ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความเป็นมาเกี่ยวกับคณะราษฎรในการอภิวัฒน์ 2475 และฐานความคิดของการเปลี่ยนแปลงสังคม

23
มิถุนายน
2566

Focus

  • การเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือการอภิวัฒน์ 2475 ดำเนินการอย่างมีแผนการของกลุ่มนักเรียนไทยในฝรั่งเศส และการสมทบจากบางประเทศใกล้เคียงในยุโรป ผ่านการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่มีขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1927 ที่หอพักแห่งหนึ่ง ณ “RUE DU SOMMERARD” รวมช่วงเวลาประชุมกันประมาณ 5 วัน และการประชุมครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมประชุม 7 คน คือ (1) ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี (2) ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ (3) ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี (4) นายตั้ว ลพานุกรม (5 ) หลวงสิริราชไมตรี (นามเดิมจรูญ นามสกุลสิงหเสนี) (6) นายแนบ พหลโยธิน และ (7) นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ทำหน้าที่เป็นประธานและหัวหน้าคณะราษฎรชั่วคราว โดยที่ประชุมเห็นชอบเป้าหมายที่จะให้สยามบรรลุหลัก 6 ประการ (ดังที่ทราบกันทั่วไป) ตามที่นายปรีดี พนมยงค์ เสนอ ทั้งนายปรีดี พนมยงค์ ยังได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบต่อการชี้แจงนโยบายที่จะดำเนินภายหลังจากที่คณะราษฎรได้อำนาจรัฐแล้ว รวมทั้งในการจัดทำเค้าโครงการเศรษฐกิจ
  • นอกเหนือคณะราษฎรผู้ก่อการแล้ว สมาชิกคณะราษฎรที่จะรับเพิ่มเติมเพื่อทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองประสบความสำเร็จ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ (1) บุคคลที่สมควรได้รับคำชักชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎรก่อนวันลงมือยึดอำนาจรัฐ (2) บุคคลที่จะได้รับคำชักชวนต่อเมื่อได้ลงมือปฏิบัติในการยึดอำนาจแล้ว และ (3) บุคคลที่จะได้รับคำชักชวนในวันลงมือปฏิบัติการยึดอำนาจ ทั้งนี้คณะราษฎร (ผู้ก่อการ) ในขณะนั้น เรียกความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า “เปลี่ยนการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย” โดยจะต้องกระทำโดยวิธี COUP D’ETAT ซึ่งคณะผู้ก่อการเรียกกันโดยคำไทยธรรมดาว่า การยึดอำนาจโดยฉับพลัน เพราะยังไม่ได้เรียกว่า “การปฏิวัติ” หรือ “การรัฐประหาร” ที่มีการใช้กันในสมัยหลัง
  • ฐานความคิดสำคัญในมุมมองของนายปรีดี พนมยงค์ ในการเปลี่ยนแปลงสังคมอธิบายไว้ในหนังสือ “ความเป็นอนิจจังของสังคม” ของเขาเอง สรุปโดยย่อคือ “เมื่อเครื่องมือการผลิตชีวปัจจัยของมนุษย์สังคมได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไป มนุษย์ซึ่งเป็นผู้ทำและใช้เครื่องมือการผลิตนั้นก็ต้องพัฒนาไปตาม จึงจะเป็นพลังการผลิตที่ทำให้การผลิตชีวปัจจัยอุดมสมบูรณ์ขึ้น ครั้นแล้วความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของมนุษย์ในสังคมก็จะต้องเปลี่ยนไปตาม จึงจะไม่เกิดวิกฤตกาลทางเศรษฐกิจ แล้วเมื่อระบบเศรษฐกิจอันเป็นรากฐานของสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว ระบบการเมืองของสังคมก็จำต้องเปลี่ยนไปตาม ฉะนั้นก็เกิดความขัดแย้งกับระบบเศรษฐกิจที่เป็นรากฐานและก่อให้เกิดวิกฤตกาลทางเศรษฐกิจ ทรรศนะทางสังคมของมนุษย์ก็เกิดขึ้นเป็นหลัก นำให้มนุษย์มีการเคลื่อนไหว เพื่อจะได้มาซึ่งสิ่งอันจำเป็นแก่ระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาขึ้นใหม่” ดังที่ในสภาพการณ์ของสังคมสยามก่อนการอภิวัฒน์ 2475 ก็ได้พบเห็นความต้องการและมีการกระทำที่แสดงออกถึงความพยายามให้มีการเปลี่ยนแปลงสังคมของเหล่าบุคคล (เช่น คณะ ร.ศ. 130) และบุคคลที่เป็นปัญญาชนจำนวนหนึ่งมาเป็นระยะๆ รวมทั้งการเกิดคนรุ่นใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากสื่อมวลชนที่มีลักษณะก้าวหน้าเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม คณะราษฎรผู้ก่อการจึงไม่มีความลำบากมากนัก ในการชวนผู้คนที่ตื่นตัวให้เข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎรเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในคราวนั้น

 

การประชุมเป็นทางการครั้งแรกของคณะราษฎรมีขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1927 ที่หอพักแห่งหนึ่ง ณ “RUE DU SOMMERARD” ซึ่งเราเช่าห้องใหญ่ไว้เฉพาะการประชุมนั้น ผู้ร่วมประชุมมี 7 คน คือ (1) ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี นายทหารกองหนุนซึ่งเคยเป็นผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์รัชกาลที่ 6 (2) ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ สำเร็จวิชาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกสยาม แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส (3) ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี นายทหารกองหนุน เคยเป็นผู้บังคับหมวดกรมการทหารม้าที่ 5 นครราชสีมา แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนนายทหารม้าฝรั่งเศส (4) นายตั้ว ลพานุกรม นักศึกษาวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์ เคยเป็นจ่านายสิบในกองทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 (5 ) หลวงสิริราชไมตรี นามเดิมจรูญ นามสกุลสิงหเสนี ผู้ช่วยสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส เคยเป็นนักเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม และเป็นนายสิบตรีในกองทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 (6) นายแนบ พหลโยธิน เนติบัณฑิตอังกฤษ (7) ข้าพเจ้า

ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ข้าพเจ้าเป็นประธานและเป็นหัวหน้าคณะราษฎร จนกว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสมเป็นหัวหน้าคณะราษฎรในกาลต่อไป

การประชุมดำเนินไปเป็นเวลาประมาณ 5 วัน ซึ่งได้ตกลงวาระสำคัญดังต่อไปนี้

ก. วัตถุประสงค์ของคณะราษฎร คือเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีศัพท์สมัยใหม่ว่า “ปฏิวัติ” หรือ “อภิวัฒน์” เพื่อถ่ายทอดคำฝรั่งเศส อังกฤษ REVOLUTION ดังนั้นเราจึงใช้ศัพท์ธรรมดาว่า “เปลี่ยนการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย” และการดำเนินเพื่อให้สยามบรรลุหลัก 6 ประการ คือ (1) รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง, ในทางศาล, ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง (2) รักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก (3) บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก (4) ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (5) ให้ราษฎรมีเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้ว (6) ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ข. โดยคำนึงถึงสภาพของสยามที่ถูกแวดล้อมด้วยอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งชาติทั้งสองนี้มีข้อตกลงกัน ถือเอาสยามเป็นประเทศกันชน แต่เขาอาจพร้อมกันยกกำลังทหารเข้ามายึดครองแล้วแบ่งดินแดนสยามไปเป็นเมืองขึ้นหรืออยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของประเทศทั้งสอง ดังนั้นเราจึงเห็นว่าวิธีเปลี่ยนการปกครองดังกล่าวจะต้องกระทำโดยวิธี COUP D’ETAT ซึ่งเราเรียกกันโดยคำไทยธรรมดาว่า การยึดอำนาจโดยฉับพลัน เพราะสมัยนั้นยังไม่มีผู้ใดตั้งศัพท์ไทยว่า “รัฐประหาร” เพื่อถ่ายทอดศัพท์ฝรั่งเศสดังกล่าวนั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแทรกแซงของมหาอำนาจ เพราะเมื่อคณะราษฎรได้อำนาจโดยฉับพลันแล้ว มหาอำนาจก็จะต้องเผชิญต่อสถานการณ์ที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า FAIT ACCOMPLI คือพฤติการณ์ที่สำเร็จรูปแล้ว

ค. ผู้ที่เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรกเป็นกรรมการกลางของคณะราษฎรไปพลางก่อน แต่ละคนเป็นหัวหน้าแต่ละสายที่จะต้องเลือกเฟ้นผู้ที่ไว้วางใจได้ตามระเบียบพิจารณาตัวบุคคล แล้วนำมาเสนอกรรมการกลางของคณะราษฎร ซึ่งจะรับเข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎรได้โดยมติเป็นเอกฉันท์เท่านั้น

ในชั้นแรก ให้หัวหน้าสายหาสมาชิกเพิ่มเติมเพียงสายละ 2 คนก่อน แล้วก็แยกเป็นหัวหน้าสายย่อยใหญ่น้อยแตกกิ่งก้านสาขาออกไป

ง. การเลือกเฟ้นสมาชิกคณะราษฎรเพิ่มเติมนั้น ต้องคำนึงถึงความเสียสละเพื่อชาติอย่างแท้จริง, ความกล้าหาญ, ความสามารถในการรักษาความลับ ดังนั้นจึงได้แบ่งบุคคลที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองดังกล่าวออกเป็น 3 ประเภท คือ

ดี 1. ได้แก่บุคคลที่สมควรได้รับคำชักชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎรก่อนวันลงมือยึดอำนาจรัฐ แต่บุคคลประเภทนี้ก็ต้องแยกแยะออกไปอีกว่าผู้ใดควรได้รับคำชักชวนไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ หรือชวนต่อเมื่อใกล้เวลาที่จะลงมือทำการยึดอำนาจ มิให้ถือเพียงแต่ว่าบุคคลใด เป็นเพื่อนเที่ยวด้วยกัน กินด้วยกัน แล้วก็จะชวนเข้าเป็นสมาชิกในคณะราษฎรได้ทุกคนในทันทีทันใด ถ้าเพื่อนคนนั้นชอบพูดตลกเกินไป ก็ย่อมเอาเรื่องที่จริงบ้างไม่จริงบ้างมาพูดเพียงแต่จะให้ผู้ฟังขบขันเป็นการตลกและอาจเอาเรื่องลับของคณะไปแย้มพรายเพื่อเป็นการตลก เพื่อนบางคนมีลักษณะดีหลายอย่าง แต่เวลากินเหล้าเข้าไปแล้วกุมสติไว้ไม่อยู่แล้วพูดเลอะเทอะ ก็อาจพลั้งพลาดเอาเรื่องของคณะไปพูดในเวลาเมา จึงมิได้ชวนเข้าร่วมในคณะราษฎรก่อนลงมือยึดอำนาจ แต่เมื่อยึดอำนาจได้ในวันที่ 24 มิถุนายนแล้ว ไม่มีความลับที่จะปิดบังจึงชวนให้ร่วมมือได้

ดี 2. ได้แก่บุคคลที่จะได้รับคำชักชวนต่อเมื่อได้ลงมือปฏิบัติในการยึดอำนาจแล้ว ซึ่งเขาย่อมมีบทบาทเป็นกำลังให้คณะราษฎรได้

ดี 3. ได้แก่บุคคลที่จะได้รับคำชักชวนในวันลงมือปฏิบัติการยึดอำนาจนั้นเอง แต่ภายหลังที่การยึดอำนาจได้มีทีท่าแสดงว่าจะเป็นผลสำเร็จมากกว่าความไม่สำเร็จ

จ. นโยบายที่จะดำเนินภายหลังที่คณะราษฎรได้อำนาจรัฐแล้ว ที่ประชุมได้มอบให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ชี้แจง และเห็นชอบตามหลัก 6 ประการ ซึ่งข้าพเจ้าเป็นผู้เสนอรวมทั้งหลักการทั่วไปในเค้าโครงการเศรษฐกิจ และได้มอบให้ข้าพเจ้าเตรียมร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจในโอกาสต่อไป

