ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

คุณดิเรก ชัยนาม ตามทัศนะของคนรู้จัก ตอนที่ 4 : ที่ข้าพเจ้ารู้จัก สุลักษณ์ ศิวรักษ์

17
เมษายน
2568

Focus

  • ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม ในฐานะนักการทูตและนักการเมืองที่มีความซื่อตรง เมตตา และเสียสละ โดยผู้เขียนสะท้อนให้เห็นถึงความใกล้ชิดส่วนตัวและคุณธรรมของท่านที่ยึดมั่นตลอดชีวิต ทั้งในยามมีอำนาจและหมดอำนาจ ท่านเป็นผู้มีวาทศิลป์ เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน แม้จะได้รับเกียรติยศมากมาย ก็ยังคงความเรียบง่ายและอ่อนน้อม เป็นแบบอย่างของ “ผู้มีเกียรติยิ่งกว่ายศ” อย่างแท้จริง

 


ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม
(18 มกราคม พ.ศ. 2447 - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2510)

 


สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือนามปากกา ส.ศิวรักษ์
ที่มา: หนังสือช่วงแห่งชีวิต

 

คุณดิเรก ชัยนาม ดูจะเป็นผู้ใหญ่คนเดียว ที่ข้าพเจ้ารู้จักมักคุ้นอย่างสนิท โดยอาศัยบิดาเป็นสื่อ ข้าพเจ้าทราบว่าท่านทั้งสองเป็นนักเรียนอัสสัมชัญด้วยกัน ก็เลยเดาเอาว่าเป็นนักเรียนรุ่นเดียวกัน เพิ่งมาทราบจากคุณดิเรกเมื่อก่อนถึงอนิจกรรมไปไม่นานนัก ว่าบิดาข้าพเจ้าอยู่รุ่นเหนือท่าน เมื่อสมัยอยู่โรงเรียนก็ไม่คุ้นเคยกันเท่าไร มารู้จักกันอีกที ก็เมื่อบิดาข้าพเจ้าย้ายมาปลูกเรือน อยู่ในบริเวณนิวาสสถานของท่านล้อม เหมะชะญาติ คุณดิเรกไปมาหาสู่อยู่กับที่บ้านนั้น จึงชอบพอกันมากขึ้น แต่มาสนิทสนมกันก็ต่อเมื่อท่าน “มีบุญ” แล้วบิดาข้าพเจ้าไปหาเมื่อท่านเป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หรือเป็นเลขาธิการแล้วด้วยซ้ำไป ท่านได้ให้การต้อนรับอย่างดี เลยติดต่อกันบ่อยเข้า จนกระทั่งบิดากลายเป็นแขกประจำบ้านไป และมีอะไรที่คุณดิเรกจะช่วยบิดาข้าพเจ้าได้ ท่านก็ช่วยเหลือเกื้อกูล เช่น หางานใหม่ให้ทำ รับหลานไปทำงานอยู่ด้วย ตลอดจนรับคนที่บิดานำไปฝากทำราชการ จนเวลานี้ได้ดีไปก็หลายคน บางคนเขาก็ลืมท่านไปแล้ว นอกจากนี้ ท่านยังอุตส่าห์มีเวลารับปรึกษาหารือปัญหาส่วนตัวของบิดาข้าพเจ้า ทั้ง ๆ ที่เวลานั้นท่านต้องรับภาระ ในด้านการบริหารประเทศอยู่อย่างหนักหน่วง

ข้าพเจ้าเองเคยติดสอยห้อยตามบิดาไปหาคุณดิเรก แต่สมัยเมื่อท่านเป็นรัฐมนตรีใหม่ ๆ ออกแปลกใจที่บิดาเรียกเพื่อนร่วมโรงเรียนว่า "ใต้เท้า" เรื่องนี้ บิดาอธิบายโดยเล่านิทานให้ฟังว่า มีเพื่อนสามคนเคยเล่นหัวมาด้วยกัน คนหนึ่งไปได้ดี เป็นเศรษฐีมีทรัพย์ เพื่อนคนหนึ่งไปหาก็พูดมึงวาพาโวยดังแต่ก่อน ต่อหน้าธารกำนัล เศรษฐีไม่ชอบใจ จึงไม่ชวนไปบ้านอีก เพื่อนอีกคนรู้ตัวว่าฐานะต่างกันแล้ว เวลาไปหาเพื่อนก็พูดอย่างนอบน้อมถ่อมตน เศรษฐีชอบใจ ชวนให้ไปหาเนือง ๆ นิทานเรื่องนี้มิได้หมายความว่าบิดาข้าพเจ้าเป็นคนประจบประแจง คุณดิเรกเองก็ทราบดีว่าบิดาข้าพเจ้าเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย เวลาคุณดิเรกหมดอำนาจวาสนา ออกมาอยู่นอกรัฐบาล บิดาข้าพเจ้าก็ไปมาหาสู่ดังเดิมและอ่อนน้อมดังเก่า

สมัยคุณดิเรกไปเป็นทูตอยู่ญี่ปุ่น ลูกผู้พี่ของข้าพเจ้าก็ไปอยู่ด้วย บิดาเคยถามว่าอยากไปเรียนหนังสือที่นั่นไหม จะส่งไปให้ ข้าพเจ้ายังเล็กนัก ไม่อยากจากบิดา ก็เลยตอบว่าไม่ต้องการไป ถ้าไป คงได้ไปคุ้นกับท่านแต่ครั้งนั้นแล้ว ต่อมา เมื่อข้าพเจ้าบวชเณรอยู่สำนักท่านพระภัทรมุนี วัดทองนพคุณ ถึงเวลาเข้าพรรษา คุณดิเรกนำพุ่มไปถวายเจ้าคุณอาจารย์ ก็ได้เจอะท่านที่นั่น นอกจากนี้วัดทองนพคุณยังเป็นวัดที่เจ้าคุณบิดาของท่านเคยอุปสมบท ท่านจึงนำอัฐิเจ้าคุณบิดาและคุณหญิง ผู้มารดา มาบรรจุไว้ในพระเจดีย์องค์ใหญ่ ที่วัดนั้นด้วย ถึงวันที่ 2 มกราคม ท่านต้องมาเลี้ยงพระบังสกุลเสมอ และในระหว่างที่ข้าพเจ้าบวชนั้นเอง บิดาเคยพาไปหาท่านที่บ้านหลังเก่าในซอยสันติสุข เวลานั้นท่านเป็นรองนายกรัฐมนตรี และแล้ว ข้าพเจ้าก็ไม่ได้พบท่านจนงานศพบิดา ซึ่งเสียชีวิตไปในขณะที่ข้าพเจ้ายังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 2

ครั้นข้าพเจ้าอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 8 ทางโรงเรียนอัสสัมชัญอนุญาตให้ออกหนังสือประจำสำหรับโรงเรียนขึ้น ให้ชื่อว่า อุโฆษสาร ตามอย่าง อุโฆษสมัย ของเดิม ข้าพเจ้าได้รับอุปโลกให้เป็นบรรณาธิการคนแรก จึงมีหน้าที่ไปขอบทความจากท่านอัสสัมชนิกผู้ใหญ่ ได้ไปขอจากคุณดิเรก ชัยนาม ด้วย ซึ่งเวลานั้นเป็นคณบดีอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ พอเข้าไปถึงตัวท่าน ท่านก็ต้อนรับขับสู้ดี ถามว่าเป็นลูกคนนั้น ๆ ใช่ไหม ครั้นได้รับคำตอบว่าใช่แล้ว ท่านก็ว่าคนที่เคยบวชเณรใช่ไหม ดูท่านพอใจมาก และสั่งให้หมั่นไปหาท่านที่บ้าน แต่ข้าพเจ้าหากล้าไปหาท่านไม่ ส่วนข้อเขียนของท่านที่ให้มานั้น ข้าพเจ้าอ่านด้วยความพอใจ จึงขอคัดตัดตอนนำมาลงซ้ำในที่นี้ เพื่อที่ผู้อ่านจะได้ทราบ ว่าท่านมีความสัมพันธ์ กับโรงเรียนเก่าสถานใด

ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ ตั้งแต่ พ.ศ. 2456 (ค.ศ. 1913) จนถึง พ.ศ 2464 (ค.ศ 1921) รวม 9 ปี เป็นนักเรียนใน คือกินนอนในโรงเรียน 7 ปี ต่อมาอีก 2 ปี เป็นนักเรียนเช้าไปเย็นกลับ ต่อจากนั้นจึงไปเรียนต่อที่โรงเรียนราชวิทยาลัย คุณประโยชน์ที่ข้าพเจ้าจำได้แม่นยำว่า ได้จากท่านอาจารย์และโรงเรียนนี้ก็คือในเรื่องศีลธรรม และภาษาอังกฤษ ตลอดทั้ง วิชาการทั่ว ๆ ไป

