ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

“ระบบประกันสังคม” จะเป็นพื้นฐานให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น “ระบบสวัสดิการถ้วนหน้า” ในอนาคต

5
พฤศจิกายน
2567

Focus

  • รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ มองว่า  “กองทุนประกันสังคม” เป็นเสาหลักของระบบสวัสดิการสังคมของไทย มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
  • บทความนี้เสนอเรื่องแนวทางการแก้ปัญหาและการปฏิรูปกองทุนประกันสังคม โดยเฉพาะหลักประกันความยั่งยืนของกองทุนชราภาพ (กองทุนบำนาญ) คือ การปฏิรูปต่อเนื่อง ขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม เพิ่มเงินสมทบจากการขยายฐานสมาชิก เพิ่มเพดานค่าจ้างและเงินสมทบ ทยอยเพิ่มอายุผู้มีสิทธิรับเงินบำนาญ เพิ่มอัตราผลตอบแทนการลงทุน ลงทุนส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค

 


รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

 

รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ให้ความเห็นในฐานะที่ปรึกษาการเงินการคลัง คณะกรรมการประกันสังคม กล่าวว่า กองทุนประกันสังคมนั้นถือเป็นเสาหลักของระบบสวัสดิการสังคมของประเทศ จัดตั้งมาเป็นเวลามากกว่า 34 ปีแล้ว เป็นหลักประกันทางสังคมให้กับลูกจ้างผู้ประกันตน ช่วยทำให้เกิดเสถียรภาพต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม เงินสมทบของ 3 ฝ่าย ได้แก่ ลูกจ้าง นายจ้าง รัฐบาลได้ให้หลักประกันทางสังคมครอบคลุมสิทธิทั้งหมด 7 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยไม่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน (กรณีเจ็บป่วยเกี่ยวเนื่องกับการทำงานกองทุนเงินทดแทนจะเข้ามาดูแล) ทุพพลภาพ เสียชีวิต สิทธิประโยชน์คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร สิทธิประโยชน์ชราภาพและสิทธิประโยชน์ประกันการว่างงาน คุ้มครองดูแลผู้ใช้แรงงานทั้งหมด 13.7 ล้านคน (แบ่งเป็นตามมาตรา 33 ประมาณ 11.9 ล้านคน ตามมาตรา 39 ประมาณ 1.6 ล้านคน ตามมาตรา 40 ประมาณ 0.9 ล้านคน)

รศ. ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ความวิตกกังวลเรื่อง อนาคตของกองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคมมีความเสี่ยงเรื่องความยั่งยืนทางการเงิน จะไม่สามารถจ่ายบำนาญได้ในอนาคตนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เพราะโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไป ประชากรในวัยทำงานจ่ายสมทบให้กองทุนลดลง ขณะที่สัดส่วนประชากรวัยชราที่ได้รับสิทธิบำนาญเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีเงินไหลออกหรือรายจ่ายบำนาญมากกว่า ไหลเข้า (เงินสมทบ) ความก้าวหน้าทางด้านสาธารณสุขและสุขภาพทำให้อายุเฉลี่ยของประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้ ช่วงเวลาของการรับเงินบำนาญยาวขึ้น บางท่านได้รับสิทธิบำนาญยาวนานกว่าช่วงเวลาการจ่ายสมทบ โดยบำนาญอยู่ที่ 7,500 บาทต่อเดือน

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในหลายประเทศที่ผู้เชี่ยวชาญและองค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอ พยากรณ์ว่า หากไม่มีการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ กองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคมจะไม่มีเงินจ่ายบำนาญให้กับผู้ประกันตนในปี พ.ศ. 2597 คือ อีก 30 ปีข้างหน้า สภาวะกองทุนชราภาพล้มละลายจะไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศที่มีการวางแผนล่วงหน้าไว้อย่างดี และมีการปฏิรูปกองทุนประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง การสร้างความยั่งยืนให้กับกองทุนชราภาพของกองทุนประกันสังคมนั้นไม่ได้เป็นเรื่องของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน หรือ ของรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียว เป็นเรื่องของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันสร้างความยั่งยืน

จากการประชุมทางวิชาการประกันสังคมเมื่อ 24-25 ตุลาคมที่ผ่านมา นโยบายของกระทรวงแรงงาน การทำงานของคณะกรรมการประกันสังคมและอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ได้มีการเสนอแนวทางการปฏิรูปและการดำเนินงานปฏิรูปในหลายมิติ เพื่อให้กองทุนประกันสังคม มีความก้าวหน้า มีประสิทธิภาพ มีความยั่งยืน และครอบคลุมการให้หลักประกันและความมั่นคงในชีวิตให้กับผู้ใช้แรงงาน การปฏิรูปและการดำเนินการต่างๆนั้นจะอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังต่อไปนี้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างการให้บริการเชิงรุก (Modernized Service) ยุทธศาสตร์การสร้างพลังแห่งการขับเคลื่อนสู่องค์กรแห่งความเชื่อมั่น ความไว้วางใจและมีธรรมภิบาล (Trusted organization with good governance) ยุทธศาสตร์ การเพิ่มประสิทธิผลในการสร้างและเข้าถึงหลักประกันสังคมให้แก่แรงงาน ทุกกลุ่ม ทุกวัย (Effective Social Security System) 

รศ. ดร.อนุสรณ์ ชี้ว่า การพัฒนาให้ “กองทุนประกันสังคม” เป็นเสาหลักของระบบสวัสดิการสังคมของไทย มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จำเป็นต่อการรับมือความท้าทายจากปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันและอนาคต “ระบบประกันสังคม” จะเป็นพื้นฐานในการที่ประเทศไทยจะก้าวสู่การมี “ระบบสวัสดิการถ้วนหน้า” ในอนาคต ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ห่างไกลหากเปรียบเทียบกับประเทศยุโรปเหนือที่มีสัดส่วนภาษีต่อจีดีพีอยู่ที่ 35-48% (สัดส่วนภาษีต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ 14.6%) ส่วนรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ 4.8% อยู่ในระดับต่ำกว่าเฉลี่ยเล็กน้อยเมื่อเทียบกันประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน แต่รายจ่ายสวัสดิการสังคมจะเป็นภาระทางงบประมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากสังคมผู้สูงวัย ขณะนี้ สัดส่วนรายจ่ายด้านสวัสดิการต่องบประมาณอยู่ที่ 20-23% สิ่งนี้ตอกย้ำชัดเจนว่า ทำไมเราต้องปฏิรูปรายได้ภาครัฐ ปฏิรูประบบภาษี ทำไมเราต้องให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายสูงกว่าในระดับปัจจุบัน และ มีการกระจายรายได้ที่ดีกว่าเดิม

การออกแบบให้ระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานให้มากที่สุดเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพื่อให้คนทำงานทุกท่านไม่ว่าจะเป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานอิสระ แรงงานภาคเกษตรได้หลักประกันในชีวิตและความคุ้มครองทางสังคมจากระบบประกันสังคม ขณะนี้ มีคนทำงานประมาณ 59% ประมาณ 23.5 ล้านคน ที่อยู่นอกระบบหลักประกันทางสังคมของรัฐ คนเหล่านี้โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย แรงงานอิสระ แรงงานในภาคเกษตรกรรม แรงงานทำงานตามบ้าน เมื่อเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ต้องหยุดงาน จะเอารายได้มาจากไหน เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด มีปัจจัยเสี่ยงเกิดขึ้น จะเอารายได้จากไหนมาใช้สำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เมื่อเข้าสู่วัยชราภาพแล้วจะเอารายได้และเงินที่ไหนมาดำรงชีพ สังคมไทยจะมีประชากรวัยชรายากจนไม่มีเงินออมแต่มีหนี้จำนวนมาก ระบบประกันสังคมจะช่วยบรรเทาปัญหาได้ สำหรับผู้ที่เป็นผู้ประกันตนอยู่แล้วตามมาตรา 33 ก็ดี มาตรา 39 ก็ดี มาตรา 40 ก็ดี จะพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้เพิ่มเติมอย่างไรได้บ้างโดยคำนึงถึงความยั่งยืนระยะยาวตามหลักการคณิตศาสตร์ประกันภัย

การพัฒนาระบบประกันสังคมให้รองรับรูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคตตามพลวัตของธุรกิจอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เราจะเห็น รูปแบบการจ้างงานที่มีลักษณะเป็น non-standard form of Work มากขึ้น พัฒนาโครงการเชิงนวัตกรรมรองรับรูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไป ให้ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจแพลตฟอร์มหรือผู้ใช้บริการต้องร่วมจ่ายเงินสมทบกับคนทำงานให้แพลตฟอร์มเพื่อให้อาชีพอิสระที่ทำงานให้แพลตฟอร์ม เช่น ไรเดอร์ แรงงานสร้างสรรค์ที่ทำงานเป็นโครงการเป็นชิ้นงาน พนักงานขายอิสระออนไลน์ ได้รับการคุ้มครองทางสังคมด้วย  

สำหรับผู้ประกันตนที่มีรายได้สูงกว่าเพดานค่าจ้างที่ใช้คำนวณสิทธิประโยชน์และเงินสมทบ เราควรมีการศึกษาวิจัยว่า จะให้มีจ่ายเงินสมทบในอัตราก้าวหน้าดีหรือไม่ รายได้สูง จ่ายเพิ่มเงินสมทบและได้สิทธิประโยชน์บำนาญเพิ่ม นอกจากนี้การขยายฐานสมาชิกผู้ประกันตนต้องทำประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพิ่มเพดานค่าจ้างและเงินสมทบ ทยอยเพิ่มอายุผู้มีสิทธิรับเงินบำนาญ ซึ่งอาจทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป การปรับเพดานเงินสมทบต้องมาพร้อมกับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะระดับเงินบำนาญ การบริการทางการแพทย์และการเพิ่มสิทธิรักษาแบบประคับประคอง สิทธิรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) คือ การให้สิทธิประโยชน์เยียวยา กลุ่มลูกจ้างที่เจ็บป่วยร้ายแรงจนไม่สามารถทำงานได้หรือมีโอกาสเสียชีวิตสูง ส่งผลให้ครอบครัวขาดเสาหลักในการสร้างรายได้ ให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้

รศ. ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า อีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ กองทุนประกันสังคมมีความยั่งยืน คือ การปรับแนวทางการบริหารการลงทุนเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนของเงินกองทุนให้ขึ้นมาอยู่ในระดับเฉลี่ย 5% แต่ต้องระมัดระวังในเรื่องการบริหารความเสี่ยง หากมีการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด หรือ เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศ ต้องมีระบบและกลไกที่เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เนื่องจากการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดมีความซับซ้อนกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาด จากการที่ไม่มีหน่วยงานทางการในการกำกับดูแลอย่างชัดเจน  

การลงทุนส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้ผู้ประกันตนจะช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายของกองทุนประกันสังคม การป้องกันการเกิดโรคมีต้นทุนระยะยาวที่ถูกกว่าการรักษาอย่างมาก ส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีและ AI มาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพของผู้ประกันตน ให้เกิดการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ด้านสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น พัฒนาระบบการพยากรณ์ด้านสุขภาพของผู้ประกันตนรายบุคคล ให้ทราบถึงสภาวะความเป็นไปได้ด้านสุขภาพ ส่งเสริมให้เกิดความตระหนักและใส่ใจดูแลป้องกันโรคร้ายแรงต่างๆด้วยการมีวิถีชีวิตและการดำเนินชีวิตที่ไม่สร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพ รัฐบาลควรมีแนวทางในการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนสุขภาพ บูรณาการสิทธิประโยชน์และการบริการทางการแพทย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดความซ้ำซ้อน ลดภาระทางการเงินการคลังของประเทศ  ประชากรในวัยทำงานของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องและในอัตราเร่งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยปี 2566  มีผู้สูงวัย 20% วัยแรงงาน 63% และวัยเด็กเพียง 16% ประชากรในวัยทำงานปัจจุบันอยู่ที่ 42.4 ล้านคน และ มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ขณะนี้บางกิจการ บางอุตสาหกรรมสามารถทำการผลิตต่อไปได้โดยอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน บางอุตสาหกรรมปรับใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ ระบบหุ่นยนต์และเอไอมากขึ้น พึ่งพิงแรงงานมนุษย์ลดลง และผลิตภาพเพิ่มสูงขึ้น การบูรณาการให้แรงงานต่างชาติเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีสำคัญ สร้างความตระหนกรู้ให้ นายจ้างและลูกจ้างต่างชาติ ว่าเมื่อเข้าเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมแล้วจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง

เวลาเราพูดถึงความยั่งยืนทางการเงินของระบบประกันสังคม ในมุมของผู้ประกันตน คือ การได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่คาดหวัง พอเพียง เหมาะสม ในมุมผู้จ่ายเงินสมทบ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง นายจ้าง หรือรัฐบาล คือ การส่งเงินสมทบที่ไม่สูงเกินไปจนเป็นภาระ หรือ ไม่ถูกปรับเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน ในมุมของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ความยั่งยืนทางการเงิน หมายถึง การทำอย่างไรให้ เกิดความสมดุลระหว่างเงินไหลออก (รายจ่าย) กับ เงินไหลเข้า (รายรับ) และป้องกันไม่ให้เกิดความรั่วไหลหรือขาดประสิทธิภาพ หรือ ป้องกันการนำเงินของผู้จ่ายเงินสมทบไปลงทุนผิดพลาดเสียหาย  

 

หมายเหตุ

  • คงอักขร วิธีสะกด และการเว้นวรรคตามต้นฉบับ