ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ผลการสอบสวนปรีดี พนมยงค์ กรณีคอมมิวนิสต์

13
กันยายน
2567

หลวงประดิษฐมนูธรรมไม่มีมลทินในเรื่อง (เป็นคอมมิวนิสต์) ที่กล่าวหานั้น

มติกรรมาธิการสอบสวนฯ

 

 


รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 24 วันที่ 10 มีนาคม 2476
เรื่องพิจารณารายงานกรรมาธิการสอบสวนหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

 

ผลของการสอบสวนกรรมาธิการซึ่งสภาฯ ตั้งขึ้นเพื่อสอบสวน ดร.ปรีดี พนมยงค์ ว่าเป็นคอมมูนิสต์หรือไม่นั้นได้เสนอรายงานการสอบสวนไปยังสภาฯ และสภาฯ ได้พิจารณารายงานการสอบสวนนี้ในวันที่ 10 มีนาคม 2476

ประธานสภาฯ ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า กรรมาธิการได้เสนอความเห็นและรายละเอียดในการสอบสวน ซึ่งได้แจกแก่สมาชิกทั่วกัน

กรรมาธิการมีความเห็นว่า หลวงประดิษฐมนูธรรมไม่มีมลทินในเรื่องที่กล่าวหานั้น ปัญหาที่จะต้องพิจารณาในที่นี้มีอย่างเดียวคือ เราจะรับรองความเห็นของกรรมาธิการที่เสนอมานั้นหรือไม่

หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจากจังหวัดสกลนครจากที่ได้อ่านรายงานการสอบสวนฯ และแจ้งความรู้สึกของตนต่อสภาฯ ว่า

 

ข้าพเจ้ากับหลวงประดิษฐฯ ไม่ได้มีอะไรกัน ข้าพเจ้าเป็นเพื่อนกับหลวงประดิษฐฯ และไม่มีเจตนาร้ายต่อหลวงประดิษฐฯ ดังที่พระยามโนฯ กล่าวหา เพราะว่าเค้าโครงการณ์ไม่ใช่ปรากฏชัดแจ้งแต่อย่างใดว่ามีความคิดความเห็นไปในทางคอมมูนิสต์ หรือไม่ และที่กรรมาธิการสอบสวนนั้น ตรงกับความมุ่งหมายของข้าพเจ้าแล้ว

 

แต่กระนั้นหลวงวรนิติปรีชายังยืนยันในข้อเสนอของตน และได้กล่าวว่า “เรื่องที่สมาชิกผู้นั้นขอให้สอบสวนหลวงประดิษฐฯ ก็เนื่องมาจากหลวงประดิษฐฯ เขียนเค้าโครงการณ์ขึ้นในสมัยพระยามโนฯ ไม่ใช่เหตุอื่นเพราะฉะนั้นก็ทําไมเล่า จึงไม่นําเค้าโครงการณ์มาพิจารณาว่าความคิดเห็นของหลวงประดิษฐ์ฯ ในเค้าโครงการณ์นั้นเป็นอย่างไร” และในที่สุดได้กล่าวว่า “ในข้อนี้ข้าพเจ้า ขอให้ประธานกรรมาธิการทรงอธิบายว่าเพราะเหตุใด”

ประธานกรรมาธิการยังมิได้ทรงอธิบาย แต่นายดาบ เทียน ศรีพิศิษฎ์ ผู้แทนราษฎรจากจังหวัดนครปฐม ได้อภิปรายสนับสนุนเจ้าของญัตติว่า

 

กรรมาธิการได้ชักจูงซักถามความคิดความเห็นของหลวงประดิษฐฯ ว่าจะเป็นความคิดที่น้อมไปในทางคอมมูนิสต์ หรือไม่ เพราะฉะนั้นใครจะให้ที่ประชุมลงมติในคำซักฟอก

 

สมาชิกอื่น ๆ ได้อภิปรายถึงเรื่องนี้และมีความเห็นว่ากรรมาธิการได้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามความประสงค์ของสภาฯ แล้ว แต่ยังไม่มีการเสนอให้ลงมติอย่างใด

ครั้นแล้วนายกรัฐมนตรีก็ได้ขออนุญาตให้ประธานกรรมาธิการแถลงข้อสงสัยของสมาชิก ซึ่งประธานกรรมาธิการได้ทรงแถลง

 

