Focus
- ทัศนะต่อการรัฐประหาร 2490 และการลี้ภัยครั้งแรกไปยังสิงคโปร์และจีนของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งนายปรีดีได้อธิบายการลี้ภัยไว้อย่างละเอียดรวมทั้งระบุข้อมูลการพบปะบุคคลสำคัญ ต่อมานายปรีดีได้เขียนถึงสถาบันการเมืองและรัฐธรรมนูญฉะบับชั่วคราว 2490 ที่สะท้อนแนวคิดของฝ่ายอนุรักษนิยม
เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เกิดการรัฐประหารของฝ่ายทหาร โดยการสนับสนุนของพวกอนุรักษนิยมขวาจัด และพวกคลั่งชาติ โค่นล้มรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคพวกของข้าพเจ้า พวกเขาได้บุกเข้าไปในบ้าน เพื่อจะทำลายชีวิตข้าพเจ้ารวมทั้งภรรยา
และบุตรเล็ก ๆ หาว่าข้าพเจ้าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในกรณีสวรรคตฯ จอมพล พิบูลฯ ซึ่งถูกปล่อยก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือน เพราะกฎหมายอาชญากรสงครามไม่มีผลย้อนหลังมาใช้บังคับ ก็ได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ให้เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย ทำให้มีอำนาจควบคุมเจ้าหน้าที่ของรัฐ
คณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งสมาชิกวุฒิสภามิได้มาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมอีกต่อไป แต่จะมาจากการแต่งตั้งโดยตรงจากประมุขแห่งรัฐ โดยมีหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ก่อนรัฐประหาร อายุต่ำสุดของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกำหนดไว้ 23 ปี แต่ตามรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารกำหนดไว้เป็น 35 ปี ซึ่งเท่ากับอายุต่ำสุดของผู้สมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ก็ใช้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะต่อมาประเทศไทยก็ถูกปกครองโดยรัฐธรรมนูญฟาสซิสต์กึ่งฟาสซิสต์ และฟาสซิสต์ใหม่ ๆ ฯลฯ อีกหลายฉบับ ยิ่งกว่านั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังลิดรอนเสรีภาพทางการเมืองหลายประการ
รัฐบาลใหม่ประกอบด้วยพวกอนุรักษนิยมขวาจัดเป็นส่วนใหญ่แต่ต่อมาไม่กี่เดือน ทหารก็จี้ให้ รัฐบาลชุดนี้ลาออก และจอมพล พิบูลฯ ก็เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
คืนวันเดียวกับที่เกิดรัฐประหาร ข้าพเจ้าได้หลบหนีทหารที่ล้อมรอบบ้านพักออกไปได้อย่างหวุดหวิด และข้าพเจ้าได้ไปพักอยู่กับเพื่อนทหารเรือที่ฐานทัพเรือสัตหีบอยู่ระยะเวลาหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รบระหว่างคนไทยด้วยกันเอง ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองไทย เพื่อลี้ภัยไปอยู่ในสิงคโปร์ก่อน โดยรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนอย่างสันติ
ข้าพเจ้าพร้อมด้วยเพื่อนเดินทางได้ไปพบนาวาเอก สแตรทฟอร์ด เดนนิส ซึ่งเคยร่วมต่อสู้ระหว่างสงครามภายใต้การนำของลอร์ดเมาน์ทแบทเตน และ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ เพื่อขอให้ติดต่อกับทูตอังกฤษ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความประสงค์ของข้าพเจ้าในการเดินทางไปสิงคโปร์ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง เดนนิสและนาวาเอก การ์เดส ผู้ช่วยทูต ฝ่ายทหารเรืออเมริกันได้ร่วมมือกันนำข้าพเจ้าออกจากท่าเรือกรุงเทพฯ จนกระทั่งออกไปยังทะเลลึกโดยเรือยนต์ของการ์เดส ซึ่งนำทางโดยการ์เดสเอง พร้อมด้วย
ภรรยาและน้องภรรยา ต่อมาเราก็ลงเรือบรรทุกน้ำมันของอังกฤษมุ่งหน้าไปยังสิงคโปร์ กัปตันเรือบรรทุกน้ำมันและเจ้าหน้าที่ประจำเรือได้ต้อนรับเราอย่างอบอุ่น และ อำนวยความสะดวกอย่างดียิ่ง
ขณะนั้นสิงคโปร์เป็นอาณานิคมของอังกฤษ แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะให้สิทธิแก่ข้าพเจ้าในการลี้ภัยทางการเมือง ข้าพเจ้าก็ทราบดีว่า สิทธิอันนั้นจะมีอยู่ตราบเท่าจนกว่าอังกฤษรับรองระบอบปกครองใหม่ของสยามเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงขอให้สถานเอกอัครราชทูตสยามประจำกรุงลอนดอน และนานกิง (ซึ่งไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลใหม่) ออกหนังสือเดินทางการทูตพร้อมด้วยวีซ่าแก่ข้าพเจ้า เพื่ออนุญาตให้ข้าพเจ้าเดินทางไปยังประเทศอื่นได้ เอกอัครราชทูตทั้งสองยินดีทำตามที่ข้าพเจ้าขอไป ข้าพเจ้าจึงได้รับวีซ่าทางการทูตจากสถานทูตจีน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ฯลฯ
ข้าพเจ้าพักอยู่ที่สิงคโปร์เป็นเวลา 7 เดือน เพื่อรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการกลับสู่สยาม ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวว่ามิตรของข้าพเจ้าจำนวนหนึ่งกำลังเตรียมก่อการต่อ ต้านรัฐบาลของคณะรัฐประหารอย่างลับ ๆ ซึ่งต้องใช้เวลาเตรียมการพอสมควร ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเดินทางออกจากสิงคโปร์ไปยังประเทศอื่น ๆ ในระหว่างนั้น
ปลายเดือนพฤษภาคมพ.ศ. 2491 ข้าพเจ้าเดินทางออกจากสิงคโปร์ไปยังฮ่องกง ซึ่งบรรดามิตรชาวไทยของข้าพเจ้า และกงสุลใหญ่ของสยามเวลานั้นได้ให้การต้อนรับอย่างดีจากฮ่องกง เราเดินทางต่อไปยังเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเพื่อนชาวจีนที่เกิดในสยาม และเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสยามประจำนานกิงบางคนได้ต้อนรับเรา
นายสงวน ตุลารักษ์ อดีตเอกอัครราชทูตสยามประจำนานกิงและตัวข้าพเจ้าได้ไปพบเอกอัครรัฐทูตเม็กชิโกเพื่อขอวีซ่า ซึ่งเขาประทับตราให้โดยไม่มีปัญหาเลย
เราคิดกันว่าจะเดินทางไปเม็กซิโกโดยแวะผ่านซานฟรานซิสโก ขณะที่เรากำลังยื่นหนังสือเดินทางแก่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของจีนอยู่นั้น ได้มีชาวอเมริกันหนุ่มคนหนึ่งชื่อนอร์แมน ฮันนาห์[3] ซึ่งเป็นรองกงสุลสหรัฐอเมริกาประจำเซี่ยงไฮ้ ได้ตรงเข้ามากระชากหนังสือเดินทางของข้าพเจ้าจากมือเจ้าหน้าที่จีนผู้นั้น และ ได้ขีดฆ่าวีซ่าอเมริกัน ซึ่งสถานเอกอัครรัฐทูตสหรัฐฯ ประจำลอนดอนเป็นผู้ออกให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงประจักษ์แก่ตัวเองว่า รองกงสุลหนุ่มอเมริกันผู้นี้ ช่างมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ของจีนและแม้กระทั่งเอกอัครรัฐทูตอเมริกันเอง (ต่อมาข้าพเจ้าได้ทราบว่า รองกงสุลผู้นี้เป็นสายลับของซี. ไอ. เอ.) นอกจากนั้น ข้าพเจ้าก็ยังได้เข้าใจอีกว่า เหรียญอิสริยาภรณ์และคำประกาศเกียรติคุณกี่รัฐบาลอเมริกันมอบให้แก่ข้าพเจ้านั้น ไม่มีค่าอันใดเลย เพราะข้าพเจ้ากลับถูกมองว่าเป็นอาชญากรเสียด้วยซ้ำ อันเป็นข้อกล่าวหาที่สร้างขึ้นโดยผู้ที่ป็นศัตรูระหว่างสงครามของสหรัฐเอง (ซึ่งก็คือ จอมพล พิบูลฯ) ทั้งนี้โดยการปฏิเสธไม่ให้ข้าพเจ้าแวะผ่านบนผืนแผ่นดินอเมริกัน แม้จะเป็น เวลาไม่กี่ชั่วโมง
ชาวอเมริกันที่เซี่ยงไฮ้พยายามติดต่อกับข้าพเจ้า เพื่อชี้แจงเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่ ข้าพเจ้าไม่ยอมให้พบ วันหนึ่งเพื่อนชาวอเมริกันคนหนึ่ง ซึ่งเคยทำงานร่วมกับ ข้าพเจ้า เมื่อคราวต่อต้านญี่ปุ่น ได้เชิญชวนข้าพเจ้าไปรับประทานอาหารกลางวันกับเขาในฐานะเพื่อน ข้าพเจ้าประหลาดใจที่ได้พบกงสุลใหญ่อเมริกัน ซึ่งได้เข้ามาแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์เกี่ยวกับวีซ่าครั้งนั้น และแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า นายพล ยอร์ช มาร์แชล รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกันได้สั่งให้ประทับวีซ่ากลับคืนในหนังสือเดินทางของข้าพเจ้า
ต่อมาไม่นาน นอร์แมน ฮันนาห์ อดีตรองกงสุลอเมริกันก็ได้ย้ายไปประจำกรุงเทพฯ องค์การซี. ไอ. เอ. นี้เอง ที่เป็นผู้สนับสนุนให้ตำรวจสันติบาลไทยจับกุมภรรยาและบุตรชายคนโตของข้าพเจ้า ภรรยาของข้าพเจ้าถูก “ควบคุมตัว” ที่สันติบาลเป็นเวลา 84 วัน
ส่วนปาลบุตรชายคนโต ซึ่งขณะนั้นอายุ 20 ปี ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี โดยอ้างข้อหาว่าเป็นกบฎภายในราชอาณาจักร ปาลได้รับการปล่อยตัวตามกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อคราวครบรอบกึ่งพุทธกาล พ.ศ. 2500
ฮันนาห์ได้ย้ายไปประจำที่อัฟกานิสถานชั่วระยะเวลาสั้น ๆ ต่อมาก็กลับมาประจำกรุงเทพฯ ในฐานะที่ปรึกษาสถานทูตอเมริกัน วันหนึ่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสได้มอบสำเนารายงานซึ่งเขียนโดยฮันนาห์ เกี่ยวกั เหตุการณ์เรื่องวีซ่าครั้งนั้นแก่ข้าพเจ้า รายงานฉบับนั้นเต็มไปด้วยคำโกหกมดเท็จมากมาย
ฮันนาห์ เขียนเล่าในตอนหนึ่งว่า หลังจากขีดวีซ่าอเมริกันบนหนังสือเดินทางของข้าพเจ้าแล้ว เขาก็เดินทางมาพบข้าพเจ้าที่โรงแรม ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้ต้อนรับเขาอย่างฉันมิตร และเราก็รับประทานอาหารร่วมกันข้าพเจ้าสาบานได้ว่าไม่เคยพบหน้าฮันนาห์อีก เลยตั้งแต่วันเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น
ต่อมา เมื่อพ.ศ. 2513 ข้าพเจ้าได้ข่าวว่า ฮันนาห์ได้พ้นจากตำแหน่งในกรุงเทพฯ เพื่อเดินทางกลับไปสหรัฐอเมริกาแล้ว ข้าพเจ้าไม่ได้มีความโกรธเคืองนายฮันนาห์ เป็นการส่วนตัว เพียงแต่อยากให้ผู้เสียภาษีชาวอเมริกันตระหนักว่าเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของพวกสายลับซี. ไอ. เอ. นั้น บางทีก็สูญเสียไปกับรายงานที่บิดเบือน ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจที่เป็นผลเสียแก่ชาวอเมริกันเอง
เมื่อเจียง ไคเช็คได้รับแจ้งเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่สนามบินเซี่ยงไฮ้แล้ว ก็ได้แสดงความปรารถนาจะให้ข้าพเจ้าพำนักอยู่ในจีนโดยยืนยันกับข้าพเจ้าว่าไม่เคยลืมคุณูปการของข้าพเจ้าที่มีต่อสัมพันธมิตรระหว่างสงคราม และ เขาจะไม่ส่งข้าพเจ้าข้ามแดนกลับไป เนื่องจากเขาจำได้ดีว่ารัฐบาลจอมพลพิบูลฯ ได้ปฏิบัติต่อประเทศจีนด้วยความไม่ซื่อสัตย์และปราศจากความละอายใจ ในการนี้เขาได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่ข้าพเจ้าระหว่างพำนักอยู่ในจีน
วันที่ 13 ตุลาคม ในปีเดียวกัน ข้าพเจ้าก็ได้ข่าวว่า รัฐบาลจอมพล พิบูลฯ ได้จับกุม นายทหารและนักการเมืองหลายคน ซึ่งวางแผนจะก่อการยึดอำนาจจากรัฐบาลในวันรุ่งขึ้น แต่สมาชิกของกลุ่มคนหนึ่งเกิดทรยศหักหลังพรรคพวกขึ้นมาขบวนการต่อสู้ครั้งนั้นโดยพลตรีเนตร เขมะโยธิน (ยศในขณะนั้น) นักเรียนเก่าโรงเรียนเสนาธิการชั้นสูงแห่งฝรั่งเศส ซึ่งเคยเป็นสมาชิก “ขบวนการเสรีไทย” ระหว่างสงคราม และเพื่อนสนิทของข้าพเจ้าจำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมขบวนการต่อสู้ครั้งนี้ การพยายามก่อกบฎครั้งนี้เรียกชื่อว่า “กบฏ 1 ตุลาคม 2491”
ส่วนคนที่สามารถหลบหนีการจับกุม ได้ส่งตัวแทนของเขามาพบข้าพเจ้า เพื่อวางแผนก่อการอภิวัฒน์โค่นรัฐบาลปฏิกิริยาอีกครั้งหนึ่ง เราได้ตกลงกันว่า จะให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำการก่อการอีกครั้งหนึ่ง โดยร่วมมือกับเพื่อน ๆ ทหารเรือ นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ผู้รักชาติ ประชาธิปไตยและทหาร ตำรวจผู้รักชาติ รวมทั้งบรรดาแม่ทัพเรือ และ นายพลคนหนึ่งซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าเสนาธิการกองทัพบก และถูกคณะรัฐประหารปลดออกจากตำแหน่ง
“เมื่อมิตรของข้าพเจ้าที่เมืองไทยแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า โอกาสอำนวยแล้ว เราจึงเช่าเรือขนาด 20 ตัน เพื่อ เดินทางอย่างลับ ๆ ออกจากฝั่งทะเลจีนไปยังตะวันออกของอ่าวสยาม…”
ทัศนะของปรีดี พนมยงค์ต่อการรัฐประหาร 2490 และความเป็นโมฆะของรัฐธรรมนูญฉะบับชั่วคราว 2490
-1-
(ก) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ยังทรงดํารงฐานะเป็นพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งทรงมีพระราชอํานาจทําการแทนปวงชนชาวสยามได้ โดยไม่ต้องมีผู้รับอํานาจจากราษฎรรับสนองพระบรมราชโองการนั้น พระองค์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราวฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ระบบปกครองนั้นจึงถูกต้องสมบูรณ์ทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย
ธรรมนูญฉบับนั้นได้กําหนดวิธีตราพระราชบัญญัติไว้ ซึ่งการแก้ไขธรรมนูญการปกครองแผ่นดินก็จะต้องดําเนินตามวิธีการที่ธรรมนูญนั้นได้กําหนดไว้ มิใช่จะทําโดยพละการของบุคคลใดคณะใดที่ฝ่าฝืนวิธีการตามธรรมนูญฉบับนั้น
(ข) ต่อมารัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งอนุกรรมการของสภาผู้แทนราษฎรที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ได้ร่างขึ้นโดยร่วมมือกับพระองค์นั้น สภาฯได้ลงมติให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้
(ค) ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 รัชกาลที่ 8 ได้ทรงตรารัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคมโดยใช้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคมนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ตราขึ้นโดยถูกต้องตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม ทุกประการ ดังนั้น ระบบการเมืองประชาธิปไตยที่ได้สถาปนาขึ้นโดยรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 จึงเป็นระบบประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามวิถีทางรัฐธรรมนูญที่บัญญัติขึ้นโดยสืบต่อมาจากธรรมนูญการปกครองฉบับ 27 มิถุนายน 2475 และรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475
-2-
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ได้มีบุคคลคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะรัฐประหาร” ได้ยึดอํานาจรัฐล้มระบบประชาธิปไตยที่สถาปนาขึ้นอย่างถูกต้องตามวิถีทางรัฐธรรมนูญดังกล่าวใน (1) ข้างบนนั้น ต่อมาในวันที่ 9 เดือนนั้นคณะบุคคลดังกล่าวก็ได้สถาปนาระบบรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีสมญาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม”
ซึ่งนอกจากมิใช่ระบบการเมืองประชาธิปไตยตามวิถีทางรัฐธรรมนูญโดยชอบตามที่ได้กล่าวใน (1) นั้นแล้ว หากระบบรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารทําขึ้นเองนั้น ก็มิใช่เป็นระบบปกครองที่สมบูรณ์ในตัวของรัฐธรรมนูญนั้นเองด้วย ดังจะเห็นได้ดังต่อไปนี้
(ก) ขอให้นักวิชาการแท้จริงดูต้นฉบับรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มนั้น ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งสํานักพิมพ์ “นิติเวชช์” รวบรวมโดย ร.ต.ท. เสถียร วิชัยลักษณ์ เนติบัณฑิตไทย และรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต กับ พ.ต.ท. สืบวงศ์ วิชัยลักษณ์ นิติศาสตร์บัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นํามาลงพิมพ์ไว้ในหนังสือชื่อ “รวมรัฐธรรมนูญ” อย่างตรงไปตรงมา มิได้มีการตัดตอนบิดเบือนให้ผิดไปจากต้นฉบับราชกิจจานุเบกษา ปรากฏชัดแจ้งในตอนต้นของรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มที่ปรีดีฯ ถ่ายภาพมาพิมพ์ไว้ ดังต่อไปนี้
ผู้นิยมประชาธิปไตยสมัยนั้น แม้มิใช่อาจารย์หรือนักศึกษากฎหมายก็ตาม แต่เมื่อได้เห็นหัวรัฐธรรมนูญมีความปรากฏดังนั้น ก็ใช้สามัญสํานึกได้ทันทีว่า หัวเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เขียนตําแหน่งผู้ลงนามในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “คณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” ซึ่งในภาษาไทยคําว่า “คณะ” หมายถึงบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป แต่เหตุใดจึงมีผู้ลงนามเพียงคนเดียว คือ “รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร”
ส่วนหลายคนที่มีจิตใจสังเกตก็แสดงความเห็นว่า เมื่อก่อนหน้าวันที่ 8 พฤศจิกายนนั้น เคยได้ฟังวิทยุกรมโฆษณาอ่านประกาศกฎหมายหลายฉบับ คือ เมื่ออ่านคําว่า “คณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” แล้วก็อ่านต่อไปถึงชื่อคณะนั้นที่ลงนาม ซึ่งผู้ลงนาม 2 ท่าน คือ “รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร” และ “มานวราชเสวี” (พระยามานวราชเสวี) แสดงว่า คณะนั้นประกอบด้วยบุคคล 2 คน ฉะนั้น ผู้ใช้ความสังเกตจึงเห็นได้ทันทีว่า รัฐธรรมนูญ (ฉบับใต้ตุ่ม) ดังกล่าวเริ่มแสดงถึงการเป็นโมฆะตั้งแต่หัวเรื่องของรัฐธรรมนูญฉบับนั้น
ส่วนนักวิชาการแท้จริงสมัยนั้นก็ได้ค้นคว้าเอกสารหลักฐานแท้จริง แทนที่จะถือเอาคําบอกเล่าเป็นหลักวิชาการนั้น ก็พบประกาศในราชกิจจานุเบกษาและวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลที่ได้ลงและแจ้งประกาศตั้งคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขณะยังทรงพระเยาว์ ตามประกาศลงวันที่ 16 มิถุนายน 2489 มีความดังต่อไปนี้
“โดยที่รัฐสภาอาศัยร่างตามความในมาตรา 10 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้ปรึกษากันเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2489 และลงมติตั้งคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ประกอบด้วย
1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นประธาน
2. พระยามานวราชเสวี
โดยมีข้อตกลงว่า ในการลงนามในเอกสารราชการนั้น ให้ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสองเป็นผู้ลงนาม จึงขอประกาศ ให้ทราบทั่วกัน
ประกาศ ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2489
วิลาศ โอสถานนท์
ประธานรัฐสภา”
ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มซึ่งกรมขุนชัยนาทฯ องค์เดียวเป็นผู้ลงนาม จึงเป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนต่อข้อกําหนดในประกาศแต่งตั้ง “คณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” ฉบับวันที่ 16 มิถุนายน 2489
ส่วนระบบการเมืองและรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 และฉบับต่อ ๆ มา อาทิ ฉบับ 2517 ที่ถือเอาฉบับ 2492 เป็นแม่บทนั้น จึงเป็นโมฆะ และองค์การใดที่กําลังเรียกร้องให้มีรัฐธรมนูญโดยถือเอาฉบับ 2517 เป็นแม่บทนั้น จึงชักจูงให้บุคคลทําสิ่งที่เป็นโมฆะ
ข้อสังเกต
มีหนังสือบางเล่มที่พิมพ์รัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ จําหน่ายได้จัดทําหัวเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มโดยพลการ ซึ่งขัดต่อราชกิจจาฯ เล่มที่ปรีดีฯ อ้างไว้อาทิ บางเล่มได้ตัดคําว่า “คณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” ออกไป คงมีแต่ชื่อ “รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร” เป็นผู้ลงนาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่า กรมขุนชัยนาทฯ ลงนามในฐานะใด ซึ่งต่างกับที่เคยปฏิบัติมาว่า ผู้ลงนามในหัวเรื่องบทกฎหมายใด ๆ นั้น ให้แจ้งว่า “ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...” และถ้าผู้สําเร็จราชการหลายคนก็แจ้งว่า “คณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์” ถ้าในกรณีที่แต่งตั้งผู้สําเร็จราชการฯ ไว้คนเดียว ผู้ลงนามก็บอกตําแหน่งของตนว่า “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”
ฉะนั้น ขอให้นิสิตนักศึกษาที่ศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น ใช้ความรอบคอบตรวจดูให้ถี่ถ้วนว่า ในกรณีที่มีคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้สําเร็จฯ ได้ลงนามครบถ้วนตามข้อกําหนดในประกาศแต่งตั้งหรือไม่ ไม่ควรศึกษาแต่เพียง “ย่อรัฐธรรมนูญ” เพื่อสะดวกในการสอบไล่เท่านั้น
(ข) ในตอนท้ายแห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ 9 พฤศจิกายน 2490 (ฉบับใต้ตุ่ม) นั้น ปรากฏความดังต่อไปนี้
ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย
9 พฤศจิกายน 2490”
นิสิตนักศึกษาและสามัญชน ที่แม้มิใช่นักวิชาการ ก็เห็นได้โดยไม่ยากว่า “ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย” เป็นตําแหน่งที่คณะรัฐประหารตั้งให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งผิดต่อกฎหมาย และผู้นั้นไม่มีอํานาจตามกฎหมายที่จะลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ดังนั้น นอกจากรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มเป็นโมฆะตามที่ได้กล่าวใน (ก) ข้างบนนั้นแล้ว ก็ยังเป็นโมฆะอีกสถานหนึ่ง เพราะผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการไม่มีอํานาจหรือสิทธิใด ๆ ตามกฎหมายที่จะทําเช่นนั้นได้
(ค) ขอให้นิสิตนักศึกษาที่มีปัญญาประกอบด้วยสติโปรดพิจารณาว่า การที่บุคคลหลายคนได้ร่วมมือกันทํารัฐประหารทําลายระบบปกครองประชาธิปไตยที่สถาปนาโดยระบบรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 นั้นได้ทําการที่เข้าลักษณะเป็น “กบฏ” หรือไม่ และกฎหมายนิรโทษกรรมที่ได้ตราขึ้นโดยรัฐสภาที่ตั้งขึ้น ตามรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มนั้น ถือว่าถูกต้องในทางนิตินัยตามวิถีทางรัฐธรรมนูญหรือไม่
-3-
ปรีดีฯ ได้รวบรวมนักประชาธิปไตยจํานวนหนึ่งที่เห็นว่า ถึงเวลาสมควรแล้วที่จะลงมือใช้กําลังอาวุธต่อสู้คณะรัฐประหารกับพวกที่ทําลายระบบปกครองประชาธิปไตยที่สถาปนาขึ้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489
ปรีดีฯ จึงเดินทางกลับประเทศไทยเป็นการลับ และนําการต่อสู้ฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ซึ่งขณะนั้นระบบปกครองของประเทศเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 9 พฤศจิกายน 2490 (ฉบับใต้ตุ่มที่เป็นโมฆะ)
วัตถุประสงค์ของขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 ได้แถลงเมื่อขบวนการได้ยึดสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้ว่า ขบวนการนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นระบบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489
ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ จึงมิใช่กบฏต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย จึงไม่ควรที่ผู้รณรงค์เพื่อความเป็นประชาธิปไตยจะสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มและระบบต่าง ๆ ที่สืบเนื่องจากระบบใต้ตุ่ม โดยใส่ความว่า ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 เป็นกบถวังหลวง
ข้อสังเกต
ในการต่อสู้ระหว่างขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 กับขบวนปรปักษ์ประชาธิปไตยเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2492 นั้น ในหลวงมิได้ประทับอยู่ในประเทศไทย ฉะนั้น การยึดวังหลวงชั่วคราวจึงไม่มีภยันตรายต่อพระมหากษัตริย์
หมายเหตุ :
- มีการแก้ไขวรรคตอนโดยกองบรรณาธิการ
บรรณานุกรม
- ปรีดี พนมยงค์ “รัฐประหารปฏิกิริยาและการลี้ภัยครั้งแรกไปยังสิงคโปร์และจีน” ใน “ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน”
- ปรีดี พนมยงค์, (12 พฤศจิกายน 2563), ความเป็นโมฆะของรัฐธรรมนูญฉบับ 2490. เว็บไซต์ https://pridi.or.th/th/content/2020/11/499