ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

การจัดตั้งขบวนการต่อต้านแสนยานิยมญี่ปุ่น

20
สิงหาคม
2567

 

Focus

  • เหตุการณ์หลังญี่ปุ่นบุกไทย 8 ธันวาคม 2484 นำไปสู่การรวมตัวกันของบุคคลผู้รักชาติ และการจัดตั้งขบวนการเสรีไทย
  • บทความนี้มาจากบันทึกลายมือเรื่องโมฆสงครามของนายปรีดี โดยนายปรีดีได้นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งขบวนการเสรีไทย และผนวกกับข้อมูลของบุคคลที่ร่วมเหตุการณ์รวมไปถึงหลักฐานชั้นต้น

 


คณะรัฐมนตรีช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484

 

-1-

ระหว่างเดินทางจากตึกคณะรัฐมนตรีกลับบ้านเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ข้าพเจ้ามีความรู้สึกเช่นเดียวกับนายทวี บุณยเกตุและรัฐมนตรีที่ไม่เข้าข้างฝ่ายญี่ปุ่นว่า “กลับบ้านด้วยความรันทดใจเป็นอย่างยิ่ง ชนิดที่เกิดมาในชีวิตไม่เคยมีความรู้สึกเช่นนี้มาก่อนเลย”

ข้าพเจ้าสังเกต 2 ข้างทางที่รถยนต์ของข้าพเจ้าผ่านไปนั้น เห็นหน้าราษฎรไทยที่เริ่มรู้ว่า ญี่ปุ่นบุกประเทศชาติเข้ามาหลายทางแล้ว แสดงออกถึงความรันทดใจดุจเดียวกับข้าพเจ้าและเพื่อนรัฐมนตรี

ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ราษฎรไทยผู้รักชาติอีกจำนวนมหาศาลที่ต่อไปจะรู้ว่าชาติตกอยู่ภายใต้แสนยานิยมญี่ปุ่นแล้ว ก็ย่อมมีความรู้สึกเช่นเดียวกับข้าพเจ้าและราษฎรที่ข้าพเจ้าแลเห็นตามระยะทางนั้น แต่เราจะปล่อยอารมณ์รันทดใจคอยให้สวรรค์มาโปรดนั้นไม่ได้ เราจำต้องเปลี่ยนอารมณ์นั้นให้เป็นอารมณ์เข้มแข็งคิดต่อสู้ผู้รุกรานที่ละเมิดอธิปไตยของชาติ เพื่อให้ชาติได้คืนความเป็นเอกราชและบูรณภาพอย่างสมบูรณ์ที่บรรพบุรุษและคณะราษฎรได้เจริญรอยตามรับใช้มวลราษฎรมาจนเป็นผล

แต่ในระหว่างเวลาซึ่งเปรียบเหมือน “หน้าสิ่วหน้าขวาน” เช่นนี้ เราที่อยู่ภายในประเทศไทยตกอยู่ในความสอดส่องของญี่ปุ่นและพวกในรัฐบาลที่เข้าข้างญี่ปุ่น ฉะนั้นต้องทำการด้วยความระมัดระวัง ไม่อาจทำโดยวิธีเชิญคนเดินขบวนคัดค้านไปตามถนน ซึ่งจะถูกปราบปรามประดุจที่ฝ่ายศัตรูถือว่า “ตัดต้นไฟแต่หัวลม”

แม้ว่ามวลราษฎรผู้รักชาติเป็นพลังมหาศาลในการต่อต้านผู้ละเมิดอธิปไตยของชาติ แต่เราก็จะต้องริเริ่มให้มีขบวนการที่ทำหน้าที่เป็นกองหน้า (Vanguard) ของมวลราษฎร โดยตั้งต้นจากน้อยไปสู่มาก

 

-2-

เมื่อข้าพเจ้ากลับถึงบ้านแล้วได้ปรารภกับภรรยาถึงความดำริของข้าพเจ้าที่จะเจริญรอยตามพระยาตากสิน ที่เมื่อเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาจะเป็นอันตราย ก็ได้นำทหารอาสาไทยจีนแหวกวงล้อมของพม่าออกไปจัดตั้งราษฎรไทยในหัวเมือง เป็นกองกำลังเพื่อกู้อิสรภาพของชาติไทย ข้าพเจ้าได้ดำริที่จะชวนผู้รักชาติออกจากกรุงเทพฯ ไปตั้งรัฐบาลเสรีของชาติไทยขึ้นในภาคพายัพ ซึ่งขณะนั้น แนวหลังยังสามารถยันกับพม่าที่อังกฤษยังครองอยู่ ส่วนภาคอีสานกับตะวันออกนั้น อยู่ติดกับอินโดจีนที่ฝ่ายญี่ปุ่นยึดครอง ทางภาคใต้ก็ติดกับมลายูที่ฝ่ายญี่ปุ่นกำลังยาตราทัพไปทางนั้น เพื่อให้รัฐบาลเสรีของไทยมีสภาพถูกต้องตามกฎหมาย ข้าพเจ้าดำริชักชวนรัฐมนตรีที่ไม่ใช่พวกญี่ปุ่นและผู้แทนราษฎรร่วมกันไปจัดตั้งเป็นรัฐบาลเสรีขึ้น

