Focus
- ประจักษ์ ก้องกีรติ มองผ่านแว่นการเมืองไทยร่วมสมัยเรื่องสมาชิกวุฒิสภาที่เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยมองว่าคือ ‘พินัยกรรมของคณะรัฐประหารของ คสช.’ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อต่ออายุให้ระบบของพรรคพวกตนเอง และสว. คือผู้พิทักษ์รักษาพินัยกรรมฉบับนี้ของ คสช. และชี้ให้เห็นว่า สว. ชุดนี้มีบทบาท ‘ในการขัดขวางและกร่อนเซาะประชาธิปไตยมากที่สุด’ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา
- ผลงาน และที่มาของ สว. 250 ทำให้ประจักษ์อภิปรายว่าขาดความชอบธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตยจนนำมาสู่การอภิปรายในปัจจุบันว่าเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องสภาเดียว และมีการตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องมีสว. อีกโดยมีข้อถกเถียงน่าสนใจว่า ‘เราเปลี่ยนไปเป็นสภาเดียวเลยดีไหม’ และประจักษ์ได้ประเมินสถานการณ์ไว้ว่า ‘สว. ชุดที่ผ่านมาก็จะเป็นสว. ที่มาจากการแต่งตั้งชุดสุดท้ายในประวัติศาสตร์ไทย’
- ประเด็นหลักคือ นวัตกรรมในการครองอำนาจของ คสช. นอกจากการสืบต่อด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว การเลือกสว. ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 คือมรดกสำคัญ และได้สร้างนวัตกรรมไว้หลายอย่างในทางการเมือง อาทิ ได้ออกแบบทั้งการเลือกส.ส. และการเลือกสว. ทั้งสองแบบนี้เป็นการออกแบบสถาบันการเมืองใหม่ที่ไม่มีประเทศใดในโลกใช้รูปแบบนี้ และในช่วงท้ายได้ชี้ให้เห็นข้อดีของการลงสมัครสว. ในปี 2567 เพื่อให้ประชาชนได้เข้าไปแก้เกมที่ไม่แฟร์ของการเมืองไทยในระบบรัฐสภา
ประจักษ์ ก้องกีรติ :
ครับ ขอบคุณครับ ก็รอบแรกเอาสั้นๆ นะครับมีสว. ท่านหนึ่งเขาบอกว่าเขาปิดทองหลังพระ ปิดทองหลังพระเข้าใจตัวเองผิดไปอย่างมหันต์นะครับ ทีนี้ขอพูดอย่างนี้อาจารย์ธเนศตัดเกรดเมื่อสักครู่ให้ F คือคนเป็นอาจารย์ชอบตัดเกรดนะครับ ผมว่าตัดเกรดบ้างให้คะแนน ผมตีสว. ชุดที่ผ่านมาผมให้เต็ม 10 เลย
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
ยังไงครับ
ประจักษ์ ก้องกีรติ :
ในแง่การที่พิทักษ์รักษาระเบียบอำนาจเดิมของคสช. ครับ อันนี้เต็ม 10 ไม่ต้องซับซ้อนอะไร ก็คือว่าใครตั้งเขามาเขาก็ทำหน้าที่ตอบสนองคนที่ตั้งเขามาใช่ไหมครับ ในแง่นี้สว. เป็นลูกจ้างที่ซื่อสัตย์มากต่อเจ้านายที่ตั้งตนเองมาคะแนนในแง่นี้เต็ม 10 ถ้าเรามองว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 คือพินัยกรรมของคณะรัฐประหารของคสช. ที่สร้างขึ้นมาเพื่อต่อให้ตัวเองไม่อยู่แล้ว