ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

กังวลสุดท้ายของปรีดี พนมยงค์ คืออนาคตของประเทศ

15
กรกฎาคม
2567

Focus

  • บทความชิ้นนี้ถ่ายทอดเรื่องราวมาจากบันทึก บทสัมภาษณ์ และข้อเขียนของสุภา ศิริมานนท์ และลูกศิษย์ใกล้ชิดของนายปรีดี พนมยงค์ที่ไปพบกับท่านในช่วงบั้นปลายของชีวิตโดยนายปรีดีได้กล่าวถึงสิ่งที่กังวลต่อประเทศไทยคือ ‘อนาคตของประเทศ’
  • ข้อเด่นของบทความคือ การผสานระหว่างชีวประวัติศาสตร์ของนายปรีดีทั้งแนวคิดการปกครอง ชีวประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล ประวัติศาสตร์ไทย และเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับชีวิตของนายปรีดี อาทิ การก่อตั้งคณะราษฎร สมุดปกเหลือง กรณีสวรรคต รัชกาลที่ 8 กรณีการรัฐประหาร 2490 กบฏสันติภาพ และแนวคิดสังคมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย
  • ข้อสังเกตประการสำคัญคือ บทความนี้แสดงให้เห็นภาพลักษณ์ทางสังคมของนายปรีดีในประเทศนับตั้งแต่การเป็น ‘มันสมอง’ ของคณะราษฎร เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นรัฐบุรุษอาวุโส เป็นปีศาจในสังคมไทย เป็นคุณลุง และคุณตาของหลาน ๆ ในท้ายที่สุดเป็น ‘อาจารย์ปรีดี’ ของชาวธรรมศาสตร์ในแดนโดมนับตั้งแต่หลัง 14 ตุลา 2516 จนถึงแก่อสัญกรรม

 

 

พ่อนำชาติด้วยสมองและสองแขน
พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศเสรี
พ่อของข้านามระบือชื่อปรีดี
แต่คนดีของเมืองไทยไม่ต้องการ


อายุยืนหมื่นปีเถิดพ่อข้า
ไร้โรคาปราศทุกข์ใจสุขศานติ์
อยู่ต่างแดนพ้นมืดมนจากคนพาล
ลูกโดมขานพ่อคือธรรมค้ำแดนโดม

 

ข้อความในปฏิทินซึ่งสหกรณ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดพิมพ์ขึ้น และแจกจ่ายในงานวันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ครั้งล่าสุด และมีการแปรอักษรถ้อยคําดังกล่าวด้วย นายสุภา ศิริมานนท์ เผยว่านายปรีดีได้ปิดไว้ในห้องทํางานที่บ้านพัก และซาบซึ้งมากและนายสุภาได้ให้หลานอ่านบันทึกใส่เทปส่งไปให้อีกทอดหนึ่ง เมื่อนายปรีดีได้ฟังถึงน้ําตาไหล จึงได้อัดเสียงตอบสั่งสอนหลานของตนมาด้วย

 

ข้อความจากเทปบันทึกเสียงของปรีดี

ได้แสดงความรักและนับถือตา จึงทําให้ตามีความยินดีและมีความหวังว่าหลานทั้งสองจะได้สืบทอดคติของตาเพื่อชาติและราษฎรไทยต่อไปภายหน้า ตาขออวยพรให้หลานทั้งสองมีความสุขกาย สบายใจ ขอให้ตั้งใจเล่าเรียนและออกแรงงานช่วยคุณพ่อ คุณแม่ คุณตา คุณยาย อันเป็นสิ่งที่จะช่วยให้หลานเรียนรู้ว่า แรงงานนั้นเป็นบ่อเกิดแห่งความไพบูลย์

จากตาผู้รักหลานทั้งสอง

ปรีดี

 

“สัมฤทธิ์” และ “ป้อม” หลานรัก ลุงและป้าขอส่งความรักและคิดถึงมายังหลานทั้งสอง ขอแสดงความยินดีที่หลานทั้งสองได้ มีลูกไผ่ และ ลูกปลา ที่น่ารักและฉลาด ซึ่ง ลุงได้ตั้งความหวังไว้ว่าจะเป็นหลานที่สามารถสืบทอดคติของคาเพื่อชาติและราษฎรไทย ดังที่ลุงได้อัดเสียงคําพูดถึงนิติพงษ์ และนิธิภัทร แล้ว โอกาสนี้ลุงขออวยพรให้หลานสัมฤทธิ์และหลานป้อมประสบความสุขสวัสดิ์ มีอายุยั่งยืนนาน จงมีความสําเร็จในการรับใช้ชาติและราษฎร ไทยให้มีความก้าวหน้าทุกประการ

