ภายหลังการอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 ไม่ถึง 1 ปี การเมืองในระบอบใหม่ของคณะราษฎรก็เกิดความขัดแย้งในระบอบรัฐสภาซึ่งเริ่มต้นจากกรณีการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ปรีดี พนมยงค์ ที่ถูกโจมตีจากฝ่ายรัฐบาลฝั่งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและคณะราษฎรปีกอนุรักษนิยมว่ามีแนวคิดแบบลัทธิคอมมิวนิสต์จนนำไปสู่เหตุการณ์บานปลายด้วยการออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ต่อมาจึงได้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2476 ขึ้นเพื่อบีบบังคับให้ปรีดี เดินทางลี้ภัยออกนอกประเทศ
จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้คณะราษฎรปีกก้าวหน้าและปีกทหารกลุ่มสำคัญไม่พอใจจึงร่วมก่อการโค่นล้มรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 และ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ก็เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพร้อมกับเชิญปรีดีกลับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล
การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของคณะราษฎรครั้งนี้เสมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ปะทุให้กลุ่มปฏิปักษ์ของคณะราษฎรซึ่งเรียกตนเองว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง” วางแผนยึดอำนาจและล้มรัฐบาลของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนานับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2476 โดยมีผู้นำคณะฯ คือ พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช นายทหารอาวุโสที่มีบทบาทสำคัญท่านหนึ่งในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์[1] หากการครั้งนี้มีแนวคิดริเริ่มมาจากนายทหารหัวเมืองโดยเฉพาะในจังหวัดนครราชสีมา
เหตุการณ์ที่คณะราษฎรและคณะกู้บ้านกู้เมืองปะทะกันถึงขั้นนองเลือดระหว่างวันที่ 11-24 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ถือเป็น “กบฏ” ครั้งแรกและยังเป็นความรุนแรงทางการเมืองครั้งใหญ่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกด้วยโดยมีนายทหารตำแหน่งสำคัญเสียชีวิตหลายนาย อาทิ พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เมื่อสิ้นสุดเหตุการณ์มีผู้เกี่ยวข้องถูกจับกุมราว 600 คน มีผู้ถูกส่งฟ้องศาลพิเศษจำนวน 346 คน และถูกตัดสินลงโทษจำนวน 250 คน รวมทั้งมีผู้ถูกปลดออกจากราชการจำนวน 117 คน[2]
การเมืองของประวัติศาสตร์และการต่อสู้ทางความคิด
เรื่องราวของ “กบฏบวรเดช” หรือ คณะกู้บ้านกู้เมือง เป็นการเมืองของประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ชื่อเรียกเหตุการณ์จากทั้งสองฝ่ายโดยฝ่ายรัฐบาลพระยาพหลฯ ระบุในประกาศว่าเหตุการณ์ครั้งนี้คือ “กบฏ” นับตั้งแต่วันแรกๆ ที่มีการนองเลือด ส่วนฝ่ายของพระองค์เจ้าบวรเดช เรียกว่า คณะกู้บ้านกู้เมือง ซึ่งมีข้อเท็จจริงว่าเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองครั้งใหญ่และมีประชาชนในต่างจังหวัดร่วมสนับสนุนรัฐบาลพระยาพหลฯ ให้ปราบกบฏ
กระทั่งเมื่อก้าวสู่ทศวรรษ 2490-2510 ได้เกิดชุดคำอธิบายเหตุการณ์กบฏบวรเดช[3] ในทางบวกอย่างแพร่หลายจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ผู้ที่อยู่ร่วมยุคสมัย และฝ่ายที่มีแนวคิดตรงข้ามกับคณะราษฎร อาทิ งานเขียนของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน พระยาศราภัยพิพัฒ[4] ร้อยโท จงกล ไกรฤกษ์ หลวงโหมรอนราญ[5] หลุย คีรีวัต พันเอก พระยาสุรพันธเสนี และ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร รวมถึงมีงานศึกษาของนักวิชาการฝ่ายเสรีนิยม-อนุรักษนิยมที่มองในเชิงบวก ส่วนงานเขียนเกี่ยวกับกบฏบวรเดชในเชิงลบหรือแสดงข้อเท็จจริงจากฝ่ายคณะราษฎรได้ปรากฏในรูปแบบนวนิยายเรื่องลาก่อนรัฐธรรมนูญที่ประพันธ์โดยกุหลาบ สายประดิษฐ์[6]
การขยับเคลื่อนของความหมายและความรู้เรื่องกบฏบวรเดชในมิติต่างๆ นี้ กลายเป็นการเมืองของประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ คำอธิบายสาเหตุสำคัญของการเกิดกบฏจากทัศนะของฝ่ายก่อการว่ามาจากการหวาดระแวงคอมมิวนิสต์และความไม่พอใจในการกลับเข้ามามีอำนาจทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลพลเอก พระยาพหลฯ
ภาพรวมความไม่พอใจต่อปรีดีจากบรรดาทหารชั้นผู้น้อยตามหัวเมือง ทหารนอกประจำการ ข้าราชการ และชนชั้นนำที่มีบทบาทสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ปรากฏทางข้อเขียนต่อสาธารณะครั้งแรกในเอกสารเรียน พันเอก พระยาพหลฯ ของพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม สมาชิกคนสำคัญในกบฏบวรเดชเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นวันแรกของเหตุการณ์กบฏว่า
“ด้วยบรรดากองทหารบกซึ่งตั้งอยู่ตามจังหวัดต่างๆ รวมทั้งกองทหารบก ทหารเรือส่วนมากในพระนคร และทหารอากาศด้วย ได้ทราบพฤติการณ์ของรัฐบาลขณะนี้อย่างแน่ชัดว่า เพิกเฉย/ปล่อยให้คนพาลสันดานหยาบหมิ่นหลู่ดูแคลนพระบรมเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นจอมทัพของเหล่าทหาร ปล่อยให้หนังสือพิมพ์ต่างๆ หลายฉะบับ ลงข้อความบริภาษพระราชกิติคุณอยู่แทบทุกวันโดยมิได้ติเตียนหรือปราบปรามลงโทษ…จึ่งเท่ากับว่าส่งเสริมช่วยทำลายรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ซึ่งยกย่องพระมหากษัตริย์ไว้เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้…
ประกอบด้วยท่านได้จัดการเรียกหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับคืนยังประเทศสยามโดยมิได้ซักฟอกให้ขาวสะอาดก่อน…จึงกระทำให้ประชาชนพลเมืองไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีของท่าน…แทนที่จะปราบคอมมิวนิสต์อันเป็นลัทธิที่โลกไม่นิยมนั้นเป็นลำดับไป…”[7]
ต่อมาทางร้อยเอก ขุนเริงรณชัย สมาชิกคณะกู้บ้านกู้เมืองได้ส่งจดหมายมาชี้แจงจุดประสงค์ของการก่อกบฏถึงพันเอก พระยาพหลฯ ในภายหลังเหตุการณ์ว่า
“ในที่นี้เกล้ากระกระผมพอจะกล่าวได้ว่า ข้อสำคัญที่ทำให้เกิดแตกร้าวอย่างใหญ่หลวงจนเป็นเหตุนองเลือดและต้องเสียชีวิตชนชาติเดียวกันคราวที่แล้วมานี้ เนื่องด้วยหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับคืนดินแดนสยาม ซึ่งมีเสียงลือกันว่า จะได้เป็นรัฐมนตรี บางคนก็ว่าจะได้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ฯลฯ เหล่านี้
ปวงชนต่างก็หวาดเกรงว่าจะบังเกิดลัทธิคอมมูนิสต์ยิ่งขึ้นความพรั่นกลัว ซึ่งกำลังระอุมาแล้วเป็นเวลานานเลยเกิดระเบิดขึ้นในที่สุด ด้วยความหมายที่จะปราบคอมมิวนิสต์นี้เอง…”
และข้อเขียนของชัยอนันต์ สมุทวณิช นักวิชาการรัฐศาสตร์ยังผลิตซ้ำถึงสาเหตุสำคัญนี้โดยอ้างอิงจดหมายของร้อยเอก ขุนเริงรณชัยไว้อีกครั้งว่า
“...ตามความรู้สึกส่วนตัวของขุนเริงรณชัย และที่ขุนเริงรณชัยอ้างว่าเป็นมูลเหตุจูงใจที่ทหารฝ่ายหัวเมืองคบคิดกันใช้กำลังข่มขู่ให้รัฐบาลแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ทางการเมืองในสมัยนั้น ได้แก่การเกรงกลัวอำนาจ และอิทธิพลของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม
โดยเชื่อว่า ถ้าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีแล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทางที่พวกทหารฝ่ายหัวเมืองไม่พึงประสงค์…”[8]
การเมืองของประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์กบฏบวรเดชจากฝ่ายผู้ก่อการได้เกี่ยวโยงมาถึงปรีดี สืบเนื่องมาจากกรณีเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจและมีความเชื่อว่าปรีดีอยู่เบื้องหลังการฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวของถวัติ ฤทธิเดชจนกลายมาเป็นสาเหตุหลักที่ฝ่ายก่อกบฏอ้างถึงเพื่อก่อการ[9]
กบฏบวรเดช ยังถูกเสนอว่าไม่ใช่เป็นเพียงการต่อสู้ทางการเมืองด้วยความรุนแรงหรือเพียงเพื่อผลประโยชน์เท่านั้นแต่ยังเป็นการต่อสู้ทางปัญญาหรือต่อสู้กันทางความคิด[10] ต่อระบอบใหม่ของคณะราษฎร สถาบันการเมือง และการเมืองในระบบรัฐสภา ข้อที่เห็นเด่นชัดคือการเสนอหลักความมุ่งหมาย 6 ประการ[11] ของพระองค์เจ้าบวรเดช ถึงรัฐบาลฯ ในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าคล้ายเป็นการต่อสู้ทางความคิดกับหลัก 6 ประการของคณะราษฎร
พระองค์เจ้าบวรเดช ระบุเหตุผลไว้ในเอกสารฉบับนี้ว่าได้ทำการครั้งนี้เพื่อที่จะให้รัฐบาลจัดการความมั่นคงและความปลอดภัยของชาติบ้านเมือง ตามหลักความมุ่งหมายของกบฏบวรเดชโดยผู้เขียนขอคงตัวสะกดและวรรคตอนตามหลักฐานชั้นต้นไว้ดังต่อไปนี้
หลักความมุ่งหมาย 6 ประการของกบฏบวรเดช
- ต้องจัดการทุกอย่างที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน
- ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญโดยแท้จริง ฉะเพาะอย่างยิ่งก็คือการตั้งแลถอดถอนคณรัฐบาลต้องเป็นไปตามเสียงหมู่มาก ไม่ใช่ทำด้วยการจับอาวุธดังที่แล้วมา โดยเหตุนี้ต้องยอมให้มีคณการเมืองที่ชอบด้วยกฎหมาย
- ข้าราชการซึ่งอยู่ในตำแหน่งประจำการทั้งทหารและพลเรือน ต้องอยู่นอกการเมือง เว้นแต่ผูู้ที่อยู่ในตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่ในการเมืองโดยตรง แต่ความข้างต้นนั้นไม่ตัดสิทธิในการที่ข้าราชการประจำการจะนิยมยึดถือลัทธิการเมืองใดๆ ที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ห้ามมิให้ใช้อำนาจหรือโอกาสในตำแหน่งหน้าที่เพื่อสนับสนุนเผยแพร่ลัทธิที่ตนนิยม หรือเพื่อบังคับขู่เข็ญโดยทางตรงหรือทางอ้อมให้คนอื่นถือตามลัทธิที่ตนนิยมนั้นเป็นอันขาดตำแหน่งฝ่ายทหารตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารเรือลงไป ต้องไม่มีหน้าที่ในการเมือง
- การตั้งแต่งบุคคลในตำแหน่งราชการ จักต้องถือคุณวุฒิ ความสามารถเป็นหลัก ไม่ถือความเกี่ยวข้องในทางการเมืองเป็นความชอบหรือเป็นข้อรังเกียจในการบรรจุหรือเลื่อนตำแหน่ง
- การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ต้องถวายให้พระมหากษัตริย์ทรงเลือก
- การปกครองกองทัพบก จักต้องให้มีหน่วยผะสมตามหลักยุทธวิธีเฉลี่ยอาวุธสำคัญแยกกันไม่ประจำตามท้องถิ่น มิให้มีกำลังเป็นส่วนใหญ่ฉะเพาะในแห่งใดแห่งหนึ่ง
การต่อสู้ทางความคิดเป็นไปอย่างเข้มข้นเมื่อพันเอก พระยาพหลฯ ตอบกลับพระองค์เจ้าบวรเดช[12] ทันควันในวันเดียวกันกับที่ได้รับจดหมายระบุหลักความมุ่งหมาย 6 ประการข้างต้นโดยผู้เขียนขอคงตัวสะกดและวรรคตอนตามหลักฐานชั้นต้นไว้ดังนี้
คำตอบคำขาดของกองทหารฝ่ายกบฏ
ที่ทำการคณะรัฐมนตรี
วันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2476
ทูล พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมได้รับลายพระหัตถ์ลงวันนี้แล้ว คณะรัฐมนตรีได้ประชุมตกลงกันว่า คณะรัฐบาลนี้เป็นคณะซึ่งเคารพนับถือต่อรัฐธรรมนูญ กอบด้วยความจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์ประมุขของชาติ และดำเนินการตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดทุกประการ ตลอดทั้งการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นหลักพะยานให้เห็นประจักษ์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคำขอของท่านก็เป็นอันตกไป และรัฐบาลมีความเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่มีคณะก่อการจลาจลใช้กำลังทหารเพื่อจะเลิกล้มรัฐบาลอันเป็นการกระทำซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานกระแสมายังคณะรัฐมนตรีว่าทรงโทมนัสไม่พอพระราชหฤทัยและซึ่งเป็นเหตุให้รัฐบาลจำเป็นต้องปราบด้วยกำลังทหาร ทั้งๆ ที่ไม่สมัครเลยที่จะกระทำการอันใดซึ่งจะเป็นภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบรรดาทหารและพลเมือง แต่การปราบเช่นนี้ เป็นความจำเป็นอันเนื่องมาจากการกระทำซึ่งท่านเป็นผู้รับผิดชอบถ่ายเดียว.
พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา
นายกรัฐมนตรี
นอกจากพันเอก พระยาพหลฯ จะตอบจดหมายของพระองค์เจ้าบวรเดชทุกประการแล้วคำตอบนี้ยังสะท้อนให้เห็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ของทั้งสองฝ่ายซึ่งถือเป็นการเมืองในประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่งอีกประการ ณ เวลานั้น
ปรีดี ทำอะไรในเหตุการณ์กบฏบวรเดช : ข้อมูลใหม่ของปรีดี พนมยงค์ เรื่องการตรวจรับโทรเลขช่วงกบฏบวรเดช
ปรีดีปรากฏชื่อในแถลงการณ์และประกาศเจตนารมณ์ของกบฏบวรเดชช่วงแรกๆ แต่ในระหว่างเหตุการณ์กลับแทบไม่มีข้อเขียนถึงว่าปรีดีมีบทบาทและหน้าที่อย่างไร จนเมื่อสืบค้นจากเอกสารชั้นต้นก็พบกับข้อมูลใหม่ที่ชี้ว่า ปรีดีมีหน้าที่ในตรวจรับโทรเลขและลงนามรับรองการจ่ายค่าโทรเลขซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญในยุคนั้น เนื่องจากทุกความเคลื่อนไหวทั้งการเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศต้องติดต่อกันทางโทรเลข
ในระยะแรกของเหตุการณ์กบฏเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2476 (นับตามปฏิทินเก่า) ทางรัฐบาลพันเอก พระยาพหลฯ ได้สั่งให้กรมไปรษณีย์โทรเลขส่งคนไปประจำควบคุมสถานีวิทยุในพระบรมมหาราชวังเพื่อมิให้ส่งข่าวสารอันจะเป็นการก่อให้เกิดความไม่สงบหรือเป็นข่าวสารทางการทหารโดยขณะนั้นอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกทางรัฐบาลจึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องขอรอกราบบังคมทูลเรียนพระราชปฏิบัติก่อน หากได้ถูกตอบกลับด้วยจดหมายสำนวนเผ็ดร้อนจากผู้สำเร็จราชการพระราชวังในวันถัดมา คือมีพระราชกระแสโปรดเกล้าฯ เรียนมาถึงพันเอก พระยาพหลฯ ว่า “การที่ส่งเจ้าพนักงานมาควบคุมการส่งโทรเลขในพระราชฐานเช่นนี้ ดูคล้ายกับรัฐบาลขาดความจงรักภักดีและแสดงความไม่ไว้วางใจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”[13]
ขณะที่ข้อความในโทรเลขระหว่างเหตุการณ์กบฏบวรเดชนั้นประกอบไปด้วยรายงานสถานการณ์รายวัน การส่งข่าวถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการตอบขอบใจเจ้าหน้าที่รัฐในจังหวัดต่างๆ ที่ช่วยปราบกบฏ ทั้งนี้ข้อความในโทรเลขที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองถือเป็นความลับซึ่งจะรู้กันเฉพาะผู้ฝากและผู้รับ ฉะนั้น การคัดโทรเลขหรือแปลงรหัสโทรเลขมาเป็นภาษาให้ทุกฝ่ายเข้าใจต้องใช้คนที่ไว้ใจได้ว่าจะไม่นำความที่รู้เห็นไปแพร่งพราย
ในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม พ.ศ. 2476 (นับตามปฏิทินเก่า) บันทึกว่ามีโทรเลขวันหนึ่งกว่า 500 ฉบับ และต้องใช้คนคัด 3 คนเป็นอย่างน้อย[14] ดังนี้ ภารกิจของปรีดี ในการตรวจรับโทรเลขช่วงกบฏบวรเดชจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อรัฐบาลและการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย
เรื่องราวของกบฏบวรเดชตอนแรกได้สะท้อนให้เห็นการเมืองของประวัติศาสตร์และการต่อสู้ทางความคิดระหว่างคณะราษฎรและกบฏบวรเดชทางภูมิปัญญาซึ่งมีทั้งข้อมูลใหม่และเรียงร้อยจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เดิมในแง่มุมใหม่เพื่อชี้ให้เห็นการอธิบายประวัติศาสตร์ของทั้งสองฝ่ายอย่างรอบด้านภายใต้บริบททางการเมืองช่วง 1 ปี หลังการอภิวัฒน์ 2475
ภาพประกอบ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ราชกิจจานุเบกษา และหนังสือสมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 1 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต้นฉบับ
บรรณานุกรม
เอกสารชั้นต้น :
- ราชกิจจานุเบกษา. พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งรัฐมนตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์). ประกาศ ณ วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2476. เล่มที่ 50 ตอน ๐ก. น. 595.
- ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พุทธศักราช 2476. ประกาศ ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2476 เล่ม 50, น. 624-626.
- สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร 0201.1/5 กล่อง 5. การตรวจสอบโทรเลข โทรศัพท์ในระหว่างการมีกบฏ [12 ต.ค. 2476-5 ม.ค. 2476]
- สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร 0201.1/7 กล่อง 5. หนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ลงข่าวการกบฏและนักโทษการเมืองของสยาม [14 ต.ค. 2476-5 ม.ค. 2476]
- สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร 0201.1.1/1. คำขอหรือคำขาดและคำแถลงการณ์หรือใบปลิวของพวกกบฏ [11-26 ต.ค. 2476]
- สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร 0201.1/8. เบ็ดเตล็ด (ให้หลวงไพรีนำทหารอุดร รุกพวกกบฏ ฯลฯ) [15 ต.ค.-10 ก.พ.2476]
หนังสืออนุสรณ์งานศพ :
- อนุสรณ์งานศพพิมพ์เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2497. พระนคร : ไทยหัตถการพิมพ์, 2497.
- อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตำรวจโท หลวงโหมรอนราญ (ตุ๊ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) ณ เมรุวัดตรีทศเทพ วันเสาร์ ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2520. กรุงเทพฯ: บุญส่งการพิมพ์, 2520.
หนังสือภาษาไทย :
- คณะกรมอากาศยาน, กองบินช่วยทำการปราบกบฏระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม ถึง 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476, (พระนคร : วัฒนะผล, 2476)
- จรูญ กุวานนท์, เลือดหยดแรกของประชาธิปไตย, (พระนคร : สหกิจ, 2493)
- ชาตรี ประกิตนนทการ, ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ พิมพ์ครั้งที่ 2, ฉบับปรับปรุง, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2563)
- ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์. บรรณาธิการ, สมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 2 : ปราบกบฏ พ.ศ. 2476, (กรุงเทพฯ: ต้นฉบับ, 2558)
- ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, “ข้ออ้าง” การปฏิวัติ-รัฐประหาร ในการเมืองไทยสมัยใหม่ พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2561)
- ณัฐพล ใจจริง, กบฏบวรเดช เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475, (กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 2559)
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491-2500) พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2553)
บทความในหนังสือและวารสาร :
- นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “กบฏบวรเดช: การเมืองของประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ของการเมือง,” วารสารธรรมศาสตร์ 13, 1 (มีนาคม 2527) : 92-118.
วิทยานิพนธ์ :
- นิคม จารุมณี. กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2519.
- ภูธร ภูมะธน. ศาลพิเศษ พ.ศ. 2476 พ.ศ. 2478 และ พ.ศ. 2481. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521.
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (11 ตุลาคม 2564). กบฏบวรเดช ตุลาคม 2476.
- สุพจน์ ด่านตระกูล. (11 ตุลาคม 2564). ขบถศักดินา...ขบถบวรเดช.
- เสมียนนารี. (4 กรกฎาคม 2565). บทบาทพลเมืองสยาม ในการปราบกบฏบวรเดช 2476.
- อรุณ เวชสุวรรณ. (18 ตุลาคม 2564). ความเปลี่ยนแปลงของพระบรมวงศานุวงศ์ หลังเหตุการณ์ “ขบถบวรเดช”.
[1] อนุสรณ์งานศพพิมพ์เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2497. พระนคร : ไทยหัตถการพิมพ์, 2497.
[2] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491-2500) พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2553), น. 16-19., ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, “ข้ออ้าง” การปฏิวัติ-รัฐประหาร ในการเมืองไทยสมัยใหม่ พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2561), น. 106-107.
[3] ผู้เขียนจะเรียกว่าเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” ในบทความชิ้นนี้เพื่อให้สอดรับกับงานศึกษาทางวิชาการประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย
[4] พระยาศราภัยพิพัฒมีรายชื่อห้ามไม่ให้ออกนอกพระราชอาณาจักรและห้ามไม่ให้มีหนังสือเดินทางตามคำประกาศของรัฐบาลพันเอก พระยาพหลฯ ในช่วงต้นของกบฏบวรเดช โปรดดูเพิ่มเติมที่ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร 0201.1/5 กล่อง 5. การตรวจสอบโทรเลข โทรศัพท์ในระหว่างการมีกบฏ [12 ต.ค. 2476-5 ม.ค. 2476]
[5] อนุสรณ์งานศพของหลวงโหมรอนราญ เป็นอนุสรณ์ฯ ที่บันทึกเรื่องราวของกบฏบวรเดชจากมุมมองของผู้ก่อการได้ละเอียด มีทั้งแผนการรบรายวัน และภาพการจัดกองทัพไว้ด้วย โปรดดูเพิ่มเติม อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตำรวจโท หลวงโหมรอนราญ (ตุ๊ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) ณ เมรุวัดตรีทศเทพ วันเสาร์ ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2520. กรุงเทพฯ: บุญส่งการพิมพ์, 2520.
[6] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “กบฏบวรเดช: การเมืองของประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ของการเมือง,” วารสารธรรมศาสตร์ 13, 1 (มีนาคม 2527) : 92-100.
[7] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร 0201.1.1/1. คำขอหรือคำขาดและคำแถลงการณ์หรือใบปลิวของพวกกบฏ [11-26 ต.ค. 2476]
[8] นิคม จารุมณี. กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2519. น. 119-120.
[9] เรื่องเดียวกัน, น. 127.
[10] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “กบฏบวรเดช: การเมืองของประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ของการเมือง,” วารสารธรรมศาสตร์ 13, 1 (มีนาคม 2527) : 96.
[11] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร 0201.1.1/1. คำขอหรือคำขาดและคำแถลงการณ์หรือใบปลิวของพวกกบฏ [11-26 ต.ค. 2476]
[12] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร 0201.1.1/1. คำขอหรือคำขาดและคำแถลงการณ์หรือใบปลิวของพวกกบฏ [11-26 ต.ค. 2476]
[13] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร 0201.1/5 กล่อง 5. การตรวจสอบโทรเลข โทรศัพท์ในระหว่างการมีกบฏ [12 ต.ค. 2476-5 ม.ค. 2476]
[14] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร 0201.1/5 กล่อง 5. การตรวจสอบโทรเลข โทรศัพท์ในระหว่างการมีกบฏ [12 ต.ค. 2476-5 ม.ค. 2476]
- กบฎบวรเดช
- รวินทร์ คำโพธิ์ทอง
- ปรีดี พนมยงค์
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
- พระยาพหลพลพยุหเสนา
- คณะกู้บ้านกู้เมือง
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช
- พระยาศรีสิทธิสงคราม
- ดิ่น ท่าราบ
- นิมิตรมงคล นวรัตน
- พระยาศราภัยพิพัฒ
- จงกล ไกรฤกษ์
- หลวงโหมรอนราญ
- หลุย คีรีวัต
- พระยาสุรพันธเสนี
- สิทธิพร กฤดากร
- ขุนเริงรณชัย
- ชัยอนันต์ สมุทวณิช
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ถวัติ ฤทธิเดช
- หลักความมุ่งหมาย 6 ประการ
- หลัก 6 ประการของคณะราษฎร
- ตุ๊ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา
- จรูญ กุวานนท์
- ชาตรี ประกิตนนทการ
- ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์
- ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
- ณัฐพล ใจจริง
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
- นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
- นิคม จารุมณี
- ภูธร ภูมะธน
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
- สุพจน์ ด่านตระกูล
- เสมียนนารี
- อรุณ เวชสุวรรณ