ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ราษฎร 2475 คาดหวังอะไรจากรัฐบาลในระบอบใหม่

21
มิถุนายน
2566

Focus

  • หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยคณะราษฎรเมื่อ 91 ปีที่แล้ว ประชาชนในสมัยนั้นต่างก็มีความคาดหวังที่จริงจังต่อรัฐบาลภายใต้ระบอบใหม่ของการปกครอง
  • การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ยังคงมีเสน่ห์และน่าสนใจ ด้วยเหตุผล เช่น ประการแรก การเมืองการปกครองของไทยในปัจจุบันยังไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบอาทิ มีการรัฐประหารที่กระทำสำเร็จกว่า 12 ครั้ง ใช้รัฐธรรมนูญในโลกมากที่สุดถึง 20 ฉบับ และนายกรัฐมนตรี 29 คน ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ประการที่สองการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนอุดมการณ์และเจตนารมณ์ของ “คณะราษฎร” และฝ่ายที่ต้องการต่อต้านหรือทำลายประวัติศาสตร์ 2475 ยังคงดำรงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติทางการเมืองที่สืบเนื่องมากว่า 17 ปี ที่ผ่านมา ประการที่สาม การกลับไปรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ 2475 ของขบวนการคนหนุ่มสาวที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในนาม “คณะราษฎร” เมื่อปี 2562-2565
  • งานวิจัยของปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ (2565) ชื่อ “ความคาดหวังของราษฎรที่มีต่อระบอบการเมืองใหม่ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475” ให้ข้อมูลและข้อคิด 4 ประการ คือ (1) การเข้าใจความคาดหวังของราษฎร (2) การใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ใหม่ (3) การทำมาหากินและปากท้องที่ไม่สามารถแยกขาดจากการเมือง และ (4) การกระตุ้นให้สนใจประวัติศาสตร์จากเบื้องล่างมากขึ้น

 

ดูเหมือนว่ากระบวนการทางการเมืองที่จะเดินไปตามครรลองชัดขึ้น หลังจากที่วันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้มีมติรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 500 คน ซึ่งกระบวนการถัดจากนี้ ก็คือการนัดหมายประชุมรัฐสภาเพื่อดำเนินการเลือกประธานรัฐสภาและนายกรัฐมนตรีขึ้น

ข้อคิดถัดจากนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 91 ปีที่แล้ว ที่อาจจะช่วยให้เห็นธรรมชาติทางการเมืองของไทยในยุคตั้งต้น ในประเทศที่ใช้รูปแบบรัฐบาลระบบรัฐสภา ความคาดหวังของประชาชนจะปรากฏผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแตกต่างไปจากระบบรวมศูนย์อำนาจของพระมหากษัตริย์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่เสียงของประชาชนจะสะท้อนออกมาอย่างกว้างขวางในทางสาธารณะ และแน่นอนย่อมมีความหลากหลายไม่เป็นเอกภาพ ความท้าทายของรัฐบาลภายใต้ระบบรัฐสภาคือ จะแปรเจตจำนงของประชาชนให้ปรากฏขึ้นจริงได้อย่างไร โดยยังคงสามารถรักษาเสถียรภาพทางการเมือง

ในปัจจุบัน คำอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นเพียงการ “ชิงสุกก่อนห่าม” หรือไม่ก็เป็นคำอธิบายว่าเป็นเรื่องของ “พวกที่ใจร้อน ทนรอไม่ได้”[1] โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนฝรั่งเศส แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่พ้นสมัยไปแล้ว แต่การค้นคว้าเพื่อทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็ยังมีการศึกษาอยู่เรื่อยมาจวบจนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนเห็นว่าเหตุที่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังคงมีเสน่ห์และน่าสนใจ เนื่องจากเหตุผล 3 ประการ เป็นอย่างน้อย ดังนี้

ประการแรก การเมืองการปกครองของไทยในปัจจุบันยังไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ เพราะนอกจากจะมีการรัฐประหารกว่า 12 ครั้ง เฉพาะที่กระทำการสำเร็จ ไทยยังเป็นประเทศที่ใช้รัฐธรรมนูญในโลกมากที่สุดถึง 20 ฉบับ ขณะที่นายกรัฐมนตรี 29 คน ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน การเลือกตั้งที่เกิดขึ้น 27ครั้ง มีไม่กี่ครั้งที่ทำให้สังคมไทยได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมอย่างแท้จริง การกลับไปพิจารณาการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมจะช่วยให้เข้าใจปัจจุบันได้มากขึ้น

ประการที่สอง ประวัติศาสตร์การเมืองของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ยังมีมนต์ขลังน่าติดตาม กรณีนี้เกิดขึ้นทั้งจากฝ่ายที่สนับสนุนอุดมการณ์และเจตนารมณ์ของ “คณะราษฎร” และฝ่ายที่ต้องการต่อต้านหรือทำลายประวัติศาสตร์ 2475 อันเนื่องมาจากมีการกลับไปอ้างอิงมรดกของการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงวิกฤติทางการเมืองที่สืบเนื่องมากว่า 17 ปี และทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา ทำให้ยังคงมีการตีความหรือให้ฐานะทางประวัติศาสตร์ต่อกรณี 2475 ที่แตกต่างกัน

ประการที่สาม การกลับไปรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ 2475 ของขบวนการคนหนุ่มสาวที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในนาม “คณะราษฎร” เมื่อปี 2562-2565 ส่งผลให้ประวัติศาสตร์ไทยช่วงเวลานี้เป็นแรงบันดาลใจทั้งในแง่การต่อสู้ และการอธิบายจุดยืนของคนหนุ่มสาวในปัจจุบัน

เมื่อปีที่ผ่าน (2565) มีเรื่องที่น่ายินดี เมื่อการกลับไปศึกษาช่วงเวลาดังกล่าวอีกครั้ง จากงานวิจัยชื่อ “ความคาดหวังของราษฎรที่มีต่อระบอบการเมืองใหม่ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475” เขียนโดย ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ ให้แง่มุมที่แปลกใหม่แก่การศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง

ข้อคิดที่น่าสนใจ มีอยู่ 4 ประการ ได้แก่ 1. จะเข้าใจความคาดหวังของราษฎรอย่างไร 2. การใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ใหม่ 3. ปัญหาการทำมาหากินและปากท้องมิสามารถแยกขาดจากการเมือง และ 4. กระตุ้นให้สนใจประวัติศาสตร์จากเบื้องล่างมากขึ้น

หนึ่ง ต่อประเด็นว่าจะเข้าใจความคาดหวังของราษฎรอย่างไร ตรงนี้นับเป็นปัญหาของการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาอย่างสืบเนื่องยาวนาน กล่าวคือในสังคมที่มีรากฐานแบบมุขปาฐะ ประชาชนเข้าถึงการศึกษาในระดับพื้นฐานที่อาศัยการเขียน-อ่าน ยังมีน้อย ทำให้หลักฐานส่วนใหญ่มักปรากฏผ่านเอกสารราชการ หรือไม่ก็เป็นบันทึกของชาวต่างชาติที่อยู่ในสยาม เราจึงคงได้เห็นคุณูปการไม่น้อยที่มาจากการศึกษาด้วยหลักฐานเหล่านี้ เช่น งานเขียนของ Scot Barme เรื่อง “Woman, Man, Bangkok: Love, Sex, and Popular Culture in Thailand”[2] ที่ใช้ข้อเขียนของผู้หญิงชนชั้นกลางในเวลานั้นที่ทยอยได้รับการศึกษามากขึ้นก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลง 2475 เพื่อแสดงให้เห็นการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมที่มากกว่าแค่โครงสร้างอำนาจรัฐ