จากลุงที่รักหลานทั้งสอง

ปรีดี พนมยงค์

 

ต่อไปนี้เป็นคําปราศรัยตอบคุณสุภา และคุณจินดา ศิริมานนท์ ก่อนที่จะเดินทางจากปารีสกลับสู่สยาม :

 

คุณ สุภา และคุณจินดา มิตรรักที่ซื่อสัตย์ก่อนที่คุณทั้งสองจะเดินทางจากปารีสกลับ สู่สยามในวันนี้ ผมขอแสดงความขอบคุณที่คุณทั้งสองได้อุตสาหะเดินทางมาพบผมที่ชานกรุงปารีส ซึ่งมีคุณูปการเป็นอันมากแก่ผมเพิ่มเติมจากที่คุณทั้งสองได้ช่วยผมในสิ่งที่แล้วมาในอดีต โดยเฉพาะระหว่างที่ผมตกทุกข์ได้ยากมิตรภาพที่คุณทั้งสองมีต่อผมนั้น เป็นมิตรภาพที่มีคุณค่าซึ่งผมและภรรยาระลึกถึงอยู่เสมอ โอกาสนี้ผมขออวยพรให้คุณทั้งสองเดินทางโดยสวัสดิภาพ ประสบความสุข สวัสดี มีอายุยั่งยืนนาน ปราศจากโรคาพยาธิ อุปัทวันตรายทั้งปวง ขอให้มีความสําเร็จในการรับใช้ราษฎรไทยให้เจริญก้าวหน้า ทั้งในทางปัจจัยดํารงชีพ และในทางคติธรรมประชาธิปไตยทุกประการ

จากผม

ปรีดี พนมยงค์

 

ถ้าไม่มีนายปรีดี พนมยงค์ ประเทศไทยจะไม่มีประชาธิปไตย ถ้าไม่มีนายปรีดี พนมยงค์ ประเทศไทยก็จะเป็นเมืองขึ้น

คํากล่าวในเชิงสดุดีจากปากของนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยามอันดับแถวหน้าสุดของประเทศไทยเช่นนี้ สําหรับผู้ที่ติดตามประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทยด้วยความเที่ยงธรรมมาโดยตลอดก็ไม่มีอะไรเป็นที่สงสัยเลยแม้แต่น้อยแต่สําหรับบางคนที่ม่านแห่งอคติบดบัง จนดวงตาและดวงใจมืดสนิท คํากล่าวของ ส.ศิวรักษ์ ข้างต้น ก็มีแต่ก่อความขึ้งเคียดถึง ขนาดตีอกชกตัวเลยทีเดียว นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อเช้า วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นลําดับมา นามของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ เป็นนามอันโดดเด่น ซึ่งตกเป็นเป้าทั้งในด้านยกย่องสดุดีและวิพากษ์โจมตีไปด้วยใน

ขณะเดียวกัน เขาคือ “เทพเจ้า” ของคนกลุ่มหนึ่ง แต่เป็น “ปีศาจร้าย” ของคนอีกบางกลุ่ม! จริงแท้แล้วนายปรีดี พนมยงค์ เป็นไฉน?

 

หัวหน้าคณะราษฎร แรกก่อตั้งเพียง ๗ คน

การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ กระทําในนามของ “คณะราษฎร” ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสายทหารบก ๓๒ คนมีนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นหัวหน้า สายทหารเรือ ๒๑ คน มีนายนาวาตรี หลวงสินธุ์ สงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) เป็นหัวหน้า สายพลเรือน ๒๔๖ คน มีอํามาตย์ตรีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นหัวหน้า

รวมสมาชิกผู้ก่อการ “คณะราษฎร” ทั้งสิ้น ๙๙ คน

แต่กว่าจะมาถึง ๙๙ คน และกว่าจะมีการชุมนุมทางทหาร เพื่อก่อการยึดอํานาจการปกครอง นายปรีดี พนมยงค์ได้บันทึกไว้ใน บทความชื่อ “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะ ราษฎรและระบบประชาธิปไตย” ว่า