 


Man's Great Concern: The Management Of Life

 

ข้าพเจ้าจำได้ดี เพราะอาจารย์กำชับแล้วกำชับอีก ในวันสอน "จรรยา" เฉพาะอย่างยิ่ง Brother Hubert ท่านนำหนังสือ Man's Great Concern มาให้อ่านจนช่ำสอง เมื่อ 4-5 ปีมานี้ ข้าพเจ้าไปเยี่ยมโรงเรียน ดีใจที่โรงเรียนยังใช้หนังสือนี้อยู่ จริงอยู่ หนังสือนี้ผู้แต่งนับถือศาสนาคริสเตียน แต่หลักธรรมต่าง ๆ ในหนังสือนี้เป็นหลักสากล ผู้นับถือศาสนาใด ๆ ก็ยึดเป็นหลักได้ เพราะเกี่ยวกับคุณธรรมทั้งสิ้น อีกเรื่องหนึ่งคือ ภาษาอังกฤษ ในสมัยที่ข้าพเจ้าเรียน ต้องพูดภาษาอังกฤษทุกวัน ถ้าพูดภาษาไทย จะต้องถูกเพื่อนจับ โดนมอบเบี้ยให้ แล้วเราก็ต้องไปคอยจับคนอื่น โดยโอนเบี้ยไปให้ ถ้าถูกจับบ่อย ก็มีการลงโทษ เช่น ให้ยืนกับเสาบ้าง อดอาหารกลางวันบ้าง ถูกตีบ้าง ข้าพเจ้าถูกทุกอย่าง แต่โทษเหล่านี้ข้าพเจ้าเห็นว่าดีมาก เพราะทำให้เรามีมานะ พากเพียร ซึ่งข้าพเจ้าคุยได้ว่าได้ให้คุณแก่ข้าพเจ้าในทุกวันนี้

หนังสือเรื่อง Man's Great Concern นั้น ดูจะมีอิทธิพลต่อชีวิตท่านมากอยู่ และครูในโรงเรียนเล่าว่า เมื่อพวกเจษฎาจารย์กลับจากอินเดียภายหลังสงคราม คุณดิเรกก็ได้กล่าวสดุดีอาจารย์ของท่าน และเอ่ยพาดพิงถึงหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าเองก็โตทันเรียนหนังสือดังกล่าว

หลังจากนั้นไม่นาน ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ พอไปถึงลอนดอน ก็ได้ทราบว่าคุณดิเรกและคุณหญิงมาพักอยู่ที่นั่น เพราะท่านได้รับเชิญจากบริติชคาวน์ซิล ให้ไปแสดงปาฐกถาตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ว่าด้วยเรื่องเมืองไทย ครั้นไปถึงสถานทูต ก็มีคนมาบอกว่าท่านต้องการพบ จึงรีบไปหาท่านที่บ้านพักชั่วคราว ท่านพูดจาด้วยดีเช่นเคย และว่าให้ทำตัวเหมือนลูกหลาน อยากกินอะไรไทย ๆ ก็ให้มาเข้าครัวทำเอาเอง แต่ข้าพเจ้ากำหนดออกนอกกรุงในคืนวันนั้นแล้ว เลยไม่ได้ไปคลุกคลีที่บ้านพักท่านอีก จนท่านกลับจากอังกฤษ ได้แต่ติดต่อกับท่านทางจดหมายครั้งหนึ่งเท่านั้นเอง

ระหว่างที่อยู่อังกฤษ ข้าพเจ้าได้ยินกิตติศัพท์เกี่ยวกับท่านมาก ทั้งจากไทยและฝรั่ง บางคนเห็นว่าท่านเป็นทูตที่ดีที่สุดของเรา แม้คนรับใช้ในสถานทูตก็พากันยกย่องว่าท่านเป็นสุภาพบุรุษแท้ คำ ๆ นี้ออกจากปากคนอังกฤษ ที่พูดลับหลัง ต้องถือได้ว่าเป็นคำสรรเสริญอย่างดียิ่ง พวกพุทธสมาคมที่ลอนดอนก็พูดเสมอ ว่าคุณดิเรกเอาใจใส่ในกิจการงานของเขามาก ทั้งยังพูดประทับคาถาให้เขาเนือง ๆ จนเขาเชิญให้เป็นอุปนายก ดูเหมือนท่านจะเป็นทูตไทยคนเดียวที่ได้รับเกียรตินี้ ยังสโมสรโก้ ๆ ต่าง ๆ ที่เชิญท่านเข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ก็มิใช่น้อย ทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นทูตอยู่ไม่นานเลย แม้เมื่อท่านไปอังกฤษในระยะหลัง ครั้งแรกที่พบกับข้าพเจ้านั้น พอดีมีละครเรื่อง The King and I ท่านก็เขียนจดหมายไปถึงหนังสือพิมพ์ ไทม์ส คัดค้านความเหลวไหลในละครเรื่องนั้น โดยที่คนอังกฤษบางคนเห็นเป็นจริงเป็นจังไปว่าผู้หญิงของเขานั้นแลที่มาช่วยพระราชาของเรา เวลาท่านเขียนภาษาอังกฤษ คำว่าประเทศไทย ท่านใช้คำว่า SIAM เสมอ มีคนไปถามท่านว่าใช้ THAILAND ทำไม ท่านว่า CHAUVISM คือชาตินิยมอย่างบ้าบอเท่านั้นเอง ต่อท่านพูดหรือเขียนในนามราชการ จึงใช้คำว่า THAILAND ตาม "รัฐนิยม" ส่วนข้าพเจ้านั้นอยู่นอกสังกัดรัฐบาลมาโดยตลอด จึงใช้ SIAM เรื่อยมา ไม่ยอมเปลี่ยนตามใคร

ข้าพเจ้าไปอยู่อังกฤษประมาณ 5 ปีจึงกลับมาเมืองไทย มารดาได้พาไปหาผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ตามธรรมเนียม ได้แวะไปเยี่ยมเคารพคุณดิเรกและคุณหญิงด้วยที่บ้านท่าน พอท่านเห็นเข้าก็แสดงความยินดีปรีดามาก ว่าถ้าอยากทำงานบริษัทฝรั่ง ท่านจะฝากฝังให้ ข้าพเจ้ารู้สึกตื้นตันใจมาก ที่ตนเองก็ไม่คุ้นเคยกับท่านถึงขนาด แต่ท่านกลับดีด้วยถึงเพียงนี้ ทั้งนี้ เห็นจะเป็นเพราะท่านนึกถึงบิดานั่นเอง ด้วยต่อมาเมื่อข้าพเจ้าสนิทสนมกับท่านมากขึ้นแล้ว ท่านเป็นต้องแนะนำข้าพเจ้าว่าลูกคนนั้น ๆ พ่อเขาดีมากไม่เคยโกงใครเลย ฟังดูดังประหนึ่งว่าบิดาข้าพเจ้ามีแต่ความซื่อเท่านั้นแหละที่เป็นคุณสมบัติสำคัญ และเวลาท่านมาบ้านข้าพเจ้า เห็นรูปถ่ายบิดาในห้องหน้าบ้าน ท่านเป็นต้องยกมือขึ้นแสดงความเคารพ พลางพูดว่าคิดถึงจริง ๆ หลายครั้งที่เห็นหน้าข้าพเจ้า ท่านเอ่ยปากทำนองนี้บ่อย ๆ

เหตุที่ข้าพเจ้าจะสนิทสนมกับท่านนั้น เนื่องมาจากการไปหาท่านคราวนี้เอง พอรุ่งขึ้นท่านและคุณหญิงก็มาหาข้าพเจ้าถึงบ้าน ด้วยจะมีงานกาชาดที่สวนอัมพร คุณหญิงท่านต้องไปออกร้านขายแชมเปญร่วมกับภรรยาทูตานุทูต มีเลดีวิตติงตัน ภรรยาทูตอังกฤษเป็นหัวหน้าฝ่ายฝรั่ง ท่านมาวานข้าพเจ้าเป็นเลขานุการ ไปคอยจดถ้อยคำในเวลาท่านสนทนากัน จะได้นำมาเป็นหลักปฏิบัติ เผอิญเวลานั้นข้าพเจ้าก็กำลังว่าง จึงรับใช้ท่านด้วยความยินดี คุณดิเรกเอง ขณะนั้นก็เป็นประธานกรรมการบริษัทยนตรกิจ มีออฟฟิศอยู่ใกล้ ๆ กับบ้านข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงหมั่นไปหาท่านที่นั่น พบปะพูดคุยกันบ่อย ๆ ประจวบกับตอนนั้นท่านกำลังเตรียมงานช่วยการประชุมพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกที่จะมีขึ้นในกรุงเทพฯ และกำลังให้ตีพิมพ์หนังสือ การทูต เล่ม 1 อยู่ บางครั้งท่านก็ปรึกษาหารือข้าพเจ้า หนังสือดังกล่าวเสร็จทันก่อนข้าพเจ้ากลับไปอังกฤษ ท่านได้เซ็นให้ข้าพเจ้าเป็นคนแรก และฝากไปให้ลูก ๆ ท่านด้วย ข้างข้าพเจ้าเองก็กำลังจัดพิมพ์หนังสือ สันนิบาต การประชุมนักเรียนไทยในยุโรปครั้งที่ 2 ได้ขอเรื่องของท่านมาแปล ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษอยู่ในนั้นด้วยเหมือนกัน และขอแจ้งความจากบริษัทที่ท่านเป็นประธานด้วยตามธรรมเนียม