เขาวางพินัยกรรมอันนี้ไม่ให้สังคมสามารถเปลี่ยนแปลงไปมากกว่ากรอบที่เขาต้องการเอาไว้ คือจำกัดเพดานและโอกาสของความเปลี่ยนแปลง สว. คือผู้พิทักษ์รักษาพินัยกรรมอันนี้ซึ่งทำงานได้ดีมากนะครับ แต่ถ้ามองในแง่การส่งเสริมประชาธิปไตยและการทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลที่อาจารย์สิริพรรณยกข้อมูลสถิติมาด้วยก็จะเห็นว่าต้องให้คะแนนเป็น 0 ในแง่การส่งเสริมประชาธิปไตย
ทีนี้อีกประเด็นหนึ่งที่อยากพูดไว้ก็คือว่าในฐานะคนศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย จริงๆ เรามีสว. แต่งตั้งมาตลอดหลายชุดโดยเฉพาะหลังการรัฐประหารนะครับ แต่ว่าถ้าให้เปรียบเทียบกันแล้วต้องถือว่าสว. ชุดนี้ที่กำลังหมดวาระที่แต่งตั้งโดยคสช. เป็นสว. ที่มีบทบาทในการขัดขวางและกร่อนเซาะประชาธิปไตยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ที่ผมพูดอย่างนี้เพราะอะไร เพราะว่าในอดีตสว. แต่งตั้งจากคณะรัฐประหารช่วงจอมพลถนอม (ถนอม กิตติขจร) ช่วงพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ตอนนั้นสว. เป็นเหมือนแค่อะไหล่เสริม คือมีอำนาจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย มีอำนาจในการเข้าไปโหวตนายกด้วยแต่ถึงไม่มีสว. ยังไงก็ตามคณะรัฐประหารเขาอยู่ได้ด้วยตัวเอง จอมพล ถนอมก็ต้องเป็นนายกอยู่แล้ว พลเอก เกรียงศักดิ์ก็ต้องได้เป็นนายกเพราะตอนนั้นสังคมเป็นเผด็จการแบบปิด และความตื่นตัวของประชาชนยังไม่สูงมากนะครับ
พูดง่ายๆ สว. ไม่ได้มีบทบาทสามารถไปเปลี่ยนดุลอำนาจหรือไปขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชนได้ เพราะตอนนั้นพื้นที่ทั้งการเมืองของประชาชนปิด มองในแง่เปรียบเทียบแบบนี้สว. ชุดนี้มีบทบาทสำคัญกว่าสว. ทุกชุดที่ผ่านมาในอดีตเพราะว่ามีอำนาจในการเลือกนายกฯ มีอำนาจในการรับรองคนที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ แต่ว่ามันเกิดขึ้นในยุคที่บ้านเมืองมันพัฒนาไปไกลมากแล้ว ประชาชนตื่นตัวไปมากแล้ว
แต่ว่าสว.กลับมาทำหน้าที่บทบาทตรงนี้ในการสืบทอดอำนาจให้คณะรัฐประหาร คือพูดง่ายๆ ผมอยากให้ลองจินตนาการสมมติในทางตรงกันข้ามว่าถ้าไม่มีสว. ชุดปิดทองหลังพระ ขอเรียกอย่างนี้ไปก่อน ถ้าไม่มีสว. ชุดปิดทองหลังพระใน 5 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยพัฒนาไปไกลกว่านี้แล้วในด้านประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญก็อาจจะโดนแก้ไขไปแล้วตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 นะครับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาก็อาจจะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วตั้งแต่ครั้งนั้น ก็หมายถึงว่าการสืบทอดอำนาจมันจะไม่เกิดขึ้น มันจะถูกยุติวงจรมาตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว ฉะนั้นสว. จึงมีบทบาทสำคัญมากในบริบทปัจจุบันในการขัดขวางประชาธิปไตยครับ
