Focus
- บทความนี้เชิญชวนผู้อ่านที่ยังคงสงสัยในกรณีสวรรคต รัชกาลที่ 8 และ คำพิพากษาศาลฎีกาเรื่อง “ประทุษร้ายต่อพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพทุบายเท็จปกปิดการ” ของ 3 จำเลย ได้แก่ นายเฉลียว ปทุมรส (จำเลยที่ 1) นายชิต สิงหเสนี (จำเลยที่ 2) และนายบุศย์ ปัทมศริน (จำเลยที่ 3) ให้มาร่วมอ่านวิธีการพิสูจน์และสอบความจริงไปด้วยกัน
- หลักฐานสำคัญที่ถูกนำเสนอในบทความตอนที่ 1 นี้ ชี้ให้เห็นว่า ในการพิจารณาพยานของโจทก์และการพิสูจน์หลักฐานต่างๆ ที่แวดล้อมกรณีสวรรคต รัชกาลที่ 8 ได้แก่ การเปรียบเทียบปฏิกิริยาไนไตร๊ท์ การตรวจสอบสนิม การดมกลิ่นดินปืน การเทียบปลอกกระสุนปืน แรงสะบัดของปืน กำลังในการเหนี่ยวไกปืน ลักษณะอาการแข็งเกร็ง ลักษณะปืนและพระกร มีข้อบกพร่องและมีความไม่แน่นอนหลายประการที่ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและมิอาจสรุปความเพื่อยืนยันความผิดของจำเลยได้
ข้อกฎหมายตามที่จำเลยอุทธรณ์มา ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่วนข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้ง 3 ได้กระทำผิดหรือไม่นั้น เฉพาะนายเฉลียว ปทุมรส จำเลยที่ 1 ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับศาลอุทธรณ์ว่าควรยกฟ้องโจทก์ เฉพาะนายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 และนายบุศย์ ปัทมศริน จำเลยที่ 3 ข้าพเจ้า มีความเห็นแย้งดังต่อไปนี้
คดีนี้เกิดจากล้นเกล้าล้นกระหม่อมต้องพระแสงปืนสวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมานในห้องพระบรรทม รัฐบาลในเวลานั้นออกคำแถลงการณ์เป็นที่สงสัยแก่ประชาชน ต่อมามีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นคณะรัฐประหาร จำเลยทั้ง 3 จึงถูกจับมาฟ้องเพื่อคลี่คลายกรณีสวรรคต โจทก์ไม่มีประจักษ์พยาน ได้นำพยานแวดล้อมกรณีเข้าสืบว่า จำเลยทั้ง 3 สมคบกับบุคคลอื่นกระทำผิด
พระแสงปืนของกลางเป็นพยานวัตถุสำคัญว่า จะเป็นพระแสงปืนที่ทำให้ล้นเกล้าล้นกระหม่อมสวรรคตหรือไม่ ศาลอุทธรณ์เชื่อคำผู้ชำนาญการพิเศษของกรมวิทยาศาสตร์ มีนายจ่าง รัตนรัต และนายแพทย์ศิริ ติวยานนท์ ว่าเป็นปืนที่ยิงมาก่อนวันสวรรคตเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 วันหรือ 8 วัน ก่อนส่งมายังกรมวิทยาศาสตร์โดยวิธีหาปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์เปรียบเทียบกัน แต่การทดลองโดย วิธีเปรียบเทียบนั้น เห็นว่ายังไม่เป็นที่แน่นอน เพราะ
1. ทดลองด้วยปืน 2 กระบอก ยิงแล้วทิ้งไว้ในระยะ 48 ชั่วโมงต่างไม่ได้เช็ดน้ำมันที่ชะโลมลำกล้องปืน
ปืนเลขหมาย 1011360 ยิงแล้วอุดปากกระบอกปืนภายใน 30 นาที :-
ระยะ 48 ชั่วโมง ครั้งที่ 1
2 นาที สีชมพูอ่อน
10 นาที แก่ขึ้น
ปืนหมายเลขที่ 313126 ยิงแล้วไม่ได้อุดปากกระบอกปืน
ระยะ 48 ชั่วโมง ครั้งที่ 2
สีชมพูขึ้นก่อน (10 วินาทีก่อน) แล้วค่อยๆ แดงแก่ใน 1 นาที
5 นาทีภายหลัง สีชมพูจัดขึ้น
10 นาที สีชมพูเท่าเดิม
ดังนี้จะเห็นได้ว่า สีชมพูขึ้นในระยะเวลาผิดกันและสีก็ผิดกัน โดยครั้งที่ 1 สีชมพูอ่อนขึ้นเมื่อเวลาล่วงแล้ว 2 นาที แก่ขึ้นใน 20 นาที แต่ครั้งที่ 2 สีชมพูเฉยๆ ขึ้นก่อน 10 วินาที และกว่าจะเป็นสีชมพูจัดขึ้นกินเวลาเพียง 5 นาที ไม่ถึง 10 นาที