ภรรยาข้าพเจ้าเห็นด้วยในความดำรินั้น ข้าพเจ้าจึงให้เขาโทรศัพท์เชิญมิตรบางคนมาที่บ้าน ส่วนบางคนเมื่อได้ข่าวญี่ปุ่นรุกรานก็มาหาข้าพเจ้าเองเพื่อถามว่า เราจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ชาติได้คืนความเป็นเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ เท่าที่จำได้ว่ามีผู้มาที่บ้านข้าพเจ้าในบ่ายและค่ำวันนั้น คือ นายจำกัด พลางกูร, นายทวี ตะเวทิกุล, นายสงวน ตุลารักษ์, นายชาญ บุนนาค,หลวงบรรณกรโกวิท, นายเตียง ศิริขันธ์, ม.ล.กรี เดชาดิวงศ์ (หลวงเดชาติวงศ์ฯ), นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร วันต่อๆ มาก็มีผู้มาหามากขึ้น อาทิ นายวิจิตร ลุลิตานนท์, นายสงวน จูทะเตมีย์ (หลวงนฤเบศร์ฯ), ร.ต.อ. เชื้อ สุวรรณศร, นายถวิล อุดล, นายจำลอง ดาวเรือง, นายทวี บุณยเกตุ, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายพึ่ง ศรีจันทร์, นายทอง กันทาธรรม, นายสนิท ผิวนวล, นายเยื้อน พานิชวิทย์, พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพ ฯลฯ (ยังมีผู้อื่นที่มาพบข้าพเจ้าในระยะแรกซึ่งข้าพเจ้าจำชื่อไม่ได้ขณะเขียนหนังสือเล่มนี้ จึงขอท่านเหล่านั้นโปรดให้อภัยด้วย) ทุกคนได้ปวารณาเสียสละเพื่อรับใช้ชาติและเข้าใจกันโดยจิตสำนึกอยู่แล้วถึงการรักษาความลับอย่างเข้มงวด ซึ่งแต่ละคนพึงรู้เฉพาะงานที่รับมอบหมาย ดั่งที่ นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล ได้เขียนไว้ในจดหมายถึง นายสุพจน์ ด่านตระกูล เมื่อไม่นานมานี้ว่า

“..... โดยเฉพาะเรื่องตอนที่ท่าน (ข้าพเจ้า-นายปรีดี) ทำเสรีไทย ผมเชื่อแน่ว่าไม่มีผู้ใดในประเทศไทยที่จะรู้โดยละเอียดถี่ถ้วนนอกจากตัวท่านปรีดีเองเพราะในระหว่างที่ปฏิบัติงานเสรีไทยนั้น ถือเป็นหลักสำคัญยิ่งยวดว่า ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งเลยที่จะรู้ว่า อีกคนหนึ่งมีหน้าที่ได้รับมอบหมายอย่างใด จะมีก็แต่ท่านปรีดีเท่านั้นที่รู้หมด”

ทั้งนี้เป็นความจริงสำหรับงานหลักการใหญ่ที่รวมศูนย์อยู่ที่ข้าพเจ้า แต่งานสายย่อยหน่วยย่อยนั้น ข้าพเจ้าไม่มีเวลาพอตรวจถึงรายละเอียด เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 อันเป็นวันประกาศสันติภาพเลิกสถานะสงครามกับพันธมิตรนั้น จำนวนสมาชิกขบวนการเสรีไทยที่เป็นกองหน้าของปวงชนมีประมาณ 80,000 คน

 

-3-

วิธีเดินทางไปภาคพายัพนั้น ข้าพเจ้าปรึกษา ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ (หลวงเดชาติวงศ์) ซึ่งพร้อมร่วมมือในการจัดตั้งรัฐบาลเสรีของไทย ม.ล.กรีเป็นคนหนึ่งที่รู้ภูมิประเทศภาคพายัพดี และเป็นอธิบดีกรมทางในขณะนั้นด้วย แต่ทางที่จากกรุงเทพฯ ไปภาคเหนือขณะนั้น มีเพียงถึงลพบุรีเท่านั้น จึงสมควรพากันไปโดยทางรถไฟ ข้าพเจ้าจึงให้ภรรยาไปพบผู้อำนวยการเดินรถไฟ ขอจองที่นั่งสำหรับขบวนที่จะไปเชียงใหม่ในเที่ยวแรกที่จะมาถึง ฝ่ายการเดินรถไฟแจ้งว่า เวลานั้นการจองที่นั่งรถไฟไม่ได้ผล เพราะผู้คนแตกตื่นถึงกับปีนป่ายหน้าต่างรถไฟโดยไม่คำนึงว่ามีผู้จองที่นั่งไว้ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงปรึกษา ม.ล.กรี ซึ่งเห็นว่าควรที่เราจะไปทางแม่น้ำถึงปากน้ำโพก่อน ขณะปรึกษากันอยู่นั้น พ.อ.กาจ กาจสงคราม ขอพบข้าพเจ้า เสนอชวนข้าพเจ้าให้เดินทางไปพม่าทางกาญจนบุรี โดย พ.อ.กาจบอกว่า เขาสามารถตกลงกับทหารบางกองพันยอมให้ทหาร 1 กองร้อยเดินทางคุ้มกันไปด้วย ขณะนั้นข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นข้อเสนอที่น่ารับฟัง เพราะเขามีลูกอยู่ในสหรัฐอเมริกาขณะนั้นถึง 3 คน (ข้าพเจ้าคาดคิดไม่ถึงว่าภายหลังสงคราม พ.อ.กาจฯ ได้เรียกร้องเงินจำนวน 150,000 บาท อ้างว่าได้ใช้จ่ายไปในการไปจุงกิง ที่เขาไปเองโดยข้าพเจ้ามิได้สั่งการให้ไป ดั่งปรากฏในรายงานของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งข้าพเจ้านำมาลงพิมพ์ไว้ในบันทึกเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเสรีไทย นักประวัติศาสตร์ในอนาคตที่จะเขียนประวัติศาสตร์ชาติไทย ขอให้ค้นคว้าว่า ต่อมาผู้นี้ได้ดำเนินการอย่างใดต่อไปอีกบ้าง)

