้ ไม่รู้จริงๆ ผมเลยบอกให้เขาลง SME ผมไม่รู้ว่าเค้าทำนา ทำไร่ หรือทำสวนอะไร แล้วก็กกต. ก็เหมือนจะดี คือเขารู้แหละ เขาคิดไม่ออกหรอกว่ามันมีอาชีพอะไรบ้าง เขาจะมีกลุ่มที่เรียกว่ากลุ่มอื่นๆ นะครับ

กลุ่มอื่นๆ ก็คือให้อาชีพอะไรก็ได้มาสมัครนะ ต่อให้คุณเป็นนักกฎหมายมีกลุ่มกฎหมาย ต่อให้คุณเป็นครูมีกลุ่มการศึกษาคุณก็สมัครกลุ่มอื่นๆ ได้ ดังนั้นกลุ่มอื่นๆ เป็นพื้นที่อันตรายที่สุด อันตรายสองอย่าง

หนึ่ง คือ คนที่อยากเป็นสว. แล้วอยากจัดตั้งเพื่อนมาเลือกตัวเอง แต่เพื่อนมันทำคนละอาชีพ มันก็เอาทุกคนไปอื่นๆ ด้วยกันนี่คือพื้นที่อันตราย

สอง คือ สมมติไม่มีคนแบบนั้น มันไม่มีคนทุจริต มันคือคนที่ทำอาชีพทุกอย่างที่มันไม่เข้ากลุ่มใดเลยมาสมัคร เช่น ฟาร์มเห็ดหรืออะไรก็แล้วแต่มาลงด้วยกัน คำถามก็คือว่าคุณจะให้เขาเลือกกันเองไปทำไม เขาเลือกกันเองเค้าเลือกจากอะไร ในเมื่อเขาทำทุกอย่างมันไม่เหมือนกัน มันไม่มีอะไรเชื่อมโยงกันเลย มันไม่มีทางจะรู้จักหรือว่ามีความเชี่ยวชาญหรือเข้าใจอะไรกันนะ แต่เขาก็ต้องเลือกกันเองนะครับ เพราะว่ามันผิดระบบนี้มันไม่ใช่ละ

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ :
นอกจากเรื่องนี้มันจะมีประเด็นอื่นๆ เช่น พอเรากำหนดให้มีกลุ่มเฉพาะบางกลุ่ม เช่น กลุ่มตามอาชีพ ถ้าสมมติคนๆ หนึ่งสวมบทบาทมากกว่าหนึ่งบทบาท มันมีอาชีพคนสารพัดความสามารถอยู่อย่างอาชีพทหาร สมมติผมเป็นทหาร ผมก็เป็นกลุ่มข้าราชการก็อาจจะเข้าการปกครอง ความมั่นคง แต่ถ้าผมเป็นนายแพทย์ทหาร ผมไปเข้ากลุ่มแพทย์ได้ด้วยใช่ไหม แล้วถ้าผมเป็นแพทย์ทหารแล้วผมอยู่โรงพยาบาลพระมงกุฎที่เป็นมหาวิทยาลัยด้วย ผมไปลงการศึกษาได้ด้วยใช่ไหม

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
ถูกต้องครับ ถ้าคุณสอนด้วยนะ คุณก็ไปลงได้ด้วย

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ :
แสดงว่าเราสามารถเลือกได้ว่าเรามีโอกาสที่จะลงกลุ่มไหนก็อาจจะชนะหรือเปล่า

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
ถูกต้อง แล้วถ้าคุณอายุ 60 ปีขึ้นไป คุณยังกลุ่มผู้สูงอายุได้ ถ้าคุณเป็นผู้หญิง คุณก็ลงกลุ่มผู้หญิงได้ แล้วถ้าคุณเป็นทั้งหมดทั้งปวงนี้ คุณยังลงกลุ่มอื่นๆ ได้ด้วย