ฉ. ที่ประชุมได้พิจารณาเผื่อไว้ว่าถ้าการกระทำของคณะราษฎร ต้องถูกปราบปรามหรือพ่ายแพ้ก็ให้มีเพื่อนหัวหน้าสายคนหนึ่งที่เรากันไว้มิให้แสดงออกนอกหน้าว่าเป็นสมาชิกคณะราษฎรโดยไม่ต้องมาประชุมคณะกรรมการหัวหน้าสายบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะในฝรั่งเศส หรือเมื่อกลับสยามแล้วโดยบำเพ็ญตนประดุจเป็นคนอยู่ในบ้านอย่างสงบเงียบ ผู้นี้มีหน้าที่ดำเนินการของคณะราษฎรที่อาจถูกปราบปรามหรือพ่ายแพ้นั้นต่อไปให้สำเร็จพร้อมทั้งให้มีหน้าที่ดูแลช่วยเหลือครอบครัวของเพื่อนที่ถูกติดคุกหรือถึงแก่ความตาย ที่ประชุมเห็นพ้องกันมอบหน้าที่นี้ให้แก่นายแนบ พหลโยธิน ซึ่งเป็นผู้มีทรัพย์สินมากโดยได้รับมรดกจากบิดา

เมื่อเสร็จการประชุมก่อตั้งคณะราษฎรแล้ว ข้าพเจ้ากลับสยามในเดือนมีนาคมปีนั้น แล้วเพื่อนที่ยังอยู่ในปารีสเลือกเฟ้นผู้ที่สมควรชวนร่วมคณะราษฎรต่อไป อีกประมาณ 2-3 เดือน เพื่อนที่ยังอยู่ปารีสได้ชวนนายทวี บุณยเกตุ นักศึกษาวิชาเกษตร และนายบรรจง ศรีจรูญ ไทยมุสลิมจากอียิปต์ที่มาเยือนปารีส ซึ่งรับภาระจัดตั้งไทยมุสลิมต่อไป อาทิ นายแช่ม มุสตาฟา (บุตรหัวหน้าศาสนาอิสลามในไทยที่รู้จักกันในนามว่า “ครูฟา” ต่อมานายแช่มเปลี่ยนนามสกุลว่า “พรหมยงค์” คล้ายๆ นามสกุลข้าพเจ้า) ต่อมาได้ชวน ร.ต. สินธุ์ กมลนาวิน ร.น. นักศึกษาวิชาทหารเรือเดนมาร์กที่มาเยือนปารีส ต่อมาพระยาทรงสุรเดชได้มาดูงานในฝรั่งเศส เพื่อนที่ยังอยู่ในปารีสจึงลองทาบทามว่ามีความรู้สึกอย่างไรต่อระบบสมบูรณาฯ ก็ได้ความว่าไม่พอใจระบบนั้น แต่ยังมิได้ถูกชวนเข้าร่วมในคณะราษฎร ต่อจากนั้นเพื่อนที่ก่อตั้งคณะราษฎรที่ปารีสก็ทยอยกันกลับสยาม ค่อยๆ ชวนเพื่อนนักศึกษาที่เคยสังเกตไว้ในการสนทนากันเพียงคร่าวๆ มิได้จำกัดเฉพาะนักศึกษาในฝรั่งเศสเท่านั้น ฉะนั้นต่อมาในสยามจึงได้ชวน ม.ล. อุดม สนิทวงศ์ นักศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์, ม.ล. กรี เดชาติวงศ์, นายสพรั่ง เทพหัสดินทร ณ อยุธยา และนายเล้ง ศรีสมวงศ์, นักศึกษาจากอังกฤษ ฯลฯ และเพื่อนทหารบก ทหารเรือ พลเรือนคนอื่นๆ ในสยาม ในปลาย พ.ศ. 2474 จึงได้ชวนพระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิอัคเนย์ และมอบให้พระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าคณะราษฎร

2. การที่คณะราษฎรเรียกสมาชิกประเภท ดี 1 ว่า “ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” หรือโดยย่อว่า “ผู้ก่อการ” นั้น ก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่าบุคคลประเภทนี้เป็นเพียง “กองหน้า” (Vanguard) ของมวลราษฎรที่มีความต้องการเสรีภาพและความเสมอภาคยิ่งกว่าระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมาชิกประเภท ดี 2 และ ดี 3 เป็นกำลังหนุนตามลำดับ แต่พลังมหาศาลที่ช่วยให้คณะราษฎรทำการได้สำเร็จนั้น คือมวลราษฎรที่ให้ความสนับสนุนทั้งทางตรงและทางปริยาย

ผู้ถือทรรศนะตามพลังเก่าบางคนกล่าวว่าคณะราษฎรอ้างราษฎร โดยราษฎรไม่รู้เห็นด้วยนั้น ก็เนื่องจากผู้ที่กล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวตามทรรศนะและจุดยืนหยัดในชนชั้นวรรณะของเขาที่เขามีประโยชน์หรือนิยมชมชอบอยู่

วิทยาศาสตร์ทางสังคมที่ก้าวหน้าได้จำแนกบุคคลในสังคมออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ (1) พวกปฏิกิริยา (Reactionaries) ซึ่งต้องการเหนี่ยวรั้งระบบสังคมเก่าให้คงอยู่กับที่หรือให้ถอยหลังยิ่งขึ้นไปอีก (2) บุคคลอื่นๆ นอกจากเป็นพวกปฏิกิริยาเป็น People ซึ่งเราแปลว่า “ราษฎร” พลเมืองสยามส่วนมากซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองสมัยนั้นเรียกตัวเองว่า “ราษฎร” เช่น นายอำเภอเกณฑ์พลเมืองทำงานโยธาก็เรียกกันว่าเกณฑ์ราษฎร หรือราษฎรรำพึงกันถึงความทุกข์ยากก็พูดว่า “ราษฎรเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า” คือแสดงถึงลักษณะของพลเมืองส่วนที่ถูกปกครองโดยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ความต้องการของมวลราษฎรไทยที่ ต้องการเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นั้นมิใช่คณะราษฎรเป็นคณะแรกที่ต้องการเช่นนั้น ผู้สนใจในวิทยาศาสตร์สังคมอันแท้จริงย่อมได้ศึกษามาก่อนแล้ว ถึงปรัชญาทางสังคมว่าทรรศนะทางสังคมของมนุษย์ได้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แล้วนำมาประยุกต์กับข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ขึ้นในสยามตั้งแต่สมัยที่สยามจำต้องทำสนธิสัญญากับประเทศทุนนิยมต่างๆ ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา

ก. ข้าพเจ้าได้เคยกล่าวไว้บ้างแล้วในหนังสือ “ความเป็นอนิจจังของสังคม” สรุปโดยย่อคือ เมื่อเครื่องมือการผลิตชีวปัจจัยของมนุษย์สังคมได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไป มนุษย์ซึ่งเป็นผู้ทำและใช้เครื่องมือการผลิตนั้นก็ต้องพัฒนาไปตาม จึงจะเป็นพลังการผลิตที่ทำให้การผลิตชีวปัจจัยอุดมสมบูรณ์ขึ้น ครั้นแล้วความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของมนุษย์ในสังคมก็จะต้องเปลี่ยนไปตาม จึงจะไม่เกิดวิกฤตกาลทางเศรษฐกิจ แล้วเมื่อระบบเศรษฐกิจอันเป็นรากฐานของสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว ระบบการเมืองของสังคมก็จำต้องเปลี่ยนไปตาม ฉะนั้นก็เกิดความขัดแย้งกับระบบเศรษฐกิจที่เป็นรากฐานและก่อให้เกิดวิกฤตกาลทางเศรษฐกิจ ทรรศนะทางสังคมของมนุษย์ก็เกิดขึ้นเป็นหลัก นำให้มนุษย์มีการเคลื่อนไหว เพื่อจะได้มาซึ่งสิ่งอันจำเป็นแก่ระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาขึ้นใหม่ ในหนังสือของข้าพเจ้าเล่มที่อ้างนั้นได้กล่าวถึงกำเนิดแห่งทรรศนะทางสังคมที่พัฒนาจากระบบปฐมสหการมาเป็นระบบทาส จากระบบทาสมาเป็นระบบศักดินาหรือส่วย FEUDALISM และจากระบบนี้ในตอนปลายเมื่อเกิดระบบเศรษฐกิจทุนนิยมขึ้น ทรรศนะทางสังคมเพื่อระบบทุนนิยมก็เกิดขึ้น และก็จะมีทรรศนะอื่นๆ ที่ก้าวหน้าเกิดขึ้นในระยะต่อๆ ไป

ณ ที่นี้ข้าพเจ้าขอกล่าวโดยย่อ ถึงกำเนิดของทรรศนะสังคมที่ต้องการเลิกระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นระบบศักดินานั้นว่า มิได้เกิดขึ้นด้วยเจ้าศักดินาในยุโรปแต่เกิดขึ้นจากรากฐานที่ในยุโรปตะวันตก เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้มีผู้คิดเครื่องจักรกลที่ ใช้กำลังไอน้ำอันเป็นการอภิวัฒน์ใหญ่แห่งเครื่องมือการผลิตและก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกกันว่า “การอภิวัฒน์ทางอุตสาหกรรม” INDUSTRIAL REVOLUTION ความจำเป็นจึงเกิดขึ้นที่จะต้องพัฒนามนุษย์ให้สามารถทำและใช้เครื่องมือการผลิตสมัยใหม่ดังกล่าวนั้น เพราะการที่จะใช้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินที่ชำนาญอยู่แต่การใช้สัตว์พาหนะเป็นกำลังลากจูงไถหรือใช้เครื่องมือหัตถกรรม ก็ไม่อาจที่จะทำและใช้เครื่องมือผลิตสมัยใหม่นั้นให้เกิดสมรรถภาพได้ ดังนั้นนายทุนสมัยใหม่ที่เป็นเจ้าของวิสาหกิจใช้เครื่องมือการผลิตสมัยใหม่นั้น จึงจำเป็นต้องใช้คนงานสมัยใหม่ที่มีความรู้ความสามารถกว่าคนงานตามระบบศักดินาเก่า และต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของวิสาหกิจกับคนงานมาเป็นความสัมพันธ์ชนิดใหม่ คือชนิดระหว่างระบบทุนสมัยใหม่ซึ่งให้คนงานเป็นลูกจ้างสมัยใหม่ที่มีเสรีภาพยิ่งขึ้นกว่าไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินตามระบบศักดินาเก่าที่ถูกบังคับให้ทำงาน โดยไม่มีกำลังใจเพียงพอที่จะเอาใจใส่ต่อเครื่องมือสมัยใหม่ที่สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ดังนั้นพวกนายทุนสมัยใหม่นั้นเอง จึงต้องการเปลี่ยนระบบการเมืองศักดินาให้สอดคล้องกับระบบทุนสมัยใหม่ที่กำลังพัฒนา ฉะนั้นทรรศนะทางสังคมแห่งระบบทุนที่เกิดขึ้นใหม่ จึงเกิดขึ้นที่ต้องการเปลี่ยนระบบการเมืองศักดินาเพื่อให้ราษฎรมีเสรีภาพและมีสิทธิประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ความคิดและทรรศนะที่เรียกร้องให้เปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรปในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 จึงแพร่หลายมาก ส่วนเจ้าศักดินาก็พยายามเหนี่ยวรั้งระบบที่ฝ่ายตนได้ประโยชน์มากที่สุดไว้ และพยายามเอาทรรศนะเก่าตามระบบศักดินาของตนมาโต้แย้งทรรศนะใหม่ที่ก้าวหน้า ความขัดแย้งระหว่างระบบเก่าและทรรศนะเก่าฝ่ายหนึ่งกับระบบใหม่และความคิดใหม่อีกฝ่ายหนึ่งจึงเกิดขึ้นอย่างรุนแรง

