ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ประเทศไทยถูกผูกมัดเข้ากับญี่ปุ่นและอักษะมากขึ้น

26
สิงหาคม
2567

Focus

  • บทความนี้ได้นำเสนอรายละเอียดของเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ภายหลังประเทศญี่ปุ่นบุกประเทศไทย รัฐบาลไทยจึงประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ทำให้รัฐบาลไทยกลายเป็นประเทศพันธมิตรของประเทศญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะ
  • นอกจากบันทึกรายละเอียดของเหตุการณ์ที่บันทึกโดยนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีฯ และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และหลักฐานชั้นต้นจากบันทึกของนายดิเรก ชัยนาม

 

-1-

 


ใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2

 

ภายหลังที่รัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาดั่งกล่าวแล้ว รัฐบาลก็ดำเนินต่อไปอีกในการผูกมัดประเทศไทยเข้ากับญี่ปุ่นและอักษะมากขึ้น

ปรากฏตามหนังสือนายดิเรก ชัยนามเล่มที่อ้างข้างต้นว่า ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942) หลวงวิจิตรวาทการ (ซึ่งได้เลื่อนตำแหน่งจากรัฐมนตรีช่วยว่าการขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศภายหลังประกาศสงครามดั่งกล่าวแล้วไม่กี่วัน) ได้มีจดหมายทางราชการถึงนายดิเรกฯ (ขณะนั้นเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงโตเกียว) ให้เจรจากับรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อให้ไทยเข้าเป็นภาคีอักษะให้ได้ ฝ่ายญี่ปุ่นเห็นว่าไทยเป็นสัมพันธมิตรญี่ปุ่นอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นเข้าเป็นภาคีอักษะ นายดิเรกฯ ตอบไปยังรัฐบาลถึงความเห็นของตน ขอให้รัฐบาลระงับความคิดนี้เสีย นายดิเรกฯ กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนั้นว่า

“จอมพล ป. พิบูลสงครามได้สั่งให้หลวงวิจิตรวาทการตอบรับขอบใจและเห็นด้วยกับข้าพเจ้าทุกประการในการที่ได้ปฏิบัติไป มีผู้ที่ได้อ่านรายงานนี้ที่กรุงเทพฯ ได้เขียนบอกไปยังข้าพเจ้าเป็นส่วนตัวว่า นายกรัฐมนตรีถึงกับเขียนคำสั่งในรายงานของข้าพเจ้าฉบับนี้ว่า ขอให้ทุกคนรักษาเป็นลับที่สุด ถ้าปรากฏว่ารั่วไหลจากผู้ใดจะถูกประหารชีวิต เมื่อข้าพเจ้ากลับเข้ามารับราชการในตอนหลังก็ได้เรียกเรื่องนี้มาดู ก็ได้เห็นคำสั่งนี้”

 

-2-

 


ใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2

 

จอมพล ป. นายกรัฐมนตรีกับหลวงวิจิตรฯ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศมิได้ละความพยายามรุดหน้าต่อไปตามคติร่วมของท่านทั้งสองดังจะเห็นได้ต่อไปว่า

ก. รับรองรัฐบาลมานจูกัวซึ่งญี่ปุ่นได้แยกเอาดินแดนภาคอีสานของจีนตั้งเป็นรัฐหุ่นขึ้น ทั้งนี้เป็นการยั่วรัฐบาลจีนที่เจียงไคเช็คเป็นประมุข เพราะคนจีนที่รักชาติถือว่าดินแดนส่วนนั้นเป็นของจีนโดยแท้ ชนชาติมานจูมีอยู่ไม่ถึงร้อยละ 5 ของพลเมืองทั้งหมด เนื่องจากภายหลังที่กษัตริย์มานจูได้ครองอำนาจเหนือประเทศจีนแล้วก็ได้เอาคนมานจูเข้ามาปกครองจีนและตั้งหลักแหล่งอยู่ในจีน ส่วนชนชาติฮั่นที่เป็นส่วนข้างมากของจีน (ที่เราเรียกกันว่าจีน) นั้นก็อพยพไปตั้งหลักแหล่งในดินแดนที่เดิมเป็นของมานจู

คณะทูตมานจูกัวประจำไทยนั้นเอกอัครราชทูตเป็นชนชาติจีน ส่วนที่ปรึกษาและเลขานุการเอกเป็นคนญี่ปุ่น

ข. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942) ได้ประกาศรับรองรัฐบาลจีนของวังจิงไวซึ่งเป็นตัวหุ่นของญี่ปุ่น ทำให้รัฐบาลจีนที่เจียงไคเช็คเป็นประมุขซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐบาลที่มีพรรครักชาติต่าง ๆ ของจีนร่วมอยู่ด้วยถือว่าเป็นการท้าทายคนจีนทั้งชาติ รัฐบาลจีนนี้ได้แถลงถือว่ารัฐบาลไทยเป็นศัตรูและเมื่อสัมพันธมิตรได้ชัยชนะขั้นสุดท้ายแล้ว รัฐบาลไทยต้องทำพีธียอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข และจับจอมพล ป.กับผู้ร่วมมือไปขึ้นศาลอาชญากรสงครามของพันธมิตร

ค. เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2486 (ค.ศ. 1943) ได้รับรองรัฐโครเอเซียซึ่งมุสโสลินีได้แยกเอาดินแดนส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวียตั้งเป็นรัฐหุ่นและอัญเชิญ “ดยุคแห่งสโปเลโต” เจ้าอิตาเลียนแห่งราชวงศ์ชาวัวสายพระอนุชาขึ้นครองราชย์เป็นราชาธิบดี ใช้พระปรมาภิไธยว่า “โตมิสสลาฟ ที่ 2” แต่เจ้าองค์นี้มีพระสติแก้ตัวได้ทันท่วงที มิได้เสด็จไปครองราชบัลลังก์ตามที่มุสโสลินีจะเอาตัวเป็นหุ่น พระองค์จึงปลอดภัยในการเป็นอาชญากรสงคราม

ง. เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2486 (ค.ศ. 1943) ได้รับรองรัฐสโลวาเกีย ซึ่งฮิตเลอร์ได้แยกเอาดินแดนส่วนหนึ่งของเชโกสโลวาเกียตั้งเป็นรัฐหุ่นและมอบให้นักบวชชื่อ “โจเซฟ ติโส” เป็นประมุขรัฐ โดยมีกโลบายให้เป็นศาสนูปถัมภกไปในตัว ในที่สุดเมื่อสัมพันธมิตรชนะสงครามแล้ว นักบวชคนนี้ถูกจับตัวขึ้นศาลอาชญากรสงครามและถูกตัดสินประหารชีวิตโดยวิธีแขวนคอ

 

 

หมายเหตุ:

  • คงอักขรและวิธีสะกดตามต้นฉบับ
  • ภาพประกอบจากหอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี

 

เอกสารอ้างอิง

  • ปรีดี พนมยงค์, “ประเทศไทยถูกผูกมัดเข้ากับญี่ปุ่นและอักษะมากขึ้น” ใน โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), น. 225-227.