เพียงแต่อุดและไม่อุดปากกระบอกปืน ปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์ยังต่างกันถึงเพียงนี้ ทั้งเวลาและสี ซึ่งแสดงความไม่แน่นอน ฉะนั้นจะนำเอาปืนของกลางเมื่อยิงแล้วเอาปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์มาเปรียบเทียบกับปืน 2 กระบอกที่ได้ทดลองยิงมานี้ น่าจะได้ความไม่แน่นอนอย่างเดียวกัน เพราะยิงคนละภาวะและในสภาพต่างกัน เช่นในเรื่องน้ำมันชะโลมอุดหรือไม่อุดปากกระบอกปืนและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และอ๊อกซิเย่น
การทดลองหาระยะเวลายิงนี้ ศาลอาญาได้กล่าวไว้โดยละเอียดแล้ว ใจความว่า ปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์นั้น ส่วนมากสีชมพูขึ้นได้ระยะกัน แต่มีบางรายที่สับสนกันคือ เร็วเป็นช้าหรือช้าเป็นเร็ว ไม่สม่ำเสมอกัน เช่น
ปืนกระบอกหมายเลขที่ 1011360 ทดลองโดยก่อนยิงเช็คน้ำมันชะโลมในลำกล้องปืน และเมื่อยิงแล้วไม่ได้อุดปากกระบอก ทิ้งไว้ 7 วันครั้งหนึ่ง และ 14 วันอีกครั้งหนึ่ง ตามหลักวิชาของการหาไนไตร๊ท์ ปืนที่ยิงทิ้งไว้เร็ววัน ไนไตร๊ท์ควรจะขึ้นสีเร็วกว่าปืนที่ยิงแล้วทิ้งไว้นานวันกว่า แต่ปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์ในระยะ 8 วัน แทนที่จะขึ้นเร็วและชัดเจนกว่าในระยะ 14 วัน กลับตรงกันข้าม คือ
ระยะ 8 วัน
40 วินาที สีชมพูอ่อนเกิดขึ้น
4 นาที ได้ชมพูอ่อน
10 นาที ได้ชมพูอ่อน
15 นาที ได้ชมพูอ่อน
ระยะ 14 วัน
10 วินาที สีชมพูอ่อนตั้งต้นขึ้น
40 วินาที สีชมพูชัดเจนเป็นชมพู
5 นาที สีเข้มขึ้น
10 นาที สีเข้มมาก
15 นาที สีเข้มมาก
เมื่อเวลาและสีเป็นดังนี้เห็นได้ว่าปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์ในปืนที่ยิงทิ้งไว้ ในระยะ 8 วัน และ 14 วัน สับสนไม่แน่นอน ไม่สม่ำเสมอ เพราะ
สีชมพูในระยะ 8 วัน ควรจะขึ้นเร็ว กลับเป็นช้ากว่าในระยะ 14 วัน
ในระยะ 8 วัน เวลาล่วงไปแล้ว 40 วินาที สีชมพูอ่อนจึงเกิดขึ้น แต่ในระยะ 14 วัน 10 วินาทีล่วงแล้ว สีชมพูอ่อนจึงเกิดขึ้น
ในระยะ 8 วัน เวลาล่วงไปแล้ว 4 นาที จึงได้มีสีชมพูอ่อนตลอดไป แต่ในระยะ 14 วัน สีชมพูชัดเจนเมื่อเวลาล่วงไปแล้ว 40 วินาทีเท่านั้น เวลาล่วงแเล้ว 5 นาทีจึงเข้มขึ้น และมากขึ้นเมื่อถึง 10 นาที ต่อถึง 15 นาทีสีชมพูก็เหมือนกับเมื่อ 10 นาที
ฉะนั้น จะฟังเอาการหาไนไตร๊ท์โดยวิธีเปรียบเทียบเป็นหลักชี้ขาดว่า ปืนของกลางได้ยิงมาไม่น้อยกว่า 8 วันไม่ได้ถนัด
ทดลองอีก 2 ครั้งๆ ที่ 1 ใช้ปืนหมายเลข 1011360 ยิงไม่ได้เช็ดน้ำมันที่ชะโลมในลำกล้อง แต่อุดปากกระบอกปืนภายใน 30 นาที
ระยะ 8 วัน ครั้งที่ 1
ตามสมุดบันทึก รี. 27 หมาย 36 มีดังนี้
5 นาที สีชมพูเรื่อๆ เกือบมองไม่เห็น
10 นาที สีชมพูมากขึ้นอีกหน่อย แต่เกือบมองไม่เห็น
แต่บันทึก รี. 27 นี้ นายจ่าง รัตนรัต เอามาจากต้นฉบับเตือนความจำ สมุด เอ.เค. 12 ของนายแพทย์ศิริ ติวยานนท์ ซึ่งมีความว่า
5 นาที มีสีชมพูเรื่อๆ เกือบมองไม่เห็นสี
10 นาที สีชมพูมากขึ้นอีกหน่อยแต่เกือบมองไม่เห็นถ้าเปรียบกับน้ำยา 1/100,000 ภายใน 1 นาทีแล้ว สีนี้ขึ้นมากกว่า
15 นาที สีชมพูมากกว่าเดิมเล็กน้อย แต่ไม่เข้มเท่าน้ำยาทดสอบ
ระยะ 8 วัน ครั้งที่ 2
