ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

PRIDI Interview : รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี : เลือกตั้งกรรมการประกันสังคม อนาคตรัฐสวัสดิการไทย

20
ธันวาคม
2566


เขมภัทร ทฤษฎิคุณ

สวัสดีครับอาจารย์ อยากจะชวนคุยเรื่องของหลักการและสภาพปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของกองทุนประกันสังคมว่า ควรจะมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร? และปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างที่ทราบกันดีที่ผ่านมากองทุนฯ มีประเด็นปัญหาเรื่อง ความไม่โปร่งใส ธรรมาภิบาล รวมไปถึงไม่สะท้อนความต้องการของผู้ประกันตน ซึ่งเป็นสมาชิกของกองทุนฯ

 

 

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

เวลาพูดถึงประกันสังคม จินตนาการได้ว่า สวัสดิการสำหรับคนธรรมดาที่ไม่มีอภิสิทธิ์ คนธรรมดาที่ไม่ได้มีตำแหน่ง คนธรรมดาไม่สามารถจะซื้อประกันเอกชนราคาแพงได้ เพราะฉะนั้นตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมา ก็เป็นสวัสดิการยืนพื้นสำหรับคนธรรมดาทุกคน การเกิดขึ้นของประกันสังคมเกิดขึ้นพร้อมกับสภาพความเป็นประชาธิปไตยของประเทศนี้ การต่อสู้ของชนชั้นแรงงานผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ประกันสังคมขึ้นมา

แต่ก็อย่าลืมว่าตลอด 33 ปี จากปี 2533 มีรัฐประหารถึง 3 ครั้ง และการรัฐประหาร 3 ครั้งนี้ ผลักดันให้กองทุนประกันสังคมที่เราควรจะคาดหมายว่าเป็นสวัสดิการของคนธรรมดากลายเป็นแดนสนธยา กลายเป็นสิ่งที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน รูปธรรมที่เราเห็นใน 9 ปีที่ผ่านมา คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการแต่งตั้งบอร์ดประกันสังคมเป็นเวลา 9 ปี เป็นบอร์ดที่มาจากการแต่งตั้งจนกระทั่งถึงวินาทีนี้ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ บอร์ดชุดนี้ยังคงทำงานอยู่ ไม่มีใครลาออก ไม่ได้อยู่ในสภาพรักษาการเลยด้วยซ้ำ

สิ่งเหล่านี้เป็นสภาพที่เราเห็นว่าการรัฐประหารและการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้กองทุนขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ไม่ยึดโยงกับประชาชน และทำให้เกิดปัญหาความโปร่งใสและความเชื่อมั่นตามมา

 

 

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ

อย่างในมุมของอาจารย์ เราจะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องความโปร่งใสและความไม่เชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อกับกองทุนประกันสังคม ได้อย่างไรบ้าง?

 

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ การเลือกตั้งตัวแทนกรรมการประกันสังคม ทั้งสัดส่วนลูกจ้างและนายจ้าง 1 คน 1 เสียง ก่อนหน้าที่จะเข้าสู่ยุคสมัยการแต่งตั้ง 9 ปี เป็นการเลือกผ่านสหภาพแรงงาน One Union One Vote ซึ่งมีปัญหาเพราะว่า คุณเพียงแค่หาเสียงกับคนเพียงพันกว่าคนเท่านั้นเอง

ตอนนี้เป็นจุดหมายที่ดีที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ บอร์ดเริ่มยึดโยงกับประชาชน แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เราจำเป็นที่ต้องพิจารณาต่อไป คือ ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องสิทธิประโยชน์เท่านั้น มันเกี่ยวกับว่าตัวบอร์ด ตัวกองทุนมหาศาลตัวนี้ ถูกเอาไปใช้อย่างไร

เคยมีข่าวความสงสัยที่ประมาณว่า จริงหรือเปล่าที่กองทุนนี้กลายเป็นเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำที่เอาไปใช้ในการซื้อหุ้นของกลุ่มทุนเฉพาะกลุ่ม?  ในข้อสงสัยนี้จริงเท็จอย่างไรก็ไม่ทราบ เพราะไม่ได้มีการชี้แจง ไม่ได้มีการเปิดเผยว่า มาตรการการลงทุนเป็นอย่างไร บางครั้งประกันสังคมก็ขาดทุนทีก็ร้อยล้าน พันล้าน มันอาจจะน้อยถ้าเทียบกับเงินกองใหญ่ 2.3 ล้านล้านบาท

แต่ว่าแน่นอนที่สุด สิ่งเหล่านี้ทำให้ขาดความเชื่อมั่นเพราะว่า ไม่มีหลักเกณฑ์ไม่ยึดโยงกับประชาชนและไม่มีมาตรการเงื่อนไขที่ทำให้มีการตรวจสอบได้ของประชาชน

 

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ

อยากจะถามอาจารย์ต่อ ประเด็นเรื่องการใช้จ่ายเงิน เราทราบกันดี ปัจจุบันหลักเกณฑ์ของกองทุนประกันสังคมยังไม่ได้มีความชัดเจนว่าจะเอาไปลงทุนในแง่ไหน สินทรัพย์ประเภทไหน คือกฎหมายอาจให้กรอบกว้างๆ ว่าให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงไม่สูงมาก และเป็นสัดส่วนเท่าไรเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้กำหนดว่าจะต้อง Consern (เกี่ยวข้องกับ) ในประเด็นไหนบ้าง ในประเด็นนี้อาจารย์มีมุมมองอย่างไร ถ้าสมมุติว่า กองทุนจะนำเงินไปลงทุนให้ยั่งยืนในระยะยาวกับผู้ประกันตน กองทุนฯ ควรคำนึงถึงเรื่องไหนบ้าง

 

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

แน่นอนว่าเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อเวลาพูดถึงกองทุนฯ เป็นโจทย์ใหญ่ เป็น criteria (เกณฑ์) ว่า ถ้าลงทุนจะต้องได้กำไร ลงทุนแล้วต้องมีความเสี่ยงที่สามารถพอรับได้ แต่เรื่องที่ไม่เคยพูดถึงหรือพูดถึงน้อยมาก ซึ่งเป็นมาตรฐานของกองทุนขนาดใหญ่แบบนี้ คือการลงทุนในบรรษัทหรือสินทรัพย์ที่มีธรรมาภิบาล ผมยกตัวอย่างกองทุนบำนาญของนอร์เวย์ ช่วงที่รัสเซียทำสงครามกับยูเครน เขาต้องมีการถอนทุนจากบริษัทน้ำมันของรัสเซียที่แม้ว่าจะได้กำไร แต่ว่ากลุ่มนี้มีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลหรือไปยึดโยงกับกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสงคราม ต้องมีการถอนหุ้นแม้ว่าจะได้กำไร

 

 

ผมก็คิดฝันเหมือนกันว่า อยากจะให้ประกันสังคมมีเงื่อนไขตัวนี้ เวลาที่คุณไปลงทุนก็ต้องเป็นกลุ่มทุนที่ยึดโยงกับผู้ประกันตน ในความหมายที่ว่า เป็นบริษัทที่ไม่ได้กดขี่แรงงาน ทำตามกฎหมายแรงงาน หรือถ้าจะพูดถึงคือเป็น Decent work (งานที่มีคุณค่า) เป็นการจ้างงานที่มีคุณค่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันนี้คือความยั่งยืนที่จะสามารถส่งเสริมได้ ซึ่งแน่นอนเรื่องการต้องได้กำไร ก็ต้องได้กำไรอยู่แล้ว มีความปลอดภัยมั่นคง ผู้จัดการกองทุนฯ ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องนี้อยู่แล้ว

สิ่งหนึ่งที่เราต้องใส่เข้าไปอีก ต้องไม่ลืมว่า เงินนี้มาจากพนักงานโรงงานทอผ้า มาจากคนที่เข็นผักในตลาด มาจากแม่ลูกอ่อนที่ส่งเงินเข้าไป การใช้เงินต่างๆ ก็ควรจะเป็นการใช้เงินเพื่อธำรงค์คุณค่าชีวิตธรรมดาของคนให้มันดีขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน  การคำนึงถึงเรื่องธรรมาภิบาลและ Decent work ต่างๆ ผมว่าเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่ประกันสังคมต้องคำนึงถึง

 

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ

เมื่อสักครู่อาจารย์ได้พูดถึง กรณีของตัวผู้จัดการกองทุนฯ ผมเข้าใจว่าในเเง่หนึ่งกองทุนประกันสังคมในปัจจุบัน บทบาทของการบริหารจัดการกองทุนฯ อยู่ในภาคราชการส่วนใหญ่ การที่กองทุนฯ อยู่ในภาคราชการอาจจะทำให้ขาดความคล่องตัวในเรื่องการบริหารงาน เพราะว่าส่วนหนึ่งคือ ปลัดกระทรวงเขาเป็นคนสำคัญ เป็นประธานบอร์ดประกันสังคม ในเรื่องของการกำหนดนโยบายทิศทางยังคงอยู่ภายใต้ของส่วนราชการ

ขณะเดียวกันกรรมการของกองทุนประกันสังคมที่มีการเลือกตั้ง มีวาระค่อนข้างสั้น อยู่เพียงแค่ประมาณ 2 ปี อาจทำให้มีประเด็นว่าการสานต่อนโยบายจะทำได้ยาก อันนี้ เราควรจะทำการแก้ไขหรือปรับปรุงในส่วนของโครงสร้างนี้อย่างไร

 

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ผมว่าคือ ประเด็นแรงงานทั้งหมดของประเทศไทย มักจะติดอยู่กับคำว่าไตรภาคี ไม่ว่าจะเป็นศาลแรงงานก็ดี หรือว่าการไกล่เกลี่ย หรือแม้กระทั่งการกำหนดนโยบายแรงงานค่าจ้างแรงงานก็ใช้คำว่า ‘ไตรภาคี’ จริงๆ แล้วในประเทศที่พัฒนาด้านแรงงาน เขาพยายามที่จะขับเคลื่อนให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็น ‘ทวิภาคี’ ให้มากที่สุด ทวิภาคีที่ว่านี้คือ พยายามให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญ คือ นายจ้าง ลูกจ้างสามารถที่จะจัดสรรเรื่องนี้ได้โดยตรง

แต่ว่าประกันสังคมมีความต่างเพราะมีเงินของรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวพันด้วย แต่เราก็จะเห็นได้ว่า ปลัดกระทรวงดำรงอยู่ในตำแหน่งที่นาน บางคนอาจจะ 5 ปี 6 ปี รวมถึงผู้แทนส่วนอื่นอีก ก็อยู่ในตำแหน่งที่ยาวนาน และยังไม่ต้องนับรวมการไปยึดโยงกับโครงการต่างๆของรัฐ ซึ่งก็คือระบบราชการนี่เอง เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าจำเป็นต้องมีการแก้ไข เราพยายามดึงให้ประกันสังคมต้องพยายามเดินหน้าสู่การเป็น ‘องค์กรอิสระ’ ในแง่ที่ว่า มีความสามารถในการจัดการตัวเองเพราะงบประมาณการบริหารจัดการของประกันสังคม ส่วนมากแล้ว มาจากเงินของฝั่งนายจ้าง ฝั่งลูกจ้าง ก็ควรจะสามารถมีอิสระในการจัดการตัวเองได้ โดยที่รัฐเป็นคนวางกรอบในการคุย วางกรอบในเรื่องของการวางเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ การกำหนดนโยบายต่างๆ และแน่นอนที่สุดเลย เรื่องบอร์ดลงทุน บอร์ดแพทย์ สิ่งเหล่านี้ยังไม่ยึดโยงกับคนทั่วไปเท่าที่ควร

ผมคิดว่าในปี 2566 นี้น่าสนใจมาก ถ้าต่อไปประกันสังคมมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เราอาจต้องคุยกันถึงเรื่องของการเลือกตั้งบอร์ดลงทุนในหมู่ผู้เชี่ยวชาญ และรวมถึงการคัดสรรบอร์ดแพทย์ รวมถึงบอร์ดที่เกี่ยวข้อง และอาจจะคิดฝันถึงเรื่องรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ด้วยที่จำเป็นต้องมีการเลือกบอร์ดที่มาโดยตรงกับประชาชนมากขึ้น

 

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ

โมเดลที่อาจารย์พูดถึงเรื่องการทำให้เป็นประชาธิปไตยน่าสนใจเพราะว่า ในปัจจุบันมีกองทุนที่มีลักษณะเกี่ยวกับการทำสวัสดิการหลายอัน แต่ว่าประเด็นอย่างหนึ่งคือกองทุนแต่ละอัน เขามีกลุ่มเป้าหมายที่แยกกัน เช่น กองทุนการออมเน้นการออม กองทุนประกันสังคมเน้นภาคผู้ใช้แรงงานที่เป็นผู้ประกันตัวเอง หรือกองทุน กบข. (บำเหน็จบำนาญข้าราชการ) ของข้าราชการ

ปัญหาที่อยากชวนอาจารย์คุยต่อคือ การที่กองทุนแยกกันอยู่ตามตัวบุคคลที่เข้าสู่ระบบหรือไม่เข้าสู่ระบบใดระบบหนึ่ง ทำให้ภาพของการจัดสวัสดิการเองก็ทำได้ยาก อาจารย์มีมุมมองยังไงบ้างกับประเด็นนี้

 

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ผมคิดว่าการที่มีกองทุนแยกเยอะขนาดนี้ ด้านหนึ่งก็เกิดจากการที่ประกันสังคมอ่อนแอ เป็นการติดข้อของระบบราชการที่ว่า ไอ้นี้ทำได้ ไอ้นี้ทำไม่ได้ สิทธิประโยชน์ตัวนี้เพิ่มได้แค่นี้ พอเป็นแบบนี้ทำให้สวัสดิการไม่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม

เลยเกิดไอเดียแบบปะผุขึ้นมาจากหน่วยงานราชการ มีการผุดกองทุนแบบนี้เป็นกองทุนเฉพาะกิจขึ้นมา เป็นกองทุนที่สามารถเข้ามาดูแลเรื่องการออม กองทุนที่ดูแลเรื่องเกษตรกร กองทุนเพื่อวัตถุประสงค์โดยเฉพาะ แต่ในหลายประเทศถ้ากองทุนประกันสังคมมีประสิทธิภาพมากพอ กองทุนพวกนี้ก็จะไม่ได้ผุดขึ้นมาเยอะขนาดนี้ซึ่งก็เป็นปัญหา

อย่างในกรณีของประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นต้นแบบของประกันสังคมที่ผมมีโอกาสคุยกับเพื่อนที่ไปอยู่อาศัยที่โน่น เขาก็บอกว่า “ครอบคลุมเรื่องการฟื้นฟูร่างกายเยอะมาก เขาเป็นภูมิแพ้ไม่สบาย การซื้อผ้าปูที่นอนใหม่ หรือว่าการทำความสะอาด Deep Cleaning ในบ้าน ประกันสังคมออกให้ แม้กระทั่งคนที่ต้องทำกายภาพระยะยาว ฟื้นตัวระยะยาว และหมอบอกว่าให้ไปเที่ยวพักผ่อน ที่เยอรมันคนที่อยู่ทะเลหมอก็ให้ไปเที่ยวภูเขา ส่วนคนที่อยู่ภูเขาหมอก็ให้ไปเที่ยวทะเล โดยที่ประกันสังคมออกค่าเดินทางพวกนี้ให้”

อันนี้ ชี้ให้เห็นว่า ถ้าประกันสังคมสามารถขยาย ครอบคลุม ดูแลคนในทุกมิติได้ก็จะทำให้คนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของการตรวจสอบไปโดยอัตโนมัติ

 

 

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ

อยากจะถามอาจารย์ว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กฎหมายให้มีการเลือกตั้ง และเขตเลือกตั้งส่วนใหญ่ใช้เขตเดียวต่อจังหวัดทั้งประเทศ อาจารย์มองว่ามันมีความยุ่งยากหรือมีความลำบากไหม ในแง่หนึ่งคือ กลุ่มแรงงานมีความหลากหลายมาก ทั้งในแง่ของสาขาอาชีพ ทั้งในแง่ของภูมิศาสตร์ที่ตั้ง การที่กำหนดสัดส่วนว่าให้ใช้เขตพื้นที่แบบนี้ มีคนจากหลากหลายกลุ่มอย่างนี้ จะทำให้การผลักดัน Agenda (วาระ) ของแรงงานในแต่ละภาคส่วนไปไม่ถึงหรือเปล่าครับ

 

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ผมคิดว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งมีอะไรขรุขระเยอะ มีปัญหาเยอะมาก ตั้งแต่การลงทะเบียนก็ดี เรื่องของเขตการเลือกตั้งที่ไม่ได้กระจายไป เรื่องการจัดการด้านเทคนิคผมถือว่าแย่ แต่ว่าเปิดโอกาสที่จะทดสอบอะไรหลายอย่างเหมือนกัน เช่น เรื่องของระบบลงทะเบียนก็ส่วนหนึ่ง หรือว่าเป็นการเลือกตั้งที่คุณเลือกตั้งได้ทุกที่เลย หมายความว่า วันเลือกตั้งคุณรู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน คุณสามารถไปเลือกที่นั่นได้เลย เช่น คุณกลับบ้านเชียงใหม่ คุณก็ลงทะเบียนที่นั่นได้เลย ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นอุดมคติด้านหนึ่งของการพยายามผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งที่ว่า คุณเลือกตั้งตามที่คุณสะดวก

เช่นเดียวกันกับคำถามที่ถามมาว่า ทีนี้พอมันกลายเป็นบอร์ดชุดเดียวที่ต้องดูแลปัญหาของคนทุกภาคส่วน ซึ่งได้พยายามอุดที่ว่าก็มี 7 คน ถ้าทีมไหนที่ฟอร์มมาก็พยายามกระจายไปสู่ความต้องการที่หลากหลาย ถ้ามีโอกาสผมคิดว่า สิ่งที่ต้องทำคือเราอาจต้องกระจายการเลือกตั้ง หรือว่าบอร์ดในระดับอุตสาหกรรม บอร์ดในระดับภูมิภาคลงไปที่จะทำให้ยึดโยงกับคนมากขึ้น แต่ว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกต้องลองดูก่อนว่าภาพที่ออกมาเป็นอย่างไร

ผมอยากชวนให้คิดถึงเรื่องหลายอย่างที่มีจินตนาการมากขึ้น อย่างเช่น แรงงานข้ามชาติเป็นผู้ประกันตน 9 แสนคน ซึ่งเยอะมาก แต่ว่าเขาไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งเลย และปัญหาหลายอย่างของแรงงานข้ามชาติก็จะไม่มีโอกาสสะท้อนขึ้นมา ไม่มีโอกาสสมัครและไม่มีโอกาสเลือกตั้งด้วย คนที่คัดค้านให้เหตุผลด้านความมั่นคง ไม่ได้เป็นเหตุผลด้านเศรษฐกิจ ด้านอะไรเลย คือกลัวว่าแรงงานข้ามชาติจะมายึดประเทศ ซึ่งก็เป็นความกลัวที่ไม่เกิดขึ้นจริง

 

 

ผมอยากชวนจินตนาการว่า ถ้าต่อไปการเลือกตั้งครั้งหน้าของประกันสังคม ทำให้ดีขึ้น ความรู้สึกการแบ่งแยกทางเชื้อชาติน้อยลงว่า ถ้าคนไทยกับแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะสัญชาติไหน สามารถเลือกในสนามเดียวกันได้ น่าจะสะท้อนอะไรเยอะ หรือแม้กระทั่งการเลือกตั้งเฉพาะกลุ่ม ลองคิดฝันทดลองเรื่องการเลือกแบบออนไลน์ดูไหม? จะยืนยันตัวตน สแกนใบหน้า OTP ลองทำดู ซึ่งผมคิดว่า มันน่าจะสะท้อนเยอะ เพราะครั้งนี้ประกันสังคมพยายามทดลองหลายๆอย่าง เช่น การลงทะเบียนก่อน ซึ่งสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง ผมคิดว่าในครั้งต่อไป ถ้าจะทำอะไรที่มันเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ผมว่าก็น่าลองดู

 

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ

หลายประเด็นที่อาจารย์เล่ามามีความน่าสนใจไม่น้อย เช่น การยกเรื่องแรงงานข้ามชาติที่เขาไม่สามารถส่งตัวแทนได้แม้ว่าเขาจะเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ในระบบแรงงาน มีประเด็นที่ว่า แรงงานไทยถูกมองภาพที่ยังไม่ค่อยเป็นเอกภาพกันเท่าไร เรายังมีการแบ่งแยกในแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มภาคบริการ กลุ่มแรงงาน หรือหลายๆอย่าง

ถ้าเรามองแรงงานให้เป็นกลุ่มเราควรมองแรงงานให้เป็นหนึ่งเดียว เพียงแต่ว่าในแง่ของการมีส่วนร่วม ตัวแทนเองก็การจะเข้ามาได้ในหลากหลายแบบ หลากหลายช่องทาง ผ่านคณะกรรมการชุดต่างๆ

อยากจะถามอาจารย์ต่อไปว่า อย่างในกรณีของแรงงาน กลุ่มแรงงานหลักที่เราพูดถึง เรามักจะนึกถึงภาพของแรงงานในกลุ่มที่เป็นกรรมาชีพ แรงงานในโรงงาน หรือว่าเป็นแรงงานในภาคบริการบางกิจการ แต่ก็จะมีแรงงานบางกลุ่มหรือหลายกลุ่มที่มีการหาเสียงอยู่ในเชิงนโยบายถูกพูดถึงน้อยคือ กลุ่มที่เป็นผู้ประกันตนเอง ในบางกลุ่ม เช่นกลุ่มที่เป็นแรงงานอิสระ ในปัจจุบันเขาเป็นผู้ประกันตามมาตรา 39 ถ้าผมจำไม่ผิด เขามีประเด็นเหมือนกันว่าไม่ได้รับสวัสดิการเท่ากับคนที่เป็นผู้ประกันตนตาม มาตรา 33 อันนี้ก็มีประเด็นเหมือนกัน อาจารย์มีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง?

 

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเอาเข้าจริงแล้วผู้ประกันตนที่จริงจะบอกว่าในมาตรา 33 เป็นกรรมาชีพ ในความหมายเดิมทั้งหมด ก็อาจจะไม่ใช่ คือผมคิดว่า ตอนนี้น่าจะเกิน 50% ผมใช้คำแบบโบราณคือ ‘พนักงานปกคอขาว’ จำนวนคนที่ลงทะเบียนเยอะสุดคือ พนักงานออฟฟิศ ที่ลงทะเบียนเพื่อที่จะใช้สิทธิ์เลือกตั้งไปดูแบ่งตามเขตที่ผมเห็นข้อมูลเบื้องต้น เป็นแบบคนทำงานออฟฟิศ สีลม สุขุมวิท ไม่น้อยเลยทีเดียว ด้านหนึ่ง ส่วนในขณะเดียวกันก็นับคนในวัยทำงาน 38 ล้านคน กว่าอีก 20 ล้านคนก็เป็นแรงงานอิสระ อยู่ทั้งมาตรา 39 และมาตรา 40 คนกลุ่มนี้ก็เป็นคนกลุ่มที่เปราะบางมากที่สุด น่าสนใจมากว่าประกันสังคมก็ไม่ได้เข้าไปช่วยพยุงชีวิตของพวกเขาเท่าไร

เท่าที่ผมได้ทำวิจัยมา สวัสดิการที่พวกเขาหวังพึ่งพิงได้ก็เป็นเรื่องการรักษาพยาบาลถ้วนหน้า เรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ สปสช. ป็นสิ่งที่พวกเขาใช้พึ่งพิงเป็นหลัก

แต่ว่าประกันสังคม ซึ่งมาตรา 40 มาช่วยเรื่องการชดเชยรายได้หรือว่าการเดินทางไปหาหมอ ก็พบว่าคนมาเป็นผู้ประกันตนน้อย จากงานวิจัยของผมก็บอกว่า พอเข้าใจได้เพราะว่านึกถึงตัวเลขให้กลมๆ คุณต้องจ่ายเงิน 100 ถึง 200 บาทต่อเดือน สำหรับคนที่สมมติว่าเป็นแม่ค้าขายลูกชิ้นปิ้งอยู่บนมอเตอร์ไซค์ 200 บาท ก็ค่าน้ำมัน 3-4 วันได้ แบบที่คนสามารถเอาไปใช้ทำมาหากิน เพราะฉะนั้น ถ้าสมัครใจ เงื่อนไขการสมัครใจแบบนี้ มันจึงใช้ไม่ได้ในสังคมไทยที่แรงงานอิสระยากจน ผมใช้คำนี้ แรงงานอิสระส่วนมากคนไทยยากจน รายได้ไม่แน่นอน เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทีมประกันสังคมก้าวหน้าพยายามผลักดันด้านหนึ่งคือ การพยายามพูดถึงตัวแบบที่เรียกว่า ประกันสังคมถ้วนหน้า ซึ่งจะเป็นก้าวแรก ก้าวสำคัญ สู่การเป็นรัฐสวัสดิการ ทำให้แรงงานอิสระทั้งระบบมีประกันสังคมยืนพื้นเหมือนกับรัฐซื้อประกันให้ สิ่งนี่ผมคิดว่าเป็นผนังพิงที่สำคัญสำหรับคนในวัยทำงาน

 

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ

ให้อาจารย์ช่วยขยายความเกี่ยวกับประกันสังคมถ้วนหน้า เพิ่มอีกนิดหนึ่งได้ไหมครับ ว่าเกณฑ์หลักๆ แตกต่างจากสภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบันอย่างไรบ้าง นอกจากที่อาจารย์ได้อธิบายให้เราทราบแล้วว่า ประกันสังคมถ้วนหน้าคือ เราต้องการให้ระบบประกันสังคมเป็นฐานสำหรับการทำสวัสดิการในทุกรูปแบบควรเริ่มที่ประกันสังคม

 

 

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

สวัสดิการโดยทั่วไปของประเทศจะเป็นสวัสดิการตามช่วงอายุ บางทีจะมีการตัดออกเป็นสวัสดิการตามความจำเป็น คือคุณมาพิสูจน์ความจน ไม่ว่าจะเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือไม่ก็จะเป็นเงินช่วยเหลือเด็กที่ให้เฉพาะคนจน

แต่ว่าถึงประกันสังคมจะมีความซับซ้อนมากขึ้นคือปัจจุบันเป็นภาคบังคับ ซึ่งภาคบังคับที่ว่านี้คือ เป็นคนที่อยู่ในระบบการจ้าง คือบังคับนายจ้าง บังคับลูกจ้าง และบังคับรัฐให้ช่วยกันสมทบ แต่ 33 ปีผ่านไป สิ่งที่เราเห็นคือ มีคนที่อยู่ในระบบตรงนี้น้อยลง คนมีการสวิงไปสวิงมาคือ คนไม่ได้อยู่ในระบบการจ้างตลอดเวลา มีคนสวิงไปอยู่ในระบบอาจเป็นแรงงานอิสระบ้าง แล้วกลับมาบ้าง ไม่ใช่ว่าคนจะทำงานอยู่ในองค์กรหนึ่งหรือมีลักษณะการจ้างเป็นนายจ้างตลอด 40 ปี สภาพมันเปลี่ยนไป

เมื่อ 10 กว่าปีก่อน มีประกันสังคมมาตรา 40 กลายเป็นประกันสังคมโดยสมัครใจที่ทุกคนสามารถไปสมทบได้ สิ่งที่เห็นมาต่อเนื่อง คือปริมาณที่คนสมทบมีน้อย เพราะว่า สิทธิประโยชน์ไม่จูงใจ ข้อค้นพบที่ผมได้ทำงานวิจัยมา คือจำเป็นที่ต้องมีการปรับสู่ระบบถ้วนหน้า คือให้คุณได้สิทธิ์นี้โดย Default (สภาพตั้งต้น) เมื่อคุณอายุครบ 18 ปี เหมือนรัฐบาลซื้อประกันให้คุณ รัฐบาลจะจัดการหลังบ้านอย่างไร เช่นไป Earmarked Tax (ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ) เป็นภาษีส่วนแรกที่คุณจ่าย คุณก็หักตัวนี้มา ถ้าคนไหนรายได้ฐานไม่ถึงเสียภาษี รัฐก็สมทบให้เต็มเป็นสิ่งที่รัฐจัดให้

อาจมีส่วนคล้ายกับมาตรา 40 แบบที่มัน Top Up (เพิ่มเติม) ขึ้นมา เช่น การชดเชยการขาดรายได้ การชดเชยทุพพลภาพ อาจเพิ่มเติ่มชดเชยเรื่องการตั้งครรภ์ เพราะว่า พอถึงเวลาการตั้งครรภ์คงไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ท้อง 6 เดือน 7 เดือนรัฐบาลสมทบให้ รัฐบาลจ่ายประกันสังคมหรือมาตราถ้วนหน้าตัวนี้ อาจไม่สามารถทำให้คุณหยุดงานได้ 100% สมมุติว่าคุณเป็นรายงานอิสระแล้วตั้งครรภ์ แต่อย่างน้อยชั่วโมงการทำงานคุณน้อยลง เพื่อให้สามารถดูแลลูกของคุณที่จะเกิดมาได้อย่างเต็มที่ รวมถึงปัจจุบันมาตรา 40 ไม่มีการคำนวณฐานเงินเดือน เลยไม่มีบำนาญ Top up ก็เป็นส่วนที่เราคิดว่า ควรจะมีการกำหนดฐานเงินเดือนของมาตรา 40 เพื่อที่จะเอามาเป็นคำนวนสวัสดิการด้านบำนาญเพิ่มเติมได้

 

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ

ฟังดูแล้วระบบประกันสังคมถ้วนหน้าที่อาจารย์และคณะพยายามจะนำเสนอเป็นเหมือนหนึ่งในจิ๊กซอว์สำหรับการทำภาพใหญ่ เข้าใจว่าหลายประเด็นที่อาจารย์ได้แตะ เช่น การทำ Earmarked Tax ก็จะเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันต่อในระดับนโยบาย อาจารย์คิดว่าเราจะจูงใจภาคการเมืองอย่างไรให้สนใจกับประเด็นเหล่านี้ได้บ้าง

 

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ผมคิดว่าในการเลือกตั้งปี 66 ที่ผ่านมา ผมดูแลศูนย์วิจัยและสวัสดิการ สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นคือ ทุกพรรคตื่นตัวเรื่องรัฐสวัสดิการ นโยบายด้านสวัสดิการอย่างมาก ขวาสุดถึงซ้ายสุด พูดเรื่องเดียวกัน พูดกันแบบจริงจัง ไม่ได้เป็นแค่นโยบายไม้ประดับ เป็นนโยบายหาเสียงแบบจริงจัง ทุกคนต้องมีไพ่ตายที่เป็นตัวสวัสดิการ

เพราะฉะนั้นในด้านหนึ่ง ผมคิดว่า พรรคการเมือง ณ ตอนนี้ เขามีประโยชน์จูงใจที่จะทำ เพราะว่าทุกวันนี้การแข่งขันทางการเมืองมีความเข้มข้นมากขึ้น ประเทศไทยอาจยังไม่ได้เดินผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่แน่นอนที่สุดเลยคือทุกฝ่ายต้องคิดกันเรื่องการแข่งขันนโยบายสวัสดิการ เพราะว่าจะเป็นนโยบายไพ่ตายที่ทำให้เขาชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ผมไม่ลำบากใจมากกับการจูงใจภาคการเมือง แต่สำคัญที่สุดคือเราต้องการเจตจำนงมุ่งมั่นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ แน่นอนว่าบอร์ดประกันสังคมก็สำคัญมาก ผมพูดเหมือนกับเปรียบเทียบ คนที่มีตำแหน่งต่างๆ มีอยู่แค่ 2 ประเภท คือ กังหันลมกับป้ายบอกทาง

ที่ผ่านมาประเทศไทยส่วนมากคนที่มีตำแหน่งก็ทำตัวเป็นกังหันลมคือ ทำตามกระแส ทำตามลมของคนที่มีอำนาจ แต่ยังขาดคนที่เป็นป้ายบอกทางเยอะ ซึ่งป้ายบอกทางบางครั้งอาจไม่สำเร็จในเจเนอเรชันเราก็ได้

แต่เรื่องประกันสังคม คนแรกที่ใช้ในไทย คือ Assurance sociale ที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ได้พูดถึงไว้ คือเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี ชื่อ พรบ. คือ ประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร แต่ว่าก็เกิดดราม่าอย่างมาก การนำเสนออันนี้นำไปสู่ Conflict (ความขัดแย้ง) ทางการเมืองกับพวก Conservative (อนุรักษนิยม) มากมาย จนกระทั่งมาในยุคจอมพล ป. กระแสตัวเองเริ่มตก เริ่มเอาแนวคิดนี้และพยายามผลักดันมา แต่ก็โดนรัฐประหารอีก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมคิดว่าจำเป็นอย่างมากคือ เราต้องการคนที่มีเจตจำนงมุ่งมั่นทางการเมืองในการผลักดันเรื่องนี้

 

 

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ

ผมค่อนข้างเห็นด้วยกันที่อาจารย์บอกว่า ตอนนี้ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ เราต้องการคนที่มีเจตจำนงแรงกล้า ในการผลักดันเรื่องนี้เพราะว่า เรื่องความตื่นตัวทางนโยบาย หลายคนน่าจะตื่นตัว พรรคการเมืองน่าจะตื่นตัว ทั้งจากปัจจัยเรื่อง สังคมผู้สูงอายุ หรือว่าจากปัจจัยหลายๆ อย่าง คือทั้งรัฐบาล Conservative ก็น่าจะห่วงเรื่องงบประมาณ ฝ่ายก้าวหน้าก็ต้องการให้มีการพัฒนาสวัสดิการให้มันถ้วนหน้า มีความเป็นรัฐสวัสดิการ

อยากชวนอาจารย์ คุยต่อ พอดีอาจารย์พูดถึงแนวคิดของอาจารย์ปรีดี แล้วอยากชวนว่า เราจะเอาแนวคิดอาจารย์ปรีดีมา Adapt (ปรับ) กับสังคมปัจจุบันได้อย่างไรบ้าง?

 

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ผมสอนวิชาการเมืองการปกครองไทยสมัยใหม่ ปีนี้เป็นปีแรกผมลองให้นักศึกษาปี 2 ทำโปรเจคก็คือเป็น if ในประวัติศาสตร์ไทย ว่าถ้าเกิดสิ่งเหล่านี้จะเป็นอย่างไร เด็กๆ เขาทำแบบหน้าตื่นเต้นมากเลย อย่างเช่น มีคนบอกว่า ถ้าเกิดวันนั้นกลุ่มยังเติร์กทำรัฐประหารสำเร็จ จะเกิดอะไรขึ้น บางอย่างก็อาจจะไม่ได้สวยงาม เช่น เขาบอกว่า ถ้าตอนนั้นทำสำเร็จแล้วก็จะกลายเป็นรัฐบาลฝ่ายขวามากๆ อาจจะขวากว่าพลเอกเปรมก็ได้ ถ้ามันไม่เกิดกบฏเมษาฮาวาย หรือว่ามีคนหนึ่งเขาทำเรื่องว่า ถ้าประเทศไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จะเป็นอย่างไร ภาพที่เขา Project (ฉาย) ออกมา เขาบอกว่าประเทศไทยอาจกลายเป็นสาธารณรัฐ คือเขามองว่า 2475 ดีต่อชนชั้นนำ เพราะมันทำให้ชนชั้นนำได้มีโอกาสมา Compomise (ประนีประนอม) หรือถ้าไม่มี 2475 ไล่ไปอีก 10 ปี ประชาชนจะเดือดดาลและเปลี่ยนแปลงอะไรที่ไปไกล

แต่ก็มีคนหนึ่งบอกเสนอว่า ถ้าปรีดี พนมยงค์ ไม่เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ซึ่งก็น่าสนใจมากเหมือนกัน เพราะว่าจะเกี่ยวข้องในฐานะตัวบุคคล หมายถึงชีวิตทางการเมืองของปรีดีจะเป็นอย่างไร ไม่มีรัฐประหารครั้งแรก ไม่ Conflict รุนแรงกับฝ่ายขวาในคณะราษฎร ไม่มีหนังสือตอบโต้จาก ร.7 ปรีดี พนมยงค์ อาจอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ยาวนานขึ้น แต่นักศึกษาบอกว่า อาจไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง อาจไม่ได้พูดเรื่องรัฐสวัสดิการในวันนี้

ผมว่าเป็นการคาดเดาที่น่าสนใจว่า การที่ปรีดี พนมยงค์ นำเสนอเรื่องนี้เมื่อกว่า 90 ปีที่แล้ว เป็นการปักธงที่สำคัญและเป็นป้ายบอกทางสำหรับเราว่า ในยุคสมัยนั้นที่ประเทศไทยจนกว่าตอนนี้ ปรีดี พนมยงค์ เสนอว่า เป็นเงินเดือนพื้นฐานให้ทุกคน คนละ 20 บาท ถ้าเทียบเป็นค่าครองชีพก็น่าสัก 3,000-4,000 บาท ก็เหมือนกับที่คุยเรื่องบำนาญ เรื่องเงินเลี้ยงเด็ก นี่คือสิ่งที่ปรีดี พนมยงค์ เสนอในช่วงเวลานั้น

แต่แน่นอนว่าเพียงแค่นี้ก็ทำให้ชนชั้นนำไม่พอใจและจะเห็นได้ว่าตรรกะของชนชั้นนำในการปฏิเสธความเสมอภาคเป็นตรรกะชุดเดิมทั้งนั้น เช่น ประเทศเรายังไม่พร้อม เราไม่มีเงินที่จะทำ เราไม่มีบุคลากร เราไม่มีความรู้เพียงพอ แต่ขณะเดียวกันก็น่าสนใจว่า ขณะที่ชนชั้นนำปฏิเสธ ก็มีคนที่ตายด้วยเรื่องนี้ ผมใช้คำว่าทุกวันละกัน

 

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ

ในแง่หนึ่งอาจารย์มองว่าจุดที่เราเรียนรู้จากอาจารย์ปรีดี ในเรื่องของความมุ่งมั่นในทางการเมืองของอาจารย์ที่ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคม ให้มีความความเท่าเทียมมากขึ้น ความเสมอภาคมากขึ้น รวมถึงในแง่ที่อาจารย์ปรีดีมักจะกล่าวคือ มีความเป็นภราดรภาพในสังคม ในความเป็นพี่น้องร่วมกัน เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดหน่ออ่อนของการคิดเรื่องรัฐสวัสดิการและการผลักดันเรื่องของสวัสดิการและแรงงานต่อมาในอนาคต

ชวนอาจารย์พูดอีกในเรื่องของการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ อาจารย์มองว่า ในเชิงของนโยบาย ผมเข้าใจว่า มีนโยบายที่ดีหลายนโยบาย อาจารย์คิดว่า นโยบายไหนคือนโยบายที่ดีและน่าสนใจ และจะเป็นประโยชน์ถ้าได้ผลักดันเรื่องนี้

 

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ที่จริงแล้วผมคิดว่าทุกนโยบายเป็นเรื่องสำคัญกับทุกกลุ่ม อย่างเช่น เรื่องบำนาญเป็น Pain Point (ปัญหาสำคัญ) สำหรับคนอายุ 50 ที่ใกล้เกษียณที่สูตรคำนวณบำนาญเป็นปัญหา เงินเลี้ยงดูเด็กตอนนี้ 800 บาท ก็น้อยไม่เพียงพอ ทั้งๆ ที่เด็กเกิดน้อย เรามีศักยภาพพอที่จะสามารถปรับเรื่องนี้ได้ เรื่องเงินค่าคลอดด้วยเช่นเดียวกัน

เรื่องใหญ่ที่ผมอยากย้ำ คือเรื่องการรักษาพยาบาล ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมประเทศไทยมองข้ามความเป็นมนุษย์มากเลยที่เรารู้สึกว่ามันมียาบางตัวที่สิทธิ์สวัสดิการบางอย่างใช้ได้ และยาบางตัวหรือการรักษาบางประเภทที่สิทธิ์การรักษาพยาบาลบางอย่างเราก็ใช้ไม่ได้ ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าสำคัญมาก

อย่างประกันสังคม ผมคุยกับทางหมอที่เขาเป็นพันธมิตรกับเรา สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เขาบอกว่า มะเร็งในโลกนี้มีอยู่ประมาณ 200 กว่าโรค ประกันสังคมรักษา 20 โรค ถ้านอกเหนือกว่า 20 นี้ เคปที่ 50,000 ผมถามอาจารย์หมอที่รักษามะเร็ง เขาบอกว่าต้นทุนในการฉายแสงครั้งหนึ่งก็ 80,000 บาท หมายความว่า ณ ปัจจุบัน ไม่ต้องพูดถึงสิทธิ์ราชการ สิทธิ์ 30 บาท คุณรักษามะเร็ง Cancer Anywhere (โครงการผู้ป่วยมะเร็งรักษาได้ทุกที่) แต่ว่าประกันสังคมที่เราจ่ายเงินเอง ทำไมถึงได้สิทธิ์ด้อยกว่า 30 บาทหรือแม้กระทั่งตัวยาบางอย่างที่สามารถรักษาโรคหัวใจได้ ผลข้างเคียงน้อยกว่า รักษาให้หายได้ รักษาชีวิตดีขึ้น 30% ก็ลดการตายได้ แต่ว่าสิทธิ์ยาตัวนี้ คำนวณเม็ดหนึ่งประมาณ 40 บาท เบิกได้เฉพาะราชการ  เราไม่ต้องพูดถึงการรักษามาตรฐานเดียวกัน เอาแค่บัญชียาเดียวกัน ทำไมมันทำไม่ได้

ซึ่งพอไปคำนวณตามคณิตศาสตร์ประกันภัยก็ไม่คุ้ม แต่ผมเป็นคนหนึ่ง ผมต่อต้านการกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศ ด้วยคณิตศาสตร์ประกันภัย และประกันสังคมที่มันเกี่ยวข้องกับ 20 ล้านคน ใช่คณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ ข้อจำกัดบางอย่าง แต่เราไม่ควรเอาคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นตัวตั้ง เพราะเรากำลังพูดถึงชีวิตของคนจริงๆ คนที่เขาไม่สามารถจ่ายเงินได้ หรืออย่างเช่น การฟอกไต การล้างไตของคนไข้ประกันสังคมต้องสำรองจ่าย ทำไมไม่สามารถ Merge (ผสาน) เข้าได้ หรือว่าเราไม่สามารถ Merge ประกันสังคมกับ 30 บาท ได้ให้สิทธิ์ 30 บาท ยืนพื้นสำหรับทุกคน และประกันสังคมก็ Top Up เพราะคุณเป็นคนที่สมทบตรงนี้เพิ่มเติมเข้าไปเอง ตัวนี้ผมคิดว่าเรื่องที่มันเป็น Pain Point สำคัญ ผมอยากผลักดันให้บัญชียาและลักษณะการ Treatment (การรักษา) แบบเดียวกันทั้งประเทศ

 

 

เขมภัทร ทฤษฎิคุณ

นับเป็นมุมที่น่าสนใจ หลายเรื่องเราไม่ได้ตั้งคำถามกับมัน อย่างเช่นในเรื่องบัญชียาว่าทำไมถึงมีความแตกต่างกับทุกคนที่ไปใช้สิทธิ์ก็คือเราใช้ตามสิทธิ์ของเรา แต่พอเราเห็นว่ามีความแตกต่างแล้ว อาจารย์ได้เสนอด้วยว่า ถ้าสามารถ Combine (การผสมผสาน) กันระหว่างเงินส่วนของการรักษาพยาบาลเอามาจากกองทุน 30 บาท แต่ในขณะเดียวกันก็ Top Up อันตรายที่เกิดขึ้นจากการทำงานทุพพลภาพ ชราภาพ เราก็ไปวิ่งหากองทุนหนึ่งคือ ตัวประกันสังคม ก็ทำให้เห็นว่าเราสามารถประสานสวัสดิการที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นและตอบสนองต่อประชาชนได้อย่างไรบ้าง คำถามสุดท้ายแล้ว ผมอยากจะให้อาจารย์ฝากเรื่องการเป็นเลือกตั้งครั้งนี้

 

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ประกันสังคมได้มาด้วยกระบวนการทางประชาธิปไตย ไม่ได้มาด้วยการตกมาจากฟากฟ้า จากความเมตตาของชนชั้นนำ ชนชั้นปกครอง หรือว่ามีนักเศรษฐศาสตร์มาคำนวณแล้วบอกว่า “ประกันสังคมเกิดได้เถอะ” ไม่ใช่แบบนั้น แต่ประกันสังคมเกิดจากการต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตย ขบวนการของชนชั้นแรงงาน และเช่นเดียวกันที่ผ่านมา มันก็อ่อนด้อยและถูกทำให้ไร้ประสิทธิภาพลงไปด้วยอำนาจเผด็จการการรัฐประหาร การที่จะเปลี่ยนแปลงให้ประกันสังคมดีขึ้นได้จึงเป็นเรื่องทางการเมือง ไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญหรือว่านักเทคนิคตามลำพัง

เมื่อพฤษภาคม 2566 ฝั่งประชาธิปไตยเราชนะการเลือกตั้งไปแล้ว ครั้งนี้เช่นเดียวกันที่มันจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการยกระดับชีวิต สวัสดิการคนธรรมดาที่ไม่มีอภิสิทธิ์ ไม่มีตำแหน่ง นั่นคือการทำให้ฝั่งประชาธิปไตยของเราชนะอีกครั้งหนึ่ง ผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้

ผมในฐานะตัวแทนทีมประกันสังคมก้าวหน้า เราเป็นพันธมิตรกับคณะก้าวหน้าก็อยากฝากให้ฝั่งประชาธิปไตยของเราชนะทุกสนามเบอร์ 27 ถึง 33 ขอบคุณมากครับ

 

สัมภาษณ์โดย : เขมภัทร ทฤษฎิคุณ
ณ อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น 5 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
วันที่ 12 ธันวาคม 2566