ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในความรับรู้ของคนรุ่นหลัง ป๋วยคือผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ นักการธนาคาร นักปฏิบัติผู้ยืนหยัดในแนวคิดสันติประชาธรรม ใต้เงื้อมเงาแห่งยุคเผด็จการทหาร ป๋วยเป็นนายเข้ม เย็นยิ่ง เสรีไทยสายอังกฤษ เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2502-2514 และเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พ.ศ. 2505-2510 ในสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2507-2515 และเป็นศิษย์เก่าคนแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี พ.ศ. 2518 หากหลังวันที่ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 ป๋วยเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศอังกฤษจนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2542
บทความนี้จะนำเสนอชีวประวัติย่อ ผลงานสำคัญของป๋วย อึ๊งภากรณ์ และมิตรภาพระหว่างปรีดี พนมยงค์ นับตั้งแต่เริ่มต้นจากงานในขบวนการเสรีไทยและภายหลังต้องลี้ภัยจากความไม่ชอบธรรมทางการเมือง ท่ามกลางบาดแผลทางประวัติศาสตร์แต่ทั้งสองยังคงรักษาความดี ความกล้าหาญ และสัจจะในการทำประโยชน์เพื่อสังคมไทยไว้ได้อย่างงดงาม
ชีวประวัติย่อของป๋วย อึ๊งภากรณ์
จากครรภ์มารดา
ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2459 ที่บ้านตรอกโรงสูบน้ำ ตลาดน้อย อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร เป็นลูกชายคนที่ 4 ของนางเซาะเช็ง แซ่เตียว มารดาผู้มีเชื้อสายไทย-จีน บุตรสาวคนแรกของเจ้าของร้านขายผ้าที่สำเพ็ง และนายซา แซ่อึ้ง บิดาชาวจีนอพยพมาอยู่เมืองไทยเพื่อทำงานที่แพปลาของพี่ชายตรงปากคลองวัดปทุมคงคา ป๋วยบันทึกว่า “ชื่อของผม ‘ป๋วย’ นั้น เตี่ยผมตั้งคำจีนให้เป็นชื่อตัว...คำว่า ‘ป๋วย’ ตามที่เตี่ยเขียนให้นั้น แปลตรงตัวได้ว่า ‘พูนดินที่โคนต้นไม้’”
หลังจากเตี่ยเสียชีวิตตอนป๋วยอายุ 9 ขวบ ครอบครัวก็มีฐานะยากลำบากแต่แม่เซาะเช็งเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาจึงดิ้นรนส่งลูกชายสองคน คือ ก่ำและป๋วย ให้เรียนในโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก เมื่อป๋วยเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 ได้เกิดการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475 ขึ้น ซึ่งสั่นคลอนความคิดของป๋วยให้เริ่มหันมาสนใจบ้านเมืองและอุดมการณ์ทางสังคม จึงทำให้ป๋วยและเพื่อนชักชวนกันแสวงหาคำตอบจากหนังสือต่างๆ เช่น หนังสือของฌอง ฌาค รุสโซ วอลแตร์ จอห์น สจ๊วต มิลล์ ธอมัส เจฟเฟอร์สัน และอับราฮัม ลินคอล์น รวมทั้งหนังสือเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศส และรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น หากป๋วยมองตนเองเรื่องการเมืองในขณะนั้นว่า “ผมยังคงสังกัดไทยมุง” เพราะไม่ได้เข้ามาร่วมเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างเต็มตัว
จากรั้วโดมถึงลอนดอน
สองปีภายหลังการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ก็สถาปนาขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 โดยมีผู้ประศาสน์การนาม ปรีดี พนมยงค์[2] ได้สานต่อแนวนโยบายในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ข้อ 6 จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร มธก. จึงเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแบบตลาดวิชาและหนึ่งในนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 7,094 คน ของ มธก. คือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ป๋วยสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองภาคค่ำเพราะกลางวันต้องทำงานเป็นครูที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ‘ธรรมศาสตร์บัณฑิต’ ภายในเวลา 3 ปี เมื่อ พ.ศ. 2480
จนกระทั่ง พ.ศ. 2481 ป๋วยสอบแข่งขันได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อด้านเศรษฐศาสตร์และการคลังที่ London School of Economics and Political Science (LSE) วิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทางด้านสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ขณะศึกษาในคณะเศรษฐศาสตร์ที่ LSE ป๋วยเป็นลูกศิษย์ของ Lionel Robbins และ Frederick Hayek ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ และใน พ.ศ. 2484 ป๋วยเรียนจบปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งแบบ Double Firstหมายถึงมีคะแนนสูงที่สุดของเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากผลการเรียนที่ดีเยี่ยมทำให้ป๋วยได้รับทุนลีเวอร์ฮูล์ม (Leverhulme Studentship) เพื่อศึกษาต่อปริญญาเอกทันที หากความสำเร็จครั้งนี้ มารดาของป๋วยไม่ทันได้เห็นเพราะนางเซาะเช็งเสียชีวิตลงตั้งแต่ในปีแรกที่ป๋วยเดินทางมาประเทศอังกฤษ
การงานสำคัญของป๋วย อึ๊งภากรณ์
บทบาทของเสรีไทยในนาม ‘นายเข้ม เย็นยิ่ง’
ป๋วยยังไม่ทันเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอก สงครามโลกครั้งที่สองก็อุบัติขึ้น ทันทีที่ญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาเบอร์ ของสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 และกองบัญชาการของ จอมพล เคานท์ ฮิซะอิจิ เทราอูจิ ที่ตั้งอยู่เมืองไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม ก็สั่งการให้กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนพลเข้าประเทศไทยตามแผนทันทีที่จังหวัดสมุทรปราการ และหลายจังหวัดทางภาคใต้ ต่อมารัฐบาลแถลงแก่ประชาชนว่า “จำเป็นต้องพิจารณาข้อเสนอของรัฐบาลญี่ปุ่นและผ่อนผันให้ทางเดินแก่กองทัพญี่ปุ่น โดยได้รับคำมั่นจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นลายลักษณ์อักษรว่า จะเคารพเอกราช อธิปไตย และเกียรติศักดิ์ของไทย ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงได้ตกลงให้ทางเดินทัพแก่ญี่ปุ่น การต่อสู้ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นก็ได้หยุดลง”
ผลกระทบทันควัน คือ กระแสต่อต้านการตัดสินใจของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จากคนในรัฐบาลไปจนถึงประชาชนอันเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดขบวนการเสรีไทย ที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาอำนาจอธิปไตยของชาติไทยไม่ให้ตกอยู่ในมือของกองทัพญี่ปุ่น ขบวนการเสรีไทยจัดตั้งขึ้นใน 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศอังกฤษ โดยมี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย
ป๋วยเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษ ใน พ.ศ. 2485 และใช้รหัสว่า นายเข้ม เย็นยิ่ง โดยทำงานเป็นอาสาสมัครให้แก่ British Army Pioneers Corps และวันที่ 7 สิงหาคม ปีเดียวกัน คณะเสรีไทยสายอังกฤษก็ได้รับเรียกให้เข้าสมัครเป็นทหารของกองทัพอังกฤษอย่างเป็นทางการและถือเป็นจุดพลิกชีวิตของป๋วย
ป๋วยเล่าถึงชีวิตช่วงเสรีไทยและสงครามโลกครั้งสองไว้ในบทความ “ทหารชั่วคราว” ว่า
“ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ข้าพเจ้าเป็นทหารชั่วคราวตั้งแต่สิงหาคม 2485 จนถึงมกราคม 2489 การสมัครเข้าเป็นทหารครั้งนั้นมีลักษณะผิดธรรมดาอยู่หลายประการ กล่าวคือ เพื่อนฝูงข้าพเจ้าและข้าพเจ้าเป็นคนไทย ยึดถือสัญชาติไทยแต่สมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพอังกฤษและสวมเครื่องแบบทหารอังกฤษ
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในเวลานั้นเป็นเวลาสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับอังกฤษ อเมริกา และญี่ปุ่นรุกรานเข้ามาในประเทศไทย จนรัฐบาลไทยต้องทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น บรรดาคนไทยที่อยู่สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรอังกฤษนั้น รัฐบาลไทยเรียกตัวให้กลับแต่มีอยู่จำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมกลับ แม้ว่ารัฐบาลไทยจะขู่เข็ญว่า ผู้ที่ไม่กลับประเทศไทยตามคำสั่งนั้นจะถูกถอนสัญชาติ ผู้ที่ไม่ยอมกลับประเทศไทยเหล่านั้น เรียกตนเองว่าเสรีไทย...”
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ป๋วยได้รับยศพันตรีแห่งกองทัพบกอังกฤษและเดินทางกลับไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ London School of Economics and Political Science (LSE) มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยทำวิทยานิพนธ์ หัวข้อ การควบคุมดีบุกระหว่างประเทศช่วงสงคราม ค.ศ. 1920 - 1940 (International Tin Control between the Wars 1920 - 1940) และแต่งงานกับ มากาเร็ต สมิท (Magaret Smith) เพื่อนนักศึกษาสมัยเรียนปริญญาตรี ใน พ.ศ. 2489 ปิดฉากบทบาททหารชั่วคราว และเสรีไทย
บทบาทด้านเศรษฐกิจ การพัฒนา และการศึกษาในระบอบอำนาจนิยม
ภายหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ใน พ.ศ. 2492 ป๋วยก็กลับสู่มาตุภูมิพร้อมกับภรรยาและบุตรชายคนแรก “จอน อึ๊งภากรณ์” แล้วเข้ารับราชการในตำแหน่งเศรษฐกร ประจำกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง
ป๋วยมองเศรษฐกิจสมัยรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมว่า “...เศรษฐกิจภายใต้ระบอบเผด็จการ แน่ๆ จะต้องมีอภิสิทธิ์ และจะต้องทุจริต” และเข้ารับราชการทั้งที่รู้ว่ามีการทุจริตเพราะคิดว่า “ผมทำงานรับราชการมา ผมไม่ได้รับใช้เผด็จการ แต่ผมรับใช้ประชาชนผ่านเผด็จการ”
ผลงานช่วงแรกในการรับราชการที่ป๋วยมีส่วนร่วมผลักดันให้ประสบความสำเร็จ คือ โครงการเงินกู้ของธนาคารระหว่างประเทศเพื่อบูรณะและพัฒนาการ[3] เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ป๋วยช่วยให้ไทยได้ลงนามสัญญาเงินกู้ 3 โครงการ รวม 25.4 ล้านดอลลาร์ จากการเจรจาในที่ประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก ณ กรุงวอชิงตัน ด้วยผลงานและความสามารถทำให้ป๋วยเลื่อนตำแหน่งจากเศรษฐกรเป็นผู้ชำนาญการคลัง และผู้เชี่ยวชาญการคลัง ประจำกระทรวงการคลัง ในเวลาอันสั้น
ในวัย 37 ปี ป๋วยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และยังเป็นกรรมการอำนวยการของสภาเศรษฐกิจแห่งชาติควบคู่กับตำแหน่งเดิมที่กระทรวงการคลัง มีหน้าที่หลักในการกำหนดและปรับปรุงนโยบายเศรษฐกิจไทย แต่ป๋วยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้เพียง 7 เดือนเศษก็ถูกปลด เนื่องจากไม่ยอมลู่ตามลม เมื่อพลเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์[4] ต้องการซื้อธนาคารสหธนาคารกรุงเทพ จำกัด ซึ่งธนาคารแห่งนี้ต้องเสียค่าปรับให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยหลายล้านบาท พลเอก สฤษดิ์ จึงต้องการให้ยกเลิกค่าปรับแต่ป๋วยปฏิเสธเลยถูกโอนย้ายจากตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไปเป็นผู้เชี่ยวชาญการคลังที่กระทรวงการคลังดังเดิม
สองปีถัดมา ป๋วยในฐานะผู้ช่วยปลัดกระทรวงการคลังและผู้เชี่ยวชาญ ประจำธนาคารแห่งประเทศไทย มีผลงานปรับปรุงนโยบายเศรษฐกิจของไทยหลายด้าน ทั้งด้านการเงิน การคลัง และการค้า อาทิ เสนอให้ยกเลิกการผูกขาดของสำนักงานข้าวแล้วใช้ระบบการค้าข้าวกับต่างประเทศอย่างเสรี และสร้างเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศโดยเสนอให้รัฐบาลจอมพล ป. ประกาศยกเลิกระบบอัตราแลกเปลี่ยนทางการหลายอัตรา แล้วหันมาใช้อัตราแลกเปลี่ยนทางการเพียงอัตราเดียว ส่งผลให้ทุนสำรองเงินตรามีมูลค่าเพิ่มขึ้น
แต่ใน พ.ศ. 2499 ป๋วยเกิดไปขัดผลประโยชน์ของพล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ เรื่องการเปลี่ยนบริษัทพิมพ์ธนบัตร จึงตัดสินใจเดินทางไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่างนั้นป๋วยได้ขอความช่วยเหลือจาก Public Administration Service ของประเทศสหรัฐอเมริกา ให้เข้ามาศึกษา ปรับปรุงระบบบัญชี การจัดทำงบประมาณ ปรับปรุงระบบจัดเก็บสถิติด้านศุลกากร และจัดเก็บภาษีศุลกากรของไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
หลังจาก จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารยึดอำนาจในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2501 ก็ประกาศนโยบายเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจไทยตามแนวทางธนาคารโลกจึงรื้อโครงสร้างการบริหารงานด้านเศรษฐกิจการคลังขนานใหญ่และชักชวนผู้มีความสามารถเข้ามาร่วมทำงานมากมาย รวมทั้งป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งจอมพล สฤษดิ์ ได้โทรเลขไปถึงป๋วยที่ประเทศอังกฤษเพื่อเสนอให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ป๋วยโทรเลขตอบปฏิเสธเนื่องจากเคยสาบานสมัยเป็นเสรีไทยไว้ว่า “จะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ จนกว่าจะเกษียณอายุราชการ” หากป๋วยก็ยินยอมรับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณในเวลาต่อมา และให้เหตุผลที่เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณไว้ในบทความเหลียวหลัง แลหน้า ว่า
“เมื่อรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารเสร็จก็เรียกตัวผมเข้ามาทำงาน คณะรัฐประหารนั้น ผมเห็นมีผู้หลักผู้ใหญ่ร่วมอยู่เป็นอันมาก เช่น หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ คุณเล้ง ศรีสมวงศ์ คุณทวี บุณยเกตุ คุณพระเวช ยันต์รังสฤษดิ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถือทั้งนั้น จึงตัดสินใจเข้ามาทำงานให้...”
ผลงานสำคัญของป๋วยขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ คือ การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และประกาศใช้พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 รวมทั้งปรับปรุงระเบียบวิธีปฏิบัติทางการคลังต่างๆ อาทิ วิธีการงบประมาณ และการเบิกจ่ายงบประมาณ เป็นต้น
ต่อมา ป๋วยได้รับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เดิมคือสำนักงานธนาคารชาติไทยเปิดทำการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483[5] หากเปิดได้เพียงหนึ่งปีเศษก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นแต่รัฐบาลฯ ได้ตราพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อรักษาอำนาจอธิปไตย และเปลี่ยนฐานะของสำนักงานธนาคารชาติไทยเป็นธนาคารกลางของประเทศ โดยมีพิธีเปิดธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2485 และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยท่านแรก และในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2502 ป๋วยก็เข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นคนที่ 7 ควบคู่ไปกับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ด้วยวัยเพียง 44 ปี เท่านั้น
ภาพความทรงจำของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ช่วงทศวรรษ 2500 จึงเป็นภาพนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาเศรษฐกิจและการธนาคาร หากยังมีการงานที่ป๋วยรักอีกบทบาทคือ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ป๋วยเข้ารับตำแหน่งใน พ.ศ. 2507 ตามคำเชิญชวนของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อธิการบดีฯ ซึ่งขณะนั้นป๋วยยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ขอรับเงินเดือนเพียงครึ่งหนึ่งเพราะว่าต้องการทำงานในตำแหน่งคณบดีฯ ให้เต็มที่ การเรียนการสอนของคณะเศรษฐศาสตร์ในยุคที่ป๋วยเป็นคณบดีจึงไม่ได้ขลุกอยู่แค่ในห้องเรียนอย่างเดียว เพราะหลักสำคัญของการดำเนินงานด้านอุดมศึกษาตามทัศนะของป๋วย คือ ต้องอำนวยประโยชน์ให้แก่สังคมทันทีที่รับตำแหน่งคณบดี ป๋วยก็ตั้งคณะทำงานยกร่างหลักการและระเบียบของโครงการ “ประกาศนียบัตรอาสาสมัครขั้นบัณฑิต” (ป.อ.บ.) ขึ้น และจัดตั้งเป็น “สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร” (ส.บ.อ.) ในสมัยที่ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดี เมื่อ พ.ศ. 2519
8 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2507-2515 ที่ป๋วยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาสำคัญๆ หลายด้าน อาทิ เริ่มใช้หลักสูตรพื้นฐาน และเปลี่ยนเป็นระบบหน่วยกิต และในคณะเศรษฐศาสตร์ ป๋วยก็จัดการยกเครื่องใหม่ ปรับปรุงโครงสร้างภายในคณะฯ อาทิ สร้างอาจารย์ประจำ ปรับปรุงหลักสูตรชั้นปริญญาตรี การจัดตั้งโครงการปริญญาโทศึกษาเป็นภาษาอังกฤษขึ้น และปรับปรุงปริญญาโท ภาคค่ำ ส่งเสริมการอ่านตำรา และก่อตั้งห้องสมุดคณะ เป็นต้น[6]
บริบทการเมืองช่วงเวลานี้มีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 โดย จอมพลถนอม กิตติขจร ทำรัฐประหารรัฐบาลตนเองเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 ระหว่างนี้ป๋วยกำลังทำวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ แต่ยังติดตามปัญหาการเมืองด้วยการเขียนจดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่ง[7] เรียน นายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ[8] เพื่อวิจารณ์รัฐบาลของจอมพล ถนอม ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 และตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในวารสารเศรษฐศาสตร์สาร ฉบับชาวบ้าน ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2515
ท่ามกลางบริบทความขัดแย้งทางการเมืองใน พ.ศ. 2516 ป๋วยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ และได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2516-2518 ต่อมา สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รักษาการแทนอธิการบดี 1 ธันวาคม พ.ศ. 2513-16 ตุลาคม พ.ศ. 2516) ในเวลานั้นใกล้ครบวาระและยืนยันว่าจะไม่รับตำแหน่งต่อ คณาจารย์ส่วนหนึ่งจึงหันมาสนับสนุนป๋วยให้เป็นอธิการบดี
ป๋วยเข้าดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงที่ยากลำบากด้วยถูกบีบคั้นจากทั้งเหตุการณ์ทางการเมืองและเหตุการณ์ภายในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะความขัดแย้งกับนักศึกษา และยังถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ในรายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 1/2519 วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2519 ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัย ป๋วยได้แถลงกรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ซึ่งปรากฏในหนังสือพิมพ์สยามมิศร์ ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2518 ที่ เขียนข่าวพาดพิงว่า “ดร. ป๋วย ใช้พลังนักศึกษาเปลี่ยน มธ. เป็นคอมมูน” ซึ่งบิดเบือนความจริง[9]
หนึ่งปีนับจากนั้นได้เกิดความรุนแรงทางการเมืองอย่างต่อเนื่องทั้งสังหารผู้นำนักศึกษา ชาวนา กรรมกร และมีการชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงมีผู้บุกรุกเข้ามาในมหาวิทยาลัยฯ จนกระทั่งเกิดความรุนแรงในเช้าวันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่ส่งผลให้ป๋วยต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยไปยังประเทศอังกฤษ
มิตรแท้ในยามยากระหว่างปรีดี พนมยงค์ และป๋วย อึ๊งภากรณ์
ยามแรกที่ปรีดี พนมยงค์ ได้รู้จักป๋วย อึ๊งภากรณ์ คือช่วงที่ป๋วยได้รับทุนไปศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษ และปรีดี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งปรีดีเป็นรัฐมนตรีฯ ที่รับผิดชอบการให้ทุนฯ แก่ป๋วยโดยตรงและยังดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อข่าวที่ป๋วยได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ระดับปริญญาตรี และได้รับทุนลีเวอร์ฮูล์ม (Leverhulme Studentship) เพื่อศึกษาต่อปริญญาเอกมาถึงเมืองไทยแล้วปรีดีทราบจึงส่งโทรเลขไปแสดงความยินดีกับป๋วย นั่นถือเป็นครั้งแรกที่ทั้งคู่รู้จักกันผ่านตัวอักษร[10]
ต่อมาป๋วยในบทบาทเสรีไทยต้องติดต่อกับเสรีไทยในประเทศไทยผ่านวิทยุเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2486 โดยกองทัพอังกฤษมีคำสั่งให้ ร้อยตรี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือนามจัดตั้งว่า “เข้ม เย็นยิ่ง” เป็นผู้ติดต่อกับเสรีไทยในประเทศที่มีผู้นำ คือ ปรีดี พนมยงค์ หรือ นามจัดตั้งว่า รูธ[11] แม้ระยะแรกจะยังไม่ได้พบกันแต่ก็ได้ทำงานที่มีเป้าหมายเดียวกันและจากภารกิจเสรีไทยนี้เองที่ได้นำพาป๋วยไปพบกับปรีดี เมื่อป๋วยถูกจับกุมโดยสันติบาลไทยและสอบสวนโดยกองทัพญี่ปุ่นภายหลังกระโดดร่มลงที่หมู่บ้านวังน้ำขาว อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท
ขณะที่ป๋วยกับเพื่อนถูกคุมขังอยู่ที่กองบัญชาการตำรวจสันติบาลทางร้อยตำรวจเอก โพยม จันทรัคคะ เห็นว่าต้องพาป๋วยไปพบกับปรีดี หัวหน้าขบวนการเสรีไทย เพราะว่าป๋วยมีภารกิจนำสาส์นจาก ลอร์ด หลุยส์ เมานต์แบตเตน ผู้บัญชาการสูงสุดของสหประชาชาติมามอบให้ปรีดี ร้อยตำรวจเอกโพยมจึงเป็นสื่อกลางพาป๋วยไปพบกับ วิจิตร ลุลิตานนท์ เลขาธิการ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อให้วิจิตรพาป๋วยไปพบปรีดี และป๋วยก็ได้พบกับปรีดี ที่บ้านของวิจิตรเป็นครั้งแรกพร้อมกับดำเนินภารกิจเสรีไทยลุล่วงไปด้วยดี[12]
กระทั่งในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 เมื่อเยอรมนียอมจำนน ปรีดีได้ส่งสาส์นแสดงความยินดีไปยังกัลกัตตาที่ป๋วยพำนักอยู่และกำลังจะขอลากลับไปพักยังอังกฤษโดยก่อนเดินทาง ปรีดีได้เรียกพบป๋วยและบอกกับป๋วยว่า
“ผมอยากให้คุณไปอังกฤษเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง…ผมอยากให้คุณไปเจรจาขอร้องให้รัฐบาลอังกฤษยอมรับรองขบวนการเสรีไทยว่าเป็นรัฐบาลอันชอบธรรมของไทย ทำนองเดียวกันกับที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้รับรองเราแล้ว…และผมอยากขอร้องอีกข้อด้วย คุณต้องเจรจาขอให้อังกฤษปลดปล่อยเงินสำรองเงินตราที่ไทยฝากไว้ที่อังกฤษ และถูกกักกันอยู่ทั้งหมดด้วย…”
ปรีดียังกำชับด้วยว่าให้ป๋วยติดต่อกับนายแอนโตนี อีเดน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษและบอกกับป๋วยว่าเป็นการทำ “เพื่อชาติ” แม้ป๋วยจะดำเนินการตามคำสั่งอย่างเต็มกำลังแต่ก็ไม่สำเร็จดังคาดหมาย เพราะรัฐบาลพรรคกรรมกรของอังกฤษถือว่าไทยคือศัตรู[13] จนหลังจากเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามและเหตุการณ์ในอังกฤษสงบลงแล้ว ป๋วยเดินทางกลับมายังไทยก็ได้รับยศพันตรีและกลับไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกจนสำเร็จใน พ.ศ. 2491 เมื่อเรียนจบจึงกลับมาอยู่เมืองไทยพร้อมกับครอบครัวคือ ภรรยา และบุตรชายใน พ.ศ. 2492 ซึ่งเป็นช่วงที่ปรีดีลี้ภัยออกจากไปแล้วนับตั้งแต่การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ปรีดีลี้ภัยอยู่ในจีนประมาณ 21 ปี[14] และเดินทางต่อไปยังฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2513
ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล บุตรสาวคนสุดท้องของปรีดี เล่าถึงช่วงแรกที่มาปารีสว่า ตอนนั้นต้องอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ มีพื้นที่เพียง 30 ตารางเมตร เลขที่ 11 rue Emile Dubois เขต 14 ต่อมาได้นำเงินจากการขายที่ดินในกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับการช่วยเหลืออย่างดีจากป๋วยมาซื้อบ้านพร้อมที่ดินหรือ “บ้านอองโตนี” ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 100 ตารางวา ณ เมือง Antony ห่างจากปารีสไปทางทิศใต้ราว 25 กิโลเมตร[15] ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2513 ป๋วยที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เดินทางไปยังปารีสและได้เข้าเยี่ยมคารวะปรีดี ดังบันทึกความทรงจำไว้ว่า
“เมื่ออาจารย์ปรีดีฯ ออกจากประเทศจีนมาอยู่ฝรั่งเศส พ.ศ. 2513 ผมได้กำหนดไว้ก่อนแล้วว่า จะไปพักตากอากาศในประเทศฝรั่งเศส ทั้งนี้โดยไม่ทราบล่วงหน้าว่าอาจารย์จะออกมา เมื่อท่านออกมาแล้ว ก็ได้คิดว่าสมควรจะไปเยี่ยมท่านเป็นการคารวะส่วนตัว ในฐานะศิษย์อาจารย์ และในฐานะที่เป็นเสรีไทยใต้บังคับบัญชาของท่าน…”
และป๋วยยังช่วยเป็นสื่อกลางระหว่างรัฐและปรีดีเรื่องการฟ้องรัฐบาลไทยเพื่อให้จ่ายเงินบำนาญอีกด้วย
[ก่อนไปเยี่ยมปรีดีที่ปารีส-ผู้เขียน] “... ผมจึงได้เข้าพบจอมพลถนอมก่อนเดินทาง เพื่อเรียนท่านว่าผมจะไปเยี่ยมอาจารย์ปรีดีฯ จอมพลถนอมก็แสดงความยินดี และยังได้ฝากให้ผมไปเรียนอาจารย์ปรีดีฯ ด้วยผมก็รับเป็นสื่อให้ และยังนำความจากอาจารย์ปรีดีฯ ด้วย ผมก็รับเป็นสื่อให้ และยังนำความจากอาจารย์ปรีดีฯ มาเรียนจอมพลถนอม ด้วยต่อมาเมื่ออาจารย์ปรีดีฯ ฟ้องรัฐบาลไทยให้ออกหนังสือเดินทางให้ และให้จ่ายเงินบำนาญผมก็ได้เป็นสื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยนอกศาล จอมพลถนอม ก็ยังได้แสดงความชื่นชมยินดีที่ผมได้จัดการสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย”
นอกจากนี้ ป๋วยยังเป็นผู้ประสานใจระหว่าง ไพโรจน์ ชัยนาม และปรีดี จากความบาดหมางเรื่องหนังสือเดินทางด้วยการที่ป๋วยนัดไพโรจน์มากราบปรีดีที่บ้านอองโตนีจนจบลงด้วยดี[16] รวมถึงได้ประสานระหว่างกรณีของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กับ ปรีดี พนมยงค์ ในจดหมายที่ป๋วยเขียนถึงปรีดี เมื่อ พ.ศ. 2515 ที่แสดงให้เห็นถึงความสนิท เคารพ และเห็นใจปรีดีในกรณีการถูกใส่ร้ายทางการเมืองไว้ดังนี้
“3 Barton Close,
Cambridge CB3 9LQ
England.
๒๐ กรกฎาคม ๒๕๑๕
กราบท่านอาจารย์ที่รักและเคารพ
ผมเพิ่งกลับมาจากการเดินทางไปประชุมที่ Canada และ Australia กับ lecture ที่ Malaysia ซึ่งกินเวลาทั้งสิ้นประมาณ ๑ เดือน จึงเพิ่งได้รับจดหมาย ๒๔ มิถุนายนของท่านอาจารย์พร้อมด้วยหนังสือ “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย” กับ “บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมศานุวงศ์ฯ” ซึ่งท่านอาจารย์กรุณาส่งมา ผมขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง
ผมเห็นใจท่านอาจารย์เป็นอย่างยิ่งที่ได้รับการใส่ร้ายเหยียดหยามมาหลายครั้งตลอดเวลา ๒๐ ปีเศษ และสุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ซึ่งก็ชอบพอกับผมดีในเรื่องอื่น) ก็เป็นคนหนึ่งที่ให้ความอยุติธรรมแก่ท่านอาจารย์เป็นอย่างมาก ผมไม่ได้เห็นด้วยกับสุลักษณ์เลยในเรื่องนี้ ผมเห็นว่าที่ท่านอาจารย์ได้เขียนเพิ่มเติมไปนั้นก็ชอบอยู่ถ้าเป็นผมก็คงจะอดโต้ตอบไม่ได้เป็นแน่
ผมใคร่ขอกราบเรียนด้วยความเคารพว่า บทความเรื่องการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตยนั้น เป็นเรื่องที่มีคุณค่าอย่างยิ่งสําหรับประวัติศาสตร์ แต่เท่าที่ได้สังเกตดูจากปฏิกิริยาของเด็กรุ่นหนุ่มสาวปัจจุบัน ถ้าท่านอาจารย์จะแยกเรื่องของสุลักษณ์ออกเสียเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก จะทําให้น้ําหนักของทั้งสองตอนเพิ่มมากขึ้น เพราะเรื่องตอนต้นเป็นเรื่องข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหลักการและปรัชญา ซึ่งทุกคนจะพึงรับและเคารพ ส่วนตอนหลังซึ่งผมเข้าใจว่าท่านอาจารย์เจตนาจะโต้สุลักษณ์ที่เขียนวิจารณ์ The Devil's Discus นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับสุลักษณ์โดยตรง ซึ่งท่านอาจารย์นํามารวมกัน ทําให้เห็นเป็นเรื่องทําให้สุลักษณ์มีความสําคัญจนเกินไป และขณะนี้สุลักษณ์ก็มีปฏิกิริยารุนแรงโต้ตอบท่านอาจารย์ในหนังสือ อนาคต ของเขา ข้อนี้สําหรับหนุ่มสาวที่ไม่ทราบเรื่องและได้ถูกย้อมสมองมานานคงจะเห็นเป็นเรื่อง controversial ฟังเป็นยุติไม่ได้ ไม่เหมือนผมที่เข้าใจเจตนาท่านอาจารย์ดี และมี sympathy ต่อท่านอาจารย์ตลอดเวลา
ผมเองเห็นตรงกันข้ามกับสุลักษณ์ในเรื่องท่านอาจารย์และท่านชิ้น ฯลฯ แต่เห็นว่าสุลักษณ์เองก็มีเจตนาดีต่อบ้านเมืองและในหนังสือ อนาคต ฉบับเดียวกันนั้น ได้กล้าหาญเขียนคัดค้านเรื่องอดีต ส.ส. ๓ คน เป็นบทความที่ผมเห็นว่าเขียนดีมาก ผมอยากจะได้สุลักษณ์ไว้เป็นกําลังต่อต้านผู้มีอํานาจในปัจจุบัน และต่อต้านคนอย่างคึกฤทธิ์ ฉะนั้นผมจึงจะพยายามขอร้องให้สุลักษณ์ยุติการเขียนเป็นปรปักษ์กับท่านอาจารย์ เพราะอย่างน้อยก็ตรงกันที่รักเสรีภาพและสนับสนุนเสรีภาพ ผมจึงขอกราบเรียนวิงวอนท่านอาจารย์ว่าอย่าได้โต้ตอบต่อไปเลย ขอได้โปรดอภัยให้ผม และผมจะว่ากล่าวสุลักษณ์ต่อไป ข้อที่สุลักษณ์นํามากล่าวที่ผมเห็นว่าอ่อนที่สุด คือ เอาคณะราษฎรมาปะปนกับจอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ และจอมพลถนอม-ประภาส และณรงค์ ผมหวังว่าจะได้พบสุลักษณ์ในไม่ช้าและจะพยายามปรับความเข้าใจให้สุลักษณ์เห็นด้วยกับผม
เมื่อผมไปถึงกัวลาลัมเปอร์ ผมมีเวลาพอที่จะเข้าไปกรุงเทพสัก ๒ วันแต่ผมมายั้งคิดดูตามที่ท่านอาจารย์และคุณพูนศุขกรุณาแนะนําผมไว้ว่าไม่ควรเข้าไปเสี่ยงภัย เพราะเขาปลุกพยานเท็จได้ง่ายผมจึงระงับเสีย ไม่แวะเข้าไปกรุงเทพและผมตัดสินใจว่าจะอยู่ Cambridge ต่ออีก ๑ ปี หรือจนกว่าบ้านเมืองไทยจะมีเสรีภาพพอให้ผมทําอะไรได้บ้างจึงจะกลับไป
ผมหวังว่าท่านอาจารย์คงจะเป็นสุขสบายดีและไม่มีเรื่องขุ่นหมองใจนัก หากในจดหมายนี้ผมได้กราบเรียนสิ่งใดเป็นที่เคืองระคาย ขอได้โปรดให้อภัยแก่ผมด้วย เพราะผมไม่มีเจตนาอย่างอื่นนอกจากจะอยากให้ท่านอาจารย์ได้รับความเคารพจากคนไทยทุกรุ่น สมกับที่ท่านอาจารย์ได้ปฏิบัติและบําเพ็ญประโยชน์แก่พวกผมมาเป็นเวลานาน
ด้วยความรักและเคารพ
ป๋วย อึ้งภากรณ์
ผมได้พบ Michael Wrigley เมื่อวันวานนี้ เขาถามถึงท่านอาจารย์และอวดว่า ได้รับคริสต์มาสการ์ดจากท่านอาจารย์ด้วย”[17]
จดหมายฉบับนี้ตีพิมพ์ในหนังสือมิตรแท้ในยามยาก ซึ่งรวบรวมจดหมายของปรีดี และป๋วยที่เขียนตอบโต้กันในช่วงวิกฤตการณ์เมืองไทย พ.ศ. 2513-2515 ไว้อย่างน่าสนใจหลายฉบับ กระทั่งความขัดแย้งทางการเมืองไทยพุ่งสู่จุดสูงในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 โดยภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ป๋วยจำต้องลี้ภัยทางการเมืองออกนอกประเทศไทยเนื่องจากถูกใส่ร้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์และถูกคุกคามชีวิต ป๋วยเดินทางไปยังประเทศอังกฤษ เมื่อตั้งหลักได้ใน พ.ศ. 2520 จึงเดินทางมาเยี่ยมปรีดีที่ปารีสอีกครั้งและครั้งนี้ทั้งสองต่างตกอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง วาณี พนมยงค์ เล่าถึงการมาเยือนของป๋วยว่า
“คุณป๋วยฯ พักอยู่ที่บ้านอองโตนีหลายคืน ห้องรับแขกเล็กๆ ขนาดกว้างยาวประมาณ 20 ตารางเมตร ตอนกลางวันเป็นห้องเอนกประสงค์ ทั้งรับแขก และรับประทานอาหาร ตกกลางคืน เพียงแค่กางเตียงผ้าใบเล็กๆ เพิ่มขึ้น ห้องนี้ก็แปลสภาพเป็นห้องนอนคุณป๋วย…”
ป๋วยยังได้พาวาณี และหลานๆ ไปดูหนังและนั่งดื่มกาแฟ จิบเบียร์ สนทนากันในช่วงเวลาที่อยู่ปารีส
“วันหนึ่ง คุณป๋วยฯ ชวนลูกๆ ของคุณพ่อ (ปรีดีฯ) นั่งรถไฟใต้ดินไปดูภาพยนตร์ เรื่องอะไรจำไม่ได้แล้ว แสดงโดยอแลง เดอลอง (Alain Delon) พระเอกชาวฝรั่งเศสที่กำลังโด่งดังอยู่ในขณะนั้น บางทีก็ชวนกันไปนั่งที่ร้านกาแฟริมถนน จิบเบียร์เย็นๆ คุยกันสบายๆ ในบรรยากาศผ่อนคลาย”[18]
ปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2520 ในอังกฤษหลังจากที่ป๋วยกลับมาจากเยี่ยมคารวะปรีดี ก็เกิดอาการเส้นโลหิตในสมองแตก (Stroke) ส่งผลให้พูดและเขียนได้ไม่คล่องดังเดิมโดยจอน อึ๊งภากรณ์ บุตรชายคนโตของป๋วย เล่าถึงอาการป่วยและสวัสดิการที่ได้รับจากสังคมอังกฤษไว้ว่า
“ปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2520 ก่อนเดินทางไปพบปะคนไทยในอเมริกาเพียง 1 วัน คุณพ่อเส้นโลหิตในสมองแตก (Stroke) ยังดีที่เหตุเกิดในอังกฤษเพราะที่นั่นมีประกันสังคม ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล คุณพ่อรักษาฟรีทุกอย่างตลอด 3 เดือนในโรงพยาบาลและสถานพักฟื้น…”[19]
บทบาทของป๋วยและปรีดี ภายหลังการลี้ภัยทางการเมืองในทศวรรษ 2510 นั้นมีความคล้ายคลึงกันคือการให้ความรู้และเผยแพร่ความคิดทางการเมืองแก่นิสิตนักศึกษายังต่างแดน รวมถึงการส่งข้อเขียนมาลงในหนังสือนักศึกษาที่เฟื่องฟูหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทางฝ่ายปรีดีจะแสดงความรู้เกี่ยวกับการอภิวัฒน์สยาม 2475 เป็นหลัก โดยการให้สัมภาษณ์ งานเขียน และการแสดงปาฐกถาต่างๆ ไม่ว่าจะในแง่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อบกพร่องของคณะราษฎรในทัศนะของตน ส่วนบทบาทของป๋วยภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จะเน้นการเผยแพร่ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย และเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองช่วง 6 ตุลาฯ เป็นหลัก
งานเลี้ยงยังมีวันเลิกราและฉากสุดท้ายของชีวิตก็มาถึงโดยมิตรปรีดี ได้จากไปเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ป๋วยได้เขียนจดหมายแสดงความเสียใจมายังครอบครัวปรีดี-พูนศุข ด้วยมือซ้ายที่ผ่านการฝึกฝนอย่างอดทน
หลังการอสัญกรรมของปรีดีทางครอบครัวของป๋วยและมากาเร็ต ภรรยา ก็ยังไปมาหาสู่กับครอบครัวปรีดี เช่น เมื่อป๋วยเดินทางมาไทยครั้งแรกหลัง 6 ตุลา ใน พ.ศ. 2530 ป๋วย ก็ได้ไปเยี่ยมพูนศุข พนมยงค์ ภรรยาของปรีดีและครอบครัวที่ซอยสวนพลู
เมื่อพูนศุขเดินทางไปประเทศอังกฤษก็ไปเยี่ยมป๋วยและภรรยา มิตรภาพยังสานสัมพันธ์ตราบจนป๋วยถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ซึ่งปิดฉากบทบาททางสังคมการเมืองของป๋วย อึ๊งภากรณ์ ลง แต่ในยามรำลึกถึงป๋วยในมุมของมิตรย่อมต้องมีภาพของปรีดี พนมยงค์ เป็น “มิตรแท้ในยามยาก” คนสำคัญนับตั้งแต่ช่วงขบวนการเสรีไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงการลี้ภัยการเมืองหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ยามบั้นปลายชีวิตปรีดีกับป๋วยยังเป็นมิตรทางความคิดเรื่องรัฐสวัสดิการกล่าวคือ ในอดีตปรีดีเคยเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ ด้วยอุดมคติต้องการให้เกิดความเสมอภาคทางเศรษฐกิจแก่สังคมและราษฎรสยาม
ขณะที่ป๋วยเสนอแนวคิดรัฐสวัสดิการไว้ในข้อเขียนเรื่อง คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ที่ทั้งกระตุ้นให้คิด และเป็นเสมือนข้อเรียกร้องต่อรัฐเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนคนหนุ่มสาว
“...ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดี และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันโรคแก่ผมฟรี กับบริการการแพทย์ รักษาพยาบาลอย่างถูกอย่างดี เจ็บป่วยเมื่อใดหาหมอพยาบาลได้สะดวก
ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ น้ำดื่มบริสุทธิ์สำหรับดื่ม
เรื่องอะไรที่ผมทำเองไม่ได้ หรือได้แต่ไม่ดี ผมก็จะขอความร่วมมือกับเพื่อนฝูงในรูปสหกรณ์ หรือสโมสร หรือสหภาพ จะได้ช่วยซึ่งกันและกัน
เรื่องที่ผมจะเรียกร้องข้างต้นนี้ ผมไม่เรียกร้องเปล่า ผมยินดีเสียภาษีอากรให้ส่วนรวมตามอัตภาพ
ผมต้องการโอกาสที่มีส่วนในสังคมรอบตัวผม ต้องการมีส่วนในการวินิจฉัยโชคชะตาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ…”
แนวคิดรัฐสวัสดิการข้างต้นจึงเปรียบดั่งปณิธานในวาระสุดท้ายของป๋วย อึ๊งภากรณ์
ที่มาของภาพ : ดุษฎี พนมยงค์, ท่านมองเห็นอะไร ? ข้างหลังภาพปรีดี-ป๋วย ใน ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2559 หนังสือที่ระลึกในวาระ 116 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), หน้า 1-23. และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี
บรรณานุกรม
เอกสารชั้นต้น :
- หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ทม.4.1.1.16/57 เอกสารทบวงมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง รายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 1/2519 วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2519
หนังสือภาษาไทย :
- กษิดิศ อนันทนาธร บรรณาธิการ, ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2559 หนังสือที่ระลึกในวาระ 116 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559)
- ชมัยพร แสงกระจ่าง, ดอกหญ้าเหนือผืนดิน, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559)
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะฯ, ปรีดี ป๋วย กับธรรมศาสตร์ และการเมือง, ( กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, 2549)
- ดุษฎี พนมยงค์, ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต 21 ปีในจีน, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2555)
- ดุษฎี พนมยงค์, ท่านมองเห็นอะไร ? ข้างหลังภาพปรีดี-ป๋วย ใน ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2559 หนังสือที่ระลึกในวาระ 116 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), หน้า 1-23.
- ป๋วย อึ๊งภากรณ์, อัตชีวประวัติ: เหลียวหลัง แลหน้า พิมพ์ครั้งที่ 2 ปรับปรุงใหม่, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559)
- ป๋วย อึ๊งภากรณ์, “จดหมายจากป๋วย ถึงปรีดี ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2515,” ใน มิตรแท้ ในยามยาก, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559)
- รวินทร์ คำโพธิ์ทอง, ศาสตราจารย์ พันตรี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีผู้เป็นแบบอย่างความดี ความงาม และความกล้าหาญ (พ.ศ. 2518-2519) ใน วารุณี โอสถารมย์ และคณะฯ, ผู้ประศาสน์การและอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2477-2556): ประวัติชีวิต ความคิด และการทำงาน, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุและหอประวัติศาสตร์เกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; 2556), หน้า 246-289.
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :
- กษิดิศ อนันทนาธร. (1 ธันวาคม 2564). เรื่องของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กับ นายปรีดี พนมยงค์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/12/908
- เขมภัทร ทฤษฎิคุณ. (9 มีนาคม 2565). นึกถึงคนชื่อป๋วยในวันที่สังคมไทยไม่เป็นสันติประชาธรรม. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2022/03/1000
- โครงการ 100 ปีชาตกาล ศ. ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. จดหมายเหตุฯ ป๋วย เอกสารชั้นต้นที่เขียนด้วยลายมือโดยป๋วยในเรื่องต่างๆ. สืบค้นจาก www.puey-ungpakorn.org/index.php/archives
- ป๋วย อึ๊งภากรณ์. (21 สิงหาคม 2563). พระบรมวงศานุวงศ์และขบวนการเสรีไทย. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/08/389
- ป๋วย อึ๊งภากรณ์. คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน. สืบค้นจาก http://www.openbase.in.th/files/ebook/pueyungphakorn/life.pdf
- 100 ปี ชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์. (12 กุมภาพันธ์ 2558). ร่างแรกของ “จดหมาย นายเข้ม เย็นยิ่ง เรียน นายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ”. สืบค้นจาก https://web.facebook.com/Puey100/posts/895654643809134/
[1] ถ่ายภาพโดย ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร
[2] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม คือ บรรดาศักดิ์ของปรีดี พนมยงค์ ณ ขณะนั้น
[3] ธนาคารโลก-ในปัจจุบัน
[4] ยศในขณะนั้น
[5] เมื่อพลตรีหลวงพิบูลสงครามเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2481 และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้รื้อฟื้นเรื่องการจัดตั้งธนาคารชาติขึ้นมาใหม่ และในที่สุดก็สามารถร่างกฎหมายจัดตั้งธนาคารชาติไทยสำเร็จ โดยให้มีฐานะเป็นทบวงการเมือง สังกัดกระทรวงการคลัง และมีพระยาทรงสุรรัชฎ์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นผู้อำนวยการ วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย คือ เพื่อประกอบกิจการธนาคาร รับฝากเงินของรัฐบาล ส่วนราชการ และธนาคารพาณิชย์ของไทยหรือต่างประเทศ รวมถึงให้กู้เงินและจัดการเงินกู้แก่รัฐบาล ที่สำคัญคือ เตรียมการจัดตั้งธนาคารแห่งชาติ และจัดตั้งสำเร็จใน พ.ศ. 2483
[6] รวินทร์ คำโพธิ์ทอง, ศาสตราจารย์ พันตรี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีผู้เป็นแบบ อย่างความดี ความงาม และความกล้าหาญ (พ.ศ. 2518-2519) ใน วารุณี โอสถารมย์ และคณะฯ, ผู้ประศาสน์การและอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2477-2556): ประวัติชีวิต ความคิด และการทำงาน, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุและหอประวัติศาสตร์เกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; 2556), หน้า 246-289.
[7] เข้ม เย็นยิ่ง คือนามจัดตั้งในขบวนการเสรีไทยของป๋วย อึ๊งภากรณ์
[8] ฉบับร่างของจดหมายฯ นี้ โปรดดูเพิ่มเติมที่ 100 ปี ชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์. (12 กุมภาพันธ์ 2558). ร่างแรกของ “จดหมาย นายเข้ม เย็นยิ่ง เรียน นายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ”. สืบค้นจาก https://web.facebook.com/Puey100/posts/895654643809134/?_rdc=1&_rdr
[9] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ทม.4.1.1.16/57 เอกสารทบวงมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง รายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 1/2519 วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2519, หน้า 8.
[10] ชมัยพร แสงกระจ่าง, ดอกหญ้าเหนือผืนดิน, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), หน้า 42.
[11] เรื่องเดียวกัน, หน้า 51-52.
[12] เรื่องเดียวกัน, หน้า 97-98.
[13] เรื่องเดียวกันหน้า 102-106.
[14] ดุษฎี พนมยงค์, ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต 21 ปีในจีน, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2555)
[15] ดุษฎี พนมยงค์, ท่านมองเห็นอะไร ? ข้างหลังภาพปรีดี-ป๋วย ใน ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2559 หนังสือที่ระลึกในวาระ 116 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), หน้า 2.
[16] เรื่องเดียวกัน, หน้า 11-12.
[17] ป๋วย อึ๊งภากรณ์, “จดหมายจากป๋วย ถึงปรีดี ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2515,” ใน มิตรแท้ในยามยาก, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), หน้า 123-125.
[18] ดุษฎี พนมยงค์, ท่านมองเห็นอะไร ? ข้างหลังภาพปรีดี-ป๋วย ใน ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2559 หนังสือที่ระลึกในวาระ 116 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), หน้า 13-14.
[19] เรื่องเดียวกัน, หน้า 20-21.
- ป๋วย อึ๊งภากรณ์
- รวินทร์ คำโพธิ์ทอง
- ปรีดี พนมยงค์
- เข้ม เย็นยิ่ง
- แนวคิดสันติประชาธรรม
- ขบวนการเสรีไทย
- สฤษดิ์ ธนะรัชต์
- ถนอม กิตติขจร
- 6 ตุลา 2519
- จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน
- ซา แซ่อึ้ง
- เซาะเช็ง แซ่เตียว
- อับราฮัม ลินคอล์น
- การปฏิวัติฝรั่งเศส
- มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
- การอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475
- หลัก 6 ประการ
- Lionel Robbins
- Frederick Hayek
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- เคานท์ ฮิซะอิจิ เทราอูจิ
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- British Army Pioneers Corps
- มากาเร็ต สมิท
- Magaret Smith
- จอน อึ๊งภากรณ์
- เผ่า ศรียานนท์
- Public Administration Service
- เดช สนิทวงศ์
- เล้ง ศรีสมวงศ์
- ทวี บุณยเกตุ
- พระเวช ยันต์รังสฤษดิ์
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย
- พูนศุข พนมยงค์
- ทำนุ เกียรติก้อง
- สัญญา ธรรมศักดิ์
- หลุยส์ เมานต์แบตเตน
- Louis Mountbatten
- วาณี พนมยงค์
- ปาล พนมยงค์
- 14 ตุลาคม 2516
- ดุษฎี พนมยงค์