หรืองานวิชาการที่สะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มิได้มาจากเจตจำนงของคนเพียงหยิบมือ หากแต่สะสมขึ้นมาจากความทุกข์ร้อนของผู้คนในช่วงเวลาดังกล่าว เช่น กรณีถวายฎีกาของชาวนา หรือความขุ่นข้องหมองใจของเกษตรกรและพ่อค้าในช่วงเวลาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475[3] โดยงานของปฐมาวดี เข้าไปสืบค้นจดหมายเหตุหลายประเภท อาทิ หนังสืองานศพ บันทึกความทรงจำ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ในประเด็นที่ราษฎรคาดหวังต่อรัฐบาลใหม่ ก็ทำให้ความเคลื่อนไหวในช่วงเวลาดังกล่าวมีมิติมีชีวิตชีวา ช่วยทำให้เห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้น มีเรื่องราวของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอีกมากมายในการค้นคว้า

สอง การใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ใหม่ ที่กล่าวมาอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในมุมของวิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์ มีการศึกษามากมายอย่างน้อย 40 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการความรู้ของการเปลี่ยนแปลง 2475 เติบโตเบ่งบานขึ้นมา แต่การพิจารณาหลักฐานของปฐมาวดี ผ่าน “คำร้องเรียนแสดงความคิดเห็น” ซึ่งมีหลายร้อยฉบับนั้น สะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์และความรู้สึกของราษฎรและผู้นำในระบอบใหม่ยังอยู่ในภาวะที่กล่าวได้ว่ายังไม่เสถียรนัก ประกอบกับช่วงเวลาหลังปฏิวัติ 1 ปีนี้ ได้ปรากฏว่ามีเอกสารหมวด “ร้องเรียนและแสดงความเห็น” อยู่เกือบ 500 ฉบับด้วยกัน ซึ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญที่ช่วยให้เห็นภาพของความคาดหวัง และบรรยากาศทางการเมืองที่ยังคุกรุ่นไปด้วยความไม่แน่นอนอยู่สูง[4]

สาม ปัญหาการทำมาหากินและปากท้องมิสามารถแยกขาดจากการเมือง ในบรรดาข้อค้นพบของเธอ แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนบางส่วน แม้ว่าในแง่สัดส่วนจะไม่สามารถแทนค่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้ แต่จากหลักฐานยืนยันให้เห็นว่า ความคาดหวังของราษฎรสัมพันธ์กันระหว่างมิติทางเศรษฐกิจกับการเมือง โดยพบว่าผู้นำในระบอบใหม่ตอบสนองต่อความทุกข์ร้อนของประชาชน มีการนำเรื่องโครงการเศรษฐกิจที่เคยถูกระงับในรัฐบาลเดิมเข้ามาพิจารณาอย่างเร่งด่วน อาทิ การขอกู้เงินที่มักจะถูกระงับ และราษฎรก็พร้อมจะวิพากษ์วิจารณ์หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันที

โดยโครงการเศรษฐกิจแรกก็ปรากฏในเวลาเพียง 1 เดือนหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยนายมังกร สามเสน หนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของคณะราษฎรเสนอ “โครงการเศรษฐกิจ พณิชยการ กสิกรรม และอุตสาหกรรม” โดยเสนอในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2475 

สี่ กระตุ้นให้สนใจประวัติศาสตร์จากเบื้องล่างมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง มิสามารถจะเปลี่ยนผ่านได้ หากแต่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมหรืออย่างน้อยที่สุด คือตอบสนองต่อความคาดหวังของคนส่วนใหญ่ ข้อค้นพบของรายงานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นตัวอย่างการออกกฎหมายหลายฉบับ ว่าเกี่ยวพันอย่างไรกับความคาดหวังของประชาชน โดยอาศัยหลักฐานที่เรียกว่า “รายงานของผู้สืบราชการลับ” ซึ่งมีหน้าที่ในการหาข่าวจากราษฎร เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ด้านหนึ่งหลักฐานดังกล่าวอาจจะบ่งบอกถึงสายตาของรัฐที่มีต่อประชาชน แต่อีกด้านก็ปรากฏเสียงของประชาชนที่พ้นไปจากมุมมองของผู้นำ ผู้มีอำนาจ พระสงฆ์ นักการเมือง เจ้านาย ข้าราชการต่างๆ ที่ส่วนใหญ่ทั้งหมดเป็นชนชั้นผู้อ่านออกเขียนได้

