ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงในการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 4)

19
มิถุนายน
2567

Focus

  • ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบอํานาจให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งที่ 2 เป็นจําเลยต่อศาลแพ่ง เรื่อง ละเมิดหมิ่นประมาทไขข่าวแพร่หลายต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี
  • บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงในการอภิวัฒน์ 2475 ตอนที่ 4 ชี้ให้เห็นว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าโดยประยูร ภมรมนตรี ในประเด็นสำคัญคือ ข้อเท็จจริงเรื่องการเป็นหัวหน้าคณะราษฎรของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมหรือนายปรีดี พนมยงค์โดยในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินฯ ระบุบิดเบือนว่านายปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้เป็นหัวหน้าคณะราษฎร แต่ข้อเท็จจริงจากปากคำประวัติศาสตร์ของบันทึกนายปรีดี และบันทึกของพระยาทรงสุรเดชระบุว่า นายปรีดีเป็นหัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน
  • การฟ้องร้องคดีความฯ ของนายปรีดีถือเป็นการยืนยันสัจจะทางประวัติศาสตร์ให้ปรากฏโดยในเนื้อหาของคำฟ้องคดีความฯ ต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าคดีความฯ ได้สิ้นสุดลงเมื่อศาลแพ่งได้พิพากษาในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจําเลยและนายปรีดีไม่ได้ฟ้องร้องคดีต่อนายประยูร ภมรมนตรี ด้วยปรารถนาจะประกาศสัจจะทางประวัติศาสตร์และเผยแพร่ข้อเท็จจริงของการก่อตั้งคณะราษฎรและประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกบิดเบือนไป

 


บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์ ข้อ 5

 

ข้อ 5.

พล.ท.ประยูรฯ ปฏิเสธว่าคณะฯ มิได้แต่งตั้งพระยาพหลฯ เป็นหัวหน้า และปฏิเสธว่าคณะฯ มิได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นหัวหน้าส่วนโดยเฉพาะ

เพื่อประกอบคำอ้างของพล.ท.ประยูรฯ ดังกล่าวในข้อ 4.2. ประการที่ 12 และระบบไม่มีหัวหน้าคณะนั้น ท่านผู้นี้จึงเขียนไว้ในข้อสรุปการปฏิวัติของท่านมีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก)

“คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองมิได้แต่งตั้ง พ.อ.พระยาทรงสุรเดช หรือ นายปรีดี พนมยงค์ หรือผู้ใดเป็นหัวหน้าส่วนโดยเฉพาะ ในวันยึดอํานาจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้เสนอให้ พ.อ.พระยาพหลพยุหเสนา ขึ้นเป็นผู้นําฯ ในฐานะอาวุโส และจัดตั้งเป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารร่วมกับ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ (พิมพ์ชื่อตามที่พล.ท.ประยูร เขียนไว้)”

(ข)

อนึ่งนอกจากพล.ท.ประยูรฯ ได้ปฏิเสธว่ามิได้ตั้งพระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าก่อนลงมือปฏิบัติการวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แล้ว พล.ท.ประยูรฯ ก็ยังได้ลดบทบาทของพระยาพหลฯ ในการเป็นผู้บัญชาการกองกําลังของคณะราษฎรไว้อีก ดังปรากฏความในหนังสือของพล.ท.ประยูรฯ หน้า 149 มีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

“ค่ำวันนั้น (หมายถึงในเดือนมิถุนายน 2475) ข้าพเจ้าได้เรียนให้ท่านเจ้าคุณทรงสุรเดชทราบเรื่องว่า พล.ต.ท.พระยาอธิกรณ์ฯ ออกหมายจับ แต่เคราะห์ดีที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ให้รอไว้ก่อน จำจะต้องรวบรัดลงมือทันที รั้งรอไปไม่ได้แล้ว เจ้าคุณจึงเรียกประชุมนายทหารผู้ใหญ่มาปรึกษาวางแผนกัน และกําหนดวันลงมือ

ที่ประชุมฝ่ายทหารได้มอบหมายให้อํานาจบัญชาการให้กับ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม กับ น.ต. หลวงสินธุสงครามชัย ร.น. โดยเด็ดขาด ซึ่งท่านเจ้าคุณทรงฯ  ก็ได้ดําเนินการวางประชุมวางแผนสั่งการ ทําการยึดอํานาจปกครองที่บ้านของท่านโดยเร่งด่วน”

ข้าพเจ้าจะได้เสนอคำวิเคราะห์วิจารณ์ของนักศึกษาหลายคน แล้วข้าพเจ้าจะได้ชี้แจงเพิ่มเติม

5.1.

