ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

คุณดิเรก ชัยนาม ตามทัศนะของคนรู้จัก ตอนที่ 1 : มุมมองของทวี บุณยเกตุ

9
เมษายน
2568

Focus

  • ความสัมพันธ์ของทวี บุณยเกตุ ที่มีต่อคุณดิเรก ชัยนาม เพื่อนรักและผู้ร่วมงานที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยเรียน นิสัยในวัยเยาว์และการเรียนอันเป็นมิตรภาพที่แน่นแฟ้น โดยเฉพาะเมื่อได้ทำงานร่วมกันในหน้าที่ราชการ ความสัมพันธ์นั้นยิ่งลึกซึ้งขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นชีวิตทางการทูตที่ประกอบสร้างความเป็นนักการทูตของคุณดิเรก
  • บทบาทสำคัญของคุณดิเรก ชัยนามในฐานะเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูต ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถ ความเสียสละ และจิตวิญญาณรักชาติ โดยเฉพาะการเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ต้องเสี่ยงชีวิต และด้วยลักษณะนิสัยจะดูอ่อนน้อม ไม่แข็งกร้าว แต่กลับเหมาะสมกับงานในระบบประชาธิปไตยที่ต้องใช้ความสุขุม ความยืดหยุ่น และการฟังผู้อื่น

 


ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม
(18 มกราคม พ.ศ. 2447 - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2510)

 


นายทวี บุณยเกตุ
(10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447 - 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514)

 

คุณดิเรก ชัยนาม เป็นเพื่อนรักของข้าพเจ้าคนหนึ่ง เพราะเราเรียน หนังสือมาด้วยกันในโรงเรียนเดียวกัน คือที่โรงเรียนราชวิทยาลัย (ในครั้งกระนั้นเราเรียกกันจนติดปากว่าโรงเรียนบางขวาง) เรียนอยู่ชั้นเดียวกัน นั่งโต๊ะติดกัน และแถมยังเกิดปีเดียวกันอีกด้วย แต่เมื่อเราอยู่ที่โรงเรียนราชวิทยาลัยนั้น คุณดิเรกกับข้าพเจ้ามีนิสัย ความประพฤติ และความเป็นอยู่หลายอย่างไม่เหมือนกันเลย เช่นข้าพเจ้าเป็นคนซุกซนและค่อนข้างจะแก่น ถูกลงโทษเสมอ แต่คุณดิเรกเป็นคนสุภาพเรียบร้อย เพื่อนนักเรียนแทบทุกคนมักเกรงใจ คุณดิเรกเรียนหนังสือเก่ง มักสอบได้ที่ดี ๆ เสมอ แต่ข้าพเจ้าเป็นคนเกียจคร้านเรียนหนังสือไม่ดี เวลาสอบไล่ประจำปีมักจะสอบได้รั้งท้ายเสมอ เวลาโรงเรียนประกาศผลของการสอบไล่ประจำปี และพวกนักเรียนไปตรวจดูรายชื่อว่าใครสอบไล่ได้หรือสอบไล่ตก คุณดิเรกมักจะตรวจดูจากรายชื่อข้างบนลงมาหาข้างล่าง แต่สำหรับตัวข้าพเจ้านั้นต้องตรวจดูชื่อของข้าพเจ้าจากข้างล่างขึ้นไปหาข้างบนเสมอ คุณดิเรกชอบอ่านหนังสือ แต่ข้าพเจ้าชอบเล่น คุณดิเรกแต่งตัวสะอาดสะอ้านเรียบร้อย แต่ข้าพเจ้ามักแต่งด้วยเสื้อผ้าที่สกปรกขะมุกขะมอม คือ เสื้อผ้าแทบทุกตัวจะต้องเปรอะเปื้อนเป็นรอยต่างไปด้วยยางผลไม้ เพราะความซุกซน คุณดิเรกทำตัวอยู่ในวินัยของโรงเรียนเป็นอันดี และเท่าที่ข้าพเจ้าจำได้ดูเหมือนจะไม่เคยถูกลงโทษเลย แต่ข้าพเจ้าชอบทำอะไรฝ่าฝืนระเบียบและมักจะทำอะไรแผลง ๆ จนถูกลงโทษบ่อย ๆ คุณดิเรกไม่ชอบเล่นกีฬา อย่างดีก็ได้แต่นั่งดู แต่ข้าพเจ้าชอบเล่นกีฬาแทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นกีฬากลางแจ้งหรือกีฬาในร่ม ฯลฯ อะไรเหล่านี้เป็นต้น โดยปรกติแล้วคนที่มีนิสัยไม่เหมือนกันนั้นไม่น่าจะคบกันจนเป็นเพื่อนสนิทได้ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เข้าใจว่าทําไมเราจึงคบกันได้และรักกันจนคุณดิเรกได้ตายจากข้าพเจ้าไป ยิ่งในระยะหลัง ๆ นี้แล้ว รู้สึกว่าความสัมพันธ์ระหว่างคุณดิเรกกับข้าพเจ้าสนิทสนมมากยิ่งขึ้น