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ :
ท้ายที่สุดมันก็กลับมาว่า แล้วการที่เราเปิดช่องขนาดนี้มัน Represent อะไรใคร ได้ไหมจริงๆ

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
ไม่ได้ ก็สิ่งที่กังวลที่สุดก็คือกังวลว่าสนามนี้ โอเคสุดท้ายถ้าประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรนะ สุดท้ายมันจะได้ตัวแทน ได้คนที่ผ่านระบบมา ต่อให้เขาสุจริตเลย เขาไม่ได้จัดตั้งไม่ได้ซื้อเสียงเลย เขาไม่ได้เป็นตัวแทนอะไรเลย เขาไม่ได้เป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพ เพราะว่าสุดท้ายแล้วเขาถูกเลือกโดยกลุ่มอื่นที่จับสลากมานะ ต่อให้กลุ่มนั้นนะ ทั้งอาชีพของคุณนะ ชื่นชอบยกย่องนับถือคุณขนาดไหน คุณจะเป็นสว. ได้คุณต้องถูกเลือกโดยอาชีพอื่นๆ ที่จับสลากมา แล้วเขาก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของพื้นที่นะครับ เพราะว่าแม้ว่าคุณจะเป็นที่นับหน้าถือตาในอำเภอหรือจังหวัด สุดท้ายคุณต้องผ่านการเลือกระดับประเทศ ดังนั้นเขาไม่ได้เป็นตัวแทนอะไร

ก็ไม่รู้ว่าสว. ระบบนี้ได้ตัวแทนอะไรนะครับ แต่เราคิดอีกหน่อยก็คือคิดว่า แต่ถ้าประชาชนที่ไปเลือกเป็นประชาชนธรรมดา เจตจำนงเสรี free will อิสระ คือโอเคส่วนหนึ่งที่สมัครเข้าไป เขาสมัครไปเพราะว่าเพื่อนขอให้สมัครเพื่อไปเลือกเพื่อน อันนี้คือเสียงจัดตั้ง ขออนุญาตเสียงจัดตั้งไม่ผิดกฎหมายนะ ถ้าสมมติผมกับคุณทำอาชีพเดียวกัน ผมบอกว่า “เฮ้ยๆ ลงสมัครกับกูหน่อย ไปเลือกกูหน่อย” อย่างนี้ไม่ผิดกฎหมายนะ ไม่ได้ผิดอะไรเลย แต่ถ้าจ่ายตังค์ “เฮ้ย เดี๋ยวกูจ่ายตังค์ให้” อันนี้ผิดละ ดังนั้นคนจำนวนหนึ่งคือเสียงจัดตั้ง เสียงจัดตั้งคุณจัดตั้งให้ตายเหอะ คุณก็ต้องไปจับสลากเลือกไขว้อยู่ดีนะครับ แต่เอาเป็นว่าถ้าเรามีประชาชนเจตจำนงอิสระเสรีมากกว่าเสียงจัดตั้ง สมมติว่าจัดตั้งกันซัก 100,000 คน แล้วมีประชาชนเจตจำนงอิสระเสรีอีก 200,000 นะครับ ที่เดินเข้าไปโดยคุณไม่มีเป้าหมายอะไร คุณไม่ได้รู้ว่าคุณต้องเลือกใครเท่านั้น คุณไปถึงคุณอ่านประวัติ คุณศึกษาทำการบ้านว่าในกลุ่มนี้ในคนที่คุณมีสิทธิ์โหวตใครดีที่สุดแล้วคุณโหวตนะครับ แบบนี้ผมคิดว่าโอเคสุดท้ายอย่างน้อยผลลัพธ์ออกมาคนนั้นจะเป็นตัวแทนของประชาชน จะเป็นตัวแทนของคน 300,000 จะเป็นตัวแทนของคนจำนวนมากๆ ที่เข้าไปเลือกนะครับ ก็ยังมีจุดเชื่อมโยงอะไรบ้าง