ข้าพเจ้าบอกเขาว่า เรามีความประสงค์จัดตั้งรัฐบาลเสรีของไทยในภาคพายัพ ขอให้เขาเอาเรือยนต์รีบออกเดินทางไปปากน้ำโพ หาทางติดต่อกับกองทหารที่นั่น ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่ามีผู้รักชาติ เพื่อขอให้ร่วมมือช่วยยืดชุมทางปากน้ำโพไว้ สกัดกั้นมิให้ทหารญี่ปุ่นเคลื่อนไปสู่ภาคพายัพ อีก 2 วันต่อมา พ.อ.กาจกลับมารายงานว่าทหารญี่ปุ่นได้คุมชุมทางรถไฟและทางน้ำที่ปากน้ำโพไว้แล้ว

ข้าพเจ้าจึงระงับแผนการตั้งรัฐบาลเสรีของไทยในภาคพายัพไว้ชั่วคราว โดยขอให้มิตรที่ปวารณารับใช้ชาติจัดตั้งหน่วยลับเป็นการริเริ่มขบวนการต่อต้านแสนยานิยมญี่ปุ่นผู้รุกรานไว้

 

-4-

อีก 2-3 วันต่อมาข้าพเจ้าได้รับฟังวิทยุสัมพันธมิตรทราบข่าวด้วยความยินดีว่า คนไทยในสหรัฐอเมริกาและในอังกฤษได้จัดตั้งเป็น “เสรีไทย” ขึ้น ซึ่งข้าพเจ้ามีความหวังว่า ขบวนการต่อต้านภายในประเทศจะได้มีโอกาสร่วมมือกับขบวนการของคนไทยในต่างประเทศ ซึ่งมีอุดมคติตรงกันในการอุทิศตนเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติให้คงคืนบริบูรณ์

ต่อมา ข้าพเจ้าได้ส่งตัวแทนบุกป่าฝ่าดงเดินทางบกไปนครจุงกิง เมืองหลวงประเทศจีน ระหว่างสงครามเพื่อเจรจากับผู้แทนสัมพันธมิตรที่นั้น และบางคณะสามารถเดินทางต่อไปได้ถึงอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ส่วนเสรีไทยจากอังกฤษและอเมริกาได้กระโดดร่มลงในประเทศไทยบ้าง บุกป่าฝ่าดงเข้ามาถึงประเทศไทยบ้าง ผู้รักชาติไทยภายในประเทศและจากต่างประเทศก็ได้สมานกันเป็นขบวนเดียวกัน มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทยว่า “ขบวนการเสรีไทย” ส่วนในภาษาอังกฤษนั้นฝ่ายอังกฤษเรียกว่า “Free Siamese Movement” ฝ่ายอเมริกันอนุโลมตามชื่อใหม่ของประเทศว่า “Free Thai Movement”

ข้าพเจ้าได้ต้อนรับผู้รักชาติภายในและภายนอกประเทศทุกคน ไม่ว่ามีเหล่ากำเนิดศาสนาใดหรือจะมีฐานันดรอย่างไร หรือจะเคยมีความบาดหมางในทางการเมืองมาก่อนอย่างใด แต่เมื่อมีอุดมคติตรงกันที่จะพลีชีวิตเพื่อชาติในการต่อสู้แสนยานิยมญี่ปุ่นเพื่อให้ชาติไทยได้มีเอกราชและอธิปไตยพร้อมด้วยบูรณภาพแห่งดินแดนอย่างสมบูรณ์แล้ว เราก็ร่วมมือกันได้

 


นายป๋วย อึ๊งภากรณ์

 

นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในบทความ “พระบรมวงศานุวงศ์และขบวนการเสรีไทย” ซึ่งได้พิมพ์ในนิตยสารหลายฉบับ ข้าพเจ้าจะได้นำบทความนั้นมาลงพิมพ์ไว้ด้วยในบทที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้[1]

วีรกรรมของเพื่อนเสรีไทยทุกคนที่สิ้นชีพไปแล้วก็ดี กำลังป่วยกระเสาะกระแสะอยู่ในขณะนี้ก็ดี ยังมีสุขภาพดีอยู่ในขณะนี้ก็ดีนั้น มีเรื่องมากมายที่บางคนได้เขียนบันทึกไว้ แต่บางคนก็มิได้เขียน ข้าพเจ้าขอร้องให้ทุกคนบันทึกไว้เพื่อว่า ถ้ามีโอกาสจะได้รวบรวมพิมพ์เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งอันเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเสรีไทยโดยเฉพาะ สำหรับข้าพเจ้าซึ่งเป็นศูนย์รวมนั้นข้าพเจ้าจะกล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้เพียงแนวทางทั่วไป เพื่อให้พอเหมาะแก่หนังสือเล่มนี้ที่ให้ชื่อว่า “โมฆสงคราม” ขอให้เพื่อนเสรีไทยนิรนามที่ไม่มีชื่ออ้างไว้ในหนังสือเล่มนี้เข้าใจว่า ข้าพเจ้าถือว่าท่านได้มีส่วนร่วมในความสำเร็จนั้น พร้อมทั้งผู้ที่ข้าพเจ้าอ้างชื่อไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย

 

-5-

 


นายปรีดี พนมยงค์ ประชุมก่อตั้งขบวนการเสรีไทยในทำเนียบท่าช้าง

 

ข้าพเจ้าถือว่า ขบวนการเสรีไทยเป็นแต่เพียงกองหน้า (Vanguard) ของปวงชนชาวไทยผู้รักชาติเท่านั้น ดั่งที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในสุนทรพจน์ในการชุมนุมเสรีไทยเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488 มีความตอนหนึ่งว่าดั่งนี้

“ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง ซึ่งแม้ผู้ที่จะไม่ได้ร่วมในองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ 17 ล้านคนที่ได้กระทำโดยอิสระของตนในการต่อต้านด้วยวิถีทางที่เขาเหล่านั้นสามารถทำได้หรือเอากำลังใจช่วยขับไล่ให้ญี่ปุ่นพ้นไปจากประเทศไทยโดยเร็วก็มี หรือแม้แต่คนไทยที่นิ่งอยู่โดยไม่ทำการขัดขวางผู้ต่อต้านญี่ปุ่นหรือผู้รับใช้ชาติ ซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้รับใช้ชาติทำงานได้สะดวก ฯลฯ เป็นต้น

