ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ญัตติเสนอให้มีการสอบสวนนายปรีดี พนมยงค์ กรณีคอมมิวนิสต์

7
กันยายน
2567

หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์, พระยาพหลพลพยุหเสนา และนายปรีดี พนมยงค์ ในทศวรรษ 2470

 

ชั่วระยะเวลาไม่กี่เดือน ที่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีลอย ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้แสดงความปรีชาสามารถในทางการปกครองให้เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งแก่บรรดาสมาชิกสภาราษฎร และ แม้ในคณะรัฐมนตรี พระยาพหลฯ ผู้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีความเอ็นดูรักใคร่ มีความเชื่อถือไว้วางใจในตัวและวิชาการของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องการที่จะให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหนึ่งกระทรวงใดโดยฉะเพาะเสีย เพื่อจะได้ตั้งหน้าบริหารราชการฉะเพาะหน้า นําความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ชาติบ้านเมืองยิ่งขึ้น และตําแหน่งที่ท่านเจ้าคุณนายกฯ เห็นเหมาะสมแก่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ความเห็นของเจ้าคุณนายกฯ นี้ ได้ถูกเพื่อน ซึ่งเคยร่วมสาบาลกับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ มาแต่ต้นคัดค้าน และให้ความเห็น เป็นการเน้นชี้ขาดว่า ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการ ให้เหตุผลแต่ว่ากระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงใหญ่ โดยไม่มีเหตุผลอื่น ๆ อีก และคนที่คัดค้านนั้นหาได้มีความรู้หรือความสามารถในทางการปกครองสักนิดหนึ่งไม่ แต่ทําไมเขาจึงคัดค้าน ก็คือเหตุผลที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ มีอยู่ในจิตต์ใจ เช่นเดียวกัน

เมื่อพระยาพหลฯ ยังมีความตั้งใจอยู่ ท่านก็ได้นําความกราบบังคมทูลพระปกเกล้าฯ เพื่อมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ดร.ปรีดี พนมยงค์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านเจ้าคุณหวังว่า ดร.ปรีดี พนมยงค์คงจะไม่ขัดความประสงค์ของท่าน

พระปกเกล้า มีพระโทรเลขตอบเจ้าคุณนายกฯ มาว่า ถ้า ดร.ปรีดี พนมยงค์ จะ “ว่าการมหาดไทยไม่ขัดข้องแต่ถ้าว่าการศึกษาขัดข้อง” พระองค์ยังมีสิ่งใด ที่ไม่ทรงไว้วางใจ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ซึ่งมีความจงรักภักดีต่อพระองค์ และต่อราชบัลลังก์ต่อประชาราษฎร และประเทศชาติยิ่งกว่าชีวิตอีกหรือ ?

แต่แล้วท่านเจ้าคุณนายกฯ ก็ผิดหวัง ประสงค์ของท่านแก่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ โดยที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ปฏิเสธไม่ยอมรับตําแหน่งนั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ มีเหตุผลอยู่ หลายประการ ประการแรกคือ อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น กระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงใหญ่ นักปกครองอย่าง ดร.ปรีดี พนมยงค์ ถ้าเข้าบริหารกระทรวงนี้แล้ว

ย่อมจะต้องได้รับความนิยมยกย่องนับถืออย่างสูง ไม่ฉะเพาะแต่จากข้าราชการนักปกครองชั้นรองลงมา แต่แม้จากประชาชนผู้ถูกปกครอง ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ดร.ปรีดี พนมยงค์ เห็นว่า ในความรู้สึกของคนที่มีแต่ความทะเยอทะยาน อยากเป็นใหญ่เป็นโตอยากมีอิทธิพล แม้เขาเหล่านั้นจะไม่มีความสามารถที่จะทํางานให้ชาติเช่น ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ตามเขาคงอิจฉาริษยา

