ขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอยู่นั้น ดร. ปรีดี พนมยงค์ได้อุทิศเวลาและกำลังการสติปัญญารับใช้บ้านเมืองในด้านอื่นๆ อีกเป็นอันมาก กล่าวโดยเฉพาะ ณ ที่นี้ ก็คือการตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง สถาบันอุดมศึกษาอันสร้างคน นักประชาธิปไตย นักปกครอง นักการเมือง อันเป็นกำลังของชาติให้แก่ประเทศไทย ทั้งนี้ โดยรัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยชี้แจงหลักการและเหตุผลในการที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นว่า
เมื่อได้มีการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญแล้วก็เป็นการสมควรที่จะรีบจัดบำรุงการศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองให้ได้ระดับมหาวิทยาลัยในอารยประเทศให้แพร่หลายยิ่งขึ้นโดยเร็วจึงเป็นการสมควรที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อให้เป็นตลาดวิชา อำนวยการศึกษาวิชากฎหมาย วิชาการเมือง วิชาเศรษฐกิจ และวิชาอื่นๆ อันเกี่ยวแก่วิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นการส่งเสริมให้ข้าราชการและประชาชนมีที่สำหรับศึกษาเพียงพอโดยเปิดโอกาสให้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้ได้ โดยไม่จำกัดจำนวนไม่จำกัดเพศและอายุ การศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้ ผู้มีภาระกิจ เช่น เป็นข้าราชการ ผู้ทำงานห้างร้าน รัฐวิสาหกิจ จะไม่ไปฟังคำบรรยายด้วยตนเองก็ได้ มีตำรา คำสอนให้ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองแล้วสมัครสอบไล่ตามสมัยที่มหาวิทยาลัยประกาศ มีความรู้ถึงขนาดแล้วก็ได้รับปริญญาตามที่กำหนดขึ้น หวังที่จะให้ประชาชน ข้าราชการ ข้าราชการเพิ่มพูนความรู้อันจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมในการปฏิบัติหน้าที่การงานของทางราชการและส่วนตัว และเป็นการเผยแพร่ปลูกฝังระบบประชาธิปไตยให้แก่คนไทยให้รู้จักหน้าที่การปกครองบ้านเมืองในระบอบนี้ไปด้วยในตัว และเป็นทางแก้ไขเกี่ยวกับนักศึกษาไม่มีที่ศึกษาไปในตัวด้วย การศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้เริ่มต้นด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี และต่อไปเป็นขั้นปริญญาโท และปริญญาเอก
สภาได้ลงมติเห็นชอบและอนุมัติให้ใช้เป็นกฎหมายได้เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๔๗๖
ในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยนี้ ดร. ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ริเริ่มได้รับรองต่อสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินก่อตั้งมหาวิทยาลัยเมื่อคราวประชุมครั้งที่ ๑๒ วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๖ ปรากฏในรายงานการประชุมสภาๆ ว่า
“มหาวิทยาลัยนี้เลี้ยงตนเอง” และได้พยายามเจรจาขอซื้อที่ดินจากกระทรวงกลาโหมบริเวณโรงทหารราบที่ ๔ ตำบลท่าพระจันทร์[1] เป็นที่สร้างมหาวิทยาลัย ในที่สุดเป็นที่ตกลงกันโดยกระทรวงกลาโหมเรียกเงินสามแสนบาท ปรากฏหลักฐานการได้ที่ดินมาดังนี้คือ
พระยามานวราชเสวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอให้สภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณโรงทหารกองพันทหารราบที่ ๔ ตำบลท่าพระจันทร์แก่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. ๒๔๗๗ ว่า