ตามทางพิจารณาของคณะกรรมาธิการก็ได้พิจารณาณัตตินี้ โดยละเอียดละออ และได้ถามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้งสองด้วยแล้ว และความตกลงในข้อนี้ก็ได้ตกลงเป็นเอกฉันท์ คือหมายความ ว่าที่ว่าคํากล่าวหานั้นหมายความว่ากระไร คือหมายความว่า เป็นคำกล่าวหาที่ว่ากันทางการเมืองที่ติฉันนินทาที่ดำริกล่าวขวัญเช่นนั้น หรือเป็นข้อหาที่คณะกรรมาธิการใช้คําว่า ข้อหา

ถ้าจะใช้เป็นคำอังกฤษก็แปลว่า คํากล่าวหานั้นเป็น เยเนราล โปลิซี แอคคิวเซชั่น (General Policy Accusation) ค่ากล่าวหาทางการเมือง หรือเป็นข้อหาทางกฎหมายซึ่งภาษาฝรั่งใช้ว่า อินไดท์เมนต์ (Indicement) คณะกรรมาธิการเมื่อได้พิจารณาญัตติของสภาฯ แล้วเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า หมายความถึงคำกล่าวหาทั่วไป ไม่ใช่ข้อหาทางกฎหมาย และหน้าที่ของกรรมาธิการที่จะสอบสวน ก็ไม่ใช่หน้าที่ที่จะเป็นตุลาการเหมือนหนึ่งศาลพิเศษที่จะชําระ แต่หากว่าให้ไปพิจารณา หรือสอบสวนดูว่า ตามความเห็นของคณะกรรมาธิการโดยอาศัยหลักวิชาการแล้ว ความคิดความเห็นของหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นคอมมูนิสต์หรือไม่ เมื่อได้ตีความในญัตตินั้นแล้ว กรรมาธิการก็ได้พิจารณากัน และลงมติประกอบด้วยเหตุผล ดั่งแจ้งอยู่ในรายงานนั้นแล้ว และทรงอธิบายให้สมาชิกทราบต่อไปว่า

ท่านสมาชิกหรือมหาชนอาจเข้าใจผิดไปว่า ถ้ากรรมาธิการพิจารณาเค้าโครงการณ์ของหลวงประดิษฐ์ฯ แล้ว อาจจะเห็นว่ามีลักษณะเป็นคอมมูนิสต์ก็ได้ ในข้อนี้ในฐานะที่เป็นประธานกรรมาธิการ ข้าพเจ้าขอทําความเข้าใจไว้ให้แน่ชัดว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่ เป็นแต่คณะกรรมาธิการเห็นว่าอยู่นอกประเด็นคือ ประเด็นอยู่ที่ความคิดความเห็นของหลวงประดิษฐ์ฯ เช่น ในต่างประเทศก็ดี ถ้าไปบอกว่าคนนั้นเป็นคอมมูนิสต์หรือไม่ เขาก็เอาหลักความคิดความเห็นเป็นใหญ่ และวิธีดําเนินการที่ดําเนินดั่งที่คณะกรรมาธิการได้ทํามาแล้ว

 

แต่ถ้าประเด็นที่ตั้งมามีอยู่ว่า เค้าโครงการณ์นั้นมีลักษณะเป็นคอมมูนิสต์หรือไม่ ปัญหาก็ไปอีกรูปหนึ่ง ซึ่งจะต้องพิจารณากันไปหลายอย่าง แลถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วข้าพเจ้าก็คงไม่รับเป็นประธานฯ

ข้าพเจ้าได้แสดงความเห็นต่อมหาชนโดยเปิดเผยในขณะนั้นแล้วว่า ตามความเห็นของข้าพเจ้าซึ่งได้อ่านเค้าโครงการณ์ว่า ไม่มีลักษณะเป็นคอมมูนิสต์ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าก็ไม่ได้ตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นกลางแต่ในการที่ข้าพเจ้าได้รับเป็นประธานกรรมาธิการข้าพเจ้าเข้าใจว่า ประเด็นว่าหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นคอมมูนิสต์หรือไม่ คือเกี่ยวกับความคิดความเห็นทํานองความเห็นหลวงประดิษฐฯ ว่าในทางการเมืองเวลานี้และต่อไป มีความคิดความเห็นเป็นคอมมูนิสต์หรือไม่ เกี่ยวกับ นโยบายการเมืองที่หลวงประดิษฐฯ ได้ดําเนินมาแล้วและดําเนินอยู่ และจะดําเนินต่อไป ?

ร.ท. ทองคำ คล้ายโอภาส ผู้แทนราษฎรจากจังหวัดปราจีนบุรี ได้แถลงเป็นการสนับสนุนต่อไปว่า “ตามที่กรรมาธิการได้ยกเอาข้อความคิดความเห็นของหลวงประดิษฐฯ มาต่อเติม เห็นด้วยทีเดียว...ข้าพเจ้าเห็นว่า เค้าโครงการณ์มิใช่โครงการณ์อย่างข้าพเจ้าร่างหนังสือทิ้งไว้ ใครจะเอาร่างหนังสือของข้าพเจ้าไปแล้ว บอกว่า ข้าพเจ้าเขียนอย่างนั้นเห็นจะไม่ถูกแน่ เค้าโครงกานณ์มันยังแก้ไขได้อีก.”

เมื่อความเห็นของสมาชิก 1 นาย เป็นไปคนละทางกับที่สภาฯ ได้ลงมติไปแล้วเช่นนี้ พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ขอให้ประธานกรรมาธิการแถลงซึ่งประธานทรงแถลงว่า

 

“ตามที่ท่านสมาชิกผู้หนึ่ง เข้าใจว่าอํานาจที่มอบไปยังคณะกรรมาธิการ ว่าให้คณะกรรมาธิการเป็นศาลตุลาการนั้น ข้าพเจ้าต้องขอทักท้วงอย่างยิ่ง เพราะว่าคณะกรรมาธิการที่ตั้งไปนั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นตุลาการ หรือเป็นศาลเลย และตามญัตติก็มีเพียงว่า หลวงประดิษฐฯ มีมลทินเป็นคอมมูนิสต์หรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวกับความผิดทางกฎหมาย”

 

เพื่อจะให้สมาชิกที่ยังสงสัยในญัตติอยู่ นายฟัก ณ สงขลา ได้ ลุกขึ้นแถลงความมุ่งหมายในการที่ได้เสนอญัตติว่า

 

“เนื่องจากหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นสมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงแต่งตั้ง และเป็นบุคคลสําคัญคนหนึ่งที่ดําเนินงานร่วมกับรัฐบาล เมื่อสมาชิกคนหนึ่งถูกกล่าวหาโดยรัฐบาลพระยามโนฯ ว่าบุคคคลนั้นมีความคิดทํานองคอมมูนิสต์ คํากล่าวหานี้ ไม่ใช่เป็นคํากล่าวหาอยู่ฉะเพาะในประเทศสยาม แต่กระจายไปทั่วโลกทุก ๆ ประเทศ ประเทศทั้งหลายเขาจะมีเข้าใจและสงสัยหรือว่าสภาฯ นี้มีสมาชิกส่วนมากเป็นคอมมูนิสต์ ในเมื่อมีบุคคลสําคัญเข้ามาร่วมในสภาฯ นี้ เพราะฉะนั้น ก่อนที่เราจะรับรองคนคนนี้เข้าไว้ก็ควรจะพิจารณาเสียก่อนว่า ความคิด ความเห็นของคนนี้เป็นทํานองคอมมูนิสต์หรือเปล่า

ถ้าปรากฏชัดว่าความคิดความเห็นของเขาเป็นไปในทางคอมมูนิสต์แล้ว เราก็ลงมติไม่ไว้วางใจถอนจากสมาชิกภาพ ถ้าหากว่าหลวงประดิษฐฯ ไม่ใช่เป็นคนสําคัญก็ไม่จําเป็นต้องเสนอญัตตินี้ หลวงประดิษฐฯ เป็นบุคคลสําคัญไม่ฉะเพาะแต่ในประเทศเรา ต่างประเทศก็เห็นว่าเป็นบุคคลสําคัญเหมือนกัน ก็จําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้การพิจารณาแก่เขา เมื่อสอบสวนสักร้อยครั้งแล้วและเป็นการสอบสวนกันอย่างแจ่มแจ้งก็คงยืนยันอยู่อย่างนั้น ก็น่าจะพอว่าความเห็นของเขาแต่เดิมมาเป็นอย่างไรก็ยังเป็นอย่างนั้น”

 

เมื่อประธานสภาฯ ถามที่ประชุมว่า “สภานี้จะรับรายงานกรรมาธิการที่เสนอมาหรือไม่  กรรมาธิการที่เสนอมานั้นมีความเห็นว่า เท่าที่ได้พิจารณามาโดยละเอียดถ่องแท้แล้วเห็นว่า หลวงประดิษฐฯ ไม่มีมลทินในเรื่องคํากล่าวหาว่าเป็นคอมมูนิสต์เลย ถ้าสภาฯ นี้เห็นว่า ควรจะรับคำพิจารณาของกรรมาธิการชุดนี้โปรดยกมือขึ้น”

แล้วสมาชิกได้ยกมือขึ้นพร้อมเพรียงกันเป็นอันว่า สภาฯ รับคำพิจารณาขอกรรมาธิการไว้

ประธานสภาฯ กล่าวต่อไปว่า “ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นประธานของสมาชิกเวลานี้สมาชิกถูกกล่าวหาว่ามีมลทินในเรื่องคอมมูนิสต์ แต่บัดนี้สภาฯ ก็ได้รับรองแล้วว่า ไม่เป็นคอมมูนิสต์ ข้าพเจ้าขอให้สมาชิกแสดงความชื่นใจต่อผู้ที่ถูกกล่าวหานี้ด้วย”

สมาชิกแสดงอาการชื่นใจโดยการปรบมือพร้อมกัน

ครั้นแล้ว ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ลุกขึ้นกล่าวแก่ที่ประชุมว่า

 

“ข้าพเจ้าขอถือโอกาสขอบคุณท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลาย ตลอดจนท่านกรรมาธิการและท่านผู้เชี่ยวชาญในการนี้ที่ได้พิจารณา และสภาฯ ได้ลงมติในเรื่องที่ข้าพเจ้าถูกกล่าวหาให้มีมลทินมาในครั้งก่อน

และข้าพเจ้าขอปฏิญาณให้สัตย์อีกครั้งหนึ่งว่า ความคิดความเห็นของข้าพเจ้านั้นไม่ได้มีไปในทางคอมมูนิสต์เลย แม้แต่ในเรื่องโครงการณ์เศรษฐกิจที่ได้พูดกันเมื่อกี้นี้ก็ตาม ถ้าหากว่ากับรายงานของท่านกรรมาธิการแล้ว ท่านก็คงจะวินิจฉัยได้เอง ข้าพเจ้าไม่จําเป็นต้องพูดอะไรไปให้ยืดยาวอีกและขอขอบพระคุณท่านทั้งหลายด้วยจริงใจ และด้วยความยินดีที่จะรับใช้สภาฯ นี้และประชาชนให้ถึงความสุขสมบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป”

 


คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา พ.ศ. 2476

 

ท่านเจ้าคุณนายกรัฐมนตรีดูเหมือนจะเป็นผู้หนึ่งที่รู้สึกเป็นสุข ในการที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ บุคคลผู้ที่ท่านรักและไว้วางใจในทุก ๆ ทางพ้นจากมลทินคำกล่าวหาในครั้งนี้ เมื่อ ดร.ปรีดี พนมยงค์ กล่าวขอบคุณจบลงแล้ว ท่านเจ้าคุณนายกรัฐมนตรีจึงได้แถลงต่อสภาฯ ว่า

 

“เรื่องที่หลวงประดิษฐฯ ต้องหานี้ที่ข้าพเจ้ารักษาความเป็นกลางไว้ ข้าพเจ้ารู้ดีในเรื่องเหล่านี้ แต่ข้าพเจ้าไม่อยากจะแสดงออกไปให้มหาชนเห็นว่า ข้าพเจ้าเข้าข้าง หลวงประดิษฐ์ฯ หรือข้าพเจ้ามีใจเอนเอียงไปในทางนั้น เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงปิดเนื้อความเอาไว้ในใจให้เป็นไปในทางบริสุทธิ์ดี ข้าพเจ้ารู้สึกว่าความยุตติธรรมหนีความยุตติธรรมไม่พ้น ความยุตติธรรมต้องเป็นความยุตติธรรม เพราะฉะนั้น จะต้องกระจ่างแจ้งออกมา ให้เห็นชัดต่อกันในวันหนึ่ง

เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะรู้เต็มใจ ข้าพเจ้าก็ไม่ขยายให้แลเห็นให้ฟัง ท่านจะแลเห็นได้ว่าเมื่อวันที่หลวงประดิษฐฯ ไปจากพระนคร ฯ ในเวลาที่ลงเรือข้าพเจ้าไปส่ง ข้าพเจ้าได้แสดงกิริยาอะไรหนังสือพิมพ์ก็ลงแล้ว ทําไมข้าพเจ้าจึงแสดงกิริยาอย่างนั้น เพราะข้าพเจ้ารู้เต็มใจว่า หลวงประดิษฐฯ ไม่เป็นไปดังคํากล่าวหานั้น

เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงกล้าทำถ้าว่ามีใครมาฆ่าข้าพเจ้าตาย ข้าพเจ้าก็ยอมตาย คือแสดงให้แลเห็นจริงใจว่า คนดี ๆ แล้วก็ต้องเป็นไปเสียอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ข้าพเจ้าจึงถ้าทํา กล้ายอมให้พล่าชีวิตของข้าพเจ้า แล้วก็แสดงให้คนเห็นว่าได้เข้าไปจูบไปกอดอะไรกันในที่นั้น ทําไมจึงกล้าทําเช่นนั้นที่ทําเช่นนั้น เขาจะหาว่าข้าพเจ้าเป็นพวกเสียอีกคนหนึ่ง ข้าพเจ้าก็ยอมความยุตติธรรมต้องมีต้องแลเห็น เพราะฉะนั้นจึงกล้าทําเช่น ข้าพเจ้าอยากจะให้ท่านประมุขรู้สึกว่าเป็นอย่างไร จนกระทั่งถามว่าที่ทําเช่นนั้นไม่กลัวหรือ แต่เพราะเหตุที่ว่าคนไม่ผิดและคนดี ๆ แท้ ๆ แต่ทว่าพูดไม่ออก เพราะไม่รู้จะเอาอะไรแสดงต่อกันให้แลเห็นว่า คนที่ถูกกล่าวหา ถูกเอาดินหม้อทาหน้า เพราะฉะนั้นข้าพเจ้านิ่งไว้จนให้มหาชนแลเห็นให้ขาว”

 

ท่านเจ้าคุณได้แสดงความรู้สึกที่มีอยู่ในจิตใจของท่านต่อไป

แต่ว่านั่นแหละ เรื่องอย่างนี้ข้าพเจ้ารู้สึกในใจ ข้าพเจ้าบอกกับหลวงประดิษฐฯ ทีหลัง บอกว่า นี่คุณหลวงมีความรู้ดี แต่คุณหลวงขาดความชํานาญในเรื่องรู้จักมักคุ้นนิสสัยของพวกเรา ข้าพเจ้าโดนอย่างนี้มาหลายครั้งหลายหนจึงได้รู้สึก แต่หลวงประดิษฐฯ เป็นคนมีความรู้แต่หาเคยได้ชํานิชํานาญเช่นที่เรื่องจะทําไปในการเมืองก็ดี คนทําราชการที่ดีจึงได้พลาดท่าลงนอนหงายทีเดียว เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ข้าพเจ้า ชี้แจงให้ท่านเห็นเสียวันนี้ โดยที่ว่า คณะกรรมาธิการลงความเห็นบริสุทธิ์แล้ว ข้าพเจ้าจึงได้แสดงมา ข้าพเจ้าไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับหลวงประดิษฐฯ ไม่ได้เข้าข้างหลวงประดิษฐฯ แต่ว่าเมื่อสามารถแล้วข้าพเจ้าต้องเปิดเผย

 

คํากล่าวของเจ้าคุณนายกฯ นอกจากจะเป็นการแสดงความรู้สึกที่ท่านมีต่อ ดร.ปรีดี พนมยงค์แล้ว ยังเป็นการแสดงถึงเหตุการณ์ที่มีอยู่เบื้องหลังของการปฏิวัติในระหว่างคณะราษฎรกันเองและต่อคณะบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งอันเป็นศัตรูกันในทางการเมือง ท่านเจ้าคุณไม่ได้ให้เหตุผลว่า จะมีทางใดบ้างที่ท่านจะห้ามหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องออกไปจากประเทศไทยในขณะนั้น ในเมื่อท่านก็พร้อมที่จะยอมตายอยู่แล้ว

สมาชิกได้เสนอให้ส่งรายงานเรื่องนี้ให้แก่การโฆษณาการและให้หนังสือพิมพ์เพื่อลงข่าวให้ราษฎรให้ทราบทั่วกัน ยิ่งกว่านั้นได้มีการรื่นเริงเลี้ยงกัน “เพื่อเกียรติยศแก่หลวงประดิษฐ์ฯ และเป็นบุคคลที่สําคัญของสภาฯ ด้วย” ดั่งคำเสนอของสมาชิกสภาในวันต่อมาอย่างเอิกเกริก

 

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกด และการเว้นวรรคตามต้นฉบับ

 

เอกสารอ้างอิง

  • ไสว สุทธิพิทักษ์, “ผลการสอบสวน” ใน ดร.ปรีดี พนมยงค์ กับการปฏิวัติ (กรุงเทพฯ: สิริธรรมนคร, 2493)