“การประชุมเป็นทางการครั้งแรกของคณะราษฎร มีขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๗ (พ.ศ. ๒๔๗๐) ที่หอพักแห่งหนึ่ง ซึ่งเราเช่าห้องใหญ่ไว้เฉพาะการประชุมเท่านั้น”

ผู้เข้าร่วมประชุมมี ๗ คน คือ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ร.ท.แปลก ขิตตะสังคะ ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี นายตัว ลพานุกรม หลวงสิริราช ไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) นายแนบ พหลโยธิน และ นายปรีดี พนมยงค์

บันทึกของนายปรีดี กล่าวว่า “ที่ประชุม มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ข้าพเจ้าเป็นประธานและเป็นหัวหน้าคณะราษฎร จนกว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสมเป็นหัวหน้าคณะราษฎรในกาลต่อไป”

เมื่อกลับเมืองไทย และคณะราษฎรได้ขยายสมาชิกออกไปกว้างขวางเป็นลําดับ ในที่ สุดที่ประชุมก็มอบหมายให้ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี เป็นผู้เชิญ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เข้ามาเป็นหัวน้าคณะราษฎร และดำเนินการยืดอำนาจ

 


คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสายทหารบก

 


คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสายทหารเรือ

 

นายปรีดี พนมยงค์ “มันสมอง” คณะราษฎร

ความที่เป็นนักเรียนกฎหมาย และความที่เคยศึกษาทางเศรษฐศาสตร์มาอย่างเจนจบกอปรกับเป็นนักเรียน “หัวดี” มาโดยตลอด ขณะที่เพื่อนนักเรียนนอกเรียกร้อยโท แปลก ขิตตะสังคะ ว่า “กัปตัน” ก็เรียกนายปรีดี พนมยงค์ ว่า “อาจารย์”

อาจกล่าวได้ว่าในจํานวนสมาชิกคณะราษฎรทั้ง ๙๙ คน นายปรีดี มีความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในลักษณะที่เป็น “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” ได้อย่างลึกซึ้งและเป็นจริงยิ่งกว่าใครจะเห็นได้จากแถลงการณ์ฉบับที่คณะราษฎร ที่พันเอกพระยาพหลฯ อ่านต่อทหาร ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งสร้างความแค้นเคืองให้กับกลุ่มอํานาจเก่าที่ถูกแย่งยึดอํานาจอย่างรุนแรง คนเขียนแถลงการณ์ ก็คือนายปรีดี พนมยงค์

จะเห็นได้จากเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับชั่วคราวและฉบับถาวร นายปรีดี พนมยงค์ ล้วนเป็นผู้มีบทบาททั้งสิ้น และแม้แต่การร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจอย่างที่เรียกว่า “สมุดปกเหลือง” อันถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับการปฏิวัติทางการเมืองก็เป็นการผลักดันและร่างด้วยมือของนายปรีดี พนมยงค์เอง

 

นายปรีดี พนมยงค์ คนแรกที่ถูกป้ายสีแดง

เนื่องจากบทบาทอันโดดเด่น โดยเฉพาะ ในฐานะ “มันสมอง” นายปรีดีจึงตกเป็นเป้าแห่งการทําลายทั้งจากกลุ่มพลังอํานาจเก่า และภายในคณะราษฎรเองที่เริ่มมองเห็นว่า นายปรีดีก้าวไกลไปจากที่ตนคาดคิด

ภายหลัง “สมุดปกเหลือง” เพื่อจัดระบบทางเศรษฐกิจใหม่ปรากฏออกมา

คํากล่าวหาเก่าที่นายปรีดี เคยถูกป้ายว่าเป็นคนหัวรุนแรง ก็เริ่มเป็นที่กระซิบกระซาบ และรุนแรงยิ่งขึ้นเป็นลําดับ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีพระราชวิจารณ์เค้าโครงการเศรษฐกิจ และลงความเห็นว่าเป็นการลอกมาจากร่างของสหภาพโซเวียตที่เป็นคอมมิวนิสต์

นายปรีดี พนมยงค์ ถูกบีบอย่างรุนแรง กระทั่งถูกเนรเทศออกจากประเทศ เมื่อเดือนเมษายน ๒๔๗๖ ไล่หลังวันเดินทางไปฝรั่งเศสเพียงชั่ววันเดียว รัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิธิธาดาก็ออกพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์มาใช้บังคับ

 