คำวิเคราะห์วิจารณ์ของนักศึกษาฯ

ประการที่ 1 บุคคลหลายคนร่วมกันประกอบกิจการก็ต้องมีคนหนึ่งเป็นหัวหน้า

ตามสามัญสํานึกอันเป็นตรรกวิทยาเบื้องต้นของมนุษยชนและตามที่ปรากฏอยู่ทั่วไปนั้น บุคคลหลายคนจะร่วมประกอบกิจการใด ๆ ก็ต้องตกลงกันให้คนหนึ่งเป็นหัวหน้า เพื่อนผู้ร่วมเปลี่ยนการปกครองฯ นั้นมีจํานวนตามที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ในหนังสือของท่านหน้า 128 ว่า

“สรุปการติดต่อผู้หลักผู้ใหญ่ หาสมัครพรรคพวกมาร่วมคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เป็นกันหมดสิ้น ปิดบัญชีรวมกําลังฝ่ายทหารบก 34 คน ทหารเรือ 19 คน และฝ่ายพลเรือน 45 คน รวมทั้งสิ้น 98 คนด้วยประการฉนี้”

นักศึกษาเห็นว่าแม้จํานวนที่ พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้จะต่ํากว่าความเป็นจริงตาม แต่ก็เป็นจํานวนถึง 98 คน ฉนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ก่อการฯ จะไม่มีหัวหน้าของแต่ละฝ่ายและจะไม่มีหัวหน้าคณะเป็นส่วนรวมก่อนวันยึดอำนาจ

ประการที่ 2 ประชาชนไทยส่วนมากทราบอยู่แล้วว่าพระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าคณะราษฎร

นักศึกษาเห็นว่าประชาชนไทยส่วนมากทราบตามเอกสารหลักฐานต่างๆ ของทางราชการตลอดมาช้านานหลายปีว่า “พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าคณะราษฎร” และผู้การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่รับรองว่า พระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าคณะราษฎร

ประการที่ 3 มีกองทัพของประเทศได้บ้างที่มีผู้บัญชาการอํานาจเด็ดขาดถึง 3 คนคราวเดียวกัน

แม้ว่า พล.ท.ประยูรฯ ได้ปฏิเสธไม่ยอมรับว่าพระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าคณะราษฎรส่วนรวมมาก่อนวันยึดอํานาจปกครอง และแม้ว่า พล.ท.ประยูรฯ เขียนว่าพระยาพหลฯ เพิ่งได้รับคําเสนอให้เป็น “ผู้นํา” ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้นเองก็ตาม แต่พล.ท.ประยูรฯ ก็ได้เขียนลดบทบาทการเป็นผู้นําของพระยาพหลฯ ไว้อีก ดังปรากฏ ในหนังสือของ พล.ท.ประยูรฯ หน้า 149 มีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

“ค่ำวันนั้น (หมายถึงในเดือนมิถุนายน 2475) ข้าพเจ้าได้เรียนให้ท่านเจ้าคุณทรงสุรเดชทราบเรื่องว่า พล.ต.ท. พระยาอธิกรณ์ฯ ออกหมายจับ แต่เคราะห์ดีที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ให้รอไว้ก่อน จำจะต้องรวบรัดลงมือทันที รั้งรอไปไม่ได้แล้ว เจ้าคุณจึงเรียกประชุมนายทหารผู้ใหญ่มาปรึกษาวางแผนกัน และกําหนดวันลงมือ