คุณดิเรกกับข้าพเจ้า รู้จักกันมา ตั้งแต่เป็นนักเรียน ที่โรงเรียนราชวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ แต่พอ พ.ศ. ๒๔๖๖ ข้าพเจ้าก็ต้องจากคุณดิเรกไปศึกษาวิชาต่อ ณ ต่างประเทศ ในขณะนั้นข้าพเจ้าก็กำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมปีที่ ๗ ส่วนคุณดิเรกนั้นได้เรียนต่อไปจนจบชั้น มัธยมปีที่ ๘ แล้วก็เข้าเรียนวิชากฎหมายต่อที่โรงเรียกฎหมาย ซึ่งในขณะนี้ได้กลายมาเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว จนสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตไทย แล้วก็ได้เข้ารับราชการ ในหน้าทีซึ่งได้ศึกษาเล่าเรียนมา ในระยะนี้เราทั้งสองจึงไม่ค่อยได้ติดต่อกัน เพราะในครั้งกระโน้น การเดินทางไปมา หรือการติดต่อทางจดหมายจากประเทศไทยไปยังประเทศในทวีปยุโรป ต้องใช้เวลาไม่ต่ํากว่า ๓๐ วัน บางทีก็ถึง ๕ อาทิตย์ เนื่องจากต้องไปโดยทางเรือเดินทะเลแต่ทางเดียว

 


นายทวี บุณยเกตุและนายดิเรก ชัยนาม เข้าเป็นคณะราษฎรสายพลเรือน

 

ครั้นเมื่อข้าพเจ้าได้เรียนสำเร็จกลับจากต่างประเทศแล้ว ใน พ.ศ. ๒๔๗๑ เราต้องแยกกันรับราชการอยู่คนละกระทรวงเพราะข้าพเจ้าเรียนวิชามาคนละอย่างกับคุณดิเรก จึงไม่ค่อยจะมีโอกาสได้พบปะกันบ่อยครั้งนัก จนกระทั่งต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๗๕ เราจึงได้มาร่วมทำงานกันอีกอย่างใกล้ชิด และความสัมพันธ์ ซึ่งเคยมีอยู่ต่อกันมาแต่ตั้งเดิม ก็ได้กระชับสนิทสนมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตอนนี้เราได้เป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มที่ด้วยกันแล้ว และข้าพเจ้าก็มีหน้าที่รับผิดชอบ ทำให้ข้าพเจ้าต้องเปลี่ยนนิสัยไปหลายอย่าง จนรู้สึกว่าคุณดิเรกกับข้าพเจ้ามีนิสัยคล้ายกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ในหน้าที่การงาน ตลอดจนความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย และทั้งต้องทำงานประสานกันอยู่ตลอดเวลา จึงต้องมีหน้าที่ปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด

แม้เราจะเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ต่างคนต่างมีครอบครัว และแม้แต่เราจะได้จากกันและห่างเหินกัน ในบางขณะ เป็นเวลานาน ๆ ก็ตาม แต่ความเป็นมิตรก็ยังมีอยู่คงเดิม คุณดิเรกมิได้เปลี่ยนแปลงไปเลย ทั้งในอุปนิสัยใจคอ ความประพฤติ และความเป็นอยู่โดยทั่วไป คือคุณดิเรกเคยอย่างไรก็อย่างนั้น ยังคงเป็นคนแต่งตัวสะอาดสะอ้าน ใส่เสื้อผ้าใหม่เอี่ยมอยู่เสมอ ยังเป็นคนสุภาพเรียบร้อยจน เพื่อน ๆ ขนานนามว่า “ผู้ดีอังกฤษ” คุณดิเรกชอบอ่านหนังสือตําหรับตำรา และค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็วิชากฎหมายและวิชาเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ และวิชาเกี่ยวกับการบ้านการเมือง รวมทั้งวิชาการทูต จนข้าพเจ้ากล้ากล่าวได้อย่างเต็มปากว่าคุณดิเรกได้ค้นคว้าศึกษาหาความรู้ใส่ตนเองและด้วยตนเองจากตำหรับตำรา เรื่องนี้เป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปว่า แม้แต่นักเรียกนอกในสมัยนั้นก็มีน้อยคนนักที่จะมีความรู้ทัดเทียมเท่ากับคุณดิเรก

คุณดิเรกได้เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี คนที่ ๔ ของเมืองไทย ซึ่งตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนั้น ถือกันว่าเป็นตําแหน่งสูงที่สุด และสำคัญที่สุดในกระบวนตำแหน่งประจำ เทียบได้เท่ากับตำแหน่งปลัดกระทรวงในเวลามีการประชุมปลัดกระทรวง (แต่ก่อนนี้มีการประชุมปลัดกระทรวงเป็นการประจําเพื่อตกลงกันในเรื่องปัญหาต่าง ๆ และเพื่อการประสานงานกันระหว่างกระทรวงต่าง ๆ) ตัวเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะต้องเป็นประธานของที่ประชุมโดยตำแหน่ง หรือจะเรียกว่า เป็นหัวหน้าปลัดกระทรวง ก็ไม่ผิด งานทุกอย่าง ที่บรรดาจะต้องผ่านกระทรวงทบวงกรมเสนอขึ้นไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก็ดี หรือเสนอเพื่อให้นําเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีก็ดี จะต้องผ่านเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก่อนทุกเรื่องไป และเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก็จะต้องศึกษาและพิจารณาทำเป็นบันทึกประกอบเรื่องเกี่ยวกับระเบียบการ และความคิดเห็นเสนอ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีพิจารณาเสมอ ฉะนั้นจึงถือได้ว่าตัวเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้มีความรู้กว้างขวาง และรู้ในระเบียบแบบแผนของทางราชการเป็นอย่างดี ทั้งจะต้องเป็นผู้ที่บรรดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ เกรงใจมากอีกด้วย เพราะความสำเร็จหรือไม่สำเร็จในเรื่องที่กระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ เสนอให้นายกหรือคณะรัฐมนตรีพิจารณานั้นส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับตัวเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก็ว่าได้ กล่าวคือ หากเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับเรื่องใดที่เสนอขึ้นมาแล้ว ก็จะพยายามหาโอกาสเสนอในเวลานายกรัฐมนตรีมีอารมณ์ไม่ดี แต่ถ้าต้องการให้เรื่องใดสำเร็จไปด้วยดีแล้วก็จะต้องรอคอยดูจังหวะ เสนอต่อเมื่อเห็นว่าบรรดารัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีมีอารมณ์สดชื่นรื่นเริงแจ่มใส เรื่องที่เสนอขึ้นไปเพื่อพิจารณานั้นก็จะสำเร็จลงโดยง่าย เช่นนี้เป็นต้น และด้วยเหตุนี้เองบรรดารัฐมนตรีต่าง ๆ จึงเกรงใจ