ผมเป็นสังคมนิยม สังคมนิยมวิทยาศาสตร์

นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา แม้จะมีการตั้งกรรมการสอบสวนแล้วก็ตามแต่ “สีแดง” ก็ติดกับนายปรีดี พนมยงค์ อย่างเช็ดถูไม่หาย ศัตรูทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ พยายามจะป้ายสีแดงให้กับนายปรีดี อยู่เสมอ แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ตาม

สุภา ศิริมานนท์ ซึ่งได้สนทนากับนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมากล่าวกับ “มติชน” ถึงเนื้อหาบางตอนของการสนทนาว่า

อาจารย์ปรีดี กล่าวกับสุภา ศิริมานนท์ ศิษย์ซึ่งมิได้พบกันเป็นเวลา ๓๗ ปี ว่า “ผมเป็นสังคมนิยมก็จริง แต่เป็นสังคมนิยมซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ และเป็นประชาธิปไตยแท้ ไม่ใช่ ประชาธิปไตยมีเงื่อนไข”

“ที่ว่าไม่ใช่ประชาธิปไตยมีเงื่อนไขนั้น อาจารย์หมายถึง ไม่ใช่ประชาธิปไตยแผนใหม่หรือประชาธิปไตยที่มีชื่อแปลก ๆ พ่วงท้าย ทั้งสิ้น แต่เป็นประชาธิปไตยแท้” สุภา เน้น

“อาจารย์บอกด้วยว่า วิทยาศาสตร์แท้ต้องไม่เร็วไปไม่ช้าไป จากเงื่อนไขที่เป็นอยู่” สุภากล่าว “ราษฎรจึงจะได้รับความสุข”

 


ท่านผู้หญิงพูนศุข เขียนไว้หลังรูปว่า: รูปประวัติศาสตร์ ถ่ายโดยน.ส.พ. เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ อายุ ๔๐ ปี ๑๐ เดือน ๑๙ วัน ข้อหากบฏภายในพระราชอาณาจักร

 


ขณะเดินออกจากห้องพิจารณาคดีศาลอาญาเพื่อขออำนาจฝากขัง

 

ผู้รักประชาธิปไตย นักรักชาติผู้ยิ่งใหญ่

ภายหลังรัฐประหาร ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ โค่นรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิธิธาดา ลงไป รัฐบาลก็ได้เชิญนายปรีดี พนมยงค์กลับประเทศและได้เข้าร่วมรัฐบาลกับพระยาพหลพลพยุหเสนา และรัฐบาลของพลตรีหลวงพิบูลสงคราม

จนกระทั่งเมื่อญี่ปุ่นยกพลฯขอผ่านประเทศไทยในเดือนธันวาคม ๒๔๘๔ ภารกิจอันยิ่งใหญ่ของนายปรีดี พนมยงค์ จึงได้เริ่มขึ้น นั่นก็คือ การจัดตั้งขบวนการเสรีไทยภายในประเทศทํางานประสานกับขบวนการเสรีไทยที่อยู่ต่างประเทศ

จากการต่อสู้กู้ชาติครั้งนี้ นายปรีดี และขบวนการเสรีไทยไม่เพียงแต่สร้างคุณูปการที่รักชาติให้กับปิตุภูมิของตน แต่ได้มีส่วนหนุนช่วยขบวนการกู้ชาติอื่น ๆ ในอินโดจีนอย่างดียิ่ง “ทุกวันนี้ในเวียดนามยังมีกองพันหนึ่งใช้ชื่อว่า กองพันสยาม ซึ่งโฮจิมินห์ตั้งขึ้นเพื่อรําลึกถึงสยามที่ให้การช่วยเหลือชาวเวียดนามในการกู้ชาติจากฝรั่งเศส” ลูกศิษย์นายปรีดีคนหนึ่ง กล่าว

“ที่บ้านของอาจารย์ปรีดีในชานกรุงปารีส ยังมีเศษเหล็กจากเครื่องบิน บี ๕๒ ลำสุดท้ายที่ถูกยิงตกในเวียดนาม ซึ่งนายกรัฐมนตรี ฟาม วัน ดง มอบให้เป็นที่ระลึกแก่อาจารย์ ปรีดี”

จากการก่อตั้งขบวนการเสรีไทย ไม่เพียงแต่ได้ช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการยืดครองของสัมพันธมิตรภายหลังสงครามเท่านั้นยังทําให้เกียรติภูมิของประเทศสูงเด่นขึ้นท่ามกลางผู้รักชาติในแหลมอินโดจีนอีกด้วย