ประเด็นสุดท้ายสั้นๆ ผมขอบคุณสว. เช่นกันแบบเดียวกับที่อาจารย์สิริพรรณขอบคุณ ผมคิดว่าคุณูปการที่สำคัญ สมมติเราอยากพยายามมองโลกในแง่บวกนะครับ คือผมว่าคุณูปการสำคัญของสว. ชุดนี้ทำให้สว. ทั้ง 250 ท่านช่วยทำลายมายาคติที่คณะรัฐประหารมักจะอ้างมาโดยตลอดว่าการมีสว. แต่งตั้งมันดีเพราะว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่สกปรก เราจะได้คนดี ถ้าแต่งตั้งจะได้สว. คนดีจะได้สว. ที่มีคุณวุฒิสูง
จะได้สว. ที่มาตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายผู้มีอำนาจได้ จะเป็นสภาฯ พี่เลี้ยงนะครับ สว. ชุดที่ผ่านมาทำลายมายาคติทั้งหมดนี้ลงไป เพราะว่าสว. คือสภาฯ คนดี คือสภาฯ พี่เลี้ยง คือสภาที่จะมาถ่วงดุลฝ่ายผู้อำนาจเพราะว่าทำตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ในแง่นี้มันเลยช่วยเปิดหน้าต่างแห่งโอกาสที่ทำให้สังคมไทย ผมว่าตอนนี้เพราะสว. 250 ท่านนี่แหละมันเลยเกิดแนวคิดที่ว่าถ้าอย่างนั้นทำไมเราต้องมีสว. อีก เราเปลี่ยนไปเป็นสภาเดียวเลยดีไหม ผมคิดว่าข้อถกเถียงตอนนี้มันเป็นจริงมากขึ้น มันเปิดหน้าต่างให้โอกาสให้เกิดการถกเถียงจริงๆ แล้วว่ามันยังจำเป็นอีกหรือไม่ที่ต้องมีสว. โดยเฉพาะสว. แต่งตั้ง ผมคิดว่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะถึงนี้นะครับ ผมไม่คิดว่าจะมีใครกล้าเสนอโมเดลว่าเราจะให้มีสว. แต่งตั้งต่อไป ฉะนั้นก็สว. ชุดที่ผ่านมาก็จะเป็นสว. ที่มาจากการแต่งตั้งชุดสุดท้ายในประวัติศาสตร์ไทยผมคิดว่า
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
ครับผม เราก็ผ่านสว. แต่งตั้งมาหลายชุดนะอาจารย์แต่อาจารย์ประจักษ์มองว่าชุดที่ผ่านมาผลงานโดดเด่นสุดเลยนะครับ แล้วก็ได้เปิดบทสนทนาให้เราว่าหรือจะเอาสภาเดี่ยวดี ถ้าท่านเดินขึ้นบันไดมาท่านจะเห็นว่าเรามีบอร์ดที่ให้แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ด้วยนะครับ ว่าสว. ควรจะมีอยู่ต่อไปหรือเปล่า
ประจักษ์ ก้องกีรติ :