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ :
ซึ่งก็อาจจะดีกว่าระบบที่กำลังจะเริ่มใช้ในวันที่ 11 พฤษภาคม

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
เราจึงต้องรณรงค์ให้สมัครเพื่อโหวตกันเยอะๆ ที่สุดครับ

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ :
คือเข้าใจว่าในแคมเปญรอบนี้ Ilaw มีการทำเว็บไซต์ขึ้นมา ลองเล่นมาเมื่อวานชอบมาก มี Data อะไรน่าสนใจเยอะมาก เข้าใจว่าอันนี้คือได้เราได้ข้อมูลมาจากผู้ที่ไปตั้งใจจะสมัครถูกไหมครับ แล้วเขาเอามาเผยแพร่ให้กับเรา ทีนี้พอได้ไปลองดูแล้วในแคมเปญนี้นอกจากจะได้เห็น information ที่เป็นของผู้สมัครแต่ละคน และสิ่งที่เราได้เห็นต่อก็คือเราได้เห็นมุมมอง วิสัยทัศน์ ทัศนคติ ซึ่งอันนี้อาจจะไม่ได้อยู่ใน 5 บรรทัดตอนกรอกเพราะว่าไม่พอ แต่ว่าอันหนึ่งที่น่าสนใจคือมุมมองของคนที่เป็นผู้สมัครแต่ละคนค่อนข้างมีความหลากหลายมาก

ทั้งคนกลุ่มคนที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือคนที่อยากจะทำความเปลี่ยนแปลง เพราะว่าในส่วนต่างๆ ก็มีเหมือน hint ให้ว่าแบบประเด็นทางสังคมอย่างนี้เราสนใจอะไรบ้าง สว. คนนี้สนใจอะไรบ้าง ถามพี่เป๋าในส่วนนี้หน่อย ตัวเว็บไซต์ในแคมเปญนี้เข้าใจว่าเบื้องต้นตอนนี้เว็บไซต์เสร็จแล้ว ใช้งานแล้ว แต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนถ้ากฎของกกต. ออกมา แต่ว่าอยากรู้ว่าตัวเว็บไซต์นี้ผู้ใช้งานจะได้อะไรจากสิ่งนี้บ้าง

 

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
คือว่าใครที่กำลังรู้สึกว่าสนใจ สมัครดีไหมและไม่แน่ใจว่าตัวเองสมัครได้หรือเปล่า คุณสมบัติพอหรือเปล่านะครับ เข้าไปที่เว็บไซต์จะมีฟังก์ชันสำหรับการตรวจสอบคุณสมบัติก่อนนะครับ สมมติคุณตรวจแล้วคุณผ่านก็จะมีให้ว่าคุณลงกลุ่มอะไรได้บ้าง อำเภออะไรได้บ้างนะครับ ทีนี้คำถามต่อไปก็คือคนก็จะสงสัยว่า แล้วฉันจะลงที่ไหนดี คนหนึ่งอาจจะลงได้ซัก 5 อำเภอ ลงไว้ซัก 5 กลุ่มอาชีพนะครับ ก็มีทางเลือก 25 แบบ

ก็เป็นการตั้งใจที่จะ Hack ระบบของกกต. ที่ออกแบบมา ที่เอาทุกคนคือระบบการเลือกกกต. คือเอาทุกคนเข้าห้องปิด ยึดมือถือ ห้ามคุยกัน คือไม่ได้ห้ามคุยแบบใครคุยแล้วไปตีมือ แต่ว่าไม่ให้ล็อบบี้ ไม่ให้แนะนำตัว ไม่ให้ประกาศนโยบาย ไม่ให้ประกาศอะไรเลย และอ่าน 5 บรรทัดละไปโหวต นี่คือที่กกต. ต้องการ เราต้องการให้มันคล้ายกับการเลือกตั้งมากที่สุด คือ คนจำนวนมากเป็นล้านๆ มีส่วนร่วมได้ ทำการบ้านก่อนได้ ตัดสินใจก่อนได้ แล้วก็ไปโหวตเพราะว่าเจตจำนงของตัวเองจริงๆ นี่คือสิ่งที่เราอยากจะเห็นครับ