 

กังวลสุดท้ายของรัฐบุรุษอาวุโส

สุภา ศิริมานนท์ กล่าวถึงความห่วงใยของนายปรีดี พนมยงค์ ช่วงที่สนทนากันเมื่อปลายเดือนเมษายนว่า “สิ่งที่อาจารย์กังวลมากที่สุด คือ อนาคตของประเทศ” ที่เป็นเช่นนี้ อาจจะเนื่องจากภายหลัง ความขัดแย้งระหว่างเวียดนาม-กัมพูชา, จีน-เวียดนาม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากเวียดนามได้บุกเข้าไปในกัมพูชาได้ทําให้ประเทศไทยเป็นดินแดนที่ล่อแหลมทางการเมืองเป็นอย่างมาก

เวทีอันร้อนระอุนี้เป็นจุดที่อภิมหาอํานาจหลายประเทศได้ถือเป็นดินแดนต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างกันและกัน ซึ่งเป็นผลให้ไทยต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยความระมัดระวัง

“อาจารย์เน้นอยู่เสมอว่า ไม่มีใครเขารักเมืองไทยเท่ากับคนไทย อย่าไปหลงคารมคนต่างประเทศโดยขายตัวโดยไม่รู้ตัว”

จากยุคแห่งการก่อตั้งขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อสู้กับการยึดครองของญี่ปุ่นเรื่อยมาจนถึงแม้แต่เมื่อเดินทางไปลี้ภัยในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และตราบเท่าปัจจุบัน ลมหายใจของนายปรีดี พนมยงค์ อัดระอุไว้ด้วยความคิดรักชาติอย่างแท้จริง

“คุณเขียนลงไปได้เลย” ศิษย์ที่ใกล้ชิดของนายปรีดี พนมยงค์ ท่านหนึ่งกล่าว “เหตุผล สําคัญที่อาจารย์ปรีดี ไม่สามารถร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ ก็เพราะท่านไม่ยอมชูธงและไม่ชอบรับใช้ตามที่เขาต้องการ

“การตัดสินใจทําอะไรทุกอย่างของอาจารย์ปรีดี ท่านคํานึงถึงชาติถึงราษฎรไทยเสมอ” ศิษย์ผู้นั้นสรุปด้วยความมั่นใจ

 

กรณีสวรรคต ปรีดีตกเป็นเหยื่อ

แม้จะมีความพยายามป้ายสีแดงติดป้าย “คอมมิวนิสต์” ให้ก็ไม่สามารถลิดรอนอํานาจทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ ลงได้ แต่เมื่อเกิดกรณีสวรรคตขึ้น เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๔๘๙ ขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี

จากกรณีสวรรคตอันมีเงื่อนงํานี้ ปรปักษ์ทางการเมืองของนายปรีดีได้ฉวยโอกาสกระพือเรื่อง และสร้างข่าว กระทั่งจ้างวานคนไปร้องตะโกนในโรงภาพยนตร์ว่า “ปรีดี ฆ่าในหลวง” และจากกรณีนี้เอง ทําให้นายปรีดีต้องลงจากเวทีทางการเมือง และเป็นสาเหตุหนึ่งในการอ้างเพื่อทํารัฐประหาร ๒๔๙๐ ของคณะทหาร

จากนั้นบทบาททางการเมืองของนายปรีดีก็เริ่มตกต่ำกระทั่งต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศจีนและจากจีน ก็ต้องนิราศไปพํานักอยู่ฝรั่งเศส กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ช่วงทศวรรษหลังนายปรีดีได้อาศัยศาลสถิตยุติธรรมเพื่อทําความกระจ่างในเรื่องนี้ จนแม้แต่ปรปักษ์ทางการเมืองเช่น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ต้องลงข้อความขอขมาต่อนายปรีดี พนมยงค์ ในกรณีสวรรคตนี้

 

ครองชีวิตวัยชรา สง่างามและทรงเกียรติ

นายปรีดี พนมยงค์ มีรายได้ส่วนหนึ่งจากเงินบํานาญ ในฐานะ “รัฐบุรุษอาวุโส” เป็นเงิน ประมาณ ๕,๐๐๐ บาทต่อเดือน ไม่มีรายได้ทางด้านอื่นเลย

