Focus
- บทความนี้นำเสนอบทบาทของนายปรีดี พนมยงค์ กับการต่างประเทศ โดยไสว สุทธิพิทักษ์ ที่เขียนถึงบทบาทและผลงานของนายปรีดีในด้านการต่างประเทศนับได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมัยแรกในรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ในทศวรรษ 2470
- นายปรีดีมีปณิธานและผลงานด้านการต่างประเทศสำคัญ ได้แก่ การยกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคตามแนวทาง “หลัก 6 ประการ” ของคณะราษฎร ที่ว่า “จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง และในด้านการต่อสู้เพื่อเอกราชและอิสรภาพของประเทศเมืองขึ้นทั้งสามในอินโดจีน คือ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่นายปรีดีให้ความเห็นในการสนับสนุนและช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชและอิสรภาพในประเทศทั้งสามมาตั้งแต่ต้น ร่วมกับผู้นําทางการเมืองบางคนและประชาชนในภาคอีสานที่สนับสนุนขบวนการกอบกู้เอกราชและอิสรภาพนั้นด้วย
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-12-001-01.jpg)
นายปรีดี พนมยงค์ และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ถ่ายภาพร่วมกับนายกเทศมนตรี
ณ สถานีเมืองเบอร์มิงแฮม
ที่มา : หนังสือ ดร.ปรีดี พนมยงค์ โดย ไสว สุทธิพิทักษ์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2493
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
พ้นจากตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดร.ปรีดี พนมยงค์ เข้าดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๘ และต่อมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๘๐ ในรัฐบาลอันมีพระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรี
ในกระทรวงนี้ ดร.ปรีดี พนมยงค์หวังอย่างเต็มที่ว่าคง จะได้มีโอกาสทํางานให้แก่ชาติบ้านเมืองอย่างเต็มที่ปราศจากอุปสรรคภายในคือการคอยกีดกันหรือกระทําการใด ๆ อันเป็นการปัดแข้งปัดขากันอย่างที่เคยได้ประสบมาแล้วเพราะถ้าว่าถึงเรื่องอิทธิพลใด ๆ แล้ว กระทรวงการต่างประเทศเป็นกระทรวงเล็ก มีข้าราชการทั้งหมดไม่เกิน ๒๐๐ คน รัฐมนตรีกระทรวงนี้จะมี อิทธิพลใด ๆ ไม่ได้ แต่งานของกระทรวงนี้นี่ซิเป็นงานที่สําคัญยิ่ง ในยุคที่ประเทศต่าง ๆ ได้มีความสัมพันธ์กันอยู่อย่างใกล้ชิด
งานขั้นต้นของรัฐมนตรีผู้นี้ก็คือ การแสดงให้ปรากฏแก่นานาชาติทั่วโลกว่า ชาติไทยภายใต้การบริหารของรัฐบาล อันมี ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศนั้น มีนโยบายต่อชาติอื่นอย่างไร ดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกของบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลไทยที่ได้กระทําเช่นนี้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ภายใต้หัวข้อว่า
วิเทโศบายของสยาม