ครับ เพื่อไม่ให้ซ้ำกับทั้ง 2 ท่าน อาจารย์ธเนศได้ปูพื้นประวัติศาสตร์ อาจารย์สิริพรรณพูดถึงทั้งประวัติศาสตร์และก็ตัวแบบสว. ในประเทศอื่นๆ คือผมอยากเจาะไปที่รูปแบบการเลือกสว. ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เรากำลังจะเลือก ขอพุ่งไปที่ประเด็นนี้ในฐานะคนเรียนรัฐศาสตร์และสอนรัฐศาสตร์อย่างผมและอาจารย์สิริพรรณเราก็จะสนใจการออกแบบ กติกา แล้วก็สถาบันทางการเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นี่จริงๆ แล้วสร้างนวัตกรรมไว้หลายอย่างในทางการเมือง ก็คือได้ออกแบบทั้งการเลือกส.ส. เอาระบบก่อนที่จะมีการในที่สุดเปลี่ยนแปลงไปแล้ว คือเราคงจำได้เดิมรัฐธรรมนูญปี 2560 ออกแบบให้เลือกส.ส. โดยมีระบบบัตรใบเดียวแต่มีส.ส. 2 ประเภทใช่ไหม ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์ไว้มากแล้ว แล้วก็การเลือกสว. แบบที่เรากำลังจะเลือก ทั้ง 2 รูปแบบนี้การเลือกส.ส. แบบนี้และสว. แบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีประเทศไหนในโลกทำเลยในการออกแบบเช่นนี้นะครับ
ทีนี้ก็ถามว่า เราฉลาดกว่าประเทศทุกประเทศในโลกที่เหลือหรือเราถึงสามารถออกแบบระบบที่มันซับซ้อนอย่างนี้ได้ คำตอบก็คือไม่ใช่ ไม่ใช่ว่าเราเก่งกว่าเขาแล้วผู้ร่างรัฐธรรมนูญในประเทศอื่นด้วยทำไมเขาคิดไม่ออกแบบเรา คือมันเป็นระบบที่มันไม่ชอบธรรมแล้วมันไม่ยึดโยงกับประชาชนแล้วทั้งไม่ส่งระบบเลือกส.ส. แบบนั้นก็ไม่ส่งเสริมความเข้มแข็งของพรรคการเมือง ระบบเลือกสว. แบบนี้ก็ไม่ยึดโยงกับประชาชนฉะนั้นก็เลยไม่มีใครออกแบบเช่นนี้ มันก็เป็นระบบที่ทุกท่านวิจารณ์ไปแล้วว่ามันพิสดารแต่ผมคิดว่าเป็นความพิสดารและสับสนโดยตั้งใจ ผมอยากวิเคราะห์อย่างนี้ว่าทำไมเขาถึงออกแบบระบบแบบนี้ ซึ่งเป็นระบบไม่ใช่ทั้งเลือกตั้ง แล้วก็ไม่ใช่ระบบแต่งตั้งเป็นระบบที่อยู่ตรงกลางๆ ใช่ไหม เราเรียกว่าระบบครึ่งบกครึ่งน้ำละกัน
ทีนี้ถ้าเลือกตั้งก็หมายถึงว่าแบบปี 2540 แบบรัฐธรรมนูญปี 2540 เลือกตั้งก็หมายความว่าทั้งประชาชนทั้งประเทศ 50 กว่าล้านคนเรามีสิทธิ์ไปเลือกสว. ใครอยากเป็นก็ลงมาสมัครเลยก็ตอนนั้นก็ไปสมัครตามจังหวัดใช่ไหม แต่ละจังหวัดมีสว. ได้ไม่เท่ากันประชาชนก็ไปเลือกอันนั้นคือเลือกตั้ง ถ้าแต่งตั้งก็คือแบบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในรัฐธรรมนูญของไทยก็คือให้ผู้มีอำนาจซึ่งส่วนใหญ่ก็คือจะเป็นนายกนั่นเอง นายกจะเป็นคนที่นำชื่อไปทูลเกล้าถวายฉะนั้นในทางปฏิบัตินายกเป็นคนเลือกเวลาระบบแต่งตั้งใครเป็นนายกอยู่ในขณะนั้นจะเป็นคนเลือกสว. ทั้งหมดอันนี้คือระบบแต่งตั้ง เรามี Election เลือกตั้ง เรามีแต่งตั้ง Appointment ระบบที่กำลังนำมาใช้เป็นครั้งแรกมันคือระบบ Selection มันไม่ใช่ Election ไม่ใช่เลือกตั้ง ประชาชน 50 กว่าล้านคนไม่มีสิทธิ์เลือก สว. จะมาจากการเลือกสรร Select กันเองระหว่างคนที่ไปสมัคร ฉะนั้นยิ่งคนไปสมัครน้อยเท่าไร สว.จะเป็นตัวแทนของประชากรกลุ่มที่น้อยมากๆ ในการคัดสรรกันเอง จริงๆ ก็อยากจะยกให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าสิ่งที่ผู้ออกแบบเขาต้องการคืออะไร
