“เรามิได้บังอาจเรียกตัวเราเองว่า ได้ประกอบวีรกรรมอันสูงส่งมาในเวลาสงคราม... ทำนองเดียวกัน เราไม่เคยโอหังจองหองพองขนว่า เรามีบุญคุณต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสงครามสงบ บ้านเมืองมีสันติสุขแล้ว พวกเราก็มิได้เป็นกองทัพหรือเครื่องมือของบุคคลใด หรือคณะหนึ่งคณะใดดังที่ความผันผวนของกระแสการเมืองในขณะนั้นทำให้เกิดเข้าใจผิดขึ้น ทั้งนี้จะเห็นได้จากเมื่อบ้านเมืองเรียบร้อยเป็นปกติแล้ว พวกเราก็สลายตัวไปเอง”[1]
(๑) บทนำและความเป็นมา
ข้อความที่คัดมาข้างต้นเป็นคำกล่าวของ นร. สห. 2488 ท่านหนึ่ง ในหนังสือ “ประมวลประวัติความเป็นมาและการสร้างอนุสรณ์สถาน นร. สห. 2488 (นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)” แสดงความคับข้องใจและตอบโต้ต่อข้อครหาต่างๆ เพราะเมื่อผู้เกี่ยวข้องกับการก่อตั้งขบวนการเสรีไทยคนสำคัญอย่างนายปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยการเมืองหลังจากเกิดการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2490 ขบวนการเสรีไทยก็เหมือนจะถูก “ด้อยค่า” จากฝ่ายการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อปรีดีอยู่ช่วงหนึ่ง ในจำนวนนี้กลุ่มนิสิตชายจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรุ่น 2488 ก็เหมือนจะ “โดนหางเลข” ไปด้วย
“นักเรียนสารวัตรทหารรุ่น 2488” หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อ “นร. สห. 2488” จากรั้วจามจุรี มาเกี่ยวอะไรกับปรีดี พนมยงค์ และขบวนการเสรีไทย?
เมื่อพูดถึงปรีดี พนมยงค์ กับบทบาทต่อมหาวิทยาลัย คนมักจะนึกถึงคุณูปการที่มีต่อ ม.ธ.ก. (มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง) ในฐานะผู้ประศาสน์การ แต่ในท่ามกลางยุคสมัยที่ไทยตกเป็นทางผ่านของกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาอยู่นั้น ก็มีอันให้รัฐบุรุษอาวุโสไปมีบทบาทพัวพันกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นี่เป็นประวัติศาสตร์ที่เรียกได้ว่าเกือบจะสูญหายไปของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งๆ ที่มีอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงเป็นประจักษ์พยานอยู่ภายในรั้วจามจุรี ด้านหน้าลานทางเข้าสำนักวิทยบริการ (หอสมุดกลาง) อีกทั้งเรื่องของ นร. สห. 2488 ยังปรากฏตามเอกสารคำสั่งราชการ ตลอดจนหนังสือที่ระลึกหลังสิ้นสุดสงคราม ปัจจุบันมีงานวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยในแง่มุมต่างๆ ออกมาหลายชิ้นก็จริง แต่เรื่องราวบทบาทของ นร. สห. 2488 ก็ดูเหมือนไม่ค่อยได้รับความสนใจศึกษาเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม เนื่องในโอกาสครบ 100 ปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (นับจากปีก่อตั้งเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2460) ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทบทวนประวัติศาสตร์ของสถาบันการศึกษาดังกล่าวในหลากหลายแง่มุม เรื่องราวเมื่อแรกก่อตั้ง พระมหากรุณาธิคุณในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 คงมีผู้เขียนถึงไว้พอสมควรแล้ว นอกเหนือจากนั้นความเป็นสถาบันที่ก่อตั้งมาคู่ขนานกับแนวคิดการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ในสังคมไทยสยาม เป็นแรงผลักดันหนึ่งที่ทำให้ครั้งหนึ่งนิสิตชายจากรั้วจามจุรีจำนวนหนึ่ง ได้เข้าร่วมขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชและอธิปไตยของไทย
หากใครไปที่หอสมุดกลางของจุฬาฯ จะพบว่าบริเวณเยื้องด้านหน้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวหอสมุด เป็นที่ตั้งของสถาปัตยกรรมแปลกๆ ที่ไม่พบเห็นที่อื่นใด ลักษณะเป็นลานยกพื้นสูงขึ้นเล็กน้อย ศูนย์กลางเป็นซากหินประหลาดตั้งตระหง่านอยู่ รายล้อมด้วยแมกไม้สีเขียว มีหอพักนิสิตเป็นฉากหลังอยู่ทางทิศเหนือ
บริเวณดังกล่าวนี้นิสิตจุฬาฯ นิยมเรียกกันว่า “ลานหิน” มีนิสิตแวะเวียนมานั่งเล่น ทำกิจกรรม และเป็นที่นัดพบกันบ้างประปราย สถานที่แห่งนี้ชื่ออย่างเป็นทางการคือ “อนุสรณ์สถาน นร. สห. 2488” (นร. สห. ย่อมาจาก “นักเรียนสารวัตรทหาร”) อนุสรณ์สถานแห่งนี้นับเป็นสถานที่สำคัญที่บอกเล่าประวัติศาสตร์หนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงนิสิตชายจำนวนหนึ่งที่ได้สมัครไปเป็นสารวัตรทหาร ซึ่งเป็นหน่วยทหารลับของเสรีไทยในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา สมัครไปเป็นทหารโดยที่รู้ว่าคือการเตรียมการเพื่อปลดอาวุธกองทัพญี่ปุ่น
สืบเนื่องจากในเช้ามืดของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่ประเทศไทยหลายแห่ง และขอเดินทัพผ่านไปโจมตีอังกฤษที่พม่า อินเดีย และมาเลเซียทางใต้ ประเทศไทยขณะนั้นมีกำลังทหารน้อยและเหตุปัจจัยอื่นๆ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงตัดสินใจตอบรับตกลงยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านและประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ
แต่มีคนไทยจำนวนมากมิได้เห็นพ้องกับการตัดสินใจของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพราะเห็นว่าการยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศตนไปโจมตีประเทศอื่นนั้น เท่ากับไทยได้เสียเอกราชและอธิปไตยให้แก่ญี่ปุ่นไปโดยปริยาย จึงได้มีการก่อตั้งขบวนการต่อสู้ที่เรียกว่า “เสรีไทย” ขึ้นมา นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและรัฐบุรุษอาวุโส เป็นหัวหน้าเสรีไทยในประเทศไทย หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นผู้นำเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา และหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน์ เป็นหัวหน้าเสรีไทยในอังกฤษ
(๒) ลับ ลวง พราง : เมื่อปรีดี พนมยงค์ ชักชวนนิสิตจุฬาฯ ไปเป็น “ทหารลับ” ของเสรีไทย
ในส่วนการดำเนินงานของเสรีไทยในประเทศไทย นายปรีดี พนมยงค์ ได้ตั้งให้พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ ซึ่งเข้าร่วมเสรีไทย ไปเป็นนายทหารสารวัตรใหญ่ เพราะสารวัตรทหารมีอำนาจหน้าที่สามารถเดินทางไปได้ทั่วประเทศ โดยไม่เป็นที่สงสัย อีกทั้งพลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ ยังเคยไปเยือนราชนาวีญี่ปุ่น และเป็นผู้ควบคุมการต่อเรือหลวงศรีอยุธยาในญี่ปุ่นจนรู้ภาษาญี่ปุ่น จึงทำให้ญี่ปุ่นมีความเชื่อถือและไว้วางใจว่านายทหารไทยฝ่ายนิยมญี่ปุ่นมาแต่เดิม โดยไม่ระแวงสงสัยว่าท่านผู้นี้จะเป็นสมาชิกคนสำคัญของขบวนการเสรีไทย[2]
ราวกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2488 ขณะที่สงครามยังครุกรุ่นอยู่นั้น โดยที่หลายฝ่ายในช่วงนั้นยังมิได้มองว่าสงครามจะยุติลงในปีดังกล่าว พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ ได้เข้าพบและปรึกษาหารือกับนายปรีดี พนมยงค์ ว่าในการดำเนินงานผลักดันฐานทัพญี่ปุ่นออกไปจากประเทศไทยนั้น จำต้องเปิดสงครามสู้รบขั้นแตกหัก โดยขบวนการเสรีไทยจะต้องมีหน่วยทหารลับพร้อมรบแบบสงครามกองโจร (Gurrilla War-fare) ทั้งการรบในป่า การรบในเมือง การใช้อาวุธทันสมัย การทำลายด้วยดินระเบิด มีระเบียบวินัยแบบทหารและสามารถใช้อาวุธที่ฝ่ายพันธมิตรส่งมาให้ทางอากาศ ไม่ใช่เพียงประชาชนทั่วไปใครก็ได้ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกวิชาทหาร[3]
การณ์นี้พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ ได้เสนอว่านิสิตชายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งขณะนั้นได้ปิดการเรียนการสอนเพราะภัยสงคราม เป็นกลุ่มที่มีความพร้อมและเหมาะสมที่จะเข้ารับการฝึก เนื่องจากเป็นยุวชนทหาร ผ่านการฝึกวิชาทหารมาบ้างแล้วตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา นายปรีดี พนมยงค์ เห็นพ้องด้วยและอนุมัติให้ดำเนินการได้ทันที พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ จึงได้ขอเข้าพบหม่อมเจ้ารัชฎาภิเศก โสณกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสมัยนั้น
หม่อมเจ้ารัชฎาภิเศก โสณกุล ก็อนุญาตให้นิสิตชายไปช่วยราชการคับขันได้ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องให้เป็นโดยความสมัครใจของนิสิตชายแต่ละคน ไม่ถือเป็นการบังคับกะเกณฑ์ อธิการบดีได้ทำหนังสือเวียนไปยังคณบดีคณะต่างๆ ให้เรียกนิสิตชายทุกคนมาเข้าร่วมประชุมเป็นการด่วนในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2488 เวลา 10.00 น. ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[4] เมื่อถึงวันประชุมตามนัดหมาย จากบันทึกของผู้อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นท่านหนึ่งกล่าวว่า:
“หลวงสังวรฯ ได้พูดกับพวกเราอย่างชายชาติทหาร ขอให้พวกเราไปช่วยราชการของชาติในระหว่างที่มหาวิทยาลัยต้องปิดการศึกษาลงเพราะความจำเป็น ท่านพูดกับเราน้อยคำมาก แต่ได้ความชัดเจน ไม่มีการโฆษณาชวนเชื่อ ไม่มีคำพูดหว่านล้อมเอาสิ่งใดมาเป็นเครื่องล่อ แต่พูดอย่างลูกผู้ชายกับลูกผู้ชาย พูดอย่างทหารกับทหาร พวกเราจึงตัดสินร่วมกับท่านโดยทันที หลังจากใช้เวลาเพียงเล็กน้อยพบกันเป็นครั้งแรกเท่านั้น เรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริงที่กระผมขอยืนยันแทนพวกเราทุกคนได้ว่า ในขณะที่ตัดสินใจสมัครเข้าโรงเรียนนายทหารสารวัตรในขณะนั้น พวกเรามิได้คิดหวังที่จะได้ผลตอบแทนจากทางราชการแต่ประการใดเลย เราสมัครไปรับใช้ชาติในยามที่ชาติต้องการจริงๆ พวกเรา 200 กว่าคนตัดสินใจด้วยตัวเองมิได้มีการชักชวนหรือใช้อิทธิพลใดๆ มาบีบบังคับแม้แต่น้อย อันเป็นสิ่งที่พวกเรายังภาคภูมิใจอยู่จนทุกวันนี้ว่า เป็นการตัดสินใจของคนหนุ่มที่มีจิตใจเสียสละเพื่อประเทศชาติด้วยความบริสุทธิ์ใจจริงๆ อันจะหาได้ยากจากประวัติศาสตร์”[5]
เนื่องจากการรับสมัครนิสิตจุฬา เพื่อไปเป็นทหารลับของเสรีไทย ต้องกระทำอย่าง “ปิดลับ” พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ แม้จะขอกล่าวเชิญชวนในที่ประชุม ก็คงไม่สามารถพูดถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการรับสมัครได้เต็มที่ จึงได้ใช้วิธีให้คนไปกระซิบบอกต่อๆ กันในที่ประชุมนั้น ดังปรากฏในบันทึกของผู้ร่วมในเหตุการณ์อีกท่านหนึ่งดังนี้:
“พล ร.ต. สังวรฯ ได้ลุกขึ้นกล่าวอารัมภบทและชี้แจงวัตถุประสงค์ในการเปิดรับสมัครนักเรียนนายทหารสารวัตรครั้งนี้ ท้ายสุดได้ขอร้องให้บรรดานิสิตทั้งหมดเสียสละเพื่อประเทศชาติ โดยสมัครเข้าเป็นนักเรียนนายทหารสารวัตร ในตอนแรกบรรดานิสิตทั้งมวลต่างงวยงง และไม่สู้เข้าใจในคำพูดของท่านสารวัตรใหญ่เท่าใดนัก ทว่าต่อมามีการกระซิบบอกกันเป็นทางลับๆ ว่า การเป็นนักเรียนนายทหารคราวนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อไปสู้รบต่อต้านญี่ปุ่นนั่นแหล่ะ บรรดานิสิตทั้งหมดจึงเข้าใจ ต่างได้สมัครเข้าเรียนในโรงเรียนทหารสารวัตร”[6]
วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2488 มีนิสิตชายเข้าร่วมประชุมราว 300 กว่าคน หลังพลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ กล่าวจบและนิสิตทุกคนทราบถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการรับสมัครเข้าเป็นนักเรียนทหารสารวัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีนิสิตตัดสินสมัครเข้าร่วมจำนวนมากถึง 300 คนเศษ ทั้งหมดเป็นคนหนุ่มอายุราว 18-23 ปี หลังจากทำการตรวจโรคและความพร้อมของร่างกายเสร็จแล้ว มีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 298 คน[7] แบ่งเป็น 2 หน่วย คือ หน่วยรบ 273 คน และหน่วยสื่อสาร 25 คน หม่อมเจ้ารัชฎาภิเศก โสณกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น ยังได้ให้การสนับสนุนแก่นิสิต โดยอนุมัติเงินรายได้ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมทบจ่ายเป็นเบี้ยเลี้ยงแก่นิสิตในระหว่างไปปฏิบัติราชการลับครั้งนี้ด้วย[8]
โรงเรียนนายทหารสารวัตรได้เปิดเรียนเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2488 ในชั้นแรกโรงเรียนนายทหารสารวัตรก็ร่ำเรียนเหมือนอย่างโรงเรียนนายร้อย แต่มีหลักสูตรรวบรัดเพียง 1 ปี มีการสอนการบรรยายในห้องเรียน การฝึกเช้าเย็น เมื่อเรียนผ่านไปได้ระยะหนึ่ง ก็จัดให้ไปเป็นผู้ฝึกสอนแก่เสรีไทยกลุ่มอื่นๆ อาทิกลุ่มนายสิบ สห. ที่มาจากนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) จำนวนกว่า 397 คน ภายหลังทั้งสามกลุ่มได้รวมตัวกันเป็น “สมาคมเตรียม ธรรมศาสตร์ จุฬา อาสาศึก” เพราะมีความสนิทสนมกันมาแต่สมัยสงคราม ฝึกทหารมาด้วยกัน[9]
การเปิดโรงเรียนนายทหารสารวัตรในครั้งนั้น ใช่ว่าจะรอดพ้นสายตาความสังเกตของฝ่ายญี่ปุ่น นายพลนากามูระ (พลโท นากามูระ อาเกโตะ) แม่ทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้จับตาดูโรงเรียนแห่งนี้อย่างใกล้ชิด แต่นายปรีดี พนมยงค์ นายทวี บุญยเกตุ และพลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ ก็ได้อาศัยสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับญี่ปุ่น จัดทำแผน “ลับ ลวง พราง” ตบตาญี่ปุ่นหลายรูปแบบ
เป็นต้นว่าได้มีการเข้าพบและพูดคุยอธิบายเหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีหน่วยทหารสารวัตร เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในระหว่างสงคราม และเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจต่อแม่ทัพญี่ปุ่น ได้มีการเชิญ “หน่วยงิ” ของญี่ปุ่น[10] ให้มาถ่ายทำสารคดีไปเผยแพร่ว่า ไทยกับญี่ปุ่นร่วมวงศ์ไพบูลย์เดียวกันอย่างเหนียวแน่นอีกด้วย[11] ดังนั้นถึงแม้ว่านายพลนากามูระจะสงสัยระแคะระคายเกี่ยวกับโรงเรียนนี้อยู่ แต่ก็ไม่อาจสั่งปิดโรงเรียนนี้ได้