40 วินาที สีชมพูอ่อนเกิดขึ้น
4 นาที ได้ชมพูอ่อน
10 นาที ได้สีชมพูอ่อน
15 นาที ได้สีชมพูอ่อน
ในการทดลองครั้งที่ 1 นั้น ศาลอุทธรณ์ถือตามต้นฉบับ เอ.เค. 12 ว่าถูกต้อง และว่าแปลความให้ติดต่อกันน่าจะเป็นว่า “ถึงแม้จะเกิดแล้ว กระนั้นเมื่อถึง 5 นาทีก็มีเพียงสีชมพูเรื่อๆ เกือบมองไม่เห็น ต่อ 10 นาที สีชมพูจึงมากขึ้นอีกหน่อยแต่เกือบมองไม่เห็น จนถึง 15 นาที สีชมพูได้มากกว่าเดิมเล็กน้อยแต่สียังไม่เข้มเท่ากับน้ำยาทดลอง ส่วนระยะเวลา 1 นาทีบันทึกไม่มีถึง ทั้งเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับการพิสูจน์อีกสภาวะหนึ่งที่ว่า ๔๐ วินาทีได้สีชมพูอ่อนเกิดขึ้น" ศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่า การทดสอบรายนั้นปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์หาสับสนไม่
ในการทดสอบหาไนไตร๊ท์นั้น นายแพทย์ศิริ ติวยานนท์ ว่า ใช้หลอดทดลองเป็น 3 หลอด เอาน้ำยาสำหรับหาสีใส่ลงในหลอดทดสอบ 3 หลอดนั้น หลอดละ 4 หยด เป็นหลอดทดสอบน้ำเปล่า 1 หลอด อีกหลอดหนึ่งทดสอบน้ำที่มีไนไตร๊ท์ เพื่อยืนยันว่า น้ำยาที่จะหาสีนั้นยังดี ไม่เสีย เพราะว่าถ้าน้ำยาเสียจะไม่เกิดสีชมพูขึ้นในหลอดหลังนี้ ส่วนอีกหลอดหนึ่งเป็นหลอดที่ใช้ใส่น้ำล้างลำกล้องปืนที่จะพิสูจน์ว่ามีไนไตร๊ท์หรือไม่
นายแพทย์ศิริ ติวยานนท์ คงจะใช้วิธีเดียวกันนี้ทดลองทั้ง 2 ครั้ง น้ำยา 1/100,000 ที่ใช้ครั้งที่ 1 คงจะนำมาใช้ในครั้งที่ 2 ด้วยเช่นกัน ถ้าจะนำมาตรฐานของสีในน้ำยาทดสอบในครั้งที่ 1 มาใช้ ก็จะต้องนำมาใช้ในครั้งที่ 2 ด้วย เพราะจะต้องปฏิบัติการให้สม่ำเสมอกัน ส่วนเวลาที่สีชมพูขึ้นเร็วหรือช้าเพียงใด จะต้องเป็นไปตามบันทึกทั้ง 2 ครั้งของนายแพทย์ศิริ ติวยานนท์
นายจ่าง รัตนรัต เป็นผู้ชำนาญการพิเศษเช่นเดียวกัน และเป็นอธิบดีของนายแพทย์ศิริ ติวยานนท์ คงจะเห็นว่า ระยะเวลาและสีที่เอามาจาก เอ.เค. 12 ของ นายแพทย์ศิริ ติวยานนท์ ใส่ลงใน รี. 27 หมาย 36 นั้น พอแก่ความประสงค์ของการทดลองแล้ว จึงมิได้นำมาใส่ทุกๆ คำ
ระยะ 8 วันที่ทดลองนั้น 2 ครั้งนี้ไม่แน่นอน ในเรื่องเวลาที่สีขึ้นและสีที่ขึ้นไม่เหมือนกัน โดยครั้งที่ 1 ภายหลัง 5 นาทีเป็นสีชมพูเรื่อๆ เกือบมองไม่เห็น ส่วนครั้งที่ 2 ภายหลัง 40 วินาทีเท่านั้น เป็นสีชมพูอ่อน สีทั้ง 2 ครั้ง ควรจะขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกัน แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ครั้งที่ 1 ภายหลัง 10 นาที เป็นสีชมพูอ่อนมากขึ้นจากเรื่อๆ แต่เกือบมองไม่เห็น ครั้งที่ 2 ภายหลัง 10 นาที เช่นเดียวกัน ได้ชมพูอ่อน สีชมพูทั้ง 2 ครั้งนี้น่าจะผิดกัน
ตามการทดลองของนายแพทย์ศิริ ติวยานนท์ ปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์ในปืนของกลางปรากฏเป็นสีชมพูเรื่อๆ ใน 10 นาที แต่เมื่อปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์ในระยะ 8 วันที่ทดลอง 2 ครั้งนี้และครั้งก่อนๆ สับสนไม่แน่นอน ทั้งในเรื่องเวลาและสีดังกล่าวมา จึงถือเป็นหลักเปรียบเทียบกับระยะเวลาและสีของไนไตร๊ท์ในปืนของกลางไม่ได้
