ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงในการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 5)

26
มิถุนายน
2567

Focus

  • ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบอํานาจให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งที่ 2 เป็นจําเลยต่อศาลแพ่ง เรื่อง ละเมิดหมิ่นประมาทไขข่าวแพร่หลายต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี
  • บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงในการอภิวัฒน์ 2475 ตอนที่ 5 เสนอว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าโดยประยูร ภมรมนตรี ในประเด็นสำคัญคือ ข้อเท็จจริงเรื่องการปฏิเสธว่า “คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองมิได้ทราบเรื่องการจัดตั้งคณะราษฎรมาก่อน” แต่ยืนยันว่าท่านได้รับความสําเร็จในการเลิกคณะราษฎร ขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ เสนอการโต้แย้งจากเอกสารหลักฐานและเหตุผลหลายประการที่โดยพิสูจน์ได้ว่าพล.ท.ประยูรฯ ตั้งแต่สมัยเป็น ร.ท. ศึกษาอยู่ในปารีสนั้นได้ร่วมจัดตั้งคณะราษฎร แต่เหตุใดพล.ท.ประยูรฯ ปฏิเสธว่ามิได้ทราบเรื่องการจัดตั้งคณะราษฎรมาก่อน
  • ในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินฯ ยังระบุบิดเบือนเรื่องสำคัญไว้ 2 ประการว่า “แต่ข้าพเจ้าได้รับความสําเร็จของผลงานในทุกด้าน คือ ได้ล้มเลิกโครงการเศรษฐกิจพลิกแผ่นดินของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และได้ปรับปรุงรัฐธรรมนูญ และเลิกคําว่ากรรมการราษฎร (แทนเสนาบดี) มาเป็น “รัฐมนตรี”” จากข้อเท็จจริงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า ไม่เป็นความจริงทั้ง 2 ประการ

 


บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์
เรื่องคดีฟ้องฯ หนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี

 

ข้อ 6.

พล.ท.ประยูรฯ ปฏิเสธว่า “คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองมิได้ทราบเรื่องการจัดตั้งคณะราษฎรมาก่อน” แต่ยืนยันว่าท่านได้รับความสําเร็จในการเลิกคณะราษฎร

พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ในวรรคที่ 5 แห่งข้อ "สรุปการปฏิวัติ" ของท่านดังต่อไปนี้

“คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองมิได้ทราบเรื่องการจัดตั้งคณะราษฎรมาก่อน กับทั้งไม่ได้รู้เห็นในการขนานนามเสนาบดีผู้บริหารประเทศเป็นกรรมการราษฎรแบบโซเวียตรัสเซีย”

ข้อสังเกต

ความในวรรคที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ดังกล่าวข้างบนนั้น แยกได้ออก 2 ตอนคือ ประโยคแรก ความว่า “คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองมิได้ทราบเรื่องการจัดตั้งคณะราษฎรมาก่อน” นั้นแสดงว่าพล.ท.ประยูรฯ ปฏิเสธโดยไม่ยอมรับรู้การจัดตั้งคณะราษฎร ซึ่งจะได้วิเคราะห์วิจารณ์ประเด็นนี้ในข้อ 6. นี้

ส่วนประโยค 2 ที่ว่า “กับทั้งไม่ได้รู้เห็นในเรื่องการขนานนามเสนาบดีผู้บริหารประเทศเป็นกรรมการราษฎรแบบโซเวียตรัสเซีย” นั้น เกี่ยวกับข้อเท็จจริงและการแต่งเรื่องของพล.ท.ประยูรฯ ไว้หลายแห่ง จึงขอยกไปวิเคราะห์วิจารณ์ในข้อ 7. และข้อ 8.

6.1.

