Focus
- รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้แสดงความเห็นเนื่องในโอกาสครบรอบ 51 ปี เหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 ว่า การสถาปนาให้ประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างมั่นคง การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา ความกล้าหาญและเสียสละของวีรชนประชาธิปไตยในทุก ๆ เหตุการณ์ตลอดระยะเวลา 92 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ ระบอบประชาธิปไตย ล้วนมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดพัฒนาการประชาธิปไตย เศรษฐกิจและสังคมในทิศทางที่ดีขึ้น
- ประเด็นตั้งต้นหลักของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองคือ นโยบายประชานิยม ซึ่ง รศ. ดร.อนุสรณ์ วิเคราะห์ไว้ทั้งในเชิงบวกและทางลบที่ถูกทำให้กลายเป็นกระบวนการหยุดยั้งพัฒนาการประชาธิปไตยไทยด้วยเป็นข้ออ้างในการรัฐประหารยึดอำนาจในปี พ.ศ. 2557 และ หลังการรัฐประหาร มีการผ่านกฎหมายหลายฉบับให้มีการกำกับวินัยการเงินการคลังให้เข้มงวดขึ้นนอกเหนือจากมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560
รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้แสดงความเห็นเนื่องในโอกาสครบรอบ 51 ปี เหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 ว่า การสถาปนาให้ประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างมั่นคง การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา ความกล้าหาญและเสียสละของวีรชนประชาธิปไตยในทุก ๆ เหตุการณ์ตลอดระยะเวลา 92 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย ล้วนมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดพัฒนาการประชาธิปไตย เศรษฐกิจและสังคมในทิศทางที่ดีขึ้น
“ณ. วันนี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบ 51 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เรายังไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าประเทศไทยมีประชาธิปไตยสมบูรณ์แล้วอำนาจอธิปไตยยังไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริงเราเพียงมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น เราเพียงเปลี่ยนผ่านจากระบอบการปกครองภายใต้วงจรรัฐประหารโดยผู้นำกองทัพ สู่ตุลาการรัฐประหารและนิติสงครามเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยและรัฐบาลมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นอยู่กับการตัดสินของคนเพียงหยิบมือเดียวจากองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 การเลือกตั้งไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่าประชาธิปไตยมีความมั่นคงแล้ว”
ในกรณีของไทย มีการเลือกตั้งแล้วรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนยังไม่มีอำนาจอย่างชัดเจนและถูกให้ออกจากตำแหน่งโดยอำนาจขององค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งองค์กรอิสระเหล่านี้มักมาจากแต่งตั้งของอำนาจคณะรัฐประหาร ในรอบ 18 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการรัฐประหารถึงสองครั้งและยังมีกลุ่มการเมืองที่พยายามโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลายครั้งจากความผิดพลาดในการบริหารประเทศ การทุจริตคอร์รัปชันหรือกล่าวหาว่านโยบายของรัฐบาลสร้างความเสียหายต่อประเทศ
ประเทศไทยไม่ได้สร้างวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองให้ Democracy is the only game in town อันเป็นกรณีที่สังคมและประชาชนทั้งหมดเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะต้องเกิดขึ้นในบริบทหรือในวิถีของประชาธิปไตย ซึ่งรวมถึงกลุ่มการเมืองในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศต้องยึดถือวิถีทางประชาธิปไตยและระบอบการปกครองโดยกฎหมายที่ยึดหลักนิติรัฐนิติธรรมเท่านั้น พัฒนาการทางการเมืองที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่มั่นคงนั้นจะต้องไม่มีพฤติกรรมของกลุ่มบุคคล กลุ่มการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มผลประโยชน์ในกองทัพพยายามจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยหรือหลักนิติธรรม (Rule of Law)
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า พรรคการเมืองต่าง ๆ ต่างแข่งขันกันด้วยนโยบายประชานิยมมากยิ่งขึ้น ประชานิยมไม่ได้ทำให้เกิดความเป็นสถาบันของประชาธิปไตย และผลของนโยบายประชานิยมไม่ชัดเจนว่าทำให้เสรีประชาธิปไตยเข้มแข็งหรือไม่ในประเทศไทย แต่ “ประชานิยม” ได้สร้างสภาวะทางการเมืองที่เสียงของประชาชนฐานรากส่วนใหญ่มีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดนโยบาย อีกด้านหนึ่งนโยบายประชานิยมได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าละเมิดต่อกรอบวินัยการเงินการคลังและอาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจได้ โดยข้อกล่าวหาเหล่านี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริง แต่ข้อกล่าวหาเหล่านี้ได้ถูกใช้ในกระบวนการหยุดยั้งพัฒนาการประชาธิปไตยไทยด้วยเป็นข้ออ้างในการรัฐประหารยึดอำนาจในปี พ.ศ. 2557 และหลังการรัฐประหารมีการผ่านกฎหมายหลายฉบับให้มีการกำกับวินัยการเงินการคลังให้เข้มงวดขึ้นนอกเหนือจากมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560
เมื่อคณะรัฐประหารได้เข้ามาปกครองประเทศและมีการยกเลิกนโยบายรับจำนำข้าวที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยมและมีการทุจริตคอร์รัปชั่น รัฐบาลของคณะรัฐประหารเองก็มีการใช้มาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรในรูปแบบต่างๆรวมทั้งการประกันรายได้เกษตรกรซึ่งก็มีลักษณะเป็นประชานิยมเช่นเดียวกัน มีมาตรการหรือนโยบายหลายอย่าง เช่น สวัสดิการประชารัฐ บัตรสวัสดิการคนจนที่ก็เข้าข่ายนโยบายประชานิยมเช่นเดียวกัน
“เวลาเราต้องการทำให้เกิดประชาธิปไตยที่มั่นคง (Democratic Consolidation) นั้น เราไม่ได้ต้องการเพียงรัฐบาลจากการเลือกตั้งเท่านั้น เราต้องการรัฐธรรมนูญกติกาสูงสุดที่เป็นประชาธิปไตย ระบบการเลือกตั้งที่เปิดเผย เป็นกลางและเที่ยงธรรม เราต้องการระบบราชการและระบบการเมืองที่มีธรรมภิบาล มีประสิทธิภาพรวมทั้ง ความมีระเบียบและเสถียรภาพอีกด้วย”
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การเกิดประชานิยมในไทยเป็นผลจากสถานการณ์แวดล้อมหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 (ปัจจัยเฉพาะหน้า) และยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ระหว่างเมืองใหญ่และชนบทอย่างมากและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มคนต่างๆ (ปัจจัยเชิงโครงสร้างระยะยาว) สภาพความเหลื่อมล้ำ ภาวะความเดือนร้อนและยากลำบากของประชาชนและกิจการขนาดเล็กขนาดกลางได้สร้างบริบทแวดล้อมนำมาสู่การออกแบบนโยบายทางเศรษฐกิจที่มีลักษณะประชานิยม ประกอบกับการเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและการสร้างความเชื่อมโยงกับ “ประชาชน” ของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย รัฐบาลไทยรักไทยมีความจริงจังในการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำ ผลจากนโยบายและแนวทางประชานิยมทำให้สำนึกทางชนชั้นมีความแหลมคมมากขึ้น