ระบบการเลือกสว. แบบที่เรากำลังจะเลือกเคยใช้มาแล้ว เคยทดลองมาแล้วในช่วงปลายปี 2561 ต้นปี 2562 ตอนนั้นก่อนที่จะเลือกส.ส. ตามรัฐธรรมนูญต้องมีสว. เขาก็ใช้ระบบนี้ไปทดลองในการเลือก ปรากฏว่ากกต. ยอมรับเลยว่าเป็นการเลือกสว. ที่เงียบที่สุดในโลกอันนี้คำของกกต.เอง ผมเชื่อว่าหลายท่านที่นั่งอยู่ในห้องนี้ยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำเราเคยมีการทดลองใช้ระบบนี้มาแล้ว คือสว. 250 คนชุดที่กำลังหมดวาระต้องเข้าใจอย่างนี้ก่อนมี 2 ก้อนนะครับ 200 คน คสช. เขาแต่งตั้งมาเองทั้งหมดจิ้มมา แต่อีก 50 คนเขาได้ทดลองใช้ระบบการเลือกสรร ในการเลือกตอนนั้นใช้งบไปหลายร้อยล้านบาทปรากฏว่าทั้งประเทศตอนนั้นมีคนไปสมัคร 7,000 กว่าคนเพื่อเลือกมาเหลือ 50 คน บางจังหวัดมีคนไปสมัครประมาณ 10 คน ที่เค้าทดลองเลือก สุดท้ายเราก็จะเห็นว่ามันไม่ได้ตอบโจทย์ในการที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนเลย ทีนี้ในการเลือกแบบนี้ทำไมเขาถึงออกแบบระบบแบบนี้ผมคิดว่า
หนึ่งที่เขาไม่ให้เลือกตั้งทั้งหมดอันนี้ก็เข้าใจได้ใช่ไหม เพราะว่าก็หวาดกลัวว่าจะได้สว. ที่ประชาชนเลือกมาและในแง่นี้ชนชั้นนำก็จะคุมไม่ได้ก็กลับไปที่ประเด็นเดิมก็ต้องเข้าใจว่าสว. ชุดนี้เป็นผลผลิตของการรัฐประหารปี 2557 ฉะนั้นมีหน้าที่มารักษาพินัยกรรมฉะนั้นเขาไม่ต้องการคนที่ยึดโยงกับประชาชนแล้วเขาคุมไม่ได้เขาก็ไม่ให้เลือกตั้งเลย แล้วทำไมเขาไม่ให้แต่งตั้งทั้งหมดผมก็พยายามวิเคราะห์ทำไมไม่เอาแบบรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ก็คือแต่งตั้งไปเลย
ผมมานั่งวิเคราะห์แล้วก็ได้คำตอบอย่างนี้ว่าการแต่งตั้งทั้งหมดมันมีความเสี่ยงเพราะว่าถ้าผู้นำคณะรัฐประหารไม่ได้เป็นรัฐบาลเอง ไม่ได้เป็นนายกก็เท่ากับว่าอำนาจในการแต่งตั้งสว. ทั้งหมด 200 คนมันจะหลุดจากมือเขาแล้วมันจะไปตกอยู่ในมือของคนอื่น ถ้าเป็นพรรคอื่นหรือฝ่ายค้านขึ้นมาเป็นรัฐบาลแทนเป็นนายกก็หมายความว่าถ้าไปกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้สว. มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด อำนาจในการแต่งตั้งสว. หลุดไปอยู่ในมือของคนที่อาจจะเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับคณะรัฐประหารด้วยซ้ำ ผมคิดว่าเป็นที่มาที่ทำให้เขาต้องหาระบบใหม่ที่มันครึ่งๆ กลางๆ แบบนี้