2. นายจ่าง รัตนรัต เบิกความว่า "การทดลองเรื่องนี้ได้ผลว่า ในระยะเวลา 21 วัน หรือบางคราวถึง 28 วัน จะไม่เกิดปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์เลยแสดงว่าไนไตร๊ท์ได้ละลายตัวไปหมดในระยะเวลานั้น ที่ได้ผล 21 วันบ้าง 28 วันบ้าง เช่นนี้เข้าใจว่าเป็นเพราะอุณหภูมิและความชื้นต่างกัน ที่ว่า 21 วันบ้าง 28 วันบ้างนั้น คือถึงระยะเวลานั้นๆ ได้ทำการทดลองดูไม่พบไนไตร๊ท์ แต่มิได้ทดลองย้อนหลังขึ้นไปทีละวันๆ ตามลำดับ ฉะนั้นไนไตร๊ท์อาจจะหมดไปก่อนวันนั้นแล้วก็ได้เหมือนกัน" ดังนี้จะเห็นได้ว่า การสลายตัวของไนไตร๊ท์ไม่แน่นอน อาจผิดกันได้ตั้ง 7 วัน
3. นายแพทย์ศิริ ติวยานนท์ ว่า ไนไตร๊ท์จะกลายสภาพเป็นไนเตรทภายในระยะเวลาเท่าใดสุดแต่สิ่งแวดล้อมๆ หมายถึงอากาศ คือ อุณหภูมิและความชื้นและอื่นๆ อีก อีกหลายอย่างเกี่ยวข้องกัน
ตามคำนายจ่าง รัตนรัต และ นายแพทย์ศิริ ผิวยานนท์ ว่า ปืนของกลางเป็นปืนที่ยิงมาก่อนหน้าสวรรคตอย่างน้อย 6 วัน เพราะเมื่อทดลองหาไนไตร๊ท์ในปืนของกระบอกของกลางแล้ว สีชมพูขึ้นในเวลา 10 นาที ละม้ายคล้ายคลึงกับการหาปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์ในปืนทดลอง ซึ่งมีสีชมพูขึ้นภายในเวลา 10 นาทีเช่นเดียวกัน แต่การทดลองหาไนไตร๊ท์นั้น ควรต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆ ด้วย ดังนายจ่าง รัตนรัต และ นายแพทย์ศิริ ติวยานนท์ เบิกความ เพราะสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ช่วยให้ไนไตร๊ท์สลายตัวเร็วหรือช้าได้ การยิงทดลองโดยวิธีเปรียบเทียบดังที่กรมวิทยาศาสตร์กระทำ ถ้าเป็นในเวลาอากาศชื้นๆ หรือฝนตกมากๆ กับในเวลาอากาศร้อนๆ หรือในเวลาที่อุณหภูมิต่างกัน อาจทำให้ไนไตร๊ท์สลายตัวเร็วหรือช้าผิดกันได้ ตามปกติยิ่งมีความชื้นมากขึ้นเท่าใด ความร้อนมากเท่าใด ยิ่งทำให้การละลายตัวของไนไตร๊ท์เร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น ตามคำนายจ่าง รัตนรัต ซึ่งสนับสนุนการละลายตัวเร็วหรือช้าของไนไตร๊ท์ดังกล่าวมา แม้อยู่ในที่อับ ไนไตร๊ท์สลายตัวช้าได้ ดังที่นายจ่าง รัตนรัต ว่า ปืนยิงแล้วห่อกระดาษเก็บไว้ในเซฟ การสลายตัวของไนไตร๊ท์ควรจะเป็นไปโดยช้า เพราะอยู่ในที่อับๆ นี้คือสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งที่นายแพทย์ศิริ ติวยานนท์ ให้การนั่นเอง
เมื่อยกเอาภาวะต่างๆ เกี่ยวแก่การหาปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์มาเปรียบเทียบระหว่างปืนที่ยิงทดลอง 2 กระบอก ซึ่งยิงคนละคราวแล้วทิ้งไว้ 8 วันดังกล่าวมากับปืนของกลางแล้วเห็นว่าเปรียบเทียบกันได้ไม่สนิท เพราะผลของการทดลองคือ ปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์ หมายถึงเวลาล่วงเลยแล้ว 10 นาที ที่สีชมพูขึ้นนั้นเฉพาะเวลาเหมือนกัน โดยสีขึ้นเมื่อล่วงแล้ว 10 นาที เฉพาะสี เพียงแต่คล้ายคลึงกันโดยปืนทดลอง 2 ครั้ง เป็นสีชมพูเกือบมองไม่เห็นและสีชมพูอ่อนตามลำดับ ส่วนปืนของกลางเป็นสีชมพูเรื่อๆ แต่เหตุคือ ไนไตร๊ท์ในลำกล้องปืนของกลางอาจผิดกัน โดยอาจละลายตัวไปเสียบ้างแล้ว เนื่องจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ เกี่ยวแก่อุณหภูมิ ความชื้น หรืออ๊อกซิเย่น และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ไนไตร๊ท์เมื่อถูกความชื้น หรืออ๊อกซิเย่น หรืออุณหภูมิ อาจทำให้ละลายตัวเร็วขึ้น ถ้าเหลือไนไตร๊ท์ในลำกล้องปืนน้อยตามหลัก สีชมพูย่อมขึ้นช้า ถ้าเข้าลักษณะดังนี้ปืนที่ยิ่งมาเร็ววัน ไนไตร๊ท์อาจมีน้อย ไม่ต้องตามหลักเกณฑ์ของการหาระยะเวลายิงของปืนทดลอง 2 กระบอกนั้น
4. นายจ่าง รัตนรัต ว่า ปืนชนิดเดียวกันใช้ยิงด้วยกระสุนปืนอย่างเดียวกัน แล้วต่างทิ้งไว้ จะเกิดปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์เหมือนกันทีเดียว เห็นจะไม่แน่แต่ยืนยันว่า ต้องเกิดปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์ใกล้เคียงกัน
ข้อนี้ ตามความเข้าใจของสามัญชน ปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์ควรจะเหมือนกันเพราะต้นเหตุเหมือนกัน ผลควรจะเหมือนกัน ปืนที่ทดลองยิงแล้วทิ้งไว้ในระยะ 8 วัน ปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์ขึ้นเป็นสีในระยะเวลาเท่านั้น และได้สีอย่างนั้นกับปืนของกลาง ปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์ขึ้นเป็นในระยะเวลา และสีที่ขึ้นคล้ายคลึงกับเวลาและสีของปืนที่ยิงทิ้งไว้ 8 วัน จะเป็นผลให้ชี้ขาดว่า ปืนของกลางยิงมาแล้วในระยะ 8 วันด้วยนั้น เห็นว่าไม่ได้ เพราะแม้แต่ปืนอย่างเดียวกัน กระสุนอย่างเดียวกัน ปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์ยังเพียงแต่ใกล้เคียงกัน ไม่เหมือนกันเสียแล้ว ถ้าสิ่งแวดล้อมของปืนของกลางแตกต่างกับปืนที่ทดลองปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์อาจแตกต่างกันออกไปอีก อันจะทำให้การคำนวณระยะเวลาผิดไป ฉะนั้น จะเอาความแน่นอนจากปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์ในปืนทดลองเเละปืนของกลางมาเทียบกันกระไรได้ เพราะอยู่ในภาวะต่างๆ กัน แม้แต่เมื่อยิงแล้วเก็บปืนไว้ในที่ต่างๆ กัน เช่น ห่อไว้ ไนไตร๊ท์อาจละลายตัวในเวลาต่างๆ กันไปบ้าง การทดลอง เพื่อหาระยะเวลายิงตามที่กล่าวมาจึงไม่สู้จะแน่นอน
5. นายจ่าง รัตนรัต ว่า ถ้าปืนที่รักษาความสะอาดต่างกันผลของการหาไนไตร๊ท์อาจแตกต่างกันไปบ้าง ปืนที่ทดลองกับปืนของกลางเห็นว่าการรักษาความสะอาดต่างกันมาก เพราะปืนทดลอง หมายเลข 1011360 ที่ยิงแล้วทิ้งไว้ 8 วันนั้นรักษาความสะอาดอย่างดีเพราะมีการชโลมน้ำมัน ส่วนปืนของกลางปรากฏจากคำนายจ่าง รัตนรัต และนายแพทย์ศิริ ติวยานนท์ว่า มีสนิมมากมายทั่วไป ทั้งที่เกลียวและที่สัน และมีสนิมขุมจุดเล็กๆ หลายแห่ง ซึ่งหมายความว่าการรักษาความสะอาดไม่ดี ไกลกันมากกับปืนที่ทดลอง ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีสนิม เป็นการช่วยให้ผลของการหาไนไตร๊ท์ผิดกัน จึงจะนำผลของการหาปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์ในปืนทดลองกับปืนของกลางมาเปรียบเทียบหาระยะเวลายิงได้ไม่แน่นอน
6. นายจ่าง รัตนรัต และ นายแพทย์ศิริ ติวยานนท์ เบิกความยืนยันว่าปืนของกลางได้ยิงมาแล้วแน่ สำหรับไนไตร๊ท์นั้นต้องรออยู่นาน 10 นาทีจึงเห็นเป็นสีชมพูเรื่อๆ คล้ายคลึงกับปืนทดลอง 2 กระบอกที่ยิงทิ้งไว้ 8 วัน
ปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์ตามที่กรมวิทยาศาสตร์ได้ทดลอง 11 ครั้งนั้น แสดงความแน่นอนเพียงว่า ปืนนั้นได้ยิงมาแล้ว ส่วนที่จะแสดงว่าระยะเวลายิงมาแล้วนานเท่าใดนั้น ตามเหตุผลต่างๆ ที่กล่าวมาเห็นว่ายังไม่เป็นที่แน่นอน หลักวิชาการหาปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์นี้คงมีอยู่ แต่เฉพาะในคดีนี้ จะต้องให้ได้หลักฐานแน่นอนยิ่งกว่านี้
7. การทดลองหาไนไตร๊ท์เพื่อทราบระยะเวลายิงนี้ นายจ่าง รัตนรัต และนายแพทย์ศิริ ติวยานนท์ เพิ่งทำเพื่อเป็นหลักฐานในคดีนี้เป็นครั้งแรก จะเรียกว่าชำนาญในการหาระยะเวลายิงไม่ได้ เป็นสิ่งประกอบว่า การทดลองหาไนไตร๊ท์เพื่อหาระยะเวลายิงไม่สู้จะแน่นอนดังกล่าวมา
8. พยานโจทก์ว่าปืนของกลางมีสนิมในลำกล้อง เป็นเหตุหนึ่งซึ่งแสดงว่าใช้ยิงมานานแล้ว ปืนของกลางมีเกลียวนูนและเกลียวบุ๋ม นายนาวาเอก สมพันธ์ บุนนาค เบิกความว่า ถ้าสนิมไม่มากเกินไป ยิงนัดเดียวสนิมที่สันเกลียวอาจหมดหรือเกือบหมดแต่ที่ร่องเกลียวไม่หมด หากปืนของกลางมีสนิมอยู่แล้วได้ยิงนัดเดียวในวันเกิดเหตุ สนิมน่าจะมีเหลืออยู่บ้างในลำกล้องที่เกลียวนูนและบุ๋มไม่มากก็น้อย เห็นว่าลำพังแต่สนิมในลำกล้องปืนไม่สามารถชี้ได้ว่า เป็นปืนที่ได้ใช้ยิงมานานแล้ว เพราะถ้าการรักษาความสะอาดปืนไม่ดี ทิ้งไว้เฉยปืนเป็นสนิมได้ ยิ่งนานยิ่งเป็นมากขึ้น ถ้าปืนของกลางมีสนิมอยู่มาก ก่อนใช้ยิงครั้งสุดท้ายแล้ว ยิงเพียงนัดเดียวไม่ทำให้สนิมหมดไป ปืนของกลางเป็นพระแสงปืนก็ดี เจ้าหน้าที่คงจะมิได้รักษาความสะอาดให้เป็นไปตามที่ควร จึงได้มีสนิมมากทั้งสนิมธรรมดาและสนิมขุม ยิงเพียงนัดเดียวไม่ทำให้สนิมในปืนของกลางหมดไป การมีสนิมในลำกล้องปืนจึงไม่หมายความว่าปืนนั้นได้ยิงมานานแล้ว
กลิ่นดินปืนจากปืนของกลาง แม้จะมีจริงด้วยวิธีดม ยากที่จะพิสูจน์ว่าใหม่หรือเก่า เพราะไม่มีมาตรฐานอะไรจะมาวัดกัน
ร.ต.อ. ธานี สาธรกิจ พยานโจทก์ว่า ปืนของกลางมีสาบดินปืนในวันเกิดเหตุนั้น แสดงว่ายิงมานานแล้ว แต่คำว่านานนี้ไม่ได้ความว่าเป็นเวลาเท่าใด พ.ต.อ. หลวงสัมฤทธิสุขุมวาท พยานโจทก์ว่า ตามธรรมดากลิ่นดินปืนอยู่ได้ 2-3 วันเป็นอย่างช้า เลยระยะเวลานี้อาจไม่ได้กลิ่นๆ เก่า กลิ่นใหม่อย่างไรพยานไม่ได้อธิบาย ส่วนพันเอก ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม พยานจำเลยว่า ปืนของกลางยิงมาใหม่ๆ เมื่อเป็นดังนี้แล้วเห็นว่า สำหรับปืนของกลางรายนี้กลิ่นดินปืนไม่แสดงว่าปืนนั้นยิงมาแล้วแต่เมื่อใด
ปลอกกระสุนปืนของกลางนั้น นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 เป็นผู้เก็บได้ในวันเกิดเหตุนั่นเอง ส่วนหัวกระสุนของกลาง ตำรวจให้นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ 2 เป็นผู้นำ และตำรวจค้นได้จากพระยี่ภู่ ทั้งปลอกและกระสุนนี้ พ.ต.ท. เอ็จ ณ ป้อมเพชร์ และ ร.ต.ท. ทวี จำรูญจันทร์ ผู้ชำนาญการพิเศษของโจทก์เบิกความว่า เป็นปลอกและหัวกระสุนที่ยิงมาจากปืนของกลาง เพราะปลอกและกระสุนปืนที่ยิงทดลองปรากฏว่ามีตำหนิเหมือนกัน ปลอกและหัวกระสุนปืนของกลาง เฉพาะปลอกมีตำหนิและลักษณะตรงกันถึง 12 แห่ง แสดงว่า ยิงมาจากปืนกระบอกเดียวกันแน่นอน ดังจะเห็นได้จากภาพถ่ายหมาย 88
หัวกระสุนของกลางที่ทดลองยิง เมื่อถ่ายภาพแล้ว เป็นหัวกระสุนที่ผ่านลำกล้องเดียวกัน มีลักษณะตำหนิตรงกัน 8 แห่ง ซึ่งแสดงว่าแน่นอน เห็นได้จากภาพถ่าย 89
ดังนี้ เชื่อพยานโจทก์ 2 ปากนี้ได้ว่า ปลอกกระสุนและหัวกระสุนยิงจากปืนของกลาง
