Focus
- บทความนี้เสนอบทเรียนประวัติศาสตร์จากการอภิวัฒน์ 2475 จนถึงการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนหนุ่มสาวในปี 2563 นับตั้งแต่การต่อสู้ทางความคิดเรื่องระบอบประชาธิปไตยโดยฝ่ายก้าวหน้าหรือฝ่ายประชาธิปไตยเสนอว่าประเทศไทยปกครองโดยระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมต้องการให้เป็นระบอบราชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญ โดยในปี 2563-2567 ได้มีความพยายามจะลบ บิดเบือน และโจมตีคณะราษฎรซึ่งเห็นได้ชัดจนจากกรณีการจัดงาน 100 ปี ชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์ที่ได้รับการตอบรับจากหน่วยงานรัฐสูงแต่ ณ ปัจจุบันกลับตรงกันข้าม รวมทั้งสังคมไทยยังขาดฉันทมติที่ทำให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้
- อธึกกิต แสวงสุข เห็นสอดรับกับชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลว่า ควรให้ความสำคัญกับวิธีการมากกว่าเป้าหมาย และในทัศนะของตนเองมองว่าเอกภาพในขบวนการประชาธิปไตยไม่มีทางสมบูรณ์เพราะมักจะมีความขัดแย้งกันนับตั้งแต่การอภิวัฒน์ 2475 และมีแนวโน้มในอนาคต
- สุดท้าย มีการเสนอมุมมองต่อการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองของคนรุ่นใหม่ ว่า ‘เกิดจากภาวะที่อำนาจกดทับอย่างรุนแรง จนเกิดการตอบโต้’ และเมื่อเกิดการตอบโต้ ก็มีสองแนวทางในการต่อสู้กลับ แนวทางหนึ่งคือการประนีประนอม แต่อีกแนวทางหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงที่ถึงรากถึงโคน เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั้งหมด หากสถานการณ์เป็นไปตามปกติ สองแนวทางนี้จะไม่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง
วรรณภา ติระสังขะ
กระบวนการประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีความเป็นเอกภาพหรือไม่คะ หากไม่เป็นเอกภาพแล้วจะเป็นอย่างไร คุณอธึกกิต แสวงสุขมีบทเรียนอะไรจากประสบการณ์ที่ผ่านมาที่น่าจะหยิบยกมาพูดคุย และส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ถึงบทเรียนอันมีค่านี้บ้างคะ
อธึกกิต แสวงสุข
ขออนุญาตพูดถึงวาระเรื่อง 2475 สักหน่อยนะครับ ช่วงนี้กระแส 2475 ร้อนแรงมาก ถึงขนาดอาจารย์ธงชัย (วินิจจะกูล-กองบรรณาธิการ)เรียกว่า “ประวัติศาสตร์ยุทธนา” มีทั้งงานเขียน งานแอนิเมชัน เกิดขึ้นมากมาย คุณสะอาด(ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์-กองบรรณาธิการ)ก็เพิ่งเขียนการ์ตูน แล้วก็แอนิเมชัน 2475 ผมเติบโตในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคมต้องยอมรับเช่นเดียวกับที่หลายคนกล่าวว่า ช่วงตุลา 2516 ถึง 2519 มีความสนใจในคณะราษฎรน้อย อย่างไรก็ตาม มีการฟื้นฟูงานเขียน การอ่านเอกสาร และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎร เกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต และประเด็นอื่น ๆ อยู่ เพียงแต่กระแสความสนใจมุ่งไปที่ฝ่ายซ้ายอย่างรวดเร็วจนทำให้คณะราษฎรถูกมองข้ามไป
สิ่งที่น่าสนใจคือ หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยล่มสลาย ในช่วงปี พ.ศ. 2526-2527 เป็นต้นมา การศึกษาเกี่ยวกับคณะราษฎรและอาจารย์ปรีดี พนมยงค์เริ่มกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง มีการเผยแพร่งานของอาจารย์ปรีดีอย่างกว้างขวาง โดยอาจารย์ชาญวิทย์(เกษตรศิริ-กองบรรณาธิการ)เป็นบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ผมจำได้ว่าในช่วงปี พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นปีครบรอบร้อยปีชาตกาลอาจารย์ปรีดี มีการคัดค้านน้อยมาก แม้แต่กลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่งก็แทบไม่มีเสียงคัดค้านใด ๆ ในขณะนั้นรัฐบาลเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายชวน หลีกภัย งาน 100 ปีชาตกาลอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นงานที่ยิ่งใหญ่และเชิดชูเกียรติ จึงทำให้เกิดคำถามว่าเหตุใดในปัจจุบันจึงมีความพยายามลบล้างประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 2475 อย่างรุนแรง