ประชุมฝ่ายทหารได้มอบหมายให้อํานาจบัญชาการให้กับ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม กับ น.ต.หลวงสินธุสงครามชัย ร.ม. โดยเด็ดขาด ซึ่งท่านเจ้าคุณทรงฯ ก็ได้ดําเนินการประชุมวางแผนสั่งการ ทําการยึดอํานาจปกครองที่บ้านของท่านโดยเร่งด่วน”

นักศึกษาหลายคนวิเคราะห์วิจารณ์คำอ้างของ พล.ท.ประยูรฯ นั้นแล้วเห็นว่าไม่ปรากฏว่ากองทัพใดในโลกที่มีผู้บัญชาการอํานาจเด็ดขาดถึง 3 คนคราวเดียวกัน นักศึกษาจึงมีความเห็นแตกต่างกับผู้ที่หลงเชื่อว่ามีกองกําลังชนิดที่มีผู้บัญชาการอํานาจเด็ดขาด 3 คนคราวเดียวกัน นักศึกษาได้อ่านเอกสารหลักฐานกับข่าวหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์ในเดือนมิถุนายน 2475 นั้นปรากฏว่าพระยาพหลฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะราษฎรได้เป็นผู้บัญชาการมีอำนาจเด็ดขาดของกองกำลังคณะราษฎร ส่วนพระยาทรงฯ ทําหน้าที่เสนาธิการ พระยาฤทธิ์ฯ, หลวงพิบูลฯ, หลวงสินธุ์ฯ, อยู่ใต้บังคับบัญชาของพระยาพหลฯ

ประการที่ 4 พระยาทรงฯ และพระยาฤทธิ์ฯ มิได้ลดอํานาจบัญชาการของพระยาพหลฯ

หนังสือบันทึกพระยาทรงฯ เล่มที่อ้างถึงข้างต้นแล้วนั้น พระยาทรงฯ มิได้อ้างที่ใดเลยว่าพระยาทรงฯ เป็นผู้บัญชาการอํานาจเด็ดขาดร่วมกับหลวงพิบูลฯ และหลวงสินธุ์ฯ หากพระยาทรงฯ ได้กล่าวถึงหน้าที่ของท่านว่าพระยาพหลฯ มอบให้พระยาทรงฯ เป็นผู้คิดและกะการณ์

หนังสือคำสัมภาษณ์ของพระยาฤทธิ์ฯ ต่อนิตยสาร “ไทสัปดาห์” ระหว่างเวลา 6 เดือนตั้งแต่ 21 เมษายน ซึ่งต่อมานายเสทื้อน ศุภโสภณ พิมพ์ขึ้นเป็นเล่มใน พ.ศ. 2514 นั้น หน้า 23-24 ก็ปรากฏคําอธิบายของพระยาฤทธิ์ฯ เกี่ยวกับหน้าที่ของพระยาทรงฯ ไว้ดังต่อไปนี้

การวางแผนรักษาความสงบเรียบร้อย ฯลฯ ผู้ทําหน้าที่พูดแถลงมากกว่าเพื่อนคือ พระยาทรงฯ ซึ่งทําหน้าที่เสนาธิการของคณะปฏิวัติตลอดมา

นักศึกษาเห็นว่าคํากล่าวของพระยาทรงฯ และพระยาฤทธิ์ฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าชั้นนําของคณะราษฎรนั้นเป็นสัจจะคือ พระยาทรงฯ ทําหน้าที่เสนาธิการของคณะฯ ซึ่งถูกต้องตามยุทธศาสตร์และยุทธวิธีแล้ว นักศึกษาจึงแปลกใจว่า เหตุใดคณะกรรมการฯ ที่อ้างถึงแล้วนั้นจึงสนับสนุนสํานักพิมพ์ที่เขียนว่าสิ่งที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้นั้นแท้จริงที่สุดยิ่งกว่าผู้เขียนอื่น ๆ ทั้งปวง

ประการที่ 5 พระยาทรงฯ กล่าวว่ามีหัวหน้าผู้ก่อการสายต่างๆ

นักศึกษาฯ ได้อ่านข้อความหลายตอนของพล.ท.ประยูรฯ ที่แสดงว่านับถือพระยาทรงฯ มาก แต่พล.ท.ประยูรฯ ไม่ยอมรับความตามที่พระยาทรงฯ เขียนไว้นั้นว่าเป็นสัจจะ ในหนังสือพระยาทรงฯ เล่มที่อ้างถึงแล้วนั้นดังต่อไปนี้