ระบบนี้ถ้าท่านไปดูจริงๆ แล้วสว. 200 คนสมมติถ้าไม่มีการรณรงค์ของภาคประชาชนเลยของ Ilaw ของกลุ่มต่างๆ สื่อไม่สนใจก็จะเป็นการเลือกสว. ที่เงียบมากคนไปสมัครไม่เท่าไหร่และออกแบบให้ซับซ้อนมีการเลือกไขว้ด้วยใช่ไหม หลายท่านคงทราบแล้วตอนแรกในกลุ่มอาชีพกันเองก็ไม่ค่อยสมเหตุสมผลแล้วด้วยหลายเหตุผลที่อาจารย์สิริพรรณก็ชี้ให้เห็น มีการให้เป็นกลุ่มอาชีพอื่นมาเลือกไขว้เราด้วยซึ่งกลุ่มอาชีพที่จะมาเลือกไขว้เราก็มาจากการจับสลากอีกมันเหมือนเป็นระบบกล่องสุ่ม สว. กล่องสุ่ม ท่านไม่รู้เลยว่าท่านจะถูกเลือกจากใครบ้าง อาชีพไหนบ้าง
สุดท้ายพูดง่ายๆ สว. ที่เขาออกแบบไว้ตามรัฐธรรมนูญจะไม่ได้เป็นตัวแทนของใครเลย จะเป็นคน 200 คนที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเพราะประชาชนไม่ได้เลือก ไม่ได้เป็นตัวแทนแม้กระทั่งกลุ่มอาชีพไหน เพราะมาจากระบบที่ไม่ใช่กลุ่มอาชีพเดียวกันเลือกกันเองตลอดเส้นทาง ก็เป็นระบบที่ให้สับสนไป ทำไมละ ทำไมต้องออกแบบเช่นนี้ 200 คนที่มาจากการที่ไม่ยึดโยงกับใครเลยมันก็ง่ายในการที่มาช้อนซื้อทีหลัง มันก็ควบคุมง่ายเราจะได้คน 200 คนซึ่งเข้ามายังไงก็ไม่รู้ไม่ต้องรับผิดชอบต่อใคร ไม่ได้เป็นตัวแทนของใครอย่างแท้จริงในแง่นี้มันก็แจกกล้วยง่าย มันก็เข้ามาล็อบบี้กดดันได้ง่าย มันก็จะมีผู้นำผู้มีอำนาจค่อยมานะครับเวลาจะผ่านกฎหมายเวลาจะมีโหวตร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ค่อยมาล็อบบี้เอาเป็นรายบุคคลไป ซึ่งสว. ที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของใครเลยแน่นอนมันก็ถูกล็อบบี้ถูกซื้อตัวง่ายอยู่แล้วอันนี้คือความตั้งใจ
ฉะนั้นทิ้งท้ายตรงนี้ถือว่าอันนี้คือเกมที่ผู้นำชนชั้นนำเขาดีไซน์มาใช่ไหมครับ รัฐธรรมนูญปี 2560 รัฐธรรมนูญที่ดีไซน์มาเพื่อเราที่ไม่ใช่ประชาชน เราคือใครก็ไม่รู้ รัฐธรรมนูญนี้เกมนี้ถูกดีไซน์มาแบบนี้สิ่งที่ประชาชนจะทำได้ตอนนี้ก็คือต้องไปสมัครให้เยอะที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นั่นคือวิธีเดียวที่จะแก้เกมนี้ เพราะว่าถ้าสุดท้ายมีคนไปสมัครแค่ 10,000 คน 20,000 คนมันก็จะเป็นการเลือกสรรกันเองที่จะได้ใครมาก็ไม่รู้ และการจัดตั้งมันก็จะง่ายแต่ว่าถ้าประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเยอะ สมมติอันนี้สมมติมีคนไปสมัคร 5 แสนคนกระบวนการนี้อย่างน้อยการที่จะไปจัดตั้งแล้วก็ไปเลือกกันเองแบบเงียบๆ ก็จะทำได้ยากขึ้น
อันนี้ก็เป็นสิ่งเดียวที่จะทำได้ก็คือเข้าไปมีส่วนร่วมในเกมที่มันไม่แฟร์เพื่อที่จะไปแก้เกมนี้ให้มันแฟร์มากขึ้นในทีหลัง ฉะนั้นตอนนี้ภารกิจมันขึ้นอยู่กับอย่างที่อาจารย์สิริพรรณว่า ภารกิจในการแก้เกมที่เกมที่ถูกดีไซน์อย่างไม่เป็นธรรมไม่ได้อยู่ที่คนหนุ่มสาวแล้วเพราะว่าเขาอายุไม่ถึง 40 เขาไปเลือกไม่ได้ ตอนนี้บ้านเมืองฝากไว้กับผู้สูงอายุครับ ขอบคุณครับ