โดยเหตุที่ข้าพเจ้ายังไม่สมัครที่จะทำงานในประเทศนี้ ประจวบกับทางวิทยุ BBC ที่กรุงลอนดอน เขาชวนให้ไปทำงานทางโน้นอีก ข้าพเจ้าจึงกราบเรียนความสมัครใจให้ท่านทราบ ทีแรกท่านไม่สู้เห็นด้วย ท่านว่าเรียนมามากแล้ว จะกลับไปทำงานที่เมืองนอกอีกทำไมกัน ครั้นข้าพเจ้าให้เหตุผลเกี่ยวกับทัศนคติของการทำงานในนี้ ซึ่งไม่มีที่จะเหมาะแก่อุปนิสัย และการกลับไปเมืองนอก จะเป็นเหตุให้เรียนวิชาเนติบัณฑิตได้อีกด้วย ท่านจึงเห็นดีด้วย และว่า ถ้าเช่นนั้นก็ใคร่ฝากให้ช่วยดูแลบุตรของท่านที่ยังเรียนอยู่ในอังกฤษ ซึ่งข้าพเจ้าก็รับภาระนี้ด้วยความยินดี แต่ก็หาต้องทำการด้านนี้เท่าไรนักไม่ เพราะไม่ช้าท่านก็ได้ออกไปเป็นเอกอัครราชทูต ที่กรุงบอนน์ ย่อมมีโอกาสได้อยู่ใกล้ชิดบุตรของท่านมากยิ่งขึ้น

การที่ท่านจะไปเป็นทูตก็ดี การที่ท่านจะรับการทาบทามให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ดี เผอิญข้าพเจ้าอยู่ที่บ้านท่านทั้งสองคราว ท่านเล่าให้ข้าพเจ้าฟังอย่างเปิดเผย ทั้งยังกรุณาแนะนำให้รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นเพื่อนฝูงของท่านอีกด้วย นอกจากนี้ท่านยังกำชับว่าไปอยู่อังกฤษแล้ว ให้หมั่นเขียนจดหมายถึงท่าน และถ้าอยากแวะเที่ยวกรุงโรม ท่านจะเขียนจดหมายฝากฝังไปยังท่านเอกอัครราชทูตผู้น้องชาย ให้ข้าพเจ้าไปพักพิงอยู่ด้วย แต่ข้าพเจ้าเห็นว่ามีเวลาอยู่เมืองไทยน้อยนัก ก็เลยขออยู่กรุงเทพฯ ให้นานอีกหน่อย กะจะเป็นตรงไปลอนดอนเลยทีเดียว แม้กระนั้นก็ยังไม่มีโอกาสได้เที่ยวงานสวนอัมพรที่ช่วยท่านจัดอยู่ ดูเหมือนจะมีงานคืนวันข้าพเจ้าออกเดินทางพอดี

ในวันที่ข้าพเจ้าออกเดินทางกลับไปอังกฤษ คุณดิเรกก็กรุณามาส่งที่บ้าน ท่านว่ากำลังวุ่นเรื่องงานกาชาด คุณหญิงจึงมาด้วยไม่ได้ เดิมตั้งใจจะไปส่งถึงดอนเมือง เลยมาได้เพียงแค่ที่บ้านเท่านั้นเอง แม้เพลงนี้ก็เป็นที่ประทับใจข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่งแล้ว

ครั้นเมื่อออกมาเป็นผู้ที่เยอรมัน ท่านมีโอกาสแวะมาที่ลอนดอนครั้งหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าได้รับใช้ท่านอยู่บ้าง ท่านตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นเลขานุการส่วนตัวโดยปริยาย มีหน้าที่ต้องจัดรายการให้ท่านพบกับผู้ดูแลนักเรียนไทย ให้ไปรับประทานอาหารกลางวันที่โซโห ไปดูละครเรื่อง My Fair Lady ไปซื้อหนังสือที่ฟอยล์และแฮตเชต กับหาร้านอาหารจีนแปลก ๆ เลี้ยงคนไทยทั้งหลายที่ท่านรู้จัก ข้าพเจ้ายินดีที่ได้ทำหน้าที่นี้และได้รับความสุขสำราญไปด้วยในตัว

การพบกับคุณหลวงปราโมทย์จรรยาวิภาชนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเรียนของบุตรท่าน ท่านผู้ดูแลฯ ก็เป็นบุคคลที่ข้าพเจ้าเคารพนับถืออยู่เป็นอันมาก ทั้งสองท่านสนทนาปราศรัยกันด้วยดี ท่านผู้ดูแลฯ เดินลงมาส่งจนหน้าสำนักงาน ส่วนรายการกินอาหารฝรั่งเศสที่โซโหนั้น เผอิญ ปีเตอร์ ฟินช์ ดาราภาพยนตร์อังกฤษ นั่งโต๊ะติดกับเรา เราพูดถึงเขา ต้องใช้อักษรไทยสะกด เพื่อไม่ให้เขารู้ เช่นว่า “ปอสระอี ตอสระเออ ฟอสระอิ นอ ชอการันต์ นั่งอยู่ข้างหลัง” ส่วนละครเรื่องสำคัญนั้น ข้าพเจ้าเคยยืนดูกับคุณวิลาศ มณีวัตมาแล้ว มาได้นั่งดูที่แพง ๆ จึงชอบใจเสียนี่กระไร และการซื้อหนังสือนั้นเล่า ดูคุณดิเรกท่านจะสนุกสนานมาก พาท่านขึ้นไปแผนกการทูตและการเมือง ท่านซื้อเอา ๆ ข้าพเจ้าหอบแทบไม่ไหว ครั้นมาถึงรายการเลี้ยงคนไทย ข้าพเจ้าไปคนได้ร้านเจ๊กตรงกันข้ามกับที่ทำงาน ซึ่งขายขนมจีบซาลาเปาในวันเสาร์อาทิตย์ นับเป็นร้านแรกในลอนดอน ดูคนไทยที่ไปกันจะพอใจ เลยเป็นเหตุให้ร้านนั้นได้ลูกค้าคนไทยมากขึ้นอีกหลายคน

 


Liverpool Street Station

 

วันท่านเดินทางกลับ ข้าพเจ้าไปส่งที่สถานีลิเวอปูลสตรีต เพราะท่านชอบใช้รถไฟและเรือยิ่งกว่าเรือบิน ท่านเอาเงินมามอบให้ไว้สำหรับตกรางวัลพวกพนักงานรถ มีพวกขนกระเป๋าเป็นต้น ท่านว่าให้คนละ 5 ชิงลิง (15 บาท) พอไหม ข้าพเจ้าตอบว่า 2 ชิงลิง 6 เพ็ญนีก็พอ ท่านกลับบังคับให้ ๆ ทั้ง 5 ชิงลิง เรื่องนี้ทำให้นึกถึงสมัยข้าพเจ้าเป็นนิสิต เวลาปิดภาคเพื่อน ๆ เขาสมัครไปเป็นคนขนของตามสถานีรถไฟ เขาเล่าว่านายซิลวินลอยด์ ซึ่งเวลานั้นเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ ให้เงินติ๊ปคนขนกระเป๋า ทีละ 5 ชิงลิงเสมอ แต่พวกเขาไม่เคยได้ พวกหน้าเก่า ๆ แย่งเอาไปหมด พวกเขาจะวิ่งเข้าไป เจ้าพวกคนประจำรีบบอกว่ารายนี้ของข้า คุณดิเรกเอง เวลาไปรถไฟ พวกพนักงานก็เอาใจดิบดี เพราะได้รับรางวัลแรง ๆ มาแล้ว ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าท่านให้ฟุ่มเฟือย เวลาท่านไปประชุมร่วมกับพวกทูตอื่น ๆ ท่านมักถามไถ่ดูก่อนว่าคนอื่น ๆ ให้กันเท่าไร จะได้ไม่ให้น้อยหน้าหรือเกินหน้าเขา แม้กระนั้นข้าพเจ้าก็ต้องยอมรับว่าท่านเป็นคนใจดี ไม่ตระหนี่เงินทอง ข้าพเจ้าเองเคยได้รับจากท่านเสมอ ๆ ต่อเมื่อทำงานได้แล้ว ข้าพเจ้าจึงปฏิเสธไม่ยอมรับจากท่าน ท่านถึงกับเคยมอบค่าลิขสิทธิ์หนังสือเล่มหนึ่งให้ข้าพเจ้าทั้งหมด ข้าพเจ้าไม่รับก็ไม่ได้ รับแล้วเลยต้องนำไปทำบุญให้ในนามของท่าน เป็นอันรอดตัวไป

สมัยที่ท่านอยู่กรุงบอนน์ ข้าพเจ้าเคยไปเยี่ยมท่านหลายครั้ง ข้ามไปจากอังกฤษ ก็บ่อย แม้กลับมาเมืองไทยแล้ว เวลาไปนอก เป็นต้องแวะไปเยี่ยมท่าน และท่านก็มักให้พักอยู่กับท่านที่บ้านเอกอัครราชทูต ให้รับประทานอาหารร่วมด้วย และถ้าว่าง ท่านยังขับรถพาเที่ยวเสียอีก นอกจากนี้ บางครั้งท่านยังให้อ่านเอกสารสำคัญ ๆ ชนิดที่พอจะเปิดเผยให้คนนอกอย่างข้าพเจ้าได้

ข้าพเจ้ารู้ดีว่าชีวิตการทูตของท่านได้รับความสำเร็จทุกแห่ง และทุกแห่งที่ท่านอยู่ ท่านต้องปรับปรุงสถานทูตให้ดีขึ้น แม้เมื่ออยู่ญี่ปุ่นท่านยังซื้ออาคารอย่างดี มาเป็นสมบัติของรัฐบาลไทย ด้วยจำนวนเงินที่ย่อมเยามาก เมื่ออยู่อังกฤษ ถึงขั้นจะไม่ได้ซื้ออาคารสถานทูตใหม่ แต่ก็ได้ขอเงินค่าเสียหายจากรัฐบาลอังกฤษ นำมาซ่อมแซมสถานเอกอัครราชทูต มิสแฮริสันเล่าให้ฟังว่า นับว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดยิ่งนัก ที่ชาติที่เป็นศัตรูสมัยสงครามเรียกเงินค่าเสียหายจากการสงครามคืนได้จากอังกฤษ ทั้งที่ญี่ปุ่นและอังกฤษ คุณดิเรกเป็นทูตอยู่ได้ไม่นาน ผิดกับเยอรมัน ซึ่งท่านอยู่จนสมใจ ได้สร้างสถานทูตใหม่ไว้อย่างงดงามสมภาคภูมิ เห็นจะเป็นเพราะเหตุนี้ด้วยและกระมังที่ท่านปฏิเสธ ไม่ยอมไปรับเป็นทูตให้ ที่สหรัฐอเมริกา แม้จะมีคำร้องมาจากเบื้องบนเป็นหลายครั้งหลายคราวแล้วก็ตามที ยิ่งขอให้เป็นรัฐมนตรีด้วยแล้ว ท่านไม่รับมาตั้งแต่ท่านลาโรงจากการเมืองเป็นต้นมา ยิ่งจะให้เป็นปลัดบัญชาการ ยิ่งรับไม่ได้เอาเลย

ผลสำเร็จทางด้านการงานของท่านนั้น ท่านมักไม่เล่าให้ข้าพเจ้าฟัง เป็นแต่ข้าพเจ้าได้ยินจากคนอื่น ๆ อีกทีหนึ่ง เช่น เมื่อไปเป็นทูตครั้งสุดท้ายนี้ ท่านมีบทบาทอันสำคัญอย่างไรในการประชุมที่นครเยรนีวาเรื่องปัญหาเมืองลาวนั้น ข้าพเจ้าได้ยินจากข้าราชการสถานทูตอังกฤษ เขาเล่าว่าอังกฤษซึ่งเป็นประธานที่ประชุมเคาะโต๊ะสั่งให้ท่านนั่งกี่ครั้งแล้วก็ตาม ท่านก็ยังขืนพูดจนหมดตามที่รัฐบาลสั่ง เรื่องนี้ ต่อมาข้าพเจ้ายังได้เห็นจดหมายของข้าราชการฝ่ายสหรัฐมีมาชมเชยท่านเป็นส่วนตัว ผลเสียอันจะเกิดมีให้แก่ฝ่ายตรงกันข้าม ท่านก็มักไม่เล่า เกรงจะเป็นการยกตนข่มท่านไป แม้ใน ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้อ่านก็ต้องใช้วิจารณญาณมาก และต้องหาเอกสารอื่นประกอบ จึงจะหาตัวโกงและตัวผู้ร้ายได้ การเจรจาเรื่องข้าวที่ท่านพูดค้างไว้ กว่าจะมาตกลงกันได้ภายหลังอย่างไร เราต้องเป็นฝ่ายเสียหายเพียงไร ไม่ปรากฏในหนังสือเล่มนั้นเลย และท่านไม่โทษใครเลย

ข้าพเจ้าเคยถามท่านว่าสมัยหนุ่ม ๆ ท่านเกะกะซุกซนบ้างไหม ท่านตอบว่าเคยเที่ยวเตร่หามรุ่งหามค่ำ ติดนางละคร จนสอบตก เจ้าคุณบิดาบริภาษครั้งเดียว ท่านเข็ดจนตาย ท่านว่าบิดาท่านสอนท่านเพียงไม่ให้โกง ให้ถือความสัตย์และให้จงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว เท่านั้นเอง และท่านก็ยึดถือตามคำสั่งสอนนี้ตลอดมา บางคนอาจจะค้านว่าถ้าเช่นนั้น ทำไมไปคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คำตอบของท่านก็คือ การกระทำครั้งนั้น หาเป็นการโค่นล้างทำลายพระราชวงศ์แต่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่ แต่ท่านก็ยอมรับว่าบางครั้งหลักการดี แต่นำไปปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล ก็มีอยู่ ข้าพเจ้าไม่เคยถามท่านว่า เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้น ท่านถือว่าเป็นความผิดพลาด หรือเป็นความสำเร็จในชีวิตของท่าน แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านทำไปด้วยใจบริสุทธิ์ และท่านรักษาความบริสุทธิ์นั้นไว้ได้โดยตลอด แม้เพื่อนร่วมงานร่วมกันหลายต่อหลายคนมิได้คงหลักการหรืออุดมการณ์ไว้ก็ตาม ทั้งยังหาผลได้เอาจากการกระทำครั้งนั้นด้วย เรื่องนี้ท่านได้แสดงความเสียใจให้ปรากฏแก่ข้าพเจ้าหลายครั้ง

จริงอยู่ คุณดิเรกก็ได้รับอำนาจวาสนาจากผลแห่งการก่อการฯ เมื่อ พ.ศ. 2475 อยู่มิใช่น้อย แต่ยศศักดิ์ต่าง ๆ นั้นมิได้มาง่าย ๆ และคุณดิเรกทำโดยเห็นแก่ชาติยิ่งกว่าเห็นแก่บำเหน็จรางวัล เมื่อสมัยมีอำนาจทางการเมืองอยู่นั้น คุณดิเรกได้เพียงสายสะพายช้าง 1 และมงกุฎ 1 เท่านั้น ที่สูงกว่านั้น ได้มาเมื่อเขาขอพระราชทานกันตามธรรมเนียมเท่านั้นเอง เผอิญคุณดิเรกกลับเข้ามาเป็นลูกจ้างของทางราชการอยู่ในระยะหลัง ก็เลยพลอยได้รับพระราชทานไปด้วย มีพิเศษอยู่หน่อยก็ตรงที่มีคนนึกถึง ทันได้รับพระราชทานดุษฎีมาลาฯ ก่อนถึงอนิจกรรม ส่วนรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 8 ที่ได้ชั้น 1 ประดับเพชรนั้น ขออย่าได้เข้าใจว่าคุณดิเรกได้รับพระราชทานเพราะเป็นคนโปรดของผู้สำเร็จราชการ หากได้เพราะทำงานเสรีไทย ชนิดเอาชีวิตเข้าแลกเป็นเดิมพัน ดูเหมือนที่ได้พร้อมกันกับท่านมีอยู่ 3 คน คือหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายควง อภัยวงศ์ และนายทวี บุณยเกตุ ท่านเคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่าผู้สำเร็จฯ ต้องการจะตอบแทนยิ่งกว่านั้น แต่เป็นอันไกล่เกลี่ยลงมาเพียงแค่นั้น เราที่อยู่หลังเหตุการณ์นั้นนาน ๆ อาจลืมจนนึกไปว่า รัตนาภรณ์ สมควรได้เฉพาะผู้รับใช้ใกล้ชิดองค์พระมหากษัตริย์เสมอไป คนจงรักภักดีอื่น ๆ แต่อยู่วงนอกออกมา เลยเห็นไม่ควรได้สูงส่งถึงเพียงนั้น จำเพาะพวกขันทีเท่านั้นจึงควรได้ยศสูง ๆ ในเรื่องนี้มีพระพุทธบรรหารไว้ว่า

 

 

อุฏ ฐานโต สตีมโต สุจิกมมสส นิสมมการิโน
สญญตสส จ ธมมชีวโน อปปมตตสส ยโสภิวฑฒติ

ยศย่อมเจริญแก่ผู้มีความหมั่น มีสติ มีการงานสะอาด มีปกติใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ มีความสำรวมระวังอยู่เป็นนิตย์ มีชีวิตอยู่โดยธรรมและมีความไม่ประมาท

 

สมัยนี้เป็นสมัยที่ได้รับเกียรติยศฟุ่งเฟ้อกันได้มากและง่าย คนที่มียศสูงกว่าคุณดิเรกมี แต่จะหาใครที่ เจริญยศ ดังพระบาลีที่ยกมานั้น เห็นจะหายาก และยศกับเกียรติก็เลยดูจะเป็นของคู่กันไป ใจข้าพเจ้านั้น เชื่อว่าคุณดิเรกมีเกียรติมากกว่ายศ และคุณดิเรกก็เจริญยศสมดังพระพุทธภาษิตนี้ทุกประการ

พูดถึงเกียรติก็เลยอยากพูดถึงปริญญากิตติมศักดิ์ ซึ่งเวลานี้ก็ได้กันง่ายมากแล้ว คุณดิเรกได้รับดุษฎีบัณฑิตทางการทูต จากธรรมศาสตร์เป็นคนแรก มหาวิทยาลัยอนุมัติให้พร้อมกับพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร อธิการบดีในเวลานี้ ที่น่ายินดีก็คือกีรติปริญญานี้มีมาสู่ท่าน เมื่อท่านหมดอำนาจทางการเมืองแล้ว และท่านก็ได้รับพระราชทานภายหลังเสด็จในกรมนราฯ

กับเสด็จในกรมพระองค์นี้ ท่านนับถือมากว่าทรงรอบรู้งาน และไม่ถือองค์ ทั้งยังทรงสั่งสอนการงานบางอย่างให้ท่านโดยไม่กินแหนงแคลงพระทัย ทรงเคยอย่างไร ก็เคยอย่างนั้น วันเกิดปีสุดท้ายของท่าน ทรงพระอุตสาหะเสด็จไปเยี่ยมท่านถึงโรงพยาบาล ดูท่านจะปลื้มใจมาก

ยังเสด็จในกรมพิทยลาภพฤฒิยากรนั้น ท่านก็เคารพหลักการยิ่งนัก สรรเสริญอยู่เสมอ เมื่อมีการแสดงศิลปไทยในเยอรมัน สมัยท่านเป็นทูตในกรมฯ เสด็จกับท่านหญิงสิบพันพารเสนอ โสณกุล พระขนิษฐา ไปประทับอยู่กับท่านที่บ้านทูต ดูท่านจะพอใจมาก ที่ทั้งสองทรงเป็นกันเองกับท่าน และทรงนับคุณหญิงปุ๋ยเป็นดังพระญาติ เมื่อท่านกลับมาจากเยอรมันแล้ว พอดีข้าพเจ้ามีส่วนร่วมจัดงานนิทรรศนะการศิลปไทย แสดงในโอกาสที่เสด็จในกรมพระองค์นี้มีพระชนม์ครบ 80 พรรษา ได้เชิญคุณดิเรกและคุณหญิง ไปงานด้วย ในคืนวันสุดท้าย ท่านก็อุตส่าห์อยู่ร่วมรับประทานอาหาร ปิดรายการแสดงครั้งนั้น ทั้ง ๆ ที่ท่านต้องงดไปงานคอนเสิร์ตที่สถานทูตเยอรมันจัดบรรเลงหน้าที่นั่ง

ตัวคุณดิเรกเองนั้น ได้มีงานแซยิดที่กรุงบอนน์ตอนครบ 60 มาทำบุญอายุ 61 เอาที่บ้านในกรุงเทพฯ เป็นงานใหญ่ได้ครั้งหนึ่ง เพื่อนฝูงเก่าแก่มากันมาก ได้มีการฉายภาพยนตร์งานที่กรุงบอนน์ให้ดูด้วย ดูนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่คุณดิเรก ท่านได้ร่วมสนุกเฮฮากับเพื่อนฝูงญาติมิตร พร้อมหน้าเป็นจำนวนมาก

เมื่อคราวที่ท่านตามเข้ามารับประทานธิบดี สหพันธรัฐสาธารณรัฐเยอรมัน ซึ่งเข้ามาเยือนประเทศไทยเป็นทางราชการ ท่านได้มอบต้นฉบับปาฐกถาต่าง ๆ ให้ข้าพเจ้าจัดพิมพ์ และให้เขียนคำนำพร้อมเสร็จ ข้าพเจ้าถือว่าเป็นเกียรติอย่างสูง จึงขออนุญาตนำมาลงซ้ำไว้ในที่นี้อีกครั้ง ดังนี้

ในวงการทูตของไทยในปัจจุบันนี้ เห็นจะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ฯพณฯ ดิเรก ชัยนามเป็นนักการทูตชั้นเยี่ยมยอดผู้หนึ่ง ดังจะเห็นได้ว่าท่านเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศถึง 3 ครั้ง และได้เป็นเอกอัครราชทูตประจำพระราชสำนักญี่ปุ่น ในขณะที่ประเทศนั้นมีบทบาททางการเมืองอันสำคัญยิ่งต่อประเทศไทย ต่อมาก็ได้เป็นเอกอัครราชทูตไทยคนแรกประจำพระราชสำนักเซนต์เยมส์ ครั้นเมื่อท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตประจำสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันไม่ทันไร สถานเอกอัครราชทูตที่กรุงบอนน์ก็ได้รับการยกย่อง จากทางราชการ ให้เป็นชั้นเอกอุ เสมอสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงลอนดอนและวอชิงตัน

หากว่าวาทะศิลป์จะเป็นคุณสมบัติอันสำคัญของความเป็นทูตแล้ว ก็ต้องนับว่า ฯพณฯ ดิเรก ชัยนาม เพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติข้อนี้ ใช่แต่เท่านั้น โดยที่ท่านเป็นผู้ใฝ่ใจใคร่ในทางการศึกษาอยู่เสมอ ประกอบกับอุปนิสัยที่ท่านเคยเป็นครูอาจารย์ ถ้อยคำที่ท่านแสดงออก จึงมักประกอบไปด้วยสุนทรกถาอันไพเราะ ทั้งมีเนื้อความอันเป็นสารัตถะ ผู้ฟังย่อมได้รับทั้งความรู้และความเพลิดเพลินพร้อมกันไปในตัว กิตติคุณของท่านในทางนี้ ก็เป็นที่รับรองกันอยู่ทั่วไป ไม่จำเพาะแต่ในประเทศ แม้ต่างประเทศก็ยกย่องนับถือท่าน ดังได้ปรากฏมาแล้วว่าสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรอังกฤษเคยเชิญท่านไปแสดงปาฐกถาตามสถาบันต่าง ๆ ในประเทศนั้น ๆ และที่พึงสังเกตก็คือ ท่านได้รับคำเชิญเป็นเอกเทศ ในขณะที่ท่านมิได้มีตำแหน่งหน้าที่ในทางราชการแต่ประการใด ต่อมา องค์การ ส.ป.อ. ก็ได้เชิญให้ท่านเป็นประธานคนแรก ไปแสดงบรรยาย ณ ประเทศฟิลิปปินส์และปากีสถาน เมื่อท่านไปเป็นเอกอัครราชทูตลาวหลังนี้ ท่านก็มักได้รับเชิญให้ไปแสดงปาฐกถาตามมหาวิทยาลัย สมาคมและสถาบันต่าง ๆ ในประเทศเยอรมนีเนือง ๆ แม้เมื่อท่านมีราชการกลับเข้าประเทศไทยเป็นครั้งคราว ก็มักมีหน่วยราชการและองค์การส่วนบุคคลต่าง ๆ เชิญให้ท่านพูดเสมอ ๆ ดังเช่นเมื่อคราวเข้ามาร่วมต้อนรับประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเมื่อเร็ว ๆ นี้ท่านก็มีจิตต้องไปแสดงประทับทาติด ๆ กันถึง 3 แห่งคือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรและที่สโมสรโรตารี่ธนบุรี

โดยที่เห็นว่าปาฐกถาต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นเรื่องประเทืองปัญญา เหมาะแก่สิกขกามิกบุคคลทั้งหลาย ข้าพเจ้าจึงได้ขออนุญาตต่อ ฯพณฯ ดิเรก ชัยนาม เพื่อนำมารวมจัดพิมพ์เป็นเล่ม ซึ่งท่านก็กรุณามอบให้ดังประสงค์ ทั้งนี้นับว่าเป็นพระคุณอันสูง

ที่น่าอัศจรรย์อีกประการหนึ่งเกี่ยวกับปาฐกถาของ ฯพณฯ ดิเรก ชัยนาม ก็คือ ไม่ว่าท่านจะแสดงปาฐกถาเป็นภาษาไทยหรืออังกฤษก็ตาม ท่านมักถอดความออกเป็นอีกภาษาหนึ่งไว้ด้วย ในการจัดพิมพ์คราวนี้ จึงได้ให้เรียงพิมพ์ภาษาอังกฤษบางฉบับ คู่ไว้กับภาษาไทยด้วย เพื่อนักศึกษาจะได้ใช้เทียบดู เป็นประโยชน์เพิ่มเติมออกไป

อนึ่ง ปาฐกถาต่าง ๆ ของ ฯพณฯ ดิเรก ชัยนาม นั้น มีสำนักพิมพ์บางแห่งเคยขอไปตีพิมพ์ไว้บ้างแล้ว แต่ที่จัดพิมพ์คราวนี้มิได้ซ้ำกับที่แล้ว ๆ เลย หากรวมปาฐกถาล่าสุดไว้ด้วย จึงให้ชื่อว่า รวมปาฐกถาชุดใหม่ ของศาสตราจารย์ดิเรก ชัยงนาม

เสียดายที่สำนักพิมพ์ไม่จัดพิมพ์ให้เรียบร้อยเท่าที่ควร เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าต้องขัดเคืองใจต่อมาอีกนาน แต่เมื่อท่านมอบหนังสือให้ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีเยอรมัน ทั้งสองท่านนั้นตอบมาอย่างน่าปลื้มใจมาก

การที่ข้าพเจ้าออกนิตยสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ นั้น ครั้งหนึ่งท่านไม่พอใจข้อเขียนของข้าพเจ้า แต่ก็ได้เขียนมาตักเตือนอย่างผู้ใหญ่ด้วยความหวังดี

ในฐานะฉันเป็นผู้ใหญ่และรู้จักรักใคร่เธอมาช้านาน เพราะบิดาของเธอกับฉันรักกันมาก จึงขอถือโอกาสนี้แนะนำเล็กน้อย…การวิจารณ์ใคร ๆ ในฐานฉันเป็น Rotarian และพุทธศาสนิกชน เธอต้องนึกเสมอว่า Is it the truth? Is it fair to all concerned? เธอก็เป็นนักกฎหมาย การวิจารณ์ใคร ๆ ต้องมีหลักฐานที่มั่นคง มิฉะนั้นจะต้อง give benefit of the doubt ให้จำเลย และการวิจารณ์ ก็ไม่ควรวิจารณ์ว่าทั้งหมู่ทั้งคณะ ใครผิดก็ว่ากันเป็นคน ๆ ไป จึงจะยุติธรรม พูดทำไม มีสมาชิกคณะราษฎร ดีก็มี เลวก็มี เป็นต้น หรือในครอบครัวใด ก็ย่อมมีทั้งคนดีและไม่ดี พี่น้องคลานตามกันมา ยังมีที่ดีก็มี ที่ตรงข้ามก็มี

จดหมายนี้ส่อให้เห็นว่า ข้าพเจ้าเคารพนับถือท่านเพียงใดก็ตาม แต่ข้าพเจ้าหานับถือหัวหน้าทางฝ่ายพลเรือนในคณะราษฎรนั้นไม่ ในเรื่องนี้ เวลาคุยกัน ข้าพเจ้าไม่กล้าที่จะซักไซ้ถึงท่านผู้นั้นเอาเลยทีเดียว และเหตุการณ์บางอย่างที่เกี่ยวกับท่านผู้นั้น ข้าพเจ้าก็ไม่กล้าเอ่ยถึง เป็นแต่บางครั้งท่านเล่าให้ฟังเอง เช่นในกรณีที่ท่านออกหนังสือเดินทางให้ท่านผู้นั้น เป็นต้น ในเรื่องนี้ท่านมีเหตุผลอย่างสมบูรณ์ ซึ่งแสดงทั้งความกล้าในส่วนตัวท่านเอง ทั้งท่านยังรับผิดชอบกับการกระทำนั้น อันเป็นเหตุให้ฝ่ายตรงข้ามพากันคิดจะหาเหตุเอากับท่านต่อมาอีกช้านาน การที่ข้าพเจ้าไม่กล้าเรียนถามประวัติและเรื่องราวบางตอนเกี่ยวกับตัวท่านนั้น นับว่าน่าเสียดายที่ทำให้ข้าพเจ้าขาดความรู้ทางประวัติศาสตร์ ที่สำคัญบางประการไปอย่างจะหาอีกไม่ได้แล้ว ที่ข้าพเจ้าไม่กล้าซักท่านแรง ๆ ในบางเรื่องก็เพราะเกรงใจท่านนั้นแลเป็นที่ตั้ง ต่อมาเมื่อท่านหายเจ็บครั้งแรก ท่านเอ่ยปากขึ้นเองว่า ถ้าท่านหายดีกว่านั้น ท่านอนุญาตให้ข้าพเจ้าไปซักท่านทุกเรื่องในทุกแง่ทุกมุม ที่ข้าพเจ้าใคร่จะรู้ แม้กลับเข้าโรงพยาบาลคราวหลังนี้แล้ว ท่านยังพูดขึ้นอีกต่อหน้าคุณทวี บุณยเกตุ การที่ท่านไม่ฟื้นคืนดีขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าเศร้าใจยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ

ข้อเขียนของข้าพเจ้าที่ทำให้ท่านพอใจก็มีอยู่ เช่นคราวหนึ่ง ข้าพเจ้าลงข้อเขียน ว่าด้วยบุคคลคนหนึ่ง ดูท่านจะพอใจมาก ท่านบอกว่าเรื่องนั้นเป็น talk of the town คือใคร ๆ ก็เอ่ยถึง ท่านชมว่าดีมาก เรื่องในทางศาสนาที่ข้าพเจ้าเขียนว่าด้วยธรรมยุติและมหานิกาย ท่านก็ชมเชยว่า พระทั้งสองนิกายพอใจในข้อเขียนนั้น ต่อมา ข้าพเจ้านำหนังสือประมวลบทความของข้าพเจ้าเองไปมอบให้ท่าน ท่านก็พอใจอ่าน ข้าพเจ้าเลยย่ามใจ ถึงกับขอให้ท่านเขียนคำนำให้แก่หนังสือเล่มใหม่ ซึ่งท่านก็รับทำให้ด้วยความเต็มใจ ทั้ง ๆ ที่ท่านเจ็บมากแล้ว ท่านจึงให้แนวให้ข้าพเจ้าไปร่างมา เพื่อท่านจะตัดเติมแก้ไขให้เป็นสำนวนของท่าน ในด้านร่างหนังสือเช่นนี้ ข้าพเจ้ามีโอกาสรับใช้ท่านอยู่บ้างเป็นบางครั้ง

เมื่อคราวสำนักกลางนักเรียนคริสเตียนเชิญท่านไปเป็นประธาน ในพิธีเปิดงาน ข้าพเจ้าก็มีส่วนร่วมเป็นนายหน้า ให้พวกนักศึกษาเขา ดูเขาจะพอใจมากที่ท่านกรุณามาร่วมงานอย่างเป็นกันเอง และดูท่านจะเข้าใจเยาวชนรุ่นหลังได้ดีกว่าคนรุ่นเดียวกับท่านคนอื่น ๆ ที่เห็นเด็กที่มีมติผิดไปจากตน ก็เลยมองเยาวชนไปในแง่ร้าย ในเรื่องนี้ผู้แทนนักศึกษากล่าวสรรเสริญท่านไว้ว่า

ที่กระผมใคร่ขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งก็คือ ฯพณฯ ซึ่งกรุณามาเป็นเกียรติในพิธีเปิดของเราเช้าวันนี้ การที่คณะกรรมการกราบเรียนเชิญ ฯพณฯ มา ณ ที่นี้ ก็เพราะเห็นว่า ฯพณฯ เป็นรัฐบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งได้ใช้ชีวิตเพื่อความพัฒนาของประเทศอย่างแท้จริง และในการรับใช้ประเทศชาตินั้น ฯพณฯ ได้ยึดหลักความรับผิดชอบทางจริยธรรมเป็นประการสำคัญตลอดมา ถึง ฯพณฯ จะเป็นพุทธศาสนิกชน แต่ก็ปรากฏว่า ฯพณฯ เป็นผู้มีใจคอกว้างขวางยกย่องศาสนาที่ดีอื่น ๆ อยู่เสมอ ดังปรากฏในข้อเขียนของ ฯพณฯ เนือง ๆ ว่า ฯพณฯ ยกย่องหลักธรรมของฝ่ายคริสตศาสนาอยู่มิใช่น้อย เช่นกรณีที่คณะสรรเสริญหนังสือเรื่อง Man's Great Concern ของฝ่ายนิกายโรมันคาทอลิก เป็นต้น

และท่านกล่าวตอบดังนี้

ข้าพเจ้าขอขอบคุณที่ท่านกรุณาให้เกียรติเชิญข้าพเจ้า มาทำพิธีเปิดการสัมมนาในวันนี้ และที่ท่านกล่าวว่า ข้าพเจ้ายกย่องศาสนาที่ดีต่าง ๆ นั้น ข้าพเจ้าเห็นเป็นความจำเป็นศาสดาของทุกศาสนาล้วนเป็นผู้มีใจคอกว้างขวาง มีเมตตากรุณาแก่เพื่อนมนุษย์และสัตวโลกพวกเราที่เป็นศาสนิกชน หากยึดมั่นในธรรมคำสั่งสอนของพระศาสนาของตน ก็ไม่ควรที่จะดูถูกดูแคลนความเชื่อถือของผู้อื่น ยิ่งถ้าร่วมมือร่วมใจกันประพฤติปฏิบัติชอบ ก็ยิ่งเป็นคนความดีที่จะเป็นกำลังแก่สังคมกว้างขวางออกไปยิ่งขึ้น เพราะหลักศีลธรรมจรรยาของทุกศาสนาที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันนั้น ล้วนเป็นหลักที่ดีคล้าย ๆ กันแทบทั้งสิ้น ข้อสำคัญอยู่ที่เราแต่ละคนควรนำหลักธรรมนั้น ๆ มาใช้ การกระทำใด ๆ ถ้าขาดหลักในทางจริยธรรมเสียแล้ว ย่อมจะดีไปไม่ได้ตลอด เพราะมนุษย์โดยปกติเห็นแก่ตัว แต่จริยธรรมไม่ว่าจะในแง่ของพุทธศาสนิกชน คริสตศาสนิกชน หรือในแง่ของสามัญชน ล้วนช่วยให้มนุษย์เห็นแก่ตัวน้อยลง เห็นแก่มหาชนในวงกว้างออกไปมากขึ้น ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงมีความคิดเห็นว่าจริยธรรมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมมนุษย์ เพราะจริยธรรมช่วยให้เรารู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรดีอะไรชั่ว อะไรควรและอะไรไม่ควรประพฤติปฏิบัติ ทั้งในที่แจ้งและที่ลับ กับเป็นเครื่องสอนใจให้แต่ละคนรู้จักละอายต่อความชั่ว รู้สึกพอใจกับความดีด้วย มิใยที่คนอื่น ๆ หรือสังคมจะเห็นเช่นนั้นด้วยหรือไม่ก็ตาม

การที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียนจัดสัมมนาขึ้นเช่นนี้ เป็นการชอบอย่างยิ่ง ขออนุโมทนา เพราะประเทศเรานั้น กำลังพัฒนาอยู่อย่างไม่หยุดยั้ง การพัฒนาประเทศนั้น ต้องพัฒนาทั้งทางวัตถุธรรมและจริยธรรมพร้อม ๆ กันไป และการพัฒนา จะปล่อยให้รัฐบาลแบบภาระแต่ผู้เดียว ไม่ควร เราทุกคน โดยเฉพาะที่เป็นปัญญาชน คือผู้ที่รู้จักใช้ความคิด ความอ่าน อันส่วนมากย่อมได้แก่ครูอาจารย์และนิสิตนักศึกษา ควรช่วยรัฐบาลพัฒนาประเทศ และที่สำนักกลางคริสเตียนทำการอยู่ปัจจุบันนี้ ก็นับว่ามีส่วนช่วยพัฒนาประเทศส่วนหนึ่งเหมือนกัน ว่าเฉพาะการสัมมนาคราวนี้ ก็รู้สึกว่าจัดดี คือให้มีอาจารย์มาช่วยเป็นที่เลี้ยงและแนวทางให้นิสิตนักศึกษา ได้ออกความเห็นของตนเอง และก่อนหน้านั้นก็จะได้เชิญท่านผู้ทรงคุณวุฒิและจริยวุฒิในทางของท่านมาแสดงบรรยายนำ เป็นทำนองก่อให้เกิดความคิดขึ้นก่อน นับว่าเป็นวิธีที่แยบคายมาก ท่านทั้งสามนี้ก็ล้วนทรงไว้ ซึ่งความดีและความสามารถด้วยกันทั้งสิ้น เช่น ท่านอาจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ นั้น ข้าพเจ้ารู้จักนับถือกันมาช้านานร่วม 50 ปี นอกจากท่านจะดำรงไว้ ซึ่งความยุติธรรมอย่างสมแก่ตำแหน่งอันสูงยิ่งในทางศาล และรับผิดชอบโดยตรงอยู่ทางพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยแล้ว ท่านยังเป็นผู้ที่นำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัติอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย อีกนัยหนึ่งคือท่านสอนและท่านปฏิบัติตามที่ท่านสอนด้วย สำหรับอาจารย์หมวก ไชลังการณ์  เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ ก็เป็นอาจารย์ที่มีลูกศิษย์ลูกหามาก ศิษย์ทั้งหลายพากันยกย่องว่าท่านเป็นครูที่ดีและ เป็นแบบอย่างของคริสศาสนิกชนที่ดีด้วย ดร. ป่วยอึ้งภากรณ์ นั้นเล่า ข้าพเจ้าก็รักและชอบพอกับท่านมาร่วม 25 ปี ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศยอมยกให้ว่าท่านเป็นปราชญ์ผู้หนึ่ง และเป็นผู้ที่มีหลักจริยธรรมนำชีวิตการงานของท่านตลอดมา จนถึงกับได้รับรางวัลแมกไซไซ ประเภทเป็นผู้รับใช้ชาติบ้านเมืองด้วยความสามารถและซื่อสัตย์สุจริต เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งสามท่านนี้ ล้วนมีส่วนนำหลักจริยธรรมของท่านมาช่วยในการพัฒนาประเทศอยู่ตลอดเวลา นับว่าท่านเป็นแบบอย่างแก่นิสิตนักศึกษาได้โดยแท้ ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงหวังว่าการสัมมนาคราวนี้ คงจะไม่มีผลเพียงกระตุ้นให้ปัญญาชนรุ่นเดียวของเรา แสดงทัศนะของตนออกมาหรือเพียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันและกันเท่านั้น ข้าพเจ้าขอหวังต่อไปด้วยว่า การสัมมนาคราวนี้คงจะเน้นให้ผู้ที่เข้าร่วมทุกคนเห็นความจำเป็นในทางจริยธรรมว่า เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ และทุก ๆ คนคงจะช่วยกันเผยแพร่ความคิดนี้ออกมาในรูปปฏิบัติ และขยายวงของผู้ที่คิดเช่นนี้ ทำเช่นนี้ กว้างขวางออกไปทุกที โดยเฉพาะในขณะที่นิสิตนักศึกษาเหล่านี้ จะไปมีส่วนรับผิดชอบกับประเทศยิ่งขึ้นต่อไปในกาลข้างหน้า

ปีนี้เขาก็อยากเชิญท่านมาร่วมอีก แต่เผอิญท่านเริ่มป่วยหนักเสียแล้ว ในระหว่างที่ท่านเจ็บอยู่บ้านและโรงพยาบาล ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมบ่อยครั้ง ทุกครั้งท่านเป็นต้องคุยด้วยอย่างสนุก จนถึงกับต่อมาต้องถูกห้ามเยี่ยม ด้วยเกรงกันว่าท่านคุยกับข้าพเจ้ามากเกินไป ทำให้เหนื่อย เป็นภัยสำหรับคนเจ็บ แต่เรื่องที่เราคุยกันก็มักเป็นเรื่องหนังสือ และเรื่องเหตุการณ์ทั่ว ๆ ไป ข้าพเจ้าต้องการเพียงให้ท่านเพลิดเพลินเจริญใจเท่านั้นเอง ทั้งท่านก็ดูห่วงหนังสือมาก เคราะห์ดีที่งานนิพนธ์ชุดล่าสุดทั้งสองตีพิมพ์ออกมาได้ให้ทันท่านชมเชยทั้งคู่

วันเกิดท่านศกนี้ กำหนดกันไว้แล้วว่าจะทำบุญเลี้ยงพระ แต่แล้วโรคภัยไข้เจ็บก็ไม่อนุญาตให้ทำได้ ถ้าทำ ข้าพเจ้าก็ย่อมต้องรับหน้าที่ปรนนิบัติพระเช่นเคย เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงเปลี่ยนเป็นเขียนเรื่องเกี่ยวกับท่านและครูของท่าน คือเจษฎาจารย์ ฟ. ฮี่แลร์ ซึ่งเกิดร่วมวันเดือนกัน ไปลงในหนังสือพิมพ์ ชาวไทย ดูท่านจะพอใจมาก เมื่อกลับจากเยอรมัน ก็อุตส่าห์ซื้อไม้ตะพดมาฝาก คุณครูฮีแลร์เองก็ยกย่องสิทธิ์ผู้นี้มาก ถึงกับติดรูปไว้ในห้องที่ท่านทำงานร่วมกับรูป นายควง อภัยวงศ์ หลวงอดุลเดชจรัส และเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์

สิ่งสุดท้ายที่ข้าพเจ้ากระทำให้เป็นที่พอใจคุณดิเรก ก็คือรายการโทรทัศน์ ที่สมาคมภาษาและหนังสือเชิญให้ข้าพเจ้าไปพูด เกี่ยวกับเรื่อง ไทยกับสงครามโลกครั้งที่สอง ของท่าน ข้าพเจ้าได้ถือโอกาสสอดแซกแเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ท่านมอบให้สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์เข้าไปในรายการด้วย น้องชายท่านคนหนึ่งจดโน้ตรายการนั้นไว้ แล้วนำไปเล่าให้ท่านฟัง ทราบว่าท่านยิ้มแย้มแจ่มใส ทั้ง ๆ ที่เวลานั้นร่างกายท่านอ่อนเปลี้ยอยู่มาก ยังพูดรอว่าสุนัขโฆษณาหนังสืออีกแล้ว เราออกรายการโทรทัศน์กัน วันที่ 26 เมษายน พอวันที่ 1 พฤษภาคม คุณดิเรก ชัยนาม ก็จากเราไป

ก่อนท่านจะจากไป หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล รับสั่งกับข้าพเจ้าว่า ถ้าคนดิเรกเป็นอะไรไป ท่านจะทรงยินดีจัดการศพประทาน ข้าพเจ้าไม่กล้าเรียนให้คุณหญิงปุ๋ยทราบ จนแล้วจนรอด และแล้วท่านหญิงก็เสด็จไปตากอากาศที่วังหัวหิน เสด็จกลับมาวันที่ 1 พฤษภาคม ก็เสด็จไปเยี่ยมคุณดิเรกที่ศิริราชพยาบาลในวันนั้นเอง พอไปถึง คุณดิเรกก็สิ้นลมปราณเสียแล้ว ท่านหญิงเลยได้มีโอกาสประธานความสงเคราะห์ในด้านจัดการศพ ต่อมาได้รับสั่งกับข้าพเจ้าว่า คุณดิเรกเป็นก่อการคนแรกที่ทรงช่วยจัดส่งประทาน แม้ก่อนหน้านั้น ก็รับสั่งอยู่เสมอว่าในบรรดาพวกก่อการนั้น ไม่กริ้วคุณดิเรกเลยทรงเห็นว่าเป็นคนดีที่ทำการ เพื่อประเทศชาติยิ่งอื่นใด

คนที่คิดอย่างท่านหญิงใหญ่องค์นี้เห็นจะมีมาก แม้เขานั้น ๆ จะไม่รู้จักคุณดิเรกอย่างใกล้ชิด ก็ตามที ใครที่รู้จักท่านมาก ๆ จะยิ่งรู้สึกว่าท่านเป็นคนไม่ทำบาปเอากับใครเลย ท่านมีหิริโอตัปปะประจำใจ ยึดในหลักของกรรมอย่างมั่นคง ท่านเคยบอกกับข้าพเจ้าว่า เดิมท่านไม่เชื่อว่านักการเมืองรุ่นหลังเขาจะโกงกันได้มากมาย และโจ๋งครึ่มถึงเพียงนี้ ตัวท่านเองเพียงได้อะไรฟรี ๆ ชนิดที่ไม่มีใครเดือดร้อน ท่านยังรับไม่ได้ แม้จะไม่เคยบทเรียน แต่ท่านก็สนิทสนมกับพระภิกษุสงฆ์ โดยเฉพาะกับวัดบวรนิเวศ ด้วยสมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงเป็นลุงคุณหญิงอยู่ด้วย ท่านเจ้าคุณพรหมมุนีถึงกับช่วยจัดการให้หล่อพระพุทธชินราชจำลองขนาดเท่าตัวท่าน ยังตั้งเป็นประธานอยู่ในห้องประชุมมหามกุฏราชวิทยาลัยในขณะนี้ นอกจากนี้ท่านยังแสดงปาฐกถาถวายพระและพูดเรื่องพุทธศาสนาให้ชาวต่างประเทศฟังเนือง ๆ ในทางวิชาการ ท่านก็เอาใจอยู่เสมอ แม้คนที่เรียนมามากกว่าท่าน ก็ยังยกย่องท่านว่าขยันเขียน ในทางการเมือง แม้คนที่เคยตั้งตนเป็นศัตรูกับท่าน ก็ต้องอโหสิให้ เพราะท่านไม่ยอมเป็นภัยกับใคร สำหรับคนที่ร่วมงานกับท่านมามาก ๆ ย่อมจะรู้ดีว่าท่านสุขุมเพียงไหน ใจดีเพียงไหน แต่ก็เท่าทันคนด้วยเช่นกัน ท่านเปิดทางให้ลูกน้อง ช่วยพยุงลูกศิษย์ รักมิตรและญาติอย่างปราศจากความริษยาอาธรรม์ ทั้งยังทรงไว้ซึ่งความจงรักภักดีกับพระราชามหากษัตริย์และพระราชวงศ์ ยิ่งกับครอบครัวของท่านเองด้วยแล้ว ท่านต้องประสงค์ความราบรื่นเหนือสิ่งอื่นใด ไม่ไปมีเมียน้อยเมียเก็บไว้ที่ไหนเลย และท่านเสียสละเพื่อลูก ๆ เพียงไหน ก็เห็นจะไม่จำเป็นต้องกล่าว

ข้าพเจ้าเองเป็นคนอยู่นอกสังกัดต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว แต่ก็ได้มีโอกาสสังเกตคุณธรรม ของคนดิเรก โดยใกล้ชิด มาเป็นเวลาหลายปี จนถึงกับสรุปลงได้ว่าท่านเป็นคนดีของกรุงศรีอยุธยาอย่างแท้จริง

 

 

อจฉิททวติ เมธาวิ ปญญาสีลสมาหิต
นิกข ชมโพนทสเสว โกต นินทิตุมรกิต
ทวาปี นปสสนติ พรหมุนปี ปสสิโต

บุคคลผู้เป็นปราชญ์ มีความประพฤติหาช่องที่จะต้องตำหนิมิได้ ตั้งอยู่ในปัญญา คือความฉลาดรู้เท่าเหตุผล แลศีล คือความประพฤติตนตามระเบียบของหมู่คณะ ใครเล่าจะติบุคคลนั้น ซึ่งบริสุทธิ์ดุจทองชมพูนุททั้งแท่ง แม้เทวดาก็ย่อมชม ถึงพรหมก็สรรเสริญ

 

ส. ศิวรักษ์

 

หมายเหตุ :

  • บทความชิ้นนี้มีการปรับปรุงชื่อโดยกองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์จาก “นายดิเรก ชัยนาม ที่ข้าพเจ้ารู้จัก” เป็น “คุณดิเรก ชัยนาม ตามทัศนะของคนรู้จัก ตอนที่ 4 : ที่ข้าพเจ้ารู้จัก สุลักษณ์ ศิวรักษ์”

เอกสารอ้างอิง

  • ทวี บุณยเกตุ, นายดิเรก ชัยนาม ที่ข้าพเจ้ารู้จัก, นายดิเรก ชัยนาม ตามทัศนะของคนรู้จัก, ม.ป.พ., หน้า 55-78.

บทความที่เกี่ยวข้อง