เมื่อระบบทุนสมัยใหม่ได้เกิดขึ้นในยุโรปตะวันตกแล้ว ก็ได้พัฒนาเป็นทุนใหญ่มหาศาลยิ่งขึ้นเป็นบรมธนานุภาพหรือจักรวรรดินิยมที่ได้แผ่อำนาจมาในสยามและประเทศด้อยพัฒนาอื่นๆ สยามก็ได้ถูกบังคับให้จำต้องทำสนธิสัญญากับประเทศทุนนิยมต่างๆ อันเป็นผลให้สยามจำต้องรับเอาระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเข้ามาคู่เคียงกับระบบเศรษฐกิจศักดินาสมัยเก่า ดังนั้นทรรศนะอันเกิดจากระบบทุนสมัยใหม่ในยุโรปจึงได้ตามเข้ามาในสยามด้วยซึ่งมีเสียงเรียกร้องภายในสยามเอง และจากผู้ที่เคยศึกษาในยุโรปอเมริกาที่มิใช่หัวดื้อหัวรั้นของระบบศักดินาที่ล้าหลังจนเกินไป ที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมากยิ่งขึ้น แต่เสียงเรียกร้องนั้นมีระดับต่างๆ กัน บางพวกขอเอาแต่น้อยๆ บางพวกก็ขอให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญครบถ้วนตามหลักประชาธิปไตยสมบูรณ์ สุดแท้แต่บุคคลใดจะจำกัดทรรศนะของตนเองเพียงใด

ข. กฎวิทยาศาสตร์แห่งบ่อเกิดจิตสำนึกของมนุษย์มีอยู่ว่า “ความเป็นอยู่เป็นสิ่งกำหนดจิตสำนึกของมนุษย์” ดังนั้นผู้ที่มีความเป็นอยู่อย่างเจ้าศักดินาหรือเจ้าส่วยย่อมมีจิตสำนึกที่จะรักษาระบบนั้นไว้ แต่ข้อยกเว้นมีได้ดั่งที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในหนังสือเล่มที่อ้างนั้นว่า

เมื่อกล่าวถึง “พลังตกค้าง” แห่งระบบเก่า เราจำต้องทำความเข้าใจว่าพลังตกค้างนั้นมิใช่บุคคลในวรรณะเก่าเสมอไป เพราะบุคคลในวรรณะเก่าบางคนเป็นผู้ก้าวหน้าที่มองเห็นกฎแห่งอนิจจัง ถือเอาประโยชน์ส่วนรวมของสังคมเหนือกว่าประโยชน์ของวรรณะโดยเฉพาะ เป็นผู้ที่มีศีลสัตย์ ซึ่งสมควรได้รับความสรรเสริญ นักปราชญ์ซึ่งเป็นต้นฉบับแห่งวิทยาศาสตร์ทางสังคมใหม่กล่าวไว้ตามรูปธรรมที่เห็นจริง ว่า

 

“ในที่สุด, ขณะที่การต่อสู้ของวรรณะจวนจะถึงคราวเด็ดขาด ความเสื่อมสลายกำลังดำเนินไปภายในวรรณะปกครอง ที่จริงนั้นคือภายในสังคมเก่าทั้งกระบวน การดั่งว่านั้นรุนแรงและเกรี้ยวกราด จึงมีชนในวรรณะปกครอง ส่วนน้อยแผนกหนึ่งละทิ้งวรรณะของตน และเข้าร่วมในวรรณะอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นวรรณะที่กุมอนาคตไว้ในมือ ดั่งเช่นเดียวกับในสมัยก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งของวรรณะขุนนางได้ไปเข้ากับวรรณะเจ้าสมบัติ (นายทุนสมัยใหม่) ดังนั้น ในสมัยนี้ส่วนหนึ่งของวรรณะเจ้าสมบัติก็ไม่เข้าข้างวรรณะผู้ไร้สมบัติ โดยเฉพาะส่วนหนึ่งของวรรณะเจ้าสมบัติผู้มีปัญญา ที่ได้พยุงคนขึ้นสู่ระดับที่เข้าใจทฤษฎีแห่งขบวนวิวรรตการทั้งปวง”

 

ในทางตรงกันข้ามกับบุคคลที่กล่าวในวรรคก่อน ความจริงก็ปรากฏว่ามีบุคคลซึ่งดูเหมือนจะเป็นวรรณะใหม่ แต่ไม่เข้าใจกฎแห่งอนิจจัง โดยถือว่าสภาวะเก่าเป็นของถาวร และไม่พอใจในความพัฒนาของสภาวะใหม่ที่ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ บุคคลจำพวกนี้อาจไม่ใช่หน่อเนื้อเชื้อไขของวรรณะเก่า แต่บำเพ็ญตนเป็นสมุนของพลังเก่ายิ่งกว่าบุคคลแห่งอันดับสูงของวรรณะเก่า ทั้งนี้ก็เพราะพลังเก่าที่สลายไปนั้นได้สูญสิ้นไปเฉพาะรูปภายนอกของระบบการเมือง แต่บุคคลเก่ายังแฝงอยู่ในกลไกอำนาจรัฐและอำนาจเศรษฐกิจ ซึ่งยังคงมีทรรศนะทางสังคมตามระบบเก่าที่ล้าหลัง สิ่งตกค้างของระบบเก่าชนิดนี้มีทรรศนะที่ผิดจากกฎธรรมชาติยิ่งกว่าบุคคลก้าวหน้าแห่งวรรณะเก่าเอง ฉะนั้นจึงดำเนินการโต้กฎธรรมชาติและกฎแห่งอนิจจัง ดึงสังคมให้ถอยหลังเข้าคลองยิ่งกว่าพวกถอยหลังเข้าคลองที่จำต้องเป็นไปตามสภาวะของเขา แต่อย่างไรก็ตาม “การดึงให้สังคมถอยหลังก็เป็นไปเพียงชั่วคราว เพราะในที่สุดกฎแห่งอนิจจังต้องประจักษ์ขึ้น”