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2488 พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ ได้ทยอยส่งนักเรียนนายทหารสารวัตรทั้ง 298 นาย ไปยังค่ายสวนลดาพันธุ์ ตั้งอยู่ที่วัดเขาบางทราย อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี โดยอ้างว่าเพื่อไปฝึกภาคสนามสร้างความชำนาญ แต่ที่จริงค่ายสวนลดาพันธุ์หรือค่ายวัดเขาบางทราย ได้เตรียมทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว โดยมีอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพสหรัฐอเมริกา ทิ้งร่มลงมาไว้ให้ที่บ้านมาบตาพุด จังหวัดระยอง (สมัยนั้นยังไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม ยังคงเป็นป่าหนาทึบอยู่) ถูกลำเลียงมาเก็บไว้ที่ค่ายวัดบางทราย เพื่อรอนักเรียนนายทหารสารวัตรอยู่ก่อนแล้ว[12]
นอกจากนี้ยังมีนายทหารอเมริกันหลายนายโดดร่มลงมาอยู่ที่ค่ายนี้ โดยมี “พันตรีฟรานซิส” เป็นหัวหน้า เมื่อนักเรียนนายทหารสารวัตร 298 นายมาถึงค่ายแล้ว การฝึกรบต่อต้านญี่ปุ่นจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง มีการแยกกำลังออกเป็นหน่วยย่อยๆ มีครูฝึกทหารอเมริกันรับผิดชอบควบคุมทุกๆ หน่วย มีการสอนใช้อาวุธทันสมัย ตลอดจนยุทธวิธีการรบโดยพันตรีฟรานซิสอำนวยการสอนด้วยตัวเอง
จนถึงกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 ญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้สงคราม แต่การฝึกของนักเรียนนายทหารสารวัตรยังคงดำเนินต่อมาจนจบหลักสูตรในเดือนกันยายน พ.ศ. 2488 และได้เข้าร่วมพิธีการสวนสนามของพลพรรคเสรีไทยที่ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488[13]
สงครามยุติแล้วก็จริง แต่สงครามก็ได้ทิ้งความวุ่นวายเหลวแหลกเอาไว้ให้ กล่าวกันว่าทหารญี่ปุ่นบางหน่วยดื้อแพ่งไม่ยอมแพ้ตามพระราชโองการของพระจักรพรรดิ โจรผู้ร้ายชุกชุมทั่วประเทศ ชาวจีนส่วนหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้ก่อเหตุจลาจลยิงกันกลางเมืองหลวง นักเรียนนายทหารสารวัตรที่เตรียมไว้รบกับญี่ปุ่น ก็เลยถูกส่งมารบปราบปรามคนจีนที่ก่อความวุ่นวายนี้แทน โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ใช้ชื่อว่า “สารวัตรทหารตำรวจผสม” (สห.-ตร.-ผสม)[14]
บางส่วนก็ทำหน้าที่ประสานงานกับทหารสหประชาชาติที่เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย การปราบปรามดำเนินไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2488 เหตุการณ์จึงสงบ นักเรียนนายทหารสารวัตรทั้งหมดจึงได้กลับเข้ากรมกอง และในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2488 นักเรียนนายทหารสารวัตรก็ได้รับพระราชทานยศเป็นว่าที่ร้อยตรี ทำพิธีประดับยศ ณ กรมสารวัตรทหารเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2488[15]
หลังจากนั้นนักเรียนทหารสารวัตรกลุ่มนี้ก็ได้สลายตัว บางส่วนกลับเข้าศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บางส่วนสมัครเข้ารับราชการเป็นตำรวจ อีกส่วนเข้ารับราชการกรมศุลกากร และบางคนก็หันไปประกอบอาชีพส่วนตัว[16] นานทีปีหนจะมีการนัดพบปะสังสรรค์รื้อฟื้นความหลังกัน
(๓) อนุสรณ์สถาน นร. สห. 2488: การเมืองของความทรงจำและกุญแจไขประวัติศาสตร์
หลังสงครามยุติและเหตุการณ์บ้านเมืองสงบ อดีตนร.สห.2488 ได้รวมตัวกันในนาม “ชมรมนักเรียนสารวัตรทหาร 2488” เป็นกลุ่มนัดพบปะสังสรรค์ ติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี ต่างกรรมต่างวาระ การประชุมครั้งสำคัญคือการประชุมเรื่องการสร้างอนุสรณ์สถาน นร. สห. 2488 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2534 เวลา 16.00 น. ที่ห้องอาหารบ้านครัว ศาลาแดง พล.อ.ต.กำธน สินธวานนท์ ประธานชมรมฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีหนังสือที่ ทม.0301/1670 ลงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2534 อนุมัติให้ใช้สถานที่บริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดสร้างอนุสรณ์สถาน นร. สห. 2488[17]
หลังจากนั้นก็ได้มีการประชุมหารือกันอีกหลายครั้ง เพื่อพิจารณารูปแบบของอนุสรณ์สถาน การจัดหาทุน และทำหนังสือที่ระลึก บางคนติงทำนองว่าการสร้างอนุสรณ์สถานก็คือการสร้างอนุสาวรีย์ที่เขาสร้างให้คนที่ตายไปแล้ว บางคนก็ค้านว่าไม่จริงเสมอไป โดยยกตัวอย่างอนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1[18] ขณะที่บางท่านเสนอแนวคิดอื่นๆ เพื่อพิจารณาเพิ่มเติม เช่น 1. เสนอให้เรียกว่า “อนุสรณ์สถาน” 2. เสนอให้สร้างห้องสมุดหรือถาวรวัตถุ 3. จัดตั้งกองทุนเก็บดอกผลให้นิสิต 4. ทำที่ระลึกขนาดเล็ก เช่น สวนหย่อม มีก้อนหินสลักประวัติ อนุญาตให้นิสิตนักศึกษา อาจารย์ และคนทั่วไป ได้มาใช้ทำกิจกรรม พร้อมการจัดตั้งกองทุน ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลสนับสนุนข้อเสนอของตัวเอง ล้วนแต่น่ารับฟัง จึงได้หาข้อยุติโดยวิธีลงคะแนนเสียงเป็นรายบุคคล ผลของการลงมติตกลงให้ดำเนินการตามแบบที่ 1 3 และ 4[19]
วัตถุประสงค์สำคัญของการสร้างอนุสรณ์สถาน นร. สห. 2488 จากเอกสารระบุไว้ว่าเพื่อ “เป็นกุญแจไขประวัติศาสตร์ให้คนทั่วไปทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงานเสรีไทย”[20] ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าปัญหาความรับรู้ที่มีต่อขบวนการเสรีไทยในการเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงทศวรรษ 2500 ถูกมองสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคณะราษฎรสายพลเรือนอันมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำ ในการต่อต้านลัทธิเผด็จการทหารนิยมของฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม[21]
เมื่อเกิดรัฐประหาร 2490 โดยกลุ่มที่เป็นปรปักษ์กับคณะราษฎรและเสรีไทย ได้รื้อฟื้นกรณีสวรรคตมาโจมตีฝ่ายปรีดี ปรีดีกับพวกได้พยายามตอบโต้และแย่งชิงอำนาจคืนมาในเหตุการณ์กบฏวังหลวง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492[22] โดยมีกำลังฝ่ายเสรีไทยและกองพันนาวิกโยธินทหารเรือของ พล ร.ต. ทหาร ขำหิรัญ เป็นผู้สนับสนุน แต่เพราะขาดการประสานงานที่ดี อีกทั้ง พล. ร. ท.สินธ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือไม่ได้ให้การสนับสนุน การก่อรัฐประหารครั้งนี้จึงล้มเหลว ส่งผลทำให้ขบวนการเสรีไทยถูกกวาดล้างอย่างหนักจากฝั่งรัฐบาล[23]
จาก “วีรบุรุษสงคราม” ก็มาถูกทำให้กลายเป็น “ผู้ร้าย” ในการเมืองไทยไป หลายคนจึงปกปิดตัวตนและความเกี่ยวข้องกับขบวนการเสรีไทย จนเมื่อเวลาล่วงเลยมา สถานการณ์การเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คลี่คลายและผ่านพ้นไปแล้ว จึงได้มีความพยายามที่จะรื้อฟื้นเรื่องราวของเสรีไทยขึ้นมาใหม่ แรกเริ่มเดิมทีแนวคิดที่จะสร้างอนุสรณ์สถาน นร. สห. 2488 ขึ้นในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น
เป็นที่ยอมรับกันในหมู่นร.สห.2488 ว่าพล.ต.ต.หม่อมราชวงศ์ยงสุข กมลาสน์ ประธานชมรมนร.สห.2488 ได้เสนอไว้ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2508[24] แต่มาบรรลุผลใน พ.ศ.2534 ช่วงที่ ศ. นายแพทย์ จรัส สุวรรณมาลา เป็นอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดทำหนังสือที่ระลึกควบคู่กับการสร้างอนุสรณ์สถาน นร. สห. 2488 จึงปรากฏความพยายามที่จะตอบโต้และลบล้างข้อหาบิดเบือนต่างๆ ต่อ นร. สห. และขบวนการเสรีไทย อันมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมือง ดังปรากฏตัวอย่างเช่นในหนังสือ “ประมวลประวัติความเป็นมาและการสร้างอนุสรณ์สถาน นร. สห. 2488” กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า:
“อย่างไรก็ดีในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการกู้ชาติกลับไม่มีอนุสาวรีย์ใดๆ เป็นที่ระลึกเพราะการเมืองในระบอบประชาธิปไตยภายในประเทศ ทำให้ไม่มีรัฐบาลใดระลึกถึงพฤติกรรมอันนี้ เพราะต่างฝ่ายต่างก็คิดจะยึดอำนาจการปกครองกันก็เลยแลเห็นว่าเรื่องเสรีไทยเป็นเรื่องการเมืองมีกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการ ที่น่าเสียใจก็คือแม้แต่วิทยานิพนธ์เพื่อรับปริญญาโทฉบับหนึ่ง ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการและจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มไปแล้ว ก็ยังวิเคราะห์ว่า เสรีไทยเป็นเรื่องของการเมืองภายในประเทศเท่านั้น
การที่ นร. สห. 2488 ได้คิดจัดสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นนี้ ในดวงจิตของ นร. สห. ซึ่งเป็นนิสิตจุฬาฯ ทุกคน ไม่ได้คิดว่าสร้างขึ้นเพื่อกลุ่ม นร. สห. โดยเฉพาะ หรือเพื่อยกย่องผู้ใดผู้หนึ่งจะเห็นได้ว่าในบทความนี้ได้พยายามหลีกเลี่ยงชื่อของบุคคลให้มากที่สุด เว้นแต่ว่าถ้าไม่กล่าวถึงเรื่องก็จะไม่ติดต่อกัน คงมีชาวจุฬาฯ อีกหลายคนคงไม่ทราบว่าท่านอาจารย์จุฬาฯ ชั้นผู้ใหญ่หลายท่าน รวมทั้งอธิการบดีในช่วงหลังท่านหนึ่งก็เป็นเสรีไทยด้วย
นร. สห. 2488 ทุกคนมีความเห็นพ้องต้องกันว่า เมื่อไม่มีองค์กรใดของรัฐคิดจัดสร้างอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงผลงานของเสรีไทย เราจึงพร้อมใจเสียสละทุนทรัพย์ตามแต่กำลังของแต่ละคนจัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นกุญแจไขประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง และขออุทิศอนุสรณ์สถานนี้ให้เป็นที่ระลึกของ “เสรีไทย” ทั้งมวลที่เสียสละเสี่ยงชีวิตเพื่อชาติ ทั้งผู้ที่มีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว และสร้างไว้ในจุฬาฯ ก็เพื่อให้เป็นเกียรติแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเป็นเครื่องน้อมระลึกถึงล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นพระบิดาผู้ก่อกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเครื่องสักการะล้นเกล้าทั้ง 2 พระองค์ ให้พระองค์ท่านได้ทรงทราบด้วยทิพยญาณว่า นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเปรียบเสมือนลูกของพระองค์ท่านจำนวนหนึ่ง 298 นายได้ยึดถือพระบรมราโชบายจะทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของชาติไทยแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น”[25]
(๔) อนุสรณ์สถาน นร. สห. 2488 กับแนวคิดศิลปกรรมตามหลักปรัชญาเซ็น
อนุสรณ์สถาน นร. สห. 2488 สร้างแล้วเสร็จในพ.ศ.2538 ร.ต.อภัย ผะเดิมชิต สถาปนิกผู้ออกแบบได้อธิบายต่อที่ประชุมคณะกรรมการก่อสร้างอนุสรณ์สถานฯ ว่าได้ออกแบบโดยคำนึงถึงหลักปรัชญาเซ็น ที่มีสารัตถะว่า มนุษย์เกิดจากธรรมชาติและจะก้าวหน้าไปอย่างมีประสิทธิผลที่สุดด้วยความร่วมมือกับธรรมชาติ การผสมกลมกลืนกับธรรมชาติแวดล้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญ แทนที่จะมุ่งเอาชนะกัน คำสอนเซ็นให้เคารพต่อสรรพสิ่งในธรรมชาติ ไม่ว่าต้นไม้ ก้อนหิน ลำธาร สระน้ำ ล้วนมีคุณค่าเทียบเท่ามนุษยชาติ ตลอดจนในงานนิรมิตกรรม อาทิ จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ นาฏศิลป์ เป็นต้น[26]
สาระประการสำคัญดังกล่าว หมายถึง การประสานสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสรรพสิ่งในธรรมชาติ ให้เป็นเอกภาพ หรือมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม อนุสรณ์สถาน นร. สห. 2488 เป็นเนรมิตกรรมที่สร้างขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายให้เป็นอนุสรณ์ ในวีรกรรมที่ผ่านมาในอดีต ด้วยความเสียสละ เพื่อความดำรงอยู่ของเอกราช ความสงบสุข และสันติภาพ อันเป็นความเรียกร้องต้องการของมนุษยชาติ มิใช่แต่เฉพาะคนไทยเท่านั้น ความเรียบง่ายของอนุสรณ์สถานฯ มีคุณค่าทั้งในด้านสุนทรียภาพและความเป็นเอกภาพระหว่างอนุสรณ์สถานกับสิ่งแวดล้อม[27]
อนุสรณ์สถานจึงออกมาในรูปของสัญลักษณ์เรียบง่าย เป็นก้อนหินตั้งกลางลาน รายล้อมด้วยแมกไม้ แลดูสงบและร่มรื่น ไม่มีลักษณะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สูงส่ง ตามแบบสถานที่เพื่อเชื่อมโยงกับโลกศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เหนือขอบเขตผัสสะของมนุษย์ปุถุชน การออกแบบอนุสรณ์สถานแห่งนี้โดยคำนึงถึงหลักปรัชญาเซ็น ซึ่งมีอิทธิพลต่อวิธีคิดและขนบธรรมเนียมของชาวญี่ปุ่น ยังสะท้อนว่าท้ายสุดแล้วกลุ่มคนที่ให้กำเนิดอนุสรณ์สถานนี้
ถึงแม้จะเป็นอดีตทหารต่อต้านญี่ปุ่น แต่เมื่อสงครามยุติไปแล้วและทุกอย่างคลี่คลายผ่านไปจนกลายเป็นอดีต พวกเขาก็มีมุมมองแง่บวกต่อวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น และคิดคำนึงถึงความเป็นมนุษยชาติ ข้ามพ้นอคติความขัดแย้งในอดีต มาสู่การเรียนรู้และสร้างความทรงจำเพื่อการอยู่ร่วมกันในที่สุด จึงไม่ใช่เพียงอนุสรณ์สถานเพื่อการรำลึกหรือจดจำอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้วเท่านั้น หากยังเป็นอนุสรณ์เพื่อการสร้างสรรค์ต่ออนาคตอีกด้วย
ชาตรี ประกิตนนทการ นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย เสนอว่ามีความเปลี่ยนแปลงในงานสถาปัตยกรรมของไทยที่สืบเนื่องมาจากการเมืองและสังคมภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงแบบแผนการสร้างสรรค์จากยุคจารีต (สยามเก่า) มาสู่สมัยใหม่ (สยามใหม่-ไทยประยุกต์)[28] ความเปลี่ยนแปลงข้างต้นส่งผลทำให้ศิลปินผู้สร้าง ผู้ออกแบบ ตลอดจนกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีการคำนึงถึงประเด็นสำคัญ อาทิ บทบาทของสามัญชนในประวัติศาสตร์
อนุสรณ์สถานที่สร้างและนำเสนอในช่วงหลังมานี้ จึงมีลักษณะของการนำเสนอหลักปรัชญาที่เป็นนามธรรม มิได้มุ่งสร้างความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งแก่บุคคลผู้ล่วงลับหรือที่ยังอยู่ แต่นั่นมิได้หมายความว่ากลุ่มบุคคลผู้เป็นที่มาของการสร้างอนุสรณ์สถานจะไม่ใช่บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์เองก็มีการเปลี่ยนแปลงความหมาย จากประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำมาสู่เรื่องของประชาชนและสังคมมากขึ้น
(๕) บทสรุปและส่งท้าย
จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าการเข้าเป็น “ทหารลับ” ของเสรีไทยโดยกลุ่มนิสิตจุฬาฯ เมื่อพ.ศ.2488 นั้นจะมีที่มาจากความคิดริเริ่มและดำเนินการโดยปรีดี พนมยงค์ และพลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ แต่ก็เป็นไปโดยความสมัครใจของนิสิตจุฬาฯ เหล่านั้นเอง เนื่องจากต่างเล็งเห็นภัยคุกคามของประเทศในช่วงสงคราม และอยากเป็นส่วนหนึ่งของการยุติภัยคุกคามที่ว่านี้นำสันติภาพกลับคืนมา
อีกทั้งยังเป็นการไปเป็นทหารลับที่ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยนั้น คือหม่อมเจ้ารัชฎาภิเศก โสณกุล อีกด้วย ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ เรื่องของ “นร. สห. 2488” ก็เป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปแล้ว เป็นอีกเรื่องที่สร้างความน่าภาคภูมิใจให้แก่ชาวจามจุรีได้ และเป็นคำตอบที่หลายคนสงสัยใคร่รู้ในประเด็นที่ว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสมัยเมื่อประเทศเผชิญภัยสงครามมหาเอเชียบูรพานั้นมีบทบาทอย่างไร
ในส่วนของอนุสรณ์สถาน นร. สห. 2488 ก็นับเป็นสถาปัตยกรรมสำคัญที่สื่อถึงยุคหลัง 2475 อีกที่หนึ่ง การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยมีผลต่อรูปแบบศิลปกรรมของอนุสรณ์สถาน ลักษณะการนำเสนอ ตลอดแนวความคิดที่พยายามสื่ออกมา ทำให้อนุสรณ์สถานมีสภาพเป็น “ภาษา” ที่สื่อความหมายและต้องอาศัยการตีความจึงจะเข้าใจ จากหลักปรัชญาเซ็นที่ยึดถือความเรียบง่ายและความผสมกลมกลืนกับธรรมชาติ อนุสรณ์สถาน นร. สห. 2488 จึงไม่มีลักษณะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
อีกทั้งอนุสรณ์สถานยังตั้งใจสร้างเพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมของคนอื่นๆ ทั้งนี้อาจเพราะจุฬาฯ มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำมหาวิทยาลัยอยู่ก่อนหน้าแล้ว อย่างเช่นลานพระรูปรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 โดยสาระสำคัญและความมุ่งหมายของอนุสรณ์สถาน นร. สห. 2488 ก็ไม่มีเจตนาที่จะสร้างความเท่าเทียมกับสถานที่ที่มีอยู่เดิม อย่างไรก็ตาม การมีอยู่ของอนุสรณ์สถานแห่งนี้ (แม้จะไม่เป็นที่รู้จักก็ตาม) ก็เป็นสิ่งที่ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติที่มีมิติอื่นนอกเหนือไปกว่าความเป็น “มหาวิทยาลัยเจ้า”
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือกำเนิดขึ้นจากแนวคิดการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ในยุครัชกาลที่ 5 ตลอด 100 ปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้น โดยสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองตลอด 100 ปีผ่าน มีผู้คนมากมายเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมกับสถาบันการศึกษาแห่งนี้ อนุสรณ์สถาน นร. สห. 2488 ที่เป็นศิลปกรรมเพื่อรำลึกถึงนิสิตชายจำนวนหนึ่งที่อาสาไปรบ นับเป็นเรื่องราวอันมีสีสันของประชาคมในสถาบันแห่งหนึ่ง ที่ไม่ค่อยพูดถึงกันเท่าไรนัก
หากสังเกตให้ดีจะพบว่าจำนวนนิสิตชายจุฬาในครั้งนั้นที่มีทั้งหมดราว 300-400 คนนั้น การเข้าร่วมเสรีไทยของนิสิต ถึงแม้จะขึ้นกับความยินยอมและเป็นการตัดสินใจของนิสิตแต่ละคน แต่จำนวนกว่า 298 คนนั้นถือเป็นจำนวนกว่า 3 ใน 4 ของนิสิตจุฬาขณะนั้น อีกทั้งการที่อธิการบดียังได้อนุมัติเงินรายได้จำนวนหนึ่งเพื่อเบิกจ่ายเป็นเบี้ยเลี้ยงแก่นิสิตที่เข้าร่วมเสรีไทย ก็กล่าวได้ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขณะนั้นได้มีส่วนร่วมกับขบวนการเสรีไทยอย่างเต็มที่
แต่เพราะการเมืองที่มุ่งโจมตีตัวบุคคลและกลุ่มขบวนการ ทำให้เรื่องราวถูกบิดเบือนไป จากวีรบุรุษสงคราม ซึ่งต่างก็อ่อนน้อมถ่อมตน กลับถูกทำให้กลายเป็นผู้ร้ายของการเมืองไทย การสร้างอนุสรณ์สถานจึงเป็นเหมือนการสร้างหมุดหมายใหม่ให้แก่ขบวนการเสรีไทยในพื้นที่ประวัติศาสตร์ ถือเป็นเกียรติแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ครั้งหนึ่งได้มีส่วนต่อการสร้างสรรค์เอกราช อธิปไตย และสันติภาพตามหลักสากลในสังคมไทย
เชิงอรรถ
* หมายเหตุ : บทความนี้ ปรับปรุงจาก กำพล จำปาพันธ์. “อนุสรณ์สถานกับความทรงจำ: นร.สห. 2488 เสรีไทยสายนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 38 ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2560).
[1] ประมวลประวัติความเป็นมาและการสร้างอนุสรณ์สถาน นร. สห. 2488 (นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย). (กรุงเทพฯ: ไม่ระบุโรงพิมพ์, 2538), หน้า 15.
[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 5.
[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า 4-5.
[4] หนังสือเวียนที่ 29/2488 คณะพาณิชยศาสตร์และบัญชีเรื่องต้องการพบด่วน (ลงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2488).
[5] ประมวลประวัติความเป็นมาและการสร้างอนุสรณ์สถาน นร. สห. 2488, หน้า 6.
[6] อนุสรณ์ นร. สห. 2488. (กรุงเทพฯ: อัมรินทร์, 2537), หน้า 28.
[7] ดูรายชื่อทั้ง 298 คนได้จาก กระทรวงกลาโหม คำสั่งทหารที่ 300/14693 เรื่องให้นักเรียนนายทหารสารวัตรเป็นนายทหาร (ลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2488); ประมวลประวัติความเป็นมาและการสร้างอนุสรณ์สถาน นร. สห. 2488, หน้า 36-55.
[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 6.
[9] อนุสรณ์ นร. สห. 2488, หน้า 23.
[10] ภายหลังจากที่ญี่ปุ่นขึ้นบกที่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 และรัฐบาลไทยได้ทำความตกลงยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย โดยทำ “สนธิสัญญาพันธมิตรระหว่างไทยกับญี่ปุ่น” แล้ว เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2484 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการผสมขึ้นมาชุดหนึ่ง ทำหน้าที่ติดต่อประสานความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2486 นายพลนากามูระได้ย้ายเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดในไทย ก็ได้เปลี่ยนชื่อเรียกกองทหารญี่ปุ่นประจำประเทศไทยว่า “กองทัพงิ” หรือ “หน่วยงิ” ( “งิ” แปลว่า “ความชอบธรรม”) โดยมีกองบัญชาการตั้งอยู่ที่สมาคมพ่อค้าชาวจีนแห่งประเทศไทยที่ถนนสาธรใต้ ฝ่ายไทยก็ได้เปลี่ยน “กองอำนวยการคณะกรรมการผสม” มาเป็น “กรมประสานงานพันธมิตร” เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2486 ดูรายละเอียดใน โยชิกาว่า โทชิฮารุ. “หน่วยงิ (กองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย) กับการจัดซื้อข้าวในประเทศไทย” แปลโดย อาทร ฟุ้งธรรมสาร, วารสารญี่ปุ่นศึกษา. ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 (2001), หน้า 47-62.
[11] อนุสรณ์ นร. สห. 2488, หน้า 28.
[12] เรื่องเดียวกัน.
[13] ประมวลประวัติความเป็นมาและการสร้างอนุสรณ์สถาน นร. สห. 2488, หน้า 15.
[14] เรื่องเดียวกัน.
[15] กระทรวงกลาโหม คำสั่งทหารที่ 300/14693 เรื่องให้นักเรียนนายทหารสารวัตรเป็นนายทหาร (ลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2488).
[16]ประมวลประวัติความเป็นมาและการสร้างอนุสรณ์สถาน นร. สห. 2488, หน้า 15.
[17] เรื่องเดียวกัน, หน้า 175.
[18] อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 สร้างสมัยรัชกาลที่ 6 ตั้งอยู่ที่สนามหลวงฝั่งตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ออกแบบโดยสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นรูปแบบผสมเจดีย์สุโขทัยและอยุธยา
[19] อนุสรณ์ นร. สห. 2488, หน้า 176.
[20] ประมวลประวัติความเป็นมาและการสร้างอนุสรณ์สถาน นร. สห. 2488, หน้า 17.
[21] สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ. ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศระหว่าง พ.ศ.2481-2492. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535.
[22] ประทีป สายเสน. กบฏวังหลวงกับสถานะของปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ: อักษรสาส์น, 2532.
[23] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย. (กรุงเทพฯ: พีเพรส, 2551), หน้า 70.
[24] อนุสรณ์ นร. สห. 2488, หน้า 31.
[25] ประมวลประวัติความเป็นมาและการสร้างอนุสรณ์สถาน นร. สห. 2488, หน้า 18-19.
[26] อนุสรณ์ นร. สห. 2488, หน้า 32.
[27] เรื่องเดียวกัน.
[28] ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปะสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2550.