พล.ท.ประยูรฯ เขียนยืนยันว่าท่านได้รับความสําเร็จในการเลิกคณะราษฎร

เอกสารหลักฐานและเหตุผลหลายประการที่ข้าพเจ้าจะเสนอต่อท่านผู้อ่านที่ปรารถนาสัจจะไว้ในข้อ 6.1. และ 6.2. นั้น พิสูจน์ได้ว่าพล.ท.ประยูรฯ ตั้งแต่สมัยเป็น ร.ท. ศึกษาอยู่ในปารีสนั้นได้ร่วมจัดตั้งคณะราษฎร

แต่เหตุใดพล.ท.ประยูรฯ ปฏิเสธว่ามิได้ทราบเรื่องการจัดตั้งคณะราษฎรมาก่อน ข้าพเจ้าขอให้ท่านผู้อ่านที่มีใจเป็นธรรมโปรดพิจารณาข้อความที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ในหนังสือของท่านหน้า 289 ประกอบด้วย คือ พล.ท.ประยูรฯ ได้เขียนไว้มีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

“แต่ข้าพเจ้าได้รับความสําเร็จของผลงานในทุกด้าน คือ : -

1. ได้ทําการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สําเร็จ

2. ได้ล้มเลิกโครงการเศรษฐกิจพลิกแผ่นดินของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

3.ได้ปรับปรุงรัฐธรรมนูญ และเลิกคําว่ากรรมการราษฎร (แทนเสนาบดี) มาเป็น “รัฐมนตรี” ที่ยังใช้กันอยู่จนกาลปัจจุบัน เป็นพรรคการเมือง ได้เลิกคณะราษฎรและพุทธสมาคมที่จะเอาพระสงฆ์องค์เจ้ามาแตกแยก”

ข้อสังเกต

ข้อเขียนของพล.ท.ประยูรฯ เกี่ยวกับเรื่องอื่นๆ ที่กล่าวข้างบนนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่จะพิจารณาเป็นอีกประเด็นต่างหาก

ณ ที่นี้ข้าพเจ้าขอเสนอให้ท่านผู้อ่านที่มีใจเป็นธรรมโปรดสังเกตความพอใจของพล.ท.ประยูรฯ ที่ได้รับความสําเร็จในการ “เลิกคณะราษฎร” ซึ่งเป็นเหตุสําคัญอย่างหนึ่งที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนปฏิเสธว่ามิได้ทราบเรื่องการจัดตั้งคณะราษฎร เพราะถ้าพล.ท.ประยูรฯ ไม่ปฏิเสธเช่นนั้น ผู้มีใจเป็นธรรมก็จะเห็นว่าเป็นการไม่สวยไม่งามที่พล.ท.ประยูรฯ ซึ่งร่วมก่อตั้งคณะราษฎรด้วยแต่กลับใจภายหลังโดยทําการเลิกคณะราษฎร

การปฏิบัติของรองอํามาตย์เอกประยูรฯ ภายหลังที่ได้รับตําแหน่งเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้วจนได้รับความสําเร็จในการเลิกคณะราษฎรนั้น ข้าพเจ้าจะได้นําไปกล่าวไว้ในข้ออื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น

6.2.

เอกสารหลักฐานและข้อพิสูจน์บางประการเป็นเบื้องต้นเกี่ยวกับ ร.ท.ประยูรฯ ทราบเรื่อง การจัดตั้งคณะราษฎรมาก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ในข้อนี้ข้าพเจ้าขอเสนอเอกสารหลักฐานและข้อพิสูจน์บางประการเป็นเบื้องต้นซึ่งท่านผู้อ่านที่มีใจเป็นธรรมจะเห็นได้ไม่ยากว่าพล.ท.ประยูรฯ ทราบเรื่องการก่อตั้งคณะราษฎรมาก่อนแล้ว คือ

(1)

พล.ท.ประยูรฯ ได้เขียนไว้ในหนังสือของท่านหน้า 167 มีความว่า

“ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ตอน 8.00 น. พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม กับ ร.อ.หลวงนิเทศ ร.น. ได้นําจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์มาในรถบันทุกทหารส่งให้ข้าพเจ้าที่หน้าประตูพระที่นั่งอนันตสมาคม ข้าพเจ้าได้ถวายคํานับ เชิญเสด็จให้ลงเดินเข้าไปประทับในพระที่นั่ง”

ครั้นแล้วพล.ท.ประยูรฯ ได้พรรณนาต่อไปยืดยาวอีก 5 หน้าถึงการที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ได้มีรับสั่งแก่ ร.ท.ประยูรฯ ฐานะที่ทรงคุ้นเคยมาช้านาน และทรงตักเตือนให้ระวังว่า ร.ท.ประยูรฯ จะถูกพวกเดียวกันว่าอย่าง โรเบสปิแอร์ มารา ดังตอง เพื่อนน้ำสาบาลฝรั่งเศส ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