เมื่อไม่เชื่อว่า ปืนของกลางเป็นปืนที่ยิงมาก่อนหน้าวันสวรรคต ตามวิธีหาปฏิกิริยาของไนไตร๊ท์ และเมื่อปลอกกระสุนปืนเก็บได้ในพระวิสูตร หัวกระสุนปืนได้ในพระยี่ภู่ มีรูเป็นทางเดินของลูกปืน พระแสงปืนอยู่บนพระแท่น ทั้ง 3 สิ่งประกอบกันเป็นลักษณะที่แสดงว่า พระแสงปืนของกลางเป็นพระแสงปืนที่ใช้ยิงในวันสวรรคต
การสวรรคตของล้นเกล้าล้นกระหม่อมจะเกิดจากการลอบปลงพระชนม์ ปลงพระชนม์เอง หรืออุบัติเหตุตามหลักของการสอบสวน จะได้วินิจฉัยต่อไป
คาดาเวอริค สปัสซัม ซึ่งเรียกกันว่าอาการแข็งเกร็ง นับว่าเป็นพยานแวดล้อมกรณีสำคัญในคดีนี้อย่างหนึ่ง ถ้ามีอาการแข็งเกร็งในพระบรมศพหมายความว่า เป็นการปลงพระชนม์พระองค์เอง ถ้าไม่มีอาจเป็นการลอบปลงหรืออุบัติเหตุ
โจทก์นำสืบว่า สมองส่วนใหญ่ของพระบรมศพถูกทำลายหมด แต่เบซัล แกงเกลียไม่ถูกทำลาย พระบรมศพจึงบรรทมหงาย พระกรแบออกเหมือนท่าบรรทมธรรมดา เบซัล แกงเกลีย ที่กะโหลกพระเศียร ตรวจไม่ได้ว่าส่วนไหนถูกทำลาย ได้แต่ตรวจสมองศพอื่นเทียบเคียง ผลของการตรวจกระสุนปืนทดลอง เพียงแต่เฉียดเบซัล แกงเกลียของสมองศพที่ทดลองไป แต่เห็นว่าการตรวจโดยเทียบเคียงนี้ไม่แน่นอน เพราะกะโหลกศีรษะและสมองผิดเพี้ยนกัน วิถีกระสุนอาจเดินไม่เหมือนกัน หลอดแก้วที่ใช้แยงเล็กกว่ารูกระสุนปืนถึง 5 มิลลิเมตร สิ่งที่ประกอบเป็นสมองละเอียดมาก กระทบกระเทือนเล็กน้อยอาจทำให้สมองผันแปร เบซัล แกงเกลียอาจถูกทำลาย เมื่อถูกทำลายไปพร้อมกับสมองส่วนใหญ่แล้ว อาการแข็งเกร็งย่อมไม่มี ตามคำนายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน
อาการแข็งเกร็งนี้เป็นที่รู้กันมานานแล้วก็จริง แต่ยังศึกษากันไม่หมดสิ้น เดิมทีเข้าใจกันว่า ถ้ามีการตายทันที สมองส่วนใหญ่ที่อยู่ในคอร์เท็กส์ที่เรียกว่า โมเตอร์ แอเรียและพริโมเตอร์ แอเรียถูกทำลายไปพร้อมกัน แล้วอยู่ในลักษณะที่จะมีอาการแข็งเกร็ง แต่ต่อมานายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน ค้นพบนิตยสารของโวลกัง ลาเวส ศาสตราจารย์เยอรมัน (ปี ค.ศ. 1948) จึงทราบว่า ถ้าเบซัล แกงเกลียถูกทำลายพร้อมไปด้วยกัน จะไม่มีอาการแข็งเกร็ง
อีกประการหนึ่ง นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ว่า ถ้ากำลังของปืนมากกว่าอาการแข็งเกร็ง และถ้าเป็นการปลงพระชนม์เองแล้ว กำลังของปืนอาจทำให้พระกรกางออกไปได้ เป็นนัยว่าในลักษณะนี้พระบรมศพอาจมีอาการแข็งเกร็งได้
แรงสะบัดของปืนนั้น ตามคำของพันเอก สุขุม ยั่งยืน ใจความว่า ปืนกระบอกของกลางไปได้ไกล 62 เซ็นติเมตร ต่อน้ำหนัก 1 ก.ก. ถ้าจับไว้แน่นมือย่อมไปไม่ได้ไกล ถ้าไม่แน่นย่อมไปได้ตามส่วน ปืนของกลางต้องการกำลัง 3 ก.ก. ปืนจึงจะลั่นออกได้
ตามคำ พ.ต.อ. หลวงสัมฤทธิ์สุขุมวาท ได้ความว่า “ปืนของกลางเมื่อลูกขึ้นลำกล้องแล้ว นกจะง้างออกมาในตัวและใช้ยิงได้ ถ้าดันนกโดยประคองเหนี่ยวไกให้นกค่อยไปถึงเข็มแทงชนวน แล้วดึงกลับขึ้นมาหน่อยจะเป็นเซฟในตัว แม้เหนี่ยวไกปืนก็จะไม่ลั่นออก จนกว่าจะง้างนกออกมาให้เต็มที่เสียก่อนแล้วเหนี่ยวไก ปืนจะลั่นออก แต่ถ้าไปง้างนกออกหน่อย โดยปล่อยให้ติดอยู่กับเข็มแทงชนวนแล้วอาจมีอันตรายได้ง่าย คือ ถูกนกเข้าหน่อยเดียวปืนอาจลั่นออกได้"
ปืนของกลางนี้ไม่มีผู้ใดรู้เห็นว่านกปืนอยู่ในลักษณะใด จะเป็นด้วยวิธีใดก็ตาม หากนกอยู่ติดกับเข็มแทงชนวน ดัง พ.ต.อ. หลวงสัมฤทธิ์สุขุมวาท กล่าวแล้วเผอิญล้นเกล้าล้นกระหม่อมจับต้องพระแสงปืนด้วยพระกรข้างเดียวหรือสองข้างก็ตาม แล้วพระแสงปืนอยู่เหนือพระนลาฎ พระหัตถ์ไปถูกไกปืน โดยท้ายปืนคือที่มือจับหันขึ้นไปเบื้องบนและไกปืนหันไปทางเบื้องพระบาท นิ้วหัวแม่มือพระหัตถ์ขวาเผอิญไปถูกไกหน้า และนิ้วพระหัตถ์ที่เหลืออยู่นิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว ไปถูกที่ห้ามด้านหลังเข้าโดยมิได้ตั้งพระทัย พระแสงปืนจะลั่นออก แรงสะบัดของปืนอาจทำให้พระกรทั้งสองข้างตกไปอยู่ยังที่ๆ พยานโจทก์เห็น หรืออาจตกไปอยู่แถวพระวรกายซึ่งอาจตกตรงที่ลาดแล้วเลื่อนลงไปก็ได้
ตามคำพยานโจทก์ฟังได้ว่า สมเด็จพระราชชนนีได้โถมเข้ากอดพระบรมศพ แต่ไม่ปรากฏชัดว่าได้ถูกต้องพระกรของพระบรมศพหรือไม่
ปืนที่อยู่ในลักษณะนี้ อาจไม่ต้องใช้กำลังถึง 3 ก.ก. เหนี่ยวไกก็ได้ ตามคำ พ.ต.อ. หลวงสัมฤทธิ์สุขุมวาท และคำของ พ.อ. สุขุม ยั่งยืน ส่วนแรงสะบัดของปืนนั้นถ้าทรงกำไว้แน่น พระแสงปืนและพระกรคงจะไม่ไปไกลนัก เพราะมีกำลังต้านทาน พระแสงปืนอาจตกอยู่บริเวณพระศอหรืออาจไกลกว่านั้นเล็กน้อย ถ้าทรงกำไว้ไม่แน่นพระแสงปืนและพระกรอาจไปไกล อาจตกไปอยู่ดังที่พยานโจทก์เห็นก็ได้
ด้วยเหตุผลหลายด้านดังกล่าวมา อาการของพระบรมศพ เป็นดังที่พยานโจทก์เห็น แต่อาการแข็งเกร็งไม่แน่ว่าจะมีหรือไม่
ได้ความจาก พ.อ. สุขุม ยั่งยืน ว่า ถ้าใช้มือขวาจับปืนหงาย คือเอาปากกระบอกปืนส่องตรงหน้า ด้ามปืนไปทางศีรษะ แล้วเผอิญนิ้วมือไปถูกไกปืนและเซฟด้านหลังปืนลั่นออก เมื่อไม่มีกำลังบีบตัวปืนๆ อาจตกไปทางซ้าย พ.อ. สุขุม ยั่งยืน ได้บรรยายถึงวิธีจับปืนต่าง ๆ อีกหลายวิธี ในขณะที่นอนหงาย แต่วิธีที่กล่าวมาเป็นลักษณะที่ปืนตกแล้วคล้ายกับปืนของกลางอยู่ที่พระแท่นข้างซ้ายหากล้นเกล้าล้นกระหม่อมทรงจับปืนในลักษณะดังกล่าวมาโดยมิได้ตั้งพระทัยเผอิญนิ้วพระหัตถ์ไปถูกไกหน้าและที่ห้ามเซฟด้านหลังเข้าด้วยกำลังพอสมควรปืนลั่นออกได้ ปืนจะตกอยู่ทางซ้ายในลักษณะเดียวกับปืนของกลางซึ่งตกอยู่ข้างซ้ายพระบรมศพ
จริงอยู่ ขณะนั้นทรงพระประชวรพระนาภีเล็กน้อย ไม่น่าจะจับต้องพระแสงปืน แต่พระองค์เคยทรงเล่นพระแสงปืน อาจจะทรงจับพระแสงปืนเล่นก็ได้
อุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้ด้วยประการฉะนี้[1]
โปรดติดตาม 'ความเห็นแย้งคำพิพากษา กรณีสวรรคต รัชกาลที่ 8' ต่อ ในตอนที่ 2
หมายเหตุ :
- คงอักขร การสะกดคำศัพท์ และการเว้นวรรคตามเอกสารต้นฉบับ
บรรณานุกรม :
- สันติสุข โสภณสิริ (บรรณาธิการ), คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.๘ : โดยคำพิพากษาศาลแพ่ง หมายเลขแดงที่ ๕๘๑๐/๒๕๒๒ (วันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๒) (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2543)
[1] หลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์, ความเห็นแย้งคำพิพากษา ใน สันติสุข โสภณสิริ (บรรณาธิการ), คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.๘ : โดยคำพิพากษาศาลแพ่ง หมายเลขแดงที่ ๕๘๑๐/๒๕๒๒ (วันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๒), (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2543), น. 151-164.