“เรื่องนี้ข้าพเจ้าขอประทานเรียนว่า มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มีเงินสะสมที่เก็บไว้ได้เป็นจำนวนนี้แก่กระทรวงกลาโหมไปแล้ว กระทรวงกลาโหมได้รับเงินไปแล้ว ประกอบกับที่ดินบริเวณโรงทหารกองพันทหารราบที่ ๔ ตำบลท่าพระจันทร์นี้ ทางทหารไม่ต้องการจะใช้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงได้รับเอาที่ดินกองพันทหารนี้มาเป็นของหลวง และขอโอนให้แก่ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ความประสงค์ในการโอนนี้ก็เพื่อจะขยายสถานที่การศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองให้กว้างขวางและเจริญสมกับความเป็นอยู่ ณ บัดนี้ นอกจากนั้น ก็ไม่มีข้อความอะไรข้าพเข้าขอประทานแถลงเพียงเท่านี้”
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๔๗๗
ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามที่ได้รับรองไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยได้จัดวางหลักสูตรการศึกษา จัดหาเงินทุนของมหาวิทยาลัย โดยวางวิธีการให้มีการสมัครสอบเป็นสมัยๆ ใช้เจ้าหน้าที่ชวเลขจดคำบรรยายของอาจารย์ผู้สอนแล้วพิมพ์คำสอนออกจำหน่าย (ชวเลขที่เริ่มงานมหาวิทยาลัยนี้ใช้เจ้าหน้าที่ชวเลขของสภาผู้แทนราษฎรก่อน) ได้ค่าสมัครสอบและค่าจำหน่ายคำสอนเป็นทุนของมหาวิทยาลัยต่อไป
ได้กระทำพิธีเปิดมหาวิทยาลัยเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๗ โดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมเด็จกรมพระนริศรานุวัตติวงศ์ ทรงกระทำพิธีในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และในโอกาสนี้โรงเรียนกฎหมายเดิมซึ่งรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้โอนไปขึ้นอยู่กับจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยนั้น ได้โอนกลับมารวมอยู่ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนี้อีกครั้งหนึ่ง
ด้วยคำที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์แถลงไว้ต่อสภาว่า “มหาวิทยาลัยนี้เลี้ยงตัวเอง” นั้นท่านผู้อ่านน่าจะทราบว่าท่านได้มีวิธีอย่างไร จึงให้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งเป็นนิติบุคคลเลี้ยงตัวเองได้ ที่มาของรายได้สำหรับใช้จ่ายในมหาวิทยาลัยนั้น ส่วนหนึ่งมาจากเงินค่าเล่าเรียน ค่าสมัครสอบไล่ ค่าธรรมเนียมอื่นๆ เงินอุดหนุนจากรัฐบาลและค่าตำราต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดพิมพ์จำหน่ายให้แก่นักศึกษาซึ่งน่าจะเพียงพอตลอดไป แต่ท่านผู้ประศาสน์การมิได้คิดเพียงแค่นั้น ท่านต้องการที่จะเห็นมหาวิทยาลัยนี้เจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นมั่นคงในแผ่นดินนี้สืบไป โดยไม่ต้องอาศัยงบประมาณแผ่นดิน
ขณะนั้นได้เกิดสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่น โดยทหารญี่ปุ่นยกทหารขึ้นบุกเมืองจีน ชาวจีนในเมืองไทยก็ส่งเงินจากเมืองไทยไปช่วยปิตุภูมิของตนกันเป็นจำนวนมาก โดยส่งผ่านทางโพยก๊วนบ้าง ทางธนาคารพาณิชย์บ้าง จนรัฐบาลไทยต้องห้ามส่งออก ในเวลานั้นในเมืองไทยคือกรุงเทพฯ มีธนาคารที่พอเรียกได้ว่าธนาคารของคนไทยอยู่ธนาคารเดียว คือธนาคารไทยกัมมาจล (ปัจจุบันคือ ธนาคารไทยพาณิชย์) แต่ก็มีผู้จัดการเป็นฝรั่ง นอกนั้นเป็นธนาคารของคนต่างด้าวทั้งสิ้น ส่วนธนาคารชาติไทยก็ยังไม่มีและเป็นที่รู้กันว่าคนไทยทำธนาคารไม่เป็น มีธนาคารต่างด้าวธนาคารหนึ่ง คือ Overseas Chinese Banking Corporation ตั้งอยู่ที่ถนนเจริญกรุง ตำบลสามแยก ธนาคารนี้ถูกตำรวจกล่าวหาว่าละเมิดคำสั่งห้ามส่งเงินออกนอกประเทศ ผู้จัดการธนาคารถูกสอบสวน ในที่สุดธนาคารนี้ก็ไม่มีความปรารถนาจะดำเนินกิจการธนาคารต่อไป
เมื่อ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยได้ทราบเรื่องเข้าก็ได้เจรจาซื้อกิจการจากเจ้าของเดิม และได้ตกลงซื้อขายทรัพย์สินกันสำเร็จในวงเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท แล้วจัดตั้งขึ้นเป็นธนาคารเอเชียเพื่อพาณิชยกรรมและการอุตสาหกรรม มีทุนจดทะเบียน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองถือหุ้น ๘๐% คือ ๘๐๐,๐๐๐ บาท การประกอบกิจการธนาคารนั้นโดยปกติแล้วกล่าวได้ว่าย่อมมีกำไรด้านเดียว ฉะนั้น กำไรจากธนาคารนี่แหละจะเป็นเงินเลี้ยงตัวเองของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และทำนุบำรุงมหาวิทยาลัยเจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นมั่นคงสืบไป และอีกข้อหนึ่งที่สำคัญยิ่งก็คือเพื่อพิสูจน์ให้รู้กันว่าคนไทยก็มีความสามารถกิจการทำธนาคารได้ ยิ่งกว่านั้นก็เป็นการเตรียมตัวบุคคลที่จะใช้ในการจัดตั้งธนาคารชาติต่อไป
ภายหลังรัฐประหารในปี ๒๔๙๒ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้จากประเทศไทยไปและพำนักอยู่ในต่างประเทศนักการเมืองผู้ขึ้นครองอำนาจก็ได้เข้าครอบครองมีอำนาจอยู่ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง รัฐบาลคณะใหม่ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศใช้เมื่อ ๑๘ มีนาคม ๒๔๙๕ โดยเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยเสียใหม่เป็น “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” โดยตัดคำว่า “วิชา” “และ “การเมือง” ออกเสีย และยุบตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเสีย นับว่าผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยนี้มี ดร.ปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งเพียงคนเดียวเท่านั้น แล้วผู้ทรงอำนาจก็จัดการขายหุ้น ๘๐% นั้นไปให้แก่บุคคลภายนอกทั้งหมด
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่เป็นสถาบันอิสสระเลี้ยงตัวเองได้กลับกลายเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐซึ่งอาศัยเงินงบประมาณแผ่นดิน ที่มาจากเงินภาษีอากรของราษฎรเลี้ยงตัวอย่างที่เป็นอยู่อย่างปัจจุบันนี้
การให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาโดยรัฐแบบนี้คิดคร่าวๆ ใช้เงินงบประมาณไม่ต่ำกว่า ๖,๐๐๐ บาท ต่อปีต่อนักศึกษา ๑ คน แต่ในการจัดการศึกษาของรัฐโดยทั่วไปนั้น โดยเฉพาะทางด้านประถมศึกษาซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ คือบังคับให้เขา อันได้แก่ ลูกชาวไร่ชาวนา ลูกชาวไทยผู้ขาดแคลนทั้งหลายต้องเรียน กลับปรากฏว่ามีโรงเรียนให้เด็กเรียนไม่พอ คือยังขาดแคลนสถานที่เรียนขาดครู ขาดแคลนอุปกรณ์การสอนอยู่เป็นอันมาก
สภาวะเช่นนี้มีอยู่มาช้านานแล้ว มันน่าอนาถใจไหม มีกฎหมายบังคับให้เขาเรียน แต่ไม่มีที่ให้เขาเรียน รัฐบาลกลับไปขยายการศึกษาที่ไม่บังคับโดยเฉพาะคือ การศึกษาระดับอุดมศึกษา เมื่อจัดการศึกษาของชาติเป็นไปเช่นนี้ ความมั่นคงของชาติและความเจริญของชาติจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง นั้น มิได้สอนวิชากฎหมาย, วิชาการเมือง, วิชาเศรษฐศาสตร์วิชาการบัญชีชั้นสูง และบรรดาวิชาอื่นๆ อันเกี่ยวกับวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็น แต่ยังเป็นสถานที่สร้างมหาวิทยาลัยแรกในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่สร้าง “เหตุผล” ให้เกิดแก่นักศึกษา ให้นักศึกษาเป็นตัวของตัวเอง และรักสันติ
มอตโตของมหาวิทยาลัย จากเนื้อเพลงประจำมหาวิทยาลัยได้แสดงให้เห็นชัด “เหลืองของเราคือธรรมประจำจิตต์ แดงของเราคือโลหิตอุทิศให้” “สำนักไหนหมายชูประเทศชาติด้วยอำนาจปกครองให้ผ่องเฟื่อง สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง ก่อรุ่งเรืองสมบูรณ์เขตต์ประเทศไทย”
ฉะนั้น จึงไม่เป็นการประหลาดอันใดที่นักศึกษาผู้สำเร็จจากมหาวิทยาลัยนี้ เมื่อเขาเหล่านั้นเข้าไปสู่วงการเมืองจะมีความคิดเห็นและอุดมคติแตกต่างหรือขัดแย้งกับอุดมคติของผู้ประศาสน์การของเขา เพราะนั่น เป็นความต้องการของผู้ประศาสน์การ ดร.ปรีดี พนมยงค์ อยู่แล้วแต่อุดมคติของผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยผู้นี้ในทางการเมือง เทอดทูนระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และพยายามสร้างความสุขสมบูรณ์ให้แก่ราษฎรและประเทศชาติ เป็นอุดมคติที่นักศึกษาทั้งเก่าและใหม่แทบทั้งสิ้นได้ยอมรับรอง
แต่จะมีอุดมคติแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ศิษย์ของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ตั้งแต่ครั้งเป็นอาจารย์โรงเรียนกฎหมายและผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยจะขาดเสียไม่ได้ก็คือความรักและนับถืออันเขามีอยู่ต่อท่าน
ศิษย์ของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ดูเหมือนว่าการมีมหาวิทยาลัยนี้อยู่เป็นการทำความหนักอกหนักใจให้ศัตรูทางการเมืองของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ นักหนาเขาจึงได้พยายามที่จะล้มล้างเสีย หรืออย่างน้อยก็เข้าแทรกแซงควบคุม
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองใช่เป็นสมบัติส่วนตัวของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ แต่เป็นสมบัติของชาติและเป็นสถาบันที่ค้ำจุนไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย จะล้มล้างเสียเพราะเหตุใด เพราะไม่พอใจระบอบประชาธิปไตยหรือ ? ผลที่เห็นในที่สุดก็เปลี่ยนชื่อจากเดิม เป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัดคำ “การเมือง” ทั้งไปเสีย นี่หรือเป็นการกระทำที่เห็นแก่ชาติบ้านเมือง ?
การเมืองคือประชาธิปไตย ถ้ารักและส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยก็ต้องส่งเสริมการศึกษาวิชาการเมือง หาไม่ประชาธิปไตยก็อยู่ไม่รอดและเผด็จการก็จะเข้ามาแทนที่ ดังที่เราได้เห็นได้ทราบกันอยู่แล้ว
สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง นอกจากใช้สีเหลืองและแดงดั่งกล่าวแล้ว ก็คือภาพรัฐธรรมนูญประดิษฐานอยู่บนพานแว่นฟ้าในวงธรรมจักร
รัฐธรรมนูญ คือ บทบัญญัติอันสูงสุดของการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย
ธรรมจักร หมายถึง พุทธศาสนา ธรรมะ คำสั่งสอนของพระบรมศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นสัจจะ ไม่เปลี่ยนแปลงผันแปร และยังคุณประโยชน์อันล้ำค่าให้เกิดแก่ผู้ปฏิบัติตาม ผู้ใดประพฤติอย่างไรผู้นั้นก็ได้รับผลอย่างนั้น
ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมุม จาริํ แปลว่า ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม นี่คือ ธรรมคาถาที่ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยนำมาเป็นหัวข้อยึดถือและปฏิบัติ และแนะนำให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัย ได้ปฏิบัติตามโดยทั่วหน้ากัน
หมายเหตุ :
- คงอักขร เลขไทย และวิธีสะกดตามต้นฉบับ
- ตั้งชื่อบทความใหม่โดยบรรณาธิการ
บรรณานุกรม :
- ไสว สุทธิพิทักษ์. ตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง, ใน, ดร.ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2526), น. 457-465.
[1] ก่อนหน้านั้นเป็นอาณาเขตวังหน้า กรมพระราชวังบวรฯ