จากกฎดั่งกล่าวข้างบนนั้น เราก็ย่อมวินิจฉัยได้ว่าบุคคลใดมีลักษณะเป็นพลังใหม่นั้นมิใช่ถือแต่เพียงว่าเป็นผู้ที่เกิดและมีชีวิตร่างกายอยู่ในกาลสมัยใหม่ แต่ต้องดูถึงลักษณะที่เขาใช้เป็นหลักนำชีวิตเขานั้น เป็นทรรศนะใหม่ที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงใหม่ของระบบเศรษฐกิจที่เป็นพื้นฐานของสังคมหรือเขาถือตามทรรศนะที่เกิดจากระบบเก่า ซึ่งเข้าลักษณะที่มีคำพังเพยว่า “เหล้าเก่าในขวดใหม่” นั้น

ค. ถ้านำหลัก ดังกล่าวนั้นมาประยุกต์กับการค้นหาว่าทรรศนะใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ ในสยามเริ่มจากบุคคลใดนั้นก็จะปรากฏว่าฝ่ายที่อยู่ในพลังเก่าที่ตกค้างย่อมมองเห็นแต่ว่าเกิดจากบุคคลในพลังเก่า ส่วนผู้ที่เป็นพลังใหม่เฉพาะที่ทำตนว่าเป็นคนใหม่ ที่สุดก็มองแต่คนในพลังใหม่เท่านั้น แต่ผู้ที่บำเพ็ญตนตามคติของปราชญ์ที่อ้างข้างบนนั้นคือผู้ที่ “พยุงตนขึ้นสู่ระดับที่เข้าใจทฤษฎีแห่งวิวรรตการทั้งปวง” ก็ไม่จำกัดความคิดของตนเองมองแต่บุคคลในพลังเก่าหรือไม่โดยข้างเดียว คือย่อมมองทุกด้านจึงจะประสบสัจจะ

(1) ภายในพลังเก่าแห่งสยาม เคยมีบุคคลส่วนหนึ่งที่ก้าวหน้ากว่าผู้ที่เกาะแน่นอยู่ในความคิดเก่า คือปรากฏว่าเมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้วได้มีพระเจ้าน้องยาเธอ 3 พระองค์ คือ กรมหมื่นนเรศร์, พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต (ต่อมาเป็นกรมขุนพิทยลาภ ), พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (ต่อมาเป็นสมเด็จกรมพระสวัสดิฯ) และข้าราชการสถานทูตสยามกรุงลอนดอน อาทิ หลวงวิเศษสาลี (นาค ณ ป้อมเพชร ต่อมาเป็นพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา ผู้รักษากรุงเก่า), สับเลฟท์เทอแนนท์ สอาด (สกุล “สิงหเสนี” ต่อมาเป็นนายพลตรีพระยาประสิทธิศัลยการ อัศรราชทูตสยามประจำกรุงลอนดอน แล้วได้เป็นพระยาสิงหเสนี สมุหเทศาภิบาล มณฑลนครราชสีมา) ฯลฯ ได้เคยทำหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ขอให้ทรงปรับปรุงการปกครองประเทศให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ท่านเหล่านี้มีลักษณะก้าวหน้า แต่ท่านมีทรรศนะไม่ไกลถึงขนาดขอให้สยามมีระบบรัฐสภาที่ราษฎรมีส่วนในการเลือกตั้งผู้แทน และถึงขนาดที่เสนาบดีต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็นับว่าท่านเหล่านั้นมีความกล้าหาญมากในการกราบบังคมทูล ปัญญาชนรุ่นปัจจุบันที่เป็นพลังใหม่แท้จริง ไม่ควรสะดุดอยู่เพียงแต่เห็นว่า เคยมีพระบรมวงศานุวงศ์ดั่งกล่าวแล้วได้มีความคิดก้าวหน้าเท่านั้น ขอให้ติดตามค้นคว้าต่อไปให้สิ้นกระแสความว่าพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงตอบคำกราบบังคมทูลนั้นว่ากระไร และได้มีพระราชดำรัสในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ว่ากระไรในเรื่องการปกครองโดยระบบรัฐสภา และมีพระราชหัตถเลขาถึงพระราชธิดาองค์หนึ่งในหนังสือไกลบ้านตอนที่เสด็จนอร์เวย์ว่ากระไร ซึ่งข้าพเจ้าได้เชิญพระราชหัตถเลขามากล่าวไว้ในคำอธิบายกฎหมายปกครองที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม เมื่อ พ.ศ. 2474

ผู้สนใจในประวัติศาสตร์แห่งความคิดประชาธิปไตย ของคนไทยควรค้นคว้าต่อไปว่าท่านที่ได้กราบบังคมทูลพระพุทธเจ้าหลวงดังกล่าวนั้น เมื่อท่านกลับสยามแล้วท่านเอง ได้มีการปฏิบัติหรือมีการแสดงความเห็นประชาธิปไตยไว้ในที่ใดเมื่อใดบ้าง ข้าพเจ้าเคยเป็นนักเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมในสมัยที่สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ เป็นอธิบดีศาลฎีกา จึงมีโอกาสศึกษาคำพิพากษาฎีกาที่พระองค์ทรงวางบรรทัดฐานไว้ แสดงให้เห็นถึงทรรศนะประชาธิปไตยในทางศาล อาทิ คำพิพากษาฎีกาที่ 326/2455 มีความตอนหนึ่งว่า

 

“...ในคดีที่เป็นอุกฤษฎ์โทษถึงตาย ถ้าการพิจารณายังมิกระจ่าง จะฟังเอาพิรุธนายถมยา ลงโทษถึงตายนี้ยังหมิ่นเหม่ยังมิบังควรและธรรมภาษิตว่าไว้ว่า คดีเมื่อมีเหตุเคลือบแคลงสงสัย แม้จะปล่อยผู้ผิดเสียสัก 10 คน ก็ยังจะดีกว่าลงโทษคนที่หาผิดมิได้คนหนึ่งดังนี้”

 

บรรทัดฐานประชาธิปไตยทางศาลที่พระองค์ได้ทรงวางไว้นั้น ตุลาการในสมัยนั้นและสมัยต่อมาก็ได้ปฏิบัติตามอยู่อีกหลายปี จนกระทั่งซากเก่าแห่งความยุติธรรมตามระบบศักดินาโบราณได้ ฟื้นขึ้นมาอีก จึงมีตุลาการบางคนที่ถือซากทรรศนะเก่าได้ละทั้งธรรมภาษิตที่เป็นรากฐานแห่งทรรศนะประชาธิปไตยในทางศาลดังกล่าวแล้ว

นักเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมสมัยนั้น จำต้องศึกษาพระราชบัญญัติใหญ่น้อย ดังนั้นคนรุ่นนั้นจึงยังพอจำกันได้ถึงพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2460 ประวัติของเรื่องมีอยู่ว่ากระทรวงธรรมการสมัยนั้นกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อกวดขันโรงเรียนราษฎร์ที่สมัยก่อนเอกชนตั้งขึ้นได้โดยไม่ต้องขออนุญาตรัฐบาล กระทรวงธรรมการต้องการให้การตั้งโรงเรียนราษฎร์ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลก่อน อีกทั้งมีข้อบังคับควบคุมโรงเรียนราษฎร์อย่างกวดขัน รัชกาลที่ 6 ได้ทรงส่งร่างพระราชบัญญัติของกระทรวงธรรมการมาให้คณะกรรมการร่างกฎหมายซึ่งสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ ขณะนั้นเป็นกรมหลวงทรงเป็นสภานายก ท่านผู้นี้ได้ตรวจร่างแล้วทรงร่างขึ้นใหม่ด้วย พระองค์เองตามทรรศนะประชาธิปไตยของพระองค์ที่ต้องการให้บุคคลมีเสรีภาพในการให้การศึกษาและให้พลเมืองได้มีการศึกษาอย่างแพร่หลาย เหตุฉะนั้นพระองค์จึงได้ร่างบทบัญญัติไว้ตอนหนึ่งมีใจความว่า ผู้ขอตั้งโรงเรียนราษฎร์ได้ยื่นคำขอต่อกระทรวงธรรมการแล้ว กระทรวงนี้ ไม่ตอบอนุญาตภายในกำหนดเวลาที่กล่าวไว้ ก็ให้ถือว่าเป็นการให้อนุญาตแล้ว รัชกาลที่ 6 ทรงเห็นชอบด้วยจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ฉบับดังกล่าวแล้ว ซึ่งทำให้กระทรวงธรรมการไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งและพยายามแก้ไขพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ทั้งนี้ย่อมแสดงว่าสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ ในขณะยังทรงรับราชการอยู่นั้นมีทรรศนะประชาธิปไตยอยู่บ้างดังกล่าวมานั้น

(2) ผู้ที่เป็นพลังใหม่แท้จริง จะต้องไม่ดูหมิ่นคนธรรมดาสามัญว่าไม่มีความคิดที่จะเรียกร้องให้เปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ

เมื่อครั้งข้าพเจ้าเรียนในชั้นมัธยมเบื้องต้นสมัย 60 ปีกว่ามาแล้ว เคยได้ยินและได้อ่านและได้พบคนธรรมดาสามัญที่มีอายุชราแล้ว 2 คนคือ ก.ส.ร. กุหลาบ ที่ออกนิตยสาร “สยามประเภท” ที่แคะไค้ระบบปกครองสมบูรณาฯ จนมีผู้ใส่ความว่าผู้นี้มีจิตฟุ้งซ่าน แต่เมื่อข้าพเจ้าไปพบก็ไม่เห็นว่าท่านฟุ้งซ่าน อีกคนหนึ่งคือ “เทียนวรรณ” ซึ่งมีฉายาว่า “วรรณาโภ” ท่านผู้นี้มีคติประชาธิปไตยมาก ขณะนั้นท่านหนวดขาวแล้วประมาณว่าขณะนั้นมีอายุเกือบ 70 ปี ข้าพเจ้าพบที่ตึกแถวใกล้วัดบวรนิเวศน์ ท่านผู้นี้เคยติดคุกเพราะเขียนหนังสือและโฆษณาที่ขัดแย้งระบบสมบูรณาฯ ท่านเห็นว่าท่านไม่ผิดกฎหมาย กรณีของท่านจึงเข้าลักษณะมีคำพังเพยโบราณว่า “กฎหมาย สู้กฎหมู่ไม่ได้” ซึ่งแสดงถึงการเล่นพวกของตุลาการสมัยโบราณ แต่ท่านเทียนวรรณที่ถูกติดคุกได้กล่าววลีเติมอีกรวมเป็นดังนี้ “กฎหมาย สู้กฎหมู่ไม่ได้ กฎหมู่ก็ยังสู้กดคอไม่ได้ กดคอก็ยังสู้เจ้าหักคอไม่ได้” นี่ก็แสดงถึงทรรศนะที่ท่านเทียนวรรณมีต่อระบบสมบูรณาฯ ชนรุ่นใหม่หลายคนในยามสมัยนั้นที่ได้อ่าน และสนทนากับท่านเทียนวรรณยังพอจำกันได้ถึงวลีของท่านดังกล่าวนี้ แต่ท่านเป็นคนธรรมดาสามัญจึงไม่ได้รับความสนใจจากผู้ที่ถือทรรศนะตามพลังเก่า และดูเหมือนคนพลังเก่าไม่ยอมกล่าวถึง ก.ส.ร. กุหลาบ และ เทียนวรรณ ซึ่งขณะนั้นเป็นหนุ่มเมื่อ 100 ปีกว่ามาแล้วได้แสดงการเรียกร้องให้เปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ

(3) ชนรุ่นเรียนหนังสือไทยจากหนังสือ “มูลบทบรรพกิจ” ก่อนสมัยมี “แบบเรียนเร็ว” นั้นก็ดี สมัยมีแบบเรียนเร็วแล้วแต่ได้ยินชนรุ่นก่อนๆ กล่าวถึงก็ดี ย่อมจำหรือระลึกได้ว่าเริ่มอ่านตั้งแต่ แม่ ก กา ก็ได้รับคำสอนแสดงถึงความเสื่อมโทรมในระบบสมบูรณาฯ ซึ่งพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้ประพันธ์บทอ่านไว้โดยสมมติถึงความเสื่อมในอาณาจักร “สาวัตถี” มีความเท่าที่ข้าพเจ้าพอจำได้บ้างดังนี้

 