และในที่สุดก็คือ การกันท่า ก่อให้เกิดความแตกร้าวในหมู่คณะ และ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ถ้ารับตําแหน่งนั้นก็คงไม่อาจจะทํางานได้เต็มไม้เต็มมือเพราะจะต้องคอยระวัง รับการอิจฉาและปัดขาอยู่ร่ำไปจาก เพื่อนซึ่งเคยร่วมสาบาลนั้น เหตุผลอีกประการหนึ่ง ก็คือ ควันความข้อกล่าวหาเรื่องคอมมูนิสต์ที่พระยามโนฯ และพวกได้ก่อให้ยังหาได้จางหายไปพร้อมกับตัวพระยามโนฯ ไม่ และข้อกล่าวหานี้ก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ให้ประจักษ์ชัดแจ้งถ้า ดร.ปรีดี พนมยงค์ เข้ารับตําแหน่งเช่นนั้น ก็อาจเป็นได้ ที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่รัฐมนตรีร่วมคณะ ด้วยเหตุดังกล่าวแล้วนี้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ซึ่งรักแต่ความสงบ บูชาประชาธิปไตยยิ่งกว่าชีวิต ตั้งอยู่ในสัจธรรม จึงปฏิเสธคําขอของพระยาพหลฯ เสีย

สมาชิกสภาส่วนมาก มีความเลื่อมใสใน ดร.ปรีดี พนมยงค์ และมีความต้องการที่จะเห็นรัฐบุรุษผู้นี้ เข้าบริหารงานของชาติอย่างจริงจัง และก็รู้กันอยู่ว่า นิสสัยใจคอ จิตต์ใจของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นอย่างไร รักความสงบและไม่ทะเยอทะยาน อนึ่ง การที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมูนิสต์ครั้งพระยามโนฯ นั้น สมาชิกสภารู้กันอยู่ว่าในการใส่ร้ายข้างเดียว และการใส่ร้ายนี้ก็ยังปิดบังแปดเปื้อน ดร.ปรีดี พนมยงค์อยู่ การที่เป็นเช่นนี้ ผู้ที่มีความละอายต่อบาป เช่น ดร.ปรีดี พนมยงค์ ย่อมจะสงวนตัวที่จะทําการอย่างใด ๆ ลงไป เว้นไว้แต่จะได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นไปดังข้อกล่าวหานั้นเสียก่อน

นายฟัก ณ สงขลา เนติบัณฑิตไทย ราษฎรจากจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นผู้หนึ่งที่มีความรู้สึกอย่างแท้จริง ที่ต้องการให้รัฐบุรุษผู้นี้ทํางานให้แก่ชาติอย่างเต็มที่ต่อไป ฉะนั้นในวันที่ 25 ธันวาคม 2476 นั้น ณ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ญัตติเสนอให้มีการสอบสวน ดร.ปรีดี พนมยงค์ ว่าเป็นคอมมูนิสต์หรือไม่ก็เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม นายฟัก ได้แสดงต่อที่ประชุมว่า

“ท่านสมาชิกทั้งหลายคงจะยังจําได้ว่าเมื่อวันที่ 1 เมษายน ศกนี้รัฐบาลพระมโนฯ ได้สั่งปิดสภาผู้แทนราษฎรนี้เนื่องจากคณะรัฐมนตรีส่วนน้อยมุ่งที่จะดําเนินการปกครองไปในทํานองแบบคอมมูนิสต์ และสภาผู้แทนในสมัยนั้นมีสมาชิกส่วนมาก ไม่พยายามจะดําเนินตามญัตติของรัฐบาล คณะรัฐมนตรีส่วนมาก จึงสั่งปิดสภาฯ นั้นเสีย ต่อมาปรากฏชัดว่า การปิดสภาฯ นั้น เป็นการไม่ชอบด้วยระบอบรัฐธรรมนูญ จึงได้มีการปฏิวัติขึ้นใหม่และเปิดสภาขึ้น และเมื่อได้เปิดสภาฯ ขึ้นแล้ว รัฐบาล ได้แถลงว่า รัฐบาลจะไม่ดําเนินการปกครองตามแบบลัทธิตามแบบคอมมูนิสต์ สมาชิกในสภาฯ นี้ยังไม่ทราบชัด เพราะยังไม่ได้มีการพิจารณากัน

บัดนี้รัฐบาลได้เรียกตัวหลวงประดิษฐฯ เข้ามาร่วมการงาน คณะรัฐบาลส่วนน้อยซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมูนิสต์นั้น มีหลวงประดิษฐมนูธรรมเป็นคนสําคัญ เรื่องนี้จนกระทั่งบัดนี้ยังเคลือบคลุมอยู่ยังไม่ประจักษ์ชัดแจ้งลงไปว่า คณะรัฐมนตรีส่วนน้อยนั้นเป็นคอมมูนิสต์หรือไม่ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงเห็นเป็นการสมควร ที่จะให้พิจารณากันให้ประจักษ์ชัดแจ้งลงไปว่า มีมลทินหรือไม่ การพิจารณาว่ามีมลทินหรือไม่นั้นก็อยู่ที่การพิจารณาว่า หลวงประดิษฐฯ เป็นคอมมูนิสต์หรือไม่ วิธีพิจารณานี้ข้าพเจ้าเห็นว่าอาจทําด้วยการตั้งกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยบุคคลผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมที่พิจารณาการนี้ได้ เมื่อที่ประชุมรับรองญัตติของข้าพเจ้าจะได้เสนอนามกรรมาธิการวิสามัญต่อไป”

เมื่อสมาชิกได้อภิปรายแล้วก็ได้รับรองญัตติของนายฟัก แล้วนายฟัก ณ สงขลา ก็ลุกขึ้นเสนอนามกรรมาธิการ 3 นาย คือ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร พระยานลราชสุวัจน์ และ พระยาศรีสังกร

จบคําเสนอของนายฟัก พระยาพหลฯ ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อสภาในเรื่องนี้ต่อไปว่า

“ในการที่ท่านสมาชิกขอเลือกตั้งกรรมาธิการทั้ง 3 คนนั้น ข้าพเจ้าไม่ขัดข้องและเห็นด้วย แต่ทว่าอยากจะได้ผู้ที่เป็นกลางจริง ๆ และถ้าเลือกคนภายนอกด้วยยิ่งดี อีกอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้ายังหนักใจอยู่ เพราะได้ยินเขาว่าพระยามโนฯ ได้แพร่ข่าวออกไปข้างนอก ๆ ด้วย ทําให้ชาวต่างประเทศซึ่งมีโคโลนี่อยู่ใกล้เคียงโจทก์กันต่าง ๆ

นานาเช่นนี้ข้าพเจ้าจึงอยากให้มีชาวต่างประเทศเป็นที่ปรึกษาในเวลาพิจารณาเรื่องนี้ เพื่อจะให้เขาแลเห็นได้จริงถ้าว่าหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นคอมมูนิสต์ เขาก็จะได้แลเห็นว่าเป็น ถ้าไม่ได้ความจริงว่าหลวงประดิษฐฯ เป็นคอมมูนิสต์ เขาก็จะเห็นประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอเสนอ ผู้เชี่ยวชาญ ๒ ท่าน คือ เซอร์โรเบอร์ต ฮอลแลนด์คนหนึ่ง กับ มองซิเออร์ กียอง อีกคนหนึ่งสําหรับเป็นที่ปรึกษา

ท่านเจ้าคุณนายกฯ ได้กล่าวแก่ที่ประชุมว่า “ ข้าพเจ้าอยากจะให้ขาว จึงต้องการคนภายนอก และคนที่เป็นคนกลางจริง ๆ”

ในที่สุดสภาได้ลงมติให้บุคคลที่เจ้าของญัตติได้เสนอนาม เป็นกรรมาธิการ และบุคคลที่พระยาพหลฯ ได้เสนอนามเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาทำการสอบสวน ดร.ปรีดี พนมยงค์ ว่า เป็นคอมมูนิสต์หรือไม่ แล้วให้กรรมาธิการเสนอผลการสอบสวนต่อสภาฯ เพื่อพิจารณาต่อไป

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกด และการเว้นวรรคตามต้นฉบับ

บรรณานุกรม

  • ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์ กับการปฏิวัติ (กรุงเทพฯ: สิริธรรมนคร, 2493)