ประจักษ์ ก้องกีรติ :
ผมชอบที่อาจารย์สิริพรรณพูดมากเลยว่า ถ้าสว. ชุดนี้เข้าไปแล้วไปแก้กติกาที่ไม่เป็นธรรมให้มันเป็นธรรมมากขึ้น มันจะเป็นการแสดงให้เห็นเลยว่าไม่ว่าเขาจะออกแบบมายังไงพลังของประชาชนสามารถเอาชนะในการออกแบบที่มันไม่เป็นธรรมได้
ทีนี้อยากฝากถึงคน 4 กลุ่มนะครับ ส่วนเรื่องสภาเดี่ยวยกไปอีกเวทีนึงจริงๆ คงต้องคุยกันอีกเยอะเลยอยากฝากถึงคน 4 กลุ่ม กลุ่มแรกก็ดูเหมือนเป็นคนที่เราพูดถึงมากที่สุดบนเวทีวันนี้คือกกต. จริงๆ กกต. น่าสงสาร คือมีคนกลุ่มหนึ่งหายไปเลย ไม่รู้เขาไม่ยอมให้สัมภาษณ์สื่อหรือสื่อไม่ได้ไปสัมภาษณ์เขาคือผู้ร่างของรัฐธรรมนูญ ผมเชื่อว่าจริงๆ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่เหมือนกันมีความรับผิดชอบต่อประชาชนที่จะต้องอธิบายนะว่าที่ออกแบบมาอย่างนี้ตรรกะเหตุผลคืออะไร แล้วถึงทุกวันนี้คุณยังคิดว่ามันเป็นการออกแบบที่ถูกต้องอยู่หรือไม่ อันนี้ก็คือฝากสื่อมวลชนว่าช่วยไปตามสัมภาษณ์ผู้ร่างรัฐธรรมนูญหน่อยว่าทำไมถึงร่างแบบนี้
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
แต่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วคนหนึ่งด้วย แต่เขาไม่ห้ามสัมภาษณ์ สัมภาษณ์ได้ ตอนนี้เขาห้ามสัมภาษณ์แค่ผู้สมัคร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสัมภาษณ์ได้
ประจักษ์ ก้องกีรติ :
อยากฟังนะที่มาของการออกแบบที่มันพิสดารที่สุดในโลก เผื่อว่าเราจะให้รางวัลในภายหลังจะได้ให้ถูกว่าใครเป็นคนคิดจริงๆ ถ้าจะแบบมีโมเดล Price ด้านการออกแบบแต่ทีนี้เอาคน 4 กลุ่ม กลุ่มแรกกกต. ผมเห็นว่าถ้ากกต. ทำหน้าที่อย่างที่ทุกคนเสนอในครั้งนี้จริงๆ จะเป็นการฟื้นฟูเครดิตของกกต. ครั้งสำคัญเลย เพราะว่าทั้งการเลือกตั้งส.ส. ในปี 2562 และ 2566 กกต.โดนวิพากษ์วิจารณ์เยอะ ผมว่าครั้งนี้กกต. เองก็สามารถที่จะนะครับฟื้นฟูเครดิตของตัวเองในการส่งเสริมประชาธิปไตยได้ แล้วจริงๆ กกต. เป็นได้สมัยเดียวก็เป็นอีกไม่ได้แล้วจริงๆ ก็คือทิ้งเอาไว้ให้เป็นมรดก ให้คนจดจำกกต. ชุดนี้ว่าไม่ว่าเริ่มต้นเป็นยังไงมากลับลำเป็นองคุลีมาลในท้ายที่สุดได้ใช่ไหม ในการพิทักษ์รักษาประชาธิปไตย
กลุ่มที่ 2 ก็คือสื่อ อยากฝากสื่อมวลชนว่าจริงๆ สื่อมีบทบาทสำคัญในการที่จะสร้างบรรยากาศให้การเลือกสว. ครั้งนี้มันไม่เงียบ ให้มันคึกคักเพราะว่าสื่อต้องไม่เกร็งกับระเบียบต่างๆ ของกกต. สื่อต้องพยายามทำหน้าที่เป็นปากเสียงแทนประชาชนซึ่งเขาถูกตัดสิทธิ์ไปแล้ว สื่อช่วยในการรายงานข่าวเจาะลึกติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