คุณดิเรกได้เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมาหลายปี จนมีความรู้กว้างขวาง และมีความสามารถเป็นอย่างดี ทั้งต้องทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา เพราะนอกจากจะต้องทํางานในเวลาราชการแล้วยังจะต้องหอบงานเอาไปทำที่บ้านอีกด้วย มิฉะนั้นงานที่คั่งค้าง เพราะงานของเลขาธิการคณะรัฐมตรีนั้นมีมากจนแทบจะล้นมือ (ในขณะนี้งานในหน้าที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้แบ่งออกอยู่ในความรับผิดชอบของหลายคน และแบ่งงานออกเป็นหลายหน่วย แทนที่จะเป็นเพียงหน่วยเดียวดังที่เป็นอยู่แต่ก่อน) ในที่สุดด้วยความสามารถในหน้าที่การงานประกอบกับความซื่อสัตย์สุจริต จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้คุณดิเรกเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แล้วต่อมาในไม่ช้าก็ได้เป็นตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศติดต่อกันมาหลายสมัย จนเมื่อได้เกิดมหาสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้น คุณดิเรกได้เป็นบุคคลหนึ่งที่ไม่ค่อยจะมีความคิดเห็นตรงกับรัฐบาลในสมัยนั้น เพราะคุณดิเรกเป็นผู้ไม่นิยมสงครามและเป็นผู้ที่ไม่ชอบกับการเสี่ยง โดยที่เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ควรจะเดินสายกลาง ซึ่งความคิดเห็นเช่นนี้ก็มีอยู่ในรัฐมนตรีหลายคนในขณะนั้น ซึ่งในที่สุดก็ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีไป และถูกขอร้องให้ไปดํารงตําแหน่งอื่นแทน คุณดิเรกก็เป็นคนหนึ่งที่ได้ถูกขอร้องให้ไปเป็นเอกอัครราชทูตประจํากรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ชั้นแรกคุณดิเรกได้ปฏิเสธที่จะไปดำรงตำแหน่งนี้ แต่เมื่อถูกเพื่อนฝูงแนะนำว่าการปฏิเสธไม่ยอมไปนั้นจะเป็นผลเสียแก่ตัวคุณดิเรกทั้งจะเป็นภัยด้วย ควรจะรับเป็นเสียดีกว่า และบางทีจะมีโอกาสช่วยชาติบ้านเมืองด้วย หากมีโอกาส เมื่อเป็นดังนี้คุณดิเรกจึงต้องยอมรับไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงโตเกียวตามคำขอร้องของรัฐบาล แต่การไปเป็นเอกอัครราชทูตคราวนั้น ได้นำความยากลำบากใจมาสู่คุณดิเรกมาก เพราะต้องถูกส่งไปรับหน้าที่ซึ่งตนไม่สมัครใจ และเป็นการฝืนความรู้สึก คุณดิเรกได้ไปรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจํากรุงโตเกียวอยู่เป็นเวลาปีเศษ และเมื่อเห็นว่าการอยู่ในตําแหน่งนั้นต่อไป ก็จะไม่ก่อประโยชน์อันใดให้แก่ทั้งตนเองและส่วนรวมเลย จึงได้ขอกราบถวายบังคมลาออก และขอรับพระราชทานบำเหน็จแทนการรับบํานาญมา บำเพ็ญตนเป็นพลเมืองดีของชาติต่อไป

 


คณะนายทหารอังกฤษมาเยี่ยมศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม ภายหลังการประกาศสันติภาพ
ณ บ้านซอยสันติสุข สุขุมวิท เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2488

 

 

เมื่อคุณดิเรก ได้กลับมาถึงประเทศไทยแล้วก็มาประจวบกับได้มีการจัดตั้งหน่วยเสรีไทยภายในประเทศขึ้นเพื่อทําการกู้ชาติ คุณดิเรกก็ได้เข้าร่วมเป็นเสรีไทยด้วยโดยสมัครใจและโดยเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวม โดยได้รับมอบหมายให้ทำงานในหน้าที่ติดต่อกับฝ่ายต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อังกฤษและอเมริกา การเป็นเสรีไทยในขณะนั้นไม่ใช่ของสนุกเลย เพราะต้องใช้ความระมัดระวัง เป็นพิเศษหากเกิดมีข่าวรั่วไหลแม้แต่น้อยแล้ว ก็หมายถึงชีวิตทีเดียว ไม่มีการผ่อนผันเป็นอย่างอื่น แต่คุณดิเรกก็ยอมเสี่ยงต่อภยันตรายเหล่านี้ เพื่อความเป็นเอกราชของประเทศข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า หากสงครามโลกครั้งที่สองนี้ต้องยืดเยื้อต่อไปอีกเพียงเดือนเดียวเท่านั้น บรรดาเสรีไทยเสรีไทยชั้นนํานั้นมีใครบ้างชั้นหัวหน้า ซึ่งรวมทั้งคุณดิเรกด้วยก็จะต้องถูกฆ่าเป็นแน่นอนเพราะในระยะหลัง ๆ คือตอนปลายสงครามที่จะสิ้นสุดลงนี้ ข่าวได้รั่วไหลไปถึงสายลับของกองทัพญี่ปุ่นแล้วว่า เสรีไทยชั้นนำนั้นมีใครบ้าง สำหรับค่าตัวของคุณดิเรกนั้น เท่าที่ข้าพเจ้าทราบมีถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท ข่าวนี้ข้าพเจ้าได้ทราบมาจากคนญี่ปุ่นเองที่เขาคุ้นเคยกับคนไทยดี เขาว่าเขาดีใจมากที่สงครามได้ยุติลงเสียได้ มิฉะนั้นเขาก็จําเป็นต้องฆ่าคนไทยหลายคนที่เป็นเพื่อนของเขาโดยหน้าที่ แล้วเขาก็เอ่ยชื่อให้ฟังสามสี่คน ที่ข้าพเจ้าเล่ามาให้ฟังตอนนี้ก็เพื่อให้เห็นถึงความเสียสละของคุณดิเรกที่มีต่อประเทศชาติ ในยามที่ชาติเข้าสู่ที่คับขัน และได้กระทำไปด้วยความสมัครใจ จึงเป็นการกระทำที่ควรได้รับการสรรเสริญและเป็นตัวอย่างอันดีของอนุชนรุ่นหลัง

มีบุคคลบางคนเห็นว่าคุณดิเรกเป็นคนอ่อน ไม่มีความเข้มแข็งเด็ดขาดพอ แม้จะเป็นคนมีความรู้ดี แต่ก็เป็นคนอ่อนและขี้เกรงใจคน แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งคุณดิเรกปฏิบัติอยู่นั้น คือ ตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และตำแหน่งหลังที่สุดในชีวิตของคุณดิเรก ก็คือตําแหน่งเอกอัครราชทูตตาแหน่งเหล่านี้ต้องการความรอบคอบต้องการความสุขุมเยือกเย็น ต้องรู้จักโอนอ่อนผ่อนปรนตามเหตุการณ์ ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่า เป็นบุคลิกลักษณะที่สำคัญและจําเป็นสำหรับงานในหน้าที่ซึ่งคุณดิเรกต้องรับผิดชอบอยู่ หากคุณดิเรกเป็นคนเลือดร้อน มุทะลุ ทํางานเด็ดขาด ปราศจากการผ่อนปรนแล้ว อาจเกิดผลเสียแก่งานของส่วนรวมก็ได้ ทุก ๆ ครั้งที่คุณดิเรกมีเรื่องสําคัญที่จะต้องพิจารณาตัดสินใจแล้ว คุณดิเรกก็จะคิดอย่างรอบคอและเมื่อได้ตกลงใจประการใดแล้วก่อนที่จะทําอะไรลงไป คุณดิเรกก็มักจะนำเรื่องนั้น ๆ ไปหารือเพื่อนฝูงที่ไว้วางใจ และที่เห็นว่าจะสามารถให้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ได้ เพื่อขอคำวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่งเสมอ หากเป็นความคิดเห็นที่ตรงกันกับของคุณดิเรกแล้ว คุณดิเรกก็กระทําทันที และมั่นใจเสมอว่าจะต้องถูก แต่ถ้าหากความคิดเห็นของเพื่อนที่คุณดิเรกหารือ ไม่ตรงกับความคิดเห็นของคุณดิเรกแล้ว คุณดิเรกก็จะเอาความคิดเห็นของเพื่อนฝูงกับของตัวคุณดิเรกเอง ไปไตร่ตรองดูอีก เพื่อความรอบคอบ ฉะนั้น ผลงานของคุณดิเรกจึงมักเป็นคุณประโยชน์เสมอ เมื่อวิธีปฏิบัติงานของคุณดิเรกเป็นเช่นนี้ บุคคลบางคนที่ไม่ทราบเรื่อง จึงนึกไปว่าคุณดิเรกเป็นคนอ่อน ทำอะไรไม่เด็ดขาด แต่ความจริงแล้ว ข้าพเจ้ากลับเห็นว่าเป็นผลดีสำหรับงานในหน้าที่ของคุณดิเรก เพราะคุณดิเรกเป็นคนที่ไม่ถือว่าความคิดเห็นของตนดีคนเดียวและถูกคนเดียว แต่มักจะเคารพในความคิดเห็นของคนอื่นเสมอ แล้วก็นำไปพิจารณาไตร่ตรองดู คุณดิเรกจึงเป็นบุคคลที่เหมาะสำหรับที่จะทำงานในสมัยประชาธิปไตย แต่ถ้าหากคุณดิเรกต้องปฏิบัติงานในหน้าที่อื่น ซึ่งต้องการความเด็ดขาดรวดเร็วแล้วก็อาจไม่เหมาะกับนิสัย ทั้งตัวคุณดิเรกเองก็ไม่ชอบกับงานเช่นนั้นด้วย

คุณดิเรกเป็นคนที่กว้างขวางในหมู่คนต่างประเทศ และเป็นทีนิยมนับถือของชาวต่างประเทศโดยทั่วไป ดังจะเห็นได้จากงานที่คุณดิเรกได้กระทำระหว่างที่เป็นเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมันนี ข้าพเจ้าเคยได้ยินคำยกย่องของอดีตนายกรัฐมนตรี (จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์) เมื่อยังมีชีวิตอยู่ และกล่าวชมเชยกับข้าพเจ้าเสมอแทบจะนับครั้งไม่ถ้วนว่า คุณดิเรกทํางานดีมาก เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจจะรายงานเหตุการณ์อะไรเข้ามา ก็แยบคายและถูกต้องเสมอ เมื่อข้าพเจ้าได้ยินคำยกย่องเช่นนี้ จึงทำให้ข้าพเจ้ามีความภาคภูมิใจมาก เพราะการที่มีคนมาพูดจาในทางที่ดีแก่เพื่อนฝูงเช่นนี้ และผู้พูดก็เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลด้วย ข้าพเจ้าจึงพลอยดีใจมากยิ่งขึ้น

บังเอิญวันหนึ่ง เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๓ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปประชุมสหภาพรัฐสภา ณ ประเทศกรีซ เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมแล้ว ข้าพเจ้าเลยถือโอกาสไปเยี่ยมคุณดิเรก ซึ่งขณะนั้นเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงบอนน์ เพราะไม่ได้พบกันมานาน กับยังมีความประสงค์จะไปรู้จักกับบรรดานักอุตสาหกรรมชาวเยอรมัน เพื่อชักชวนให้เขามาลงทุนตั้งโรงงานในประเทศไทย เพราะในขณะนั้น ข้าพเจ้ายังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรมอยู่ และรัฐบาลก็ได้มอบหมายให้ข้าพเจ้าหาทางชักชวนทั้งคนไทยและคนต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทยให้มาก ๆ ข้าพเจ้าได้เขียนจดหมายเล่าถึงจุดประสงค์ ที่ข้าพเจ้าจะไปพบคุณดิเรกครั้งนั้นด้วย เพื่อคุณดิเรกจะได้เตรียมตัวทัน พอข้าพเจ้าไปถึงกรุงบอนน์ คุณดิเรกก็จัดโปรแกรมเสร็จ ทั้งอย่างย่อและอย่างละเอียด เพื่อให้ข้าพเจ้าเลือก เช่นให้ข้าพเจ้ามีโอกาสพบบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของรัฐบาลเยอรมัน นัดให้พบกับนักธุรกิจ นายธนาคาร และนักอุตสาหกรรมต่าง ๆ แล้วยังจัดให้มีการเลี้ยงต้อนรับค็อกเทลปาตี้ โดยเชิญบุคคลสำคัญ ๆ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและเอกชน

ข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่าคุณดิเรกสนิทสนมกับแขกที่เชิญมาทั่วทุกคน และยังได้แนะนําให้ข้าพเจ้ารู้จักกับนักอุตสาหกรรมคนสำคัญ ๆ ซึ่งบางคนต้องขับรถมาเพื่องานนี้ คิดเป็นระยะทางตั้ง ๒-๓๐๐ กิโลเมตรที่มี วันหนึ่งข้าพเจ้าเกิดความคิด ที่อยากจะดูบริษัททําเหล็กที่ใหญ่และมีชื่อที่สุดบริษัทหนึ่งของโลก คือ “บริษัทกรูปป์” คุณดิเรกก็ยกหูโทรศัพท์พูดจานัดแนะกันเพียงไม่กี่นาที วันรุ่งขึ้นบริษัทกรูปป์ก็ส่งรถพร้อมด้วยคนขับมารับข้าพเจ้าถึงที่บ้าน (ข้าพเจ้าพักอยู่ที่บ้านคุณดิเรก) และรู้สึกว่าเขาให้เกียรติแก่ข้าพเจ้ามาก เช่นเมื่อไปถึงบริษัท ๆ เขาก็เรียกให้บรรดา หัวหน้างานทุกคนมาพบ และนัดประชุมเพื่อขอทราบความต้องการของข้าพเจ้า ข้าพเจ้านึกทันทีว่าการที่ข้าพเจ้าได้รับการการต้อนรับเป็นอันดีและสมเกียรตินี้ก็เพราะความนิยมในตัวคุณดิเรกนั่นเอง แล้วเขาก็พาข้าพเจ้านั่งรถยนต์ชมโรงงานอยู่จนถึงเวลารับประทานอาหารกลางวัน ซึ่งทางบริษัทก็เป็นเจ้าภาพเลี้ยงเป็นพิเศษพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของเขาอีกประมาณ ๘ - ๙ คน จากผลของการเจรจาด้วยความช่วยเหลือของคุณดิเรกนี้เอง เขาได้แนะให้ข้าพเจ้ามาเจรจากับรัฐบาลไทยเพื่อขอความช่วยเหลือ โดยเขายินดีจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยสํารวจแร่เหล็กให้ ที่ข้าพเจ้าเล่ามานี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความกว้างขวางของคุณดิเรกในระหว่างที่เป็นเอกอัครราชทูตอยู่ ณ กรุงบอนน์

ข้าพเจ้ามีความสงสัยมากว่า เจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงบอนน์ของเรานั้นมีประมาณ ๕-๖ คนเท่านั้น จะทำงานได้อย่างไร แต่เหตุใดคุณดิเรกจึงสามารถรายงานเหตุการณ์ของโลกมาให้รัฐบาลทราบจนเป็นที่เชื่อถือ และได้รับค่ายกย่องชมเชยอย่างมาก ข้าพเจ้าจึงถามคุณดิเรกว่า คุณดิเรกทํางานอย่างไร จึงสามารถรายงานเหตุการณ์ของโลกได้ละเอียดคล้ายกับจะมีคนทำงานเป็นสิบ ๆ คุณดิเรกก็บอกว่า คนของสถานทูตเพียง ๕-๖ คนนั้น ทําแต่งานรูทีน คืองานประจำด้านธุรการเท่านั้น แต่ที่สามารถทราบเหตุการณ์อะไรต่าง ๆ ได้ดีพอสมควรนั้น ก็เพราะต้องคบเพื่อนที่เป็นเอกอัครราชทูตและทูตประเทศใหญ่ ๆ ที่เขามีเจ้าหน้าที่มาก แล้วก็คุยกับเขา เลี้ยงเขา ให้เกิดมีความเป็นกันเองขึ้น และบรรดาเพื่อนฝูงที่คบกันนั้น ก็แน่ละต้องเป็นพวกที่อยู่ในกลุ่มเสรีประชาธิปไตยด้วยกัน ซึ่งต่างมีผลประโยชน์ร่วมกัน ต้องใช้เงินมาก แม้เงินค่ารับรองมีไม่พอก็ต้องเอาเงินส่วนตัวออกมาใช้ และด้วยเหตุนี้เองจึงสามารถทราบข่าวคราวต่าง ๆ ได้ และคอยตรวจสอบระหว่างทูตของประเทศต่าง ๆ อยู่เสมอ

ที่ข้าพเจ้าเล่าอะไรต่าง ๆ มาให้ฟังนี้ก็เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่คุณดิเรก ชัยนาม เพื่อนรักของข้าพเจ้าผู้ล่วงลับไปแล้ว ที่ได้ประกอบคุณงามความดีไว้ บางอย่างก็ยังไม่เคยมีผู้ใดทราบ หากการเขียนของข้าพเจ้านี้จะเป็นทางช่วยทําให้ท่านที่ยังไม่รู้จักคุณดิเรก ได้ทราบถึงอุปนิสัยใจคอและวิธีทํางานของคุณดิเรกบ้างแล้ว ก็อาจเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย และในที่สุดแห่งเรื่อง “คุณดิเรก ชัยนาม ที่ข้าพเจ้ารู้จัก” นี้จะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ใดบ้างแล้ว ก็ขอจงช่วยกันอธิษฐานให้ดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์ของคุณดิเรกที่เสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม และเป็นผู้ที่ได้บําเพ็ญคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยเป็นอย่างมากคนหนึ่ง จงไปสู่ในที่สุขเกษมสำราญในสัมปรายภพตามกรรมดีที่คุณดิเรกได้บำเพ็ญมาตลอดที่มีชีวิตด้วยเทอญ

 

หมายเหตุ :

  • บทความชิ้นนี้มีการปรับปรุงชื่อโดยกองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์จาก “คุณดิเรก ชัยนาม ที่ข้าพเจ้ารู้จัก” เป็น “คุณดิเรก ชัยนาม ตามทัศนะของคนรู้จัก ตอนที่ 1 : มุมมองของทวี บุณยเกตุ”

เอกสารอ้างอิง

  • ทวี บุณยเกตุ, คุณดิเรก ชัยนาม ที่ข้าพเจ้ารู้จัก, นายดิเรก ชัยนาม ตามทัศนะของคนรู้จัก, ม.ป.พ., หน้า 31-42.