เป้าหมายของเรานั้นชัดเจนอยู่แล้วครับเต้ย เราต้องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ที่เป็นตัวแทนของประชาชนจากการเลือกตั้ง 100% โดยตรงนะครับ นี่คือเป้าหมายอยู่แล้ว ถ้าวันนั้นมันมีจริง ประเทศไทยไม่เคยมีนะครับ ประเทศไทยไม่เคยมีสสร. จากการเลือกตั้ง และไม่เคยมีรัฐธรรมนูญจากประชาชนโดยแท้ ถ้ามีวันนั้นได้ซึ่งมันก็จะได้อยู่แต่ไม่ได้ซักที เราจะว่ากันใหม่ทั้งระบบเลือกตั้งส.ส. ทั้งระบบเลือกสว. หรือจะมีสว.ไหม เรื่องอื่นๆ สิทธิเสรีภาพของประชาชน พรรคการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญนะครับ ประกาศคำสั่งคสช. มาตรฐานจริยธรรม ยุทธศาสตร์ชาติ ทุกอย่างจะว่ากันใหม่ ก็อยากจะเห็นวันนั้นอยู่ ไม่รู้ว่าจะไปได้ไหม แต่ถ้าปี 2567 ได้สว. ไม่ถึง 67 คน ยังไม่ได้

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ :
อยากจะให้พี่เป๋าเล่าให้คนทางบ้านฟัง แม้ว่ารอบนี้เราจะไม่ได้เป็นคนไปเลือกสว. โดยตรง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือกสว. โดยตรง แต่อยากให้ฝากความสำคัญของสว. ไว้หน่อยว่าทำไมเราต้องสนใจคนกลุ่มนี้ เพราะว่าอะไร

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
สว. จะเป็นคนบอกว่าเราจะได้แก้รัฐธรรมนูญไหม และจะได้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ไหมนะครับ สว.ชุดต่อไปจะเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 จาก 9 คน จะเลือก กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) 5 จาก 7 คน จะเลือกผู้ตรวจการแผ่นดินทุกคนนะครับ จะเลือกกรรมการสิทธิ์ (กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) 5 จาก 7 คน คือองค์กรอิรสะทั้งหลายจะต้องเลือกใหม่อยู่แล้วโดยสว. ชุดต่อไป ถ้าเรารู้สึกว่าองค์กรเหล่านี้ทำงานแปลกๆ ที่ผ่านมา แล้วเราอยากจะได้คุณภาพจากพวกเขามากกว่านี้ เราก็ต้องมีสว. ที่ดีกว่านี้ กระบวนการนี้ดีไม่ดีสำคัญกว่าเลือก ส.ส. อีก ถ้าเรื่องเลือก ส.ส. คือทั้งบ้านทั้งเมืองตื่นเต้น กันเดินขบวนสนุกมากนะครับ ในปี 2566 สำคัญไหม สำคัญมากนะครับ แต่ว่าเป็นไงล่ะเลือก ส.ส. ไปเลือกสุดท้ายมีใครมาขัดแข้งขัดขา ส.ส. มากกว่าครึ่งเอาแก้รัฐธรรมนูญ ส.ส. มากกว่าครึ่งเอาพิธาเป็นนายก สว. เขาไม่เอาอะ มันไปไม่ได้นะครับ

 

 