กลุ่มที่ 3 คือบรรดาเยาวชนคนรุ่นใหม่ ตอนแรกเราบอกว่าเขาไม่มีสิทธิ์ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ แต่ผมคิดว่ามันยังมีบทบาทอันหนึ่งที่ทำได้สำหรับคนที่อายุน้อยๆ คือไปชักชวน ไปหว่านล้อมไปชักชวน พ่อแม่ คุณน้าคุณอา ญาติผู้ใหญ่ช่วยทำให้ท่านเห็นความสำคัญหน่อยว่ามันสำคัญยังไงในการไปมีส่วนร่วมในกระบวนการครั้งนี้
สุดท้ายคือฝากถึงสว. ว่าที่สว. ทั้งหลายว่าเดิมพันครั้งนี้มันสำคัญ ผมคิดว่าเดิมพันมันไม่อยู่ที่ว่าใครจะได้เป็นสว. เดิมพันมันอยู่ที่โอกาสที่เราจะเปิดหน้าต่างแห่งโอกาสที่จะทำให้ประชาธิปไตยของไทยมันกลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้งก็ฝากท่านให้ทำ ผมคิดว่าสว. จะโดนจับจ้องเยอะ ชุดนี้จริงๆ น่าสงสารเหมือนกันจะโดนจับจ้องแต่วันแรก ผมว่า 3 อย่างนะอยากฝากสว. ให้เปลี่ยนให้ได้ เปลี่ยนสว. จากการเป็นผู้พิทักษ์ระเบียบอำนาจของคสช. ให้กลายเป็นผู้พิทักษ์รักษาส่งเสริมประชาธิปไตย อันที่ 2 ก็คือเปลี่ยนบทบาทของสว. จากการเป็นตัวแทนชนชั้นนำ ให้กลายเป็นตัวแทนของประชาชน อันที่ 3 ก็คือเปลี่ยนบทบาทของสว. ในการแช่แข็งความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยให้กลายเป็นผู้ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า สุดท้ายขอสว. ผู้เสียสละ ผมว่าในท้ายที่สุดถ้ากกต. เขาไม่ยอมเปลี่ยนข้อกำหนดต่างๆ อาจจะต้องมีผู้สมัครบางคนยอมเสียสละอารยะขัดขืน ท่านแนะนำตัว ท่านทำให้การเลือกสว. ครั้งนี้เป็นประชาธิปไตยแล้วมีการแข่งขัน สุดท้ายท่านอาจจะโดนตัดสิทธิ์ แต่ไม่เป็นไรแต่มันคือการทดสอบระบบแล้วสู้กับเกมที่ไม่เป็นธรรมครั้งนี้ ฝากคุณวรัญชัย
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
ฝากอาจารย์ธเนศด้วย
ประจักษ์ ก้องกีรติ :
สุดท้ายสว. บางคนที่จะบอกว่า มัดมือชกแบบนี้ ไม่ให้ทำอะไรเลยแล้วสุดท้ายมันจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร เราเลือกคนไปเป็นผู้แทนปวงชนซึ่งจะไปใช้ภาษีประชาชนและอยู่ในอำนาจอีกตั้ง 5 ปีมันสำคัญมาก ฉะนั้นผมว่าก็อยากฝากเอาไว้ก็บ้านเมืองอยู่ในมือของทุกคนนะครับ ไม่ใช่แค่คนสูงวัยเท่านั้น
รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=feXERmBEXlc
ที่มา : เสวนาวิชาการ วันปรีดี พนมยงค์ 2567 : PRIDI Talks #25 เก่าไปใหม่มา : สว. ชุดใหม่ อนาคตประชาธิปไตย อนาคตประเทศไทย วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00 - 16.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.