หากสรุปสั้น ๆ ตามที่คุณชัยธวัช(ตุลาธน-กองบรรณาธิการ)กล่าว เหตุการณ์ 2475 นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมต้องการให้เป็นระบอบราชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิทย์ เคยเสนอ โดยอ้างถึงความตั้งใจของรัชกาลที่ 7 ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นรัฐธรรมนูญในระบอบเก่า นี่คือจุดที่เกิดการต่อสู้ทางความคิดอย่างรุนแรงในปัจจุบัน หากเปรียบเทียบกับปี 2543 ในตอนนั้นมีฉันทมติร่วมกัน แม้จะไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบ แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ในปัจจุบันฉันทมติดังกล่าวไม่มีแล้ว จึงทำให้สังคมมีความผันผวน รุนแรง และมีความขัดแย้งอย่างรุนแรง
คราวนี้ถ้ามาพูดถึงว่าเอกภาพขบวนการประชาธิปไตยมีจริงหรือไม่ ประชาธิปไตยไม่สามารถสมบูรณ์แบบได้ มีเพียงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เท่านั้นที่สมบูรณ์แบบ เพราะเป็นอำนาจที่เด็ดขาด มั่นคง และง่ายดาย แต่สังคมเช่นนั้นเป็นสังคมเมื่อร้อยปีก่อนเพราะฉะนั้นคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม มันก็จะมีความคิดที่แตกต่างหลากหลายมาก แล้วเวลาไปข้างหน้ามันก็จะมีคนส่วนหนึ่งที่ตกไปข้างหลัง มีคนส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยการเปลี่ยนแปลงในสังคมเกิดจากเงื่อนไข หรือที่ฝ่ายซ้ายเรียกว่า “ภววิสัย” เหตุการณ์ 2475 เกิดขึ้นเพราะสภาพการณ์สุกงอม มีความต้องการเปลี่ยนแปลง และมีปัญหาต่าง ๆ มากมาย ผู้ที่มาร่วมกันอาจจะไม่ได้มีความคิดเห็นที่ตรงกันทั้งหมด
เหตุการณ์ 14 ตุลาคมก็เช่นกัน เกิดจากสภาพการณ์ที่สุกงอม ผู้คนต่อต้านเผด็จการจำนวนมาก แม้ว่าผู้ที่เข้าร่วมจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันก็ตาม แกนนำของเหตุการณ์ 14 ตุลาคมเองก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ทุกยุคทุกสมัยเป็นเช่นนี้เสมอ เราจะเห็นว่าคนที่เคยต่อสู้ร่วมกันในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 6 ตุลาคม หรือเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธในป่า อาจกลายเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือกลุ่มสุดโต่งอื่น ๆ ซึ่งบางครั้งถึงขั้นทำในสิ่งที่ตนเองไม่เคยทำมาก่อน ดังนั้น ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับคุณชัยธวัชที่ว่านี่เป็นเรื่องของการให้ความสำคัญกับวิธีการมากกว่าเป้าหมาย
ผมเคยวิเคราะห์กลุ่มคนเดือนตุลาหรือรุ่นที่ออกจากป่าที่เข้าร่วมกับกลุ่มเสื้อเหลือง ว่าเป็นเรื่องของแนวคิดต่อต้านจักรวรรดินิยม หนึ่ง เกลียดอเมริกา สอง เกลียดทุนนิยม และมีแนวคิดแบบบรรลุเป้าหมายโดยไม่เลือกวิธีการ ซึ่งหมายถึงการจับมือกับใครก็ได้เพื่อโค่นล้มศัตรู แต่กลับกลายเป็นการปลุกอำนาจอีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมา สิ่งนี้เกิดขึ้นในขบวนการประชาธิปไตย ทำให้คำว่า “เอกภาพ” ไม่เป็นจริง แต่มีการเคลื่อนไปข้างหน้าตามสถานการณ์ที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น เช่นเดียวกับที่เราเห็นว่าทำไมจึงเกิดม็อบในปี 2563 ทำไมจึงเกิดพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล รวมถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างพรรคการเมืองต่าง ๆ ทุกอย่างกำลังหมุนไปข้างหน้าตามความต้องการของสังคมและประชาชน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมมีบางส่วนที่เห็นต่าง บางส่วนที่เคยร่วมต่อสู้กันแต่ไม่เห็นด้วย จึงไปยืนอยู่ฝ่ายตรงข้าม เกิดการถกเถียงกันตั้งแต่เรื่องแนวคิด วิธีการเปลี่ยนแปลงสังคม ไปจนถึงการกล่าวหาอีกฝ่ายว่าเป็นลัทธิแก้ยกตัวอย่าง เหมา เจ๋อตง เคยเขียนหนังสือเรื่อง “วิธีการจัดการความขัดแย้งในหมู่ประชาชน” ซึ่งเป็นหนังสือที่ดีและน่าอ่าน แต่สุดท้ายเหมา เจ๋อตงก็จับหลิว เช่าฉี และเติ้ง เสี่ยวผิง เข้าคุก ปัญหาคือฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมมักมีความคิดที่หลากหลาย และความเป็นประชาธิปไตยจำเป็นต้องยอมรับความแตกต่างหลากหลายนี้ จึงเกิดการต่อสู้ทางความคิดที่เข้มข้นและบางครั้งก็รุนแรง คำว่า “เอกภาพ” ในแง่หนึ่งอาจไม่มีอยู่จริง แต่ในอีกแง่หนึ่งก็คือการเคลื่อนไปข้างหน้า ส่วนที่เป็นขบวนใหญ่ที่มีเอกภาพจะเคลื่อนไปข้างหน้า ส่วนที่เห็นต่างอาจกลายเป็นเสียงข้างน้อยและไม่เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ในขบวนนั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
ถ้าเรามองคำว่า “เอกภาพ” ในลักษณะนี้ เราต้องยอมรับว่าบางครั้งคนที่เคยต่อสู้ร่วมกันมาเป็นสิบปีอาจหายไป คนรุ่นใหม่ก็ต้องยอมรับว่าเพื่อนที่เคยอยู่ในม็อบปี 2563 ด้วยกัน อาจเปลี่ยนไปเมื่อเวลาผ่านไป วิถีชีวิตและสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงได้ นี่เป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งสำคัญคือสังคมเคลื่อนไปข้างหน้าหรือไม่ ผมคิดอย่างนี้ครับ
วรรณภา ติระสังขะ
ขอบคุณมากค่ะ ขอบคุณอธึกกิตด้วยนะคะ ขบวนการประชาธิปไตยที่เป็นเอกภาพนั้นยาก แต่สิ่งสำคัญคือการเคลื่อนไปข้างหน้าเสมอ เราไม่เดินถอยหลังอย่างที่อาจารย์แล ดิลกวิทยรัตน์ กล่าวไว้ จริง ๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันหรือทำเหมือนกัน แต่สิ่งที่ต้องระวังคืออย่าให้วิธีการอยู่เหนือเป้าหมายจนถึงขั้นบรรลุเป้าหมายโดยไม่เลือกวิธีการ
จากประสบการณ์ทำงานด้านสื่อมานานกว่า 40 ปี บทบาทของสื่อในการทำหน้าที่ในขบวนการประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง อาจมีความขัดแย้งที่เกิดจากสื่อได้เช่นกัน รวมถึงความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นใหม่และรุ่นก่อน เนื่องจากคุณอธึกกิตสนับสนุนแนวคิดของคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ จึงอยากทราบว่าอะไรทำให้เรายังมีความหวังกับคนรุ่นใหม่ได้
อธึกกิต แสวงสุข
สื่อบางส่วนเราก็อาจจะเห็นได้ว่าใส่ร้ายฝ่ายประชาธิปไตยอย่างชัดเจน ถึงแม้จะเป็นสื่อกระแสรอง ในภาพรวมสื่ออย่างที่พี่ป้อม(นิธินันท์ ยอแสงรัตน์-กองบรรณาธิการ)พูดถึงว่า มันมีความมั่ว ในความรู้สึกสื่อจะต้องมีลักษณะที่มุ่งเน้นการสร้างประเด็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาสำคัญ เช่นวันที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา จะต้องมีการนำเสนอข่าวที่ เช่น ทักษิณจะติดคุกไหม พรรคก้าวไกลจะถูกยุบไหม ต้องวิเคราะห์ให้มันไปข้างหน้ากว่าที่เรา ที่คนทั่วไปคิด
ในช่วงการเลือกตั้ง สื่อมีบทบาทน้อยลง เนื่องจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ช่วงชิงพื้นที่สื่อด้วยการดีเบต หาเสียง และกิจกรรมอื่น ๆ ทำให้สื่อถูกกลืนไป แต่หลังการเลือกตั้ง สื่อก็กลับมามีบทบาทอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในโลกออนไลน์มีทั้งส่วนที่เป็นการแสดงอารมณ์และการด่าทอกัน แต่ก็มีส่วนที่มีเหตุผลและการต่อสู้ทางความคิดเกี่ยวกับค่านิยม เช่น เรื่องการศึกษาและศาสนา ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี เพราะแสดงให้เห็นว่ามีการศึกษาเรียนรู้เกิดขึ้น
