ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

แนวคิดของปรีดี พนมยงค์และคณะราษฎร เรื่องการเลือกตั้งครั้งแรกของสยาม

15
พฤศจิกายน
2565
[ภาพจากซ้ายไปขวา] หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์  พระยาพหลพลพยุหเสนา และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ในช่วงทศวรรษแรกหลังการอภิวัฒน์สยาม
[ภาพจากซ้ายไปขวา] หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์  พระยาพหลพลพยุหเสนา และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ในช่วงทศวรรษแรกหลังการอภิวัฒน์สยาม

 

การอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้เปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองไทยให้เข้าสู่ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญซึ่งมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อจัดระเบียบการปกครองและกำเนิดประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาครั้งแรกของสยาม พร้อมกับสร้างกลไกการปกครองแบบประชาธิปไตยทั้งแบบรวดเร็วและค่อยเป็นค่อยไปโดยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ การจัดการเลือกตั้ง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการให้จัดตั้งพรรคการเมืองได้ในเวลาต่อมา

ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 แค่ราว 1 ปี ทางรัฐบาลคณะราษฎรก็จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกขึ้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 โดยใช้วิธีการเลือกตั้งทางอ้อมที่ให้ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนตำบลก่อนแล้วจึงให้ผู้แทนตำบลเลือกผู้แทนราษฎรอีกทอดหนึ่งซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้แม้จะเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมหากแต่ได้สะท้อนให้เห็นความพยายามออกแบบสถาบันการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยของ คณะราษฎร ที่ต้องการจะให้อำนาจทั้งหลายเป็นของปวงชน ปัจจุบันก็ยังมีงานศึกษาเรื่องการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยามไม่มากนักและเน้นไปที่จุดตั้งต้น พัฒนาการ และแง่มุมของปฏิกิริยาทางสังคม[1] โดยยังขาดมิติทางความคิด และหลักการ รวมถึงข้อถกเถียงของคณะราษฎร และแนวคิดปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่เสนอแนวทางเรื่องการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกขึ้น

ผู้เขียนจึงขอเปิดมุมมองนี้อย่างละเอียดผ่านรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2475-2476 จำนวน 3 ฉบับ ดังต่อไปนี้  

 

แนวคิดของปรีดี พนมยงค์และคณะราษฎรเรื่องการเลือกตั้งครั้งแรกของสยาม

 

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 44 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 44 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475

 

ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เพียง 7 วัน ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรขึ้นในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2475[2] โดยได้มีการพิจารณาเรื่องพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2475 ซึ่งอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้จัดร่างขึ้นและ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ปรีดี พนมยงค์ (ผู้เขียนขอใช้นามปรีดี นับจากนี้เป็นต้นไป) เป็นผู้ทำร่างฯ นี้ขึ้นเป็นครั้งแรก

แนวคิดเบื้องแรกของคณะราษฎรเกี่ยวกับการบัญญัติเรื่องการเลือกตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นทางประธานคณะกรรมการราษฎร คือพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ชี้แจงว่า

 

“เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และมีข้อความหลายข้อที่ตัดเอามาจากพระธรรมนูญชั่วคราวมาลงไว้ในพระราชบัญญัตินี้ เพราะคิดว่าข้อความเหล่านั้นอาจจะต้องแก้ไขเสมอตามเหตุการณ์จะพึงเป็นพึงมีในฉะเพาะกาล เพราะฉะนั้นจึ่งเอามาใส่ไว้เพื่อจะได้แก้ไขได้ง่ายตามเหตุการณ์ ฉะนั้น อนุกรรมการจึ่งได้ร่างขึ้นมาเสียด้วย...ซึ่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้ทำร่างนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก...”