“สาธุสะจะขอไหว้พระศรีไตรสะระณา พ่อแม่แลครูบาเทวดาในราษี………………อยู่มาหมู่ข้าเฝ้าก็หาเยาวนารี ที่หน้าตาดีๆ ทำมโหรีที่เคหา ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ เข้าแต่หอล่อกามา………………หาได้ให้ภริยา โลโภพาให้บ้าใจ………………ถือน้ำร่ำเข้าไป แต่น้ำใจไม่นำพา หาได้ใครหาเอา ไพร่ฟ้าเศร้าในอุรา………………”

 

ในแม่กมนั้น มีความที่มีผู้ฟื้นเอามากล่าวกันมากในรัชกาลที่ 6 เจ้านายบางองค์ที่ปารีสเคยเตือนให้ข้าพเจ้าระลึกความตอนหนึ่งของแม่กมที่มีว่า

 

“เด็จจอมอารย์ ผู้ผ่านภาราสาวัตถี เชื่อกลหลงเล่ห์เสนีย์ กลอกกลับอัปรีย์ บุรีจึงล่มจมไป……………….”

 

ฉะนั้น ย่อมเห็นได้ว่าชนรุ่นที่เรียนหนังสือไทยจากมูลบทบรรพกิจหรือคนรุ่นต่อมาที่ได้ยินชนรุ่นเก่าท่องให้ฟังแล้วก็เกิดสำนึกกันทั่วไปถึงความเสื่อมในระบบสมบูรณาฯ หรือระบบศักดินาที่ล้าหลัง ข้าพเจ้าขอน้อมสักการะพระพุทธเจ้าหลวงที่ทรงมีพระทัยก้าวหน้ากว่าผู้ล้าหลังมาก คือแม้หนังสือมูลบทบรรพกิจจะแต่งขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ แต่พระองค์ก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นักเรียน ใช้เป็นตำราเรียน ได้เพื่อจะได้เกิดจิตสำนึกช่วย พระองค์กำจัดข้าราชการที่ทุจริตเละหน้าไหว้หลังหลอกเอาความเท็จมากราบบังคมทูลและผู้ที่ทำตนเป็นคนนิยมราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดี

(4) ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารใหญ่น้อยมากมาย ได้มีหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในสยามหลายฉบับที่แสดงทรรศนะกล้าหาญ หนังสือพิมพ์เหล่านี้คงหาอ่านยากในปัจจุบันนี้ แต่ถ้าผู้สนใจค้นอย่างเอาจริงเอาจังก็อาจหาได้บ้าง ทรรศนะที่แสดงออกในสยามนี้ช่วยให้ชาวสยามบางส่วนตื่นตัวขึ้นทีละน้อยๆ จนถึงมีผู้คิดใช้กำลังยึดอำนาจรัฐที่มีฉายาว่า “คณะ ร.ศ. 130”

ต่อจากนั้นมาก็มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับ แม้ภายใต้ระบบสมบูรณาฯ ได้กล้าหาญเสี่ยงแก่คุกตะรางเขียนข้อความเรียกร้องให้เปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ บางฉบับถูกปิด บรรณาธิการหลายคนถูกจำคุก แต่ก็มีผู้ออกหนังสือพิมพ์และนิตยสารปลีกย่อยมากมาย

(5) เมื่อข้าพเจ้ากลับประเทศไทยใน พ.ศ. 2470 ภายหลังที่ไปอยู่ในฝรั่งเศสเกือบ 7 ปีนั้นแล้ว ปรากฏว่าชนรุ่นหนุ่มสมัยนั้นชนิดที่ไม่เคยไปเห็นระบบประชาธิปไตยในต่างประเทศ แต่ก็มีความตื่นตัวที่ต้องการเปลี่ยนระบบสมบูรณา ทั้งนี้ก็แสดงถึงว่าผู้ที่มิได้มีความเป็นอยู่อย่างระบบศักดินาเกิดจิตสำนึกที่เขาประสบแก่ตนเอง ถึงความไม่เหมาะสมของระบบนั้นและอิทธิพลที่เขาได้รับจากสื่อมวลชนที่มีลักษณะก้าวหน้าในสมัยนั้น ที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนระบบศักดินามาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะเหตุนั้นพวกข้าพเจ้าจำนวนน้อยที่กลับมาจากยุโรป จึงไม่มีความลำบากมากนัก ในการชวนผู้ตื่นตัวในเมืองไทยให้เข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎร เพราะเขามีพื้นฐานแห่งความต้องการนั้นอยู่แล้ว การที่ชวนเป็นสมาชิกประเภทดี 1 เพียง 100 คนเศษ ก็จำนวนนั้นเป็นการเพียงพอที่จะลงมือทำการเป็นกองหน้าของราษฎรและเพื่อรักษาความลับในวงจำกัด แต่เมื่อเราได้ยึดอำนาจรัฐในวันที่ 24 มิถุนาฯ ได้แล้ว ก็ได้รับความสนับสนุนจากราษฎรจำนวนมหาศาล ทั้งที่มาแสดงความยินดีด้วยตนเองที่พระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งเป็นที่ตั้งกองบัญชาการคณะราษฎร และทางจดหมายกับโทรเลข ประจักษ์พยานยังมีอยู่อีกคือคณะได้มอบให้นายทวี บุณยเกตุ เป็นผู้รับสมัครผู้ที่ขอเข้าร่วมในคณะราษฎรที่สวนสราญรมย์ มีผู้ต้องการสมัครมากมายจนถึงกับเรามีใบสมัครเตรียมไว้ไม่พอแจก จึงแย่งกันที่จะได้ใบสมัคร

ดังนั้น เราจึงถือว่าเราเป็น “คณะราษฎร” เพราะเราทำตรงกับความต้องการของราษฎร “People” ไม่ใช่ตามความประสงค์ของ “Reactionaries”

 

ที่มา : ปรีดี พนมยงค์, “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย,” ใน คำปราศรัย สุนทรพจน์บางเรื่องของนายปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: นีติเวชช์, 2515), น. 93-104.

หมายเหตุ : 

  • ตั้งชื่อบทความโดยกองบรรณาธิการ
  • ปรับอักขรวิธีเป็นปัจจุบัน