คนไทยทั้งปวงเหล่านี้ทุกคนร่วมกันทำการกู้ชาติของตนด้วยกันทั้งนั้น ส่วนผู้ที่คอยขัดขวางการต่อต้านของผู้รับใช้ชาติจะเป็นโดยทางกายทางวาจา หรือทางใจนั้นก็มีบ้างเล็กน้อยเป็นธรรมดา แต่เขาเหล่านั้นในทางพฤตินัยไม่ใช่คนไทยเพราะการกระทำของเขาเหล่านั้นไม่ใช่การกระทำของคนที่เป็นคนไทย เขามีสัญชาติไทยแต่เพียงโดยนิตินัย คือ เป็นคนไทยเพราะถูกกฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น”

ดังนี้จะเห็นได้ว่า ขบวนการเสรีไทยมิได้ผูกขาดการกู้ชาติไว้เฉพาะสมาชิกในขบวนการเท่านั้น แม้ผู้ต่อต้านโดยลำพังตนเอง ผู้เอาใจช่วย ผู้นิ่งไม่คัดด้านการต่อต้าน ก็ถือว่ามีส่วนร่วมในการกู้ชาติ ทั้งนี้ก็บังเอิญตรงกับที่เมื่อ 2-3 ปี มานี้เอง ประธานาธิบดีนิกสันได้คิดศัพท์ใหม่ขึ้นเพื่อเรียกผู้ที่ตนถือว่าสนับสนุนตนอย่างเงียบๆ โดยไม่ออกเสียงคัดค้านว่า เป็น “เสียงข้างมากอย่างเงียบ” “Silent Majority”

แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับเกียรติยกองจากเพื่อนเสรีไทยว่า ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้า แต่ผู้บัญชาการสูงสุดในการกู้ชาติไทยคือ “ปวงชนชาวไทย” ข้าพเจ้าถือเอาเจตนารมณ์ของผู้บัญชาการสูงสุดนี้ เป็นคำสั่งสูงสุดให้ข้าพเจ้าและขบวนการเสรีไทยปฏิบัติการเพื่อให้ชาติได้เอกราชและอธิปไตยพร้อมด้วยบูรณภาพแห่งดินแดนกลับคืนมาอย่างสมบูรณ์เหมือนสภาพก่อนสถานะสงคราม

 

-6-

โดยความเสียสละส่วนตัวเพื่อประเทศชาติ และการมีวินัยด้วยจิตสำนึกเสรีไทยจึงได้ร่วมมือกันฝ่าฟันอุปสรรคนานาประการ โดยเสี่ยงภยันตรายที่มารอบด้าน ทั้งทางด้านญี่ปุ่นที่สอดส่องอย่างเข้มงวด และทางด้านรัฐบาลไทยระหว่างที่จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ เสี่ยงภัยในการบุกป่าฝาดงของเสรีไทยภายในประเทศไปต่างประเทศเพื่อติดต่อกับสัมพันธมิตรและเสรีไทยนอกประเทศ เสี่ยงภัยของเสรีไทยจากนอกประเทศเข้ามาติดต่อกับเสรีไทยภายในประเทศ การเจรจาลับกับสัมพันธมิตรเพื่อรับรองขบวนการเสรีไทยและรัฐบาลเสรีของชาติไทยที่จะตั้งขึ้นว่าเป็นตัวแทนแท้จริงของชาติไทยที่จะลบล้างการกระทำของจอมพล ป.ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสัมพันธมิตร อันจะช่วยให้สัมพันธมิตรถือว่าชาติไทยไม่เป็นศัตรู และยอมรับรองความเป็นเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดนของชาติไทยเหมือนที่เป็นอยู่เมื่อก่อนมีสถานะสงครามกับสัมพันธมิตร

 


ประกาศสันติภาพ

 

ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 อันเป็นวันประกาศสันติภาพนั้นจำนวนเสรีไทยมีประมาณ 80,000 คน แบ่งออกเป็นหน่วยใหญ่ได้ดั่งต่อไปนี้

  • (1) กองบัญชาการ
  • (2) หน่วยค่ายอเมริกัน
  • (3) หน่วยค่ายอังกฤษ
  • (4) หน่วยช่วยเหลือเสรีจีน
  • (5) หน่วยชลบุรี
  • (6) หน่วยเพชรบุรี - กาญจนบุรี - สุพรรณบุรี
  • (7) หน่วยสกลนคร
  • (8) หน่วยอีสาน
  • (9) หน่วยโคราช
  • (10) หน่วยสุโขทัย-อุตรดิตถ์-ตาก
  • (11) หน่วยแพร่และพายัพ
  • (12) หน่วยปราจีน-ฉะเชิงเทรา
  • (13) หน่วยอยุธยา-อ่างทอง
  • (14) หน่วยอุบล
  • (15) หน่วยกระทุ่มแบน
  • (16) หน่วยนครปฐม
  • (17) หน่วยศุลกากร
  • (18) หน่วยมหาดไทย
  • (19) หน่วยตำรวจ (หน่วยชุมพรขึ้นอยู่กับหน่วยตำรวจ)
  • (20) หน่วยทหาร
  • (21) หน่วยต่างประเทศ
  • ฯลฯ

 

-7-

ค่าใช้จ่ายนั้นในระหว่างที่จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ เสรีไทยแต่ละคนภายในประเทศ ได้ออกเงินส่วนตัวของตนเองเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นธรรมดาที่ข้าพเจ้าซึ่งเป็นหัวหน้า ต้องรับผิดชอบโดยขอให้ภรรยาข้าพเจ้าช่วยจ่ายเงินให้ นอกจากนั้นได้รับความช่วยเหลือจากนายหลุยส์ พนมยงค์ บ้าง

ฝ่ายสัมพันธมิตรได้แจ้งมาว่า พร้อมที่จะออกเงินช่วยค่าใช้จ่าย แต่เราปฏิเสธเด็ดขาด ไม่ขอรับเงินจากสัมพันธมิตรเลย เราขอเสียสละเองคนละเล็กคนละน้อย ถ้าไม่พอก็จะขอเบิกเงินที่รัฐบาลไทย ฝากไว้ในประเทศสัมพันธมิตรที่กักไว้ แต่เราก็ขอมาเพียงเล็กน้อยเท่าที่จำเป็น ดั่งปรากฏในรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรอันประกอบด้วยท่านที่เคยดำรงตำแหน่งสูงทางตุลาการคือ พระยาเทพวิทูรฯ อดีตอธิบดีศาลฎีกาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, พระยานลราชสุวัจน์ อดีตกรรมการศาลฎีกาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, พระยาวิกรมรัตนสุภาษ อดีตอธิบดีศาลฎีกา, พระยานิติศาสตร์ไพศาล อดีตอธิบดีศาลอาญา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, นายพิชาญ บุลยง (เรอเน กียอง) ที่ปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งสอบสวนสะสางทรัพย์สินของชาติซึ่งคณะเสรีไทยได้ใช้จ่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ ดังที่ข้าพเจ้าได้นำรายงานของคณะกรรมาธิการนี้มาพิมพ์ไว้ท้ายหนังสือเล่มนี้ด้วย ปรากฏยอดสรุปว่า ขบวนการเสรีไทยภายในประเทศได้เบิกเงินของรัฐบาลไทยที่ฝากไว้ต่างประเทศเป็นเงินสหรัฐอเมริกาจำนวน 63,124 เหรียญกับ 18 เซ็นต์ และเบิกเงินบาทในสมัยรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์จากงบช่วยประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อรวมกับเงินอีก 500,000 เหรียญที่ทางสถานทูตไทยในวอชิงตันจ่ายไปด้วยแล้วคิดเป็นเงินที่ขบวนการเสรีไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศจ่ายจากเงินของชาติไทย 8,867,983 บาทกับ 87 สตางค์

 

-8-

 


วันสวนสนามเสรีไทย 25 กันยายน 2488 โดยนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าพลพรรคเสรีไทยในประเทศ เป็นประธานฯ และดำเนินการกล่าวสุนทรพจน์ ‘รู้ธ’

 

(1) อาจยังมีผู้ไม่เข้าใจว่า ขบวนการเสรีไทยที่จัดตั้งผู้รักชาติไว้เป็นจำนวนประมาณถึง 80,000 คน เหตุใดไม่เปิดฉากการรบให้เด็ดขาดไป ข้าพเจ้าขอชี้แจงว่า เป็นความประสงค์ของเสรีไทยส่วนมากที่อยากจับอาวุธขึ้นสู้ญี่ปุ่นโดยเร็วที่สุดที่จะเป็นได้ แต่การทำงานครั้งนี้ เราต้องสมานกับแผนการรบของสัมพันธมิตรที่กำชับเราเป็นหนักหนาว่า ให้ประคองรักษากำลังไว้ให้ดี อย่าด่วนทำการก่อนที่สัมพันธมิตรจะพร้อมยกพลขึ้นบกชายฝั่งไทย มิฉะนั้นแล้วกำลังของขบวนการเสรีไทยจะถูกทหารญี่ปุ่นที่มีแสนยานุภาพเหนือกว่าทำลายได้ แต่เมื่อข้าพเจ้าเห็นว่าถ้าขืนรอต่อไปความลับก็ไม่อาจรักษาไว้ได้ เนื่องจากขบวนการของเราได้ขยายกำลังมีจำนวนมากมาย ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นทราบวี่แววแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ส่งโทรเลขลับไปถึงสัมพันธมิตร แจ้งว่าขบวนการเสรีไทยพร้อมเสียสละที่จะลงมือต่อสู้ ขอให้สัมพันธมิตรแถลงรับรองความเป็นเอกราชของชาติไทย ดั่งปรากฏในสำเนาโทรเลข ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันได้พิมพ์เป็นเอกสารทางการเปิดเผยแล้ว ดั่งต่อไปนี้ (ส.ร.อ.เรียกกระทรวงต่างประเทศของเขาว่า “State Department”, เรียกรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศว่า “Secretary of State”)

 

SIAM

740.0011 P.W.15-2945

Memorandum Prepared in the Department of State

[Washington,] May 28, 1945.

The following message for the Secretary of State from Ruth was received by the Department of State on May 21, 1945 :

“Thai Resistance Movement, in all its dealings, has continually adhered to the advice of American representatives not to take any premature action against the enemy. But at this time, I believe the Japs desire to fight can be weakened if the Resistance Movement no longer tries to remain under cover. The Japs will be more quickly forced to surrender unconditionally to the Allies because of the fear of the dissolution of the so-called co-prosperity sphere. Nevertheless, we were advised that the Resistance Movement should attempt to block every effort of the Japs for assistance from Thailand. We have followed this line as closely as possible, but you realize the Japs are becoming more suspicious all the time. Not long ago the Thai Government would not accede to a Jap demand for an additional credit of 100,000,000 bahts. I have been informed by the present government that they will not remain in office if the Japs persist in this matter. In that event, a new government would have to be installed and it would have to take action against the Japs by first ordering void all debts and agreements the Pibul regime had contracted with the Japs, including the treaty on the incorporation of four states in Malaya and Shan State [s] into Thailand, as well as declaration of war against England and the United States. The basis of relations between these two nations and Thailand will to us [have to ?] be set up as they were prior to Pearl Harbor. Before going ahead with this plan I want to keep you advised of the current situation. Although I am positive that the U.S. has good intentions concerning the independence of Thailand and that they have deep regard for the Thais themselves. I believe if the U.S., on the day of the beginning of our action, would declare her respect of Thailand’s independence and state that she regards Thailand as a member of the United Nations and not as an enemy, it would greatly encourage the Thai people who are already prepared for any sacrifice. I have also advised the Supreme Commander, SEAC, of this whole matter.”