(1) หน้า 22-23

“พวกที่คิดจะปฏิวัติมีทั้งฝ่ายทหาร และพลเรือน ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าพวกพลเรือนซึ่งมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นหัวหน้า ได้เริ่มคิดการนี้ตั้งแต่ปีไหน แต่ทราบว่าทางการฝ่ายทหารมี นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา, นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช, นายพันเอกพระยาฤทธิอัคเนย์กับนายพันเอกพระประศาสน์พิทยายุทธ ได้สนทนากันถึงเรื่องเช่นนี้ก่อนเวลาปฏิวัติในราว 2-3 ปี โดยไม่รู้ว่ามีพวกพลเรือนคิดอยู่เหมือนกัน ทางฝ่ายพลเรือนถึงแม้จะได้ทหารเป็นพวกไว้บ้างแล้ว ก็เป็นแต่เพียงพวกมียศน้อยและไม่มีตําแหน่งสําคัญในกองทัพ ด้วยเหตุที่ต้องการได้ทหารตัวสําคัญๆ เข้ามาเป็นพวกด้วยนั่นเองจึงได้ติดต่อรู้ถึงกันขึ้น เป็นอันว่าเกิดมีพวกขึ้น 4 พวก

1.พวกพลเรือน มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นหัวหน้า

2.พวกทหารเรือ มีนายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย

3.พวกทหารบกชั้นยศน้อย มีนายพันตรีหลวงพิบูลสงครามเป็นหัวหน้า

4.พวกนายทหารชั้นยศสูง มีนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ พระประศาสน์พิทยายุทธ

(2). หน้า 34-35

“ในวันประชุมครั้งสุดท้าย หัวหน้าฝ่ายพลเรือน หลวงสินธุ์ฯ และหลวงพิบูลฯ ต้อง ของการทราบอย่างแน่นอนว่าผู้อํานวยการฝ่ายทหารได้มีกําลังอยู่ในกํามือไว้แล้วเท่าใด เป็นทหารกรมไหนบ้าง ผู้อํานวยการฝ่ายทหารได้แจ้งความจริงให้ทราบว่ายังไม่มีอะไร นอกจากกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 แต่ในวันปฏิวัติซึ่งกําหนดวันที่ 24 จะต้องได้ทหารในกรุงเทพฯ ทั้งหมด เมื่อถูกทักได้ว่าจะได้มา อย่างไรและจะทําอย่างไร ผู้อํานวยการฝ่ายทหารไม่ยอมบอกว่าจะได้มาด้วยวิธีใด จะทําอย่างไร เป็นแต่ขอให้หัวหน้าต่างๆ นําลูกน้องของตัวมาในวันที่ 24 เวลา 05.00 น. ที่ตรงการรถไฟตัดถนนห่างจากบ้านพระยาทรงฯ ประมาณ 200 เมตร ส่วนทหารเรือไม่ต้องมา ให้หลวงสินธุ์ฯ นําทหารเรือทั้งนายและพลทหารเท่าที่จะรวมได้ มีกระสุนพร้อม มาถึงหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า เวลา 06.00 น. ตรง ทหารบกทั้งหมดจะไปถึงที่นั้นตามกําหนดเวลานี้ ส่วนพวกพลเรือนให้แบ่งแยกไปคุมตามวังเจ้าที่สําคัญ ๆ ไว้อย่าให้เล็ดลอดออกมาปฏิบัติการใด ๆ โดยเราไม่รู้

ประการที่ 6

นักศึกษาเห็นว่าคําอ้างของพล.ท.ประยูรฯ ดังกล่าวข้างบนนั้นสมานกับคําอ้างของสํานักพิมพ์บรรณกิจที่เขียนไว้ภายใต้หัวเรื่อง “จากสํานักพิมพ์” (ซึ่งคณะกรรมการฯ ดังกล่าวเห็นว่าเป็นสารคดี) มีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

