ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

การต่อสู้ในระบบรัฐสภาครั้งแรกของปรีดี พนมยงค์ เรื่องพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ พ.ศ. 2475

19
เมษายน
2566
ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งและราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยาม พ.ศ. 2476
ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งและราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยาม พ.ศ. 2476

 

ภายหลังการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง และพรรคการเมือง คือกลไกพื้นฐานสำคัญของสถาบันการเมืองในระบอบรัฐธรรมนูญที่ดำรงอยู่ใต้หลักการประชาธิปไตยและหลัก 6 ประการ ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลที่เกิดขึ้นจากการประนีประนอมระหว่างคณะราษฎรกับพระปกเกล้ารัชกาลที่ 7 ได้มีความพยายามในการวางหลักการและแนวคิดพื้นฐานของกลไกทางสถาบันการเมืองดังกล่าวโดยเฉพาะหลักการเลือกตั้ง ไม่เพียงแค่การวางระบบและกลไกเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่ผู้แทนราษฎรชุดแรก 70 นายและคณะราษฎรได้เพาะบ่มและปลูกฝังคือ อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นใหม่และราษฎร

ท่ามกลางสารพัดถ้อยคำปราศรัยจากพรรคการเมืองต่างๆ ที่โอ้อวดสาดใส่ต่อกัน และสุ่มเสี่ยงต่อการขาดหลักการที่ดีในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 นั้น บทความนี้จึงขอเสนอการต่อสู้ของนายปรีดี พนมยงค์ ครั้งแรกในระบบรัฐสภาเรื่อง พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ฉบับแรกของสยาม แต่งานศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองมักมองข้ามที่มาและสาระสำคัญแล้วไปศึกษาพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476 ฉะบับที่ 2 กันมากกว่าและยังค้นพบหลักฐานชั้นต้นใหม่คือ คำแถลงการณ์ 18 ข้อว่าด้วยหลักการเลือกตั้งของนายปรีดี ในยามที่ถูกเนรเทศแต่ได้ส่งสารมาถึงรัฐบาลและประชาชน 

 

ฉากหลังทางประวัติศาสตร์และสาระสำคัญของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ฉบับแรก

หลังการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เพื่อพิจารณาตัวบทของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ฉบับแรกของสยามเสร็จสิ้นลง นายปรีดีและอนุกรรมการร่างฯ เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเสนอหลักการเลือกตั้งในกฎหมายฉบับนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในที่ประชุมฯ ได้ลงมติรับรองเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ โดยประกาศใช้เป็น พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ของสยามฉบับแรก ซึ่งระบุให้การเลือกตั้งในระบบทางอ้อม (indirect election) คือให้ผู้แทนหมู่บ้านเลือกผู้แทนตำบลแล้วจึงให้ผู้แทนตำบลไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกผู้แทนราษฎร

 

พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาล ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาล
ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475

 

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ฉบับแรก อยู่บนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตยในระบอบใหม่และเปิดโอกาสให้คนรุ่นหนุ่มสาวได้มีโอกาสใช้สิทธิทางการเมืองได้อย่างเต็มความสามารถโดยไม่ผูกขาดหรือผูกติดกับอายุตามแนวคิดในระบอบเก่าหรือระบบราชการ

 

1. หลักและวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 

วิธีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรแบบทางอ้อมโดยดำเนินการดังนี้

  1. ราษฎรผู้มีสิทธิออกเสียงในตำบลสามารถเลือกตั้งผู้แทนตำบลได้ตำบลละหนึ่งคน
  2. ผู้แทนตำบลในจังหวัดเลือกตั้งผู้แทนราษฎรจังหวัดละหนึ่งคน ถ้าจังหวัดใดมีพลเมืองเกินกว่าหนึ่งแสนคนให้เลือกตั้งผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน โดยเศษของหนึ่งแสนคนถ้าถึงครึ่งให้เป็นหนึ่งแสนคน

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย 

(ก) ถ้าบิดาเป็นชาวต่างประเทศไม่ว่าจะแต่งงานกับมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ต้องเป็นผู้ที่ได้เรียนหนังสือภาษาไทยจนสำเร็จประกาศนียบัตรชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือได้รับราชการประจำการตามพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารแล้ว หรือได้รับราชการประจำแผนกอื่นๆ ในตำแหน่งตั้งแต่เสมียนพนักงานขึ้นไปโดยมีเงินเดือนประจำไม่ต่ำกว่า 5 ปี

(ข) ถ้าเป็นคนที่แปลงสัญชาติมาเป็นไทยต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดไว้ใน (ก) หรือได้อยู่ในราชอาณาจักรสยามเป็นเวลาติดต่อกัน นับแต่เมื่อได้แปลงสัญชาติมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี

คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง 

นอกจากคุณสมบัติข้างต้นแล้วทางผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลหรือผู้แทนราษฎรต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(ก) มีอายุ 23 ปี บริบูรณ์แล้ว

(ข) ไม่เป็นบุคคลที่มีความประพฤติเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดยาเสพติดให้โทษ

(ค) มีความรู้ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้ 

(ง) ไม่เป็นบุคคลที่อยู่ในฐานะเหนือการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับถาวร มาตรา 11

วันออกเสียงเลือกตั้งและการตรวจนับคะแนนเสียง

กรมการอำเภอจะกำหนดวันและสถานที่ออกเสียงเลือกตั้งโดยจะตั้งคณะกรรมการตรวจคะแนนออกเสียงตำบลละ 3 คน และกำหนดเวลาการออกเสียงเลือกตั้งเวลา 9.00 นาฬิกา ถึง 15.00 นาฬิกา โดยให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไปแสดงตนต่อกรรมการตรวจคะแนนเสียงเพื่อให้กรรมการหมายไว้ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงว่าผู้นั้นมาออกเสียงแล้ว และให้ผู้มีสิทธิออกเสียงนำบัตรออกเสียงไปใส่ในหีบบัตรออกเสียงที่กรรมการการเลือกตั้งได้ติดหมายเลข และภาพของผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้

ส่วนการตรวจนับคะแนนเสียงจะกระทำขึ้นเมื่อหมดเวลาการออกเสียงโดยให้กรรมการการเลือกตั้งฯ ดำเนินการตรวจคะแนนเสียงพร้อมกันด้วยการเปิดหีบบัตรออกเสียงครั้งละหนึ่งหีบแล้วให้ลงเลขหมายของหีบนั้นไว้บนบัตรออกเสียงทุกฉบับและนับคะแนน แล้วบันทึกรายงานไว้ว่าแต่ละหีบมีคะแนนเสียงเท่าใด เมื่อดำเนินการเสร็จให้เก็บบัตรออกเสียงไว้ในหีบเดิม ทั้งนี้ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้คะแนนเสียงสูงที่สุดให้ถือว่าเป็นผู้แทนตำบลถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ถือว่าผู้ที่มีอายุสูงกว่าเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง และในกรณีที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของผู้มีคะแนนเสียงสูงสุด ให้ผู้ที่ได้คะแนนรองลงมาเป็นผู้แทนตำบล

ทั้งนี้กรมการอำเภอจะเก็บรักษาหีบบัตรออกเสียงไว้เป็นเวลา 3 ปี แต่ไม่เกินเวลาที่ผู้แทนตำบลนั้นอยู่ในตำแหน่ง

การประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกตั้ง 

เมื่อกรรมการตรวจนับคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ประกาศชื่อผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลแล้ว ให้ส่งรายงานผลการเลือกตั้งไปยังกรมการอำเภอเพื่อส่งต่อให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดภายในเวลา 10 วันนับตั้งแต่วันเลือกตั้งผู้แทนตำบล ซึ่งหากผู้ใดเห็นว่าการเลือกตั้งของผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดมิเป็นไปโดยชอบให้ผู้นั้นมีสิทธิร้องคัดค้านต่อศาลในท้องถิ่นได้ หากศาลรับคำร้องแล้วให้รีบไต่สวนและวินิจฉัย แล้วถ้าจำต้องเพิกถอนสิทธิผู้รับเลือกตั้งเพราะเหตุมิชอบต้องแจ้งคำสั่งนี้ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดโดยเร็วและคำสั่งนี้ให้เป็นที่สิ้นสุด

2. หลักและวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ในชั้นแรกมาจากพระราชกฤษฎีกาตั้งสมาชิกสภาฯ ประเภทที่ 2 ของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญฉบับถาวร หากต่อมามีตำแหน่งว่างลงหรือต้องตั้งสมาชิกสภาฯ ให้เพิ่มจำนวนขึ้น หรือมีการปลดสมาชิกสภาฯ เพื่อลดจำนวนลงแต่ต้องคงจำนวนสมาชิกสภาฯ ประเภทที่ 2 ไว้เท่ากับสมาชิกสภาฯ ประเภทที่ 1 จะมีขั้นตอนดำเนินการคือ ให้อำนาจสมาชิกสภาฯ ประเภทที่ 2 ในเวลานั้นประชุมฯ เพื่อเลือกตั้ง หรือปลดลดจำนวนสมาชิกสภาฯ ได้ โดยสมาชิกสภาฯ ประเภทที่ 2 นี้จะอยู่ในตำแหน่งตลอดวาระที่ใช้บทเฉพาะกาลแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 

 

บรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในช่วงทศวรรษแรกหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475
บรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในช่วงทศวรรษแรกหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475

 

การเมืองเรื่องการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการประกาศใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เปิดฉากขึ้นหลังจากที่มีการเสนอร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2475 (นับตามปฏิทินเดิม) นำไปสู่ข้อกล่าวหาว่าร่างเค้าโครงฯ ของนายปรีดีนั้นถือหลักเศรษฐกิจตามแบบประเทศที่ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสม์ กระทั่งนำไปสู่ข้ออ้างการยุบสภาผู้แทนราษฎรหรือการรัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกาฯ ครั้งแรกของสยามโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 และส่งผลให้นายปรีดีต้องถูกเนรเทศออกจากสยามครั้งแรกในวันที่ 12 เมษายน ของปีเดียวกัน

ข้อถกเถียงเผ็ดร้อนเรื่องคุณสมบัติของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งและผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งระหว่างการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ฉบับนี้และผลจากการถูกเนรเทศของนายปรีดีมีด้วยกันสองประการ คือ

ประการที่ 1 อายุของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งและผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งแรกเริ่มนายปรีดี และคณะอนุกรรมการฯ เสนอหลักการเลือกตั้งเรื่องคุณสมบัติของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งไว้ให้พลเมืองที่อยู่ในสยาม 15 ปี และมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ มีสิทธิเลือกตั้งได้ ส่วนผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งให้มีอายุ 23 ปี บริบูรณ์ โดยการกำหนดอายุ 20 ปีบริบูรณ์ให้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งได้นั้นถือเอาอายุเป็นเกณฑ์ไม่ใช่กำหนดโดยอายุที่บรรลุนิติภาวะ แต่เมื่อผ่านการถกเถียงในการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ในสภาผู้แทนราษฎรได้มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญฉบับถาวรว่าให้ผู้สมัครมีอายุ 23 ปี หากต่อมารัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476 ในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2476 จึงมีการเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญของคุณสมบัติผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งให้มีอายุ 30 ปี ขึ้นไป โดยทางกองโฆษณาการของรัฐบาลประกาศเหตุผลว่าเนื่องจากมีการขยายอายุผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจึงต้องขยายอายุผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งไปด้วยและเหตุผลสำคัญคือ มองว่าผู้ที่อายุ 30 ปีมีความหนักแน่นในการทำงานเป็นผู้แทนราษฎรมากกว่า และ

ประการที่ 2 ข้อห้ามข้าราชการลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎร ซึ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 นั้น ไม่มีบทบัญญัติห้ามข้าราชการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรโดยเด็ดขาด เพียงจำกัดการลงสมัครรับเลือกตั้งฯ ของข้าราชการไว้คือ ให้ลงสมัครฯ ได้ภายนอกพื้นที่รับราชการของตน แต่ใน พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476 ที่ประกาศใช้ภายหลังได้ระบุชัดว่าห้ามข้าราชการสมัครเป็นผู้แทนราษฎรด้วยเหตุผลว่าจะเสียความเที่ยงธรรม ทั้งนี้มีนักวิชาการทางประวัติศาสตร์การเมืองวิเคราะห์ในประเด็นนี้ว่า ข้อห้ามข้าราชการลงสมัครรับเลือกตั้งในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฯ ฉบับหลังเป็นเหตุผลทางการเมืองที่พระยามโนปกรณ์ต้องการตัดฐานเสียงของข้าราชการฝ่ายคณะราษฎรโดยเฉพาะข้าราชการในสมาคมคณะราษฎร

จากการที่รัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาประกาศใช้ พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476 แทน พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ที่เรียกได้ว่ามีหลักคิดสำคัญมาจากนายปรีดี และคณะอนุกรรมการร่างฯ รวมทั้งเป็นฉบับที่มีการลงมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ฯ บังคับจากเสียงข้างมากของสมาชิกสภาฯ แล้วทำให้นายปรีดีที่กำลังอยู่ระหว่างถูกเนรเทศได้ส่งคำชี้แจงและแถลงการณ์ 18 ข้อ เรื่องหลักการเลือกตั้งมาถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันอังคารที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2476

 

คำชี้แจงของนายปรีดี พนมยงค์ เรื่องพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ พ.ศ. 2475 และแก้ข้อแถลงของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

 

นายปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม แกนนำพลเรือนของคณะราษฎร
นายปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม แกนนำพลเรือนของคณะราษฎร

 

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 (สมัยวิสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 (สมัยวิสามัญ สมัยที่หนึ่ง)
วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

 

ในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9/2476 (วิสามัญ) ของวันอังคารที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เวลา 16.15 นาฬิกา ซึ่งมีสมาชิกมาประชุม 48 นาย หลังเปิดประชุมสภาฯ และแจ้งระเบียบวาระเแล้วทางนายเล้ง ศรีสมวงศ์ กล่าวว่า

 

“ก่อนที่จะอภิปรายกัน ขอเสนอข้อความตามหนังสือที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้เขียนถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีข้อความซึ่งจะอ่านให้ที่ประชุมฟังดั่งต่อไปนี้”

 

บรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในช่วงทศวรรษแรกหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475
บรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในช่วงทศวรรษแรกหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475

 

นายเล้งได้รับคำชี้แจงมาจากนายปรีดีให้ฝากแถลงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรรวมทั้งสิ้น 18 ข้อ ซึ่งเป็นหลักฐานชั้นต้นใหม่เรื่องหลักการเลือกตั้งและยังแสดงถึงการต่อสู้ในระบบรัฐสภาของนายปรีดีครั้งแรกอีกด้วย ทั้งนี้ผู้เขียนขอนำเสนอทั้งสาระสำคัญและหลักฐานชั้นต้นฉบับสมบูรณ์ไว้ท้ายบทความชิ้นนี้อย่างครบถ้วน

 

พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476 ฉบับที่รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาประกาศใช้บังคับแทนฉบับที่นายปรีดี พนมยงค์ กล่าวชี้แจง
พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476 ฉบับที่รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาประกาศใช้บังคับแทนฉบับที่นายปรีดี พนมยงค์ กล่าวชี้แจง

 

นายปรีดีได้กล่าวชี้แจงที่มา ตั้งคำถาม และตั้งข้อสังเกตถึงการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ พ.ศ. 2475 ฉบับแรกต่อพระยามโนปกรณนิติธาดาว่า

 

“พระราชบัญญัติใหม่นี้ได้แก้ไขพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ ในข้อความสําคัญโดยที่พระยามโนฯ กับพวกได้นําเอาข้อความที่ตนเถียงแพ้ ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติกับที่ตนจำนนในทางปฏิบัติมาใส่ไว้เกือบทั้งสิ้น

พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น สภาผู้แทนราษฎรได้เป็นผู้ลงมติและเป็นส่วนหนึ่งซึ่งสืบเนื่องมาแต่รัฐธรรมนูญ (มาตรา ๖๔ (๒)) การที่จะยอมถือตามความเห็นของพระยามโนฯ กับพวกโดยที่พระราชบัญญัติใหม่ได้ออกโดยคณะรัฐมนตรีตามพระราชกฤษฎีกา ไม่ใช่ตามรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมเห็นได้ประจักษ์แจ้งว่าเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง

การเลือกตั้งถือว่าเป็นสารสําคัญในทางการเมือง ในบางประเทศการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งแห่งรัฐธรรมนูญ และเราก็เคยมีบทบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญฉะบับชั่วคราว ดั่งนี้จึ่งเห็นว่ากฎหมายการเลือกตั้งไม่ใช่เป็นกฎหมายธรรมดา หรือเป็นกฎหมายอันจะยอมให้คณะรัฐมนตรีแก้ไขได้ตามพอใจเพื่อหาพวกพ้องของตน ฉะนั้นอย่างน้อยที่สุดก็ควรได้รับความวินิจฉัยอย่างละเอียดของสภาผู้แทนราษฎร

ข้าพเจ้าจําได้ว่า เมื่อได้ร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ เสร็จแล้ว พระยามโนฯ ได้นําร่างนั้นไปถวายพระมหากษัตริย์ ให้ทอดพระเนตร ครั้นแล้วพระยามโนฯ ได้มาบอกกับข้าพเจ้าว่า พระมหากษัตริย์ทรงชมเชยข้าพเจ้าว่า ร่างกฎหมายนี้ทรงเห็นว่าเป็นหลักประชาธิปไตย (เดโมเครติก) แท้ๆ และทรงรับสั่งว่า จะไม่ทรงทักท้วงเลยแม้แต่ตัวอักษรเดียว

ดั่งนี้ก็ย่อมเห็นแล้วว่าพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ นี้ ได้รับความเห็นดีไม่ฉะเพาะผู้แทนของราษฎรเท่านั้น แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ทรงโปรดปราน

แต่เหตุไฉนรัฐบาลอันมีพระยามโนฯ เป็นนายกจึ่งได้จัดการแก้พระราชบัญญัตินี้เสียเล่า?” (เน้นตัวหนาโดยผู้เขียน) 

 

คำชี้แจงข้างต้นของนายปรีดีแสดงถึงการเมืองเรื่องพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ฉบับแรกของนายปรีดีและอนุกรรรมการฯ ฝั่งคณะราษฎร และฉบับของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และชนชั้นนำกับสมาชิกสภาฯ ที่สนับสนุนรัฐบาลในเวลานั้นที่ได้จัดทำขึ้นใหม่ภายหลัง โดยนายปรีดีเสนอสมมติฐานของสาเหตุที่แก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ พ.ศ. 2475 ไว้ว่า 

 

“...ทั้งนี้มีเหตุเป็น ๒ นัย

๑. เพื่อเลิกล้างการกระทําของข้าพเจ้าเสียทั้งหมด เพราะพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น ข้าพเจ้าเป็นผู้ยกร่างขึ้นปรึกษาในคณะอนุกรรมการ

ทั้งนี้จะเห็นได้จากคําแถลงการณ์ของรัฐบาลว่า

“๑. พระราชบัญญัตินี้ในชั้นต้นคิดจะทําเป็นพระราชบัญญัติใหม่ ทั้งมวล...แต่เมื่อได้พิจารณาดูรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามแล้วก็เห็นว่าจะทําเช่นนั้นไม่ถนัด เพราะมาตรา ๖๔ (๒) แห่งรัฐธรรมนูญ พูดเจาะจงว่าการเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่สองนั้นจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕

ดั่งนี้ รัฐบาลอันมีพระยามโนฯ เป็นนายกได้แสดงออกมาเองว่าตนต้องการทําเป็นพระราชบัญญัติใหม่ แต่มีรัฐธรรมนูญขวางอยู่…”

 

นายปรีดีชี้ว่านัยแรกไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่ตนห่วงใยนักแต่เหตุที่ต้องส่งคำชี้แจงนี้เพราะตนเองเป็นห่วงสิทธิของพลเมืองสยามในการเลือกตั้ง 

 

“แต่ข้อนี้ไม่ใช่ของสําคัญอันใดนัก ข้าพเจ้าไม่ประสงค์ที่จะมีทิษฐิมานะให้ใช้พระราชบัญญัติที่ข้าพเจ้าร่าง ที่ข้าพเจ้าเป็นห่วงก็คือสิทธิของพลเมืองการทํากันตรงไปตรงมาซึ่งสงสัยเป็นนักหนาว่าพระยามโนฯ จะได้จัดการวางแผนในการหาเสียงข้างมากไว้อย่างไร” 

 

ส่วนสาเหตุที่นายปรีดีเสนอสมมติฐานอีกสองข้อได้แก่ ข้อ ๒. เพื่อหาเสียงข้างมากทางฝ่ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และข้อ ๓. ในพระราชบัญญัติใหม่นี้มีวิธีทางที่พระยามโนฯ จะใช้วิธีหาเสียงข้างมากทางเจ้าหน้าที่มหาดไทย หลายประการ

 

บรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในช่วงทศวรรษแรกหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475
บรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในช่วงทศวรรษแรกหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475

 

และนายปรีดีได้ส่งต่อคำชี้แจงและข้อแถลงมาถึงรัฐบาลของพระยามโนกรณ์นิติธาดา อีกจำนวน 18 ข้อที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักการเลือกตั้งอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาจุดตั้งต้นของสถาบันการเมืองในระบอบรัฐธรรมนูญ โดยคำแถลงการณ์ของนายปรีดีนี้ยังมีชีวิตชีวาและสะท้อนบริบทของประวัติศาสตร์การเมืองในเวลานั้นไว้อย่างละเอียด ดังต่อไปนี้

 

หลักการเลือกตั้งเรื่องสัดส่วนจำนวนผู้แทนราษฎรและการรวมจังหวัดหรือการแบ่งเขตการเลือกตั้ง 

 

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 (สมัยวิสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 (สมัยวิสามัญ สมัยที่หนึ่ง)
วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

 

แถลงการณ์ข้อ ๒-๓ การรวมจังหวัดโดยจะจํากัดจํานวนสมาชิกให้น้อยลงนั้นข้าพเจ้าเคยชี้แจงให้พระยามโนฯ ทราบหลายครั้งว่าจะลดไปให้ยิ่งกว่าที่จะเป็นไปตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ ไม่ได้เพราะเหตุว่า

ก. การรวมจังหวัดหนึ่งเข้ากับจังหวัดหนึ่งในการเลือกตั้งนั้น ผลมีว่าผู้ว่าแทนซึ่งอยู่ในจังหวัดที่มีพลเมืองมากกว่าย่อมจะได้เปรียบ เช่นการรวมจังหวัดอ่างทองเข้ากับจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น ผู้แทน ซึ่งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งมีพลเมืองมาก มีผู้แทนตําบลมากย่อมได้เปรียบกว่า การรวมกันนี้เกือบมีผลเท่ากับยุบผู้แทนของจังหวัดอ่างทองเสียเท่านั้นเอง เป็นการทําอย่างมีอุบาย ถ้าใครมองไม่ถึงก็เห็นว่าพระราชบัญญัติที่แก้ไขใหม่นั้นไม่กระทบกระทั่งถึงจังหวัดที่มีพลเมืองน้อยต้องรวมกับจังหวัดที่มีพลเมืองมาก

ส่วนการขยายจํานวนพลเมืองเป็นสองแสนคน ต่อผู้แทนคนหนึ่งนั้นก็เป็นเงาตามตัวกับการรวมจังหวัดตามพระราชบัญญัติเดิมนั้น ได้กําหนดไว้หนึ่งแสนต่อผู้แทนหนึ่งคนก็กําหนดไว้มากอยู่แล้ว ในบางประเทศพลเมืองห้าหมื่นคนต่อผู้แทนหนึ่งคนเสียอีก” 

 

หลักการเลือกตั้งเรื่องสัญชาติและอายุในคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

 

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 (สมัยวิสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 (สมัยวิสามัญ สมัยที่หนึ่ง)
วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

 

คำแถลงการณ์ข้อ ๔ ในตอนต้นเป็นการเล่นถ้อยคำกันมากกว่า (ประดุจการร่างกฎหมายที่ต้องเสียเวลาชักช้าเพราะถ้อยคําเหล่านี้ เช่น ที่ ซึ่ง อัน ผู้)

ในตอน ๒ ดูเป็นห่วงผู้แปลงชาติเป็นนักหนา การอยู่ในพระราชอาณาจักร์หมายความว่าอยู่อย่างมี Residence ควรเป็นเวลาติดต่อกัน มิฉะนั้นบุคคลที่เป็นผู้เดินทางไปๆ มาๆ เช่นพวกเดินทางในการค้า “Voyageur de commerce” ที่มีมาอยู่ในสยาม ๓ เดือนแล้ว ออกนอกสยาม ๓ เดือน ดั่งนี้ก็จะนับเวลาติดต่อกันได้จึ่งเห็นว่าไม่ต้องระวังคนแปลงชาติให้มากเกินควรไป ควรระวังพวกท่องเที่ยวไปๆ มาๆ ให้มาก