 

(2) มิสเตอร์กรูว์ (อดีตเอกอัครรัฐทูตอเมริกันประจำโตเกียว) ซึ่งเป็นผู้รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้ส่งโทรเลขลับตอบข้าพเจ้า ดังต่อไปนี้

 

The following reply was sent on May 28, 1945:*

“Your message to the Secretary is deeply appreciated.

“We understand your desire that Thailand actively oppose the enemy as soon as possible. We are sure you realize, however, that all opposition to our common enemy must be coordinated with the over-all strategy against Japan and that it would be unfortunate if the Thai prematurely and before reasonably assured of success should commence overt action which was not integrated with the strategic plans of SACSEA. We hope, therefore, you will continue your endeavours to prevent premature overt action by resistance movement or action which would precipitate taking over of Thai Government by the Japanese. We are confident you will keep us and the British fully informed should either development become imminent despite your efforts.

"The sincere desire of yourself and the Thai people to repudiate the Pibul declarations of war and agreements is fully understood and appreciated but it is not clear why present government should resign at this time or what compulsion would cause succeeding government to make such repudiation its first act. It would appear that the resistance movement could more effectively accomplish its objectives when emerging from cover by coordinated surprise attack on enemy supplies, communications, forces, and equipment and by seizure of enemy officers, officials, documents and key points. Political acts of repudiation and realignment with the Allies could follow.

"We attach great importance to existence of an effective constitutional Thai Government on Thai soil to work with Allies. We hope that all possible preparations will have been made to forestall seizure or scattering of important pro-Allied personnel so that such government could promptly function in areas free from Japanese, I could direct Thai military operations and coordinate them with Allied operations, and could reestablish effective civil governmental machinery as areas are liberated.

"The United States cannot unilaterally declare another nation a member of the United Nations but it will be happy publicly to reiterate at an appropriate time its respect for Thai independence and to declare that it has at no time considered Thailand an enemy. We look forward to the day when both our countries can appropriately make public our common cause against our common

enemy.

Grew,

Acting Secretary of State."

* In a memorandum of May 28 of a conversation with the British Minister (Sansom), the Chief of the Division of Southeast Asian Affairs (Mottat) stated that he had handed copies of the messages of May 21 and May 28 to the Minister "to assure full coordination of British and American action".

(S92.01/5-2845)

 

(3) ตามที่รัฐบาลอเมริกันยังไม่เข้าใจว่าเหตุใดรัฐบาลนายควงฯ จึงจะต้องออกนั้น ข้าพเจ้าได้ซี้แจงเพิ่มเติมไปว่ารัฐบาลนายดวงฯ ร่วมมือกับญี่ปุ่นในทางเปิดเผย แต่ถ้าฝ่ายไทยเปิดฉากการรบญี่ปุ่นเปิดเผยแล้ว ก็ควรมีรัฐบาลใหม่ที่ประกาศต่อสู้ญี่ปุ่นอย่างเปีดเผย มิให้ฝ่ายไทยเสียเกียรติว่า มีรัฐบาลที่หักหลังญี่ปุ่น ผู้ที่สมควรเป็นนายกของรัฐบาลใหม่คือนายทวี บุณยเกตุ ปรากฏในใจความโทรเลขลับที่ข้าพเจ้าส่งผ่าน โอ.เอส.เอส. ไปถึงกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันดั่งต่อไปนี้

 

740.0011 P.W./6-815

Memorandum by the Acting Director of the office of Far Eastern

Affairs (Lockhart) to the Under Secretary of State (Grew)

Washington, June 2, 1945.

The attached message addressed to you by "Ruth" in Thailand has just been received. This message is in reply to your message to "Ruth" of May 28, 1945.

This message on the whole appears to be entirely satisfactory. It is to be noted that "Ruth" reaffirms his intention to do all in his power to conform with Allied wishes; that he will keep this Government and the British Government informed of developments; that he explains the need for a change in government as a constitutional procedure and a political act designed to facilitate a radical change in the official position of the government from one of apparent cooperation with the Japanese to one of open opposition; that such a change would necessarily follow a major breach between the Japs and the Thai; and that necessary precautionary measures will be taken to assure the existence of a pro-Allied government in Thai territory if and when the clash with the Japanese occurs.

It will be recalled (reference to FE's memorandum to you May 31, 1945 S7 on the British reaction to "Ruth's" recent message) that : "Ruth" informed the British of the intention of the Thai Government to loan the Japanese 50,000,000 baht and of the Thai belief that this loan of fifty percent of the amount asked by the Japanese will satisfy the Japs at least for the time being.

The exact meaning of the penultimate sentence of the message is not clear, probably owing to garbles and omissions. However, in the light of "Ruth's" message to Mountbatten and the balance of the attached message, it is not believed necessary to seek clarification of this one sentence.

Frank P. Lockhart

 

(4) ตามที่ ม.กรูว์แจ้งว่าสหรัฐอเมริกาฝ่ายเดียวมิอาจประกาศว่าประเทศหนึ่งใดเป็นสมาชิกสหประชาชาติได้นั้น ก็ถูกต้องแล้ว ข้าพเจ้าขอร้องไปก็เพื่อให้ ส.ร.อ.สนับสนุนประเทศไทยสมัครเป็นภาคีสหประชาชาติโดยสัมพันธมิตรรับรองว่าไม่ใช่ประเทศศัตรู

ภายหลังสงคราม ประเทศไทยได้สมัครเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ซึ่งผู้สนใจในองค์การนี้ย่อมรู้ว่า ประเทศสมัครรายใดถูกสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคงคัดด้านเพียงเสียงเดียวก็เป็นสมาชิกไม่ได้ ยิ่งเป็นประเทศศัตรูแล้วยิ่งเป็นไม่ได้เลยแม้ญี่ปุ่นก็ต้องรอคอยหลายปี จนกว่ามีการตกลงกติกาสัญญาสันติภาพกับสัมพันธมิตรแล้ว บางประเทศ เช่น มงโกเลียที่ส่งทหารร่วมกับสหภาพโซเวียตทำสงครามโจมตีกองทัพญี่ปุ่นในระหว่างสงครามก็ถูกสมาชิกในคณะมนตรีนั้นใช้สิทธิยับยั้งไว้หลายปี แต่ประเทศไทยซึ่งตามนิตินัยเป็นผู้แพ้สงครามนั้นเมื่อได้ยื่นสมัครเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 ก็ได้รับความสำเร็จในการเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศ โดยมติของสมัชชาสามัญครั้งที่ 1 ภาคที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมปีเดียวกันนั้นโดยคำแนะนําเอกฉันท์ของคณะมนตรีความมั่นคงอันประกอบด้วยมหาอํานาจ 5 ชาติเป็นมนตรีประจําคือ สหรัฐอเมริกา, บริเตนใหญ่, ฝรั่งเศส, สหภาพโซเวียต, จีน เรื่องนี้ทําความประหลาดใจให้ผู้แทนมงโกเลียที่ได้มานั่งดูการประชุมนั้น อยู่ว่า ฝ่ายตนเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรแต่กลับถูกคัดค้าน การที่ประเทศไทยได้ เป็นสมาชิกในองค์การโลกนั้น เพราะขบวนการเสรีไทยได้พยายามเจรจา ทําความเข้าใจกับสัมพันธมิตรไว้ในระหว่างสงคราม และรัฐบาลภายหลัง สงครามได้ปฏิบัติการชําระสะสางสิ่งที่รัฐบาลจอมพล ป. ได้ทําไว้ให้หมดไป และสถานะสงครามระหว่างประเทศไทยกับประเทศสัมพันธมิตรได้สิ้นสุดลง โดยชาติไทยได้คืนความเป็นเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดนสมบูรณ์เหมือนสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา

ตามโทรเลขตอบของผู้รักษาการแทนร.ม.ต.ว่าการต่างประเทศอเมริกันนั้น เป็นหลักฐานชัดแจ้งว่า

(1) ขบวนการเสรีไทยพร้อมแล้วที่จะเสียสละชีวิตต่อสู้ฝ่ายญี่ปุ่น แต่สัมพันธมิตรเองเป็นผู้ขอร้องให้รอไว้เพื่อสมานกับแผนการของสัมพันธมิตร

(2) สัมพันธมิตรถือว่าเป็นคุณค่าอย่างสูงซึ่งความจริงใจของข้าพเจ้าและราษฎรไทยที่จะบอกเลิกการประกาศสงครามของจอมพลพิบูล

นี่แสดงว่าการที่ข้าพเจ้าประกาศว่าการประกาศสงครามของรัฐบาลพิบูล เป็นโมฆะนั้น ข้าพเจ้าได้แจ้งให้สัมพันธมิตรรู้ก่อนแล้วหลายเดือนและหลาย ปีมาแล้ว นับตั้งแต่นายจํากัด พลางกูร ได้เดินทางไปเจรจากับสัมพันธมิตรเมื่อ พ.ศ. 2486 และนายสงวน ตุลารักษ์ที่ตามไปก็ได้แจ้งเจตนาของข้าพเจ้านี้ รวมทั้งนายดิเรก ชัยนาม, นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล, นายอรรถกิติ พนมยงค์ ก็ได้ แจ้งแก่สัมพันธมิตรให้ทราบล่วงหน้า ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ข้าพเจ้าได้โทรเลขไปบอกสัมพันธมิตรทันทีว่า ข้าพเจ้าจะประกาศว่าประกาศสงครามของจอมพล ป. เป็นโมฆะ ลอร์ด เมานท์แบทแทนผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งเอเชียอาคเนย์ ก็ได้รับคําสั่งจากรัฐบาลอังกฤษให้แจ้งแก่ข้าพเจ้าให้ประกาศโมฆสงคราม ดังปรากฏในเอกสารทางการอเมริกันที่พิมพ์เปิดเผยแล้วดังต่อไปนี้

 

740.0011 PW/S-1545: Telegram

PW/8.....: Telegam

The Secretary of State to the Ambassador in the United Kingdom.

(Winant)

Washington, August 15, 1945-3 p.m.

6922. British Embassy has informed us.

(a) that FonOff has authorized Mountbatten personally to advise Ruth to make announcement as soon as possible after final Japanese surrender disavowing Thai declaration of war upon Great Britain and United States and all measures flowing therefrom which may operate to prejudice of Allies, repudiating alliance and all other agreements with Japan, placing Thailand and its armed forces at service of Allies, and declaring his readiness to send a representative immediately to Kandy to get in touch with Allies. British suggested that announcement might also state that Ruth had informed British and American Governments at an earlier stage that resistance movement wished to initiate overt action against the enemy and refrained only on express request of Allies for operational reasons.

(b) That FonOff also informed Mountbatten if Ruth takes necessary initiative as advised, British are disposed, because of support by Thai resistance movement and of Allied request not to take action last May, to forego pressing for separate act of unconditional surrender which under existing circumstances would be considered normal procedure, and to mold their policy according to Thai readiness to make restitution for the past and to cooperate for the future.

(c) That if Ruth follows advice and sends representative to Kandy, British propose to communicate with Dept before commencing negotiations regarding the terms on which they would be prepared to terminate state of war.

BYRNES

 

เอกสารทางการข้างบนนั้นเป็นหลักฐานที่เราสามารถจับคําพูด คลาดเคลื่อนของนายควงฯที่คุรุสภาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ได้ คือ นายควงฯ พูดมีใจความว่า เมื่อตนรู้ว่าญี่ปุ่นยอมแพ้แล้ว ตนมาพบข้าพเจ้า ให้ข้าพเจ้าประกาศโมฆสงครามดั่งว่านั้นให้ตน อันเป็นการแสดงว่านายควงฯมีอํานาจสั่งผู้สําเร็จราชการฯให้ปฏิบัติเหมือนเป็นเสมียนของนายควงฯ อันที่จริง เมื่อข้าพเจ้าได้รับความตกลงจากสัมพันธมิตรให้ประกาศโมฆสงคราม ดังกล่าวแล้ว ในวันที่ 16 ข้าพเจ้าได้ลงนามในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลประกาศพระบรมราชโองการว่า ประกาศสงครามที่รัฐบาลพิบูลกระทํากับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกานั้นเป็นโมฆะ โดยนายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ไม่ใช่นายควงฯ ขอให้ผู้ต้องการความจริงอย่าใช้อารมณ์สนุกขบขันเพียงฟังนายควงฯ พูดเท่านั้น คือ ขอให้ดูราชกิจจานุเบกษาก็จะรู้ว่า ผู้ใดลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ นายทวีฯ มีหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาพลพรรคเสรีไทยภายในประเทศและเป็นรัฐมนตรีสั่งราชการสํานักนายกรัฐมนตรีด้วย

นายควงฯ อ้างว่า ลอร์ด เมานท์แบทแทนโทรเลขมาให้รัฐบาลนายควงฯ ปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในไทย แต่ชนรุ่นที่จําความภายหลังสงครามได้ก็ย่อมระลึกได้ว่า ทหารอังกฤษเป็นผู้มาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น ปัญหาการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในไทยนี้ไม่ใช่เรื่องตลก หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับอนาคตของชาติอย่างสําคัญ เพราะรัฐบาลจีนเจียงไคเช็คขอร้องสัมพันธมิตรว่าจีนจะเข้ามาปลดอาวุธเองในแหลมอินโดจีนตั้งแต่เส้นขนานที่ 16 ขึ้นไป ถ้าหากทําได้เช่นนั้น ทหารจีนก็ยกเข้ามาในไทยตั้งแต่จังหวัดร้อยเอ็ด ตลอดจนอําเภอบางมูลนากและอําเภออุ้มผางขึ้นไปจนสุดเขตแดนไทยทางพายัพและอีสาน พวกจีน โก๊ะมินตั๋ง ที่เตรียมก่อการอลเวงอยู่แล้วก็จะทําความเดือดร้อนให้ราษฎรไทยข้าพเจ้าได้ขอร้องรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ช่วยสั่งให้ทหารญี่ปุ่นในอินโดจีน ฝรั่งเศสที่อยู่เหนือเส้นขนานที่ 16 เท่านั้น ยอมวางอาวุธแก่ทหารจีน ส่วนทหารญี่ปุ่นในไทยทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่เหนือเส้นขนานที่ 16 หรือไม่นั้น ให้วางอาวุธแก่ทหารอังกฤษที่ลอร์ดเมานท์แบทแทนจะส่งเข้ามาทําหน้าที่ปลดอาวุธ เพราะข้าพเจ้าเห็นว่ายอมให้ทหารอังกฤษปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นก็ยังดีกว่าให้ทหารจีนยกเข้ามาในไทยปรากฏตามเอกสารทางการอเมริกันที่พิมพ์เปิดเผย แล้วดังต่อไปนี้

 

[The Question of the division of some areas of operational sent to Generalissimo Chiang Kai-shek, Supreme Commander, responsibility in Southeast Asia was raised in a Communication China Theater, by President Truman on August 1, 1945. The President conveyed his conclusion that the portion of Indochina lying south of 16° north of that line to be left in the China Theater. The Generalissimo agreed to this apportionment, subject to the stipulation that the 16° line also be considered the southern boundary of the China Theater within Thailand. For text of Truman's message to Chiang Kai-shek, see telegram of August 1, 1945, from the President to the Ambassador in China, Foreign Relations, The Conference of Berlin (The Postdam Conference), 1945, volume II, page 1321. Regarding Chiang's reply, sec ibid., foot note 2.

Under the terms of General Order No. 1, issued on September 2, 1945 Japanese forces in all of Thailand were called upon to surrender to the Supreme Allied Commander, Southeast Asia. For text of the General Order, see Report of Government Section, Supreme Commander for the Allied Powers: Political Reorientation of Japan, September 1945 to September 1948, page 442.]

 

(เรื่องที่นายควงฯ พูดที่คุรุสภาวันนั้น ยังมีความคลาดเคลื่อนอีกหลายประการที่เกี่ยวกับการเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีของตนระหว่างสงครามและการต่อสู้กับญี่ปุ่นอีกทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับข้าพเจ้าโดยผิดจากหลักฐานที่ข้าพเจ้านํามาลงไว้)

 


[1] ยังไม่พบตอนที่นายปรีดี พนมยงค์ นำบทความเรื่องดังกล่าวของนายป๋วยมาลง แสดงให้เห็นว่านายปรีดีเขียนเรื่องนี้ไม่จบ หรือไม่ก็เขียนจบแล้วแต่หาต้นฉบับไม่พบ - กองบรรณาธิการ

 

หมายเหตุ:

  • คงอักขรและวิธีสะกดตามต้นฉบับ

บรรณานุกรม

  • ปรีดี พนมยงค์, “กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทย” ใน โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), 166-197.