“...พลโท ประยูร ภมรมนตรี ซึ่งท่านมีบทบาทสําคัญมากในการดําเนินการปกครองจากระบอบ "ราชาธิปไตยมาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยเป็นผู้ริเริ่มคิดเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองครั้งนี้ขึ้นเมื่อสมัยอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้พยายามชักจูงเพื่อนร่วมคิดมิตรร่วมใจทีละคนทีละเหล่าตามลําดับ จนกระทั่งการเปลี่ยนการปกครองได้ประสบความสําเร็จ”

ทั้งนี้ท่านผู้นี้และท่านผู้สนับสนุนแสดงให้ผู้อ่านข้อความของ พล.ท.ประยูรฯ หลงเชื่อว่าขณะที่นายพลผู้นี้เป็น ร.ท.กองหนุนนั้นได้ "ริเริ่มคิดเปลี่ยนระบบปกครอง" และหลงเชื่อว่าผู้ก่อการคนอื่นๆ รวมทั้งพระยาพหลฯ, พระยาทรงฯ, พระยาฤทธิ์, หลวงพิบูลฯ, หลวงสินธุ์ฯ, ปรีดี และอีกหลายคนนั้นมิได้มีความคิดเปลี่ยนการปกครองสมบูรณาญาฯ มาก่อน ร.ท.ประยูรฯ และหลงเชื่อว่าผู้ก่อการฯ คนอื่นๆ ที่แม้จะได้ศึกษาในยุโรปเห็นระบบราชาธิปไตยก่อน ร.ท.ประยูรฯ หลายปีนั้นก็ยังโง่เขลาเบาปัญญาอยู่ จนกระทั่ง ร.ท.ประยูรฯ ซึ่งเป็นมหาดเล็กคนโปรดของรัชกาลที่ 6 (ตามที่พล.ท.ประยูรฯ อ้างไว้เอง) และเพิ่งไปถึงปารีสใน พ.ศ. 2467 เริ่มเรียนภาษาฝรั่งเศสได้ไม่กี่สัปดาห์โดยยังมิได้เข้าศึกษา ณ โรงเรียนรัฐศาสตร์นั้นได้ชักชวนเปลี่ยนการปกครองขึ้น และหลงเชื่อข้อความที่ พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ในหนังสือหน้า 128 - 129 หัวเรื่อง “ส่วนที่มาสมัครตอนหลัง” นั้นมีชื่อ พ.ท.พระยาทรงสุรเดช และ พ.ท.พระศรีสิทธิสงคราม (ผู้นี้ พล.ท.ประยูรฯ ได้เขียนไว้ในวงเล็บว่า “ต่อมาขอถอนตัว”) นั้นซึ่งแสดงว่าพระยาทรงฯ ก็สมัครที่ ร.ท.ประยูรฯ เพื่อร่วมเปลี่ยนการปกครอง

5.2.

คําชี้แจงของข้าพเจ้า (ปรีดี) เพิ่มเติมจากกาวิเคราะห์วิจารณ์ของนักศึกษา

ประการที่ 7

ขณะที่ผู้ก่อการฯ ก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีสยังมิได้สมานเป็นคณะเดียวกัน กับคณะของพระยาพหลฯ, พระยาทรงฯ, พระยาฤทธิ์ฯ, พระประศาสน์ นั้น ต่างคณะก็มีหัวหน้าของตนตามกฎธรรมชาติซึ่งนักศึกษาได้กล่าวไว้ถูกต้องแล้วในประการที่ 1 คือบุคคลหลายคนร่วมกันประกอบกิจกรรมนั้นก็ต้องมีคนหนึ่งเป็นหัวหน้า แม้แต่สัตวชาติที่ประกอบกันเป็นฝูงนั้นก็ต้องมีหัวหน้าฝูง บุคคลใดที่ร่วมกันหลายคนเพื่อปฏิบัติการเปลี่ยนระบบปกครองนั้นถ้าไม่ยอมให้มีเพื่อนคนใดเป็นหัวหน้าคณะหรือหัวหน้ากลุ่มไซร้ บุคคลนั้นก็เป็นพวก “อนาธิปัตย์” (ANARCHY) มิใช่คนที่มีทรรศนะประชาธิปไตยสิ่งต้องมีหัวหน้าเพื่อการนั้น