เมื่อพูดถึงคนรุ่นใหม่ ผมไม่ได้บอกว่าพวกเขาถูกต้องเสมอไป บางครั้งก็มีอารมณ์หรือทำอะไรที่ไม่เหมาะสม แต่ผมคิดว่าพวกเขาถูกกระทำ ถูกปิดกั้นพื้นที่จากอำนาจ ไม่ใช่ว่าคนรุ่นใหม่ไม่มีความรักหรือไม่มีอะไรในหัวใจ แต่การลุกฮือขึ้นมาของพวกเขาเป็นผลมาจากรัฐประหารเก้าปี หรือแม้กระทั่งตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 เราไม่ได้บอกว่าคนที่ลุกฮือขึ้นมาจะถูกต้องทั้งหมด แต่เราต้องกลับไปดูสาเหตุที่ทำให้พวกเขาเป็นเช่นนั้นเราไม่สามารถใช้ความรักเพียงอย่างเดียวในการแก้ไขปัญหาได้
ประชาธิปไตยเกิดจากการต่อสู้ และการต่อสู้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีความรุนแรง ความเกลียด ความโกรธที่เกิดขึ้นต่ออำนาจอาจรุนแรงกว่าที่เราเคยรู้จัก เหมือนที่ผมเคยบอกว่า คนรุ่นผมอาจจะอ้าปากค้างเมื่อเห็นแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ขึ้นไปประกาศบนเวที 10 สิงหาคม ถ้าผมอยู่ข้างล่างเวที ผมอาจจะห้ามพวกเขา แต่ถ้าผมห้ามพวกเขา ก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง นี่คือสิ่งที่เรามองคนรุ่นใหม่ เราไม่ได้คิดว่าพวกเขาถูกต้องทั้งหมด แต่เราคิดว่าพวกเขามีพลังจากการที่อดทนไม่ได้ต่อความไม่เท่าเทียม การถูกกดขี่ และการไม่มีสิทธิเสรีภาพ สิ่งที่พวกเขาต้องการคือสิทธิพื้นฐานที่ควรมีในประเทศประชาธิปไตยปกติ
ผมคิดว่าทั้งหมดนี้เกิดจากภาวะที่อำนาจกดทับอย่างรุนแรง จนเกิดการตอบโต้ และเมื่อเกิดการตอบโต้ ก็มีสองแนวทางในการต่อสู้กลับ แนวทางหนึ่งคือการประนีประนอม แต่อีกแนวทางหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงที่ถึงรากถึงโคน เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั้งหมด การต่อสู้ของสองแนวทางนี้ หากสามารถดำเนินไปด้วยกันได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี การประนีประนอมอาจทำให้เข้าถึงกลุ่มคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย ซึ่งควรจะมีจำนวนมาก ส่วนแนวทางที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจะเป็นเหมือนกองหน้าที่นำสังคมไปข้างหน้า หากสถานการณ์เป็นไปตามปกติ สองแนวทางนี้จะไม่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง
แต่เกิดความผิดพลาดในการประเมินประชาชนและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทำให้ฝ่ายที่คิดจะประนีประนอมเสียความชอบธรรมทางการเมือง และเมื่อเกิดปัญหาขึ้น มวลชนทั้งสองฝ่ายก็ปะทะกัน แต่ผมคิดว่ามวลชนทั้งสองฝ่ายไม่ใช่กองเชียร์ฟุตบอล พวกเขามีความผูกพันจากการต่อสู้ร่วมกัน คนเสื้อแดงที่ต่อสู้ในปี 2553 มีความรู้สึกว่าถูกแย่งชิงอำนาจ ส่วนคนรุ่นใหม่ต้องการให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีเสรีภาพมากขึ้น นี่ไม่ใช่เรื่องของกองเชียร์พรรคการเมือง ถ้าเปรียบเป็นกองเชียร์ฟุตบอลเหมือนการแข่งขันฟุตบอลที่กรรมการไม่เป็นกลาง ทำให้เกิดความกดดันและปัญหาต่าง ๆ มาตลอด
สิ่งสำคัญคือทั้งสองฝ่ายต้องยืนหยัดในจุดยืนของตนเองอย่างแท้จริง และต่อสู้ในแนวทางของตนเองให้คนอื่นเห็น แต่ละคนอาจเลือกเดินในแนวทางที่แตกต่างกัน และช่วงชิงกันว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเลือกใคร แต่อย่ากล่าวหาอีกฝ่ายว่าเป็นของปลอม โกหก หรือหลอกลวงประชาชน สิ่งที่ต้องยอมรับคือการตัดสินใจของประชาชน ซึ่งทุกคนรู้ดีว่าพวกเขาตัดสินใจอย่างไร
รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/live/YVb4lfLzWIE?si=YxynccePR8-K5Juj
ที่มา : PRIDI Talk #26: 92 ปี อภิวัฒน์สยาม “เอกภาพขบวนการประชาธิปไตย สู่ ประชาธิปไตยสมบูรณ์จากบทเรียน 2475 สู่อนาคต” เนื่องในวาระ 92 ปี อภิวัฒน์สยาม วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2567 เวลา 13.30 น.-17.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์