ในตอน ๓ ที่อธิบายเรื่องขยายอายุผู้ออกเสียงจาก ๒๐ เป็น ๒๕ นั้นรัฐบาลไม่ได้ชี้แจงเหตุเลยว่าเหตุใดจึ่งขยายอายุสูงกว่าการบรรลุนีติภาวะตามธรรมดาตัวอย่างที่อ้างก็เลือกเอาแต่ประเทศที่ Favourable กับตน และชอบเอาอย่างเด็นมาร์ค ตัวอย่างที่อ้างมีเด็นมาร์ค ไอซแลนด์ (เมืองขึ้นเด็นมาร์ค) ฮังการี ลีทุเอเนีย นอรเวย์ เนเดรลันด์ แต่ประเทศส่วนมากนอกจากนี้ที่เขาถืออายุบรรลุนีติภาวะ ทําไมไม่อ้างมาบ้าง ดูเป็นการเลือกเอาตามชอบใจ”

 

นายปรีดีให้ความสนใจต่อเรื่องการขยายอายุในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฯ ฉบับใหม่ของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาค่อนข้างมาก

 

“ข้าพเจ้าเห็นว่าเมื่อบุคคลบรรลุนีติภาวะแล้วก็ควรมีเสียงในการเมืองเพื่อป้องกันประโยชน์ของเขา การที่ขยายอายุขึ้นไปเช่นนี้ เพราะรัฐบาลเดิมเห็นว่า คนรุ่นหนุ่มไม่เลื่อมใสในพวกของตน จึ่งจำต้องหาผู้มีอายุสูง

การกําหนดอายุนี้เป็นการกําหนดเอาตามชอบใจ มีหลักเกณฑ์อันใดที่คนมีอายุ ๒๐ ปีจะไม่สามารถออกเสียงในการเลือกตั้ง และจำต้องเอาคนมีอายุ ๒๕ ปีขึ้นไป การเลือกตั้งผู้แทนตําบลไม่ใช่เป็นการลำบากยากนักหนาจนถึงกับจะต้องเอาคนอายุมากๆ มาเป็นผู้ออกเสียง คนอายุ ๒๐ ปีก็สามารถออกเสียงเลือกตั้งได้ และสามารถเลือกเฟ้นได้ว่าใครสมควรเป็นผู้แทนตําบลของเขาการเลือกในเมืองไทยมี ๒ ชั้น ฉะนั้น ภาระในการเมือง ในการเป็นปากเสียงของราษฎรตกอยู่ที่ผู้แทนตําบลที่ติดต่อโดยตรงกับผู้แทนราษฎร

ในประเทศที่เขากําหนดอายุสูงกว่าอายุบรรลุนีติภาวะธรรมดานั้น เขามีการเลือกตั้งชั้นเดียว คือราษฎรเลือกผู้แทนราษฎรโดยตรงซึ่งต่างกับของเราจะเอามาเทียบกันไม่ได้ รัฐบาลเดิมมองดูกฎหมายด้านเดียวที่จะเป็นประโยชน์แก่ตน หาใช่ทุกด้านอันจะเป็นประโยชน์แก่พลเมืองไม่”

 

และสนับสนุนคนอายุน้อยให้มีสิทธิด้วยเหตุผลสำคัญว่า “ฉะนั้นจึ่งเห็นควรว่าต้องถือตามอายุบรรลุนีติภาวะ คือเอาอายุ ๒๐ ปี เป็นเกณฑ์เปิดโอกาสให้คนรุ่นหนุ่มที่มีความหวังดีต่อชาติไม่แพ้คนที่มีอายุกว่า ๒๕ ปี ออกเสียงเลือกผู้แทนตําบลของเขาได้ และอธิบายต่อไว้ว่า 

 

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 (สมัยวิสามัญ สมัยที่หนึ่ง) วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 9 (สมัยวิสามัญ สมัยที่หนึ่ง)
วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

 

คําแถลงการณ์ข้อ ๕ ในตอนต้นที่ขยายอายุผู้แทนจาก ๒๓ ปีเป็น ๓๐ ปีนั้น ข้าพเจ้าเห็นควรว่าท่านสมาชิกจะต้องคัดค้านอย่างเต็มที่เพราะเหตุที่รัฐบาลอ้างว่า “จะได้ผู้ที่มีความหนักแน่นและคุ้นเคยกับการงานมากขึ้นเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎร”

ข้อนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่จริงเสมอไปเลย ผู้ใหญ่ที่มีอายุมากเช่นพระยามโนฯ มีความหนักแน่นเพียงใด มีการจองเวรเพียงใด คนที่มีอายุ ๒๓ ปี หนักแน่นกว่าผู้ใหญ่ก็มีถมไป

ใครเป็นผู้ชี้ขาดว่าคนอายุต่ำกว่า ๓๐ ปีมีความหนักแน่นน้อยกว่าคนที่มีอายุกว่า ๓๐ ปี

ทั้งนี้เป็นการพูดเอาข้างเดียว ผู้ใหญ่ก็ซัดเด็กว่าไม่หนักแน่น เด็กก็ซัดผู้ใหญ่ว่าไม่หนักแน่น ถ้าปล่อยต่างคนต่างซัดกันเช่นนี้แล้วเป็นการไม่ยุตติธรรมอย่างยิ่ง และเห็นว่าจะเอาอายุมาเป็นเครื่องวัดความหนักแน่นไม่ได้ ข้าพเจ้าและท่านสมาชิกคงเห็นมามากว่า คนอายุกว่า ๓๐ ปี ไม่หนักแน่นมีเพียงใด คือ คนที่หูเบา เชื่อง่าย โกรธง่ายเหล่านี้บางที เป็นนิสสัยที่ติดตัว จะอายุเท่าใดๆ ก็ไม่หาย ฉะนั้นเห็นว่าการจะหนักแน่น หรือไม่นี้เป็นข้อเท็จจริงมากกว่าที่จะกําหนดโดยอายุตามอําเภอใจ ควรปล่อยให้ผู้ออกเสียงเลือกตั้งดีกว่า กล่าวคือ ถ้าใครไม่หนักแน่นก็คงไม่มีใครออกเสียงเลือกตั้ง

ส่วนการที่ว่าคนอายุกว่า ๓๐ ปี คุ้นเคยกับการทำงานมากนั้น ข้าพเจ้าก็ยังสงสัยถ้าคนอายุ ๓๐ ปี พึ่งเริ่มทำงานเมื่ออายุ ๒๙ ปี และคนอายุ ๒๓ ปี เริ่มทํางานแต่ ๑๘ ปี ดั่งนี้ใครจะคุ้นเคยการงานมากกว่ากัน การคุ้นเคยการงานในที่นี้อาจหมายถึงงาน Routine ประจําวันซึ่งแม้แต่คนที่พึ่งเริ่มทํางานก็ทําได้ โดยถือหลักว่าเดิมทำมาอย่างไรก็ตามไปอย่างนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่ารัฐบาลเดิมกําหนดอายุเช่นนี้ตามอําเภอใจ และเปลี่ยนหลักการเลือกตั้งเสียใหม่หมดประสงค์วางเข็มไปในทางพวก Conservaturs หมด…”

 

การอธิบายของนายปรีดีเรื่องความสามารถในทางการเมืองและการลดอายุผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งแสดงถึงนัยการเมืองตามหลักความเสมอภาคของราษฎรหรือในภาษาการเมืองร่วมสมัย ณ ปัจจุบันคือ “คนเท่ากัน” ก็น่าจะพิจารณาไปในทางนั้นได้

 

“หลักเดิมของพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น เราถือตาม “ความสามารถในการเมือง” คือ เมื่อผู้ใดสอบไล่หรือแสดงความสามารถในการเมืองได้ก็ควรเป็นผู้แทนราษฎรได้ เขาเหล่านั้นจะเป็น พวก Conservaturs หรือไม่ ไม่เป็นของสําคัญ เราต้องฟังเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ส่วนการงานประจําวันนั้นมีเจ้าหน้าที่ประจําปฏิบัติอยู่แล้ว ตามหลักเดิมนั้นประสงค์ให้ผู้แทนราษฎรมีหูตาสว่าง ไม่ถูกหลอกเล่นง่ายๆ เหมือนพระยามโนฯ เที่ยวหลอกลวงว่าข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์ ผู้ที่รู้ในการเมืองจริงเช่นรู้ว่าคอมมิวนิสต์ที่แท้จริงคืออะไร? ก็ทราบได้