การรับฟังความคาดหวังของประชาชนผ่านรายงานของผู้สืบราชการลับในงานชิ้นนี้ ช่วยให้เห็นทัศนะจากเบื้องล่าง เช่น ชาวนา พ่อค้า ข้าราชการระดับล่าง นักการเมืองท้องถิ่น ฯลฯ ที่หลายกรณีอาจจะไม่เป็นไปตามเรื่องเล่าที่เข้าใจโดยทั่วไปหรือกระทั่งสวนทางกับการรับรู้เดิม เช่น ความขัดแย้งของข้าราชการระดับล่างต่อผู้นำในระบอบใหม่ การเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่สั่นคลอนความมั่นคงของรัฐบาล การรวมกลุ่มของราษฎรที่เป็นไปอย่างคึกคักไม่ว่าจะสนับสนุนหรือต่อต้านรัฐบาลก็ตาม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม งานชิ้นนี้ก็ได้สรุปความคาดหวังโดยพบว่า ราษฎรสยามในเวลานั้น มีความคาดหวังที่แตกต่างกันมาก ความคาดหวังมักเน้นไปที่หน่วยงานราชการซึ่งมีจดหมายที่แสดงความคาดหวังไว้เป็นจำนวนมากที่ต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนการทำงานในระบบราชการ นอกจากนี้ยังปรากฏประเด็นความเท่าเทียม ซึ่งนับเป็นความคาดหวังหนึ่งของราษฎร ทั้งในมิติของการศึกษา การเข้าถึงที่ดินทำกิน แหล่งทุน สถาบันทางการเงิน รวมไปถึงการรวมกลุ่มเพื่อต่อรองทางอำนาจ อันเป็นลักษณะทั่วไปของสังคมการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

กล่าวได้ว่า การศึกษาของปฐมาวดี แสดงให้เห็นความพยายามในการเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองในช่วงเวลาดังกล่าวผ่านหลักฐานอื่นๆ ที่มีการศึกษามาก่อนหน้านี้ รวมไปถึงการตั้งคำถามเดิมด้วยมุมมองใหม่ เช่น จะเข้าใจคาดคาดหวังของราษฎรอย่างไร มากกว่าแค่อาศัยเอกสารที่มีอยู่เดิม หรืองานวิชาการที่มีอยู่เดิม ตัวอย่างงานวิจัยชิ้นนี้จึงน่าจะพอกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ทำการศึกษาช่วงเวลาอันน่าตื่นเต้นครั้งหนึ่งของการเมืองไทยได้ไม่มากก็น้อย

 

บรรณานุกรม

รายงานการวิจัย

วารสาร

  • เสกสรรค์ ประเสริฐกุล. “ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวของ 24 มิถุนายน 2475,” ใน วารสารธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปีที่ 11 ฉบับที่ 2, 2525, หน้า 62-67.

หนังสือภาษาไทย

  • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2540.

หนังสือภาษาอังกฤษ

  • Scot Barme. Woman, man, Bangkok : love, sex, and popular culture in Thailand. Chiang Mai: Silkworm Books, 2002.
 

[1] โปรดดูงานวิชาการชิ้นแรกๆ ที่ออกมาโต้แย้งความเข้าใจดังกล่าวได้ที่ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, “ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวของ 24 มิถุนายน 2475,” ใน วารสารธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปีที่ 11 ฉบับที่ 2, 2525, หน้า 62-67. และ งานวิชาการที่ดีชิ้นหนึ่งจวบจนปัจจุบัน เช่น นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2540)

[2] Scot Barme, Woman, man, Bangkok: love, sex, and popular culture in Thailand (Chiang Mai: Silkworm Books, 2002)

[3] ตัวอย่างงานแนวนี้ เช่น นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “การแสวงหาระบบเศรษฐกิจใหม่ในช่วงหนึ่งทศวรรษภายหลัง การปฏิวัติ ิสยาม 2475” ใน ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475

[4] ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์, ความคาดหวังของราษฎรที่มีต่อระบอบการเมืองใหม่ภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สถาบันพระปกเกล้า.