“ในเรื่องนโยบายระหว่างประเทศ รัฐบาลสยามย่อม ปรารถนาใคร่จะพยุงเกลียวสัมพันธไมตรีระหว่างสยามกับต่างประเทศที่มีความเกี่ยวพันกับประเทศเราไว้ให้สม่ําเสมอด้วยระมัดระวังยิ่ง หลายปีมาแล้วสยามได้ทําการปฏิวัติแปลงรูปใหม่ โดยยึดถือเอานโยบายนี้เป็นหลักสําคัญ เห็นควรจะต้องเน้นกล่าวให้ชัดอีกว่า การปฏิวัติการปกครองของสยาม ไม่ได้หมายความว่าจะปลีกตัวละทิ้งไปจากนโยบายมิตรภาพระหว่างประเทศอันต้องด้วยกาลสมัยนี้เสีย
โลกกําลังผ่านไปในท่ามกลางของวันสําคัญแห่งการเกี่ยวพันระหว่างประเทศ การประดิษฐ์คิดค้นแห่งวิทยาศาสตร์ใหม่ ซึ่งได้ทําความสะดวกในเรื่องการคมนาคมและการขนส่งเป็นอันมาก ได้ช่วยรัดรึงครอบครัวของชาติซึ่งได้กระจัดกระจายห่างไกลกันให้รวมกันบังเกิดความใกล้ชิดมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี สัมพันธภาพ และความรู้สึกอันดีของประชาติในโลก ก็ยังได้ถูกขู่คํารามอยู่ตามส่วนต่าง ๆ หลายส่วนของพิภพอันเจริญรุ่งเรือ...แต่ ไทย เป็นประเทศในท่ามกลางของประเทศสองสามประเทศแห่งโลก ที่สามารถพยุงความสม่ําเสมออันไม่ลดละของสากลมิตรภาพนี้ไว้ได้นี้เป็นความสําเร็จอันมหัศจรรย์เป็นพิเศษ เมื่อคํานึงถึงความจริงนี้ที่ว่าประเทศไทยกําลังจะได้ผ่านหัวต่อสําคัญจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบการปกครองแนวใหม่ซึ่งอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
ในระหว่างที่ก้าวผ่านไปตลอดหัวต่อการเมืองอันสําคัญนี้ ไทยต้องผจญกับงานชิ้นมหึมาและสําคัญยิ่ง ในอันที่จะกระทําให้บังเกิดการจัดตั้งโครงการที่เหมาะขึ้นในด้านต่าง ๆ แห่งชาติตลอดจนในการส่งเสริมความก้าวหน้าของการเมือง โภคกิจ และประชาคมแห่งชาติ พร้อมด้วยการขยายตัวอย่างกว้างมากกว่าเดิมของความคิดฝันในเรื่องประชาชาติตลอดจนการปรับปรุงความ เข้าใจระหว่างประเทศไทยใหม่ ได้มองหามิตรภาพ ความรู้สึกที่ดีและการช่วยเหลือร่วมมือระหว่างประเทศทั่วโลกอย่างสนใจยิ่ง นโยบายประชาชาติของไทยจะบริหารออกไปในวิธีอันร่วมแนวเดียวกับประเทศที่ก้าวหน้าทั้งหลาย กล่าวคือ จะบริหารเพื่อผลประโยชน์ของประเทศของคนไทย แต่ในเรื่องวิเทโศบาย รัฐบาลไทยจะพยายามอย่างที่สุดกําลังเสมอที่จะสร้าง ความสัมพันธ์แห่งสันติสุขแห่งความรู้สึกอันดีและผลประโยชน์ รวมกันให้เกิดแก่ท่ามกลางประชาชาติต่าง ๆ ของโลก
รัฐบาลไทยย่อมรอบรู้อยู่อย่างเต็มเปี่ยมถึงฐานะของไทย ในทางหลักเกณฑ์ของภูมิศาสตร์และการเมืองในละแวกโลกแถบนี้ และทฤษฎีของเราก็คือ การอุ้มชูมิตรภาพอันสม่ําเสมอ ไร้ความลําเอียงในเรื่องการติดต่อสัมพันธ์กับประชาชาติต่างประเทศทั้งมวล ในหลักเกณฑ์เหล่านั้นไทย ไม่ลําเอียงและจะไม่ลําเอียงรักประชาชาติใดประเทศใดโดยเฉพาะไม่ และจะไม่อนุญาตยืนสิทธิและความได้เปรียบใด ๆ แก่ประชาชาติหนึ่ง โดยที่กระทําให้เกิดความเสียหายแก่อีกประชาชาติหนึ่ง รัฐบาลไทยและราษฎรชาวไทยจะให้ความคุ้มครองและการปฏิบัติแก่ชาวต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในประเทศหรือมีผลประโยชน์อยู่ในประเทศโดยเที่ยงธรรม”
นี่คือ นโยบายของไทยที่รัฐมนตรีต่างประเทศผู้นี้จะมีต่อนานาชาติทั้งหลาย
ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวต่อไปอีกถึงความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ ว่า
“ระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศของข้าพเจ้าเมื่อเร็ว ๆ นี้ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสตรวจดูและศึกษาเรียนความเป็นไปแห่งการเคลื่อนไหวของการเมืองและโภคกิจอันเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในประเทศต่าง ๆ ได้มีข้อน่าพึงพอใจที่ได้รู้สึกว่านามของไทยได้เผยแพร่รู้กันกว้างขวางยิ่งกว่าเมื่อหลาย ๆ ปีก่อน ตามบรรดาสาธารณชนทั่วโลก เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งได้กระทํากันสําเร็จอย่างสงบที่สุดนั้น หนังสือพิมพ์ทั่วโลกและสาธารณชนทั่วไป ได้เยินยอเรียกการปฏิวัติครั้งนั้นว่า การปฏิวัติอันไร้หยาดโลหิตในกรุงเทพฯ กับทั้งยังได้สรรเสริญว่าเป็นฉากเหตุการณ์อันมหัศจรรย์ที่สุดฉากหนึ่งในประวัติศาสตร์ของโลก
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แน่ทีเดียว ประเทศของเราก็ได้ผ่านชุดต่าง ๆ เหตุการณ์ของการเมืองซึ่งเต็มไปด้วยสีที่แสดงถึงระยะหัวต่ออันสําคัญ แต่ลักษณะการอันสงบและเต็มไปด้วยสันติสุข ซึ่งไทยได้ฟันฝ่ากาลสมัยเข้าด้ายเข้าเข็มจนสําเร็จได้นั้น ได้เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ชาวต่างประเทศมีศรัทธาเชื่อถือในเรา และแล้ว ก็ได้กล่าวถึงสัมพันธไมตรีอันดียิ่งระหว่างประเทศอังกฤษฝรั่งเศสมหาอํานาจในยุโรป และในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และแม้แต่ประเทศจีน ในสุดท้ายของคําแถลง ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวย้ำ
“ไทยเป็นประเทศอิสระและความปรารถนาอันสูงยิ่งก็คือการก้าวหน้าอันเต็มไปด้วยสันติสุข กรณีจะเป็นเช่นไรก็ดี ไทย จะไม่ยอมกระทําการพัวพันกับการกระทําใด ๆ ซึ่งจะทําให้มิตร ภาพของไทยเหินห่างไปหรือจะทำให้เกิดภัยพิบัติแก่ความเป็นอิสระของประเทศชาติ ความรู้สึกส่วนใหญ่ของประเทศไทยก็คือ การพิทักษ์อิสระภาพและการทําตนให้อยู่ในลักษณะของมิตรภาพ อันสม่ำเสมอซึ่งไทยมีต่อประชาชาติทุกประชาชาติในโลก ไทยต้องการมีชีวิตอยู่และต้องการความยินยอมให้มีชีวิตอยู่ เพื่อจะผจญงานในแนวของความก้าวหน้าแห่งประชาชาติตลอดจนแนวของมิตรภาพระหว่างประชาชาติ และเก็บเกี่ยวผลรางวัลอันยุติธรรมของการผจญงานอนขยันขันแข็งนี้”
ภายหลังที่ระยะเวลาผ่านไปพอสมควร พอแก่การศึกษา ความรู้สึกความคิดเห็น ความเชื่อถือของผู้แทนของชาติต่าง ๆ ที่อยู่ในประเทศไทย และจากรายงานทางการทูตของผู้แทนของประเทศไทยในต่างประเทศ ดร. ปรีดี พนมยงค์ เริ่มลงมือในโอกาสแรก เพื่อจะปลดแอกแห่งความผูกมัดของชาติไทย ซึ่งมีอยู่โดยสนธิสัญญากับนานาประเทศ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลแห่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช สนธิสัญญาเหล่านั้นกล่าวได้ว่า เป็นสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรม เป็นสนธิสัญญาจํากัดอิสสระภาพ บั่นทอนเอกราชอธิปไตยของชาติ เช่นในเรื่องอํานาจศาล ต่างประเทศมีสิทธิถอนคดีได้จนกว่าจะออกประมวลกฎหมายครบถ้วนแล้วเป็นเวลา ๕ ปี