ประการที่ 8

พล.ท.ประยูรฯ ได้เขียนไว้ในหนังสือของท่านหลายแห่งที่ปฏิเสธมติของผู้ก่อตั้งคณะราษฎรจํานวนเสียงข้างมากที่กรุงปารีสว่ามิได้ตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าคณะชั่วคราวจนกว่าจะหาผู้ที่เหมาะสมกว่านั้นได้ แต่อย่างไรก็ตามพระยาทรงฯ ก็ได้เขียนบันทึกกล่าวถึงความจริงว่า 1.พวกเรียนมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นหัวหน้า 2.พวกทหารเรือมีนายนาวาตรีหลวงสินธุสงครามชัย 3.พวกทหารบกชั้นยศน้อยมีนายพันตรีหลวงพิบูลสงครามเป็นหัวหน้า 4.พวกนายทหารชั้นยศสูง มีนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเนย์ พระประศาสน์พิทยายุทธ (ดูหนังสือบันทึกพระยาทรงฯ หน้า 22-24)

ประการที่ 9

เมื่อผู้ก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีสซึ่งข้าพเจ้าได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกส่วนมากให้เป็นหัวหน้าคณะฯ ชั่วคราวนั้นพร้อมด้วยหลวงพิบูลฯ และหลวงสินธุ์ฯ ได้ตกลงสมานกับคณะของพระยาทรงฯ, พระยาพหลฯ, พระยาฤทธิ์, พระประศาสน์ฯ, เป็นคณะ (พรรค) ราษฎรอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ข้าพเจ้ากับบุคคลชั้นนําดังกล่าวได้เห็นชอบพร้อมกันเชิญพระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าคณะราษฎร ตั้งแต่เดือนเมษายน 2475 มิใช่เพิ่งตั้งพระยาพหลฯ เป็นผู้ทำการยึดอำนาจรัฐ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้นเองตามที่พล.ท.ประยูรฯ อ้างไว้ ผู้มีสติสัมปชัญญะก็ย่อมทราบว่าถ้าไม่ตั้งพระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าคณะก่อนลงมือปฏิบัติการเนิ่นๆ แล้ว พระยาพหลฯ จะเตรียมตัวทําการยึดอํานาจรัฐและปฏิบัติการในฐานะเป็นหัวหน้าคณะราษฎรได้อย่างไร การอภิวัฒน์ (REVOLUTION) ของคณะราษฎรก็จะไม่มีทางเป็นไปได้

ประการที่ 10

ทุกคณะทุกพรรคทุกขบวนการที่ต่อสู้ทางอาวุธแบบ “รัฐประหาร” นั้นต้องเตรียมกระทําการอันเป็นการลับ จึงมิอาจเรียกประชุมสมาชิกของคณะประชุมกันเปิดเผยเหมือนในยามปกติ ฉนั้นหัวหน้าคณะแต่ละฝ่ายซึ่งได้รับความมอบหมายจากผู้ก่อการฯ ฝ่ายของตนจึงได้ตกลงกันเป็นการลับเชิญพระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าคณะราษฎร

ขอให้สมาชิกคณะราษฎรทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้ (ยกเว้นพล.ท.ประยูรฯ) ได้โปรดแจ้งแก่ท่านที่ปรารถนาสัจจะด้วยว่าแม้ระหว่างเตรียมการยึดอํานาจปกครองนั้น ท่านจะมิได้ทราบถึงการมีมติเชิญให้พระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าคณะราษฎรก็ดี แต่เมื่อปรากฏเปิดเผยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ว่าพระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าคณะราษฎรแล้ว ท่านต้อนรับให้สัตยาบันว่าพระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าคณะราษฎรหรือไม่ และท่านยังคงเคารพนับถือตลอดมาว่า พระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าคณะราษฎรแม้ว่าพระยาพหลฯ ได้วายชนม์ไปแล้วนั้นหรือไม่

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำศัพท์ การเว้นวรรค และเลขไทยตามเอกสารต้นฉบับ

บรรณานุกรม

หลักฐานชั้นต้น :

  • ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :