ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

การลี้ภัยหลังรัฐประหาร 2490

7
กุมภาพันธ์
2564

 

ภาพเหตุการณ์รัฐประหาร 2490 : FB ห้องวิจัยประวัติศาสตร์
ภาพเหตุการณ์รัฐประหาร 2490 : FB ห้องวิจัยประวัติศาสตร์

 

เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เกิดการรัฐประหารของฝ่ายทหาร โดยการสนับสนุนของพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัด และพวกคลั่งชาติ โค่นล้มรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคพวกของข้าพเจ้า พวกเขาได้บุกเข้าไปในบ้าน เพื่อจะทำลายชีวิตข้าพเจ้ารวมทั้งภรรยา

และบุตรเล็ก ๆ หาว่าข้าพเจ้าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในกรณีสวรรคตฯ จอมพลพิบูลฯ ซึ่งถูกปล่อยก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือน เพราะกฎหมายอาชญากรสงครามไม่มีผลย้อนหลังมาใช้บังคับ ก็ได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ให้เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย ทำให้มีอำนาจควบคุมเจ้าหน้าที่ของรัฐ คณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งสมาชิกวุฒิสภามิได้มาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมอีกต่อไป แต่จะมาจากการแต่งตั้งโดยตรงจากประมุขแห่งรัฐ โดยมีหัวหน้าคณะรัฐประ หารเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ก่อนรัฐประหาร อายุต่ำสุดของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกำหนดไว้ 23 ปี แต่ตามรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารกำหนดไว้เป็น 35 ปี ซึ่งเท่ากับอายุต่ำสุดของผู้สมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ก็ใช้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะต่อมาประเทศไทยก็ถูกปกครองโดยรัฐธรรมนูญฟาสซิสต์กึ่งฟาสซิสต์ และฟาสซิสต์ใหม่ ๆ ฯลฯ อีกหลายฉบับ ยิ่งกว่านั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังลิดรอนเสรีภาพทางการเมืองหลายประการ

รัฐบาลใหม่ประกอบด้วยพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัดเป็นส่วนใหญ่แต่ต่อมาไม่กี่เดือน ทหารก็จี้ให้ รัฐบาลชุดนี้ลาออก และจอมพลพิบูลฯ ก็เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

 

ภาพ : เส้นทางที่นายปรีดี พนมยงค์ใช้เดินทางออกจากสยาม
ภาพ : เส้นทางที่นายปรีดี พนมยงค์ใช้เดินทางออกจากสยาม

 

คืนวันเดียวกับที่เกิดรัฐประหาร ข้าพเจ้าได้หลบหนีทหารที่ล้อมรอบบ้านพักออกไปได้อย่างหวุดหวิด และข้าพเจ้าได้ไปพักอยู่กับเพื่อนทหารเรือที่ฐานทัพเรือสัตหีบอยู่ระยะเวลาหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รบระหว่างคนไทยด้วยกันเอง ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองไทย เพื่อลี้ภัยไปอยู่ในสิงคโปร์ก่อน โดยรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนอย่างสันติ

 

เรือที่นายปรีดี พนมยงค์ ใช้หลบหนี
เรือที่นายปรีดี พนมยงค์ ใช้หลบหนี

 

ข้าพเจ้าพร้อมด้วยเพื่อนเดินทางได้ไปพบนาวาเอก สแตรทฟอร์ด เดนนิส[1] ซึ่งเคยร่วมต่อสู้ระหว่างสงครามภายใต้การนำของลอร์ดเมาน์ทแบทเตน และ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ เพื่อขอให้ติดต่อกับทูตอังกฤษ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความประสงค์ของข้าพเจ้าในการเดินทางไปสิงคโปร์ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง เดนนิสและนาวาเอก การ์เดส[2] ผู้ช่วยทูต ฝ่ายทหารเรืออเมริกันได้ร่วมมือกันนำข้าพเจ้าออกจากท่าเรือกรุงเทพฯ จนกระทั่งออกไปยังทะเลลึกโดยเรือยนต์ของการ์เดส ซึ่งนำทางโดยการ์เดสเอง พร้อมด้วย

ภรรยาและน้องภรรยา ต่อมาเราก็ลงเรือบรรทุกน้ำมันของอังกฤษมุ่งหน้าไปยังสิงคโปร์ กัปตันเรือบรรทุกน้ำมันและเจ้าหน้าที่ประจำเรือได้ต้อนรับเราอย่างอบอุ่น และ อำนวยความสะดวกอย่างดียิ่ง

ขณะนั้นสิงคโปร์เป็นอาณานิคมของอังกฤษ แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะให้สิทธิแก่ข้าพเจ้าในการลี้ภัยทางการเมือง ข้าพเจ้าก็ทราบดีว่า สิทธิอันนั้นจะมีอยู่ตราบเท่าจนกว่าอังกฤษรับรองระบอบปกครองใหม่ของสยามเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงขอให้สถานเอกอัครราชทูตสยามประจำกรุงลอนดอน และนานกิง (ซึ่งไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลใหม่) ออกหนังสือเดินทางการทูตพร้อมด้วยวีซ่าแก่ข้าพเจ้า เพื่ออนุญาตให้ข้าพเจ้าเดินทางไปยังประเทศอื่นได้ เอกอัครราชทูตทั้งสองยินดีทำตามที่ข้าพเจ้าขอไป ข้าพเจ้าจึงได้รับวีซ่าทางการทูตจากสถานทูตจีน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ฯลฯ

 

ภาพถ่ายของนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้งลี้ภัยไปยังสิงคโปร์ หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2490
ภาพถ่ายของนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้งลี้ภัยไปยังสิงคโปร์
หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2490

 

ข้าพเจ้าพักอยู่ที่สิงคโปร์เป็นเวลา 7 เดือน เพื่อรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการกลับสู่สยาม ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวว่ามิตรของข้าพเจ้าจำนวนหนึ่งกำลังเตรียมก่อการต่อ ต้านรัฐบาลของคณะรัฐประหารอย่างลับ ๆ ซึ่งต้องใช้เวลาเตรียมการพอสมควร ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเดินทางออกจากสิงคโปร์ไปยังประเทศอื่น ๆ ในระหว่างนั้น

ปลายเดือนพฤษภาคมพ.ศ. 2491 ข้าพเจ้าเดินทางออกจากสิงคโปร์ไปยังฮ่องกง ซึ่งบรรดามิตรชาวไทยของข้าพเจ้า และกงสุลใหญ่ของสยามเวลานั้นได้ให้การต้อนรับอย่างดีจากฮ่องกง เราเดินทางต่อไปยังเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเพื่อนชาวจีนที่เกิดในสยาม และเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสยามประจำนานกิงบางคนได้ต้อนรับเรา

 

สงวน ตุลารักษ์ (18 มิถุนายน พ.ศ. 2445 — 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2538)
สงวน ตุลารักษ์ (18 มิถุนายน พ.ศ. 2445 — 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2538)

 

นายสงวน ตุลารักษ์ อดีตเอกอัครราชทูตสยามประจำนานกิงและตัวข้าพเจ้าได้ไปพบเอกอัครรัฐทูตเม็กชิโกเพื่อขอวีซ่า ซึ่งเขาประทับตราให้โดยไม่มีปัญหาเลย

เราคิดกันว่าจะเดินทางไปเม็กซิโกโดยแวะผ่านซานฟรานซิสโก ขณะที่เรากำลังยื่นหนังสือเดินทางแก่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของจีนอยู่นั้น ได้มีชาวอเมริกันหนุ่มคนหนึ่งชื่อนอร์แมน ฮันนาห์[3] ซึ่งเป็นรองกงสุลสหรัฐอเมริกาประจำเซี่ยงไฮ้ ได้ตรงเข้ามากระชากหนังสือเดินทางของข้าพเจ้าจากมือเจ้าหน้าที่จีนผู้นั้น และ ได้ขีดฆ่าวีซ่าอเมริกัน ซึ่งสถานเอกอัครรัฐทูตสหรัฐประจำลอนดอนเป็นผู้ออกให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงประจักษ์แก่ตัวเองว่า รองกงสุลหนุ่มอเมริกันผู้นี้ ช่างมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ของจีนและแม้กระทั่งเอกอัครรัฐทูตอเมริกันเอง (ต่อมาข้าพเจ้าได้ทราบว่า รองกงสุลผู้นี้เป็นสายลับของซี. ไอ. เอ.) นอกจากนั้น ข้าพเจ้าก็ยังได้เข้าใจอีกว่า เหรียญอิสริยาภรณ์และคำประกาศเกียรติคุณกี่รัฐบาลอเมริกันมอบให้แก่ข้าพเจ้านั้น ไม่มีค่าอันใดเลย เพราะข้าพเจ้ากลับถูกมองว่าเป็นอาชญากรเสียด้วยซ้ำ อันเป็นข้อกล่าวหาที่สร้างขึ้นโดยผู้ที่ป็นศัตรูระหว่างสงครามของสหรัฐเอง (ซึ่งก็คือ จอมพลพิบูลฯ) ทั้งนี้โดยการปฏิเสธไม่ให้ข้าพเจ้าแวะผ่านบนผืนแผ่นดินอเมริกัน แม้จะเป็น เวลาไม่กี่ชั่วโมง

ชาวอเมริกันที่เซี่ยงไฮ้พยายามติดต่อกับข้าพเจ้า เพื่อชี้แจงเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่ ข้าพเจ้าไม่ยอมให้พบ วันหนึ่งเพื่อนชาวอเมริกันคนหนึ่ง ซึ่งเคยทำงานร่วมกับ   ข้าพเจ้า เมื่อคราวต่อต้านญี่ปุ่น ได้เชิญชวนข้าพเจ้าไปรับประทานอาหารกลางวันกับเขาในฐานะเพื่อน ข้าพเจ้าประหลาดใจที่ได้พบกงสุลใหญ่อเมริกัน ซึ่งได้เข้ามาแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์เกี่ยวกับวีซ่าครั้งนั้น และแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า นายพล ยอร์ช มาร์แชล รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกันได้สั่งให้ประทับวีซ่ากลับคืนในหนังสือเดินทางของข้าพเจ้า

ต่อมาไม่นาน นอร์แมน ฮันนาห์ อดีตรองกงสุลอเมริกันก็ได้ย้ายไปประจำกรุงเทพฯ องค์การซี. ไอ. เอ. นี้เอง ที่เป็นผู้สนับสนุนให้ตำรวจสันติบาลไทยจับกุมภรรยาและบุตรชายคนโตของข้าพเจ้า ภรรยาของข้าพเจ้าถูก “ควบคุมตัว” ที่สันติบาลเป็นเวลา 84 วัน ส่วนปาลบุตรชายคนโต ซึ่งขณะนั้นอายุ 20 ปี ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี โดยอ้างข้อหาว่าเป็นกบฎภายในราชอาณาจักร ปาลได้รับการปล่อยตัวตามกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อคราวครบรอบกึ่งพุทธกาลพ.ศ. 2500

ฮันนาห์ได้ย้ายไปประจำที่อัฟกานิสถานชั่วระยะเวลาสั้น ๆ ต่อมาก็กลับมาประจำกรุงเทพฯ ในฐานะที่ปรึกษาสถานทูตอเมริกัน วันหนึ่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสได้มอบสำเนารายงานซึ่งเขียนโดยฮันนาห์ เกี่ยวกับ เหตุการณ์เรื่องวีซ่าครั้งนั้นแก่ข้าพเจ้า รายงานฉบับนั้นเต็มไปด้วยคำโกหกมดเท็จมากมาย ฮันนาห์ เขียนเล่าในตอนหนึ่งว่า หลังจากขีดวีซ่าอเมริกันบนหนังสือเดินทางของข้าพเจ้าแล้ว เขาก็เดินทางมาพบข้าพเจ้าที่โรงแรม ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้ต้อนรับเขาอย่างฉันมิตร และเราก็รับประทานอาหารร่วมกันข้าพเจ้าสาบานได้ว่าไม่เคยพบหน้าฮันนาห์อีก เลยตั้งแต่วันเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น

ต่อมา เมื่อพ.ศ. 2513 ข้าพเจ้าได้ข่าวว่า ฮันนาห์ได้พ้นจากตำแหน่งในกรุงเทพฯ เพื่อเดินทางกลับไปสหรัฐอเมริกาแล้ว ข้าพเจ้าไม่ได้มีความโกรธเคืองนายฮันนาห์ เป็นการส่วนตัว เพียงแต่อยากให้ผู้เสียภาษีชาวอเมริกันตระหนักว่าเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของพวกสายลับซี. ไอ. เอ. นั้น บางทีก็สูญเสียไปกับรายงานที่บิดเบือน ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจที่เป็นผลเสียแก่ชาวอเมริกันเอง

เมื่อเจียงไคเช็คได้รับแจ้งเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่สนามบินเซี่ยงไฮ้แล้ว ก็ได้แสดงความปรารถนาจะให้ข้าพเจ้าพำนักอยู่ในจีนโดยยืนยันกับข้าพเจ้าว่าไม่เคยลืมคุณูปการของข้าพเจ้าที่มีต่อสัมพันธมิตรระหว่างสงคราม และ เขาจะไม่ส่งข้าพเจ้าข้ามแดนกลับไป เนื่องจากเขาจำได้ดีว่ารัฐบาลจอมพลพิบูลฯ ได้ปฏิบัติต่อประเทศจีนด้วยความไม่ซื่อสัตย์และปราศจากความละอายใจ ในการนี้เขาได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่ข้าพเจ้าระหว่างพำนักอยู่ในจีน

วันที่ 13 ตุลาคม ในปีเดียวกัน ข้าพเจ้าก็ได้ข่าวว่า รัฐบาลจอมพลพิบูลฯ ได้จับกุม นายทหารและนักการเมืองหลายคน ซึ่งวางแผนจะก่อการยึดอำนาจจากรัฐบาลในวันรุ่งขึ้น แต่สมาชิกของกลุ่มคนหนึ่งเกิดทรยศหักหลังพรรคพวกขึ้นมาขบวนการต่อสู้ครั้งนั้นโดยพลตรีเนตร เขมะโยธิน (ยศในขณะนั้น) นักเรียนเก่าโรงเรียนเสนาธิการชั้นสูงแห่งฝรั่งเศส ซึ่งเคยเป็นสมาชิก “ขบวนการเสรีไทย” ระหว่างสงคราม และเพื่อนสนิทของข้าพเจ้าจำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมขบวนการต่อสู้ครั้งนี้ การพยายามก่อกบฎครั้งนี้เรียกชื่อว่า “กบฏ 1 ตุลาคม 2491”

ส่วนคนที่สามารถหลบหนีการจับกุม ได้ส่งตัวแทนของเขามาพบข้าพเจ้า เพื่อวางแผนก่อการอภิวัฒน์โค่นรัฐบาลปฏิกิริยาอีกครั้งหนึ่ง เราได้ตกลงกันว่า จะให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำการก่อการอีกครั้งหนึ่ง โดยร่วมมือกับเพื่อน ๆ ทหารเรือ นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ผู้รักชาติ ประชาธิปไตยและทหาร ตำรวจผู้รักชาติ รวมทั้งบรรดาแม่ทัพเรือ และ นายพลคนหนึ่งซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าเสนาธิการกองทัพบก และถูกคณะรัฐประหารปลดออกจากตำแหน่ง

“เมื่อมิตรของข้าพเจ้าที่เมืองไทยแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า โอกาสอำนวยแล้ว เราจึงเช่าเรือขนาด 20 ตัน เพื่อ เดินทางอย่างลับ ๆ ออกจากฝั่งทะเลจีนไปยังตะวันออกของอ่าวสยาม…”

 

หมายเหตุ : ตัดตอน, แก้ไขเล็กน้อย, ทำตัวหนาโดยบรรณาธิการ

ที่มา : ส่วนหนึ่งจากบทความเรื่อง “รัฐประหารปฏิกิริยาและการลี้ภัยครั้งแรกไปยังสิงคโปร์และจีน” เขียนโดยนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อปีพุทธศักราช 2515

อ่านฉบับที่พิมพ์เป็นเล่มได้ที่ : “ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน”


[1] Captain S. DENIS R.N.

[2] Captain Gardes U.S.N.

[3] Norman Hannah