ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

3 กรกฎาคม 2575 จดหมายถึง “พูนศุข น้องรัก”

4
เมษายน
2563

ทีมงานเว็บไซต์ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ เรื่อง

 

การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 เป็นปฏิบัติการลับของบรรดานายทหารและพลเรือนกลุ่มหนึ่ง ทั้งหมดเป็นความลับที่มิอาจแพร่งพรายให้ผู้อื่นรับรู้ แม้แต่คนในครอบครัว  เมื่อถึงวันปฏิบัติการจริง สมาชิกคณะราษฎรแต่ละคนจึงมีวิธี “เลี่ยง” พูดความจริงต่อสมาชิกในครอบครัวแตกต่างกันไป

จรูญ สืบแสง เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร บุตรของขุนวรเวชวิชกิจ (ซุ้ย สืบเแสง) และนางอุ่น สืบแสง เขาเป็นชาวปัตตานี เรียนจบด้านเกษตรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์แห่งลอส บานอส เมื่อปี พ.ศ. 2470 และเข้ารับราชการที่กระทรวงเกษตราธิการ

จรูญเคยเล่าถึงปฏิบัติการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ว่า ได้ทำทีกลับปัตตานีโดยรถไฟ เมื่อลับหลังจากภรรยาก็ได้ “ลอบกระโดดลงโดยไม่ให้ภรรยาข้าพเจ้าเห็น” หลังจากนั้น “ข้าพเจ้าค่อยฟังข่าวที่บ้านหลวงสินธุฯ ตั้งแต่เย็นวันพุธที่ 22 มิ.ย. จนถึง 3 น. เศษของวันที่ 24 มิ.ย. จึงมีผู้หนึ่งจำไม่ได้ว่าเป็นใครมาปลุกข้าพเจ้าให้ลุกขึ้นเตรียมตัว”[1]

ปรีดีและพูนศุข พนมยงค์ ก็เคยผ่านประสบการณ์ทำนองเดียวกัน ดังเรื่องเล่าที่ปรากฏในบทสัมภาษณ์ “ช่วงหนึ่งแห่งชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์” โดยวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนเมษายน 2543 – ฉบับ 100 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์

สารคดี : อยากให้ท่านผู้หญิงช่วยเล่าเหตุการณ์ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ตอนนั้นอายุ 20 ไม่รู้เรื่องว่าจะเกิดอะไร ก่อนหน้านี้นายปรีดีเคยมาขออนุญาตว่าจะไปบวช ฉันก็ยินดีอนุโมทนา นายปรีดีบอกว่าวันที่ 23 จะไปหาบิดามารดาที่อยุธยาเพื่อขอลาบวช พอวันนั้นนายปรีดีกลับจากทำงานมาถึงบ้าน จากนั้นฉันก็นั่งรถไปส่งพร้อมลูกตัวเล็กๆ ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ก็ไม่ได้มีอะไรผิดสังเกต ขากลับยังแวะเยี่ยมเพื่อนที่จุฬาฯ นั่นคือเหตุการณ์วันที่ 23 พอตกกลางคืน ลูกคนที่ 2 ร้องไห้ เวลานั้นมีลูกสองคน คือลลิตาและปาล ลูกปาลส่งเสียงร้องไม่หยุด คุณพ่อแม่ที่อยู่บนตึกใหญ่ท่านก็ให้คนมาถามว่าเป็นอะไร ฉันก็ไม่ทราบว่าเป็นอะไร แต่ตลอดคืนใจคอไม่ดี เป็นห่วงนายปรีดีว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่

จนเช้ารุ่งขึ้นของวันที่ 24 มิถุนายน จำได้ว่าท้องฟ้ามืดครึ้มมีฝนตกปรอยๆ ตามปรกติเราจะถ่ายรูปลูกๆ เป็นระยะ ลูกปาลอายุครบหกเดือนจึงเอามาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ อุ้มลงไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกที่ตึกใหญ่ของคุณพ่อ พอสักครู่ท่านเจ้าพระยายมราช บ้านอยู่ศาลาแดงที่เป็นดุสิตธานีเวลานี้ ท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ เป็นน้าของคุณแม่ ฉันเรียกท่านว่าคุณตา ก็มาที่บ้านป้อมเพชร์ ท่านถามว่ารู้เรื่องมั้ย เกิดเรื่องใหญ่ คนเรือของท่านที่อยู่ใกล้บางขุนพรหมมารายงานท่านว่า ที่วังบางขุนพรหมมีทหารมาจับทูลกระหม่อมชาย

สารคดี : หมายถึงสมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเวลานั้นทำหน้าที่เป็นผู้รักษาพระนครแทนพระองค์นะครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : คนที่บ้านเราไม่รู้เรื่องเลย ไกลปืนเที่ยง อยู่ถึงสีลม จะไปรู้เรื่องได้อย่างไร เรื่องมันเกิดแถวบางขุนพรหม เจ้าพระยายมราชท่านก็จะให้คุณพ่อออกไปสืบ ที่บ้านมีแต่รถเก๋ง ท่านก็บอกอย่าขี่รถเก๋งไปนะ เดี๋ยวคนเขาจะหมั่นไส้ พอดีมีเจ้าคุณเพื่อนอีกคนหนึ่ง มีรถประทุนมาที่บ้าน ก็เลยชวนนั่งรถประทุนไปด้วยกัน

คุณแม่บอกเจ้าคุณยมราชให้พักอยู่ที่บ้านด้วยกันก่อน เพราะท่านเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คุณแม่เกรงว่าไม่ปลอดภัย สักครู่ภรรยาคนหนึ่งของท่านก็ตามมาหาท่าน เล่าให้ฟังว่าเดินผ่านมาทางโรงพิมพ์นิติสาสน์ที่ศาลาแดง ซึ่งเป็นโรงพิมพ์ส่วนตัวของนายปรีดี พิมพ์หนังสือกฎหมายเผยแพร่ บอกว่าเห็นมีรถทหารและทหารหลายคนมาอยู่ที่หน้าโรงพิมพ์ ฉันชักจะกลัว พอสักครู่คนที่โรงพิมพ์ก็วิ่งหน้าตื่นมาบอกว่า ทหารมาให้พิมพ์ใบปลิว จึงสั่งว่าทหารจะให้พิมพ์อะไรก็ทำให้หมด ตอนหลังจึงรู้ว่า มีการเรียงพิมพ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะทหารมาถึงก็พิมพ์เลย ตอนบ่าย คุณพ่อกับเจ้าคุณที่ไปสืบกลับมา ได้ความว่ามีหัวหน้าชื่อพระยาพหลฯ ทำการจับเจ้านาย แล้วเปลี่ยนแปลงอะไรต่ออะไร

สารคดี : ตอนนั้นท่านผู้หญิงทราบหรือยังครับว่าอาจารย์ปรีดีมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ยังไม่รู้ว่านายปรีดีเกี่ยวข้อง ยังไม่รู้จนกลางคืนประมาณสักห้าทุ่ม ที่หน้าบ้านป้อมเพชร์ ซึ่งเป็นประตูเหล็กคล้องกุญแจ มีคนมาหาสองคน บอกว่าจะมาขอเครื่องแต่งกายนายปรีดี ขอผ้าม่วง เสื้อ เพราะว่าพรุ่งนี้จะมีประชุมเสนาบดี แล้วก็ขออาหาร สมัยก่อนอาหารใส่ตู้เย็นไม้ที่ใส่น้ำแข็ง ไม่ใช่ตู้เย็นสมัยนี้ มีแต่ขนมปังครีมแคร็กเกอร์ ก็ให้ขนมปังไป หมูหยองก็ดูจะไม่มี คุณพ่อไม่ยอมให้เข้าบ้าน เพราะไม่รู้จักคนที่มา พอดีญาติที่อยู่ในบ้านรู้จักกัน บอกว่าชื่อนายซิม วีระไวทยะ เป็นทนายความ แต่คุณพ่อไม่ยอมให้เข้าบ้าน ไม่รู้จักคนแปลกหน้า พอรับของเสร็จกลับไป ก็เลยรู้แล้วว่านายปรีดีเป็นผู้ก่อการคนหนึ่ง

สารคดี : เมื่อทราบแล้วตกใจไหมครับ

ท่านผู้หญิงพูนศุข : ฉันตกใจเหมือนกัน บางคนบอกว่ามีเจ้านายหนีไป แล้วจะทำการสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ ก็ไม่รู้เรื่องอะไร นายปรีดีให้คนมาส่งข่าวบอกว่าตอนนี้อยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม กองบัญชาการคณะราษฎร ไม่ได้กลับบ้านเลย ให้ช่วยส่งอาหารไปให้ นับแต่วันนั้นฉันก็ต้องจัดอาหารให้คนนำไปส่งนายปรีดีที่พระที่นั่งอนันต์ฯ จนกระทั่งวันที่ 3 กรกฎาคม นายปรีดีจึงมีจดหมายมาถึงฉัน ขอโทษที่ไม่ได้เล่าความจริงให้ฟัง เพราะถ้าเล่าให้ฟัง เดี๋ยวก็จะทำการไม่สำเร็จ ฉันอายุยังน้อยกลัวว่าจะไม่รักษาความลับ และอีกอย่างหนึ่งที่บ้านก็คุ้นเคยเจ้านายหลายวัง

ภายหลังนายปรีดีย้ายจากพระที่นั่งอนันต์ฯ มาอยู่วังปารุสกวัน เลยมารับลูกเมียไปอยู่ด้วยกัน ตอนนั้นนายปรีดียังไม่สามารถกลับบ้านได้ เพื่อความสะดวกในการอารักขาความปลอดภัย จนกระทั่งเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปรกติจึงกลับบ้านได้

 

จากบทสัมภาษณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับจดหมาย ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2475 ที่ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งในขณะนั้นเป็น “มันสมองของคณะราษฎร”  พร้อมทั้งดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ เช่น กรรมการราษฎร หรือรัฐมนตรีชุดแรกของรัฐบาลที่มีประธานกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี) คือพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เขียนถึงพูนศุข ภรรยา มีใจความว่า

 