 

ปรีดีอธิบายและชี้แจงถึงแนวคิดและหลักการของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ นี้ รวมทั้งยอมรับการปรับแก้ไขจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง 47 มาตรา โดยปรีดี กล่าวถึงความสำคัญของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ว่าได้แบ่งออกเป็นความใหญ่ 2 ภาค คือ ภาค 1 ว่าด้วยสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 คือ ประเภทที่ราษฎรเลือกตั้ง และภาค 2 ว่าด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 คือประเภทที่จะตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ด้วยวิธีปลดหรือตั้งเพิ่มเติมซึ่งเป็นคนละวิธีกับประเภทที่ 1

ใจความสำคัญของภาค 1 ว่าด้วยสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 นั้น ปรีดีชี้แจงเรื่องหลักการเบื้องต้นอันเป็นที่มาของการเลือกตั้งทางอ้อมไว้ว่า

 

“แต่เดิมในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เรากำหนดให้มีเลือกตั้ง 3 ชั้น หรือ 3 ดีกรี คือให้ราษฎรเลือกผู้แทนหมู่บ้าน ผู้แทนหมู่บ้านเลือกผู้แทนตำบล ผู้แทนตำบลเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง

แต่ต่อมาเมื่อได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ให้พิจารณาเห็นว่าสมควรจะตัดชั้นแรก หรือดีกรีแรกออกเสีย จะทำให้ประหยัดทั้งเวลาและเป็นการที่จะอบรมให้ราษฎรได้มีการเลือกตั้งน้อยดีกรีขึ้นและต่อไปผลที่สุดเมื่อบ้านเมืองและเหตุการณ์ของเราเรียบร้อยเจริญดีแล้ว ราษฎรก็เลือกผู้แทนของตนโดยตรงทีเดียว...”

 

พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งผู้แทนตำบล และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 1 พุทธศักราช 2476
พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งผู้แทนตำบล และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 1 พุทธศักราช 2476

 

ปรีดีเผยให้เห็นแนวคิดของการเลือกตั้งทางอ้อมเป็นครั้งแรกในการประชุมสภาฯ ครั้งนี้อย่างละเอียดอีกว่า

 

“…ชั้นแรก ราษฎรในตำบลเลือกตั้งผู้แทนตำบลละคน ผู้แทนตำบลที่ได้รับเลือกตั้งก็ไปออกเสียงเลือกผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง แต่ใครจะเป็นผู้แทนตำบลนั้น ก่อนที่จะเป็นต้องไปสมัครไว้ก่อน ส่วนการสมัครจะมีคุณสมบัติอย่างไรนั้น ก็มีว่าต้องมีภูมิลำเนาหรือมีอสังหาริมทรัพย์หรือเป็นบุคคลที่เกิดในที่นั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง และการที่จะสมัครเป็นผู้แทนราษฎรก็เช่นเดียวกัน…และไม่จำเป็นว่าผู้แทนตำบลนั้นจะต้องเลือกคนที่มีบ้านประจำในตำบลนั้น วิธีเช่นนี้ในนานาประเทศเขาก็ทำกัน เช่นเราจะเห็นได้เช่นผู้อยู่ในปารีส อาจจะเป็นผู้สมัครรับเลือกทางหัวเมืองทางปักษ์ใต้ ฝ่ายเหนือ ก็ได้...” 

 

เข็มติดหน้าอกผู้แทนตำบล พ.ศ. 2476
เข็มติดหน้าอกผู้แทนตำบล พ.ศ. 2476

 

และยังได้กำหนดหลักการการเลือกตั้งตามจำนวนประชากรเป็นครั้งแรก โดยให้ผู้แทนตำบลเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้จังหวัดละ 1 คน แต่ถ้าจังหวัดใดมีพลเมืองเกินกว่าหนึ่งแสนคนให้เลือกผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ทุกๆ หนึ่งแสนและเศษของหนึ่งแสนถ้าถึงครึ่งให้นับเป็นหนึ่งแสน ปรีดีคำนวณว่าจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 1 ราว 120 คน ซึ่งในภาคแรกนี้มีข้อถกเถียงประการหลักกันในเรื่องคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเฉพาะในเรื่องอายุ สัญชาติ และอาชีพ ซึ่งในเรื่องของอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งผู้แทนตำบลและผู้แทนราษฎรนั้น กำหนดไว้ที่ 23 ปีบริบูรณ์ โดยถือเกณฑ์ความเป็นผู้ใหญ่เต็มที่หลังปลดประจำการจากการเกณฑ์ทหารแล้วแต่มีข้อถกเถียงเกิดขึ้นว่าควรจะกำหนดไว้ที่อายุ 25 ปี เพราะมีความรู้ความชำนาญดีกว่าแต่ปรีดีอธิบายเหตุผลเรื่องอายุไว้อย่างก้าวหน้าว่า

 

“ในเรื่องอายุนี้เราก็ได้คิดกันแล้ว ความจริงนั้นผู้ที่ราษฎรจะเลือกตั้งนั้น  เขาก็ย่อมเลือกเฟ้นแล้วว่าเป็นบุคคลดีพอ เป็นผู้ใหญ่ที่วางใจได้

สำหรับอายุนั้นเห็นว่าไม่เป็นการสำคัญเท่าใด บางคนอายุน้อยก็ทำการใหญ่โตได้...”

 

แนวคิดเรื่องเกณฑ์อายุการเลือกตั้งของปรีดีนี้มี พระยามานวราชเสวี และ พระยานิติศาสตร์ไพศาล สนับสนุนว่า อายุ 23 ปี นั้นมีความรู้ความชำนาญและสมควรมีสิทธิเลือกตั้งและสมัครเป็นผู้แทนราษฎรได้แล้ว

ส่วนในประเด็นเรื่องสิทธิของผู้หญิงในการเลือกตั้งนั้นได้มี มังกร สามเสน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกล่าวถามว่า

 

“ในพระราชบัญญัติเลือกตั้งนี้ สงสัยว่าผู้หญิงจะรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรได้หรือไม่ เพราะไม่ได้ระบุเพศแต่ทางราชการไม่เคยนิยมให้เพศหญิงเกี่ยวข้องแก่การเมืองจึ่งควรทำความเข้าใจให้ชัดเจน”

 

และได้รับคำตอบที่แยบคายจาก พระยาราชวังสัน ว่า

 

“ในพระราชบัญญัติมิได้บ่งไว้ว่าเพศใดและผู้หญิงก็คือราษฎรเช่นเดียวกับชาย ฉะนั้นไม่มีข้อห้ามว่าผู้หญิงจะสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้”

 

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลของคณะราษฎรชุดแรกนี้ตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและความเสมอภาคทางเพศของหญิงและชายโดยแสดงออกทางความคิดและรูปธรรมทางหลักกฎหมายเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติในเวลาต่อมา

ส่วนปัญหาประการหนึ่งของการเลือกตั้งครั้งแรกที่ถูกหยิบยกมาพิจารณาและถกเถียงกันอย่างเข้มข้นและแหลมคม คือ การหาผู้สมัครผู้แทนตำบลไม่ได้เนื่องจากในสยามเวลานั้นยังมีพื้นที่ชนบทห่างไกลอยู่มาก และต้องเสียเงินค่าสมัคร 4 บาท ซึ่ง พระยาจ่าแสนยบดีศรีบริบาล กล่าวถึงประเด็นการเสียเงินค่าสมัครฯ อย่างตรงไปตรงมาว่า “แม้เงินรัชชูปการก็ยังเก็บยาก ปัญหาขัดข้องนี้อาจมีบ้างจะมีหนทางแก้ไขอย่างไร”

ปรีดีตอบกลับว่า

 

“เรื่องนี้ได้คิดแล้วว่า ผู้สมัครต้องมี กอปรทั้งมีสมาคมคณะราษฎร เมื่อไม่มีใครสมัคร สมาคมคณะราษฎรจะจัดให้มีผู้สมัครจงได้ อนึ่ง ผู้ที่จะรับเลือกต้องพยายามไปหาผู้แทนตำบล การนี้เป็นศิลปะชนิดหนึ่งของการเลือกตั้ง (Election)…ส่วนข้อที่วิตกว่าจะหาผู้ที่มีความรู้เป็นผู้แทนตำบลไม่ได้นั้น...จะกำหนดในพระราชกฤษฎีกาเทียบวิทยฐานะไว้...ในตำบลหนึ่งๆ คงมีวัดหนึ่งๆ มีพระนักธรรมที่เทียบวิทยฐานะได้”

 

และ พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้สรุปปัญหาเรื่องไม่มีผู้แทนตำบลไว้ว่า ถ้าไม่มีผู้แทนตำบลให้ปล่อยว่างไว้เช่นในสหรัฐอเมริกา และแนวคิดที่น่าสนใจของการเลือกตั้งครั้งแรกที่มีลักษณะเฉพาะคือให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้สองครั้ง ในกรณีที่ครั้งแรกนั้นผู้สมัครมีคะแนนไม่ถึงครึ่งหนึ่งโดยการเลือกตั้งครั้งที่สองนี้จะใช้เสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ และให้ผู้แทนตำบลสมัครเป็นผู้แทนราษฎรได้ในคราวเดียวกัน

เมื่ออธิบายและชี้แจงเรื่องพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฯ มาถึงช่วงท้ายในครึ่งวันเช้า ปรีดีเผยให้เห็นแนวคิดและหลักการของการจัดการเลือกตั้งทางอ้อมที่ให้เลือกผู้แทนราษฎร 2 หน ได้ว่าเป็นวิธีและศิลปะการเลือกตั้งที่ใช้ในประเทศฝรั่งเศสและบางประเทศ

 

“ขอชี้แจงว่า วิธีเลือกผู้แทนนี้เราใช้วิธีเลือก 2 หน เป็นวิธีที่ใช้ในฝรั่งเศสและในคอนติเนนต์บางประเทศ ต่างกับวิธีเลือกหนเดียวที่ใช้สำหรับเลือกผู้แทนตำบล วิธีเลือก 2 หนนี้เห็นว่าเหมาะอย่างยิ่งสำหรับที่จะนำมาใช้แก่วิธีการเลือกผู้แทนราษฎร...สมมติว่าในจังหวัดหนึ่งมีผู้แทนตำบล 100 คน มีผู้สมัคร 50 คน เสียงย่อมกระจาย บางทีผู้ที่ได้คะแนนเสียงเพียง 3 เสียงอาจคะแนนสูงที่สุดและเป็นผู้แทนราษฎร...เช่นนี้ไม่งดงามเลย ตามวิธีเลือก 2 หนนั้น ถ้าเลือกครั้งแรกมีผู้ได้คะแนนเกินกว่าครึ่งก็ได้เป็นผู้แทนทันทีไม่ต้องเลือกครั้งที่ 2 อีก...”

 

หลักและระเบียบการเลือกตั้งครั้งแรกบางประการยังส่งต่อมาจนถึงการเลือกตั้งในสมัยปัจจุบันคือ การจัดให้มีการเลือกตั้งในวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อความสะดวกของราษฎร และการห้ามมิให้โฆษณานโยบายของคณะการเมืองในวันเลือกตั้ง แต่สามารถแสดงนโยบายของผู้สมัครผู้แทนราษฎรได้ก่อนการเลือกตั้ง

 

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 45 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 45 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475

 

ขณะที่บทบัญญัติเรื่องสมาชิกประเภทที่ 2 หรือสภาที่สองในมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 และในมาตรา 47 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ นั้น ปรีดีกล่าวอธิบายว่า เป็นคนละอย่างกับสมาชิกประเภทที่ 1 ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง โดยพระมหากษัตริย์ทรงประกาศพระราชกฤษฎีกาตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ขึ้นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 65 และมีการวิเคราะห์ว่าสมาชิกสภาประเภทที่ 2 นี้ คือวุฒิสภาแอบแฝง[3] ซึ่งมีความแตกต่างทั้งหลักการและที่มากับพฤฒสภาหรือสภาที่สองในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ที่มีหลักการให้ราษฎรมีสิทธิในการเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ได้ในเวลาต่อไป

 

พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475

 

เมื่อการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2475 สิ้นสุดลงโดยที่ประชุมฯ ทั้งหมดลงมติรับรองเห็นชอบว่าร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฯ นี้ใช้ได้ และประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2475[4]

 

การเมืองเรื่องการเลือกตั้งภายหลังการลี้ภัยครั้งแรกของปรีดี พนมยงค์

1 ปีหลังการอภิวัฒน์ได้เกิดความผกผันทางการเมืองอย่างเข้มข้นเริ่มต้นนับจากการรัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกาโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ซึ่งส่งผลให้ปรีดีต้องลี้ภัยครั้งแรกจากกรณีการกล่าวหาว่า ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ มีรูปแบบเศรษฐกิจใกล้เคียงกับประเทศที่ปกครองตามแนวทางคอมมิวนิสต์ ในระยะนี้ได้เกิดการขับเคี่ยวทางการเมืองระหว่างฝ่ายของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และคณะราษฎรสายพลเรือนรวมถึงพระยาพหลพลพยุหเสนาที่เป็นคณะราษฎรสายทหารที่อยู่ข้างเดียวกับปรีดี มีการเปิดเกมการเมืองของการเลือกตั้งเริ่มจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้แก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ เดิมที่ร่างฯ โดยปรีดี และให้ความเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎรจนประกาศใช้ฯ แล้วซึ่งในการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ครั้งนี้มีความเปลี่ยนแปลงหลายประการ

 

พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476
พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476

 

ต่อมาเมื่อคณะราษฎรได้นำอำนาจกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 และพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงได้มีการชี้แจงจากปรีดีผ่านมาทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ เดิมไว้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2476 ไว้โดยชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในหลักการสำคัญ[5] ดังนี้

 

คำชี้แจงของปรีดี พนมยงค์

เรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ พ.ศ. 2475

 

“พระราชบัญญัติใหม่นี้ได้แก้ไขพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 ในข้อความสำคัญโดยที่พระยามโนฯ กับพวกได้นำเอาข้อความที่ตนเถียงแก้ ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติกับที่ตนจำนนในทางปฏิบัติมาใส่ไว้เกือบทั้งสิ้น

พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 นั้น สภาผู้แทนราษฎร ได้เป็นผู้ลงมติและเป็นส่วนหนึ่งซึ่งสืบเนื่องมาแต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 64 (2) การที่จะยอมถือตามความเห็นของพระยามโนฯ กับพวกโดยที่พระราชบัญญัติใหม่ได้ออกโดยคณะรัฐมนตรีตามพระราชกฤษฎีกา ไม่ใช่ตามรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมเห็นได้ประจักษ์แจ้งว่าเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง

การเลือกตั้งถือว่าเป็นสารสำคัญในทางการเมือง ในบางประเทศการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งแห่งรัฐธรรมนูญ และเราก็เคยมีบทบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญฉะบับชั่วคราว ดั่งนี้จึ่งเห็นว่ากฎหมายการเลือกตั้งไม่ใช่เป็นกฎหมายธรรมดา หรือเป็นกฎหมายอันจะยอมให้คณะรัฐมนตรีแก้ไขได้ตามพอใจเพื่อหาพวกพ้องของตน ฉะนั้นอย่างน้อยที่สุดก็ควรได้รับความวินิจฉัยอย่างละเอียดของสภาผู้แทนราษฎร

ข้าพเจ้าจำได้ว่า เมื่อได้ร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 เสร็จแล้ว พระยามโนฯ ได้นำร่างนั้นไปถวายพระมหากษัตริย์ให้ทอดพระเนตร ครั้นแล้วพระยามโนฯ ได้มาบอกกับข้าพเจ้าว่า พระมหากษัตริย์ทรงชมเชยข้าพเจ้าว่า ร่างกฎหมายนี้ทรงเห็นว่าเป็นหลักประชาธิปไตย (เดโมเครติก) แท้ๆ และทรงรับสั่งว่า จะไม่ทรงทักท้วงเลยแม้แต่ตัวอักษรเดียว

ดั่งนี้ย่อมเห็นแล้วว่าพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 นี้ ได้รับความเห็นดีไม่ฉะเพาะผู้แทนราษฎรเท่านั้น แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ทรงโปรดปราน

แต่เหตุไฉนรัฐบาลอันมีพระยามโนฯ เป็นนายกจึ่งได้จัดการแก้พระราชบัญญัตินี้เสียเล่า?...”

 

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 (สมัยวิสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2476
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 (สมัยวิสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2476

 

ปรีดียังได้มอบแถลงการณ์ที่มีคำทั้งชี้แจงและวิจารณ์การแก้ไขพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฯ ของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาไว้จำนวน 18 ข้อ โดยให้ เล้ง ศรีสมวงศ์ นำมาอ่านในสภาฯ และเล้งยังยื่นเสนอให้แปรญัตติพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ แทนปรีดีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับรองการแปรญัตติครั้งนี้

 

หนังสือคู่มือผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรของขุนอินทรภักดี จังหวัดเพชรบูรณ์
หนังสือคู่มือผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรของขุนอินทรภักดี จังหวัดเพชรบูรณ์

 

หนังสือพิมพ์ประชาชาติกับข่าวสารการเลือกตั้งครั้งแรกของสยาม

หนังสือพิมพ์ประชาชาติได้เกาะติดข่าวการเลือกตั้งครั้งแรกของสยามอย่างใกล้ชิดเรียกได้ว่า แทบจะตีพิมพ์ข่าวเรื่องนี้ในทุกวันโดยเริ่มจากการเลือกตั้งผู้แทนตำบลเสมือนเป็นกระบอกเสียงให้แก่รัฐบาลคณะราษฎร อาทิ การรายงานสถานที่เลือกตั้งผู้แทนตำบลในจังหวัดพระนครและธนบุรี[6] และการรายงานผลการเลือกผู้แทนตำบลที่จัดการเลือกตั้งในอำเภอต่างๆ ของจังหวัดพระนครและธนบุรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2476[7] โดยสถานที่จัดการเลือกตั้งมักจะเป็นโรงเรียนและศาลาการเปรียญของวัด

 

ภาพของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมหรือปรีดี พนมยงค์ ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2476
ภาพของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมหรือปรีดี พนมยงค์ ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2476

 

และในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2476 หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ยังลงภาพของปรีดี พนมยงค์ เมื่อเดินทางกลับมาจากการลี้ภัยครั้งแรกที่หน้าวังปารุสกวันด้วยการไปทำข่าวของปรีดีอย่างใกล้ชิด และยังชี้ให้เห็นว่ามีความยืดหยุ่นเรื่องวันการเลือกตั้งได้ อาทิ ในจังหวัดนครราชสีมา ได้มีการจัดงานแห่ริ้วขบวนทหารภายหลังการปราบกบฏบวรเดชชนะจึงได้เลื่อนการเลือกตั้งไปเป็นวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476

 

หนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476
หนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476

 

หากภายหลังการเลือกตั้งได้หนึ่งวันในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ได้มีคอลัมน์เต็มหน้าเรื่องการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร โดยบอกเล่าทั้งในแง่บวกว่า การเลือกตั้งได้จัดขึ้นอย่างเรียบร้อยดี และมีการเลือกตั้งเสร็จสิ้นไปแล้วหลายจังหวัด ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติให้ความสำคัญแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า ราษฎรมิได้เลือกแต่ผู้ที่มียศถาบรรดาศักดิ์สูงส่งแต่เลือกผู้แทนที่ความสามารถอันจะอำนวยประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองได้ และระบุว่า มีทนายความได้รับการเลือกตั้งมาอย่างหนาตาและยังขาดผู้แทนราษฎรที่เป็นกสิกรอยู่

และยังมองว่ามีข้อกระทบใจจากการเลือกตั้งครั้งนี้ในเรื่องการแต่งตั้งกรรมการตรวจคะแนนเสียงที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติมอบอำนาจให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพราะได้พบว่ากรรมการล้วนเป็นผู้มียศถาบรรดาศักดิ์เสียโดยมาก และเสนอว่าควรเลือกเฟ้นราษฎรสามัญที่มีคุณความดีควรนับหน้าถือตาเข้าเป็นกรรมการตรวจคะแนนเสียงก็จะทำให้สมกับคำว่าเป็นการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร[8]

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยามที่กล่าวมาโดยตลอดของบทความนี้ได้แสดงให้เห็นความสำคัญโดยเฉพาะในเชิงหลักการประชาธิปไตยของคณะราษฎรและแนวคิดของปรีดี พนมยงค์[9] ที่ริเริ่มก่อรูปสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยกันอย่างรอบคอบมีทั้งประนีประนอมและหนักแน่น และยังชี้ให้เห็นว่าแนวคิดการเลือกตั้งทางอ้อมและการจัดให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรได้สองครั้งหากคะแนนเสียงไม่เกินครึ่งหนึ่งยังมาจากหลักประชาธิปไตยสากลของต่างประเทศที่คณะราษฎรรับทอดหลักการมายังสยามเพื่อพัฒนารากฐานประชาธิปไตยให้หยั่งรากมั่นคงต่อไปในอนาคต

 

ภาพประกอบ: ราชกิจจานุเบกษา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ห้องวิจัยประวัติศาสตร์ และสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์

เอกสารชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งผู้แทนตำบลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 1 พุทธศักราช 2476, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 14 มิถุนายน 2476, เล่ม 50, หน้า 355-357.
  • ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 14 มิถุนายน 2476, เล่ม 50, หน้า 355-357.
  • ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 ธันวาคม 2475, เล่ม 49, หน้า 554-572.
  • ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกากำหนดจังหวัดเพื่อการเลือกตั้งตามความในพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 14 มิถุนายน 2476, เล่ม 50, หน้า 358-370.
  • ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกาดำเนินการเลือกตั้งตามความในพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476 ฉะบับที่ 2, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 15 สิงหาคม 2476, เล่ม 50, หน้า 470-472.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 44 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, สืบค้นจาก https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/375837
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 45 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, สืบค้นจาก https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/375838
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 8 (สมัยวิสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, สืบค้นจาก https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/375934
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 (สมัยวิสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, สืบค้นจาก https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/375935
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 10 (สมัยสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, สืบค้นจาก https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/375875
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สบ.3.8/31 แถลงการณ์การเลือกตั้งผู้แทนตำบล [23 ส.ค. 2476]
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดจันทบุรี. จบ1.1.1.7/2 ให้ส่งสถิติผู้ออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนตำบลและผู้แทนราษฎร [4 มี.ค. 2477-13 ก.ค. 2478]

หนังสือพิมพ์ :

  • ประชาชาติ 2 ตุลาคม 2476
  • ประชาชาติ 3 ตุลาคม 2476
  • ประชาชาติ 8 พฤศจิกายน 2476
  • ประชาชาติ 15 พฤศจิกายน 2476
  • ประชาชาติ 16 พฤศจิกายน 2476
  • ประชาชาติ 17 พฤศจิกายน 2476
  • ประชาชาติ 18 พฤศจิกายน 2476
  • ประชาชาติ 20 พฤศจิกายน 2476
  • ประชาชาติ 22 พฤศจิกายน 2476

หนังสือภาษาไทย :

  • กองการโฆษณา, แถลงการณ์เรื่องการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2476 (ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2476)
  • ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล, ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2544)
  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543)
  • ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2552)

วารสาร :

  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (มิถุนายน 2531). “การเมืองไทยในระบบสภาผู้แทนราษฎร: การเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2476: ตอนที่หนึ่ง.” ศิลปวัฒนธรรม, 9 (8), 62-85.
  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (กรกฎาคม 2531). “การเมืองไทยในระบบสภาผู้แทนราษฎร: การเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2476: ตอนที่สอง.” ศิลปวัฒนธรรม, 9 (9), 68-76.

วิทยานิพนธ์ :

  • กร กาญจนพัฒน์, “สภาที่สองในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย,” (วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556)
  • วิเชียร เพ่งพิศ, “แนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดี พนมยงค์,” (วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559)

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

  • ภูริ ฟูวงศ์เจริญ. (2564). การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยาม : บ่อเกิด โครงสร้างเชิงสถาบัน และปฏิกิริยาทางสังคม.  https://kpi-lib.com/library/en/books/kpibook-16442/
  • สภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์. (8 พฤศจิกายน 2556) หนังสือรับรองการเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ ครั้งแรก. https://www.facebook.com/photo/?fbid=10151502202932168&set=a.10150326694802168  
  • อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. (8 มีนาคม 2561). การเลือกตั้งครั้งแรก! กับสตรีผู้ปรารถนาจะมีส่วนร่วม ทางการเมือง. https://thematter.co/thinkers/women-first-election/
 

[1] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (มิถุนายน 2531). “การเมืองไทยในระบบสภาผู้แทนราษฎร: การเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2476: ตอนที่หนึ่ง.” ศิลปวัฒนธรรม, 9 (8), 62-85. , ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (กรกฎาคม 2531). “การเมืองไทยในระบบสภาผู้แทนราษฎร: การเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2476: ตอนที่สอง.” ศิลปวัฒนธรรม, 9 (9), 68-76., ภูริ ฟูวงศ์เจริญ. (2564). การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยาม : บ่อเกิด โครงสร้างเชิงสถาบัน และปฏิกิริยาทางสังคม.  https://kpi-lib.com/library/en/books/kpibook-16442/

[2] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 44 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, สืบค้นจาก https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/375838

[3] กร กาญจนพัฒน์, “สภาที่สองในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย,” (วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556)

[4] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 45 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, สืบค้นจาก https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/375838

[5] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 (สมัยวิสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, สืบค้นจาก https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/375935

[6] ประชาชาติ 2 ตุลาคม 2476

[7] ประชาชาติ 3 ตุลาคม 2476

[8] ประชาชาติ 16 พฤศจิกายน 2476

[9] ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2552)