เอกสารหลักฐานที่เปิดเผยแจกแก่ประชาชนในเช้าวันนั้นและลงในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ปรากฏว่า สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้นได้ทรงประกาศจากพระที่นั่งอนันตสมาคม มีความดังต่อไปนี้

คำประกาศของผู้สําเร็จราชการรักษาพระนคร

ด้วยตามที่คณะราษฎรได้ยึดอํานาจการปกครองแผ่นดินไว้ได้โดยมีความประสงค์ข้อใหญ่ที่จะให้ประเทศสยามได้มีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น

ข้าพเจ้าขอให้ทหาร ข้าราชการ และราษฎรทั้งหลายจงช่วยรักษาความสงบ อย่าให้เสียเลือดเนื้อของคนไทยกันเอง โดยไม่จําเป็นเลย

(ลงพระนาม)                   บริพัตร์

(สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตร กรมพระนครสวรรค์วรพินิต)

ฉนั้นถ้าสมมติว่าร.ท.ประยูรฯ มิได้รู้เห็นในการก่อตั้งคณะราษฎรมาก่อน ร.ท.ประยูรฯ ก็น่าจะกราบทูลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ว่า ขอให้ทรงตัดคําว่า “คณะราษฎร” ออกจากประกาศนั้น เพราะร.ท.ประยูรฯ มิได้เห็นด้วยว่าเป็นคณะอะไร

(2)

เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ผู้สําเร็จราชการรักษาพระนครได้ทรงประกาศดังกล่าวนั้น พระยาพหลฯ ซึ่งเป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารก็ได้มีประกาศเปิดเผยแก่ประชาชนและลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ให้ทราบทั่วกัน มีความดังต่อไปนี้

“คำประกาศแก่บรรดาข้าราชการ

ตามที่คณะราษฎรได้ยึดอํานาจการปกครองแผ่นดินไว้ได้ โดยมีความประสงค์ข้อใหญ่ ที่จะให้ประเทศสยามมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน และบัดนี้สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็ได้ลงพระนามรับรองคณะราษฎรแล้ว ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร จึงสั่งข้าราชการทุกกระทรวง ทบวงกรม ให้มาปฏิบัติราชการตามเคย ผู้ใดละทิ้งหน้าที่จะต้องมีความผิด

ประกาศมา ณ วันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475

(ลงนาม) นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา”

ทั้งนี้แสดงว่า แม้พล.ท.ประยูรฯ รับรองพระยาพหลฯ เป็นเพียงผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารโดยพล.ท.ประยูรฯ ได้รับรองพระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าคณะราษฎรก็ตาม แต่พระยาพหลฯ ที่รับรองสภาพความเป็นอยู่ของ “คณะราษฎร” มาก่อนเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้นแล้ว เพราะคณะราษฎรมิได้จัดตั้งขึ้นโดยฉับพลันในเช้า วันที่ 24 มิถุนายน 2475

ถ้าสมมติว่า ร.ท.ประยูรฯ มิได้รู้เห็นในการก่อตั้งคณะราษฎรแล้ว ร.ท.ประยูรฯ ก็น่าจะคัดค้านพระยาพหลฯ ที่เขียนไว้ในประกาศว่า “ตามที่คณะราษฎรได้ยึดอํานาจการปกครองของแผ่นดินไว้ได้” นั้น แม้ร.ท.ประยูรฯ จะไม่กล้าคัดค้านในขณะนั้น แต่ก็อาจคัดค้านขณะต่อมาได้ แทนที่จะนิ่งไว้เป็นเวลาช้านานถึง 40 กว่าปี จึงได้เขียนว่าร.ท.ประยูรฯ มิได้รู้เห็นด้วยในการก่อตั้งคณะราษฎร

(3)

พล.ท.ประยูรฯ ได้เขียนวันสําคัญที่ผู้แทนคณะราษฎรเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอพระราชทานนิรโทษกรรม และขอพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน คือ บางแห่งพล.ท.ประยูรฯ เขียนว่า วันที่ 24 มิถุนายน 2475 บางแห่งเขียนว่าวันที่ 26 เดือนนั้น และบางแห่งเขียนว่าวันที่ 27 เดือนนั้น ซึ่งสับสนจับเรื่องไม่ได้ว่าเป็นวันใดก็ตาม แต่หลักฐานที่จะกล่าวไว้ในข้อ 8 นั้นชัดแจ้งว่า ร.ท.ประยูรฯ ซึ่งขณะนั้นรับราชการที่กรมไปรษณีย์ได้ยศพลเรือน "รองอํามาตย์เอก" ก็ได้ร่วมกับผู้แทนคณะราษฎรไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่วังสุโขทัยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เพื่อขอพระราชทานนิรโทษกรรมและขอพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน

เอกสารหลักฐานปรากฏชัดแจ้งว่า เมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนคณะราษฎรกราบบังคมทูลขอพระราชทานนิรโทษกรรมและอ่านพระราชกําหนดนิรโทษกรรมแก่คณะราษฎรกับทูลเกล้าฯ ต้นฉบับแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับต้นฉบับพระราชกําหนดนั้นแล้วทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทาน

พระราชกําหนดนิรโทษกรรมนั้นได้กล่าวถึงคณะราษฎรไว้ดังต่อไปนี้

“อันที่จริงการปกครองด้วยวิธีทางรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนี้ เราก็ได้ดําริอยู่ก่อนแล้ว ที่คณะราษฎรทำมาเป็นการถูกต้องตามความนิยมของเราอยู่ด้วย และด้วยเจตนาดี ต่อประเทศชาติอาณาประชาชนแท้ๆ จะหาการกระทําหรือแต่เพียงเจตนาชั่วร้ายแม้แต่น้อยก็มิได้...............

มาตรา 3 บรรดาการกระทําทั้งหลายทั้งสิ้นเหล่านั้นไม่ว่าบุคคลใดในคณะราษฎร หากว่าจะเป็นการละเมิดกฎหมายใดๆ ก็ดี ห้ามมิให้ถือเป็นการละเมิดกฎหมายเลย”

(โปรดดูความเต็มที่เชิญมาลงพิมพ์ไว้ในข้อ 3)

ฉนั้นถ้ารองอํามาตย์เอกประยูรฯ มิได้รู้เห็นในการก่อตั้งคณะราษฎรมาก่อนแล้ว ร.อ.อ.ประยูรฯ ก็น่าจะกราบบังคมทูลขอให้ทรงยับยั้งการลงพระปรมาภิไธยพระราชกําหนดนั้น โดยอ้างเหตุว่า ร.อ.อ.ประยูรฯ กับคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองมิได้รู้เห็นด้วยในการก่อตั้งคณะราษฎร

แต่ร.อ.อ.ประยูรฯ มิได้กระทําดังนั้น หากท่านแสดงความโสมนัสยินดีถึงกับท่านได้เขียนในหนังสือของท่านหน้า 178-179 ภายใต้หัวเรื่อง "พระราชทานนิรโทษกรรม" มีความดังต่อไปนี้

“ในวันที่คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อขอพระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองในเช้าวันที่ 27 มิถุนายน 2475 (พิมพ์วันที่ตามหนังสือของพล.ท.ประยูรฯ) นั้นได้ถือโอกาสทูลเกล้าฯ ถวายพระราชกําหนดนิรโทษกรรมซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าลงพระปรมาภิไธยพระราชทานนิรโทษกรรม นับเป็นบทบัญญัติฉบับที่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามข้อความดังต่อไปนี้

การกระทําของคณะราษฎรในครั้งนี้หากจะเป็นการละเมิดกฎหมายใดๆ ก็ดี ห้ามมิถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมาย

พระราชกําหนดนี้ได้ประกาศ ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2475 ซึ่งต่อไปได้เสนอเป็นพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกําหนดในสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นพระราชบัญญัติฉบับแรกที่มีการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

ทั้งนี้แสดงว่าพล.ท.ประยูรฯ ก็รับรู้ว่ามีคณะราษฎรในการขอพระราชทานพระราชกําหนดนั้น และ ร.อ.อ.ประยูรฯ ถือเอาประโยชน์จากการที่ในหลวงพระราชทานนิรโทษกรรมแก่คณะราษฎร

ข้อสังเกต

(ก)

วันเข้าเฝ้านั้นพล.ท.ประยูรฯ เขียนว่า “ในเช้าวันที่ 27 มิถุนายน 2475” นั้น แต่วันประกาศพระราชกําหนดนั้นพล.ท.ประยูรฯ เขียนว่า “พระราชกําหนดนี้ได้ประกาศ ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2475”

ส่วนในหนังสือของพล.ท.ประยูรฯ หน้า 173 เขียนว่า “ในการนํารัฐธรรมนูญแห่งพระราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ณ วังสุโขทัย เมื่อบ่ายวันที่ 25 มิถุนายน 2475” แต่เอกสารหลักฐานทางราชการนั้นปรากฏชัดว่าวันเข้าเฝ้านั้นคือวันที่ 26 มิถุนายน 2475

(ข)

นักศึกษาหลายคนได้แจ้งมายังข้าพเจ้า (ปรีดี) ว่าได้อ่านหนังสือบันทึกรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและราชกิจจานุเบกษาอย่างถี่ถ้วนหลายต่อหลายครั้งจนหนังสือนั้นเกือบขาดแล้ว ก็ไม่พบว่ามีพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกําหนดนิรโทษกรรมฉบับ 26 มิถุนายน 2475 ตามที่พล.ท.ประยูรฯ อ้างไว้ นักศึกษาฯ จึงขอให้ข้าพเจ้า (ปรีดี) ช่วยชี้แจงด้วย

ข้าพเจ้า (ปรีดี) จึงได้ชี้แจงแก่นักศึกษาดังต่อไปนี้

“วันที่ 26 มิถุนายน 2475 นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ยังทรงพระราชอํานาจสมบูรณ์ตามระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในการลงพระปรมาภิไธยในบทหมายใดๆ ได้โดยไม่ต้องมีรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พระราชอํานาจของพระองค์ถูกจํากัดภายหลังที่ได้พระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน (ชั่วคราว) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 เวลา 17 นาฬิกา ต่อจากนั้นการลงพระปรมาภิไธยในบทกฎหมายจึงต้องมีผู้สนองพระบรมราชโองการ”

(4)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้พระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน (ชั่วคราว) ฉบับวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แล้ว พระยาพหลฯ ผู้รักษาพระนครและหัวหน้าคณะราษฎรก็ได้ตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้นจํานวน 70 คน ซึ่งรวมทั้งรองอํามาตย์เอกประยูรฯ ด้วย

รุ่งขึ้นวันที่ 28 มิถุนายน 2475 สภาผู้แทนราษฎรได้เปิดประชุมเป็นครั้งแรก ความปรากฏในบันทึกรายงานการประชุมสภาฯ วันนั้นว่า สมาชิกสภาฯ รวมทั้ง ร.อ.อ.ประยูรฯ ได้ปฏิญาณตนในที่ประชุม มีความดังต่อไปนี้

“ข้าพเจ้า (ออกนามปฏิญาณ) ขอให้คําปฏิญาณว่าจะซื่อสัตย์ต่อคณะราษฎรและจะช่วยรักษาหลัก 6 ประการของคณะราษฎรไว้ให้มั่นคง

1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางเศรษฐกิจ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

2.จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงมาก

3.จะต้องบํารุงความสุขของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะพยายามหางานให้ราษฎรทุกคนทําโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4.จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอกัน

5.จะต้องให้ราษฎรมีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น

6.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ฉนั้นถ้า ร.อ.อ.ประยูรฯ มิได้รู้เห็นการจัดตั้งคณะราษฎรมาก่อน 24 มิถุนายน 2475 ร.อ.อ.ประยูรฯ ก็จะต้องคัดค้านขึ้นในที่ประชุมสภาฯ ว่าท่านไม่เห็นด้วยที่จะให้ท่านและสมาชิกสภาฯ ปฏิญาณตนว่าจะซื่อสัตย์ต่อคณะราษฎร และจะช่วยรักษาหลัก 6 ประการของคณะราษฎรไว้ให้มั่นคง แต่ร.อ.อ.ประยูรฯ ก็สมัครใจปฏิญาณดังกล่าวนั้น

(5)

เมื่อสภาฯ ได้ตั้งคณะกรรมการราษฎรประกอบด้วยประธานคณะฯ 1 นาย และกรรมการราษฎร 14 นาย รวมทั้ง ร.อ.อ.ประยูรฯ ด้วย

ครั้นต่อมาคณะกรรมการราษฎรได้แต่งตั้งให้ ร.อ.อ.ประยูรฯ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการราษฎร ตําแหน่งเทียบเท่าปลัดทูลฉลองสมัยสมบูรณาฯ และเทียบเท่าปลัดกระทรวงสมัยปัจจุบันนั้น ร.อ.อ.ประยูรฯ ก็เต็มใจรับตําแหน่งนั้น

(6)

รัฐบาลที่ตั้งขึ้นตามธรรมนูญฯ ฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ซึ่ง ร.อ.อ.ประยูรฯ ได้ร่วมอยู่นั้นก็ได้ยืนยันปฏิบัติตามคําปฏิญาณดังกล่าวใน (4) และรัฐบาลที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 อันมีพระยามโนปกรณ์ฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ร.อ.อ.ประยูรฯ ได้ร่วมอยู่ในรัฐบาลนั้นก็ได้แถลงต่อสภาฯ เพื่อขอความไว้วางใจเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2475 มีความดังต่อไปนี้

“ว่าโดยทั่วๆ ไปรัฐบาลนี้รับรองหลัก 6 ประการที่คณะกรรมการราษฎรได้ดําเนินการอยู่แล้วเป็นจุดหมายปลายทางที่จะดําเนินการต่อไปให้บรรลุถึงซึ่งความสําเร็จ”

(7)

ประชาชนที่นั่งเรือผ่านหน้าวัดแครายจังหวัดนนทบุรีนั้น คงเห็นอาคารโรงเรียนหลังหนึ่งมีป้ายบอกชื่อไว้ว่า “โรงเรียนคณะราษฎร์บํารุง”

ประวัติความเป็นมาของการที่สมาชิกคณะราษฎรได้อุทิศเงินส่วนตัวสร้างอาคารนั้นคือ ใน พ.ศ.2474 ผู้ก่อการฯ จํานวน 8 คน คือ หลวงพิบูลสงคราม (ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ), หลวงทัศนัยนิยมศึก (ทัศนัย มิตรภักดี), ดร.ตั้ว ลพานุกรม, นายแนบ พหลโยธิน, นายประยูร ภมรมนตรี, นายทวี บุณยเกตุ, หลวงสินธุสงครามชัย, และข้าพเจ้า (ปรีดี) ได้ถือโอกาสวันหยุดราชการไป “เที่ยว” ที่บริเวณทุ่งนาข้างวัดแคราย โดยจัดอาหารไปเลี้ยงกันดังที่เรียกกันว่าไปเที่ยว “ปิคนิค” และครั้งนั้นก็ได้ปรึกษากันถึงการงาน ที่จะเตรียมปฏิบัติต่อไปในการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย ต่อมาเมื่อเปลี่ยนการปกครองฯ สําเร็จใน พ.ศ.2475 แล้ว สมาชิกคณะราษฎรที่ก่อตั้งคณะฯ ที่ปารีสและที่ได้ร่วมคณะฯ ต่อมาด้วยนั้นก็ได้อุทิศเงินส่วนตัวสร้างโรงเรียนนั้นเป็นอนุสรณ์

ข้อสังเกต

(ก) ในหนังสือของพล.ท.ประยูรฯ หน้า 132 ได้กล่าวใจความว่าท่านผู้นี้ “ได้จัดเช่าเรือกลไฟลําใหญ่” ให้เฉพาะผู้ใหญ่ฝ่ายทหารไปยังวัดแคราย ส่วนพลเรือนต่างคนต่างไป และอ้างว่าพระยาทรงฯ เห็นข้าพเจ้า(ปรีดี) ทําโครงการเศรษฐกิจไปแจก จึงโวยวายร้องเอะอะสั่งให้เก็บและเผาไฟ พระยาทรงขุ่นเคืองข้าพเจ้ามาก

ข้าพเจ้า (ปรีดี) จะได้ชี้แจงไว้ในข้อ 12 ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าพล.ท.ประยูรฯ ได้แต่งเรื่องขึ้นเองว่า นายทหารผู้ใหญ่ได้ไปร่วมประชุมที่วัดแคราย แต่ความจริงนั้น พระยาพหลฯ, พระยาทรง, พระยาฤทธิ์, พระประศาสน์ฯ มิได้ไปประชุมที่นั่นในครั้งนั้น หากพล.ท.ประยูรฯ นั้นแต่งให้พระยาทรงฯ เป็นผู้กำราบข้าพเจ้า (ปรีดี) ซึ่งเป็นความไม่จริง

(ข) โดยเฉพาะประเด็นที่กําลังพิจารณาว่า พล.ท.ประยูรฯ รู้หรือไม่ว่า การก่อตั้งคณะราษฎรมาก่อน พ.ศ.2475 นั้น พล.ท.ประยูรฯ ซึ่งไปที่วัดแครายดังกล่าวข้างบนนั้นไม่น่าปฏิเสธว่าท่านมิได้รู้เห็นในการก่อตั้งคณะราษฎร ทั้งๆ ที่มีอาคารโรงเรียนสร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์ดังกล่าวข้างบนนั้น

(8)

พระยาพหลฯ หัวหน้าคณะราษฎรก็รู้ชื่อของคณะฯ มาก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ท่านจึงลงนามในประกาศดังกล่าวในข้อ 6.1. อ้างถึง “คณะราษฎร”

(9)

หลวงพิบูลสงคราม (แปลก) ที่เป็นเพื่อนคนหนึ่งร่วมก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีสเมื่อพ.ศ. 2469 นั้น ท่านมิได้ปฏิเสธว่าท่านไม่ได้รู้เห็นด้วยในการก่อตั้งคณะราษฎร หากท่านได้ยืนยันอยู่เสมอถึงการที่ท่านได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งคณะราษฎร ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีในพ.ศ. 2481 แล้ว ครั้นถึงพ.ศ. 2482 ท่านก็ได้ประกอบพิธีฝังหมุดที่ระลึก ณ จุดที่พระยาพหลฯ หัวหน้าคณะราษฎรยืนอ่านแถลงการณ์ประกาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งยังอยู่ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าเบื้องซ้ายของพระบรมรูป หน้าประตูสนามเสืยป่า ดังปรากฏตามภาพถ่ายต่อไปนี้

 


คําจารึกที่หมุดนั้นมีความว่า
“ณ ที่นี่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง
คณะราษฎรได้ก่อกําเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ”

 

(10)

หนังสือของพล.ท.ประยูรฯ พิมพ์ภาพถ่ายไว้ด้วยภาพหนึ่งอันเป็นภาพที่แสดงว่าได้ถ่ายภายหลัง 24 มิถุนายน 2475 ไม่นานนักเพราะพลเรือนยังแต่งกายด้วยผ้านุ่งสวมเสื้อ "ราชปะแตนต์" ดุม 5 เม็ด ถุงน่องรองเท้า คือยังมิได้เปลี่ยนเป็นแต่งกายแบบสากล

พล.ท.ประยูรฯ ได้บรรยายใต้ภาพว่า "กรรมการสโมสรคณะราษฎร์(วังสราญรมย์)" นั้นคลาดเคลื่อนเพราะสโมสรนั้นตั้งขึ้นภายหลังที่รัฐบาลพระยามโนฯ ที่ ร.อ.อ. ประยูรฯ เป็นรัฐมนตรีและเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนั้นได้สั่งยุบเลิก "สมาคมคณะราษฎร" ความจริงภาพถ่ายนั้นเป็นภาพ "คณะกรรมการสมาคมคณะราษฎร" ซึ่ง ร.อ.อ.ประยูรฯ เป็นกรรมการสำคัญผู้หนึ่งที่ยืนอยู่แถวหน้า

ถ้าสมมติว่า พล.ท.ประยูรฯ ไม่รู้เรื่องการก่อตั้งคณะราษฎรมาก่อนแล้ว ร.อ.อ.ประยูรฯ ก็จะต้องไม่ยอมเป็นกรรมการสมาคมคณะราษฎร และไม่ยอมถ่ายภาพให้ปรากฏเด่นเช่นนั้น

 

 

 

บรรณานุกรม

หลักฐานชั้นต้น :

  • ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :