ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
วันนี้ในอดีต

106 ปี ชาตกาล อัศนี พลจันทร ความงามแห่งชีวิต คือความคิดเอียงข้างประชาชน

15
กันยายน
2567

Focus

  • ในวาระ 106 ปีชาตกาลอัศนี พลจันทร หรือนายผี หนึ่งในนามปากกาที่รู้จักกันดี เป็นนักคิด นักปฏิวัติ นักเขียน กวี และนักกฎหมายคนสำคัญทางความคิดต่อเยาวชนคนหนุ่มสาวในทศวรรษ 2490-2520 อัศนีเป็นนักศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นลูกศิษย์ทางความคิดการอภิวัฒน์และการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส บทความนี้จะนำเสนอสังเขปประวัติชีวิตของอัศนี พลจันทร ทั้งชีวประวัติย่อ ผลงาน และบทความที่เขียนถึงนายปรีดี พนมยงค์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2490-2527 

 

 

สังเขปประวัติชีวิตของอัศนี พลจันทร

อัศนี พลจันทร หรือนายผี หนึ่งในนามปากกาที่รู้จักกันดี เป็นนักคิด นักปฏิวัติ นักเขียน กวี และนักกฎหมายคนสำคัญทางความคิดต่อเยาวชนคนหนุ่มสาวในทศวรรษ 2490-2520

 

อัศนี พลจันทร ในวัยเยาว์ 

อัศนี พลจันทร เกิดวันที่ 15 กันยายน 2461 ที่ตำบลท่าเสา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี  เป็นบุตรคนเดียวของพระมนูกิจวิมลอรรถ (เจียร พลจันทร) กับนางสอิ้ง พลจันทร โดยเติบโตมากับครอบครัวของคุณปู่และคุณย่าคือขุนวิเศษธานี ผู้สืบตระกูลมาจากพระยาพล อดีตผู้รั้งเมืองกาญจนบุรี

ต้นธารความคิดเพื่อสังคมของอัศนีมีจุดเริ่มต้นที่บ้านของคุณปู่นี่เองโดยในวัยเด็ก เขาได้รับฟังเรื่องความทุกข์ยากของคนในสังคมจากชาวจีนซึ่งเช่าที่ดินของคุณปู่เพื่อประกอบอาชีพปั้นโอ่งขายต่อมาในวัยมัธยมฯ อัศนีได้เข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ และช่วงวัยหนุ่มได้เข้าศึกษาวิชากฎหมายภายในรั้วมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

อัศนีมีพื้นฐานฝีปากกล้าจากการเป็นนักกฎหมาย และยังมีฝีมือจรดปากกาอันร้ายกาจในการเขียน กวี และศิลปวรรณคดีโดยมีเสียงร่ำลือทั้งชอบและชังในเวลาเดียวกันด้วยมักจะเขียนงานเพื่อวิจารณ์การปกครองที่ไม่ชอบธรรมของผู้มีอำนาจรวมถึงวิพากษ์กฎหมายที่อยุติธรรม ในการเขียนงานต่าง ๆ นั้นอัศนีนามปากกาสำคัญคือ นายผี ที่ได้รับการกล่าวขานกันในหมู่ผู้อ่านและผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองในหน้านิตยสารและหนังสือพิมพ์ ณ เวลานั้น

 

ภาพของอัศนี พลจันทร ในบัตรประจำตัวข้าราชการของอัศนี พลจันทร ถ่ายเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 สมัยที่เริ่มต้นรับราชการในกรมอัยการ กระทรวงมหาดไทย 


เมื่อสำเร็จการศึกษาทางกฎหมายแล้ว อัศนีได้สอบรับราชการเป็นอัยการตามคำขอของครอบครัวและยุติการเขียนบทความต่าง ๆ ลงแล้วรับราชการครั้งแรกคือปี 2484 ในตำแหน่งอัยการผู้ช่วยชั้นตรี หากเนื้อแท้ของอัศนีที่รักความเป็นธรรมจึงเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์อันส่งผลต่อหน้าที่การงานทำให้ต่อมาเขาถูกย้ายไปประจำที่จังหวัดปัตตานีภายหลังจากทำคดีทุจริตจัดซื้อลวดหนามของน้องชายจอมพล ป. พิบูลสงคราม และถูกโยกย้ายเป็นประจำเนื่องมาจากความ 'ตงฉิน' ของเขา

เส้นทางชีวิตที่อัศนีเลือกเองหลังจากพบอุปสรรคที่ไม่อาจทำงานได้อย่างสัตย์ซื่อในตำแหน่งอัยการทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากราชการในปี 2495 ช่วงเหตุการณ์กบฏสันติภาพแล้วกลับมาทำงานเขียนเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางสังคม รัฐบาล และชนชั้นปกครองทุจริตไม่ชอบธรรมอย่างต่อเนื่องภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ขึ้นชื่อว่าปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างถึงชีวิตโดยมีพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ มือขวาเป็นผู้ปฏิบัติภารกิจมือปราบจนราบคาบ 

 

 ภาพอัศนี พลจันทร ในนาม สหายไฟซึ่งปฏิบัติงานภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ 

 

หลังจากการเขียนวิจารณ์รัฐบาลอย่างเข้มข้นส่งผลให้อัศนีหายไปจากวงการน้ำหมึกเกือบ 9 ปี และกลับมาจรดปากกาต่อในช่วงปี 2500-2502 ในยุครัฐบาลอำนาจนิยมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และได้ถูกจับตาจนถึงจับตายจนต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ อีกครั้ง

กระทั่งในปี 2503 อัศนีได้เดินทางออกจากประเทศไทยด้วยแรงบีบจากรัฐและกระแสสูงของความคิดแบบพรรคคอมมิวนิสต์ที่เติบโตในเอเชียช่วงสงครามเย็นขณะนั้น และก่อนวันเสียงปืนแตกราว 4 ปีก็พบว่าอัศนีได้เข้าป่าภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) โดยใช้นามว่า สหายไฟ และได้รับหน้าที่ให้เดินทางไปบุกเบิกงานของพรรคฯ และศึกษายังประเทศจีนและกรุงฮานอยประเทศเวียดนามเหนือเพื่อก่อตั้งวิทยุกระจายเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามที่นำโดยโฮจิมินห์ (Hồ Chí Minh) พร้อมกับวิมล พลจันทร หรือสหายลม ภรรยาของอัศนี

ผลลัพธ์ของการก่อตั้ง สปท. ของอัศนีทำให้จอมพลสฤษดิ์ขุ่นเคืองจนมีเรื่องเล่าว่าจอมพลผ้าขาวม้าแดงถึงกับเตะวิทยุเมื่อได้ฟังการกระจายเสียงของ สปท. 

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อัศนีและบทกวีของนายผีถูกปลุกให้ตื่นอีกครั้งเมื่อนักศึกษาหัวก้าวหน้าได้นำผลงาน ทั้งบทกวี เรื่องสั้น เรื่องแปล และบทวิจารณ์วรรณกรรมมารวมเล่มออกจำหน่ายจนทำให้งานของ 'นายผี' แพร่หลายในขบวนการนักศึกษาจากนั้นเมื่อเกิดการล้อมปราบ 6 ตุลา 2519 ได้ส่งผลให้นักศึกษาบางส่วนที่หนีเข้าป่าเป็นแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และนักศึกษา นักคิดหลายคนได้พบปะและสนทนากับอัศนีในนาม 'สหายไฟ' ณ สำนัก 708 ฐานที่มั่นเขตงานภูพยัคฆ์ จังหวัดน่าน ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยและเป็นฐานที่มั่นหลักของ 'สหายไฟ' หรือ 'ลุงไฟ' ของนิสิตนักศึกษา ที่นี่เองคือที่ทำงานของอัศนีเพราะเป็นจุดเชื่อมต่อเขตงานระหว่างพื้นที่ไทย ลาว และเวียดนาม

เมื่อรัฐไทยมีนโยบาย 66/2523 ทำให้นับตั้งแต่ปี 2522 เวียดนามและลาวเริ่มตัดสัมพันธ์กับทาง พคท. และนิสิตนักศึกษา สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ไทยกลับใจและยอมมอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยแล้วออกมาจากเขตงานในป่า แม้เหตุการณ์ยังไม่สงบเพราะแนวรบกับ พคท. ไม่ยอมจำนนจนถึงปี 2528 แต่จากนโยบายฯ การเมืองนำการทหารผสานกับการกดดันในพื้นที่ส่งผลให้สหายน้ำหลายคนเดินทางออกจากเขตงานภูพยัคฆ์ ยกเว้นสหายไฟที่ยังยืนหยัดและได้ส่งจดหมายไปขอความช่วยเหลือจากสหายในพรรคคอมมิวนิสต์ฯ ลาวเพื่อพาสหายในเขตงานต่าง ๆ ที่ไม่ได้เข้ามอบตัวให้เดินทางออกจากไทยแต่สุดท้ายก็ถูกทางการลาวจับกุมตัวได้ ไม่นานหลังจากนั้น ป้าลม หรือสหายลมภรรยาของอัศนีก็ได้รับทราบข่าวการเสียชีวิตของอัศนีหรือสหายไฟเสียชีวิต

ในบันทึกของทางการลาวระบุสาเหตุการเสียชีวิตของอัศนีไว้ว่าเสียชีวิตด้วยอาการป่วยของผู้ตายเอง และเป็นเวลายาวนานถึง 9 ปี กว่าที่ประเทศลาวจะยอมส่งมอบอัฐิและของใช้ส่วนตัวของอัศนีกว่า 24 รายการ กลับมายังไทยให้ภรรยา ลูกหลาน และผู้ที่เคารพรักได้ประกอบพิธีกรรม ต่อมาเมื่อสิ้น 'ป้าลม' ครอบครัวได้นำอัฐิของอัศนี และวิมล พลจันทร ไปบรรจุไว้ที่วิหารกลางวัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดราชบุรี 

 

การงานแห่งความหมาย

 

ภาพลายเส้นอัศนี พลจันทร วาดโดยประยูร จรรยาวงษ์ ปรากฏครั้งแรกในนิตยสารสยามสมัย ฉบับเดือนพฤษภาคม 2495 

จากที่เกริ่นย่อไว้ข้างต้นว่า อัศนีเริ่มรับราชการครั้งแรกเป็นอัยการผู้ช่วยชั้นตรี เมื่อ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 และได้ถูกย้ายไปอยู่ที่จังหวัดปัตตานีเนื่องจากมีปัญหากับหัวหน้างานฯ และเมื่ออยู่ที่จังหวัดปัตตานีได้ 2 ปี ก็ถูกสั่งย้ายอีกด้วยทางการระแคะระคายว่า ให้การสนับสนุนชาวมลายูต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งนี้ให้ไปที่สระบุรี ผ่านไป 4 ปีเศษ มีคำสั่งให้ย้ายไปอยู่อยุธยา เนื่องจากกรณีขัดแย้งกับข้าหลวงจากนั้นถูกสั่งให้กลับมาประจำกองคดี กรมอัยการ กระทรวงมหาดไทย เหตุเพราะความเป็นคนตรงไปตรงมาภายหลังมีปัญหาท้ายที่สุดจึงตัดสินใจลาออกเมื่อสิ้นปี 2495

ในช่วงที่ทำงานอัยการ อัศนีก็ไม่ทิ้งงานเขียนเสียทีเดียวและใช้นามปากกา นายผี ในการเขียนงานที่แหลมคมทางความคิดโดยอัศนีได้อธิบายนามปากกา 'นายผี' ของตนไว้ว่าหมายถึง พระศิวะผู้เป็นนายแห่งผีที่จะมาแก้เก่งเหล่าภูติผีในสังคมไทยและในสยามนิกร ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม 2489 ได้มีการอธิบายเกี่ยวกับนามนายผีไว้ว่า 

เขาคือปีศาจบดี เพราะ 'นาย คือ บดี ผี คือ ปิศาจ'

และในปี 2495 นี้เองเป็นระยะที่งานเขียนของอัศนีที่วิจารณ์รัฐบาลและผู้มีอำนาจแหลมคมและรุนแรงแม้แต่จิตร ภูมิศักดิ์ ยกย่องเขาในภายหลังว่าเป็น ‘กวีของประชาชน’ ไม่ว่าจะเป็น บทกวี ‘อีศาน’ ที่เขียนขึ้นเพื่อตอบโต้ จอมพล ป. ที่มองว่าคนอีสานคือคอมมิวนิสต์ที่ต่อต้านรัฐบาล หรือบทกวี ‘ชะนะแล้ว...แม่จ๋า’ คำฉันท์กาพย์กลอนที่เล่าเรื่องกรรมกรหญิงยากจนซึ่งต่อสู้เรียกร้องสวัสดิการและค่าแรงจากนายจ้าง

ในหลายครั้งงานเขียนของเขาถูกตีความว่าเข้าข่ายแนวความคิดที่อยากเห็น ‘คนเท่ากัน’ หรือการเป็นคอมมิวนิสต์ จนเขาตกเป็นเป้าและเพ็งเล็งจากรัฐบาลทหาร เขาจึงต้องตัดสินใจหลบหนีในที่สุด โดยเชื่อกันว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้ส่งอัศนีไปศึกษาต่อที่สำนักลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน จอมพล ป. ได้มีการจับกุมนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ที่มีผลงานไม่เห็นด้วยกับทางรัฐบาล ทำให้นายผีต้องหลบหนีแต่ยังคงซ่อนตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยในขณะนั้นได้มีผลงานวรรณกรรมออกมาหลายเรื่อง ซึ่งได้แก่ "ความเปลี่ยนแปลง", "เราชนะแล้วแม่จ๋า"

งานเขียนที่เฟื่องฟูในหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารของอัศนีช่วงทศวรรษ 2480-2490 ไม่ได้ใช้เฉพาะนามปากกา นายผี แต่มีอีกกว่า 20 นามปากกาด้วยเหตุผลหลักคือเพื่อความปลอดภัยจากการเขียนวิจารณ์รัฐไทยและผู้มีอำนาจทั้งหลายอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างนามปากกา เช่น สายฟ้า, อินทรายุทธ, กุลิศ อินทุศักดิ์, อ.ส., ประไฟม วิเศษธานี, กินนร เพลินไพร, หง เกลียวกาม, จิล พาใจ, อำแดงกล่อม, นางสาวอัศนี เป็นต้น 

อัศนีจะใช้นามสายฟ้าในการเขียนบทความวิจารณ์การเมือง ใช้นามปากกา อินทรายุทธ กับกุลิศ เขียนบทความสารคดี นิทานการเมือง และเรื่องสั้น ส่วน อ.ส.ที่มีภาพประกอบเป็นบุคคลใส่หมวกนั้นจะใช้เขียนกาพย์กลอนในระยะแรกและปรากฏในบทความว่าด้วยชนมุสลิมใน 7 หัวเมืองภาคใต้ 

นอกจากผลงานเขียนต่อมาในปี 2504 อัศนีได้ปรากฏตัวในนาม สหายไฟ ในบทบาทการทำงานบุกเบิกด้านวิทยุ สปท. ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งภายหลังบุคคลภายในพรรคได้ถูกจับกุมทำให้อัศนีต้องหลบไปอยู่เวียดนามและจีน และยังมีผลงานประพันธ์เพลงชิ้นสำคัญคือ คิดถึงบ้าน จากบันทึกของวิมล พลจันทร เล่าไว้ว่าเพลงคิดถึงบ้าน แต่งขึ้นในช่วงที่อัศนีระหกระเหินอยู่ในเวียดนาม และส่งเนื้อหาเพลงต่อมาผ่าน สหายพันตา หรือสุรชัย จันทิมาธร ที่ได้นำมาเรียบเรียงทำนองใส่ทำนองไทยเดิมให้และรู้จักกันเวลาต่อมาในชื่อเพลงเดือนเพ็ญ

นัยที่ซ่อนในเพลงคิดถึงบ้านของอัศนีนั้นตรงไปตรงมาคือ บอกเล่าความรู้สึกคิดถึงบ้านผ่านการมองดวงจันทร์แม้ว่าเพลงคิดถึงบ้านจะทำให้ชื่อ นายผี อัศนี พลจันทร เป็นที่รู้จักและจดจำในวงกว้างหลังทศวรรษ 2520 แต่สำหรับฝ่ายนำในเขตงานปฏิวัติเวลานั้นมองว่า เพลงนี้ยังไม่มีเนื้อหาปฏิวัติ

จะเห็นได้ว่าตลอดช่วงชีวิตเกือบ 7 ทศวรรษของอัศนีเขาเป็นนักคิด นักปฏิวัติ นักเขียน นักกฎหมาย นักวิจารณ์สังคมที่มีงานเขียน บทกวี รวมถึงบทเพลงกว่า 300 ผลงาน โดยเฉพาะบทกวีที่ชื่อ อีศาน ที่ตีพิมพ์ในสยามสมัย นับเป็นบทกวีที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างยกย่องจากจิตร ภูมิศักดิ์ว่า กวีบทนี้ได้สะท้อนความยากแค้นลำเค็ญของชีวิตประชาชนในอีสานอย่างถึงแก่น และปลุกจิตสำนึกการต่อสู้ของประชาชนให้ตื่นขึ้นเพื่อต่อสู้กับการกดทับและเอารัดเอาเปรียบโดยชนชั้นปกครองทำให้อัศนี หรือนายผีได้รับการกล่าวขานว่าเป็นกวีของประชาชน

 

จาก 'นายผี' ถึงปรีดี พนมยงค์

อัศนีจบการศึกษาสาขากฎหมายที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เรียกได้ว่าเป็นศิษย์รุ่นแรก ๆ ของมหาวิทยาลัยและถือเป็นลูกศิษย์ของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การคนแรก หากมีผู้กล่าวว่าอัศนีเป็นศิษย์ในยามยากของนายปรีดีเพราะว่าช่วงที่อัศนีเข้าศึกษายัง มธก. เป็นช่วงที่นายปรีดีเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองและถูกใส่ร้ายด้วยข้อหาร้ายแรงนานัปประการ และเป็นช่วงขาลงของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่ถูกลุกล้ำและกลั่นแกล้งจากผู้มีอำนาจที่ขัดแย้งกับนายปรีดี 

ดังนี้ สิ่งที่อัศนีทำในเวลานั้นคือ ใช้ปลายปากกาเขียนงานชี้แจงแก่สาธารณชนให้ทราบถึงความดี ความงาม ความจริงของนายปรีดี อาทิ บทความ “ความถะเย้อถะยาน” ในสยามสมัย ฉบับเดือนธันวาคม 2490 บทความนี้ อัศนีเตือนผู้อ่านว่า ข่าวที่มุ่งให้ร้าย นายปรีดี เรื่องการสถาปนามหาชนรัฐนั้น เป็นเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองซึ่งเปรียบได้กับจูเลียส ซีซาร์ ถูกบรูตุส บุตรบุญธรรมลอบสังหาร

ในบทความ “กรรมของใคร” ใช้นามปากกา ศรีอินทรายุธ กล่าวถึงการกลั่นแกล้งทางการเมืองที่ทําให้ทั้งนายปรีดีเดือดร้อนและประชาชนจะต้องพลอยรับเคราะห์กรรมไปพร้อมกันด้วย

ส่วนบทความ “การเคลื่อนไหวของนักศึกษา” ใช้นามปากกา สายฟ้า ในการเมือง ฉบับเดือนตุลาคม 2491 อัศนีเขียนสนับสนุนนักศึกษาธรรมศาสตร์ในกรณีคัดค้านการจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นที่เนติบัณฑิตยสภา และกําหนดให้ผู้สําเร็จการศึกษาจาก มธก. ต้องเข้าอบรมก่อนที่จะดําเนินอาชีพทางกฎหมายได้

และต่อมาคือบทความ “ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” ในการเมือง ฉบับเดือนสิงหาคม 2491 สายฟ้าคัดค้านความพยายามจะแต่งตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้ประศาสน์การแทนนายปรีดี

หลังจากเว้นวรรคการเขียนไปกว่า 2  ทศวรรษ หากเมื่อครบวาระ 1 ปีหลังการอสัญกรรมของนายปรีดี พนมยงค์ อัศนีในนามปากกา สายฟ้า ก็ได้กลับมาเขียนเชิงรำลึกถึงนายปรีดีในบทความ “ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว” โดยกล่าวถึงคุณูปการของนายปรีดีที่วางรากฐานระบบการศึกษาสมัยใหม่ไว้ในหลังการอภิวัฒน์สยามเพื่อสร้างกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้รองรับ “โครงสร้างชั้นบนของสังคมทุนนิยมของพวกกระฎุมพี” โดยในบทความนี้ขอนำบทความชิ้นสุดท้ายที่อัศนี พลจันทร เขียนถึงนายปรีดี พนมยงค์ในฐานะ “ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว” ่มาลงไว้ ณ ที่นี้

 

ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว

 

 

ไม่กี่วันมานี้ [ในเดือนสิงหาคม 2527] ได้มีประกาศทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยว่า ให้ชาวธรรมศาสตรไปร่วมกันเททองหล่อรูปเคารพของ ดร.ปรีดี พนมยงค์, ผู้ประศาสน์การ, ที่มหาวิทยาลัยเพื่อเอาประดิษฐานไว้เป็นที่ระลึก ณ มหาวิทยาลัยแห่งนั้น. หลังจากนั้นไม่ทันไร, วิทยุแห่งเดียวกันนั้นก็กลับออกข่าวใหม่ว่า จะมีการเททองหล่อพระพุทธรูปสี่องค์แยกไปประดิษฐานไว้ที่มหาวิทยาลัย, ที่สโมสรธรรมศาสตร, และที่วิทยาเขตอีกสองแห่ง; ในการนี้กษัตริย์จะมาเองด้วย. เรื่องหล่อรูป ดร.ปรีดี เงียบไป.

ดร.ปรีดีเป็น “ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตรและการเมือง” ซึ่ง ดร.ปรีดีเป็นผู้ตั้งขึ้นเองหลังจากเปลี่ยนการปกครองแผ่นดิน, ควบคู่ไปกับการตั้งธนาคารชาติ. ต่อมามหาวิทยาลัยนี้ถูกพวกทหารฟาสซิสต์ยึดไป, ขับไล่ ดร.ปรีดีไปนอกประเทศหลายครั้งจนในที่สุดก็ไปตายที่ประเทศฝรั่งเศส. ตั้งแต่นั้นมาตำแหน่งผู้ประศาสน์การก็เป็นอันยกเลิกมีตำแหน่งอธิการบดีขึ้นมาทำหน้าที่แทน. และนับแต่นั้นมาก็ไม่มีผู้ประศาสน์การอีกแล้ว.

คำว่า “อธิการบดี” มีสำเนียงไปทางพระ, ไม่เหมาะกับชื่อผู้ปกครองและชี้นำมหาวิทยาลัยของฆราวาส. ที่ว่ามีสำเนียงไปทางพระ ก็เพราะมีตำแหน่งในการปกครองวัดตำแหน่งหนึ่งเรียกว่า “เจ้าอธิการ”; พระทำผิดวินัย ก็เรียกว่ามีอธิกรณ์. หากเรียกว่าอธิการบดีก็อาจโน้มนำไปทางสมภารเจ้าวัดได้. ชื่อมหาวิทยาลัยมีคำว่าธรรมศาสตร ก็อาจมีผู้คิดว่าคงจะเกี่ยวกับศาสนาอยู่แล้ว.

แท้จริงคำ “ธรรมศาสตร” หมายถึงกฎหมายบ้านเมือง, หาได้หมายถึงเรื่องทางศาสนาไม่. มีคำว่า “คัมภีร์มานวธรรมศาสตร” เรียกคัมภีร์หรือบัญญัติกฎหมายโบราณเป็นที่รู้กันทั่วไปดี. คำว่า “มนู” ก็ถูกใช้เรียกเป็นชื่อผู้พิพากษามาแต่เดิมในฐานเป็นราชทินนาม. ในตำราโบราณที่เรารับมาจากอินเดียโบราณกล่าวว่า เจ้ากฎหมายคือพรหม ชื่อท้าวมนู; ในตำราไทยโบราณเรียกเจ้ากฎหมายว่า พระมโนสาราจารย์, และได้ทำเป็นรูปของมโนสาราจารย์นั่งแท่นชูตาชั่งอยู่. ชื่อหรือราชทินนามของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็มีคำว่า “มนู” อยู่ในนั้น, คือหลวงประดิษฐมนูธรรม. คำว่า “มนูธรรม” ก็คือกฎหมายของท้าวมนูมหาพรหมตามความเชื่อแต่ก่อน.

คำว่า “ธรรมศาสตร” ที่เป็นชื่อของมหาวิทยาลัยนั้นตรงกับคำว่า moral sciences. และดังนั้นตราของมหาวิทยาลัยจึงทำเป็นรูปพระธรรมจักร มีรัฐธรรมนูญตรงกลาง, หมายถึงกฎหมายต้องเที่ยงธรรมและยึดถือหลักรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยด้วย. รัฐธรรมนูญในที่นี้ หมายถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามที่เป็นหลักประชาธิปไตย, มิใช่รัฐธรรมนูญที่มีหลักการอย่างอื่น. และ “ประชาธิปไตย” ที่ว่านั้นก็ถือว่าต้องเป็นประชาธิปไตยตามแบบอย่างที่คณะราษฎรนำมาประดิษฐานไว้เป็นหลักการปกครองใหม่ของประเทศไทย;

รูปธรรมก็คือหลักการแห่งรัฐธรรมนูญฉะบับแรกหรือฉะบับที่หนึ่ง. การแก้ไขรัฐธรรมนูญในระยะต่อมาจะมากน้อยสักเท่าไรก็ตาม, หากไม่ยึดถือหลักรัฐธรรมนูญฉะบับที่หนึ่งแล้ว ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นประชาธิปไตยตามที่คณะราษฎรนำมา. ส่วนใครจะว่าฉะบับไหนเป็นประชาธิปไตยจริงจังหรือไม่นั้น ก็ตามแต่อัธยาศัยของผู้กล่าวนั้นเองเป็นส่วนตัว. ประชาธิปไตยที่คณะราษฎรนำมาและจารึกรับรองลงในรัฐธรรมนูญฉะบับแรกอย่างชัดแจ้งนั้นเป็นประชาธิปไตยกระฎุมพี, ประชาธิปไตยของชนชั้นกระฎุมพีหรือบูรีชน,หรือที่มีเรียกกันว่าชนชั้นนายทุนไทยผู้ทำการโค่นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้วเปลี่ยนเป็นระบอบราชาธิปไตยอำนาจจำกัด. แม้นคำว่า “ประชาธิปไตย” จะเคยมีใช้ตั้งแต่ครั้งสมัยระบอบทาสของโรมัน, ทว่าคำ “ประชาธิปไตย” ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทั้งหมดก็เป็นเพียงคำที่พวกกระฎุมพีซึ่งโค่นอำนาจปกครองของพวกเจ้าศักดินาลงนำมาใช้เรียกระบอบของตนเท่านั้น, จึงมีความหมายตามที่ว่านี้ หาได้มีความหมายเหมือนอย่างในสมัยทาสไม่.

หัวใจสำคัญของระบอบแห่งชนชั้นกระฎุมพีก็คือ กรรมสิทธิ์เอกชนในปัจจัยการผลิต, และดังนั้นระบอบประชาธิปไตยของพวกเขาจึงเป็นระบอบที่ดำเนินกรรมสิทธิ์เอกชนในปัจจัยการผลิต. การที่พวกชนชั้นกระฎุมพีหรือชนชั้นนายทุนทำเช่นนี้ก็เพื่อสถาปนาและพัฒนาการผลิตทุนนิยมของพวกเขาและรักษาผลประโยชน์เอกชนของพวกเขาซึ่งเนื้อแท้ที่สำคัญก็คือการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากชนชั้นกรรมกรนั่นเอง. ด้วยเหตุนี้กฎหมายของพวกชนชั้นกระฎุมพีหรือชนชั้นนายทุนก็เป็นกฎหมายที่คุ้มครองกรรมสิทธิ์เอกชนในปัจจัยการผลิตของพวกเขา. กฎหมายหลักที่เป็นแบบอย่างของเรื่องนี้ก็คือกฎหมายนโปเลียน, ประมวลกฎหมายนโปเลียนหรือ “โค้ดนโปเลียน” นั่นเอง. กฎหมายของพวกกระฎุมพีในโลกนี้ทั้งหมดไม่ว่าจะเขียนพลิกแพลงอย่างไรก็ไม่พ้นไปจากหลักของกฎหมายนโปเลียนนี้ได้. กฎหมายนี้ได้คุ้มครองสิ่งที่เรียกว่า “กระฎุมพีสิทธิ์” อย่างมั่นคง. ในระบอบสังคมนิยมซึ่งเป็นระยะผ่านทางประวัติศาสตรอันยาวนานทั้งระยะก่อนข้ามไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์นั้นก็เป็นระยะแห่งกระฎุมพีสิทธิ์, หรือระยะสิทธิ์แห่งพวกกระฎุมพีที่ไม่มีพวกกระฎุมพีนั่นเอง. ผู้ใดไม่เข้าใจเรื่องนี้และด่วนทำลายกระฎุมพีสิทธิ์เร็วเกินกว่าความเป็นจริงก็ย่อมจะกระทำความผิดเอียง “ซ้าย”.

ด้วยเหตุนี้ที่เรียกว่า การปฏิวัติประชาธิปไตยนั้นเนื้อแท้แล้วก็เป็นการปฏิวัติกระฎุมพี (ที่เคยเรียกว่าการปฏิวัติชนชั้นนายทุน) เพื่อสถาปนาระบอบขูดรีดของชนชั้นกระฎุมพีขึ้นทั่วทั้งสังคม. การปฏิวัติกระฎุมพีที่สำคัญคือการปลดปล่อยพลังผลิตเกษตร, คือทาสกสิกรและชาวนาเอกเทศทั่วไป; เหตุนี้จึงได้รับการสนับสนุนจากเลกและไพร่, จากชาวนาและพวกอนุกระฎุมพีทั้งหมด. นั่นก็คือพวกกระฎุมพีเป็นเจ้าการ, เป็นเจ้ากี้เจ้าการของการปฏิวัติประชาธิปไตย, เป็นผู้นำการปฏิวัติประชาธิปไตย, เป็นผู้นำชาวนาโดยส่วนรวม. เมื่อพวกกระฎุมพีจะสถาปนาระบอบขูดรีดทุนนิยมก่อนอื่นเขาก็จะต้องปลดปล่อยพลังผลิตในสังคมที่เป็นชาวนา, ให้ชาวนาเป็นอิสระไม่ถูกผูกมัดอยู่กับที่ดินตามระบอบศักดินา, ให้ชาวนาได้เป็นอิสระ, เลิกล้มระบอบทาสกสิกรและทำลายเศษเดนของศักดินานิยมให้หมดสิ้นไป. ทั้งนี้ก็เพื่อชาวนาที่เป็นอิสระแล้วจะได้สามารถขายพลังแรงงานของตนให้แก่ชนชั้นกระฎุมพีหรือชนชั้นนายทุนในโรงงาน, การผลิตทุนนิยมถึงจะสามารถดำเนินไปได้. ในสมัย ร.5, ทาสกสิกรทั้งหมดอยู่ใต้อาณัติของเจ้าที่ดินศักดินา, ไม่เป็นอิสระ, ไม่สามารถขายพลังแรงงานของตนให้แก่พวกกระฎุมพี, โดยฉะเพาะพวกทุนผูกขาดสากลคือพวกจักรพรรดินิยมที่รุกเข้ามาในเมืองไทยขณะนั้น. เหตุนี้พวกจักรพรรดินิยมจึงได้ยุยงส่งเสริมและสนับสนุนให้ ร.5 ดำเนินการปฏิรูปสังคม, ปลดปล่อยทาสกสิกรให้พ้นอำนาจของพวกเจ้าที่ดินศักดินาซึ่งในเวลานั้นตัวใหญ่ที่สุดคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์, ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน. การต่อสู้ระหว่าง ร.5 กับสมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นไปอย่างดุเดือด. แต่เนื่องจากจักรพรรดินิยมหนุนหลังและ ร.5 มีกำลังของพวกเจ้าศักดินาหัวใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนระบอบขูดรีดทางที่ดินของตนส่วนหนึ่ง (เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น) ไปเป็นการขูดรีดทางทุนนิยมช่วยเหลือ กับมีการต่อสู้ของมวลชน

ชาวนาและพวกไพร่ทาสเป็นกำลังผลักดันช่วยที่สำคัญ, ฉะนั้นการปฏิรูปของ ร.5 จึงได้บรรลุผลโดยพื้นฐาน. การต่อต้านอย่างทรหดของพวกเจ้าศักดินาหัวดื้อในสมัยนั้นทำให้การปฏิรูปของ ร.5 ต้องยืดเยื้อยาวนานไป. อย่างไรก็ดี, การปฏิรูปครั้งนั้นก็เป็นแต่เพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ. ระบอบศักดินาถูกทำลายไปทีละก้าวทีละน้อยก็จริง, ทว่าการขูดรีดชาวนาในที่ดินอันเป็นระบอบขูดรีดศักดินานิยมนั้นยังดำรงอยู่บริบูรณ์. พวกกระฎุมพีสามารถก่อกำเนิดและเติบโตขึ้นไประดับหนึ่งก็จริง, ทว่าไม่สามารถดำเนินก้าวหน้าต่อไปโดยอิสระ. ทั้งนี้เพราะอุปสรรคที่เกิดจากการสมคบกันระหว่างจักรพรรดินิยมนักล่าเมืองขึ้นกับเจ้าศักดินาไทยที่ยังมีอำนาจเหลืออยู่อย่างมากมายไม่ได้มิได้ถูกทำลายไป, เพราะไม่มีการปฏิวัติกระฎุมพี. ดังนั้นจักรพรรดินิยมจึงได้กลายเป็นกำลังที่ค้ำจุนให้การขูดรีดศักดินานิยมยังมีอยู่ต่อไปอีกอย่างมั่นคงและศักดินานิยมก็ได้กลายเป็นรากฐานการขูดรีดและปล้นสะดมประเทศไทยของจักรพรรดินิยม, เป็นผู้ช่วยให้จักรพรรดินิยมสามารถดำเนินการปล้นสะดมประเทศไทยและขูดรีดประชาชนไทยได้อย่างเสรี. เหตุนี้เองจึงทำให้ประเทศไทยสามารถดำรงรักษา “ความเป็นเอกราช” ของตนไว้ได้ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นโดยตรงของจักรพรรดินิยมเหมือนประเทศเพื่อนบ้านรอบ ๆ. แต่ “เอกราช” หลอก ๆ ที่ว่านี้เป็นแต่เพียง “เอกราชทางรูปแบบ” เล็ก ๆ น้อย ๆ, เนื้อแท้แล้วจักรพรรดินิยมได้อาศัยการยินยอมของศักดินานิยมเข้าปกครองประเทศไทยทางอ้อม. สภาพเช่นนี้คือสภาพที่เลนินเรียกว่า สภาพของประเทศกึ่งเมืองขึ้น.

สิ่งที่เราเห็นได้ชัดก็คือสภาพนอกอาณาเขตมิได้ถูกยกเลิกไป, สัญญาไม่เสมอภาคกับจักรพรรดินิยมยังมีอยู่อย่างครบถ้วน. การเข้าร่วมในมหายุทธสงครามจักรพรรดินิยมครั้งที่หนึ่งของ ร.6 ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ให้ตกไปได้. และสิ่งเหล่านี้เองที่คณะราษฎรถือเป็นข้ออ้างสำคัญในการรัฐประหารเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินเมื่อปี ’75 ซึ่งสี่ทหารเสือเป็นหัวหน้าและมี ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ดลใจและจัดตั้ง. หลังปี ’75 คณะราษฎร, โดย ดร.ปรีดี, ได้พยายามเลิกสัญญาไม่เสมอภาคนั้น “สำเร็จ”, เลิกสภาพนอกอาณาเขต “โดยสิ้นเชิง”; ทว่าก็ยังไม่สามารถเลิกระบอบขูดรีดศักดินานิยม, ชาวนายังไม่มีที่ดินทำกินของตนเองโดยครบถ้วน, รูปแบบการขูดรีดชาวนาในเงื่อนไขใหม่ได้เกิดขึ้นต่าง ๆ นานา. พวกกระฎุมพีเองก็ยังไม่สามารถพัฒนาทุนนิยมของตนให้ใหญ่โต เพราะจักรพรรดินิยมยังขัดขวางอยู่และพวกศักดินาที่ตนเองไปประนีประนอมด้วยนั้นก็ยังอยู่, ยังรักษาระบอบขูดรีดของเขาไว้อยู่.

ในยี่สิบปีหลังนี้, หลังจากที่ได้เปิดให้ทุนต่างประเทศเข้ามาดำเนินการขูดรีดเต็มที่ได้, ทุนนิยมได้เฟื่องขึ้นในระดับที่แน่นอน. แต่นี่เป็นเพียงรูปภายนอกและปรากฏการณ์ที่ฉาบฉวยดุจดอกมะเดื่อ; โดยความเป็นจริงแล้ว, ด้านหนึ่งทรัพยากรทุกชะนิดในประเทศได้ถูกจักรพรรดินิยมและทุนผูกขาดต่างประเทศปล้นสะดมไป “อย่างหวานหมู” จนจะเหือดแห้งอยู่แล้ว, กระทั่งแรงงานก็ถูกส่งออกไปขายยังต่างประเทศด้วยราคาถูกน่าใจหาย; อีกด้านหนึ่งความเฟื่องดังกล่าวนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหนี้ขี้ข้าต่างประเทศ, คือพวกจักรพรรดินิยม, อย่างท่วมท้นล้นหลาย. เมื่อใดเจ้าหนี้ทวงถามเมื่อนั้นไทยก็จะไม่มีความสามารถชำระหนี้ได้, ก็จะต้องล้มละลาย. พวกผู้จัดการบริษัทคือพวกปกครองปฏิกิริยาที่ขูดรีดทั้งหลายก็จะหนีไปหมดเหมือนพวกเท้าแชร์. เวลานี้เขาก็ได้โอนทรัพย์สินหนีไปซ่อนไว้ต่างประเทศทุกวัน. เรื่องนี้เป็นความลับที่เปิดเผยทั่วไป. วิทยุรัฐบาลได้ออกข่าวเรื่องนี้เรื่อย ๆ. การลงทุนต่างประเทศล้วนแต่เป็นทุนฉาบฉวยที่ทำกำไรมหึมาให้ได้ในระยะสั้นที่สุด. พวกเขาลงทุนอย่างเสี่ยงภัยทั้งสิ้น.

เมื่อคณะราษฎรทำรัฐประหารเปลี่ยนการปกครองนั้นพวกเขาไม่ได้คาดคิดถึงสภาพอย่างในปัจจุบันนี้. พวกเขาคิดซื่อ ๆ ว่าจะสร้างระบอบทุนนิยมและจะทำให้ประเทศไทยเป็นอิสระและเฟื่องฟู. พวกเขาคิดว่าระบอบใหม่ในประเทศไทยที่พวกเขานำมาให้นี้จะมั่นคงถาวร. ดังนั้นโครงการของพวกเขาก็เป็นโครงการที่หนักแน่นอยู่. พวกเรามักพูดกันถึงโครงการสมุดปกเหลืองของหลวงประดิษฐมนูธรรม, แต่เราไม่เคยพูดถึงการพยายามตั้งโครงการถาวรที่จะทำให้ระบอบทุนนิยมสถิตเสถียรในประเทศไทย. เค้าโครงการเศรษฐกิจของคณะราษฎรเป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งของความพยายามเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจซึ่งเป็นรากฐานของสังคม. แต่โครงการอีกส่วนหนึ่งซึ่งมีความสำคัญมากก็คือการสร้างโครงสร้างชั้นบนของสังคมใหม่ให้เป็นโครงสร้างชั้นบนของสังคมทุนนิยมของพวกกระฎุมพี. เพื่อการนี้, ดร.ปรีดีได้ดำเนินการสร้างหลายอย่าง; ที่สำคัญก็คือการตั้งธนาคารชาติและมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.

แท้จริง, การตั้งมหาวิทยาลัยนั้นก็คือการเพาะผู้ปฏิบัติงานใหม่ให้แก่ระบอบของพวกกระฎุมพีนั่นเอง, คือการเพาะผู้ปฏิบัติงานกระฎุมพีขึ้นจำนวนหนึ่งในระบบของตนเอง. พวกขุนนางเก่าฝังหัวในระบอบเก่า, แก้ยาก. พวกนักเรียนเก่าก็ถูกอบรมมาอย่างเก่า, เปลี่ยนยาก. เพราะฉะนั้น ดร.ปรีดีจึงได้สร้างระบบใหม่ทางการศึกษานี้ขึ้นโดยสิ้นเชิง. วิชาที่สอนก็เป็นวิชาอย่างใหม่, กฎหมายที่สอนก็เป็นกฎหมายกระฎุมพีที่เดินตามรอยครรลองของโค้ดนโปเลียนหมดจด, ทฤษฎีการเมืองก็เป็นทฤษฎีใหม่ของพวกกระฎุมพีสากลมิใช่เป็นทฤษฎีศักดินาแบบเก่า. ผู้เข้าเรียนก็เป็นคนใหม่หมด, ส่วนใหญ่หรือโดยพื้นฐานเป็นคนในชนชั้นกระฎุมพีหรือกระทั่งพวกคนยากจน. เหตุนี้ค่าเล่าเรียนจึงถูกที่สุด, การรับนักศึกษาก็กว้างขวางโดยรับทั่วไปไม่จำกัดวิทยฐานะดังมหาวิทยาลัยอื่น, การสอนก็ใช้ระบบใหม่สิ้นเชิงรวมทั้งการสอบด้วย, โดยสอบเก็บเป็นรายวิชาได้. ระบบคะแนนก็ใช้ระบบห้าคะแนนและมีสอบสัมภาษณ์แบบเซ็มมินาร์เพื่อเลือกเฟ้นบุคคลที่มีทรรศนะแบบใหม่ทั้งหมด. คำว่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) เป็นตลาดวิชานั้นดังมากในสมัยนั้น. 

ดร.ปรีดียังจัดตั้งนิคม มธก. ขึ้นรับนักศึกษาที่ประสงค์จะมาอยู่กินด้วยกันแบบโรงเรียนกินนอนอีกมีจำนวน 100 คนอยู่ในสองตึกใหญ่แยกอยู่ด้านท่าพระจันทร์กับด้านท่าช้างตึกละ 50 คน. ผู้ปกครองนิคมเป็นศาสตราจารย์ชาวอังกฤษชื่อ ดร.เจ เอฟ ฮัตเจสสัน ซึ่งได้มากินนอนร่วมกับนักศึกษาอย่างสนิทสนม. กำลังใหม่เพื่อระบอบทุนนิยมกระฎุมพีได้รับการทำนุบำรุงเป็นอย่างดียิ่ง.

ชื่อของมหาวิทยาลัยที่เติมคำว่า “การเมือง” เข้าไปข้างท้ายนั้นเป็นเรื่องอึกทึกมาก, ทำให้คนทั้งหลายหันมาสนใจการเมืองกันอย่างจริงจังว่าคืออะไรกันแน่. แต่คนพวกหนึ่งก็กลัวเพราะรู้ว่า “การเมือง” นั้นคือการเมืองกระฎุมพีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพวกเขา; ในที่สุดพวกเขาก็หาเรื่องทำลายเสียโดยตัดคำนี้ออกจากชื่อของมหาวิทยาลัย, คล้ายกับว่าเมื่อได้ตัดชื่อที่ว่า “การเมือง” นี้ออกเสียแล้วก็จะไม่มีการเมืองของพวกกระฎุมพีในเมืองไทยอีก. เราท่านเห็นถนัดแล้วว่าเวลานี้การเมืองกระฎุมพีเฟื่องเพียงไรในเมืองเราโดยไม่ต้องมีคำนี้ห้อยท้ายชื่อมหาวิทยาลัย.

ดร.ปรีดีได้ตั้งใจอบรมสั่งสอนวิชาการเมืองแก่นักศึกษาของ มธก. เต็มที่ จนบัดนี้ได้กลายเป็นพื้นฐานของระบอบการเมืองไทยระดับหนึ่งไปแล้ว.

กีฬาประเพณีที่ดังในชั้นหลังนั้นในตอนแรกยังไม่มีอะไรมาก นอกจากการแข่งขันฟุตบอลล์ระหว่างสองมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาสูงสุด. เวลานั้นยังไม่มีมหาวิทยาลัยอื่นเกิดขึ้น. สนามที่ใช้ก็เป็นสนามที่ดีที่สุดในสมัยนั้นนั้นคือสนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, ต่อมาย้ายไปที่สนามกีฬาแห่งชาติ. เมื่อเล่นกันครั้งแรก, จุฬาฯเขามีสีของเขาคือสีชมพู; แต่ มธก.ยังไม่มีสี. ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยุ่งยาก. ชาวนิคมที่เข้าร่วมเป็นกำลังสำคัญในกีฬานั้นจึงได้เสนอง่าย ๆ ให้ใช้สีเหลือง-แดงเป็นสีของมหาวิทยาลัยและได้แต่งเพลงประจำมหาวิทยาลัยขึ้น. เพลงนั้นมีคำหนึ่งว่า “เหลืองของเราคือธรรมประจำจิต, แดงของเราคือโลหิตอุทิศให้”. ผู้แต่งเป็นกวีและปัญญาชนชั้นสูงมีชื่อของเมืองไทยขณะนั้น, คือขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ผู้แต่งเพลงชาติชื่อดัง. เพลงของเขามีพลังและมีความหมายเด่นชัดมาก. น่าเสียดายที่ต่อมาเขาได้กลายเป็นนักคัดค้านประชาชน, คัดค้านการปฏิวัติของประชาชนไปพร้อม ๆ กับสหายคู่หูของเขาอีกผู้หนึ่งซึ่งก็ชื่อดังเหมือนกัน, ทำงานอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์เหมือนกัน.

ต่อมาการกีฬาระหว่างสองมหาวิทยาลัยได้เพิ่มกีฬารักบี้ฟุตบอลล์ขึ้นอีกอย่างหนึ่งซึ่งจุฬาฯ มีเปรียบมาก. ผู้อบรมฝึกหัดทางจุฬาฯก็คือ มจ.จันทรา, ส่วนทาง มธก.นั้นผู้ฝึกฟุตบอลล์คือขุนประเสริฐศุภมาตรา และต่อมาคือนายโฉลก โกมารกุล ณ อยุธยา. กีฬารักบี้นั้นนายโฉลกเป็นผู้ฝึกแต่ผู้เดียว.

ถัดจากนั้น มธก.ได้เสนอแข่งเรือกรรเชียงโดยนายโฉลกเป็นผู้ฝึกอีก, แต่จุฬาฯ อ้างว่าไม่มีน้ำจึงไม่เอา. กีฬาแข่งเรือกรรเชียงแบบเฮนเลย์ รีแกตต้าที่แม่น้ำเทมส์ระหว่างอ็อกฟอร์ดกับเคมบริดจ์จึงไม่เกิดขึ้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาตามประสงค์, เป็นที่น่าเสียดายอยู่. แต่พวกเราก็ลงกรรเชียงกันทุกวันตอนเย็น, มีคนทึ่งมาดูกันมาก.

ดร.ปรีดีได้สนับสนุนการกีฬาทุกชะนิดดังกล่าวแล้วเต็มที่. เมื่อฟุตบอลล์ชะนะแต่ละครั้งก็จะเดินขบวนกันไปที่บ้านป้อมเพชรแสดงความดีใจ, และนักกีฬาก็จะได้ดื่มแชมเปญอย่างดีที่นั่นด้วย.

หลังจากสอบไล่แล้วก็จะประสาทปริญญา, จะมีการเรียกนักศึกษาที่จะเข้ารับปริญญาบัตรไปอบรมพิเศษโดยให้กินนอนอยู่ที่มหาวิทยาลัย, จะทบทวนวิชาความรู้ให้แน่น, จะทำความรู้จักรักใคร่และสามัคคีซึ่งกันและกันอย่างสนิทสนมด้วยการกินอยู่อบรมฝึกฝนร่วมกัน. พวกเขาจะช่วยตัวเองทั้งหมด. จะไปจ่ายตลาดเองด้วยรถนักฟุตบอลล์ทุกเช้า, จะทำอาหารเอง, จะกำหนดเมนูเอง, ผลัดเปลี่ยนกันเสิรฟอาหารและเก็บกวาดล้างถ้วยชามเอง, หัดนั่งโต๊ะดินเน่อร์และแกรนด์ ดินเน่อร์ไปพร้อมเผื่อว่าเมื่อออกไปประกอบอาชีพอยู่ในสังคมภายนอกแล้วจะได้สามารถปฏิบัติตนถูกต้องอย่างสะบาย. วันรับปริญญาจะมีแกรนด์ ดินเน่อร์, มีกล่าวอวยพรนักศึกษาที่รับปริญญา, มีการฉลองภายใน. ดร.ปรีดีล้วนแต่มาติดตามดูแลด้วยตนเองอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา. รับปริญญาแล้วก็จะไปพบ ดร.ปรีดีเป็นการส่วนตัวทีละคนทุกคน, สนทนากันถึงอนาคตของแต่ละคน, ให้ผู้ประศาสน์การได้รับรู้ว่าใครจะไปทำอะไรอยู่ที่ไหน.

หลังจากจบการศึกษาออกไปและหลังจากที่นิคม มธก.เลิกไปแล้ว, พวกชาวนิคมร้อยคนนั้นก็จะพบกันเป็นประจำทุกปี, รับรู้ซึ่งกันและกัน, เสนอความเห็นซึ่งกันและกัน, รักษาสายสัมพันธ์นี้ไว้ไม่ให้ขาด. พวกเขาเป็นแกนของนักเรียนเก่า มธก.และได้เป็นผู้ริเริ่มสิ่งที่เรียกว่าการกินเลี้ยงในคณะนักเรียนเก่าประจำปี (หรือบางพวกเรียกว่าการเลี้ยงรุ่น). เวลานั้นเขาจะแต่งเครื่องหมายของ มธก., มีหมวกกระดาษเป็นหมวกหนีบสีเหลืองแดงใส่ทุกคน, มีธงกระดาษเล็ก ๆ สีเหลืองแดงถือมากัน. การกินอาหารเป็นเพียงสิ่งจำเป็นเพราะเป็นเวลาค่ำ, เรื่องหลักคือการพบปะรับรู้ซึ่งกันและกัน, เสนอความเห็นซึ่งกันและกันด้วยความรักใคร่ห่วงใยและพิทักษ์เกียรติกับศักดิ์ศรีของ มธก. เรา. พวกเขากระจายกันอยู่ทุกแห่งทั่วประเทศ, ในงานอาชีพทุกชะนิด: บ้างเป็นข้าราชการ, บ้างเป็นพ่อค้า; บ้างเป็นผู้พิพากษา, บ้างเป็นทนายความ; บ้างเป็นนักการเมือง, บ้างเป็นนักปฏิวัติ; บ้างเป็นครูบาอาจารย์และบ้างก็เป็นนักประพันธ์, ฯลฯ. อิงอรเป็นคนหนึ่งในจำนวนนี้, ก่อเกียรติ (เวื่อง) ษัฎเสณ ก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนนี้. พิบูล ภาษีผล เป็นคนหนึ่งในจำนวนนี้ และสานน (สีนวล) สายสว่าง ก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนนี้. บัดนี้ชาวนิคมได้ร่อยหรอไปมากแล้วและได้ขาดการพบปะติดต่อกันไป. แต่ชาว มธก. และวิญญาณของ มธก. ยังอยู่.

มหาวิทยาลัยสถานที่เพาะผู้ปฏิบัติงานกระฎุมพีนี้ยังอยู่มิได้ล้มไปเพราะการปองร้ายของพวกศัตรูประชาธิปไตย. ประชาธิปไตยกระฎุมพียังไม่อาจมั่นคงเข้มแข็งเพราะชนชั้นกระฎุมพีไทยมีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจและการเมืองเป็นอันมาก. แต่พวกเขาก็ได้มีคุณูปการที่สำคัญมากต่อการเมืองเมืองไทย. พวกเขาได้สร้างสะพานเชื่อมให้แก่การปฏิวัติของประชาชนอย่างแท้จริง.

ดร.สายหยุด แสงอุทัย ไม่รู้ว่า เขาได้สอนนักศึกษาที่ต้องการไปไกลกว่าระบอบของพวกชนชั้นนายทุน. มาโนช วุฑยาทิตย์ หัวหน้าห้องสมุด มธก. ก็ไม่รู้ว่า เขาได้ช่วยให้เพื่อนนักศึกษาของเขาได้ไปค้นคว้าหาทางออกที่แท้จริงของการปฏิวัติประเทศไทยที่นั่น. ดร.เดือน บุนนาค, เลขาธิการ, ไม่รู้ว่า มธก. ได้กลายเป็นป้อมประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าและเป็นป้อมเพชรที่แข็งแกร่งที่สุดในการต่อสู้เพื่อเอกราชประชาธิปไตยมาตลอดทุกยุคทุกสมัยของการผันผวนของการเมืองไทยที่ล้มลุกคุกคลานมาเป็นเวลาห้าสิบปีแล้ว. หลวงวิจิตรวาทการไม่รู้ว่า เขาได้ให้มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นมิตรร่วมทางที่ดีและซื่อสัตย์แก่นักประชาธิปไตยในมธก. เจ้าคุณอนุมานราชธนไม่รู้ว่า ท่านได้อำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษา มธก. ใช้ห้องอ่านหนังสือของหอพระสมุดแห่งชาติเป็นที่ค้นคว้าและทำงานอย่างสงบเพื่อการต่อสู้ปฏิวัติที่อึกทึกครึกโครมและนองเลือดข้างนอก. หลวงพิบูลสงครามไม่รู้ว่า การยึดและทำลาย มธก., เอานักศึกษาไปเรียนร่วมกับนิสิตจุฬาฯ นั้นเป็นการยกจุฬาฯ ให้เป็นสหายศึกของสำนักนักศึกษาท่าพระจันทร์. ประยูร ภมรมนตรี, เจ้ากรมยุวชนทหาร, ไม่รู้ว่า การเข้าไปใน มธก. เพื่อยุให้นักศึกษาเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศสนั้นแท้จริงเป็นการพิสูจน์การนำของพรรคการเมืองชนชั้นกรรมาชีพแท้ ๆ, ทำให้มวลนักศึกษาเดินตามการนำที่ถูกต้องของพรรคแห่งชนชั้นกรรมาชีพซึ่งได้รับการทดสอบอย่างนองเลือดในครั้งนั้น. หลายคนไม่รู้ว่าอะไรได้เกิดขึ้นใน มธก., อะไรได้พัฒนาไปใน มธก., แต่ก็ไม่พอใจที่ มธก. ได้ทำเรื่องที่คนไทยไม่เคยทำมาก่อนทั้งสิ้น. มีแต่ผู้ประศาสน์การผู้เดียวที่รู้, ที่ทราบ; แต่ก็มิได้ปริปากจนกระทั่งตัวท่านถึงแก่อสัญกรรมที่ฝรั่งเศส--ดินแดนแห่งการปฏิวัติกระฎุมพีที่ยิ่งใหญ่. ผู้ประศาสน์การไม่ได้เป็นผู้จัดตั้งการเคลื่อนไหวที่ก้าวหน้าใน มธก., ไม่ควรเอาชื่อผู้ประศาสน์การไปพัวพัน. แต่การกระทำของผู้ประศาสน์การที่ได้สร้างสถานฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานแบบใหม่ของพวกกระฎุมพีนี้ในตัวของมันเองได้กลายเป็นการจัดตั้งพลังที่ก้าวหน้าของสังคมไทย.

ผู้ประศาสน์การไม่รู้ไม่เห็นต่อการกระทำทางการเมืองใหญ่ ๆ ของนักศึกษามาก่อน. นี่เป็นความสัจจริงที่ชาว มธก. ทุกคนรับรอง. แต่ผู้ประศาสน์การก็เป็นผู้ที่เห็นอกเห็นใจบรรดานักศึกษาและบรรดาการเคลื่อนไหวนั้น ๆ ทุกครั้ง. มีเพียงครั้งเดียวที่ผู้ประศาสน์การไม่เห็นด้วย, คือการเตรียมเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนจากอินโดจีนฝรั่งเศสซึ่งหลวงพิบูลฯ ได้ยุให้เกิดขึ้นเพื่อเตรียมเปิดทางให้จักรพรรดินิยมญี่ปุ่นเข้ายึดประเทศไทยสะดวกจากทางด้านอินโดจีน. และครั้งนั้นนักศึกษา มธก. ก็ได้ทำผิดพลาดไป, ไม่ฟังคำเตือนด้วยหวังดีของผู้ประศาสน์การของตนเอง เพราะอำนาจลัทธิชาตินิยมหรือลัทธิไทยมหาอำนาจที่หลวงพิบูลฯ ยุขึ้นมาบดบังทรรศนะทางการเมืองที่ตนได้ศึกษามา.

ลัทธิชาตินิยมกระฎุมพีเป็นอันตรายร้ายแรงของเยาวชนและก็เป็นอันตรายร้ายแรงของประเทศชาติด้วย. มธก.เป็นสถาบันการศึกษาของพวกกระฎุมพี. เพราะฉะนั้นถึงอย่างไรก็ยากที่จะคัดค้านทรรศนะของกระฎุมพีเองได้, โดยฉะเพาะทรรศนะชาตินิยม.

มีแต่นักศึกษาที่ก้าวไปไกลกว่าทรรศนะของกระฎุมพีเท่านั้นที่จะมีหูตาค่อนข้างแจ่มใสในเรื่องนี้. กรณี 14 ตุลาคม เป็นเรื่องใหญ่, แต่ก็หยุดอยู่แค่ทรรศนะกระฎุมพี. อนาคตของ มธก. ได้ฝากอยู่กับทรรศนะใหม่ของประชาชนที่ต้องการเอกราชและประชาธิปไตยอันแท้จริงแม้ภายใต้ระบบโลกทุนนิยม, ระบบโลกจักรพรรดินิยม.

มธก. จะต้องก้าวไป, จะต้องก้าวต่อไป, จะต้องไม่หยุดอยู่แค่พรมแดนกระฎุมพีเท่านั้น. บัดนี้ไม่มีผู้ประศาสน์การแล้ว, แต่ทว่าวิญญาณประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าของผู้ประศาสน์การจะยังคงดำรงอยู่สืบไป.

ผู้ประศาสน์การมีคนเดียว.

“สายฟ้า”

 

อัศนี พลจันทร จากไปเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 ในแขวงอุดมไซ ประเทศลาว และนำอัฐิกลับสู่แผ่นดินไทยเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ล่วงมาถึงปี 2567 ในวาระชาตกาล 106 ปีของอัศนี พลจันทร ในช่วงเวลานี้การเกิดของ 'นายผี' อาจจะไม่ได้มีความหวือหวาหรือว่ามีอิทธิพลทางความคิดในวงกว้างเฉกเช่นดังยุค 14 ถึง 6 ตุลา หากปฏิเสธไม่ได้ว่าอุดมคติของอัศนีที่ปรากฏในงานเขียนจำนวนมากของเขายังคงเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นใหม่ให้ศึกษาการต่อสู้กับความอยุติธรรมในระหว่างทศวรรษ 2490-2520 ของนักคิดและนักปฏิวัติคนหนึ่งนั้นมีเส้นทางความคิดผ่านตัวหนังสืออย่างไรในบริบททางสังคมการเมืองแต่ละยุคสมัย

 

หมายเหตุ:

  • อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ

 

บรรณานุกรม

  • จิระนันท์ พิตรปรีชา, อีกหนึ่งฟางฝัน บันทึกแรมทางของชีวิต (กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์, 2549) 
  • เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์, จุลสาร นิทรรศการ 100 ปี ชาตกาล นายผี (อัศนี พลจันทร) (กรุงเทพฯ: ม.ป.ท., 2561)
  • วชิระ บัวสนธ์ (บรรณาธิการ), ชีวิตและผลงาน: ตำนาน “นายผี” อัศนี พลจันทร (2461-2530) (กรุงเทพฯ: 21 เซ็นจูรี่, 2541)
  • วิมล พลจันทร, ความงามของชีวิต และสังเขปประวัติ อัศนี พลจันทร (กรุงเทพฯ: อ่าน, 2561)
  • เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, เดินป่าเสาะหาชีวิตจริง (กรุงเทพฯ: สามัญชน, 2554)