ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปรีดี พนมยงค์ กับความพยายามช่วยเหลือบุตรชายของพระประศาสน์พิทยายุทธช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

4
พฤษภาคม
2568

Focus

  • ชีวิตของพระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ตั้งแต่ภูมิหลัง บทบาททางการเมือง บทบาทอัครราชทูตไทยประจำกรุงเบอร์ลิน เมื่อช่วงสงคราม นายปรีดี พนมยงค์มีบทบาทในฐานะผู้พยายามให้ความช่วยเหลือ ชูศักดิ์ ชูถิ่น บุตรชายพระประศาสน์ฯ จนกระทั่งการนำเสนอถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

 

 


พระประศาสน์พิทยายุทธกับบุตรชาย

 

ในบรรดานายทหารระดับนำแห่งคณะราษฎรผู้ร่วมกันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ดูเหมือนว่า พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) จะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมักคุ้นสำหรับคนรุ่นหลังๆสักเท่าใดนัก ทั้งๆที่มีบทบาทสำคัญมากในวันยึดอำนาจ มิหนำซ้ำ ยังถูกนับให้เป็นหนึ่งในสี่ทหารเสือของคณะราษฎร์ร่วมกับ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) และ พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)

จวบจนปลายปี พ.ศ. 2560 จึงเริ่มเกิดกระแสความสนใจเล็กๆต่อ พระประศาสน์ฯ มากขึ้น เพราะปรากฏเรื่องราวที่ว่าเขาคือเจ้าของลายเซ็นสุดท้ายในสมุดบันทึกการเข้าเยี่ยม อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำนาซีเยอรมัน ซึ่งลงวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1945 (ตรงกับ พ.ศ. 2488)  ก่อนหน้าที่ ฮิตเลอร์ จะอำลาโลกเพียง 10 วัน

 


เนาว์ ชูถิ่น ภรรยาของพระประศาสน์พิทยายุทธ
ที่มา: เปิดบันทึกชีวิตพระประศาสน์พิทยายุทธ ๑ ใน ๔ ทหารเสือ ผู้วางแผนการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕.

 

สืบเนื่องจาก อริญชย์ รุ่งแจ้ง ศิลปินทางด้านทัศนศิลป์ ไปชมสารคดีเรื่อง Inside Hitler’s Reich Chancellery ซึ่งเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่ามีนามของชายชาวไทยอยู่ในสมุดบันทึกการเข้าเยี่ยม ฮิตเลอร์  และตั้งข้อสงสัยว่าเป็นใครกัน อริญชย์ พยายามอ่านลายเซ็นภาษาอังกฤษแบบหวัดๆได้ว่า “Prasat Chuthin” ครั้นต่อมาเมื่อเขาค้นคว้าเพิ่มเติมจึงพบว่าคือคนเดียวกันกับ พระประศาสน์พิทยายุทธ โดยเฉพาะหลักฐานที่เขาใช้คือ ๒๒๕ วันในคุกรัสเซีย อันเป็นหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นางประศาสน์พิทยายุทธ (เนาว์ ชูถิ่น) ภริยาของ พระประศาสน์ฯ

อริญชย์ ได้นำเรื่องราวดังกล่าวมาเสนอในนิทรรศการ  “246247596248914102516… And then there were none” ของเขาซึ่งจัดแสดงที่แกลเลอรี่เวอร์ (Gallery VER) ย่านนราธิวาสราชนครินทร์ นี่จึงเป็นเหตุให้มีผู้สนใจศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับ พระประศาสน์ฯ เพิ่มจำนวนขึ้น แต่ถัดมาไม่นานก็คล้ายๆจะเงียบหายไปอีก

 


หนังสือ ผจญไทยในแดนเทศ

 

ช่วงเวลานั้น ผมเพิ่งจะออกหนังสือ ผจญไทยในแดนเทศ ได้ไม่กี่เดือน พอเห็นข่าวนิทรรศการของ อริญชย์ ก็ตั้งใจว่าจะเขียนบทความสักชิ้นเพื่อเปิดเผยข้อมูลน่าสนใจของ พระประศาสน์ฯ ในต่างแดน โดยเฉพาะภายหลังจากที่ต้องตกเป็นเชลยศึกและถูกคุมขังในคุกรัสเซียซึ่งยังมิค่อยเป็นที่รับรู้ ทั้งมาจากหลักฐานเก่าที่ผมบังเอิญเจอะเข้าช่วงปี พ.ศ. 2558 หากกาลเวลาปลิดปลิวล่วงเลยมานานเกินเจ็ดปี กว่าที่ผมจะเขียนถึงเรื่องนี้เสร็จสิ้นและได้ตีพิมพ์เผยแพร่สู่สายตาทุกท่าน

พระประศาสน์พิทยายุทธ นับเป็นชาวพระนคร เพราะลืมตายลโลกหนแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2437 ในละแวกย่านวัดรังษีสุทธาวาสซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้วและคนรุ่นหลังๆก็มิค่อยรู้จัก วัดนี้เคยอยู่ติดกันกับวัดบวรนิเวศวิหาร ดังที่ในอาณาบริเวณของวัดบวรยังคงหลงเหลือพระอุโบสถคณะรังษีให้เห็นอยู่

พระประศาสน์ฯ หรือ วัน ชูถิ่น เป็นบุตรชายของ ขุนสุภาไชย (เอื้อน ชูถิ่น ) กับ นางวงษ์ เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนย่านบางลำพู ก่อนจะเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อปี พ.ศ. 2451 และสำเร็จเป็นนักเรียนทำการนายร้อยประจำกองโรงเรียนชั้นมัธยมเมื่อปี พ.ศ. 2454 ความที่อายุเพียง 16 ปีแต่สอบไล่ได้ลำดับที่ 5 จากนักเรียนทั้งหมด 185 คน กระทรวงกลาโหมจึงมอบทุนให้ไปเรียนวิชาการทหารในประเทศเยอรมนี ซึ่งต้องไปพำนักและคลุกคลีอยู่กับมิตรรุ่นพี่อย่าง พจน์ พหลโยธิน และ เทพ พันธุมเสน

ชีวิตนักเรียนของ วัน  ต้องเผชิญจุดเปลี่ยนจากการอุบัติขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 เนื่องจากทางเยอรมนีไม่ยอมให้ชาวต่างชาติเรียนวิชาทหาร จึงต้องย้ายไปเรียนที่เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์แทน พร้อมสมัครเป็นทหารอาสาเมื่อทางสยามประกาศสงครามกับเยอรมนี

หลังมหาสงครามโลกปิดฉากลง วัน ชูถิ่น เดินทางกลับเมืองไทยและเริ่มรับราชการเป็นครูทหารที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462 กระทั่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระประศาสน์พิทยายุทธ เมื่อปี พ.ศ. 2468 และได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเสนาธิการทหารบกเมื่อปี พ.ศ. 2474

ช่วงที่เริ่มต้นรับราชการนั้น พระประศาสน์ฯ ได้สมรสกับ นางสาวเนาว์ บุตรีของพันตำรวจโทขุนประธานรณกิจ อดีตผู้บังคับการตำรวจจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับ ขุนสุภาไชย ผู้เป็นบิดา โดยประกอบพิธีแต่งงานกันที่จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2462 (ยึดตามบันทึกเรื่อง ๒๒๕ วันในคุกรัสเซีย ของ พระประศาสน์ฯ เองในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพของ นางประศาสน์พิทยายุทธ (เนาว์ ชูถิ่น) ผู้เป็นภริยา เพราะในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพของ พระประศาสน์ฯ ซึ่ง หลวงรณสิทธิพิชัย (เจือ กาญจนินท์) เป็นผู้เขียนประวัติระบุว่าวันแต่งงานคือ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2463)พระประศาสน์พิทยายุทธ คงจะสวมบทบาทผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาทหารอีกต่อไป หากว่าเขามิได้เข้าร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ร่วมกับนายทหารรุ่นพี่อย่าง พระยาพหลพลพยุหเสนา และ พระยาทรงสุรเดช โดยนำกองกำลังของคณะผู้ก่อการไปขนอาวุธยุทโธปกรณ์จากกรมทหารม้ารักษาพระองค์มายังลานพระบรมรูปทรงม้าก่อนที่จะมีการประกาศยึดอำนาจในตอนเช้ามืดของวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายนรวมถึงยังเป็นผู้นำกองกำลังไปทูลเชิญ สมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้รักษาพระนครจากวังบางขุนพรหมมาประทับที่ศูนย์บัญชาการของคณะราษฎร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว พระประศาสน์ฯ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวจำนวน 70 คน และยังได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการราษฎรจำนวน 14 คน ส่วนทางด้านราชการทหารก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ครั้นมีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นซึ่งมี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา  ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระประศาสน์ฯ ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีไม่ประจำกระทรวงด้วย

ความที่ พระประศาสน์ฯ ค่อนข้างมีความแน่นแฟ้นกับรัฐบาลพระยามโนฯ ต่อมาเมื่อเกิดความขัดแย้งกันในหมู่ผู้ก่อการคณะราษฎร แม้ พระประศาสน์ฯ จะลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีและตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก แต่ก็มิวายถูกเพ่งเล็งว่าอยู่ฝ่ายเดียวกันกับ พระยามโนฯ ครั้นเมื่อ พระยาพหลฯ ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพระยามโนฯ และตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นแล้ว พระประศาสน์ฯ ก็ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2

ล่วงมาถึงปี พ.ศ. 2481 หลวงพิบูลสงคราม ได้ใช้อำนาจทางการเมืองเล่นงานกลุ่มคนต่างๆที่เป็นฝ่ายตรงข้ามหรือตนไม่ไว้วางใจ มิเว้นกระทั่ง พระยาทรงสุรเดช และ พระยาฤทธิอัคเนย์

ขณะที่ พระประศาสน์ฯ เองก็แว่วข่าวว่าเข้าข่ายที่จะถูกเล่นงานเช่นกัน แต่เนื่องจากเป็นผู้มีความสัมพันธ์อันดีกับ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  อีกทั้ง นายปรีดี เห็นว่า พระประศาสน์ฯ เป็นคนตั้งใจทำงาน จึงเจรจากับ หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีว่าจะขอโอน พระประศาสน์ฯ จากสังกัดกระทรวงกลาโหมมายังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อจะส่งไปดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำกรุงเบอร์ลิน เพราะเคยเป็นนักเรียนเยอรมัน ประกอบกับช่วงนั้นในทวีปยุโรปเริ่มเกิดสงครามขึ้นแล้ว การมีนายทหารเป็นทูตย่อมจะเหมาะสม ซึ่ง หลวงพิบูล ก็ยินยอม จึงนับได้ว่า นายปรีดี พยายามช่วยเหลือให้ พระประศาสน์ฯ รอดพ้นจากภัยทางการเมืองด้วยการส่งไปเป็นทูตในต่างประเทศแทน

การเดินทางไปดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำกรุงเบอร์ลินของ พระประศาสน์ฯ และครอบครัวในห้วงยามที่ยุโรปกำลังมีสงครามนับเป็นความยากลำบากอย่างยิ่งยวด โดยออกเดินทางกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2481 (ค.ศ. 1938) ดังที่ พระประศาสน์ฯ เล่าไว้ผ่านบันทึกของตนเองเรื่อง ๒๒๕ วันในคุกรัสเซีย ว่า

หลังจากที่ข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รับพระราชสาส์นตาตั้งในตำแหน่งอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มในมหาอาณาจักรไรชเยอรมันแล้ว โดยเรือ “อัลเชีย” ของบริษัทอิสเอเชียจิตในเคบินพิเศษก็บรรจุพวกเราแยกย้ายกันอยู่เต็มปรี่หมด แฟมิลี่ของข้าพเจ้าที่อยู่ในกรู๊พการเดินทางครั้งนี้ นอกจากพะเนาว์ ก็มีนงนุช นงเยาว์ นงพงา นงลักษณ์ ชูศักดิ์ วนิดา และขนิษฐาที่เยาว์ที่สุดในบรรดาลูกๆทั้งหมด

เรามีความเห็นพร้อมกันในแฟมิลี่ว่า การเดินทางไปรับตำแหน่งในต่างประเทศ เช่นตำแหน่งการทูตนี้ คงไม่ใช่ระยะเวลาสั้นๆนัก ดังนั้นเพื่อไม่ให้เราต้องห่วงหน้าละล้าหลัง ทางที่ดีที่สุด เราก็ควรจะหอบหิ้วกันไปอยู่รวมกันทั้งเซ็ทเสียเลยดีกว่า รวมทั้งพ่วงเอาโชเฟอร์ของเราบวกเข้าด้วยคนหนึ่ง

วันนั้น, ข้าพเจ้ายังจำได้ว่า เป็นวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๘๑ กำหนดเรือเคลื่อนออกจากท่าในวันนี้เวลา ๑๗ น. เศษ ข้าพเจ้าได้ไปอำลานายกรัฐมนตรี มิตรร่วมตายของข้าพเจ้า และลาเป็นทางราชการต่อรัฐมนตรีต่างประเทศ ข้าพเจ้ายืนยันกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศว่าข้าพเจ้าไม่สู้จะหนักใจอะไรนัก สำหรับภาระกิจทางการทูตในมหานครเบอร์ลินแห่งนี้ เพราะอย่างน้อยที่สุดความช่ำชองของข้าพเจ้าในเบอร์ลิน เมื่อปี ๑๙๑๑ ก็ได้ฝังความสนิทสนมแน่นแฟ้นไว้อย่างมากมาย สายสัมพันธ์อันสนิทแน่นแฟ้นที่ข้าพเจ้าได้มีอยู่ในระหว่างเพื่อนฝูงหลายคนในเบอร์ลินยุคนั้น ข้าพเจ้ายังมีส่วนที่สลักไว้ในความทรงจำ มหาอุปราชของฟืห์เรอร์แฮร์มันน์เกอร์ริงก็ดี เฮงเค่และโรยซั่มก็ดี พวกนี้กำลังรุ่งเรืองเถลิงอำนาจวาสนาในคณะพรรคนาซีในขณะนี้ทั้งนั้น

ข้าพเจ้าได้ไปอำลารัฐมนตรีกลาโหม- หลวงพิบูลฯ เป็นคนสุดท้าย ในฐานะเป็นเจ้าสังกัดเดิม เจ้าคุณทรงฯเป็นอันไม่ได้พบกัน ข้าพเจ้ามีจดหมายบอกไปถึงเขาสั้นๆที่เชียงใหม่เท่านั้น

ข้าพเจ้ากับครอบครัวมาถึงท่าเรือด้วยความตื้นตันใจ เมื่อเห็นญาติมิตรเพื่อนฝูงมาส่งเลยแน่นหนามจากสพานเรือจนถึงเคบิน แต่ใจหนึ่งของเราก็อดจะวาบหวำใจไม่ได้ เมื่อนึกว่าจะต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนไปอย่างคะเนการณ์ไม่ถูกว่าจะได้มีโอกาศกลับมาเมื่อใด แต่ข้าพเจ้าไปราชการ-ราชการของประเทศชาติ

พระประศาสน์ฯ และครอบครัวใช้เวลาเดินทางรอนแรมกลางมหาสมุทรไปกับเรืออัลเชียเป็นเวลานานถึง 58 วัน 58 คืน ก็ได้ขึ้นฝั่งที่เมืองแฮมเบิร์กของเยอรมนี ก่อนที่จะเดินทางต่อโดยรถไฟไปยังกรุงเบอร์ลินในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1939

เยอรมนีในห้วงยามนั้น ผงาดขึ้นมาอย่างเข้มแข็งหลังจากเคยตกเป็นผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 1  การก้าวขึ้นมาของผู้นำคนใหม่คือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หัวหน้าพรรคนาซี จึงเป็นการกอบกู้ความยิ่งใหญ่ของชนชาติเยอรมันให้ฟื้นคืน ไม่เพียงเท่านั้น ยังพยายามปลดแอกประเทศออกจากสนธิสัญญาแวร์ซายที่ทำขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเยอรมนีเสียเปรียบอย่างมาก

พระประศาสน์ฯ ได้เข้าพบ ฮิตเลอร์ ครั้งแรกสุดก็ตอนที่ต้องไปรายงานตัวในฐานะอัครราชทูตไทยประจำกรุงเบอร์ลินเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์  ค.ศ. 1939 ซึ่ง พระประศาสน์ฯ รำลึกถึงฉากนั้นว่า

ครั้นถึงวันกำหนด, ทางทำเนียบผู้นำก็ส่งลีมูแชงคันมหึมาสองคันปราดมาเทียบที่น่าสถานทูตจิ๋วของเรา คันหน้ามีเกสตาโปนั่งอยู่เป็นหลั่นทุกที่นั่ง คันที่สองเป็นคันที่จัดไว้สำหรับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าแต่งตัวเต็มยศตามระเบียบ ขบวนรถยนตร์ได้นำเราเข้าสู่อาณาเขตต์อันไพศาลของผู้นำมหาอาณาจักรไรชเยอรมัน ผ่านแถวทหารกองเกียรติยศนาซีซึ่งระทึกกึกก้องไปด้วยเสียงแตรและกลอง

เมื่อเข้าเทียบบรรไดตึกมหึมาของทำเนียบผู้นำเยอรมัน เจ้าหน้าที่ของไรช์คันซ์ไล ซึ่งได้มายืนรออยู่แล้วได้จัดการเชื้อเชิญเราเข้าไปพักในห้องรับแขกเมืองอันมโหฬาร ประทีปชัชวาลและโคมไฟระย้า ก็เริ่มสะพรึบขึ้นด้วยแสงสีนวลสาดไปทั่วห้องโถงอันงามวิจิตร ข้าพเจ้าทราบจากเจ้าหน้าที่รับรองว่า ขณะนี้ผู้นำแห่งมหาอาณาจักรไรช์กำลังต้อนรับอัครทูตโบลิเวียอยู่ในห้องพิธี

ข้าพเจ้ารออยู่เพียงชั่วครู่หนึ่ง หัวหน้ากรมพิธีการก็ออกมาแจ้งข้าพเจ้าว่า ท่านผู้นำฮิตเล่อร์พร้อมแล้วที่จะต้อนรับข้าพเจ้า และเชื้อเชิญให้เข้าไปในห้องนั้น

ข้าพเจ้าเดินตามหัวหน้ากรมพิธีการไปทางเฉลียงสู่ห้องโถงใหญ่สุดหนทาง เมื่อข้าพเจ้าโผล่เข้าไปในห้องนั้น บัดแรกที่สายตาข้าพเจ้ากวาดไปพบในทันทีนั้นก็เพียงสดุดอยู่ที่ร่างของบุรุษในเครื่องแบบนาซีบุรุษหนึ่ง นั่งอย่างเคร่งขรึมในกลุ่มโต๊ะเก้าอี้มุมห้องโถงนั้น แวดล้อมไปด้วยข้ารัฐการกระทรวงการต่างประเทศแบ่งเครื่องแบบเต็มยศคับคั่งรวมทั้งเกสตาโปแทรกอยู่สลอน รัฐมนตรีต่างประเทศฟอนริบเบนทรอป เคียงข้างเขาอยู่เบื้องซ้าย ข้าพเจ้าเห็นเขาแผล็บเดียว บุคลิกลักษณะทั้งหลายก็ส่อสำแดงว่าเขาต้องเป็นผู้นำแห่งมหาอาณาจักรที่ข้าพเจ้ามาเป็นทูตนี้แน่ทีเดียว หนวดแหย็ม ผมที่ปรกย้อยลงมาเหนือหน้าผากเล็กน้อย สวมเสื้อเชิ้ตนาซีประดับตราสวัสดิกะ และล่างลงมาที่สุดก็คือท๊อบบู๊ทเป็นเครื่องแบบง่ายๆที่ปราศจากพิธีรีตอง

และในขณะเดียวกันนั้น ที่เขาเหลือบเห็นข้าพเจ้าเข้า เขาก็ผุดลุกขึ้นยืนพร้อมด้วยฟอนริบเบนทรอป  ริบเบนทรอปแนะนำข้าพเจ้าต่อเขาตามธรรมเนียม พร้อมกับที่เขาได้ส่งมือมาให้ข้าพเจ้าสัมผัส ข้าพเจ้าถอยห่างมาจากเขาเล็กน้อย และยื่นพระราชสาส์นแต่งตั้งข้าพเจ้าไปยังเขา เขารับจากข้าพเจ้าไปพินิจเป็นพิธีการแล้ว สุรเสียงจากริมฝีปากภายใต้หนวดแหยมนั้นจึงกังวาฬขึ้น แสดงความชื่นชมยินดีในนามของเขาเอง และในนามของมหาอาณาจักรไรชที่ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งมาเป็นอัครราชทูต เขาหวังว่าข้าพเจ้าคงจะได้เพียรกระทำหน้าที่ของข้าพเจ้าอย่างเต็มที่  เพื่อบรรลุถึงที่หมายปลายทางร่วมกัน คือสัมพันธไมตรีอางดงามระหว่างไรชเยอรมันและสยามเพียงเท่านี้  และก่อนพี่ข้าพเจ้าจะได้แสดงผลทรพจน์ตอบไมตรีจิตต์ที่เขาแสดงออกมา ในฐานะที่ข้าพเจ้าได้พบเขาเป็นครั้งแรกในชีวิตหลังจากเขาได้ปลุกชื่อเสียงขึ้นระบือกึกก้องกระฉ่อนโลก  และมนุษย์ทั้งโลกแม้แต่พสกนิกรไรชเองก็คงจะได้เคยแต่ทราบหรือเห็นเขาในทีท่าที่เด็ดขาด ในคำพูดที่กัมปนาทเหมือนอสุนีบาต และกำปั้นที่เหวี่ยงอยู่ไปมา ใครๆก็รู้ว่า อดอฟ ฮิตเล่อร์ กำลังมีบทบาทเป็นที่น่าสพึงกลัวแก่ประเทศใกล้ชิดในยุโรปทั่วไป- แต่ตรงกันข้ามเมื่อข้าพเจ้าได้ประจักษ์แก่ตาข้าพเจ้าในเช้าวันนี้ ข้าพเจ้ากลับรู้สึกว่าข้าพเจ้าได้มายืนอยู่ฉะเพาะหน้าอันใกล้ชิดกับสุภาพบุรุษชาวเยอรมันผู้หนึ่ง ดูจะไม่มีวี่แววแม้แต่จะส่อให้เห็นว่า เขาได้เคยเป็นนายสิบของพระเจ้าไกเซอร์ในยุทธภูมิอันมหาประลัยของโลกคราวที่แล้วมาอ่อนโยนอย่างที่ข้าพเจ้าเกือบจะรู้สึกว่าเขาเป็นชาวเยอรมันคนแรกที่อ่อนโยน และมธุรสวาจาที่เขาแสดงออกมาแก่ข้าพเจ้าก็เป็นหนึ่งแทบจะไม่น่าเชื่อว่า เขาจะได้เคยเป็นผู้ประกาศก้องโลกอย่างเด็ดขาดต่อชุมนุมนาซีนับแสนมาแล้ว เขาเป็นผู้ดีในสายตาของข้าพเจ้าจริงๆ- อดอลฟ ฮิตเล่อร์- ผู้นำมาหาอาณาจักรไรชอันสูงส่งของยุโรป

จบคำปราศัยของเขา ข้าพเจ้าตอบคำปราศัยของข้าพเจ้าเป็นภาษาเยอรมัน พูดกับเขาอย่างง่ายๆและตรงไปตรงมาว่า ข้าพเจ้าเพียรที่จะกระทำทุกอย่างเพื่อให้สยามและเยอรมันยืนยงอยู่ด้วยมิตรภาพอันถาวรรุ่งเรือง

พิธีการยื่นพระราชสารแต่งตั้งในเช้าวันนั้นจบลงด้วยการดื่มแชมเปญอวยพรให้แก่ความเจริญรุ่งเรืองของราชอาณาจักรไทย และมหาอาณาจักรไรชเยอรมัน

จากนั้น, ผู้นำแห่งมหาอาณาจักร ผู้มีความสูงราว ๑.๖๘ เมตร ก็ลุกขึ้นยืดตัวเชิญข้าพเจ้าตัวต่อตัวไปที่มุมหนึ่งของห้องพิธีการ ท็อบบู๊ทมันปลาบเมื่อกระทบกับแสงประทีปจากโคมไฟฉายบนผนังตึกอันสูงลิ่ว,  ดำเนินไปบนพรมสีเขียวขจีอย่างเชื่องช้าแต่เต็มไปด้วยสง่าผ่าเผยดุจพญาราชสิงห์ผู้พิชิต มองทลุแผ่นกระจกเบื้องหน้าออกไป ละอองหิมะยังปลิวอยู่กระเซ็น แต่บุปผาชาติของไรชคันซ์ไลคงชูช่อต้านสายลมอ่อนๆรับละอองอย่างเบิกบาน รถยนตร์สองสามคันเล่นผ่านลับภูเขาหิมะย่อมๆไปทางถนนสายโน้น มันเป็นมหานครที่จมอยู่ในดงธรรมชาติอันงามระรื่น สวยอย่างเยือกเย็นไปทุกทิศทางที่เบือนสายตาไปพบ

เราทรุดตัวลงบนอาร์มแชร์ฉลุสีทองใกล้ๆกันและเริ่มเปิดฉากการสนทนาเป็นการไปรเวทแลกเงินความคิดเห็นต่างๆในทัศนะทางส่วนตัวของกันและกัน นี่แหละ, ที่ข้าพเจ้ายิ่งรู้สึกว่า ผู้ดีชาวเยอรมันผู้นี้ได้ให้ความรู้สึกแก่ข้าพเจ้าหลายประการ เขาเป็นคนสุขุมอ่อนโยน อย่างที่คนอีกหลายๆล้านอาจเข้าใจผิดหมด เราสนทนากันพอสมควรแล้ว ข้าพเจ้าจึงอำลาเขากลับสถานทูต ผู้นำได้ออกมาส่งข้าพเจ้าถึงประตูด้านในของไรชคันซ์ไล ข้าพเจ้าฝ่าละอองหิมะผ่านแถวกองเกียรติยศ ซึ่งเริ่มระทึกกึกก้องไปด้วยเสียงแตรกังวาฬและกลองระรัวอีกครั้งหนึ่ง รถเกสตาโปคันหน้าจึงรุดนำรถข้าพเจ้าละลิ่วมาถึงสถานทูตอันจิ๋วหลิว

ล่วงมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1939 (ตรงกับ พ.ศ. 2482) เมื่อทางเยอรมนีได้ทำสัญญากับสหภาพโซเวียต นั่นคือ กติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างเยอรมนีกับสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (German–Soviet Non-aggression Pact) โดย โยอาคิม ฟอน ริบเบินทร็อพ (Joachim von Ribbentrop) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีลงนามร่วมกับ วยาเชสลาฟ โมโลตอฟ (Vyacheslav Molotov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหภาพโซเวียต ทางรัฐบาลไทยที่มี หลวงพิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเริ่มไม่พอใจต่ออังกฤษและฝรั่งเศส จึงเกิดแนวคิดที่จะติดต่อทางการทูตกับสหภาพโซเวียตอันเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ด้วยเหตุนี้ พระประศาสน์ฯ จึงต้องรับหน้าที่เจรจากับทางกระทรวงการต่างประเทศของสหภาพโซเวียต ในที่สุดการเจรจาก็ประสบความสำเร็จ ทั้งสองฝ่ายคือ โมโลตอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและ พระประศาสน์ฯ ผู้แทนรัฐบาลไทยได้ร่วมลงนามสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหภาพโซเวียตกับไทยเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2484  นับเป็นผลงานชิ้นเอกทางด้านการทูตของ พระประศาสน์ฯ เลยทีเดียว

แม้ พระประศาสน์ฯ สุดแสนจะปลาบปลื้มต่อบุคลิกภาพของ ฮิตเลอร์ แต่ตระหนักดีว่าการนำประเทศเข้าสู่สงครามของผู้นำมหาอาณาจักรไรชย่อมจะนำมาซึ่งความเดือดร้อนลำบากแสนสาหัส  ในที่สุดชนทั้งหลายแห่งกรุงเบอร์ลินก็ได้ลิ้มรสชาติของการถูกเครื่องบินทิ้งระเบิด อีกทั้งการที่สถานทูตไทยถูกทิ้งระเบิดในคืนวันหนึ่งยังส่งผลให้ พระประศาสน์ฯ  ต้องสูญเสียบุตรสาวคนโตไป  กล่าวคือขณะที่อัครราชทูตชาวไทยกับครอบครัวกำลังหลบระเบิดอยู่ในพื้นที่หลบภัย ก็ได้รับผลกระทบจากแรงดันของระเบิดจนอดีตทหารเสือคณะราษฎรล้มฟาดลงทั้งยืน แต่คนที่ตกใจสุดขีดได้แก่ นงนุช บุตรสาวคนโต เธอ “ร้องกรีดโผเข้าไปในอ้อมแขนของแม่ แล้วเป็นลมล้มทับไปเลย ต้องปลุกสั่นและพยาบาลกันเป็นการโกลาหล”

มีการทิ้งระเบิดตลอดคืนนั้น กว่าที่ พระประศาสน์ฯ และครอบครัวจะได้นอนหลับก็เกือบฟ้าสว่าง มิหนำซ้ำ ยังต้องมาตรมเศร้าเพราะ

รุ่งขึ้นอาการของนงนุชก็ยังไม่ดีขึ้น สดุ้งและหวาดผวาอยู่ตลอดเวลา แพทย์บอกว่าเนิฟและหัวใจได้รับการกระทบอย่างรุนแรงมาก เราไม่มีเวลาที่จะส่งลูกไปพยาบาลนอกเมือง เพราะการโจมตีทางอากาศยังติดพันอยู่ไม่ขาดสาย  ๒๔ ชั่วโมงให้หลังจากเหตุการณ์ในเชลเตอร์คืนนั้นแล้ว เป็น ๒๔ ชั่วโมงที่เต็มไปด้วยอันตรายแก่ชีวิตของนงนุช หัวใจยิ่งอ่อนลงและอ่อนลงเป็นลำดับ ในที่สุดก็มาถึงชั่วโมงสำคัญ ชั่วโมงที่ในแฟมมิลี่ของเราต้องนองเนืองไปด้วยน้ำตา ชั่วโมงของปริเวทนาการเพราะการสูญเสียลูกคนหัวปีที่รักยิ่งในชีวิตไป โอ๊คใหญ่ในสถานทูตสบัดกิ่งเมื่อกระทบสายลมขึ้นครั้งหนึ่ง แล้วก็เงียบ หิมะเบื้องนอกยังปลิวว่อน พวกเราทั้งแฟมมิลี่มาชุมนุมอยู่ในห้องพยาบาล นงนุชสิ้นใจไปอย่างเงียบๆในอ้อมแขนของแม่ เราปลุกสั่นเท่าใด ก็ไม่สามารถจะเบิกนัยตาที่แจ๋วแหววคู่นั้นให้เห็นได้อีกแล้ว ก็มีแต่เสียงสอื้นไห้ นงนุชจากเราไป เพราะทนทานต่ออำนาจรุนแรงของเหตุการณ์ในเชลเตอร์คืนนั้นไม่ไหว จากไปในขณะกำลังอยู่ในวัยของความสดชื่น ๒๒ ปีเท่านั้นเอง หลังจากที่ข้าพเจ้าได้ส่งเข้ามหาวิทยาลัยแพทย์ในกรุงเบอร์ลิน ในสาขาวิชาค้นคว้าประกอบตัวยา

นับแต่ปลายปี ค.ศ. 1943 (ตรงกับ พ.ศ. 2486) สถานการณ์ของกรุงเบอร์ลินยิ่งย่ำแย่  ทางสถานทูตไทยได้รับหนังสือลับๆจากกระทรวงการต่างประเทศให้อพยพหรือทิ้งสถานทูตเพื่อหลบไปอยู่ในพื้นที่อื่นๆหรือเขตชนบทที่ปลอดภัยได้ พระประศาสน์ฯ  ตัดสินใจส่งครอบครัวของตนไปอยู่ที่เวียนนา  มีเพียง นงเยาว์ บุตรสาวคนรองที่ตกลงใจจะอยู่กับเขาเสมอ

ต่อมาทางรัฐบาลนาซีได้มาช่วยสร้างที่หลบภัยใต้ดินให้กับสถานทูตไทย พระประศาสน์ฯ จึงย้ายครอบครัวกลับมาเบอร์ลินอีกหน ซึ่งนับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะบ้านที่ครอบครัวเคยไปอยู่ที่เวียนนานั้นถูกทิ้งระเบิดจนพังทลายและคนในบ้านตายคาที่

 


ภรรยา บุตร-ธิดาของพระประศาสน์พิทยายุทธ
ที่มา: เปิดบันทึกชีวิตพระประศาสน์พิทยายุทธ ๑ ใน ๔ ทหารเสือ ผู้วางแผนการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕.

 

อย่างไรก็ดี เมื่อกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรได้รุกเข้าประชิดเยอรมนีรอบด้านแล้ว รวมถึงกรุงเบอร์ลินก็เต็มไปด้วยอันตราย พระประศาสน์ฯ จึงตัดสินใจส่งสมาชิกครอบครัวได้แก่ เนาว์ ภริยา และลูก ๆ อย่าง นงพงา นงลักษณ์ วนิดา และ ขนิษฐา ไปยังสวิตเซอร์แลนด์ แต่จะต้องไปพักอยู่ที่บาดกาสไตน์ในออสเตรียก่อน ส่วนบุตรชายอย่าง ชูศักดิ์ นั้น ได้ส่งตัวไปอยู่สวิสเซอร์แลนด์ก่อนหน้านี้นานแล้วเพราะต้องไปเรียนหนังสือที่นั่น

ช่วงเดือนเมษายน ค.ศ. 1945 (ตรงกับ พ.ศ. 2488) กรุงเบอร์ลินถูกทิ้งระเบิดทำลายอย่างหนักหน่วง รวมถึงกองทัพรัสเซียก็ระดมยิงกระสุนปืนใหญ่เข้ามาไม่ขาดสายเพื่อเปิดทางให้กองกำลังทหารบุกเข้ายึดพื้นที่เบอร์ลิน พระประศาสน์ฯ นงเยาว์ และ แสวง ผู้เป็นโชเฟอร์ ต้องขลุกอยู่ในที่หลบภัยใต้ดินของสถานทูตตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน แล้วในวันที่ 26 เมษายนปีเดียวกัน กองทหารรัสเซียก็บุกเข้ามาควบคุมตัวทั้งสามคนได้ที่สถานทูต

นับแต่วันที่ 27 เมษายนเรื่อยมา ทั้ง พระประศาสน์ฯ นงเยาว์ และ แสวง  ถูกคุมขังในค่ายเชลยในเบอร์ลิน จนในวันที่ 6 พฤษภาคมจึงได้รับการปล่อยตัวให้กลับมายังสถานทูตได้

ทว่าในวันที่ 13 มิถุนายน พระประศาสน์ฯ ก็ถูกควบคุมตัวอีกครั้ง และจะถูกส่งใ้ห้ไปเป็นเชลยในสหภาพโซเวียต ซึ่งอัครราชทูตชาวไทยครุ่นคำนึงว่า

แล้วครอบครัวของข้าพเจ้าที่บาดกาสไตน์เล่า? เราคงไม่ได้พบเห็นกันสืบไป? ชูศักดิ์ที่สวิสคงไม่รู้ว่า พ่อของเขาถูกจับ แต่ก็หมดห่วงไปได้ เพราะเขาปลอดภัย ภรรยาข้าพเจ้าและลูกๆที่บาดกาสไตน์ถ้ารู้ข่าวข้าพเจ้าถูกลากตัวไปมอสโคว์เมื่อใดคงตกใจมากทีเดียว มันเป็นกรรมที่ขีดขั้นมาเช่นนี้ ข้าพเจ้าไม่มีทางใดแล้ว วูบหนึ่งที่ข้าพเจ้านึกถึงนงเยาว์ ข้าพเจ้ารีบติดต่อไปถึงที่พักให้เขาทราบ ให้เขาหาทางใดทางหนึ่งติดต่อไปที่บาดกาสไตน์ ถ้าทำได้เพื่อรวมกันที่นั่น ถ้าข้าพเจ้ายังไม่ตาย หลุดจากมอสโคว์ได้เมื่อใด พระเจ้าคงนำให้ข้าพเจ้าได้มารวมกับครอบครัวจนได้

พระประศาสน์ฯ ถูกส่งตัวไปเป็นเชลยในคุกคุมขังที่เมืองกราสโนกอสค์ (Krasnogorsk) ห่างจากกรุงมอสโคว์ราว 20 กิโลเมตรเป็นเวลายาวนานถึง 225 วัน ต้องเผชิญกับความแออัด ความสกปรกและการถูกกลั่นแกล้งสารพัด กว่าที่จะได้รับอิสรภาพเมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1946 (ตรงกับ พ.ศ. 2489)

ช่วงที่ พระประศาสน์ฯ ต้องไปเป็นเชลยที่สหภาพโซเวียตนั้น เมื่อทางรัฐบาลไทยรับทราบข่าวนี้ ก็ปรากฏว่ามีข้อมูลหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ยังมิค่อยรู้ นั่นคือ นายปรีดี พนมยงค์ ได้พยายามจะให้ความช่วยเหลืออัครราชทูตไทยประจำกรุงเบอร์ลินและครอบครัว โดยมอบหมายให้ นายเฉลียว ปทุมรส ราชเลขานุการในพระองค์ส่งหนังสือด่วนที่ ต. 741/2488 ลงวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2488  จากสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ไปถึงปลัดกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยเรื่องขอความอนุเคราะห์ให้แก่บุตรชายของ พระประศาสน์ฯ ซึ่งก็คือ ชูศักดิ์ ดังมีเนื้อความว่า

 


ชูศักดิ์ ชูถิ่น

 

ด้วยรองราชเลขานุการในพระองค์โทรเลขรายงาน ฯพณฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่า เวลานี้บุตรชายของพระประศาสน์พิทยายุทธ์ได้ศึกษาวิชาอยู่ที่ Institut auf dem Rosenberg ในประเทศสวิส และได้รับมอบเงินไว้จากบิดาเพียง ๔,๐๐๐ ฟรังค์ ถ้าเงินจำนวนนี้หมดสิ้นแล้ว ก็จะไม่สามารถดำเนินการศึกษาวิชาต่อไป และจนบัดนี้ยังไม่ได้รับทราบข่าวคราวของบิดาเลย รองราชเลขานุการในพระองค์จึงมีโทรเลขรายงาน ฯพณฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อได้พิจารณาให้ความอนุเคราะห์เท่าที่สามารถจะช่วยได้  ฯพณฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงมีบัญชาให้ส่งเรื่องมาเพื่อกระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาดำเนินการต่อไป เมื่อได้ดำเนินการ ไปแล้วประการใด ขอได้โปรดแจ้งให้ทราบด้วยเพื่อจักได้นำความเสนอ ฯพณฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทราบต่อไป.

กระทรวงการต่างประเทศได้ปรึกษากันโดยขอความเห็นจากทางแผนกนักเรียน และได้รับความเห็นมาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมปีเดียวกันว่า

หนังสือราชเลขานุการในพระองค์ที่ ต. 781/2488 ลงวันที่ 29 เดือนนี้ เรื่องบุตร์ชายพระประศาสน์พิทยายุทธ์นั้น

ผมเห็นว่า หากทางการจะพิจารณาให้ความอนุเคราะห์ในฐานที่เปนนักเรียนแล้ว ก็ไม่สมควร เพราะไม่ปรากฏว่าผู้นี้เปนนักเรียนรัฐบาล หรือแม้แต่เปนนักเรียนในความดูแลของ ก.พ. ตามทางปติบัติที่แล้วๆมา กระทรวงไม่เคยทดรองเงินค่าใช้จ่ายให้นักเรียนทุนส่วนตัว นอกจากจะได้รับเงินจากผู้ปกครองไว้ก่อน

แต่ถ้ากระทรวงจะพิจารณาในข้อที่ว่าบุตร์ชายพระประศาสน์ฯ  ก็คือครอบครัวของอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลินแล้ว ก็ควรจะให้ความอนุเคราะห์ตามสมควร ซึ่งในขณะนี้มีทางที่จะทำได้อยู่อย่างเดียว คือโทรเลขสั่งทูตที่เบอร์นให้ทดรองจ่ายค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพที่จำเปนให้ก่อน หากแต่ในเวลานี้สถานทูต ณ กรุงเบอร์นก็กำลังขาดแคลนเงิน เพราะเงินบางรายที่ส่งไปยังไม่ได้รับ ไปติดอยู่เสียที่โตเกียว และต้องทดรองจ่ายเงินให้นักเรียนที่อพยพไปจากอิตาลี และนักเรียนทหารที่อพยพไปจากเยอรมัน รวมเปนจำนวนมากคน เปนภาระอันหนักอยู่แล้ว ถ้ากระทรวงจะโทรเลขสั่งให้ทดรองเงินให้ผู้นี้อีก ก็เกรงว่าทูตจะไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ จะเปนการไม่งดงาม และทูตอาจคิดไปว่ากระทรวงสั่งการโดยไม่คำนึงถึงฐานะของทูตก็ได้

ฉะนั้น ผมจึงขอเสนอเพื่อพิจารณา

แล้วแต่จะกรุณา

อย่างไรก็ดี กระทรวงการต่างประเทศได้ข้อตกลงกันว่าจะช่วยเหลือ ดังนั้น จึงได้มีการส่งโทรเลขเลขที่ 4967/2488 จาก ศรีเสนา สมบัติศิริ หรือเดิมคือ พระยาศรีเสนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488 เวลา 14.25 น.

THAI MINISTER,

BERN

90/2488

The Asst. Private Secretary to H.M. the King telegraphed that a son of the Thai Minister at Berlin now studying at Institut auf dem Rosenberg is in financial difficulties, will you please see what you can do to help him.

SISENA.

พร้อมทั้งมีหนังสือที่ว.5009/2488 ลงวันที่ 5 กันยายน 2488 จากปลัดกระทรวงการต่างประเทศคือ หลวงสิทธิสยามการ (สิทธิ ฮุนตระกูล) ถึงราชเลขานุการในพระองค์ ความว่า

ตามหนังสือสำนักราชเลขานุการในพระองค์ที่ ต. 741 /2488 ลงวันที่ 29 สิงหาคม ศกนี้ ว่า รองราชเลขานุการในพระองค์ได้โทรเลขรายงาน พณฯผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ว่า บุตรชายของพระประศาสน์พิทยายุทธ์ซึ่งเวลานี้ศึกษาวิชาอยู่ในประเทศสวิส ได้รับมอบเงินไว้จากบิดาเพียง 4,000 ฟรังค์ ถ้าเงินจำนวนนี้หมดสิ้นลง ก็จะไม่สามารถดำเนินการศึกษาวิชาต่อไป และจนบัดนี้ก็ยังไม่ได้ทราบข่าวคราวจากบิดาเลย พณฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงมีบัญชาให้ส่งเรื่องมาเพื่อกระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาดำเนินการต่อไปนั้น

เรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาแล้ว  เห็นว่าควรสั่งให้อัครราชทูต ณ กรุงเบอร์นพิจารณาช่วยเหลือ และได้มีโทรเลขไปตามนัยนี้แล้ว จึงเรียนมาเพื่อท่านได้โปรดนำความเสนอ พณฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทราบต่อไป.

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

ต่อมาในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2488 ทางสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ก็มีหนังสือด่วนที่ ต. 797/2488 ส่งไปยังปลัดกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้ง ความว่า

หนังสือที่ ว. ๕๐๐๙/๒๔๘๘ ลงวันที่ ๕ กันยายน ๒๔๘๘ รายงานการดำเนินการให้ความอนุเคราะห์แก่บุตรชายของพระประศาสน์พิทยายุทธ์ ซึ่ง ฯพณฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีบัญชาให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการว่า กระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาแล้ว เห็นควรสั่งให้อัครราชทูต ณ กรุงเบอร์น พิจารณาช่วยเหลือ และได้มีโทรเลขไปตามนัยนี้แล้ว จึงขอให้นำความเสนอ ฯพณฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทราบ นั้น

ได้นำความเสนอ ฯพณฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทราบแล้ว มีบัญชาให้โทรเลขแจ้งให้รองราชเลขานุการในพระองค์ทราบด้วย ซึ่งข้าพเจ้าได้ดำเนินการไปแล้ว

ผ่านมาเกือบสองเดือน ทางกระทรวงการต่างประเทศก็ได้รับโทรเลขจาก พระพหิทธานุกร (ส่วน นวราช) อัครราชทูตประจำกรุงเบิร์น สวิสเซอร์แลนด์  ซึ่งส่งมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1945 (ตรงกับ พ.ศ. 2488)  เวลา 20.13 น. และทางไทยได้รับเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนปีเดียวกัน เวลา 15.35 น.

FOREIGN OFFICE,

BANGKOK.

114/2488

In reply to your telegram No. 90/2488, The Director of the Institute of Rosenberg reports that all financial affair in connection with the son of the son of the Siamese Minister in Berlin was entrusted (to) the care of Afghan Minister in Berlin who is now in Switzerland. Director says until now school bill was sent to Afghan Minister. In case there is any financial difficulty in the future, he will inform this Legation.

PHAHITTA

ครั้นได้รับเรื่องจากทางอัครราชทูตประจำกรุงเบิร์นแล้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศก็มีหนังสือที่ ว.6357/2488  ลงวันที่  14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488 ไปยังราชเลขานุการในพระองค์ว่า

อนุสนธิหนังสือกระทรวงการต่างประเทศที่ ว. 5009/2488 ลงวันที่ 5 กันยายน ศกนี้ เรื่องการดำเนินการให้ความอนุเคราะห์แก่บุตรชายของพระประศาสน์พิทยยุทธ์ ว่า กระทรวงการต่างประเทศได้สั่งให้อัครราชทูต ณ กรุงเบอร์นพิจารณาช่วยเหลือแล้วนั้น

บัดนี้ อัครราชทูต ณ กรุงเบอร์นได้โทรเลขรายงานเข้ามาว่าผู้อำนวยการ  Institute of Rosenberg แจ้งให้ทราบว่า อัครราชทูตอาฟกานนิสตาน ณ กรุงเบอร์ลิน ซึ่งขณะนี้อยู่ในประเทศสวิส ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการใช้จ่ายเงินแทนบุตรชายพระประศาสน์พิทยยุทธ์ทั้งสิ้น และว่าบิลของโรงเรียนก็ได้ส่งไปให้อัครราชทูตอาฟกานนิสตานจัดการชำระตลอดมาจนบัดนี้ แต่ถ้าภายหน้าเกิดขัดข้องอย่างใดขึ้น จะแจ้งให้สถานทูตไทย ณ กรุงเบอร์นทราบ

จึงขอเรียนมา เพื่อท่านได้โปรดนำความเสนอ พณ ฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทราบด้วย

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

ทาง นายเฉลียว ปทุมรส ราชเลขานุการในพระองค์ก็ตอบกลับไปยังปลัดกระทรวงการต่างประเทศด้วยหนังสือที่ ต. 1109/2488  ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488 ความว่า

หนังสือที่ ว. ๖๓๕๗/๒๔๘๘ ลงวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๘ แจ้งเรื่องการดำเนินการให้อนุเคราะห์แก่บุตรชายของพระประศาสน์พิทยายุทธ์ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้สั่งให้อัครราชทูต ณ กรุงเบอร์นพิจารณาช่วยเหลือแล้วนั้น ว่า บัดนี้ อัครราชทูต ณ กรุงเบอร์นได้โทรเลขรายงานว่า ผู้อำนวยการ  Institute of Rosenberg แจ้งให้ทราบว่า อัครราชทูตอาฟกานนิสตาน ณ กรุงเบอร์ลิน ซึ่งขณะนี้อยู่ในประเทศสวิส ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการใช้จ่ายเงินแทนบุตรชายพระประศาสน์พิทยายุทธ์ทั้งสิ้น และว่าบิลของโรงเรียนก็ได้ส่งไปให้อัครราชทูตอาฟกานนิสตานจัดการชำระตลอดมาจนบัดนี้ แต่ถ้าภายหน้าเกิดขัดข้องอย่างใดขึ้น จะแจ้งให้สถานทูตไทย ณ กรุงเบอร์นทราบนั้น

ข้าพเจ้าได้นำความเสนอท่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทราบแล้ว.

แม้หลักฐานที่เป็นหนังสือหลายฉบับข้างต้นจะมิได้ระบุนามของ นายปรีดี พนมยงค์ เลย ในฐานะที่เป็นผู้พยายามให้ความช่วยเหลือแก่บุตรชายของ พระประศาสน์พิทยายุทธ อย่างแข็งขัน แต่ในช่วงปี พ.ศ. 2488 นั้น ผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็มีเพียง นายปรีดี แค่คนเดียวเท่านั้น

สำหรับอัครราชทูตอัฟกานิสถานประจำกรุงเบอร์ลินที่ได้รับการพาดพิงถึงว่าเป็นผู้ดูแลเรื่องการเงินให้กับบุตรชายของ พระประศาสน์ฯ นั้น แม้จะมิพบการระบุนามไว้ แต่หากพิจารณาจากบันทึกเรื่อง ๒๒๕ วันในคุกรัสเซีย แล้ว คิดว่าน่าจะเป็น นายอัลลาห์ นาวาส ข่าน (AIlah Nawaz Khan) ซึ่งมีความสนิทสนมกับ พระประศาสน์ฯ ยิ่งนัก ดังสอดคล้องกับความตอนหนึ่งว่า

ในระหว่างนี้เองโชคดีได้เข้ามาขัดจังหวะความอับจนในปัญหาเรื่องการเงินไปได้อย่างหวุดหวิด เมื่อภายหลังที่ข้าพเจ้าได้โทรเลขติดต่อกับภรรยาไปทาง กรุงวอชิงตันแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้รับทราบถึงเรื่องราวของมิตรชาวต่างประเทศที่เราสนิทสนมกันมากทั้งในทางงานการและส่วนตัวผู้หนึ่ง คือมิสเตอร์ AIlah Nawaz Khan.  นาวาสข่านผู้นี้ได้ให้ความเป็นมิตรแก่ข้าพเจ้าอย่างเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันมาตลอดเวลาในกรุงเบอร์ลินแต่อดีต ข้าพเจ้าได้ความช่วยเหลืออย่างสุดเหวี่ยงจากเขามาครั้งหนึ่ง เมื่อคราวอพยพครอบครัวไปอยู่เวียนนา-ไปอยู่ที่บ้านของเขาเอง ภายหลังข้าพเจ้าได้ทราบว่าถูกรัสเซียนจับตัวไปแต่สืบไม่ได้ความว่าจับไปไว้ ที่ไหน เพราะค่ายเซลยของรัสเซียกระจัดกระจายอยู่ถึง ๓๐-๔๐ แห่ง  ข้าพเจ้าเพิ่งได้ทราบจากโทรเลขของภรรยาเดี๋ยวนี้เองว่าบัดนี้ นาวาส ข่าน ได้ไปปรากฏตัวอยู่ที่สวิสแล้ว  ดังนั้นข้าพเจ้าจึงไม่ได้รีรอในการที่จะติดต่อไปถึงเขา ซึ่งนอกจากเขาจะได้เอื้อเฟื้อจัดการส่งชูศักดิ์ขึ้นเครื่องบินมาพบกับข้าพเจ้าที่สต๊อกโฮม  เขายังส่งเงินจำนวนหนึ่งมาให้ข้าพเจ้าสำหรับใช้จ่ายไปพลางในสต๊อกโฮมด้วย

หลังจากที่ พระประศาสน์ฯ ได้รับอิสรภาพจากค่ายเชลยในสหภาพโซเวียตแล้ว ก็พยายามติดต่อกับทางครอบครัวของตน และทราบว่าภรรยาและบุตรสาวถูกคุมตัวไปสหรัฐอเมริกาพร้อมกับเชลยชาวญี่ปุ่น ซึ่งขณะที่กำลังเข้าแถวลงเรือนั้น พวกทหารอเมริกันนับหมื่นที่แยกแยะไม่ได้ว่าใครเป็นหรือไม่เป็นชาวญี่ปุ่นบ้าง ต่างพากันมาถ่มน้ำลายใส่ จนภรรยาและบุตรสาวของอัครราชทูตไทยประจำกรุงเบอร์ลินเนื้อตัวเปรอะเปื้อนไปหมด บุตรสาวที่ชื่อ นงลักษณ์ ซึ่งต่อมาได้สมรสกับ พันเอก (พิเศษ) สมพงศ์ พิศาลสารกิจ  ย้อนรำลึกความทรงจำเรื่องนี้ว่า “ทางจะขึ้นเรือสองข้างเต็มไปด้วยทหารอเมริกันเป็นหมื่นๆคน ส่วนมากเป็นญี่ปุ่น เขามีสำนักงานที่ใหญ่มาก ข้าราชการเป็นร้อยๆ ของเราแค่ 10 คน เราก็เดินตามหลังญี่ปุ่น ผ่านมาทหารอเมริกันก็ถ่มน้ำลายใส่ จนกระทั่งขึ้นเรือ”

ครั้น พระประศาสน์ฯ หวนคืนกลับสู่กรุงเทพมหานครอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2489 แล้ว ราวสี่วันต่อมาก็ได้รับตำแหน่งอัครราชทูตประจำกระทรวงอยู่ระยะหนึ่ง จวบจนกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2490 จึงโอนไปรับราชการสังกัดกระทรวงคมนาคมในตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ช่วงนี้เองที่พระยาพหลพลพยุหเสนา และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แวะเวียนมาเยี่ยมถึงที่บ้าน

อาจเพราะ พระประศาสน์ฯ ต้องเผชิญมรสุมสงครามและความสูญเสียแสนเศร้ามาอย่างหนักหนาสากรรจ์ มิหนำซ้ำภรรยาคู่ชีพก็มาจากไปในปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2491 ส่งผลให้อดีตอัครราชทูตไทยประจำกรุงเบอร์ลินระทมทุกข์จนพึ่งพาสุราเมรัย โดยชอบดื่มถึงขั้นทดลองผลิตเหล้าจากผลไม้ด้วยตนเอง คือนำผลไม้มาหมักกลั่นแล้วใส่ขวดถ่วงน้ำไว้ในสระข้างบ้าน

ท้ายที่สุด  พระประศาสน์ฯ ล้มป่วยด้วยโรคตับแข็งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2492 กระทั่งอาการเกินเยียวยาและสูญสิ้นลมหายใจในวันที่ 6 ธันวาคมปีเดียวกัน อายุขัยเพียง 55 ปีกับอีกราว 6 เดือน

ชะตาชีวิตของ พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ช่างเต็มไปด้วยความโลดโผนอันน่าสะทกสะเทือนใจ ทว่าเขาก็ยังคงมีมิตรแท้รุ่นน้องที่คอยช่วยเหลือให้พ้นภัยทางการเมืองอย่าง นายปรีดี พนมยงค์ แม้ในวาระสุดท้ายยามวายปราณจะเป็นช่วงที่ นายปรีดี เองก็ต้องระหกระเหินลี้ภัยทางการเมืองในต่างประเทศ กลายเป็นคนที่มาช่วยดูแลเรื่องงานพิธีศพให้คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเคยเพ่งเล็งเขาเพราะเกรงจะเป็นฝ่ายตรงข้าม

น่ายินดีเหลือเกินที่ถึงจะต้องอาศัยกาลเวลาเนิ่นนานหลายปีในการร่ายเรียงเรื่องราวเหล่านี้เพื่อนำเสนอสู่สายตาคุณผู้อ่าน แต่ในที่สุด ผมก็สามารถทำได้สำเร็จลุล่วง

 

เอกสารอ้างอิง

  • หจช. กต. 43.16/19 บุตรพระประศาสน์ฯในสวิส (พ.ศ. 2488)
  • ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๑ จดหมายเหตุเรื่องมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาประเทศไทย. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรีพระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม  วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2493. พระนคร: การพิมพ์ไทยสามัคคี, 2493.
  • ประศาสน์พิทยายุทธ์ (วัน), พระ. 225 วันในคุกรัสเซีย.  พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นางประศาสน์พิทยายุทธ (เนาว์ ชูถิ่น) จ.จ. ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ 3 พฤศจิกายน 2491. พระนคร : โรงพิมพ์ธนาคารออมสิน, 2491.
  • สมพงศ์ พิศาลสารกิจ, พันเอก (พิเศษ). เปิดบันทึกชีวิต...พระประศาสน์พิทยายุทธ. กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, 2545.
  • อาศิรา พนาราม. “รู้จักคนไทยเจ้าของลายเซ็นสุดท้ายในสมุดเยี่ยมฮิตเลอร์ ก่อนที่จะยิงตัวตายเพียง 10 วัน” กรุงเทพธุรกิจ (31 ธันวาคม 2560) เข้าถึงที่ https://www.bangkokbiznews.com/social/363
  • STUDY OF GERMAN INTELLIGENCE ACTIVITIES IN THE NEAR EAST AND RELATED AREAS PRIOR TO AND DURING WORLD WAR II. เข้าถึงที่ https://www.cia.gov/readingroom/docs/CIA-RDP81-01043R003500080004-7.pdf