ในเรื่องการเก็บภาษีอากร ไทยถูกจํากัดมิให้เก็บจากสินค้าบางอย่าง, ให้คืนอากรในเมื่อนําสินค้ากลับไป, ผูกมัดมิให้เก็บศุลกากรตามชายแดนแม่น้ําโขง, ผูกมัดให้ต้องยอมให้บุตรและหลานของชาวยุโรปและบุตรของชาว อาเซียซึ่งเกิดในประเทศไทยจากคนสัญชาติอังกฤษและฝรั่งเศสให้จดทะเบียนเป็นคนสัญชาติอังกฤษและฝรั่งเศส และถูกจํากัดในด้านนโยบาย เช่น ไทยจะผูกขาดกิจการใด ๆ ไม่ได้ และไม่ยอมให้มีการเรียกร้องเพื่อการทหาร ตลอดเวลามา ประเทศไทยโดยการกระทําของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราช เปรียบได้ว่าไม่ต่างกับคนที่ง่อยเปลี้ยหรือนักโทษที่มีชื่อคาสวมคออยู่
ด้วยบุคลิกลักษณะ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และประวัติชีวิตที่ไม่มัวหมองทางทุจริต ดร.ปรีดี พนมยงค์ได้นํามาซึ่งความเห็นอกเห็นใจจากบรรดาผู้แทนทางการทูตของรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างชาติได้กระชับแน่นขึ้น ไทยกลับกลาย เป็นประเทศชาติที่นานาชาติทั้งหลายเห็นสมควรจะให้ความช่วยเหลือและอุ้มชูให้มีความเจริญรุ่งเรืองเสมอว่าเสมอไหล่กับนานาชาติ คําแถลงของรัฐมนตรีต่างประเทศ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้รับการรับรองเป็นอย่างดอง
การริเริ่มให้มีการแก้ไขทําสนธิสัญญาใหม่ระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศได้เริ่มขึ้น นี่เป็นการเริ่มศักราชใหม่ทางการทูต ศักราชแห่งการสร้างความเป็นธรรมให้แก่ชาติไทย ศักราชแห่งการนํามาซึ่งเอกราชและอธิปไตยอันสมบูรณ์ด้วยวิธีทางการทูตอันล้ำเลิศ ด้วยความปรีชาสามารถของบุรุษผู้สืบสายโลหิตจากครอบครัวราษฎรไทยชั้นสามัญ จากครอบครัวของกสิกรครอบครัวหนึ่งเท่านั้น
ผู้ที่เป็นกําลังช่วยเหลือในการเจรจาและในการแก้ไขทําสนธิสัญญาใหม่นี้ นอกจากเจ้าหน้าที่ประจําในกระทรวงการต่างประเทศ แล้ว พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ซึ่ง ขณะนั้นยังทรงฐานันดรศักดิ์เป็น ม.จ. วรรณไวทยากร วรวรรณ ได้มีส่วนในการช่วยเหลืออยู่ไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตามหาก ดร. ปรีดี พนมยงค์ ปราศจากเสียซึ่งคุณธรรมที่นานาประเทศจะเชื่อถือได้ ประการหนึ่ง กับปราศจากความเพียรพยายาม อดทนอีกประการหนึ่ง แล้ว ก็ไม่แน่ว่าการแก้ไขสนธิสัญญานี้จะสําเร็จได้ ทั้งนี้ก็โดยที่ ระหว่างเวลาที่มีการเจรจาเรื่องสนธิสัญญาอยู่นั้น ได้เกิดอุปสรรคภายในขึ้น อุปสรรคที่เกิดขึ้นภายในวงการของรัฐบาลเอง อุปสรรค นั้นคืออะไร
วันหนึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ได้รับหนังสือประท้วงจากทูตฝรั่งเศส กล่าวหาว่าหนังสือพิมพ์ยุทธโกษของกระทรวงกลาโหมได้ ลงพิมพ์บทความอันเป็นไปในทํานองยุยงให้เสียสัมพันธไมตรี ระหว่างชาติทั้งสอง และต่อมาไม่กี่วัน ทูตฝรั่งเศสก็มาประท้วง ทํานองเดียวกันอีก เมื่อพิจารณาคําประท้วงของทูต กับบทความ ในหนังสือยุทธโกษที่ทูตอ้างถึง ดร. ปรีดี พนมยงค์เห็นว่า ทาง ส่งเรื่องนี้ให้รัฐมนตรีกลาโหม หลวงพิบูลสงครามชี้แจง และให้คําตอบดีกว่า ดีกว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศจะตอบไปในทันที
เรื่องเก่าผ่านไปยังไม่ทันหมดกลิ่น เรื่องใหม่ก็เข้ามาแทน รัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้ต้อนรับทูตอังกฤษในวันหนึ่ง ทูตอังกฤษไม่ได้มาดีเลย แต่มาเพื่อประท้วงทํานองเดียวกับที่ทูตฝรั่งเศสเคยมา คําประท้วงของทูตอังกฤษมีว่า ได้มีรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลแสดง ด้วยลายลักษณ์อักษรหรือการกระทําอย่างอื่น ๆ อันเป็นการกระทบ กระเทือนต่ออังกฤษและต่อสัมพันธไมตรีระหว่างชาติทั้งสอง เหตุ การณ์ทํานองนี้ได้เกิดขึ้นอีกในเวลาต่อมา ทั้งทูตอังกฤษและทูตญี่ปุ่น ได้หยิบยกเอาการกระทําของรัฐมนตรีบางท่าน ซึ่งได้กระทําไปจน เกิดการกระทบกระเทือนต่อชาตินั้น ๆ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ประสบเหตุการณ์เช่นนี้เข้าถึงรู้สึกงงงันปวดร้าว และเกิดความประหวั่นพรั่นพรึงว่าการแก้ไขสนธิสัญญาจะล้มเหลวลงก็อาจเป็นได้
การกระทําของบุคคลที่ก่อให้เกิดการประท้วงนั้นมิใช่เป็นการกระทําของราษฎรสามัญ แต่เป็นการกระทําของรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล ซึ่งเป็นการแสดงออกที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาล ที่รัฐมนตรีต่างประเทศได้แสดงออกไปแล้วว่าประเทศไทยมีนโยบายรักสันติ มุ่งต่อสัมพันธไมตรีอันดีกับทุก ๆ ชาติ การปรับความเข้าใจกับทูตของประเทศนั้น ๆ จึงทําได้ด้วยยาก
แต่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ก็ได้พยายาม พยายามอย่างที่สุด และดูเหมือนว่าการที่ทูตเหล่านั้นเข้าใจ สถานะการณ์การเมืองของประเทศไทยดี จึงทําให้การปรับความเข้าใจเป็นไปได้ในทางดี แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องการประท้วงนี้ได้ถูกส่ง ไปยังรัฐมนตรีกลาโหม ดร.ปรีดี พนมยงค์ จากความขมขื่นและ และเสียใจที่ได้รับครั้งนี้ ไม่ได้ทําอะไรออกไป เพียงแต่กล่าวว่า “ผมเห็นว่า ผู้ที่รักชาติโดยสุจริตจะไม่ทําเช่นนั้นเป็นการหน่วง ถ้าอดแสดงออกไม่ได้ก็ควรพยายามอดอกอดใจให้เซ็นสัญญาเสียก่อนจะดีกว่า”
และเพื่อบรรเทาความรู้สึกที่ได้รับอยู่ ดร. ปรีดี พนมยงค์ จึงได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีขอลาไปพักผ่อน ๑๕ วัน หลบไปอยู่ที่หัวหินและเสนอให้รัฐมนตรีกลาโหมไปรักษาการในตําแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศแทน
เมื่อกลับจากหัวหินก็เริ่มลงมือทํางานในเรื่องแก้ไขสนธิสัญญาต่อไปอีก การเจรจาเรื่องสนธิสัญญาทางไมตรี, พาณิชย์และการเดินเรือใหม่นี้ได้เสร็จสิ้นลงเมื่อพฤศจิกายน ๒๔๗๙ และได้ลงนามในหนังสือสัญญากัน คือ
สวิตเซอร์แลนด์ ๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๐ ณ กรุงเบอร์น
เบลเยียม ๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๐ ณ กรุงเทพ ฯ
(สําหรับเบลเยียมนี้ได้ทําเป็น ๒ ฉบับคือ สนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์ และการเดินเรือกับเบลเยียม และสหภาพเศรษฐกิจเบลโกลักเซมเบอร์ก และอนุสัญญาการตั้งถิ่นฐานกับเบลเยียมทั้งนี้เพราะในเรื่องการตั้งถิ่นฐานนั้น จะทําหนังสือสัญญาในนามแห่งสหภาพเศรษฐกิจเบลโกลักเซมเบอร์กไม่ได้)