พระที่นั่งอนันตสมาคม

วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

พูนศุข น้องรัก

ขอโทษอย่างมากที่ต้องพูดปดในวันนั้นว่าจะไปอยุธยาฯ เพราะถ้าบอกความจริงก็เกรงว่าจะมาจากบ้านไม่ได้ และผลร้ายก็จะเกิดขึ้นเปนแม่นมั่น คือทางเจ้าหน้าที่ได้คิดจะทำการจับกุมฉันในวันรุ่งขึ้น เวลา ๑๐ นาฬิกาเท่าที่ได้ทราบมา การที่ทำอะไรไป ทั้งนี้ก็เพื่อเห็นแก่ชาติและราษฎรเปนส่วนมาก เห็นว่าเกิดมาครั้งเดียว เมื่อมีโอกาสทำได้ก็ควรทำ ไม่ควรบำเพ็ญตนให้เป็นคนหนักโลก ที่ไม่บอกมาแต่ต้นก็เพราะกลัวว่าจะตกใจ และเมื่อทำตกใจแพร่งพรายออกไปก็จะเสียการที่คิดไว้ทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่างก่อนลงมือกระทำก็ได้เปนห่วงและคิดไว้ว้าถ้าตายลงไปก็คงพอมีเงินเลี้ยงลูกและเธอ โดยมีประกันชีวิตร์และเงินสดในธนาคารที่ได้โอนให้เมื่อก่อนหน้ากระทำการสักสองสามวัน เรื่องโรงพิมพ์ต้องขอให้ช่วยดู ที่สั่งเขาไปนั้นไม่หมายความว่าจะเอาตราไปทำอะไร ให้เอาตราไปรับเงิน C.O.D. เพื่อส่ง C.O.D. เท่านั้นแล้วให้นำเงินมามอบเธอ นับประสาอะไรเงินและ C.O.D. เงินตั้งหมื่นห้าพันฉันยังโอนให้ได้ นอกจากนั้นเงินเดือนก็ให้เขาเอามาให้ทั้งหมดไม่ได้ชักหรือหักไว้ ค่าส่ง C.O.D. วิจิตร์ว่าจะต้องใช้เงินราว ๓๐๐ บาท ฉันไม่ให้มากวนเธอ ให้วิจิตร์เขาเอาจากหลวงประกอบ ไม่พอให้เขาเอาเงินเขาทดรอง หักเหลือเท่าใดให้ส่งเธอเท่านั้น ขอเธออย่าเข้าใจผิด ให้เข้าใจเสียใหม่ต่อไปการโรงพิมพ์ทั้งหมดเธอจะต้องดูและบัญชาการทั้งนั้น ที่ไม่บอกมาแต่ต้นเพราะฉันไม่มีเวลาจริงๆ งานเหลือมือทำแทบไม่ไหว เผอิญขณะนี้ว่างลงหน่อยก็มีเวลาพอเขียนหนังสือมา คิดถึงเธอและลูก ตั้งใจจะมาบ้านแต่เห็นว่าเวลานี้ควรอยู่ที่นี่กับทหารดีกว่า ขอให้เธอนึกว่าฉันบวช เพราะก่อนลงมือได้เคยถามแล้วว่าถ้าฉันบวชสัก ๔ เดือน เธอจะว่าอย่างไร เธอก็ตอบเต็มใจ การที่ทำทั้งนี้ยิ่งกว่าการบวช เราได้กุศล ผลบุญที่ทำให้ชาติย่อมได้สืบต่อไปจนบุตร์หลาน ภรรยาก็มีส่วนร่วมอยู่ด้วย ความจริงบ่นถึงทุกวันกับหัวหน้าทหารที่นี่ว่า เธอเองคงเศร้าโศก แต่จะทำอย่างไรได้ เมื่อเราทำการเพื่อชาติ และในชีวิตร์ของคนอีกหลายร้อยล้าน หามีโอกาสไม่ ไม่ช้าเมื่อเรียบร้อยแล้ว เราคงอยู่กันเป็นปกติต่อไป ขอให้คิดถึงชาติและราษฎรให้มากๆ การทั้งหลายฉันได้เริ่มมาแต่ปารีศ เมื่อมุ่งทางนี้อยู่แล้วจะสละเกียรติยศทิ้งเสียอย่างไรได้ การเมืองก็การเมือง การส่วนตัวก็ส่วนตัว พวกบ้านมาทีไร หรือเมื่อมีใครไปเยี่ยมกลับมาก็ถามข่าวคราวทุกข์ศุขเสมอ คิดถึง หนู [ลลิตา-ลูกสาวคนโต] และปาน [ปาล -ลูกชายคนโต] อยู่เปนนิตย์เหมือนกันไม่ใช่นิ่งเฉยเสีย

เรื่องโรงพิมพ์เธอต้องรับควบคุมต่อไป

คิดถึงเสมอ

ปรีดี

 

 

อ้างอิง

[1] จรูญ  สืบแสง “คนดีที่โลกลืม”  คำไว้อาลัยในหนังสืออนุสรณ์พลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน (2519)  อ้างใน นริศ จรัสจรรยาวงศ์  “อนุสรณ์หนังสืองานศพสมาชิกคณะราษฎร”  ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 38 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2560 หน้า 93

หมายเหตุ :

  • ชื่อบทความเดิม 85 ปี จดหมายถึง “พูนศุข น้องรัก” 
  • เปลี่ยนชื่อบทความใหม่และปรับปรุงเนื้อหาโดยบรรณาธิการ 03/07/2565
  • เผยแพร่ครั้งแรกที่ - https://www.the101.world/letter-from-pridi-to-phoonsuk/ (Jul 3, 2017)