ดังนั้นภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ สว. สำคัญกว่าส.ส. อีก ดังนั้นพลังอะไรที่เคยสนใจการเลือกตั้ง 2566 ต้องสนใจเรื่องนี้นะครับ แล้วก็กติกาตอนนี้แก้ไม่ทัน มันจำกัดที่อายุ 40 ปีขึ้นไปไม่เป็นไร ใครน้อยกว่า 40 ภารกิจมีอีกอย่างที่สำคัญมาก คือเราทำแพลตฟอร์ม senate 67 มาเพื่ออยากให้การเลือกสว. เข้าใกล้การเลือกตั้งมากที่สุด คนมีส่วนร่วมมากที่สุด นี่เป็นสิ่งที่เราคิดได้ดีที่สุดเท่าที่เราจะคิดได้ ก็ต้องยอมรับว่าพ่อๆ แม่ๆ ลุงๆ ป้าๆ จำนวนมาก ใช้ไม่เป็นนะครับ คือโอเคพี่ๆ อายุ 40 ใช้เป็นแต่ว่าลุงๆ ป้าๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ไปเลือกตั้งวันจริงเดินเข้าคูหาเอาปากกากากบาททำเป็น แต่วันที่จะมาใช้งานตรวจสอบคุณสมบัติ มาประกาศตัว มาดูผู้สมัครคนอื่นอะดูไม่เป็น น้องๆ ช่วยหน่อยนะครับ นี่เป็นภารกิจเลยของคนรุ่นใหม่ เปิดคอม senate67.com เจอป้านั่งแล้วเปิดเชิญชวนเขา ตรวจสอบคุณสมบัติ สมัครได้ ป้าสมัครหน่อย สมัครที่ไหนได้ เว็บบอกแล้ว สมัครที่ไหนดีมีผู้สมัครคนไหนให้ดูบ้าง พาป้าดูแล้วก็พาป้าไปเข้าคูหาให้ถูกนะครับ นี่เป็นภารกิจของพวกเราครับ

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
ทุกท่านครับเรารู้ว่าสว. ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ยังมีความสำคัญมากขนาดไหนนะครับ และถ้าเราไม่เข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการเลือกสว. ชุดต่อไปในปี 2567 มันจะกลายเป็นพื้นที่ของคนกลุ่มเล็กๆ เฉพาะคนที่มีอำนาจ มีเครือข่าย มีเวลา มีเงิน มีทรัพยากร เราไม่ได้อยากเห็นแบบนั้น เราอยากเห็นสว. ชุดต่อไปมาจากประชาชน มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนมากที่สุด สิ่งที่ทุกท่านทำได้คือไปสมัครครับผม สมัครเข้าร่วมกระบวนการ สมัครเพื่อจะเป็นสว. เองก็ได้หรืออย่างน้อยสมัครเพื่อท่านจะได้มีสิทธิ์ออกเสียงโหวตก็ได้ หรือสมัครเพื่อท่านจะได้ไปนั่งอยู่ตรงนั้นแล้วไปจับตากระบวนการว่ามันถูกต้องโปร่งใสสุจริตเป็นธรรมหรือไม่อย่างไรก็สำคัญไม่แพ้กัน

หลายปีที่ผ่านมากระบวนการประชาธิปไตยฝากความหวังไว้มากกับคนรุ่นใหม่กับน้องๆ นักเรียน นิสิตนักศึกษาว่าจะโตมาเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศและประชาธิปไตยต่อไป แต่สำหรับสนามสำคัญในปี 2567 เราฝากความหวังกับน้องๆ ได้ไม่มากเพราะว่าถ้าอายุไม่ถึงสมัครไม่ได้ ปี 2567 จึงเป็นปีสำคัญที่พี่ๆ อาๆ น้าๆ ลุงๆ ป้าๆ พ่อๆ แม่ๆ ต้องทำภารกิจนี้คือการสมัครเข้าไปโหวตแล้วเลือกคนที่จะเดินหน้าประชาธิปไตยเดินหน้าประเทศต่อไปให้เป็นของประชาชนได้ครับ

ผู้สัมภาษณ์ : เขมภัทร ทฤษฎิคุณ
วันที่ 11 เมษายน 2567
ณ อาคาร All Rise
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (Ilaw)