Focus
- การตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเอกอัครราชทูตของอาจารย์ดิเรก ชัยนาม หลังเหตุการณ์รัฐประหารพ.ศ. 2490 แม้ไม่มีความจำเป็นทางราชการ แสดงให้เห็นถึงจริยธรรมและความยึดมั่นใน "เกียรติ" ของท่าน ซึ่งสำคัญกว่าประโยชน์ส่วนตน การตัดสินใจเช่นนี้เกิดจากความกล้าหาญที่ใช้เหตุผลเอาชนะความกลัว

ดิเรก ชัยนาม

ป๋วย อึ๊งภากรณ์
ผมได้มีความสนิทสนมเป็นพิเศษกับอาจารย์ดิเรก ชัยนาม สามระยะระยะแรกระหว่างสงครามญี่ปุ่น เมื่ออาจารย์ดิเรก เป็นเสรีไทยชั้นอาวุโสและได้เดินทางไปเจรจาทางลับกับกองบัญชาการสัมพันธมิตร ที่กรุงแคนดี ระยะที่สอง เมื่ออาจารย์ดิเรกเป็นเอกอัครราชทูตไทย (คนแรก) ณ กรุงลอนดอน หลังสงคราม ขณะนั้น ผมเป็นนักศึกษาอยู่ที่อังกฤษ และระยะที่สาม เมื่ออาจารย์ดิเรกเป็นคณบดีรัฐศาสตร์ อยู่ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ท่านได้เรียกผมให้ร่วมเป็นกรรมการประจำคณะ นอกจากสามระยะนี้ ความสัมพันธ์ก็คงมีอยู่ตลอดเวลา แต่มิได้มีความสนิทสนมเป็นพิเศษ เพราะมักจะอยู่ห่างไกลกันและมีการดํารงชีวิตและอาชีพไปคนละทาง
เรื่องที่จับใจมากที่สุดเกี่ยวกับอาจารย์ดิเรกคือ เมื่อท่านจะตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ขณะนั้นเป็นปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เกิดรัฐประหารและมีการเปลี่ยนรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ในฐานะเอกอัครราชทูตซึ่งเป็นตำแหน่งราชการประจํา อาจารย์ดิเรกไม่จำเป็นที่จะต้องลาออก แต่ข้อคิดที่ว่าจะลาออกนั้นเกิดขึ้นทันที เพราะเหตุใด
ผมพอจะทราบเหตุผลเหล่านี้บ้าง เพราะขณะนั้นผมได้ไปที่สถานทูตบ่อย อาจารย์ดิเรกกับคุณปุ๋ยท่านเมตตา เรียกไปรับประทานอาหารด้วยเสมอ และคุยกันถึงเรื่องต่าง ๆ ในเวลานั้น เผอิญคุณบุณย์ เจริญไชย ก็เดินทางไปแวะที่ลอนดอนด้วย จะเป็นจากกรุงเทพฯ ไปสวิตเซอร์แลนด์หรือจากสวิตเซอร์แลนด์จะกลับประเทศไทย ผมจำไม่ได้ จำได้แต่ว่าอาจารย์ดิเรกปรารภกับเราทั้งสองถึงข้อดำริว่าจะลาออก

การที่รัฐบาลส่งอาจารย์ดิเรกไปเป็นเอกอัครราชทูตที่ลอนดอนนั้นก็เนื่องด้วยเมื่อเลิกสงครามใหม่ ๆ ประเทศไทยมีปัญหาสำคัญ ๆ กับสหราชอาณาจักรอยู่มาก ทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากสัญญาสมบูรณ์แบบซึ่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว และเนื่องจากอาจารย์ดิเรกได้เป็นเสรีไทยชั้นอาวุโส ได้คบค้ากับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของอังกฤษอยู่มาก ความเห็นอกเห็นใจกันย่อมมีอยู่ เป็นประโยชน์แก่ราชการด้านของไทยยิ่งนัก ฉะนั้น แม้ว่าอาจารย์ดิเรกจะได้เคยดํารงตำแหน่งการเมืองมาแล้ว และการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตที่มีเหตุการเมืองแทรกแซงก็มีอยู่เนือง ๆ ก็ตาม เหตุผลข้อใหญ่ในการเลือกอาจารย์ดิเรกไปเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ย่อมเห็นประจักษ์ว่ามิใช่เพื่อประโยชน์ในด้านการเมืองภายในประเทศและมิใช่เป็นบำเหน็จรางวัลส่วนบุคคลแก่ผู้ที่ได้ร่วมงานการเมืองกับบุคคลผู้มีอํานาจในรัฐบาล แต่เป็นการเลือกแต่งตั้งในฐานที่เป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุด ที่จะทำประโยชน์แก่ราชการในขณะนั้น
ถ้าพูดถึงเหตุผลส่วนตัวในด้านที่ไม่ควรจะลาออก ก็มีอยู่มากข้อด้วยกัน ข้อแรก อาจารย์ดิเรกเพิ่งรับตำแหน่งนี้ไม่นานนัก กำลังเริ่มจะเห็นผลของการงานที่ปฏิบัติ และกำลังรู้สึกสนุก เมื่อลาออกก็เป็นการเสียสละในด้านจิตใจส่วนตัว อนึ่ง การลาออกในครั้งนั้น อาจจะถูกเพ่งเล็งไปในทางมิชอบ มิควร จากรัฐบาลใหม่ เพราะมีผู้ระแวงเสมอ ว่าการลาออกนั้นเท่ากับเป็นการประท้วงการกระทำของคณะรัฐประหาร และเป็นการสนับสนุนคณะธำรง นาวาสวัสดิ์ - ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลใหม่ เมื่อลาออกก็เป็นการเสียสละในด้านความปลอดภัยส่วนตัวด้วย การเสียสละอีกข้อหนึ่งซึ่งอาจารย์ดิเรกไม่ได้ปรารภกับผม แต่ผมก็เห็นชัดแจ้งอยู่ คือการเสียสละในด้านบุตรและทรัพย์สิน อาจารย์ดิเรกไม่ใช่เป็นผู้ที่ร่ำรวย ไม่มีทรัพย์สมบัติเหลือล้นที่จะทำอะไรได้โดยไม่ต้องคิดหน้าคิดหลัง เมื่อท่านไปอังกฤษนั้น ท่านพาบุตรที่อยู่ในวัยศึกษาไปด้วยสามคน เป็นโอกาสที่จะได้สนับสนุนให้บุตรของท่านได้เริ่มเล่าเรียนดี ๆ โดยไม่ต้องชักเนื้อมากนัก เมื่อลาออก จะทำอย่างไรกับบุตรทั้งสามนั้น และท่านกลับมากรุงเทพฯ แล้ว ท่านจะทำอะไรให้ได้รายได้พอที่จะสนับสนุนการศึกษาของบุตรท่านต่อไป ข้อนี้ย่อมเป็นที่หนักใจมาก ถึงแม้ว่าอาจารย์ดิเรกจะไม่นำมาคำนึงเป็นข้อสำคัญ ตามวิสัยของผู้ที่คิดชอบและมุ่งแต่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่
เหตุผลสำคัญที่อาจารย์ดิเรกยกขึ้นคัดค้านเหตุผลอื่น ๆ ดังกล่าวมาข้างต้นที่ผมจำได้ติดหู คือ “สำคัญที่เกียรติ” เกียรติต้องมาก่อนอื่น เกียรติที่มีต่อรัฐบาลไทยหรือผู้ที่มีอำนาจในราชการครั้งนั้น เขาจะมีความไว้วางใจท่านเพียงใดหรือไม่ ถ้าไม่ไว้วางใจ เพียงแต่ปล่อยให้ดำรงตำแหน่งไปพลาง ก็เท่ากับอาจารย์ดิเรกด้านอยู่ในตำแหน่ง เป็นการขัดกับหลักการเรื่องเกียรติ เกียรติอีกด้านหนึ่งเป็นเกียรติที่วงราชการของอังกฤษยกย่องให้แก่อาจารย์ดิเรกเพียงใด ทั้ง ๆ ที่วงราชการ อังกฤษทราบอยู่ดีว่า อาจารย์ดิเรกสังกัดพรรคที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาล ถ้าอาจารย์ดิเรกมิได้อยู่เป็นทูตที่ลอนดอน หากอยู่ในกรุงเทพฯ ก็คงจะถูกคุมตัว หรือหลบหนี หรืออาจจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตอย่างคนอื่น ๆ ก็ได้ ถ้าอังกฤษเห็นอาจารย์ดิเรกค้านอยู่ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีทางที่รัฐบาลไทยจะให้ความไว้วางใจแล้ว อังกฤษจะให้ความเชื่อถือแก่อาจารย์ดิเรกอย่างไรได้ ทั่วโลกจะรับนับถืออาจารย์ดิเรกได้อย่างไร ข้อคำนึงที่เกี่ยวกับเกียรติอีกข้อหนึ่งก็คือ อาจารย์ดิเรกได้ร่วมเป็นร่วมตายกับเพื่อนฝูงของท่านในสงครามซึ่งเสร็จสิ้นไปหยก ๆ ในขณะที่เพื่อนฝูงตกอับไร้วาสนา แตกฉานซ่านเซ็น อาจารย์ดิเรกจะมาลอยนวลเป็นเอกอัครราชทูตอยู่ ถือโอกาสเพื่อรักษาตัวรอด รักษาความปลอดภัย ทั้งส่วนตัวส่วนครอบครัว จะอยู่ดูหน้ามิตรสหายทั้งหลายอย่างไรได้
อาจารย์ดิเรกสรุปข้อตัดสินใจของท่านเพียงสั้น ๆ “สําคัญที่เกียรติ”
ในฐานที่เคยอยู่ใกล้ชิด ผมทราบดีว่า อาจารย์ดิเรกไม่ใช่คนกล้าบ้าบิ่น ท่านมีสัญชาตญาณเป็นมนุษย์ธรรมดา คือมีความขาดกลัวความไม่อยากเสี่ยงพอสมควร จะทำอะไรก็ต้องคิดให้รอบคอบ ดูหน้าดูหลัง ไม่ใช่จะหลับหูหลับตาเสี่ยงชีวิต ทรัพย์สมบัติ หรือความสุขสบายเสียเรื่อยไป บุคคลชนิดนี้ เมื่อจะข่มสัญชาตญาณด้านความขลาดกลัวได้ด้วยเหตุผล และตัดสินใจทำอะไรไปในด้านเสียงแล้ว ท่านต้องระดมเรียกความกล้าหาญของท่านเป็นพิเศษ ความกล้าหาญที่เกิดจากเหตุผลจนระงับความขลาดได้เป็นความกล้าหาญอันยิ่งยอด และในกรณีของอาจารย์ดิเรกนี้ ก็สําคัญอยู่ที่เกียรติ
หมายเหตุ :
- บทความชิ้นนี้มีการปรับปรุงชื่อโดยกองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์จาก “สำคัญที่เกียรติ” เป็น “คุณดิเรก ชัยนาม ตามทัศนะของคนรู้จัก ตอนที่ 2 : สำคัญที่เกียรติ ป๋วย อึ๊งภากรณ์”
เอกสารอ้างอิง
- ป๋วย อึ๊งภากรณ์, สำคัญที่เกียรติ, นายดิเรก ชัยนาม ตามทัศนะของคนรู้จัก, ม.ป.พ., หน้า 46-50.