“อาจารย์เป็นรัฐบุรุษพลัดถิ่นที่ไม่เคยรับเงินช่วยเหลือจากใครทั้งสิ้นนอกจากเงินบํานาญจากทางราชการไทย” ศิษย์นายปรีดีกล่าว “เงินค่าใช้จ่ายส่วนที่สําคัญระยะหลังอาจารย์ ได้จากการขายที่ดินที่เคยมีย่านสาทรและย่านสีลม และรวมทั้งเงินในส่วนของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์”

บ้านชานกรุงปารีสของนายปรีดี พนมยงค์ ระยะหลังนอกจากเป็นแห่งหนึ่งที่นักเรียนไทย ในฝรั่งเศสและบางประเทศแห่งยุโรปชอบแวะไปสนทนาแล้ว ยังมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงจากประเทศ ไทยหลายคนไปเยี่ยมคารวะอยู่ไม่ขาดสาย

“ตอนที่ผมไปพบกับอาจารย์ ท่านยังทํางานได้ตามปกติ คุยก็ปกติ” สุภา ศิริมานนท์กล่าว

ความจําอาจารย์ดีมาก แม่นมาก จํา ชื่อคน เวลา วัน เดือน ปี ได้อย่างแม่นยํา

นายปรีดี พนมยงค์ ในวัยชรา ไม่เพียงแต่พร้อมจะสนทนาแลกเปลี่ยนทรรศนะทางการเมืองเท่านั้น เวลาส่วนหนึ่งยังใช้ไปเพื่อเขียนบันทึกความทรงจําและถกเถียงอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาทางสังคมไทยอีกด้วย บทความเกี่ยวกับสถานการณ์และเรื่องราวทางวิชาการจํานวนมากมีปรากฏออกมาเป็นระยะ ๆ

 

จากไปอย่างสงบ คงไว้แต่เกียรติภูมิ

วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ นายปรีดี พนมยงค์ ลูกชาวนาแห่งอยุธยา ผู้เคยเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้เคยเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยได้จากไปอย่างสงบด้วยโรคหัวใจวาย

“อาจารย์สิ้นลมอย่างสงบ” สุภา ศิริมานนท์ กล่าว “ท่านจากไปอย่างคนมีบุญ”

ในฐานะที่เป็นผู้สนใจต่อวิทยาศาสตร์สังคมนายปรีดี ให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ การเขียนหนังสือ “ความเป็นอนิจจังของสังคม” สะท้อนถึงความพยายามที่จะติดตามกระบวนการทางสังคมของประเทศไทยอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

อาจารย์เคยขอร้องผู้ที่สนใจศึกษาชีวิตและงานของท่านว่า หากจะมีวินิจฉัยและประเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับท่าน ก็ขอให้ดูอายุของท่านประกอบด้วยข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นไปตามเงื่อนไขของอายุ แต่ถ้าจะดูกันจริง ๆ ต้องดูสุดท้ายของชีวิตเลยทีเดียว

บทสรุปของชีวิตประการหนึ่งจากการศึกษาการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยน แปลงของนายปรีดี พนมยงค์ หรือของใครก็ตาม อาจเป็นดังที่ สุภา ศิริมานนท์ กล่าวว่า

“เรื่องของความเปลี่ยนแปลง ท่านเน้นมากท่านบอกว่า บางคนยอมรับการเปลี่ยน แปลงของสภาพทางสังคม แต่พอเกี่ยวกับตัวเองก็ไม่อยากเปลี่ยน

นายปรีดี พนมยงค์ จากโลกนี้ และประเทศไทยอันเป็นที่รักของท่านไปแล้ว แต่เกียรติภูมิและสิ่งที่ได้ทําเอาไว้ในชั่ว ๘๐ กว่า ปีของลูกชาวนาคนหนึ่งได้ส่งผลสะเทือนและหยั่งรากลงในสังคมไทยอย่างลึกซึ้งทีเดียว

 

 

หมายเหตุ:

  • คงอักขร วิธีการสะกด เลขไทย และการเว้นวรรคตามต้นฉบับ
  • ภาพประกอบและคำอธิบายจากต้นฉบับ
  • ตั้งชื่อบทความใหม่โดยบรรณาธิการ

 

บรรณานุกรม:

  • กองบรรณาธิการ มติชนสุดสัปดาห์, กังวลสุดท้ายของปรีดี พนมยงค์ : ตำนานแห่งตำนาน ใน ปรีดีสาร, (2545): 107-116.