ประชาชนรากหญ้าตระหนักถึงคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยที่สามารถนำมาซึ่งผลประโยชน์จากนโยบายที่พวกเขาเลือกได้พรรคการเมืองต่าง ๆ ได้เริ่มเห็นถึงภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปของการเมืองไทย เริ่มนำเสนอนโยบายแนวประชานิยมเพื่อแรงสนับสนุนทางการเมืองและเล็ง เห็นประโยชน์จากการเชื่อมโยงกับมวลชนโดยตรง วาทกรรม และแนวทางแบบประชานิยมเริ่มขยายใหญ่มากขึ้นหลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 และกระแสสูงของความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองฝ่ายหนึ่งต้องการใช้ “ประชานิยม”เพื่อสร้างฐานทางการเมืองเชื่อมโยงกับประชาชนเพื่อต่อสู้กับขั้วทางการเมืองตรงกันข้าม อีกฝ่ายหนึ่ง ใช้วาทกรรม “ประชานิยม” โจมตีฝ่ายตรงกันข้ามว่าทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและภาระทางการคลังจำนวนมาก
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า นโยบายประชานิยมบางนโยบายได้เป็นส่วนหนึ่งในการปรับเปลี่ยน “พฤติกรรมซื้อสิทธิขายเสียง” ในการเลือกตั้ง เป็นการแข่งขันในเชิงนโยบายที่สร้างความพึงพอใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งวัฒนธรรมในทางการเมืองแบบอุปถัมภ์ลดบทบาทลงระดับหนึ่ง ทำให้เสียงของประชาชนผ่านการเลือกตั้งมีความหมายในการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ดีขึ้น สิ่งนี้ทำให้ค่านิยมประชาธิปไตยพัฒนาก้าวหน้าขึ้น หากไม่มีการสะดุดลงจากความขัดแย้งทางการเมืองจนนำมาสู่วิกฤตการณ์ทางการเมือง และ จบลงด้วยการรัฐประหารถึงสองครั้ง คือ รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และ รัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยจะดีขึ้นและประชาธิปไตยไทยก็จะพัฒนาต่อไป
ขณะเดียวกันการดำเนินการทางการเมืองแนวประชานิยมใช้ความพยายามในการสถาปนาความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์โดยมีผู้นำทางการเมืองเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกับประชาชนโดยตรง ข้ามผ่านองค์กร กลไก หรือกลุ่มคนที่เป็นตัวกลางอาจมีผลทำให้สถาบันภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอได้ในระยะยาว
การเมืองแนวประชานิยมทำให้การเคลื่อนไหวและเสียงของขบวนการภาคประชาสังคมได้รับความสนใจมากขึ้นในกระบวนการทางการเมืองและกลไกประชาธิปไตย ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ความสนใจต่อนโยบายที่พรรคการเมืองนำเสนอมากขึ้น ทำให้ “นโยบาย” โดยเฉพาะ “นโยบายประชานิยม”กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเอาชนะการเลือกตั้งและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางการเมือง
ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้ทำให้เกิดสภาวะที่ทำให้นโยบายประชานิยมและรัฐบาลแนวประชานิยมเกิดขึ้น ประชานิยมทำให้เกิดพลวัตต่อการเมืองไทยและเกิดพัฒนาการความขัดแย้งที่ดำรงอยู่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 มาจนถึงปัจจุบันประชานิยมในไทยเป็นประชานิยมแบบอ่อน ๆ การดำเนินนโยบายประชานิยมในไทยไม่ได้ส่งผลต่อการจัดสรรและกระจายทรัพยากร ความมั่งคั่งรายได้ที่กระทบต่อผลประโยชน์ชนชั้นนำรุนแรงนัก
รัฐบาลไทยไม่มีการปฏิรูปภาษีและการจัดการทรัพย์สินอย่างจริงจังแต่อย่างใด มีเพียงการขยายโอกาสทางด้านต่าง ๆ นโยบายเหล่านี้ไม่ได้กระทบต่อผลประโยชน์อำนาจและอภิสิทธิ์ของชนชั้นนำแต่อย่างใด
ประชานิยมและประชาธิปไตยมีความสัมพันธ์ในทางบวกต่อกันและประชานิยมส่งผลบวกมากกว่าผลลบต่อประชาธิปไตย แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนนักต่อพัฒนาการของเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) หรือ อาจกล่าวได้ว่า ประชานิยมสามารถปรับเปลี่ยนให้ “เสรีประชาธิปไตย” (Liberal Democracy) มีคุณภาพดียิ่งขึ้น หรือ เป็นภัยคุกคามต่อเสรีประชาธิปไตยก็ได้
บทความนี้ได้ศึกษาและสำรวจผลบวกและผลลบของประชานิยมที่มีต่อประชาธิปไตยและเสรีประชาธิปไตยพร้อมทำความเข้าใจปัจจัยหรือภาวะที่ทำให้เกิดผลในลักษณะดังกล่าวโดยสังเขป
จากประเมินสถานะองค์ความรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง “ประชานิยม” และ “ประชาธิปไตย” พบว่า เมื่อประชานิยมสามารถปรับเปลี่ยนให้คุณภาพประชาธิปไตยดีขึ้น (Corrective to the quality of democracy) มักจะเน้นไปที่ผลของ “ประชานิยม” ผนึกรวมประชาชนผู้ด้อยโอกาสและประชาชนฐานรากชายขอบเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือหรือระบบสวัสดิการโดยรัฐ
- ข้อแรก ประชานิยมทำให้ “เสียง” ของกลุ่มคนที่ชนชั้นนำไม่ได้ใส่ใจและนำประเด็นปัญหาต่าง ๆ ของประชาชนเสียงข้างมากผู้เงียบเฉยสู่ความสนใจของสาธารณชน
- ข้อสอง “ประชานิยม” สามารถขับเคลื่อน และบูรณาการ “กลุ่มคน” หรือ “ภาคส่วน”ที่ถูกทอดทิ้งให้เข้ามาอยู่ในระบบการเมือง และนำเสนอนโยบายที่กลุ่มคนเหล่านี้พึงพอใจและได้ประโยชน์
- ข้อสาม “ประชานิยม” สามารถสร้างความเชื่อมโยงทางด้าน “แนวคิด” และ “อุดมการณ์”สร้างพันธมิตรและแนวร่วมทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญต่อพลวัตของระบบพรรคการเมืองและการเป็นตัวแทนทางการเมือง
- ข้อสี่ “ประชานิยม” สร้างความรับผิดชอบทางประชาธิปไตย (Democratic Accountability) โดยทำให้นโยบายและประเด็นต่าง ๆ อยู่ในปริมณฑลทางการเมือง มากกว่าปริมณฑลทางด้านเศรษฐกิจหรือทางด้านตุลาการ
- ข้อห้า “ประชานิยม”สามารถนำมิติความขัดแย้งทางการเมือง (Conflictive Dimension of Politics) เกิดความคึกคักขึ้นผ่านการสร้างความคิดเห็นสาธารณะและการเคลื่อนไหวอันนำไปสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตย
ส่วนการประเมินผลกระทบของ “ประชานิยม” ในทางลบนั้นมักจะมุ่งความสนใจไปที่ความอ่อนแอของสถาบันทางการเมือง การบ่อนทำลายสิทธิและผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย
- ข้อแรก “ประชานิยม” อ้างแนวความคิด หรือ แนวปฏิบัติ เรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เพื่อโต้แย้งต่อระบบตรวจสอบถ่วงดุลและการแบ่งแยกอำนาจในระบบเสรีประชาธิปไตย
- ข้อสอง อาจมีการหลบหลีกและเพิกเฉยต่อสิทธิของเสียงข้างน้อยด้วยการอ้างหลักการเสียงข้างมาก
- ข้อสาม อาจก่อให้เกิดการแตกแยกทางการเมืองระหว่างผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้านประชานิยม และ เป็นอุปสรรคต่อความมีเสถียรภาพทางการเมือง
- ข้อสี่ เกิดภาวะแบ่งแยกคนออกเป็น “คนดี” หรือ “คนชั่ว” โดยพิจารณาจากว่าเขาเหล่านี้เห็นด้วยกับเราหรือไม่ ทำให้การเมืองแห่งการประนีประนอมและสร้างฉันทามติร่วมเป็นไปได้ยากขึ้นด้วยการ Moralization of Politics
- ข้อห้า ประชานิยมอาจเปลี่ยนผ่านการเมืองไปสู่อำนาจของประชามติเป็นใหญ่ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ความชอบธรรมและอำนาจของสถาบันการเมืองและองค์กรของรัฐที่ไม่ผ่านระบบเลือกตั้งที่ยึดถือธรรมาภิบาลอ่อนแอลงได้
- ข้อหก การเปิดพื้นที่ให้กับผู้นำจากเสียงข้างมากที่ไม่ใช่ชนชั้นนำอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันรุนแรงอันก่อให้เกิดปัญหาทางเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยได้
งานวิจัยในเชิงประจักษ์หลายกรณียืนยันผลบวกและผลลบที่มีต่อพัฒนาการของเสรีประชาธิปไตย แม้นงานวิชาการเหล่านี้อาจใช้คำนิยาม “ประชานิยม” แตกต่างกันบ้างและไม่ได้แยกแยะผลกระทบเกิดจากนโยบายประชานิยมโดยตรง หรือแกนอุดมการณ์ของนโยบายประชานิยมนั้น ๆ กรณีเชิงประจักษ์ในหลายประเทศและหลายช่วงเวลา
รัฐบาลประชานิยมจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อประชาธิปไตยอ่อนแอในประเทศละตินอเมริกาหลายประเทศ และผลกระทบทางลบของประชานิยมจะแสดงผลอย่างชัดเจน เช่น กรณี Hugo Chavez เวเนซูเอลา กรณี Alberto Fujimori เปรู ขณะที่รัฐบาลประชานิยมในประเทศที่มีประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งแบบในยุโรปบางประเทศ ประชานิยมจะมีผลทั้งในทางบวกและทางลบปานกลางเพราะประชานิยมจะถูกถ่วงดุลโดยเสรีประชาธิปไตยอันเข้มแข็ง และเสรีประชาธิปไตยถูกถ่วงดุลโดยประชานิยมที่ให้น้ำหนักกับคนฐานรากและพุ่งเป้าความช่วยเหลือให้ประชาชนด้อยโอกาส เช่น กรณี รัฐบาล Schussel ออสเตรีย พรรคการเมืองประชานิยมฝ่ายค้านในประเทศประชาธิปไตยเข้มแข็งจะไม่มีบทบาทมากนักเนื่องจากมีสภาพสังคมเศรษฐกิจมีความก้าวหน้าเป็นธรรมอยู่แล้ว
ส่วนพรรคการเมืองแนวประชานิยมที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจรัฐในประเทศประชาธิปไตยอ่อนแอจะเป็นพลังปรับเปลี่ยนเสรีประชาธิปไตยให้ดีขึ้นมากกว่าเป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตย กระแสประชานิยมฝ่ายขวาเกิดขึ้นในยุโรปเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อปัญหาทางเศรษฐกิจตกต่ำปัญหาฐานะทางการคลัง ปัญหาการว่างงานในอัตราสูง ผลกระทบจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) ประกอบกับการที่ยุโรปต้องเผชิญคลื่นผู้อพยพจำนวนมาก กระแสต่อต้านต่างชาติ ต่อต้านผู้อพยพจึงเกิดขึ้น พรรคการเมืองฝ่ายขวาได้ชูแนวทางการเมืองแบบชาตินิยมต่อต้านโลกาภิวัตน์ ต่อต้านสหภาพยุโรป และมุ่งหาฐานสนับสนุนจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโลกาภิวัตน์และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ในวาระครบรอบ 51 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลาเราชาวไทยต้องการแสวงหาความคิดและแนวทางในการสร้างความเป็นเอกภาพให้กับ “ขบวนการประชาธิปไตย”เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าสู่การปกครองที่มีความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ภารกิจเฉพาะหน้า คือการประคับประคองให้ระบอบประชาธิปไตย ต้องสามัคคีพลังทั้งหมดของ “ขบวนการประชาธิปไตย” ในการผลักดันให้เกิด “รัฐธรรมนูญ” ฉบับของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน บนหลักการประชาธิปไตย และสร้างสรรค์ ค่านิยมประชาธิปไตย และค่านิยมสันติธรรมให้หยั่งรากลึกไปยังทุกพื้นที่ของประเทศทุกครอบครัวของสังคมไทย
“การเมืองบนท้องถนน การเมืองปลุกระดมมวลชนแบบสร้างกระแสอารมณ์ให้ความเกลียดชังได้เคลื่อนย้ายมาสู่การต่อสู้กันในกลไกรัฐสภามากขึ้น แต่ “นิติสงคราม” ยังดำรงอยู่และมีการใช้ “องค์กรอิสระ” และ “ตุลาการ” จัดการขั้วอำนาจตรงข้ามของฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยอนุรักษนิยมขวาจัดต่อไป
การแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิถีทางประชาธิปไตยและระบอบการปกครองโดยกฎหมาย ยึดหลักนิติธรรมจะนำประเทศไทยไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วใน 10-15 ปีข้างหน้าและเกิดความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยแบบผู้แทน (Representative Democracy) จำเป็นต้องมีระบบสถาบันพรรคการเมืองที่เข้มแข็งประชาชนเลือกผู้แทนผ่านระบบพรรคการเมืองเพื่อเข้าทำหน้าที่บริหารประเทศผ่านนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ที่พรรคการเมืองให้สัญญาประชาคมเอาไว้
เอกสารอ้างอิง
- กองบรรณาธิการ. ครบรอบ 51 ปี 14 ตุลา การเมืองไทยวนลูปประชานิยมทุจริตยึดอำนาจเปลี่ยนผ่านเป็นตุลาการรัฐประหารและนิติสงคราม. เว็บไซต์ https://www.infoquest.co.th/2024/437485