สวีเดน ๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๐ ณ สตอกโฮล์ม
เดนมาร์ค ๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๐ ณ โคเปนเฮเกน
สหรัฐอเมริกา ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๘๐ ณ กรุงเทพฯ
นอร์เวย์ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๐ ณ ออสโล
อังกฤษ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๘๐ ณ กรุงเทพฯ
อิตาลี ๓ ธันวาคม ๒๔๘๐ ณ กรุงเทพฯ
ฝรั่งเศส ๗ ธันวาคม ๒๔๘๐ ณ กรุงเทพฯ
(สําหรับฝรั่งเศสนั้น ได้ลงนามกันในความตกลงทางพาณิชย์ศุลกากรเกี่ยวกับอินโดจีนเพื่อเลิกข้อห้ามการเก็บศุลกากรในเขต ๒๕ กิโลเมตรด้วย)
ญี่ปุ่น ๘ ธันวาคม ๒๔๘๐ ณ กรุงเทพฯ
เยอรมนี ๓๐ ธันวาคม ๒๔๘๐ ณ กรุงเทพฯ
สนธิสัญญาใหม่นี้ได้อาศัยหลักการถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกัน หลักความเป็นธรรมและหลักคุณประโยชน์แก่กันและกัน ส่วนหนังสือสัญญาเก่าซึ่งรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชทําไว้นั้น ได้บอกเลิกเสียสิ้น
ผลจากสนธิสัญญาอันเป็นธรรมนี ประเทศไทยได้หลุดพ้นจากแอกที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชทําไว้ด้วยความจําเป็น
“นับว่าชาติไทยเราได้รับสิทธิเสมอภาคทุกประการ ซึ่งย่อมเป็นเกียรติ และเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นอันมาก และเนื่องจากผลอันนี้ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๔๘๑ กระทรวงการคลังได้ลงให้เปิดด่านศุลกากรบางแห่งตามชายแดนแม่น้ําโขงด้วยแล้ว ในการที่ได้ทําสนธิสัญญาใหม่จนเป็นผลสําเร็จนี้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเมื่อยังดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นผู้ดําเนินการตลอดมากับได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจาก ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ...นับว่าเป็นความชอบในราชการของชาติเป็นอย่างยิ่ง จึงได้นําเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มราชการแผ่นดินให้แก่หลวงประ ดิษฐ์มนูธรรม และ ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นบําเหน็จความชอบต่อไป
เมื่อคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ใน พระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทราบเรื่องแล้ว ก็ได้ลงมติเห็น ว่า เป็นการควรอย่างยิ่งแล้ว เพราะท่านทั้งสองนี้ได้กระทําประโยชน์ ให้แก่ประเทศชาติเป็นอันมาก นับว่ามีความดีความชอบยิ่งนัก และในโอกาสนี้ยังได้แสดงความขอบใจและชมเชยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และ ม.จ. วรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นพิเศษอีกด้วย”
สําหรับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ นั้น แม้จะมีความดีใจและภูมิใจก็จริง แต่ความดีใจและภูมิใจนี้หาได้เกิดจากการที่ได้รับคํายกย่องชมเชยหรือที่ได้รับเหรียญดุษฎีมาลาเข็มราชการแผ่นดินไม่ แต่เกิดจากผลสาเร็จของงาน งานที่ได้บังเกิดผลแก่ประเทศชาติอย่าง มหาศาล งานอันเกิดจากการปฏิวัตินั่นเอง และงานนั้นก็คืองานที่เกิดผลขึ้นเพราะการกระทําของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ถ้าหากประชาราษฎรไทยยังถูกปกครองอยู่โดยรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชอย่างแต่ประเทศชาติและราษฎรไทยคงไม่มีโอกาสที่จะได้พบได้รับอิสรภาพ เสรีภาพ และเอกราชอย่างแท้จริงเช่นนี้เลย
การกระทําของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ปรากฏเป็นเกียรติคุณขจรขจายทั่วไป แม้ภายนอกประเทศหนังสือพิมพ์สเตรตไทม์ ซึ่งออกในเมืองสิงคโปร์ โดยบทความของบรรณาธิการ ได้กล่าวเปรียบ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ว่า เสมือนหนึ่งเป็น “แอนโตนิ อีเดน” (รัฐมนตรีต่างประเทศอันสามารถและเชี่ยวชาญของรัฐบาลอังกฤษ) ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) ไม่อยากเปรียบเทียบ ข้าพเจ้าได้เคยเรียนถาม ดร. ปรีดี พนมยงค์ ว่า “อาจารย์รู้สึกอย่างไร ที่เขาว่าอย่างนั้น” ดร.ปรีดี พนมยงค์ สั่นศีรษะพูดสั้น ๆ ว่า “ฟังเขาก็แล้วกัน” ข้าพเจ้าไม่ได้เรียนถามอะไรอีก เพราะข้าพเจ้าทราบคำตอบดีแล้ว
ข้อความของหนังสือพิมพ์สเตรตส์ไทม์ที่กล่าวแล้วนั้น มีดังนี้
“Siam today appears to be getting on top of most of her problems and much of the credit is due to three Ministers – Luang Pradit, Luang Pibul, and Luang Dhamrong, All these are comparatively young men and their success so far is a triumph for youth.
“They are an Anthony Eden trio and are try to get things done in the same energetic way that has proved the British Foreign Ministers great strength. Luang Pradit and his colleagues are still in their thirties”
อีกตอนหนึ่ง หนังสือพิมพ์ฉบับที่กล่าวนี้ ยังได้กล่าวแสดงรับรองผลของการปฏิวัติ ว่า “Four years of constitutional government have produced valuable results in Siam...etc.”
ดร.ปรีดี พนมยงค์ ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจนถึงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๘๑ รวมเวลาบริหารในกระทรวงการต่างประเทศนี้ ๑๐๔๐ วัน โดยรัฐบาล อันมีพระยาพหลฯ เป็นนายกฯ ได้ยุบสภา มีการเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลได้ลาออกเมื่อ ๑๖ ธันวาคม นั้น.
หมายเหตุ :
- บทความชิ้นนี้มีการปรับปรุงชื่อโดยกองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์จาก “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ” เป็น “วิเทโศบายของสยามก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพา และผลงานด้านการต่างประเทศของปรีดี พนมยงค์ ในทศวรรษ 2470”
- อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
เอกสารอ้างอิง :
- ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526), 466-478.