อนึ่งข้าพเจ้าขออ้างเหตุผลอันเด็ดขาดทีเดียวว่า การปกครองแบบรัฐธรรมนูญนี้เป็นของใหม่สําหรับคนไทย ไม่ว่าคนอายุกว่า ๓๐ ปีหรือต่ำกว่าย่อมอยู่ในระดับอันเดียวกัน คนอายุกว่า ๓๐ ปี ผู้ใดจะอ้างว่าตนเคยคุ้นเคยกับการงานเช่นนี้มากกว่าคนอายุต่ำกว่า ๓๐ ปีไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญเราพึ่งได้มีมา ๑ ปีกว่าๆ นี้เอง ขอให้สังเกตการประชุมของเราในสภาฯ ซึ่งมีท่านอายุกว่า ๓๐ ปีหลายคน แต่ท่านก็ยอมรับว่าเป็นของใหม่ด้วยกันทั้งนั้น

เหตุฉะนั้นการกําหนดอายุเช่นนี้เป็นการไม่ยุตติธรรมอย่างยิ่ง”....ควรถืออายุตามเดิม”



ด้วยเหตุจากการยึดตามหลักเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 คำชี้แจงเรื่องหลักการเลือกตั้งของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ส่งผ่านมายังสภาผู้แทนราษฎรข้างต้น และการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางส่วนเรื่องความไม่เที่ยงธรรมต่อหลักประชาธิปไตยและไม่เป็นคุณูปการต่อราษฎรจึงส่งผลให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติการเลือกตั้งและประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476 ฉะบับที่ 2 เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2476 โดยข้อเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ ให้ผู้มีสิทธิอออกเสียงเพื่อเลือกตั้งผู้แทนตำบลมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ และผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนตำบลมีอายุ 23 ปีบริบูรณ์ดังพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ฉบับแรก

การต่อสู้ในระบบรัฐสภาครั้งแรกเรื่องหลักการเลือกตั้งของนายปรีดี พนมยงค์ เรียกว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งและพิจารณาความสำเร็จนั้นได้ว่ามาจากการเมืองในระบบรัฐสภาที่มีปัจจัยสำคัญคือ รัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมยืนยันและยืนหยัดตามหลักการประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญเพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมืองให้แก่ราษฎรสยามอันเป็นหัวใจในการอภิวัฒน์ของคณะราษฎร

 

ภาคผนวก : หลักฐานชั้นต้น 

คำชี้แจงของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม 

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๙ (สมัยวิสามัญ สมัยที่หนึ่ง)
วันอังคารที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

“พระราชบัญญัติใหม่นี้ได้แก้ไขพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ ในข้อความสําคัญโดยที่พระยามโนฯ กับพวกได้นําเอาข้อความที่ตนเถียงแพ้ ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติกับที่ตนจำนนในทางปฏิบัติมาใส่ไว้เกือบทั้งสิ้น

พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น สภาผู้แทนราษฎรได้เป็นผู้ลงมติและเป็นส่วนหนึ่งซึ่งสืบเนื่องมาแต่รัฐธรรมนูญ (มาตรา ๖๔ (๒)) การที่จะยอมถือตามความเห็นของพระยามโนฯ กับพวกโดยที่พระราชบัญญัติใหม่ได้ออกโดยคณะรัฐมนตรีตามพระราชกฤษฎีกา ไม่ใช่ตามรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมเห็นได้ประจักษ์แจ้งว่าเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง

การเลือกตั้งถือว่าเป็นสารสําคัญในทางการเมือง ในบางประเทศการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งแห่งรัฐธรรมนูญ และเราก็เคยมีบทบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญฉะบับชั่วคราว ดั่งนี้จึ่งเห็นว่ากฎหมายการเลือกตั้งไม่ใช่เป็นกฎหมายธรรมดา หรือเป็นกฎหมายอันจะยอมให้คณะรัฐมนตรีแก้ไขได้ตามพอใจเพื่อหาพวกพ้องของตน ฉะนั้นอย่างน้อยที่สุดก็ควรได้รับความวินิจฉัยอย่างละเอียดของสภาผู้แทนราษฎร

ข้าพเจ้าจําได้ว่า เมื่อได้ร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ เสร็จแล้ว พระยามโนฯ ได้นําร่างนั้นไปถวายพระมหากษัตริย์ ให้ทอดพระเนตร ครั้นแล้วพระยามโนฯ ได้มาบอกกับข้าพเจ้าว่า พระมหากษัตริย์ทรงชมเชยข้าพเจ้าว่า ร่างกฎหมายนี้ทรงเห็นว่าเป็นหลักประชาธิปไตย (เดโมเครติก) แท้ๆ และทรงรับสั่งว่า จะไม่ทรงทักท้วงเลยแม้แต่ตัวอักษรเดียว

ดั่งนี้ก็ย่อมเห็นแล้วว่าพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ นี้ ได้รับความเห็นดีไม่ฉะเพาะผู้แทนของราษฎรเท่านั้น แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ทรงโปรดปราน 

แต่เหตุไฉนรัฐบาลอันมีพระยามโนฯ เป็นนายกจึ่งได้จัดการแก้พระราชบัญญัตินี้เสียเล่า? ทั้งนี้มีเหตุเป็น ๒ นัย

๑. เพื่อเลิกล้างการกระทําของข้าพเจ้าเสียทั้งหมด เพราะพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น ข้าพเจ้าเป็นผู้ยกร่างขึ้นปรึกษาในคณะอนุกรรมการ

ทั้งนี้จะเห็นได้จากคําแถลงการณ์ของรัฐบาลว่า

“๑) พระราชบัญญัตินี้ในชั้นต้นคิดจะทําเป็นพระราชบัญญัติใหม่ ทั้งมวล...แต่เมื่อได้พิจารณาดูรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามแล้วก็เห็นว่าจะทําเช่นนั้นไม่ถนัด เพราะมาตรา ๖๔ (๒) แห่งรัฐธรรมนูญ พูดเจาะจงว่าการเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่สองนั้นจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕”

ดั่งนี้ รัฐบาลอันมีพระยามโนฯ เป็นนายกได้แสดงออกมาเองว่าตนต้องการทําเป็นพระราชบัญญัติใหม่ แต่มีรัฐธรรมนูญขวางอยู่

แต่ข้อนี้ไม่ใช่ของสําคัญอันใดนัก ข้าพเจ้าไม่ประสงค์ที่จะมีทิษฐิมานะให้ใช้พระราชบัญญัติที่ข้าพเจ้าร่าง ที่ข้าพเจ้าเป็นห่วงก็คือสิทธิของพลเมืองการทํากันตรงไปตรงมาซึ่งสงสัยเป็นนักหนาว่าพระยามโนฯ จะได้จัดการวางแผนในการหาเสียงข้างมากไว้อย่างไร

๒. เพื่อหาเสียงข้างมากทางฝ่ายพระยามโนฯ เพราะพระยามโนฯ มีความเกลียดชังคนรุ่นหนุ่มเป็นนักหนา เหตุฉะนั้นจึ่งขยายอายุให้สูงขึ้น ทั้งพระยามโนฯ ประสงค์ควบคุมสภาฯ ไม่ใช่ให้สภาฯ ควบคุมตามรัฐธรรมนูญ จึ่งได้ลดจํานวนสมาชิกให้น้อยลง ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าพระยามโนฯ ได้พูดกับข้าพเจ้าหลายครั้งว่าตาม พ.ร.บ. พ.ศ. ๒๔๗๕ จะมีสมาชิกมากคุมกันไม่อยู่ ข้าพเจ้าได้เคยตอบว่าความจริงไม่ใช่เราคุมสภาฯ คือสภาฯ ต้องคุมเราต่างหาก ส่วนการลดจํานวนก็ดี ขยายอายุก็ดี เหล่านี้ ได้พูดชี้แจงเถียงกันมามาก พระยามโนฯ จำนน ไม่คัดค้านในสภาผู้แทนราษฎร แต่จัดการออกพระราชบัญญัติใหม่เมื่อตนจัดการล้มสภาฯ แล้ว

๓. ในพระราชบัญญัติใหม่นี้มีวิธีทางที่พระยามโนฯ จะใช้วิธีหาเสียงข้างมากทางเจ้าหน้าที่มหาดไทยหลายประการข้าพเจ้าเห็นควรชี้แจงต่อท่านถึงความจริงดั่งนี้

เมื่อมีคณะราษฎรอยู่นั้น ข้าพเจ้าได้ประสงค์ที่จะให้คณะราษฎรจัดการเลือกตั้งของคณะไม่เกี่ยวแก่รัฐบาล ครั้นต่อมาเมื่อพระยามโนฯ คิดอ่านล้มคณะราษฎร ข้าพเจ้าได้ถามว่า จะจัดการเลือกตั้งของคณะอย่างไร พระยามโนฯ ตอบว่าพระยามโนฯ จะจัดทางมหาดไทย คือ ใช้พระยาจ่าแสนยฯ ให้สั่งเจ้าเมืองเป็นการลับ แล้วเจ้าเมืองสั่งนายอําเภอให้จัดการเลือกผู้ที่ต้องการ ข้าพเจ้าได้คัดค้านว่าการจะทำเช่นนี้ไม่ยุตติธรรม ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย และยิ่งไปกว่านั้นในทางปฏิบัติเห็นว่า เจ้าเมืองกับนายอําเภอจะหมดความเลื่อมใสในรัฐบาลและได้ย้อนถามพระยามโนฯ ว่าถ้าเลือกไม่ได้ผู้ที่ต้องการจะทําอย่างไร พระยามโนฯ ตอบว่าก็เอามันออกจากราชการเสียซิ (หมายถึงเจ้าเมืองและนายอำเภอ) ข้าพเจ้าก็คัดค้านเรื่อยมา และเห็นว่าการเลือกตั้งต้องทำทางคณะการเมือง ครั้นคณะราษฎรได้ตกลงเปลี่ยนวัตถุที่ประสงค์แล้ว ข้าพเจ้าได้ถามพระยามโนฯ ว่าใต้เท้าจัดการเลิกคณะราษฎรในทางการเมืองเสียแล้ว ใต้เท้าจะจัดเลือกตั้งอย่างไร พระยามโนฯ ก็ตอบว่าจะจัดทางเจ้าเมืองนายอําเภอ ให้พระยาจ่าแสนยฯ จัดการกําชับกันต่อไป เราอยากได้ใครก็กระซิบไปข้าพเจ้าจึ่งคัดค้านว่าทําอย่างนั้นไม่ยุตติธรรม และเห็นว่าเจ้าเมือง นายอําเภอ จะกระซิบราษฎรได้อย่างไร คนมากด้วยกัน และยิ่งในมณฑลชั้นในแล้วกระซิบไม่ได้ พระยามโนฯ ว่าทําไมกระซิบไม่ได้ เวลานี้การเลือกผู้ใหญ่ บ้าน กํานัน ไม่ใช่กระซิบกันหรือ ข้าพเจ้าว่าในมณฑลชั้นในกระซิบกันไม่ใคร่ได้ ข้าพเจ้าเองเคยออกเสียงเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านที่อยุธยา เมื่อก่อนไปนอก ไม่เห็นว่านายอําเภอมากระซิบบอกให้เลือกใครเลย พระยามโนฯ จึ่งตอบว่า “ก็พี่ชายกันเคยเป็นเจ้าเมืองนี่นา เขาบอกว่ากํานันนั้นความจริงเขาจัดตั้งเองกันก็เห็นว่าเราทําอย่างนั้นได้” ครั้นต่อมาเมื่อก่อนมีการปิดสภาฯ ได้ประชุมคณะรัฐมนตรีถึงเรื่องนี้ ข้าพเจ้าแถลงว่าการเลือกตั้ง ขออย่าให้รัฐมนตรีมหาดไทยเกี่ยวข้องกระซิบเจ้าเมือง นายอําเภอเลย และได้บอกพระยาจ่าแสนยฯ ว่า ถ้าใต้เท้าทําเช่นนั้นแล้วใต้เท้ามีผิด เมื่อเสร็จประชุมก่อนขึ้นรถที่หน้าศาลาลูกขุนใน ข้าพเจ้ายังบอกพระยาจ่าแสนยฯ ดังๆ มีผู้ได้ยินหลายคนว่า ใต้เท้าอย่าเล่นสกปรกอย่างพระยามโนฯ ถ้าขืนเล่นเช่นนั้นอาจถูกฟ้องอาชญา

ดั่งนี้ย่อมเห็นได้ว่า พระยามโนฯ มีความตั้งใจทําเสียงข้างมากทางเจ้าเมือง นายอําเภอ ฉะนั้น พระราชบัญญัติที่แก้ไขนี้ควรยกเลิกเพื่อป้องกันความทุจจริต

ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะได้ขอชี้แจงแก้ข้อแถลงของรัฐบาลอันมีพระยามโนฯ เป็นนายกนั้นเป็นข้อๆ ไป

แถลงการณ์ข้อ ๑ ข้อนี้เห็นได้ชัดว่าพระยามโนฯ ประสงค์ล้างการกระทําของข้าพเจ้ามากกว่าอย่างอื่น ดั่งได้อธิบายมาแล้ว

แถลงการณ์ข้อ ๒-๓ การรวมจังหวัดโดยจะจํากัดจํานวนสมาชิกให้น้อยลงนั้นข้าพเจ้าเคยชี้แจงให้พระยามโนฯ ทราบหลายครั้งว่าจะลดไปให้ยิ่งกว่าที่จะเป็นไปตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ ไม่ได้เพราะเหตุว่า

ก. การรวมจังหวัดหนึ่งเข้ากับจังหวัดหนึ่งในการเลือกตั้งนั้น ผลมีว่าผู้ว่าแทนซึ่งอยู่ในจังหวัดที่มีพลเมืองมากกว่าย่อมจะได้เปรียบ เช่นการรวมจังหวัดอ่างทองเข้ากับจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น ผู้แทนซึ่งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งมีพลเมืองมาก มีผู้แทนตําบลมากย่อมได้เปรียบกว่า การรวมกันนี้เกือบมีผลเท่ากับยุบผู้แทนของจังหวัดอ่างทองเสียเท่านั้นเอง เป็นการทําอย่างมีอุบาย ถ้าใครมองไม่ถึงก็เห็นว่าพระราชบัญญัติที่แก้ไขใหม่นั้นไม่กระทบกระทั่งถึงจังหวัดที่มีพลเมืองน้อยต้องรวมกับจังหวัดที่มีพลเมืองมาก

ส่วนการขยายจํานวนพลเมืองเป็นสองแสนคน ต่อผู้แทนคนหนึ่งนั้นก็เป็นเงาตามตัวกับการรวมจังหวัดตามพระราชบัญญัติเดิมนั้น ได้กําหนดไว้หนึ่งแสนต่อผู้แทนหนึ่งคนก็กําหนดไว้มากอยู่แล้ว ในบางประเทศพลเมืองห้าหมื่นคนต่อผู้แทนหนึ่งคนเสียอีก

คำแถลงการณ์ข้อ ๔ ในตอนต้นเป็นการเล่นถ้อยคำกันมากกว่า (ประดุจการร่างกฎหมายที่ต้องเสียเวลาชักช้าเพราะถ้อยคําเหล่านี้ เช่น ที่ ซึ่ง อัน ผู้)

ในตอน ๒ ดูเป็นห่วงผู้แปลงชาติเป็นนักหนา การอยู่ในพระราชอาณาจักร์หมายความว่า อยู่อย่างมี Residence ควรเป็นเวลาติดต่อกัน มิฉะนั้นบุคคลที่เป็นผู้เดินทางไปๆ มาๆ เช่นพวกเดินทางในการค้า “Voyageur de commerce” ที่มีมาอยู่ในสยาม ๓ เดือนแล้ว ออกนอกสยาม ๓ เดือน ดั่งนี้ก็จะนับเวลาติดต่อกันได้จึ่งเห็นว่าไม่ต้องระวังคนแปลงชาติให้มากเกินควรไป ควรระวังพวกท่องเที่ยวไปๆ มาๆ ให้มาก

ในตอน ๓ ที่อธิบายเรื่องขยายอายุผู้ออกเสียงจาก ๒๐ เป็น ๒๕ นั้นรัฐบาลไม่ได้ชี้แจงเหตุเลยว่าเหตุใดจึ่งขยายอายุสูงกว่าการบรรลุนีติภาวะตามธรรมดาตัวอย่างที่อ้างก็เลือกเอาแต่ประเทศที่ Favourable กับตน และชอบเอาอย่างเด็นมาร์ค ตัวอย่างที่อ้างมีเด็นมาร์ค ไอซแลนด์ (เมืองขึ้นเด็นมาร์ค) ฮังการี ลีทุเอเนีย นอรเวย์ เนเดรลันด์ แต่ประเทศส่วนมากนอกจากนี้ที่เขาถืออายุบรรลุนีติภาวะ ทําไมไม่อ้างมาบ้าง ดูเป็นการเลือกเอาตามชอบใจ

ข้าพเจ้าเห็นว่าเมื่อบุคคลบรรลุนีติภาวะแล้วก็ควรมีเสียงในการเมืองเพื่อป้องกันประโยชน์ของเขา การที่ขยายอายุขึ้นไปเช่นนี้ เพราะรัฐบาลเดิมเห็นว่า คนรุ่นหนุ่มไม่เลื่อมใสในพวกของตน จึ่งจำต้องหาผู้มีอายุสูง

การกําหนดอายุนี้เป็นการกําหนดเอาตามชอบใจ มีหลักเกณฑ์อันใดที่คนมีอายุ ๒๐ ปีจะไม่สามารถออกเสียงในการเลือกตั้ง และจำต้องเอาคนมีอายุ ๒๕ ปีขึ้นไป การเลือกตั้งผู้แทนตําบลไม่ใช่เป็นการลำบากยากนักหนาจนถึงกับจะต้องเอาคนอายุมากๆ มาเป็นผู้ออกเสียง คนอายุ ๒๐ ปีก็สามารถออกเสียงเลือกตั้งได้ และสามารถเลือกเฟ้นได้ว่าใครสมควรเป็นผู้แทนตําบลของเขาการเลือกในเมืองไทยมี ๒ ชั้น ฉะนั้น ภาระในการเมือง ในการเป็นปากเสียงของราษฎรตกอยู่ที่ผู้แทนตําบลที่ติดต่อโดยตรงกับผู้แทนราษฎร

ในประเทศที่เขากําหนดอายุสูงกว่าอายุบรรลุนีติภาวะธรรมดานั้น เขามีการเลือกตั้งชั้นเดียว คือราษฎรเลือกผู้แทนราษฎรโดยตรงซึ่งต่างกับของเราจะเอามาเทียบกันไม่ได้ รัฐบาลเดิมมองดูกฎหมายด้านเดียวที่จะเป็นประโยชน์แก่ตน หาใช่ทุกด้านอันจะเป็นประโยชน์แก่พลเมืองไม่

ฉะนั้นจึ่งเห็นควรว่าต้องถือตามอายุบรรลุนีติภาวะ คือเอาอายุ ๒๐ ปี เป็นเกณฑ์เปิดโอกาสให้คนรุ่นหนุ่มที่มีความหวังดีต่อชาติไม่แพ้คนที่มีอายุกว่า ๒๕ ปี ออกเสียงเลือกผู้แทนตําบลของเขาได้

คําแถลงการณ์ข้อ ๕ ในตอนต้นที่ขยายอายุผู้แทนจาก ๒๓ ปีเป็น ๓๐ ปีนั้น ข้าพเจ้าเห็นควรว่าท่านสมาชิกจะต้องคัดค้านอย่างเต็มที่เพราะเหตุที่รัฐบาลอ้างว่า “จะได้ผู้ที่มีความหนักแน่นและคุ้นเคยกับการงานมากขึ้นเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎร”

ข้อนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่จริงเสมอไปเลย ผู้ใหญ่ที่มีอายุมากเช่นพระยามโนฯ มีความหนักแน่นเพียงใด มีการจองเวรเพียงใด คนที่มีอายุ ๒๓ ปี หนักแน่นกว่าผู้ใหญ่ก็มีถมไป

ใครเป็นผู้ชี้ขาดว่าคนอายุต่ำกว่า ๓๐ ปีมีความหนักแน่นน้อยกว่าคนที่มีอายุกว่า ๓๐ ปี

ทั้งนี้เป็นการพูดเอาข้างเดียว ผู้ใหญ่ก็ซัดเด็กว่าไม่หนักแน่น เด็กก็ซัดผู้ใหญ่ว่าไม่หนักแน่น ถ้าปล่อยต่างคนต่างซัดกันเช่นนี้แล้วเป็นการไม่ยุตติธรรมอย่างยิ่ง และเห็นว่าจะเอาอายุมาเป็นเครื่องวัดความหนักแน่นไม่ได้ ข้าพเจ้าและท่านสมาชิกคงเห็นมามากว่า คนอายุกว่า ๓๐ ปี ไม่หนักแน่นมีเพียงใด คือ คนที่หูเบา เชื่อง่าย โกรธง่ายเหล่านี้บางที เป็นนิสสัยที่ติดตัว จะอายุเท่าใดๆ ก็ไม่หาย ฉะนั้นเห็นว่าการจะหนักแน่น หรือไม่นี้เป็นข้อเท็จจริงมากกว่าที่จะกําหนดโดยอายุตามอําเภอใจ จึ่งควรปล่อยให้ผู้ออกเสียงเลือกตั้งดีกว่า กล่าวคือ ถ้าใครไม่หนักแน่นก็คงไม่มีใครออกเสียงเลือกตั้ง

ส่วนการที่ว่าคนอายุกว่า ๓๐ ปี คุ้นเคยกับการทำงานมากนั้น ข้าพเจ้าก็ยังสงสัยถ้าคนอายุ ๓๐ ปี พึ่งเริ่มทำงานเมื่ออายุ ๒๙ ปี และคนอายุ ๒๓ ปี เริ่มทํางานแต่ ๑๘ ปี ดั่งนี้ใครจะคุ้นเคยการงานมากกว่ากัน การคุ้นเคยการงานในที่นี้อาจหมายถึงงาน Routine ประจําวันซึ่งแม้แต่คนที่พึ่งเริ่มทํางานก็ทําได้ โดยถือหลักว่า เดิมทำมาอย่างไรก็ตามไปอย่างนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่ารัฐบาลเดิมกําหนดอายุเช่นนี้ตามอําเภอใจ และเปลี่ยนหลักการเลือกตั้งเสียใหม่หมดประสงค์วางเข็มไปในทางพวก Conservaturs หมดหลักเดิมของพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น เราถือตาม “ความสามารถในการเมือง” คือ เมื่อผู้ใดสอบไล่หรือแสดง ความสามารถในการเมืองได้ก็ควรเป็นผู้แทนราษฎรได้ เขาเหล่านั้นจะเป็น พวก Conservaturs หรือไม่ ไม่เป็นของสําคัญ เราต้องฟังเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ส่วนการงานประจําวันนั้นมีเจ้าหน้าที่ประจำปฏิบัติอยู่แล้ว ตามหลักเดิมนั้นประสงค์ให้ผู้แทนราษฎรมีหูตาสว่าง ไม่ถูกหลอกเล่นง่ายๆ เหมือนพระยามโนฯ เที่ยวหลอกลวงว่าข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์ ผู้ที่รู้ในการเมืองจริงเช่นรู้ว่าคอมมิวนิสต์ที่แท้จริงคืออะไร ? ก็ทราบได้

อนึ่งข้าพเจ้าขออ้างเหตุผลอันเด็ดขาดทีเดียวว่า การปกครองแบบรัฐธรรมนูญนี้เป็นของใหม่สําหรับคนไทย ไม่ว่าคนอายุกว่า ๓๐ ปีหรือต่ำกว่าย่อมอยู่ในระดับอันเดียวกัน คนอายุกว่า ๓๐ ปี ผู้ใดจะอ้างว่าตนเคยคุ้นเคยกับการงานเช่นนี้มากกว่าคนอายุต่ำกว่า ๓๐ ปีไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญเราพึ่งได้มีมา ๑ ปีกว่าๆ นี้เอง ขอให้สังเกตการประชุมของเราในสภาฯ ซึ่งมีท่านอายุกว่า ๓๐ ปีหลายคน แต่ท่านก็ยอมรับว่าเป็นของใหม่ด้วยกันทั้งนั้น

เหตุฉะนั้นการกําหนดอายุเช่นนี้เป็นการไม่ยุตติธรรมอย่างยิ่งและเป็นการแฝงความจริงอยู่ คือ พระยามโนฯ ไม่พอใจผู้สําเร็จการศึกษา มหาวิทยาลัยหรือสําเร็จการศึกษาโรงเรียนชั้นสูงอื่น เช่น โรงเรียนกฎหมายเป็นต้น เพราะเห็นว่าพวกหนุ่มๆ เหล่านี้ไม่เลื่อมใสในพระยามโนฯ และในการร่างประกาศกระทรวงธรรมการว่าด้วยวิทยฐานะของผู้แทนนั้น ได้ยกเว้นผู้ได้ปริญญาหรือได้ประกาศนียบัตรชั้นสูงไม่ต้องสอบไล่ ความประสงค์อันแท้จริงต้องการกันพวกนี้มากกว่าอย่างอื่น ข้าพเจ้าจึ่งเห็นว่าไม่ยุตติธรรม ควรถืออายุตามเดิม

ในตอน ๒ อย่างไรเรียกว่าอัธยาศัยดี? ส่วนการเสเพลเป็นอาจินนั้นมีกล่าวไว้ในประมวลแพ่งแล้ว

ในตอน ๓ เรื่องความรู้พิเศษของผู้แทนตําบลนั้นก็เพื่อจะทําให้ผู้แทนตําบลต้องรู้การเมืองอยู่บ้าง มิฉะนั้นจะถูกอํานาจบังคับทางอ้อม ดั่งได้กล่าวมาแล้วแต่ตอนต้น

แถลงการณ์ข้อ ๖ การที่ขยายว่าด้วยผู้ต้องคุมขังตามหมายของเจ้าหน้าที่ด้วยนี้ แสดงให้เห็นชัดแล้วว่าพระยามโนฯ จะจัดการหาเสียงข้างมากทางเจ้าหน้าที่มหาดไทย ข้อนี้เคยพูดกันเป็นหนักหนาว่า การที่เราจํากัดห้ามแต่ผู้ต้องคุมขังตามหมายศาลนั้น ก็เพราะเมื่อศาลสั่งขังย่อมมีประกันพอ มิฉะนั้นในสมัยที่พระยามโนฯ มีอำนาจอาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ออกหมายจับผู้ที่พระยามโนฯ เห็นว่าไม่ใช่พวกตนก็ได้ เพราะได้แสดงความประสงค์ว่าจะหาเสียงข้างมากทางเจ้าหน้าที่มหาดไทย

แถลงการณ์ข้อ ๗ คนเกิดในตําบลหรือจังหวัดเปรียบเหมือนมีสัญชาติโดยกำหนดการตัดออกเช่นนี้ไม่ทราบเป็นเพราะเหตุใด?

แถลงการณ์ข้อ ๘ เมื่อข้าราชการประจําไปสมัครเป็นผู้แทนราษฎรที่อื่นก็ไม่เห็นจะทําให้เสียความสม่ําเสมออย่างใด

แถลงการณ์ข้อ ๙ เรื่องกําหนดเวลาเปลี่ยน ๑๐ วัน เป็น ๑๕ วัน ในร่างเดิมผู้แทนกระทรวงมหาดไทยก็เข้าประชุมด้วย เห็นว่า ๑๐ วัน พอแล้ว มาคราวนี้ขอแก้เป็น ๑๕ วัน

แถลงการณ์ข้อ ๑๐ เรื่องรูปถ่ายนั้นเพื่อคนไม่รู้หนังสือดูรูปก็รู้จัก และต้องการทําความยุตติธรรม ไม่ใช่กระซิบกัน ส่วนค่าธรรมเนียมเรียกเพื่อป้องกันมิให้มีบุคคลมาสมัคร โดยทั้งๆ ที่รู้สึกว่าไม่มีโอกาสที่จะถูกเลือก พระยามโนฯ เห็นด้วยว่าในอังกฤษเขาก็เรียกค่าธรรมเนียม แต่นั่นแหละ เมื่อข้าพเจ้าร่างเรียกค่าธรรมเนียม พระยามโนฯ ยกเลิกค่าธรรมเนียมเสียดั่งนี้ ราษฎรจะไม่เห็นคุณพระยามโนฯ อย่างไร

แถลงการณ์ข้อ ๑๑ จะเติมลงไปทําไมกัน ในพระราชบัญญัติเดิมให้ใช้มาตรา ๑๔ โดยอนุโลมก็ได้ความแล้ว

แถลงการณ์ข้อ ๑๒ ขยาย ๑๕ นาฬิกา เป็น ๑๖ นาฬิกา เป็นปัญหาหยุมหยิมการที่กําหนดไว้เดิม ๑๕ นาฬิกานั้น ก็เพื่อมีเวลาเหลือพอนับคะแนนเสียง และทําประกาศสําหรับตําบลไกลๆ

แถลงการณ์ข้อ ๑๓ ในตอนต้นที่รัฐบาลซัดและเหมาเอาว่าพระราชบัญญัติเดิมเปิดทางให้ขู่เข็ญกันได้ เป็นการหาความเอาแท้ๆ ในพระราชบัญญัติเดิมนั้นเราป้องกันคนไม่รู้หนังสือซึ่งเอาบัตรใส่ในหีบและป้องกันการซื้อบัตรกันได้ต่างหาก การขู่เข็ญมีกฎหมายลงโทษแล้ว

ในตอน ๒ ตอนนี้รัฐบาลแกล้งพูดทําไม่รู้ไม่ชี้ อยากจะถามพระยามโนฯ และผู้ที่หนักแน่นคนอื่นๆ ว่าจําไม่ได้หรือเราตกลงกันว่าในทางปฏิบัตินั้นเจ้าหน้าที่จะส่งบัตรไปแจกให้ทางกํานัน ผู้ใหญ่บ้าน? นี่ดูพูดเอาข้างเดียว

แถลงการณ์ข้อ ๑๔ พระยามโนฯ ท่านแปลกฎหมายเดิมดีจริง ท่านไม่ถือตาม Spirit กฎหมาย แปลเอาว่าตาม พ.ร.บ. เดิม ผู้มีสิทธิออกเสียงที่ปัตตานีอาจจะไปคัดค้านที่เชียงใหม่ ก็มาตรา ๒๓ เดิม เราพูดในเรื่องของตําบลหนึ่ง จะแกล้งแปลเป็นอย่างอื่นไปอย่างไรกัน

แถลงการณ์ข้อ ๑๕ เติมหรือไม่เติมข้อความก็มีผลเท่ากัน

แถลงการณ์ข้อ ๑๖ (ดูแก้แถลงการณ์ข้อ ๑๐)

แถลงการณ์ข้อ ๑๗ ในตอนต้นเมื่อพระยามโนฯ ต้องการผู้แทนตำบลที่ไม่รู้หนังสือก็บัญญัติเช่นนั้น ถ้าใช้บทบัญญัติเดิมก็ไม่ต้องแก้

ในตอน ๒ (ดูแก้แถลงการณ์ข้อ ๑๓)

แถลงการณ์ข้อ ๑๘ การเลือกตามมาตรา ๒๑ เดิมนี้ยุตติธรรมดี ขอให้ดูคำอภิปรายของข้าพเจ้าในสภาผู้แทนราษฎร”

 

หมายเหตุ : คงอักขระและวิธีการสะกดตามต้นฉบับ

ภาพประกอบ : ราชกิจจานุเบกษา สถาบันปรีดี พนมยงค์ พิพิธภัณฑ์รัฐสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

เอกสารชั้นต้น :

หนังสือภาษาไทย :

  • กองการโฆษณา, แถลงการณ์เรื่องการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2476 (ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2476)
  • ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล, ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2544)
  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2543)
  • ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2552)

วารสาร :

  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (มิถุนายน 2531). “การเมืองไทยในระบบสภาผู้แทนราษฎร : การเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2476: ตอนที่หนึ่ง.” ศิลปวัฒนธรรม, 9 (8), 62-85.
  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (กรกฎาคม 2531). “การเมืองไทยในระบบสภาผู้แทนราษฎร : การเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2476: ตอนที่สอง.” ศิลปวัฒนธรรม, 9 (9), 68-76.

วิทยานิพนธ์ :

  • วิเชียร เพ่งพิศ, “แนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดี พนมยงค์,” (วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559)

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :